ไข่มุกด์ ชูโต

(เปลี่ยนทางจาก ไข่มุกต์ ชูโต)

ไข่มุกด์ ชูโต เป็นประติมากรหญิงคนสำคัญของประเทศไทย โดยได้รับการยกย่องให้เป็นประติมากรหญิงคนแรกของประเทศไทย เกิดเมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2481 ที่โรงพยาบาลศิริราช เป็นบุตรีของ อำมาตย์เอก พระมัญชุวาที (โชติ ชูโต) และนางมัญชุวาที (แอ๋ว ชูโต) ข้าหลวงในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยอยู่อาศัยที่บ้านขมิ้น บนถนนอรุณอมรินทร์ แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร จนวาระสุดท้ายของชีวิต[1]

ไข่มุกด์ ชูโต
เกิด19 เมษายน พ.ศ. 2481
เสียชีวิต31 ตุลาคม พ.ศ. 2539 (58 ปี)
โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
สัญชาติไทย
ศิษย์เก่าโรงเรียนราชินี
คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ผลงานเด่นพระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาล, พระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์

ไข่มุกด์จบการศึกษาขั้นเตรียมอุดมศึกษาจากโรงเรียนราชินี และจบการศึกษาระดับอุดมศึกษาจากคณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร (ปัจจุบันคือ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร) เริ่มทำงานครั้งแรกให้กับองค์กร USOM และ Getesner ตามลำดับ ก่อนจะลาออกจากงานประจำมาทำงานอิสระ โดยรับทำงานศิลป์หลายชนิด เช่น ประติมากรรม การตกแต่งสวน การตกแต่งภายใน เขียนแบบ ฯลฯ จนเริ่มมีชื่อเสียงในวงการ

ต่อมา นายชูพาสน์ ชูโต ข้าราชการประจำสำนักพระราชวัง ผู้เป็นญาติได้ชักชวนให้เข้าถวายตัวปฏิบัติงานด้านประติมากรรมต่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยได้สร้างผลงานชิ้นแรกถวายคือ รูปปั้นกินรีแม่ลูก จำนวน 2 ชุด ปัจจุบันติดตั้ง ณ สวนศิวาลัยในพระบรมมหาราชวัง และในบริเวณสวนของพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ นอกจากนี้ไข่มุกด์ยังถวายงานต่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เช่นกัน[ต้องการอ้างอิง]

เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2539 ไข่มุกด์เกิดอาการหัวใจหยุดเต้นกะทันหัน หลังเดินทางกลับจากการตรวจดูงานหล่อพระพุทธรูปถวายต่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่โรงหล่อบนถนนพุทธมณฑล สาย 4 โดยได้รับการปฐมพยาบาลที่โรงพยาบาลธนบุรี ซึ่งแพทย์ลงความเห็นว่ากล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และต่อมาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รับไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลศิริราช และได้เสียชีวิตลงด้วยอาการปอดบวมและระบบหายใจล้มเหลว เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2539 ด้วยวัย 59 ปี[2]

ผลงานสำคัญ แก้

ผลงานที่เป็นที่จดจำของอาจารย์ไข่มุกด์ ชูโต เช่น

พระบรมรูป/พระรูป สถานที่ จังหวัด ภาพ
พระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาล ด้านหน้าหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร  
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร  
พระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ ข่วงสามกษัตริย์ จังหวัดเชียงใหม่  
หม่อมเจ้าวงศ์ทิพย์สุดา เทวกุล โรงเรียนราชินีบน กรุงเทพมหานคร  
สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร โรงเรียนราชินีบน กรุงเทพมหานคร  
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก อาคารสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านหน้ากระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม
เจ้าพระยาสุลวะลือไชยสงคราม (เจ้าทิพย์ช้าง) จังหวัดลำปาง
สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กองพันทหารราบที่ 7 ค่ายมหาสุรสิงหนาท จังหวัดระยอง
พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย ทุ่งมะขามหย่อง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  

และยังมีผลงานแกะสลักที่ตกแต่งภายในอาคารของโรงแรมต่าง ๆ เช่น โรงแรมนารายณ์ และ โรงแรมดุสิตธานี

อ้างอิง แก้