ไถง สุวรรณทัต (20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2449 - 1 มกราคม พ.ศ. 2535) อดีตนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และอดีตนักการเมืองชาวไทยที่มีชื่อเสียง อดีตหัวหน้าพรรคราษฎร (พ.ศ. 2517)

ไถง สุวรรณทัต
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2449
เสียชีวิต1 มกราคม พ.ศ. 2535
พรรคการเมืองพรรคประชาธิปัตย์
พรรคราษฎร

ประวัติ แก้

นายไถง สุวรรณทัต เป็นบุตรชายของ พระยาสุริเดช และคุณหญิงแข สุวรรณทัต จบการศึกษาจากโรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก นายไถงเป็นนักธุรกิจผู้บุกเบิกการก่อสร้างหมู่บ้านแบบหมู่บ้านจัดสรรเป็นแห่งแรกในประเทศไทย คือ หมู่บ้านเศรษฐกิจ ที่เขตบางแค ฝั่งธนบุรี ในปัจจุบัน ซึ่งกิจการของหมู่บ้านเศรษฐกิจก็ยังคงดำเนินมาจนถึงทุกวันนี้ นอกจากนี้แล้วยังเป็นผู้บริจาคที่ดินของตนเองเพื่อสร้างเป็น โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี อีกด้วย [1][2]

งานการเมือง แก้

ในทางการเมือง นายไถง ถือว่าเป็นนักการเมืองยุคบุกเบิกของพรรคประชาธิปัตย์ เป็นหัวหน้าทีมของผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของพรรคในพื้นที่จังหวัดธนบุรี[3][4] ซึ่งนายไถงถือว่าเป็น ส.ส.ของจังหวัดธนบุรีที่ได้รับเลือกตั้งมากที่สุด คือ 5 สมัย

นายไถง ได้รับฉายาว่า "ผู้แทนขาเดียว" หรือ "ไถงขาเดียว" เนื่องจากในการปราศรัยหาเสียงในการเลือกตั้งเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2489 ที่วงเวียนเล็ก ในวันที่ 4 สิงหาคม ปีเดียวกัน ขณะที่หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช รองหัวหน้าพรรค กำลังลงจากเวทีปราศรัย นายไถงซึ่งกำลังตรวจดูความเรียบร้อยอยู่ข้างรถหาเสียง ซึ่งอยู่ห่างจากเวทีประมาณ 8 เมตร เพียงแต่มีถนนกั้นไว้ ได้ถูกระเบิดขว้างใส่ ทำให้ได้รับบาดเจ็บสาหัส แพทย์ต้องตัดขาข้างขวาตั้งแต่ใต้เข่าลงไปทิ้งเมื่อนำส่งถึงโรงพยาบาล ส่วนคนขับรถถูกสะเก็ดระเบิดเสียชีวิต ขณะที่มือระเบิด ประชาชนที่มาร่วมฟังปราศรัยได้ช่วยกันจับตัวไว้ได้ ชื่อ นายทุเรียน เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเกือบจะถูกรุมประชาทัณฑ์ แต่พระยาศราภัยพิพัฒ ได้ขึ้นเวทีไปห้ามไว้ ต่อมาศาลได้พิพากษาให้จำคุกนายทุเรียนเป็นเวลา 8 ปี[5]

แม้นายไถงจะกลายสภาพเป็นบุคคลพิการ แต่ก็ยังไม่ล้มเลิกการเล่นการเมือง ยังคงมุ่งมั่นที่จะทำการเมืองต่อไป จนกระทั่งได้รับเลือกตั้งหลายต่อหลายครั้ง [6]จนได้รับเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้พิการไทยคนแรก

นอกจากนี้แล้ว ยังเป็นหัวหน้าพรรคราษฎร เมื่อปี พ.ศ. 2517 อีกด้วย

งานภาพยนตร์ แก้

นอกจากแวดวงการเมืองและธุรกิจแล้ว นายไถงยังเป็นผู้อำนวยการสร้างและผู้กำกับภาพยนตร์อีกด้วย มีผลงานได้แก่ พระลอ นำแสดงโดย มิตร ชัยบัญชา และเพชรา เชาวราษฎร์ ออกฉายในปี พ.ศ. 2511[1], เรื่อง เตะฝุ่น นำแสดงโดย สมบัติ เมทะนี และเพชรา เชาวราษฎร์ ออกฉายในปี พ.ศ. 2516 [7] และ อยุธยาที่ข้ารัก นำแสดงโดย กรุง ศรีวิไล และภาวนา ชนะจิต ออกฉายในปี พ.ศ. 2522[8] เป็นต้น

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 เมื่อวานและวันนี้ที่หมู่บ้านเศรษฐกิจ : วันเว้นวันจันทร์ พุธ ศุกร์กับ ประภัสสร เสวิกุล จากคมชัดลึก
  2. "ประวัติโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี จากเว็บไซต์โรงเรียน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-02-13. สืบค้นเมื่อ 2013-03-29.
  3. ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไป
  4. ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไป พ.ศ. ๒๕๐๐ ครั้งที่ ๒
  5. หน้า 140, ชีวลิขิต โดย ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช (2548) ISBN 974-9353-50-1
  6. ระเบิดเวทีหาเสียง หน้า 28, "กาลานุกรมสยามประเทศไทย 2485-2554" โดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ดร. (2554) ISBN 978-974-228-070-3
  7. "จากโปสเตอร์ภาพยนตร์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2013-03-29.
  8. จากโปสเตอร์ภาพยนตร์[ลิงก์เสีย]
  9. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๘๗ ตอนที่ ๑๒๒ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๗๖๒, ๓๑ ธันวาคม ๒๕๑๓