ไอยคุปต์ เป็นคำที่ใช้เรียก อียิปต์โบราณ มีความหมายรวมถึง ชนชาติ ภาษา และวัฒนธรรม กล่าวโดยย่อคือ ใช้ทั้งในฐานะของคำนามและคุณศัพท์ ส่วนอียิปต์หลังยุคฟาโรห์ นิยมใช้คำว่า "อียิปต์" ตามปกติ[ต้องการอ้างอิง]

ที่มา แก้

ที่มาของคำว่า "ไอยคุปต์" น่าจะมาจากการทับศัพท์คำภาษากรีก ว่า ไอกึปตอส (Aigyptos) ซึ่งเป็นชื่อที่คล้ายคลึงกับเทพเจ้าในตำนานปรัมปราของกรีก สององค์ด้วยกัน นั่นคือ "ไอกือปิออส" (Aigypios) และ "ไอกึปตอส" (Aigyptos) แต่ที่มีความสำคัญเกี่ยวโยงกับอียิปต์ก็คือ ไอกึปตอส

ตามตำนานของกรีก กล่าวว่า ไอกีปตอส เป็นผู้ตั้งชื่อแผ่นดินอียิปต์ ว่า ไอกึปตอส เทพองค์นี้เป็นโอรสของเบลอส และอันฆินอย ฝ่ายบิดานั้นสืบตระกูลจากโปเซย์ดอน ส่วนฝ่ายมารดาสืบตระกูลจากเนย์ลอส เทพเจ้าแห่งลุ่มน้ำไนล์ ไอกึปตอสได้ครอบครองดินแดนอาระเบีย ซึ่งเรียกว่า เมลัมโปเดส (Melampodes = เท้าสีดำ) ครั้นภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นไอกึปตอส

นอกจากแนวทางการวิเคราะห์ดังกล่าว ยังมีผู้วิเคราะห์ศัพท์ ไอกึปตอส ว่ามาจากศัพท์สองคำ คือ ไอกฺษ, ไอกอส (aix, aigos) เป็นคำนาม หมายถึง แพะ กับคำว่า ปตอส (ptoss) เป็นกริยา หมายถึง นอบน้อม หรือหวั่นกลัว แต่รวมความหมายแล้ว ไม่ชัดเจนนักว่าจะแปลอย่างไร

ในมหากาพย์โอดิสซีย์ ของโฮเมอร์ เล่มที่ 18 มีกล่าวถึงแม่น้ำไอกึปตอส เมื่อโอดิสเซอุส เดินทางไปถึงแผ่นดินอียิปต์ แม่น้ำดังกล่าวก็คือ แม่น้ำไนล์นั่นเอง

ในภาษากรีกยังมีการใช้คำว่า ไอกึปตอส หมายถึงคนอียิปต์ และแผ่นดินอียิปต์ด้วย ส่วนวิชาอียิปต์วิทยา (หรือ ไอยคุปต์วิทยา) มีในภาษากรีกมานานแล้ว โดยใช้คำว่า ไอกึปติออลอเกีย (Αιγυπτιολογία = Aigyptiologia) ภาษาละตินใช้ว่า ไอกึปโตโลเกีย ( Ægyptologia) และในภาษาอังกฤษถอดโดยตรง ว่า Egyptology

ในภาษาละตินยังมีคำศัพท์เรียกอียิปต์ว่า ไอกึปตุส, ไอกึปตี (Ægypt-us, Ægypt-i) ซึ่งนอกจากหมายถึงแผ่นดินอียิปต์แล้ว ยังหมายถึงกษัตริย์อียิปต์ในตำนานพระองค์หนึ่ง นอกจากนี้ยังมีคำศัพท์เชื่อมโยง กล่าวถึงภาษาอียิปต์ไว้ว่า "ลิงกัว ไอกึปติอาคา" (Lingua Ægyptiaca)

นักภาษาโบราณเสนอว่าคำว่า "ไอกึปตอส" น่าจะได้เค้ามาจากภาษาอียิปต์โบราณ จากคำว่า ฮิ-คุป-ตาฮ (Hi-kup-tah) หรือ ฮา-คา-ปตาฮ (Ha-ka-ptah) ซึ่งถอดจากอักษรภาพ มีความหมายว่า เทพเจ้า คา แห่งปตาฮ์ อันเป็นอีกชื่อหนึ่งของเมืองเมมฟิส คำดังกล่าวมีปรากฏในศิลาโรเซตตา (Rosetta Stone) ที่พบ ณ เมืองโรเซตตาด้วย

อ้างอิง แก้

  • Apollodorus, Apollodorus, The Library, with an English Translation by Sir James George Frazer, F.B.A., F.R.S. in 2 Volumes. Cambridge, Massachusetts, Harvard University Press; London, William Heinemann Ltd. 1921. Online version at the Perseus Digital Library.
  • Fowler, Robert. L. (2000), Early Greek Mythography: Volume 1: Text and Introduction, Oxford University Press, 2000. ISBN 978-0198147404.
  • Gantz, Timothy, Early Greek Myth: A Guide to Literary and Artistic Sources, Johns Hopkins University Press, 1996, Two volumes: ISBN 978-0-8018-5360-9 (Vol. 1), ISBN 978-0-8018-5362-3 (Vol. 2).
  • Stewart, M. People, Places & Things: Aegyptus (1), Greek Mythology: From the Iliad to the Fall of the Last Tyrant. [1]
  • Vertemont, Jean , Dictionnaire des mythologies indo-europeenes, 1997.