ไซโง ทากาโมริ
ไซโง ทากาโมริ (ญี่ปุ่น: 西郷 隆盛 โรมาจิ: Saigō Takamori, 23 มกราคม ค.ศ. 1828 - 24 กันยายน ค.ศ. 1877) เป็นหนึ่งในซามูไรผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น มีชีวิตอยู่ระหว่างปลายยุคเอโดะ (บากุมัตสึ) ถึงช่วงต้นยุคเมจิ ผู้ได้รับการขนานนามว่า "ซามูไรที่แท้จริงคนสุดท้าย" ("the last true samurai'") [1] ไซโงมีชื่อในวัยเด็กว่า "ไซโง โคกิจิ" และได้เปลี่ยนมาใช้ชื่อว่า "ไซโง ทากาโมริ" เมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ นอกจากนี้เขายังใช้ชื่อในงานเขียนกวีนิพนธ์ว่า "ไซโง นันชู"[2]
ไซโง ทากาโมริ 西郷 隆盛 | |
---|---|
![]() ไซโง ทากาโมริ ภาพถ่ายโดย เอโดอาร์โด กีออสโซเน | |
เกิด | 23 มกราคม ค.ศ. 1828 คาโงชิมะ, แคว้นซัตสึมะ, ญี่ปุ่น |
เสียชีวิต | 24 กันยายน ค.ศ. 1877 (49 ปี) คาโงชิมะ, ญี่ปุ่น |
ชื่ออื่น | ไซโง ทากานางะ (西郷 隆永) ไซโง คิจิโนซูเกะ (西郷 吉之助) ไซโง โคกิจิ (西郷 小吉) ไซโง นันชู (西郷 南洲) |
อาชีพ | ซามูไร, นักการเมือง |
ไซโง ทากาโมริ | |||||
---|---|---|---|---|---|
ชื่อญี่ปุ่น | |||||
ฮิระงะนะ | さいごう たかもり | ||||
คีวจิไต | 西鄕 隆盛 | ||||
ชินจิไต | 西郷 隆盛 | ||||
|
ปฐมวัยแก้ไข
ไซโง ทากาโมริ เกิดเมื่อวันที่ 7 เดือน 12 ปีบุงเซที่ 10 ตามปฏิทินจันทรคติเก่าของญี่ปุ่น (ตรงกับวันที่ 23 มกราคม ค.ศ. 1828 ตามปฏิทินเกรกอเรียน) ที่เมืองคาโงชิมะ แคว้นซัตสึมะ (ปัจจุบันคือจังหวัดคาโงชิมะของญี่ปุ่น) ในชั้นแรกไซโงได้ทำงานเป็นซามูไรระดับล่าง ต่อมาได้ถูกเกณฑ์ให้ร่วมเดินทางไปนครเอโดะเมื่อ ค.ศ. 1854 เพื่อช่วยเหลือชิมาซุ นาริอากิระ ไดเมียวแห่งแคว้นซัตสึมะในเวลานั้น ในการดำเนินนโยบาย "โคบูกัตไต" (公武合体) หรือการประสานราชสำนักและรัฐบาลโชกุนโทกูงาวะให้เกิดความปรองดอง
อย่างไรก็ตาม การดำเนินกิจกรรมของไซโงในเอโดะต้องสะดุดลงเมื่อเกิดการกวาดล้างปีอันเซ ซึ่งดำเนินการโดยไทโรอิอิ นาโอซูเกะ เพื่อกำจัดฝ่ายต่อต้านรัฐบาลโชกุน และการเสียชีวิตอย่างกะทันหันของชิมาซุ นาริอากิระ ไซโงได้หนีกลับไปยังคาโงชิมะ แต่กลับถูกจับกุมและเนรเทศไปอยู่บนเกาะอามามิโอชิมะ เขาถูกเรียกตัวให้กลับไปที่คาโงชิมะอีกครั้งในปี ค.ศ. 1861 แต่ก็ถูกชิมาซุ ฮิซามิตสึ ไดเมียวคนใหม่ของแคว้นสั่งเนรเทศอีกครั้ง ภายหลังฮิซามิตสึได้อภัยโทษให้ไซโงในปี ค.ศ. 1864 และได้ส่งไซโงไปยังเกียวโตเพื่อจัดการผลประโยซน์ของทางแคว้นที่มีต่อราชสำนัก
การฟื้นฟูสมัยเมจิแก้ไข
นอกเหนือจากการเข้าควบคุมกองกำลังของซัตสึมะที่อยู่ในเกียวโตแล้ว ไซโงได้เร่งจัดตั้งพันธมิตรซามูไรร่วมกับแคว้นไอซุเพื่อต่อต้านแคว้นโชชูซึ่งเป็นคู่แข่ง และป้องกันมิให้แคว้นดังกล่าวเข้าควบคุมพระราชวังหลวงเกียวโตในเหตุการณ์กบฏฮามากูริ ต่อมาในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1846 ไซโงได้เป็นหนึ่งในเหล่าผู้บัญชาการกองทัพภายใต้การควบคุมของรัฐบาลโชกุน ซึ่งยกไปโจมตีแคว้นโชชูเพื่อเป็นการลงโทษที่โชชูก่อการกบฏข้างต้น แต่ในทางลับนั้นเขาได้ทำการเจรจากับกลุ่มผู้นำโชชู ซึ่งนำไปสู่การตั้งพันธมิตรซัตโจในภายหลัง ต่อมาเมื่อรัฐบาลโชกุนทำการส่งกองทัพไปลงโทษแคว้นโชชูเป็นครั้งที่ 2 ในเดือนเดียวกัน ทางซัตสึมะกลับสงวนท่าทีวางตัวเป็นกลางแทน
ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1867 โชกุนโทกูงาวะ โยชิโนบุ ได้ประกาศสละอำนาจและถวายอำนาจการปกครองคืนแก่จักรพรรดิ ในเหตุการณ์ซึ่งเรียกชื่อในเวลาต่อมาว่าการฟื้นฟูสมัยเมจิ อย่างไรก็ตาม ไซโงกลับเป็นผู้หนึ่งที่คัดค้านแนวทางการเจรจาโดยสันติอย่างรุนแรง และได้เรียกร้องให้ริบดินแดนและสถานะพิเศษต่าง ๆ ของตระกูลโทกูงาวะทั้งหมด ท่าทีที่ยอมไม่ประนีประนอมของเขาได้กลายเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของสงครามโบชิงที่เกิดขึ้นในลำดับต่อมา
ระหว่างช่วงสงครามโบชิง ไซโงได้นำทัพหลวงในยุทธการโทบะ–ฟูชิมิ และนำกองทัพรุกคืบเข้าสู่เอโดะ และได้ยอมรับการประกาศยอมแพ้ของทางปราสาทเอโดะจากคัตสึ ไคชู
ร่วมรัฐบาลเมจิแก้ไข
ถึงแม้โอกูโบะ โทชิมิจิและคนอื่น ๆ จะมีบทบาทและอิทธิพลในการจัดตั้งรัฐบาลเมจิขึ้นใหม่ แต่ไซโงก็ยังคงมีบทบาทสำคัญอยู่ และความร่วมมือของไซโงนั้นมีความสำคัญยิ่งในการยกเลิกระบบแว่นแคว้นศักดินาของญี่ปุ่นทั้งหมด และเริ่มให้มีการเกณฑ์ทหารสำหรับกองทัพประจำการ ด้วยภูมิหลังที่เป็นคนสมถะ ในปี ค.ศ. 1871 ไซโงจึงได้รับมอบหมายให้ดูแลคณะรัฐบาลรักษาการ ซึ่งทำการแทนเหล่าเสนาบดีที่ออกเดินทางไปกับคณะการทูตอิวากูระ (ค.ศ. 1871 - 1872)
ไซโงเริ่มเกิดความไม่เห็นด้วยในการทำให้ประเทศญี่ปุ่นมีความทันสมัยและการเปิดการค้ากับชาติตะวันตก เขาได้คัดค้านการสร้างระบบทางรถไฟ และยืนกรานว่าควรนำเงินดังกล่าวมาใช้ในการบำรุงกองทัพให้มีความทันสมัยมากกว่า จนเป็นที่กล่าวขานไปทั่ว[3]
ในการอภิปราย "เซกังรง" ในปี ค.ศ. 1873 ไซโงยังได้ยืนกรานอีกว่าญี่ปุ่นควรเปิดสงครามกับเกาหลี เนื่องจากเกาหลีปฏิเสธที่จะยอมรับว่าจักรพรรดิเมจิทรงเป็นประมุขโดยชอบธรรมของจักรวรรดิญี่ปุ่น และดูหมิ่นผู้แทนของญี่ปุ่นในความพยายามเปิดความสัมพันธ์ทางการค้าและการทูตกับเกาหลี เมื่อถึงจุดหนึ่ง เขาก็ได้เสนอตัวเองที่จะเดินทางไปเกาหลีและจะหาเหตุยั่วยุให้คนเกาหลีทำร้ายตนเองจนถึงชีวิตเพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการก่อสงคราม อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้นำญี่ปุ่นคนอื่น ๆ ได้แสดงท่าทีคัดค้านแผนการดังกล่าวอย่างแข็งขัน ส่วนหนึ่งเนื่องจากปัญหาด้านงบประมาณที่ต้องใช้ และอีกส่วนหนึ่งเพราะความตระหนักว่า ญี่ปุ่นในเวลานั้นยังไม่อาจสู้กับชาติตะวันตกได้ในหลายด้าน ซึ่งคณะการทูตอิวากูระได้พบเห็นมาด้วยตนเอง ไซโงจึงลาออกจากทุกตำแหน่งในรัฐบาลเพื่อเป็นการประท้วง และเดินทางกลับบ้านเกิดที่คาโงชิมะ
กบฏซัตสึมะ (1877)แก้ไข
หลังจากไซโงลาออกจากรัฐบาลได้ไม่นาน ได้มีการตั้งสถานศึกษาเอกชนด้านการทหารขึ้นแห่งหนึ่งในคาโงชิมะสำหรับผู้ที่ศรัทธาในวิถีของซามูไร ซึ่งได้ลาออกเพื่อติดตามไซโงมาจากโตเกียว ซามูไรซึ่งถูกทำให้เชื่อว่าไม่จงรักภักดีเหล่านี้ได้เข้าควบคุมการปกครองเมืองคาโงชิมะ และด้วยเกรงว่าจะเกิดการกบฏขึ้น รัฐบาลกลางจึงได้ส่งทัพเรือมายังคาโงชิมะเพื่อเคลื่อนย้ายอาวุธออกจากคลังแสงของเมืองนี้ เป็นเรื่องน่าประชดเมื่อการกระทำดังกล่าวได้นำไปสู่ความขัดแย้งอย่างเปิดเผย แม้ว่าจะมีการยกเลิกการให้เบี้ยหวัดแก่ซามูไรเป็นข้าวสารในปี ค.ศ. 1877 ก็ตาม แต่ความขัดแย้งก็อยู่ในระดับที่รุนแรงมากอยู่แล้ว การกระด้างกระเดื่องดังกล่าวทำให้ไซโงตกใจอย่างยิ่ง แต่เขาก็ต้องเป็นผู้นำกลุ่มกบฏทำการต่อต้านรัฐบาลกลางอย่างไม่เต็มใจนัก
ในเวลาเพียงไม่กี่เดือน การกบฏก็ได้ถูกสกัดกั้นโดยกองทัพของรัฐบาลกลาง ซึ่งระดมทัพใหญ่จำนวน 300,000 คนจากทั้งนายทหารที่เคยเป็นซามูไรและทหารเกณฑ์ ภายใต้การบัญชาการของคาวามูระ ซูมิโยชิ กองทัพของจักรวรรดินั้นมีความทันสมัยในทุกด้าน มีการใช้ทั้งปืนใหญ่โฮวิทเซอร์และบอลลูนตรวจการณ์ ส่วนกบฏฝ่ายซัตสึมะมีจำนวนอยู่ราว 40,000 คน และลดจำนวนลงเหลือเพียงราว 400 คน ในการยืนหยัดครั้งสุดท้ายในยุทธการชิโรยามะ ถึงว่าพวกเขาจะสู้เพื่อรักษาบทบาทของซามูไร แต่ก็ใช้ยุทธวิธีการรบปืนเล็กยาวและปืนใหญ่ตามแบบตะวันตก ภาพวาดร่วมสมัยในช่วงเวลาเดียวกับการกบฏทั้งหมดนั้น ล้วนแสดงภาพของไซโง ทากาโมริ ในลักษณะกุมดาบและแต่งตัวตามแบบทหารชาติตะวันตกอย่างชัดเจน ในช่วงปลายของความขัดแย้งนั้น ฝ่ายกบฏขาดแคลนอาวุธและยุทธปัจจัยอย่างหนัก จึงย้อนกลับไปใช้ยุทธวิธีการรบระยะประชิดด้วยดาบ หอก และธนูแทน
ในระหว่างการรบ ไซโงได้รับบาดเจ็บสาหัสที่บริเวณสะโพก ทว่าไม่มีผู้ใดทราบสาเหตุการเสียชีวิตของเขา คำให้การของผู้ใกล้ชิดไซโงกล่าวอ้างว่า ไซโงได้ยันตัวตรงและกระทำการเซ็ปปูกุหลังจากได้รับบาดเจ็บ หรืออีกอย่างหนึ่งคือไซโงได้ขอให้สหายของของเขาชื่อ เบ็ปปุ ชินซูเกะ เป็นผู้ช่วยในการลงมือทำอัตนิวิบาตกรรม ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนได้ให้ทัศนะว่าไม่น่าจะใช่ทั้งสองกรณี และไซโงนั้นอาจหมดสติเพราะอาการบาดเจ็บไปแล้ว จึงไม่อาจพูดได้ด้วย สหายของไซโงหลายคนหลังจากได้เห็นสภาพของเขาแล้วคงช่วยตัดศีรษะของเขา เพื่อให้เขาได้ตายในฐานะนักรบดังที่ได้ปรารถนาไว้ ภายหลังคนเหล่านั้นจึงได้กล่าวว่าไซโงได้กระทำการเซ็ปปูกุ เพื่อรักษาสถานะความเป็นซามูไรที่แท้จริงของเขาไว้[4] ทั้งนี้ ยังไม่เป็นที่แน่ชัดอีกด้วยว่าเกิดอะไรขึ้นกับศีรษะของไซโงหลังจากที่เขาเสียชีวิต บางตำนานกล่าวว่าคนรับใช้ของไซโงได้ซ่อนศีรษะของเขาไว้ และถูกพบในภายหลังโดยทหารของฝ่ายรัฐบาลคนหนึ่ง แต่จะอย่างไรก็ตาม ส่วนศีรษะของไซโงได้ถูกฝ่ายรัฐบาลค้นพบด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งและได้นำมารวมกับร่างกายของไซโง ซึ่งนอนเคียงข้างกับศพผู้ช่วยของเขาอีก 2 คน เหตุการณ์ดังกล่าวนี้มีพยานผู้พบเห็นกัปตันเรือชาวอเมริกันชื่อ จอห์น คาเพน ฮับบาร์ด (John Capen Hubbard) ตำนานอีกเรื่องหนึ่งกล่าวว่าไม่เคยมีการค้นพบศีรษะของไซโงแต่อย่างใด แต่ไม่ว่าเหตุการณ์ที่แท้จริงจะเป็นอย่างไร การเสียชีวิตของไซโง ทากาโมริก็ได้นำมาซึ่งจุดจบของกบฏซัตสึมะในที่สุด
ตำนานเกี่ยวกับไซโงแก้ไข
การตายของไซโงได้ทำให้เกิดตำนานมากมายที่ปฏิเสธเรื่องการเสียชีวิตของเขา คนญี่ปุ่นจำนวนมากหวังว่าเขาจะเดินทางกลับมาจากบริติชราช (อินเดีย) หรือประเทศจีน หรือล่องเรือกลับมาพร้อมกับซาร์เรวิชอเล็กซานเดอร์แห่งรัสเซียเพื่อขจัดความอยุติธรรมภายในประเทศ มีแม้กระทั่งบันทึกกล่าวว่าภาพของไซโงได้ปรากฏอยู่บนดาวหางในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 อันเป็นลางร้ายแก่พวกศัตรูของเขา
ความรักเคารพของประชาชนญี่ปุ่นที่มีต่อไซโง ซึ่งถูกนับถือว่าเป็นตัวอย่างที่ดีของผู้ธำรงไว้ซึ่งจริยธรรมของซามูไร ทำให้รัฐบาลยุคเมจิไม่อาจฝืนกระแสมหาชน และได้ทำการอภัยโทษย้อนหลังให้เขาเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1889
อนุสรณ์แก้ไข
อนุสาวรีย์ของไซโง ทากาโมริ ที่มีชื่อเสียงคือ ประติมากรรมสำริดของไซโงในชุดล่าสัตว์พร้อมด้วยสุนัข ผลงานของทากามูระ โคอุง ซึ่งตั้งอยู่ที่สวนอูเอโนะ กรุงโตเกียว และได้ทำพิธีเปิดผ้าคลุมเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ค.ศ. 1898 รูปปั้นดังกล่าวนี้ได้มีการจำลองและนำไปติดตั้งไว้ที่เกาะโอกิโนเอราบุจิมะ ซึ่งเป็นสถานที่ที่ไซโงเคยถูกเนรเทศ[5]
หมายเหตุแก้ไข
- ↑ History Channel The Samurai, video documentary
- ↑ Ravina, Mark. The Last Samurai: The Life and Battles of Saigo Takamori. John Wiley and Sons, 2011. Names, Romanizations, and Spelling (page 1 of 2). Retrieved from Google Books on August 7, 2011. ISBN 1-118-04556-4, ISBN 978-1-118-04556-5.
- ↑ On Saigō and the establishment of a railway
- ↑ Andrew M. Beierle (ed.). "The Real Last Samurai". Emory Magazine. Emory University. สืบค้นเมื่อ 10 April 2009.
- ↑ Man, John. "In the Footsteps of the Real Last Samurai." SOAS World. 37 (Spring 2011). p30.
อ้างอิงแก้ไข
- Hagiwara, Kōichi (2004). 図説 西郷隆盛と大久保利通 (Illustrated life of Saigō Takamori and Okubo Toshimichi) Kawade Shobō Shinsya, 2004 ISBN 4-309-76041-4 (Japanese)
- Jansen, Marius B. and Gilbert Rozman, eds. (1986). Japan in Transition: from Tokugawa to Meiji. Princeton: Princeton University Press. 10-ISBN 0691054592/13-ISBN 9780691054599; OCLC 12311985
- ____________. (2000). The Making of Modern Japan. Cambridge: Harvard University Press. 10-ISBN 0674003349/13-ISBN 9780674003347; OCLC 44090600
- Ravina, Mark. (2004). The Last Samurai: The Life and Battles of Saigo Takamori. Hoboken, New Jersey: Wiley. 10-ISBN 0471089702/13-ISBN 9780471089704; OCLC 427566169
- Yates, Charles (1995) "'Saigo Takamori: The Man Behind The Myth" (New York, NY: Kegan Paul International ) ISBN 0-7103-0484-6
แหล่งข้อมูลอื่นแก้ไข
คอมมอนส์ มีภาพและสื่อเกี่ยวกับ: ไซโง ทากาโมริ |