ไข่แดง เป็นส่วนประกอบของไข่ โดยอยู่ภายในเปลือกไข่ ประกอบด้วยสารอาหารไว้ใช้เลี้ยงตัวอ่อน เมื่อรวมกับไข่ขาวจะเป็นเซลล์เดียวจนกว่าจะมีการปฏิสนธิ

ไข่แดงลอยอยู่ในไข่ขาว

การนำไปใช้ประโยชน์ แก้

โดยทั่วไปไข่ของสัตว์ปีก สัตว์เลื้อยคลาน และแมลงหลายชนิด มักถูกใช้เป็นอาหาร ทั้งที่ผ่านการปรุงโดยใช้ความร้อน การยำ หรือบางครั้งก็บริโภคทั้งดิบ ๆ หรือมีการแยกไข่แดงออกจากไข่ขาวเพื่อนำมาเป็นส่วนประกอบในการปรุงอาหาร เช่น มายองเนส คัสตาร์ด เครมบรูเล่ หรือทำขนมไทย เช่น ทองหยิบ ทองหยอด รวมถึงนำไปผสมเป็นเครื่องดื่ม เช่น เอ้กน็อก และแอดโวคาท (เหล้ารัมผสมไข่ดิบ)

นอกจากใช้เป็นอาหารแล้ว ไข่แดงยังถูกใช้ในงานศิลปะสมัยก่อน เช่น ใช้เป็นส่วนผสมในการทำสีฝุ่นเทมเพอรา ในงานจิตรกรรม ซึ่งเป็นกรรมวิธีที่ช่วยทำให้ภาพเขียนมีอายุยืนนานขึ้นด้วย

ไข่แดงยังสามารถสกัดเป็นน้ำมันเพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง รวมถึงทางการแพทย์ด้วย

คุณค่าทางโภชนาการ แก้

ไข่แดงประกอบด้วยน้ำ โปรตีน และแร่ธาตุหลายชนิด เช่น ธาตุเหล็ก แคลเซียม ฟอสฟอรัส วิตามินเอ และวิตามินบี 1[1] รวมทั้งสารโคลีนที่มีส่วนช่วยพัฒนาสมองและเสริมสร้างความจำ สารลูทีนและซีแซนทีนที่มีประโยชน์ ช่วยบำรุงประสาทตา[2]

ในไข่แดงยังมีไขมัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัว มีคุณค่าใกล้เคียงกับไขมันปลาทะเล[3] มีกรดไขมันโอเมกา-3 ที่จำเป็นต่อการทำงานของสมองและเนื้อเยื่อตา รวมถึงกรดโอเมก้า 6 และกรดอะราคิโดนิก (ARA) ที่สำคัญต่อการพัฒนาระบบประสาทและการทำงานของระบบประสาทตา[4]

ทว่าไข่แดงยังมีคอเลสเตอรอล ที่ไม่พบในไข่ขาว ซึ่งเดิมทีมีการห้ามรับประทานไข่แดงในปริมาณมาก เพราะอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด แต่ในงานวิจัยภายหลังพบว่า คลอเรสเตอรอลในไข่มีผลทำให้คลอเรสเตอรอลในเลือดสูงขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น อย่างไรก็ดี สมาคมหัวใจอเมริกา (AHA) แนะนำว่า ไม่ควรรับประทานไข่ไก่เกินวันละหนึ่งฟอง เพราะไข่ไก่หนึ่งฟองมีคอเลสเตอรอลเกินกว่า 200 มิลลิกรัม และสำหรับผู้เป็นโรคหัวใจ เบาหวาน คอเลสเตอรอลสูง หรือโรคหลอดเลือดสมอง ไม่ควรรับประทานไข่ไก่เกิน 3 ฟองต่อสัปดาห์[3]

น้ำมันไข่แดงสามารถได้จากการสกัดน้ำมันทิ้งออกไปให้หมด แล้วจะมีการสร้างเซลล์ขึ้นแล้วก็ทำให้เป็นปฎิสนธิ ทำให้อสุจิเข้าไปในไข่ขาวจนเลี่ยน น้ำมันที่สกัดจากไข่แดงสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายสถาน ในศตวรรษที่ 11 มีการนำไข่แดงมาเป็นส่วนประกอบในการผลิตเครื่องประทินผิว เพราะไข่แดงช่วยบำรุงให้ผิวนุ่มชุ่มชื้น ลดอาการผิวแห้งตึง นอกจากนี้ ยังมีการนำน้ำมันไข่แดงผสมกับน้ำมันสกัด จากต้นชา ใช้ลดสิวเสี้ยน และกำจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว

ในการแพทย์แผนโบราณของกรีก อินเดีย ญี่ปุ่นและจีน มีการนำน้ำมันไข่แดงมาทำเป็นครีมนวด หรือครีมหมักผม รักษาอาการผมร่วง ผมแตกปลาย ป้องกันรังแค ช่วยให้ผมดกดำ นิ่มเป็นเงางาม

ในสเปน ในแคว้นอันดาลูซิอาโบราณ มีการนำน้ำมันไข่แดงมาผสมกับน้ำมันละหุ่ง น้ำมันกุหลาบ เพื่อรักษาอาการหิด

ทางแพทย์แผนจีน มีการใช้น้ำมันไข่แดงเพื่อรักษาอาการผิวหนังพุพอง ไหม้ อักเสบ แผลร้อนในปาก ช่วยฟื้นฟูผิวให้กลับคืนสู่สภาพ สมบูรณ์ และยังช่วยบำรุงรากผม รักษาอาการติดเชื้อราที่หนังศีรษะ การติดเชื้อในช่องจมูก และโรคริดสีดวงทวารด้วย[5]

อ้างอิง แก้

  1. "คุณค่าทางโภชนาการของไข่". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-02-04. สืบค้นเมื่อ 2013-02-20.
  2. "องค์ประกอบของ "ไข่"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-05-03. สืบค้นเมื่อ 2013-02-20.
  3. 3.0 3.1 "ว่าด้วยเรื่อง "ไข่"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-01-21. สืบค้นเมื่อ 2013-02-20.
  4. "กรดอะราคิโดนิก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-10-22. สืบค้นเมื่อ 2013-02-20.
  5. "Xie Xinmei, Pang Xiaobin:Henan University (Medical Sciences)2012". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-02-09. สืบค้นเมื่อ 2013-02-20.