ไดโดมอน (Daidomon) เป็นเครือร้านอาหารปิ้งย่างสัญชาติไทย ดำเนินกิจการเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2526 และสาขาสุดท้ายให้บริการวันสุดท้ายวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2567

ประวัติ

แก้

ไดโดมอนก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2526 ที่สาขาสยามสแควร์ซอย 3 และสยามสแควร์ซอย 5 ก่อนขยายสาขาเอกมัย (สุขุมวิท 63) และเดอะมอลล์งามวงศ์วาน ต่อมาเดือนตุลาคม พ.ศ. 2533 ได้จัดตั้ง บริษัท ไดโดมอน กรุ๊ป จำกัด เพื่อประกอบกิจการร้านอาหารโดยใช้ชื่อทางการค้า "ไดโดมอน" มีผู้ร่วมทุนอย่างกลุ่มสหพัฒนพิบูล เอ็มเคเรสโตรองต์ และไมเนอร์ฟู้ด ภายหลังได้แปรสภาพบริษัทเป็นบริษัท ไดโดมอน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2544

ไดโดมอนทยอยปิดสาขาเนื่องจากผลประกอบการขาดทุน จึงได้ขายกิจการให้กับ บริษัท ฮอท พอท จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2554 และบริษัท ฮอท พอท จำกัด (มหาชน) ได้เข้าตลาดหลักทรัพย์ MAI เมื่อ พ.ศ. 2556 มีการปรับปรุงสาขาที่ยังไม่ได้ปรับปรุงที่เหลืออยู่เกือบทั้งหมดจำนวน 10 สาขา จากจำนวนทั้งหมด 12 สาขา และได้เพิ่มการขายสุกี้ชาบูในร้านไดโดมอน ที่ปรับปรุงใหม่จำนวน 6 สาขา และอีก 4 สาขา พร้อมได้เปลี่ยนแบรนด์ร้านเป็น ฮอทพอต

พ.ศ. 2561 มีการเปลี่ยนแปลงชื่อจากเดิม บริษัท ฮฮท พอท จำกัด (มหาชน) เป็น บริษัท เจซี เค ฮอลพิทอลลิตี้ จำกัด (มหาชน)[1] อันเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการถือหุ้น หลังการระบาดทั่วของโควิด-19 ในประเทศไทย มีการเปลี่ยนบางสาขาให้เป็นแบรนด์ ไดโดมอน โดยมีสาขาฟิวเจอร์พาร์ครังสิตเป็นสาขาแรกที่บริษัทปรับภาพลักษณ์แบรนด์

นับแต่กลางปี 2566 ไดโดมอนทยอยปิดตัวหลายสาขา ได้แก่ สาขาเซ็นทรัลเชียงใหม่แอร์พอร์ต สาขาเมกาบางนา สาขาอยุธยาซิตี้พาร์ค สาขาเดอะมอลล์บางกะปิ สาขาเซ็นทรัลอุบล และสาขาฟิวเจอร์พาร์ครังสิตเป็นสาขาสุดท้าย[2] ให้บริการวันสุดท้ายวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2567[3][4]

อ้างอิง

แก้
  1. พิราภรณ์ วิทูรัตน์. "ปิด 'Daidomon' เพิ่ม เหลือรังสิตสาขาสุดท้าย บริษัทแม่ขาดทุนสะสมพันล้านบาท". กรุงเทพธุรกิจ.
  2. "ปิดตำนานไดโดมอน สาขาสุดท้ายเปิดถึง 5 ส.ค.นี้ 41 ปีบุฟเฟต์ปิ้งย่างเกาหลีแห่งแรกในไทย". ผู้จัดการออนไลน์.
  3. "ปิดตำนาน 41 ปี ปิ้งย่าง Daidomon ขวัญใจยุค 90s สาขาสุดท้ายเปิดถึง 5 สิงหาคมนี้". สนุก.คอม.
  4. "ปิดตำนาน 41 ปี บุฟเฟต์ Daidomon โบกมือลา สาขาสุดท้าย 5 สิงหาคมนี้". มติชน.