อำเภอไชยปราการ
ไชยปราการ (ไทยถิ่นเหนือ: ) เป็นอำเภอในจังหวัดเชียงใหม่
อำเภอไชยปราการ | |
---|---|
การถอดเสียงอักษรโรมัน | |
• อักษรโรมัน | Amphoe Chai Prakan |
น้ำแม่ฝาง | |
คำขวัญ: พระเจ้าพรหมสร้างเมือง รุ่งเรืองวัฒนธรรม งามล้ำถ้ำตับเต่า เมืองเก่าไชยปราการ | |
แผนที่จังหวัดเชียงใหม่ เน้นอำเภอไชยปราการ | |
พิกัด: 19°43′56″N 99°8′25″E / 19.73222°N 99.14028°E | |
ประเทศ | ไทย |
จังหวัด | เชียงใหม่ |
พื้นที่ | |
• ทั้งหมด | 510.9 ตร.กม. (197.3 ตร.ไมล์) |
ประชากร (2566) | |
• ทั้งหมด | 50,729 คน |
• ความหนาแน่น | 99.29 คน/ตร.กม. (257.2 คน/ตร.ไมล์) |
รหัสไปรษณีย์ | 50320 |
รหัสภูมิศาสตร์ | 5021 |
ที่ตั้งที่ว่าการ | ที่ว่าการอำเภอไชยปราการ 717 หมู่ 2 ตำบลปงตำ อำเภอไชยปราการ |
ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย |
ที่ตั้งและอาณาเขต
แก้อำเภอไชยปราการมีอาณาเขตติดต่อกับอำเภอและจังหวัดใกล้เคียงดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอฝาง
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอแม่สรวย (จังหวัดเชียงราย)
- ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอพร้าว
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอเชียงดาว และรัฐฉาน (ประเทศพม่า)
ประวัติ
แก้"ไชยปราการ" ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี เมืองไชยปราการเคยเป็นราชธานีของ อาณาจักรโยนกเชียงแสน (ล้านนา) มาก่อน ตั้งแต่รัชสมัยของพระเจ้าพรหมกุมาร หรือพระเจ้าพรหมมหาราชพระองค์ได้ทรงโปรดให้สร้างเมืองขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1599 ตรงบริเวณลำแม่น้ำฝาง ฝากฝั่งด้านทิศตะวันออก ได้ขนานนามเมืองว่า "นครเวียงไชยปราการราชธานี" และพระเจ้าพรหมราชกุมาร ได้ขึ้นครองราชย์สมบัติเมื่อปี พ.ศ. 1600 เมืองไชยปราการนี้อยู่ห่างเมืองโยนกเชียงแสน หรือเมืองเวียงไชยบุรี – ศรีเชียงแสน เป็น ระยะทางประมาณ 300 กิโลเมตร (คือเมืองเชียงแสนกับเมืองฝางในปัจจุบัน)[1]
เมืองไชยปราการที่กล่าวถึงนี้ ศาสตราจารย์แคมแมน นักสำรวจโบราณวัตถุแห่ง มหาวิทยาลัยมลรัฐเพนซิลวาเนีย สหรัฐอเมริกา ได้ให้ข้อสันนิษฐานว่า เมืองไชยปราการที่พระเจ้าพรหม มหาราชทรงสร้างขึ้นนั้น มิใช่ตัวเมืองฝางในปัจจุบัน แต่เป็นริมแม่น้ำฝางด้านทิศตะวันออกอยู่ในพื้นที่ตำบลแม่ข่า ทางทิศใต้ของอำเภอฝาง (เขตติดต่ออำเภอฝาง – อำเภอไชยปราการ) เมืองไชยปราการตั้งอยู่ห่าง อำเภอฝาง เป็นระยะทางประมาณ 22 กิโลเมตร มีลักษณะคล้ายหัวใจ เมืองไชยปราการเป็นเมืองร้างซึ่ง ปรากฏซากกำแพงเมือง ซุ้มประตู และซากพระราชวังอยู่โดยชัดแจ้ง ส่วนตัวเมืองฝางนั้น เป็นเมืองที่สร้างขึ้นใหม่ภายหลัง
ต่อมาเมืองไชยปราการได้เสื่อมอำนาจลงเมื่อปี พ.ศ. 1702 พระยามังราย (พ่อขุนเม็งราย) ผู้สร้างเมืองเชียงราย ได้ขยายอำนาจ และสร้างเมืองใหม่ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1893 ตรงบริเวณลุ่มแม่น้ำปิง (ระมิงค์) เป็นเมืองที่มีความอุดมสมบูรณ์ และมีความมั่นคงแข็งแรงกว่าเมืองอื่น ๆ และพระองค์ได้ขนานเมืองว่า เมืองเชียงใหม่ ดังนั้น เมืองไชยปราการจึงได้ถูกรวมเข้ากับเมืองฝางและอยู่ในเขตอำเภอฝาง[2]
ต่อมาในวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2530 เนื่องจากพื้นที่ทางทิศใต้ของอำเภอฝางมีปัญหาความห่างไกลจากศูนย์ราชการ จึงแยกพื้นที่ตำบลปงตำ ตำบลศรีดงเย็น ตำบลแม่ทะลบ และตำบลหนองบัว ขึ้นเป็นกิ่งอำเภอ ใช้ชื่อว่า "ไชยปราการ"[3] ตามพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ ตั้งที่ว่าการกิ่งอำเภอ ณ บ้านท่า ตำบลปงตำ และเปิดใช้ที่ว่าการกิ่งอำเภอในวันที่ 1 มกราคม 2531 เมื่อพื้นที่มีความเจริญมากขึ้น พ.ศ. 2536 กรมการปกครองได้พิจารณาดำเนินการจัดตั้งอำเภอ ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ได้เสนอขอยกฐานะอำเภอไชยปราการในท้องที่อำเภอฝาง ซึ่งกรมการปกครองได้บรรจุเข้าแผนการจัดตั้งอำเภอ (พ.ศ. 2536 - 2537) และแยกออกเป็นเอกเทศอย่างเป็นทางการจากอำเภอฝางในวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2537[4]
การแบ่งเขตการปกครอง
แก้การปกครองส่วนภูมิภาค
แก้อำเภอไชยปราการแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 4 ตำบล 44 หมู่บ้าน ได้แก่
ลำดับที่ | อักษรไทย | อักษรโรมัน | จำนวนหมู่บ้าน | ประชากรทั้งหมด (พ.ศ. 2566)[5] |
ประชากรแยกตามส่วนท้องถิ่น (พ.ศ. 2566)[5] | |
---|---|---|---|---|---|---|
1. | ปงตำ | Pong Tam | 8 | 7,842 | 7,842 | (ทต. ไชยปราการ) |
2. | ศรีดงเย็น | Si Dong Yen | 18 | 17,493 | 5,847 11,646 |
(ทต. ไชยปราการ) (อบต. ศรีดงเย็น) |
3. | แม่ทะลบ | Mae Thalop | 7 | 7,948 | 7,948 | (อบต. แม่ทะลบ) |
4. | หนองบัว | Nong Bua | 11 | 17,446 | 1,829 15,617 |
(ทต. ไชยปราการ) (ทต. หนองบัว) |
รวม | 44 | 50,729 | 31,135 (เทศบาล) 19,594 (อบต.) |
การปกครองส่วนท้องถิ่น
แก้ท้องที่อำเภอไชยปราการประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4 แห่ง ได้แก่
- เทศบาลตำบลไชยปราการ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลปงตำทั้งตำบล รวมถึงบางส่วนของตำบลศรีดงเย็นและตำบลหนองบัว
- เทศบาลตำบลหนองบัว ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองบัว (นอกเขตเทศบาลตำบลไชยปราการ)
- องค์การบริหารส่วนตำบลศรีดงเย็น ครอบคลุมพื้นที่ตำบลศรีดงเย็น (นอกเขตเทศบาลตำบลไชยปราการ)
- องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ทะลบ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลแม่ทะลบทั้งตำบล
สถานที่ท่องเที่ยว
แก้วัดถ้ำตับเต่า[6] บนเส้นทางสายเชียงใหม่-ฝาง ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 120 และ 121 แยกซ้ายมือเข้าไปประมาณ 3 กิโลเมตร ภายในบริเวณวัดร่มรื่น มีหอพระไตรปิฎกสร้างอยู่กลางน้ำ สิ่งสำคัญในวัดคือถ้ำตับเต่า มีขนาดเล็กกว่าถ้ำเชียงดาว ภายในถ้ำมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ ถ้ำตับเต่านี้แยกออกเป็น 2 ถ้ำ คือ ถ้ำผาขาว และถ้ำปัญเจค บริเวณหน้าถ้ำมีกุฏิและศาลาสำหรับพักผ่อน
อุทยานแห่งชาติดอยเวียงผา มีน้ำตกหลายแห่ง แต่ส่วนใหญ่เส้นทางยังไม่สะดวกนัก เนื่องจากยังอยู่ในระหว่างพัฒนาพื้นที่ น้ำตกที่เดินทางเข้าถึงสะดวกที่สุดคือ น้ำตกห้วยทรายขาว ซึ่งอยู่บริเวณเดียวกับที่ตั้งที่ทำการอุทยานฯ เป็นน้ำตกขนาดเล็ก มีแอ่งน้ำให้นักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำได้แต่ในช่วงฤดูแล้งน้ำจะน้อยมาก จะมีน้ำเยอะช่วงเดือนพฤษภาคมแต่น้ำจะขุ่น น้ำจะใสช่วงหลังฝน ชั้นบนของน้ำตกเป็นแอ่งน้ำและมีทรายอยู่เนื่องจากน้ำพัดเอาทราย มาจากการกัดกร่อนของหินทราย ชั้นบน อากาศบริเวณน้ำตกชื้นจนทำให้มีมอสจับอยู่ มีแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆในอุทยานฯ ได้แก่ น้ำตกแม่ฝางหลวง น้ำตกดอยเวียงผา น้ำตกห้วยหาน และจุดชมวิวดอยเวียงผา อุทยานแห่งชาติดอยเวียงผามีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 583 ตารางกิโลเมตร สภาพป่าในพื้นที่ส่วนใหญ่ เป็นป่าดิบเขาและป่าเบญจพรรณ นอกจากนี้ยังมีป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง และป่าสนเขา นกที่พบ เช่น นกกินปลี และนกพญาไฟ สัตว์ป่าที่พบส่วนใหญ่จะเป็นขนาดกลางและสัตว์ขนาดเล็ก ได้แก่ กระรอก กระต่าย หมูป่า อีเห็น เก้ง เลียงผา เสือไฟ เม่น หมีควาย เป็นต้น
วัดพระเจ้าพรหมมหาราช (วัดป่าไม้แดง)
บ้านถ้ำง๊อบ[7] เป็นหมู่บ้านของอดีตทหารจีนคณะชาติ ที่ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลหนองบัว อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ แต่เดิมหมู่บ้านถ้ำง๊อบเป็นสถานที่ตั้งของกองทหารจีนคณะชาติ กองทัพที่ 3 หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "กองพล 93" โดยมีนายพลหลี่ เหวิน ฮ้วน เป็นผู้นำ ก่อนที่กองกำลังทหารจีนคณะชาติจะได้อพยพเข้ามาอยู่ที่บ้านถ้ำง๊อบแห่งนี้ สาเหตุมาจากจีนแผ่นดินใหญ่เกิดการเปลี่ยนแปลงลัทธิการแกครองไปเป็นแบบคอมมิวนิตส์ ผู้นำของชาวจีนส่วนหนึ่งไม่สามารถทนต่อความกดขี่ของลัทธิคอมมิวนิตส์ได้ จึงได้อพยพพรรคพวกออกนอกประเทศ มาทางประเทศพม่า และเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยความเมตตากรุณาของรัฐบาลไทยและความเห็นอกเห็นใจจากประชาชนชาวไทย เมื่อ พ.ศ. 2495 ทำให้กลุ่มอดีตทหารจีนคณาชาติได้ตั้งหลักแหล่งเพื่อประกอบอาชีพอยู่บนดอยถ้ำง๊อบ โดยความควบคุมของ บก.04 กองบัญชาการทหารสูงสุด กระทรวงกลาโหม ในสมัยเมื่อปี พ.ศ. 2518 กลุ่มอดีตทหารจีนคณะชาติ กองทัพที่ 3 ได้ร่วมมือกับ รัฐบาลไทยดำเนินการสู้รบและต่อต้านผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิตส์ในเขตภาคเหนือจนได้รับความไว้วางใจและเห็นใจจากกองบัฐชาการทหารสูงสุดได้ให้ดอกาสอดีตทหารจีนคณะชาติที่ร่วมสู้รบกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิตส์และไม่ประสงค์จะขอกลับไปประเทศไต้หวันตามข้อตกลงระหว่างประเทศ ได้มีดอกาสโอนและแปลงสัญชาติเป็นสัญชาติไทย ซึ่งมีสิทธิและเสรีภาพภาพเหมือนคนไทยทุกประการ นาบพลหลี่ เหวิน ฮ้วน ผู้นำของอดีตทหารจีนคณะชาติ กองทัพที่ 3 ได้โอนสัญชาติเป็นคนไทยและมีชื่อว่า นายชัย ชัยศิริ ปัจจุบันบ้านถ้ำง๊อบมีอยู่ด้วยกัน 3 กลุ่มบ้าน คือบ้านสินชัย ผาแดง และบ้านถ้ำง๊อบ
วัดถ้ำผาผึ้ง เป็นวัดที่มีพระพุทธรูปประดิษฐานในถ้ำ มีพื้นที่ร่มรื่น สงบ ร่มเย็นมีมหาเจดีย์อรุสรณ์ พิพิธภัณฑ์อัฐบริขาร หลวงปู่บุญจันทร์ จนทวโร สร้างเพื่อเป็นที่ประดิษฐานรูปเหมือน ของหลวงปู่บุญจันทร์ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานและเป็นสถานที่เก็บของใช้ส่วนตัว ของท่านหลวงปู่ ซึ่งเป็นนักปฏิบัติสายพระอาจารย์มั่น ถือว่าเป็นพระผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ตั้งอยู่ ณ บ้านถ้ำผาผึ้ง
ฮิโนกิแลนด์ (Hinoki land)[8] อาณาจักรไม้ฮิโนกิแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย เปิดเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2561 พื้นที่กว่า 100 ไร่ สร้างเป็นเมืองจำลองแบบญี่ปุ่น โดดเด่นด้วยการประดับตกแต่งอย่างโคมแดงขนาดยักษ์แบบวัดอาซากุสะที่โตเกียว เสาแดงโทริอิเหมือนที่[วัดฟูชิมิอินาริที่เกียวโต ตลอดจนสิ่งก่อสร้างต่างๆ ปราสาทฮิโนกิ สร้างจากไม้หอมทั้งหลัง ขนาดสูง 4 ชั้น
อ้างอิง
แก้- ↑ "ประวัติเมืองไชยปราการ". องค์การบริหารส่วนตำบลศรีดงเย็น อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่. สืบค้นเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2566
- ↑ "ประวัติเมืองเก่าไชยปราการ". ประวัติเมืองเก่าไชยปราการ.ไทย. สืบค้นเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2566
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง แบ่งเขตท้องที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งเป็นกิ่งอำเภอไชยปราการ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 105 (5 ง): 107. วันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2531
- ↑ "พระราชกฤษฎีกาตั้งอำเภอเปือยน้อย อำเภอภูผาม่าน อำเภอราชสาส์น อำเภอเกาะสีชัง อำเภอไชยปราการ อำเภอนาหมื่น อำเภอสันติสุข อำเภอพลับพลาชัย อำเภอทุ่งยางแดง อำเภอไม้แก่น อำเภอศรีสมเด็จ อำเภอน้ำเกลี้ยง อำเภอบึงบูรพ์ อำเภอเจริญศิลป์ อำเภอนิคมน้ำอูน อำเภอกระแสสินธุ์ อำเภอนาหม่อม อำเภอท่าแพ อำเภอชัยบุรี และอำเภอศรีวิไล พ.ศ. ๒๕๓๗" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 111 (21 ก): 32–34. วันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2537
- ↑ 5.0 5.1 กรมการปกครอง. กระทรวงมหาดไทย. "สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เดือนธันวาคม 2566." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: [1]. สืบค้น 13 มีนาคม 2567.
- ↑ ถ้ำตับเตา มากเรื่องราวธรรมชาติและประวัติศาสตร์
- ↑ "หมู่บ้านถ้ำง๊อบ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-07-11. สืบค้นเมื่อ 2021-07-11.
- ↑ ฮิโนกิแลนด์ เบื้องหลังแลนด์มาร์กเมืองญี่ปุ่นกลางหุบเขาในเชียงใหม่