ไรน้ำนางฟ้า
ไรน้ำนางฟ้าชนิด Streptocephalus woottoni
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Arthropoda
ไฟลัมย่อย: Crustacea
ชั้น: Branchiopoda
อันดับ: Anostraca
วงศ์: Streptocephalidae
Daday, 1910
สกุล: Streptocephalus
W. Baird, 1852 [1]
ชนิด
ดูในเนื้อหา

ไรน้ำนางฟ้า (อังกฤษ: Fairy shrimp) เป็นครัสเตเชียนจำพวกแบรงคิโอโพดาจำพวกหนึ่ง จัดอยู่ในสกุล Streptocephalus และวงศ์ Streptocephalidae [2] มีลักษณะคล้ายไรทะเลหรืออาร์ทีเมีย แต่มีขนาดตัวโตกว่า คือ ไม่มีเปลือก ตัวใส มีขาว่ายน้ำ 11 คู่ ลำตัวยาว 1 - 3 เซนติเมตร ตัวผู้มีขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย และมีพฤติกรรมว่ายน้ำแบบหงายท้องโดยใช้ขาช่วยกรรเชียงนำโบก พัดอาหารเข้าปาก บริเวณหัวมีตาขนาดใหญ่ที่มีก้านยาว 1 คู่ มีหนวด 2 คู่ ส่วนหางแยกเป็นสองแฉกมีสีแดงส้ม ตัวเมียมีถุงไข่ 1 ถุง อยู่ทางด้านท้อง หนวดคู่ที่ 2 ของตัวผู้เปลี่ยนแปลงไปใช้สำหรับจับตัวเมียเวลาผสมพันธุ์ และใช้ในการจำแนกชนิด ไข่ที่ตัวเมียสร้างขึ้นจะพัฒนาให้มีเปลือกหนา

ไรน้ำนางฟ้า จะอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืดต่าง ๆ ที่มีขนาดเล็ก เช่น คูน้ำข้างถนน หรือนาข้าว แม้กระทั่งแหล่งน้ำชั่วคราว เช่น ปลักควาย หรือรอยเท้าควายในเลน ยามฤดูฝน อาหารของไรน้ำนางฟ้า ได้แก่ แพลงก์ตอนสัตว์, โปรโตซัว, อินทรียสารและแพลงก์ตอนพืช ฤดูที่พบ คือ ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงสิงหาคม คือ ในฤดูฝน วงจรชีวิต คือ ไข่มีเปลือกหนา เป็นซีส ฝังอยู่ในพื้นดินหรือโคลน โดยจะพบในบ่อเล็กบ่อน้อย เมื่อน้ำท่วมขังก็จะฟักเป็นตัวออกมา ส่วนแหล่งน้ำขนาดใหญ่จะไม่พบไรน้ำนางฟ้า ไรน้ำนางฟ้าจะมีชีวิตอยู่ได้ในระยะเวลาสั้น ๆ ไม่กี่สัปดาห์เท่านั้น[3]

ไรน้ำนางฟ้า แบ่งออกได้ราว ๆ 50-60 ชนิด (ดูเนื้อหาข้างล่าง[2]) พบกระจายพันธุ์ตั้งแต่ แอฟริกา, ออสเตรเลีย, ยูเรเชีย, อเมริกากลาง และอเมริกาเหนือ ซึ่งเดิมเคยเป็นมหาทวีปกอนด์วานา[4] เป็นต้น ส่วนในประเทศไทย มีทั้งหมด 3 ชนิด ซึ่งทั้ง 3 ชนิดนั้น ล้วนแต่เป็นสัตว์เฉพาะถิ่นทั้งหมด ได้แก่ ไรน้ำนางฟ้าสิรินทร (Streptocephalus sirindhornae) พบครั้งแรกที่จังหวัดหนองบัวลำภู และพบได้ทั่วประเทศ, ไรน้ำนางฟ้าไทย (Branchinella thailandensis) มิได้จัดอยู่ในสกุล Streptocephalus ไข่มีขนาดใหญ่กว่าไรน้ำนางฟ้าสิรินธรสองเท่า และไรน้ำนางฟ้าสยาม (Streptocephalus siamensis) พบครั้งแรกที่จังหวัดสุพรรณบุรี และกาญจนบุรี เป็นชนิดที่หาได้ยากมาก นอกจากนี้แล้วยังพบได้ที่ประเทศลาว[5]

ไรน้ำนางฟ้า มีคุณค่าทางสารอาหารสูง ปัจจุบันได้มีการเพาะเลี้ยงเพื่อเป็นอาหารให้แก่สัตว์น้ำต่าง ๆ ทั้งเป็นอาหารให้แก่ตัวอ่อน, เป็นอาหารให้แก่สัตว์น้ำเศรษฐกิจ และสัตว์น้ำสวยงาม โดยปัจจุบันสามารถเพาะเลี้ยงได้แล้วตลอดทั้งปี[3]

นอกจากนี้แล้ว ไรน้ำนางฟ้ายังมีชื่อเรียกตามภาษาถิ่นต่าง ๆ เช่น "แมงอ่อนช้อย", "แมงแงว", "แมงหางแดง" และ"แมงน้ำฝน" เป็นต้น[5]

การจำแนกสายพันธุ์ที่พบ แก้

อ้างอิง แก้

  1. "Genus Streptocephalus Baird, 1852". Australian Faunal Directory. Department of the Environment, Water, Heritage and the Arts. October 9, 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-05. สืบค้นเมื่อ 2013-04-18.
  2. 2.0 2.1 2.2 จาก itis.gov
  3. 3.0 3.1 เกษตรน่ารู้ : ไรน้ำนางฟ้า จากช่อง 7[ลิงก์เสีย]
  4. Henri J. Dumont & Els Adriaens (2009). "Experimental hybridization of two African Streptocephalus species (Crustacea, Branchiopoda: Anostraca)" (PDF). Current Science. 96 (1): 88–90.
  5. 5.0 5.1 การเพาะเลี้ยงไรน้ำนางฟ้า จากกรมประมง

แหล่งข้อมูลอื่น แก้