ความไร้สัญชาติ
ความไร้สัญชาติ (อังกฤษ: statelessness) เป็นข้อความคิดทางกฎหมายซึ่งพรรณนาถึงการที่บุคคลไม่มีสัญชาติ (nationality) ใด ๆ เลย กล่าวคือ สภาวะซึ่งบุคคลไม่เป็นที่รับรองว่าเกี่ยวข้องกับรัฐชาติรัฐใด ๆ เลย บุคคลเช่นนี้เรียก คนไร้สัญชาติ (stateless person)
ไร้สัญชาติ แบ่งเป็นสองลักษณะ คือ
- ไร้สัญชาติโดยนิตินัย (de jure stateless) เป็นกรณีที่บุคคล "ไม่มีรัฐใดนับว่าเป็นผู้ถือสัญชาติโดยผลของกฎหมายแห่งรัฐนั้นเลย" (not considered as a national by any state under the operation of its law)[1] ผู้ไร้สัญชาติโดยนิตินัยอาจเป็นผู้ลี้ภัย (refugee) ด้วย แต่มิใช่ว่าผู้ขอที่ลี้ภัย (asylum) ทุกคนจะไร้สัญชาติโดยนิตินัย
- ไร้สัญชาติโดยพฤตินัย (de facto stateless) เป็นกรณีที่บุคคลไม่ได้อยู่ในรัฐที่ตนถือสัญชาติ และไม่อาจรับความคุ้มครองจากรัฐที่ตนกำลังอาศัยอยู่นั้น[2] ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการเบียดเบียนของรัฐ หรือการขาดความสัมพันธ์ทางทูตระหว่างรัฐทั้งสองดังกล่าว
เหตุผลที่บุคคลไร้สัญชาตินั้นมีอยู่มากมายทั่วโลก[3] ปรกติแล้ว สัญชาติได้มาโดยหลักสองประการ คือ หลักดินแดน (jus soli) กับหลักสืบสายโลหิต (jus sanguinis) หลักดินแดนระบุว่า บุคคลเกิดในดินแดนของรัฐใด ย่อมได้สัญชาติของรัฐนั้น ส่วนหลักสืบสายโลหิตว่า บิดามารดาถือสัญชาติใด บุคคลย่อมถือสัญชาติตามนั้นด้วย ปัจจุบัน รัฐส่วนใหญ่ใช้หลักทั้งสองนี้ควบคู่กัน และการขัดกันของกฎหมายสัญชาติก็เป็นสาเหตุหนึ่งของความไร้สัญชาติ เป็นต้นว่า แม้รัฐหลายรัฐจะเปิดให้บุคคลได้สัญชาติตามบุพการี ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเกิดที่ใดก็ตาม แต่หลายรัฐก็ยังไม่ยอมรับให้บุคคลได้สัญชาติจากมารดาซึ่งถือสัญชาติของตน[4] ความขัดข้องนี้ส่งผลให้เกิดอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women) ซึ่งห้ามเลือกปฏิบัติในการให้สัญชาติเพราะเหตุแห่งเพศ[5]
อีกเหตุหนึ่งของความไร้สัญชาติ คือ การสืบทอดของรัฐ (state succession)[6] ประวัติศาสตร์สมัยใหม่ปรากฏว่า บุคคลกลายเป็นไร้สัญชาติ เพราะรัฐที่ตนถือสัญชาตินั้นสิ้นสุดลงหรือตกอยู่ในความควบคุมของรัฐอื่น และไม่มีรัฐใหม่มาสืบทอดต่อ ตัวอย่างที่แจ้งชัด คือ คราวที่สหภาพโซเวียตและยูโกสลาเวียล่มสลาย[7][8][9]
อนึ่ง ยังมีกรณีที่บุคคลสละสัญชาติของตนเองโดยสมัครใจ จึงเป็นเหตุให้บุคคลนั้นไร้สัญชาติ เช่น แกรี เดวิส (Garry Davis) ที่เรียกตนเองว่า "พลเมืองโลก" (world citizen) แต่ปรกติแล้ว กฎหมายของรัฐส่วนใหญ่ในโลกนี้จะยอมให้ราษฎรของตนสละสัญชาติตนก็ต่อเมื่อได้สัญชาติใหม่แล้ว
อีกเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดความไร้สัญชาติ คือ กรณีที่บุคคลเป็นราษฎรของดินแดนซึ่งไม่เป็นรัฐ เป็นต้นว่า ดินแดนปาเลสไตน์ ซาฮาราตะวันตก และไซปรัสเหนือ
ความไร้สัญชาตินั้นบังเกิดขึ้นมายาวนานหลายร้อยปี แต่ประชาคมระหว่างประเทศเพิ่งใฝ่ใจแก้ไขเมื่อกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 โดยเริ่มใน ค.ศ. 1954 เมื่อสหรัฐอเมริกาตกลงรับอนุสัญญาเกี่ยวกับสถานะของคนไร้สัญชาติ (Convention relating to the Status of Stateless Persons) ซึ่งวางกรอบการคุ้มครองคนไร้สัญชาติ เจ็ดปีให้หลัง คือ ค.ศ. 1961 จึงมีการทำอนุสัญญาว่าด้วยการลดความไร้สัญชาติ (Convention on the Reduction of Statelessness) ซึ่งประกอบด้วยข้อบทที่มุ่งหมายป้องกันและบรรเทาความไร้สัญชาติ ต่อมา ประชาคมระหว่างประเทศและระหว่างภูมิภาคได้ทำสนธิสัญญาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนอีกหลายฉบับเพื่อวางมาตรการพิเศษเกี่ยวกับกลุ่มบุคคลไร้สัญชาติ เช่น อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กกำหนดให้รัฐที่ผูกพันตนตามอนุสัญญานี้ต้องรับรองว่า เด็กทุกคนจะมีสัญชาติ เพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็ก[10][11]
อย่างไรก็ดี การไม่อาจพิสูจน์สัญชาติ เช่น เข้าเมืองโดยไม่มีเอกสาร (undocumented immigrant) ไม่นับว่าไร้สัญชาติ แต่การขาดหนังสือสำคัญบางอย่าง เช่น สูติบัตร อาจนำไปสู่ความไร้สัญชาติได้ บุคคลหลายล้านคนบนโลกนี้ใช้ชีวิตอยู่โดยไม่มีหนังสือสำคัญ เป็นเหตุให้ระบุสัญชาติแน่นอนไม่ได้ และประสบความยากลำบากในการดำรงชีวิต เพราะมิรู้ที่จะแสวงหาความคุ้มครองโดยอาศัยความเป็นพลเมืองของรัฐใด[12]
อ้างอิง
แก้- ↑ "Convention relating to the Status of Stateless Persons, article 1(1)".
- ↑ "The Concept of Stateless Persons under International Law". UNHCR.
- ↑ "Statelessness". Forced Migration Review. Refugee Studies Centre.
- ↑ "Remarks on Statelessness and Gender Discrimination". US Department of State.
- ↑ "Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination against Women (CEDAW)".
- ↑ "International Observatory on Statelessness". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-10-07. สืบค้นเมื่อ 2013-09-27.
- ↑ Southwick, Katherine. "Ethiopia-Eritrea: statelessness and state succession" (PDF). Forced Migration Review. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2013-10-15. สืบค้นเมื่อ 27 August 2012.
- ↑ UNHCR. "Nationality and Statelessness: A Handbook for Parliamentarians" (PDF). สืบค้นเมื่อ 27 August 2012.
- ↑ Tekle, Amare. "Eritrea: State succession and the effort to eliminate statelessness". สืบค้นเมื่อ 27 August 2012.
- ↑ "Children's right to nationality". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-04-25. สืบค้นเมื่อ 2013-09-27.
- ↑ UNHCR. "Interpreting the 1961 Statelessness Convention and Preventing Statelessness among Children". สืบค้นเมื่อ 27 August 2012.
- ↑ "De Jure Statelessness in the Real World: Applying the Prato Summary Conclusions". Open Society Foundations.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ความไร้สัญชาติ