โรคชิคุนกุนย่า

(เปลี่ยนทางจาก ไข้ชิคุนกุนยา)

โรคชิคุนกุนย่า[5][6] (อังกฤษ: Chikungunya) เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากไวรัสชิคุนกุนย่า[3] (อังกฤษ: Chikungunya virus, CHIKV) ผู้ป่วยจะมีอาการไข้และปวดข้อ[2] โดยมักเริ่มมีอาการ 2–12 วันหลังได้รับเชื้อ[3] อาการอื่นที่อาจพบร่วมด้วยได้แก่ ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ ข้อบวม และมีผื่น เป็นต้น[2] อาการเหล่านี้มักดีขึ้นเองภายในหนึ่งสัปดาห์ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดข้อได้อีกหลายเดือนหรือหลายปี[2][7] อัตราเสียชีวิตอยู่ที่ประมาณ 1 ต่อ 1,000[4] โดยผู้ที่มีความเสี่ยงจะเกิดโรครุนแรงได้แก่ผู้ป่วยอายุน้อย อายุมาก และผู้ที่มีโรคประจำตัวอื่น [2]

โรคชิคุนกุนย่า
(Chikungunya)
ผื่นที่พบในผู้ป่วยโรคชิคุนกุนย่า
การออกเสียง
สาขาวิชาโรคติดเชื้อ
อาการไข้, ปวดข้อ[2]
ภาวะแทรกซ้อนปวดข้อเรื้อรัง[2]
การตั้งต้น2–12 วันหลังได้รับเชื้อ[3]
ระยะดำเนินโรคส่วนใหญ่ไม่เกิน 1 สัปดาห์[2]
สาเหตุไวรัสชิคุนกุนย่า (CHIKV) มียุงลายเป็นพาหะ[3]
วิธีวินิจฉัยตรวจเลือดหาสารพันธุกรรมหรือแอนติบอดี[3]
โรคอื่นที่คล้ายกันไข้เด็งกี, ไข้ซิกา[3]
การป้องกันการควบคุมยุง, หลีกเลี่ยงไม่ให้ยุงกัด[4]
การรักษารักษาตามอาการ[3]
พยากรณ์โรคอัตราการเสียชีวิต ≈ 1 ใน 1,000[4]
ความชุก> 1 ล้าน (2014)[3]

โรคนี้มียุงเป็นพาหะที่สำคัญ 2 ชนิด ได้แก่ ยุงลายบ้าน (Aedes aegypti) และยุงลายสวน (Aedes albopictus)[3] ซึ่งมักออกดูดเลือดในเวลากลางวัน[8] สัตว์ที่เป็นแหล่งรังโรคตามธรรมชาติของเชื้อนี้มีหลายชนิดรวมไปถึงนกและหนูด้วย[3] การวินิจฉัยทำได้โดยการตรวจเลือดหาสารพันธุกรรมหรือแอนติบอดีต่อไวรัส[3] อาการของโรคนี้คล้ายกันกับโรคไข้เลือดออกเดงกีและไข้ซิกา[3] ปัจจุบันเชื่อกันว่าผู้ที่เคยเป็นโรคนี้แล้วจะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ[2]

วิธีป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือการควบคุมยุงลายและการป้องกันไม่ให้ยุงกัด[4] อาจทำได้โดยกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย (ได้แก่ บริเวณที่มีน้ำขัง) ใช้ยาฆ่าแมลง และใช้มุ้ง[3] ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนและยารักษาจำเพาะ[3] การรักษาทำโดยการรักษาตามอาการ ได้แก่ ให้พักผ่อน ให้สารน้ำ และยาแก้ปวดลดไข้[3][2]

โรคนี้ส่วนใหญ่พบในแอฟริกาและเอเชีย แต่ตั้งแต่ ค.ศ. 2000 เป็นต้นมาก็พบระบาดปะทุเป็นครั้ง ๆ ในยุโรปและอเมริกาอยู่บ้าง[3] ใน ค.ศ. 2014 ทั่วโลกมีผู้ป่วยต้องสงสัยว่าเป็นโรคนี้มากกว่า 1 ล้านคน[3] ในสหรัฐเคยมีโรคนี้ระบาดในฟลอริดาและสหรัฐแผ่นดินใหญ่เมื่อ ค.ศ. 2014 แต่หลังจาก ค.ศ. 2016 เป็นต้นมาก็ไม่พบระบาดแล้ว[9][10] ต้นกำเนิดของไวรัสชิคุนกุนยามาจากทวีปแอฟริกา โดยพบเมื่อ ค.ศ. 1952 บริเวณตอนใต้ของประเทศแทนซาเนีย[3] ตั้งชื่อตามรากคำกริยา kungunyala ในภาษามากอนดี ซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่นของชนเผ่าในบริเวณที่พบครั้งแรก แปลว่าทำตัวงอหรือโค้ง ตามอาการของผู้ป่วยที่อาจปวดข้อมากจนตัวงอ[3] ในประเทศไทยโรคชิคุนกุนยาถูกพบครั้งแรกใน ค.ศ. 1958 (พ.ศ. 2501) โดยนายแพทย์วิลเลียม แม็กโดเวลล์ แฮมมอน (William McDowell Hammon) ได้ทำการแยกเชื้อจากผู้ป่วยในโรงพยาบาลเด็ก กรุงเทพฯ และต่อมาได้มีการระบาดขึ้นอีกหลายครั้งในช่วงเวลาต่าง ๆ ที่ จ.ปราจีนบุรี, สุรินทร์, ขอนแก่น, เลย และพะเยา, นครศรีธรรมราช และหนองคาย[11]

อาการและอาการแสดงของไวรัส แก้

การติดเชื้อไวรัสนี้จะมีระยะฟักตัวของเชื้อ (incubation period) 2–4 วัน ทำให้มีไข้ประมาณ 40 องศาเซลเซียส และมีจุดเลือดออกหรือผื่นแดง (petechial or maculopapular rash) ในบริเวณลำตัวและอาจเกิดในบริเวณแขนและขาด้วย และมีอาการปวดข้อในหลาย ๆ ข้อ[12] อาการอื่น ๆ อาจรวมการปวดหัว (headache) เยื่อตาอักเสบหรือติดเชื้อ (conjunctival infection) และแพ้แสงเล็กน้อย (slight photophobia) โดยปกติไข้จะมีอยู่ประมาณ 2 วัน และหายไข้โดยทันที อาการอื่น ๆ เช่น การปวดข้อ, การปวดหัวอย่างรุนแรง, นอนไม่หลับ ฯลฯ จะเป็นอยู่นานกว่าอาการไข้ คือตั้งแต่ 5–7 วัน [12] ทั้งนี้อาการปวดข้อของผู้ป่วยยังขึ้นกับอายุของผู้ป่วยด้วย[13][14]

การวินิจฉัยโรค แก้

มักใช้การวินิจฉัยโดยกระบวนการ RT-PCR การแยกเชื้อไวรัส (virus isolation) และ การทดสอบทางระบบภูมิคุ้มกัน (serological tests)

  • การแยกเชื้อไวรัสจะให้ผลที่แม่นยำที่สุด แต่ใช้เวลาถึง 1–2 สัปดาห์ และต้องทำการทดลองในห้องปฏิบัติการระดับ 3 (biosafety level 3 laboratories) [15] โดยใช้วิธีการเก็บตัวอย่างเลือดผู้ป่วยมาตรวจหาเชื้อ
  • RT-PCR โดยใช้ nested primer pairs เพื่อเพิ่มจำนวน (amplify) ยีนจำเพาะของเชื้อไวรัสจากเลือด โดยจะได้ผลการตรวจใน 1–2 วัน[15]
  • การทดสอบทางระบบภูมิคุ้มกัน (serological diagnosis) ต้องใช้เลือดผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก และใช้วิธีอีไลซา (ELISA) เพื่อตรวจหาระดับแอนติบอดี-M ต่อเชื้อชิคุนกุนยา (Chikungunya-specific IgM levels) โดยใช้เวลา 2–3 วัน สามารถที่จะให้ผลบวกปลอม (false positives) ซึ่งอาจเกิดจากการที่ร่างกายมีแอนติบอดีต่อ ไวรัส O'nyong'nyong และไวรัส Semliki Forest[15]

การป้องกันโรค แก้

วิธีในการป้องกันการติดเชื้อที่ดีที่สุดคือการหลีกเลี่ยงการถูกยุงกัดและการกำจัดลูกน้ำยุงลาย ติดมุ้งลวดตามที่อยู่อาศัย ใส่เสื่อผ้าที่มิดชิด อาจใช้ยากันยุงที่มีสารไล่แมลง เช่น DEET (N,N-Diethyl-meta-toluamide; หรือที่รู้จักในชื่อสูตร N,N'-Diethyl-3-methylbenzamide หรือ NNDB), icaridin (picaridin หรือ KBR3023), PMD (p-menthane-3,8-diol, สารสกัดจากต้นเลมอนยูคาลิปตัส), หรือ IR3535 เป็นต้น ทั้งนี้สารพวกไพรีทรอยด์ (pyrethroids) ซึ่งเป็นยาฆ่าแมลงก็มีฤทธิ์ในการไล่แมลงได้ด้วย เช่น สารกลุ่มไพรีทรอยด์แบบระเหิด (ที่ใส่ในขดยากันยุง) เป็นต้น

การรักษา แก้

ทั้งนี้ ยังไม่มีการรักษาหรือวัคซีนสำหรับเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาโดยเฉพาะ โดยจากการทดลองในสหรัฐอเมริกาพบว่าเชื้อจะเกิดการต้านทานต่อวัคซีน[16]

ยาคลอโรควิน (Chloroquine) สามารถช่วยควบคุมการเกิดกลุ่มอาการจากการติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาได้ และช่วยลดการอักเสบในข้อต่าง ๆ ด้วย แต่ทั้งนี้ยังอยู่ในขั้นการทดลองใช้กับผู้ป่วยในประเทศต่าง ๆ เท่านั้น (ยังไม่จัดเป็นยาที่รักษาจำเพาะต่อเชื้อนี้) ทั้งนี้มีรายงานว่าไม่ควรใช้ยาแก้ปวด เช่น แอสไพริน, ไอบูโพรเฟน, นาพรอกเซน และกลุ่มเอ็นเสด ชนิดอื่น ๆ ที่ใช้กับอาการปวดและมีไข้ในโรคอื่น ๆ ด้วย

พยากรณ์โรค แก้

การหายจากโรคจะขึ้นกับอายุของผู้ป่วย ในผู้ป่วยที่มีอายุน้อยจะหายภายใน 5–15 วัน ผู้ป่วยวัยกลางคนจะหายภายใน 1–2.5 เดือน คือ ยิ่งอายุมากยิ่งหายจากอาการของโรคช้านั่นเอง ซึ่งเป็นแนวโน้มเดียวกับความรุนแรงของอาการของโรคด้วย ซึ่งผู้ที่อายุน้อยและสตรีที่ตั้งครรภ์จะมีความรุนแรงของโรคน้อยกว่า

ตาอักเสบ (Ocular inflammation) แบบ iridocyclitis และอาจเกิดแผลที่เรตินาได้[17]

ขาบวม (Pedal oedema) สามารถพบได้ แต่ยังไม่ทราบความเกี่ยวข้องกับโรคแน่ชัด เพราะโรคไม่ได้มีผลต่อระบบไหลเวียนโลหิต ตับ หรือไต แต่ประการใด

วิทยาการระบาด แก้

ไวรัสชิคุนกุนยาอยู่ในสกุลแอลฟาไวรัส (alphavirus) คล้ายกับไวรัส O'nyong'nyong[18] ไวรัส Ross River ในออสเตรเลีย และไวรัสที่ทำให้เกิดโรคสมองอักเสบชนิด eastern equine encephalitis และ western equine encephalitis[19]

 
ยุง Aedes aegypti กำลังกัดผิวมนุษย์

โดยปรกติเชื้อจะแพร่โดยยุง Aedes aegypti แต่จากการค้นคว้าของสถาบันปาสเตอร์ในปารีสกล่าวว่า ไวรัสชิคุนกุนยาสายพันธุ์ที่ระบาดในปี 2005–2006 บริเวณเกาะเรอูว์นียง ได้เกิดการผ่าเหล่าซึ่งทำให้สามารถถ่ายทอดได้โดยยุงเสือ (Aedes albopictus)[20] ผู้เชี่ยวชาญด้านการระบาดของโรคที่มีแมลงเป็นพาหะที่ University of Texas Medical Branch ในกัลเวสตัน เท็กซัส ได้ยืนยันในการผ่าเหล่านี้ว่าเกิดจากการกลายเฉพาะจุดในยีนเอนเวโลป (envelope genes) E1[21][22] การผ่าเหล่านี้ทำให้การระบาดสามารถขยายวงกว้างไปสู่บริเวณที่มียุงเสือด้วย

ในแอฟริกา เชื้อจะระบาดแบบวงจรการติดต่อในป่า (sylvatic cycle) คือเชื้อจะอาศัยอยู่ในร่างกายของสัตว์ในอันดับไพรเมต และถ่ายทอดวนมาสู่คน[19]

วันที่ 28 พฤษภาคม ค.ศ. 2009 ในจังหวัดตรัง ซึ่งไวรัสชิคุนกุนยาระบาดมากในภาคใต้ของไทยโดยเฉพาะในหมู่ทหาร แพทย์โรงพยาบาลจังหวัดตรังทำคลอดก่อนกำหนดให้แก่ผู้ติดไวรัสนี้ เนื่องจากเกรงการส่งผ่านเชื้อระหว่างมารดาสู่ทารก อย่างไรก็ดี เมื่อผ่าตัดทำคลอดนำทารกเพศชายออกมาได้โดยปลอดภัยแล้วกลับพบว่าทารกก็ติดไวรัสนี้ด้วย โดยมีอาการไม่สามารถหายใจเองได้และไม่สามารถดื่มนมได้ แพทย์จึงเฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิด โดยสันนิษฐานว่าไวรัสชิคุนกุนยาสามารถส่งผ่านจากแม่สู่ลูกได้ ขณะที่ยังไม่มีการยืนยันจากห้องปฏิบัติการถึงข้อสันนิษฐานนี้[23]

การใช้เป็นอาวุธชีวภาพ แก้

ก่อนที่สหรัฐอเมริกาจะยกเลิกโปรแกรมการสร้างอาวุธชีวภาพนั้น เชื้อไวรัสชิคุนกุนยาก็เป็นเชื้อโรคหนึ่งที่ถือว่าเป็นเชื้อที่สามารถนำมาใช้เป็นอาวุธชีวภาพได้[24]

อ้างอิง แก้

  1. "chikungunya". Oxford Learner's Dictionary. Oxford University Press. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2014. สืบค้นเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2014.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 2.7 2.8 "Chikungunya Virus Symptoms, Diagnosis, & Treatment". CDC. 6 เมษายน 2016. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 กันยายน 2016. สืบค้นเมื่อ 26 กันยายน 2016.
  3. 3.00 3.01 3.02 3.03 3.04 3.05 3.06 3.07 3.08 3.09 3.10 3.11 3.12 3.13 3.14 3.15 3.16 3.17 3.18 "Chikungunya Fact sheet". WHO. เมษายน 2016. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 กันยายน 2016. สืบค้นเมื่อ 26 กันยายน 2016.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 Caglioti C, Lalle E, Castilletti C, Carletti F, Capobianchi MR, Bordi L (July 2013). "Chikungunya virus infection: an overview". The New Microbiologica. 36 (3): 211–27. PMID 23912863.
  5. ราชบัณฑิตยสถาน (พ.ศ. 2554). พจนานุกรมคำใหม่ เล่ม 3 ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (PDF). กรุงเทพฯ: ยูเนียนอุลตร้าไวโอเร็ต. หน้า 94. ISBN 978-616-707-333-0.
  6. ทิพย์รัตน์, กนกทิพย์ (สิงหาคม 2003). คู่มือมาตรฐานการเฝ้าระวังและสอบสวนโรคติดต่อนำโดยแมลง (PDF). กลุ่มพัฒนาระบบและมาตรฐานงานระบาดวิทยา สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข. p. 126. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 7 กรกฎาคม 2020. สืบค้นเมื่อ 7 กรกฎาคม 2020.
  7. van Aalst M, Nelen CM, Goorhuis A, Stijnis C, Grobusch MP (January 2017). "Long-term sequelae of chikungunya virus disease: A systematic review". Travel Medicine and Infectious Disease. 15: 8–22. doi:10.1016/j.tmaid.2017.01.004. PMID 28163198.
  8. "Prevention". CDC. 26 กุมภาพันธ์ 2016. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 กันยายน 2016. สืบค้นเมื่อ 26 กันยายน 2016.
  9. Staples JE, Fischer M (September 2014). "Chikungunya virus in the Americas--what a vectorborne pathogen can do". The New England Journal of Medicine. 371 (10): 887–9. doi:10.1056/NEJMp1407698. PMC 4624217. PMID 25184860.
  10. "2016 provisional data for the United States". CDC. 20 กันยายน 2016. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 กันยายน 2016. สืบค้นเมื่อ 26 กันยายน 2016.
  11. "ข้อควรรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับโรคชิคุนกุนยา (Chikungunya)". myfirstinfo.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 กันยายน 2020. สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2011.
  12. 12.0 12.1 Chhabra M, Mittal V, Bhattacharya D, Rana U, Lal S (2008). "Chikungunya fever: a re-emerging viral infection". Indian J Med Microbiol. 26 (1): 5–12. doi:10.4103/0255-0857.38850. PMID 18227590.
  13. Simon F, Parola P, Grandadam M, และคณะ (2007). "Chikungunya infection: an emerging rheumatism among travelers returned from Indian Ocean islands. Report of 47 cases". Medicine (Baltimore). 86 (3): 123–37. doi:10.1097/MD/0b013e31806010a5. PMID 17505252.
  14. Taubitz W, Cramer JP, Kapaun A, และคณะ (2007). "Chikungunya fever in travelers: clinical presentation and course". Clin. Infect. Dis. 45 (1): e1-4. doi:10.1086/518701. PMID 17554689.
  15. 15.0 15.1 15.2 "Laboratory Diagnosis of Chikungunya Fevers". World Health Organization. สืบค้นเมื่อ 11 กรกฎาคม 2008.
  16. Edelman R, Tacket CO, Wasserman SS, Bodison SA, Perry JG, Mangiafico JA (มิถุนายน 2000). "Phase II safety and immunogenicity study of live chikungunya virus vaccine TSI-GSD-218". Am. J. Trop. Med. Hyg. 62 (6): 681–5. PMID 11304054.
  17. Mahendradas P, Ranganna SK, Shetty R, Balu R, Narayana KM, Babu RB, Shetty BK (กุมภาพันธ์ 2008). "Ocular manifestations associated with chikungunya". Ophthalmology. 115 (2): 287–91. doi:10.1016/j.ophtha.2007.03.085. PMID 17631967.
  18. Vanlandingham DL, Hong C, Klingler K, Tsetsarkin K, McElroy KL, Powers AM, Lehane MJ, Higgs S (2005). "Differential infectivities of o'nyong-nyong and chikungunya virus isolates in Anopheles gambiae and Aedes aegypti mosquitoes". Am J Trop Med Hyg. 72 (5): 616–21. PMID 15891138.
  19. 19.0 19.1 Martin Enserink (2007). "Chikungunya: No Longer a Third World Disease". Science. 318 (5858): 1860–1861. doi:10.1126/science.318.5858.1860. PMID 18096785.
  20. Martin E (2007). "EPIDEMIOLOGY: Tropical Disease Follows Mosquitoes to Europe". Science. 317 (5844): 1485. doi:10.1126/science.317.5844.1485a. PMID 17872417.
  21. Tsetsarkin KA, Vanlandingham DL, McGee CE, Higgs S (2007). "A Single Mutation in Chikungunya Virus Affects Vector Specificity and Epidemic Potential". PLoS Pathog. 3 (12): e201. doi:10.1371/journal.ppat.0030201. PMID 18069894.
  22. Micah Hensler; Univ. of Texas Press Release/Associated Content.com (8 ธันวาคม 2007). "Subject: PRO/EDR> Chikungunya virus: genetic change Archive Number 20071209.3973". ProMED-mail post (Mailing list).
  23. "รพ.ตรังพบเชื้อ'ชิคุนกุนยา'แพร่ระบาดจากแม่สู่ลูก". ไทยรัฐ. 28 พฤษภาคม 2009. สืบค้นเมื่อ 29 พฤษภาคม 2009.
  24. "Chemical and Biological Weapons: Possession and Programs Past and Present" (PDF). James Martin Center for Nonproliferation Studies (CNS). Middlebury Institute of International studies at Monterey. มีนาคม 2008. สืบค้นเมื่อ 4 มีนาคม 2023.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้


การจำแนกโรค
ทรัพยากรภายนอก