โรเบิร์ต กัมปิน
โรเบิร์ต กัมปิน (ดัตช์: Robert Campin; ราว ค.ศ. 1375 - 26 เมษายน ค.ศ. 1444) เป็นจิตรกรสมัยเนเธอร์แลนด์เริ่มแรกของประเทศเนเธอร์แลนด์ในคริสต์ศตวรรษที่ 15 มีความเชี่ยวชาญทางการเขียนจิตรกรรมแผงและบานพับภาพ สันนิษฐานกันว่าโรเบิร์ต กัมปิน เป็นคนคนเดียวกับจิตรกรที่เรียกกันว่า "ครูบาแห่งเฟลมาล" (Master of Flémalle) ประวัติของกัมปินมีเนื้อหาค่อนข้างสมบูรณ์เมื่อเทียบกับชีวิตของคนในยุคนั้น[1] แต่ไม่มีงานชิ้นใดที่กล่าวได้แน่นอนว่าเป็นของกัมปิน ขณะที่งานส่วนใหญ่กล่าวกันว่าเป็นงานของผู้เรียกกันว่า "ครูบาแห่งเฟลมาล" ซึ่งเป็นชื่อที่เรียกตามภาพเขียน[2]
ชีวิต
แก้ดูเหมือนว่าโรเบิร์ต กัมปิน จะมีญาติอยู่ที่วาล็องเซียน (Valenciennes) ทางตอนเหนือของประเทศฝรั่งเศส เมื่อเริ่มแรกกัมปินตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ตูร์แน (Tournai) ปัจจุบันอยู่ในประเทศเบลเยียม ระหว่างปี ค.ศ. 1405-1406 และเป็นสมาชิกสมาคมจิตรกรที่นั่น ในปี ค.ศ. 1410 กัมปินซื้อสัญชาติซึ่งคงหมายความว่ากัมปินไม่ได้เกิดในที่นั่น ต่อมากัมปินก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการของสมาคมและหน้าที่ต่าง ๆ ที่วัดและสำนักงานท้องถิ่น รวมทั้งมีโรงปฏิบัติงานใหญ่เป็นของตนเอง แต่กัมปินถูกปลดจากตำแหน่งเพราะเหตุการณ์เล่าลือและถูกลงโทษให้ไปแสวงบุญ ในปี ค.ศ. 1429 กัมปินก็ถูกตัดสินว่ามีชู้และถูกลงโทษให้ขับออกจากเมืองไปปีหนึ่ง แต่มาร์กาเรตแห่งเบอร์กันดี ชายาของวิลเลียมที่ 2 (ผู้เป็นดุ๊กแห่งบาวาเรีย-ชเตราบิง) และน้องของจอห์นผู้เก่งกล้า (ผู้เป็นดุ๊กแห่งเบอร์กันดี) ก็เข้ามาช่วยลดการลงโทษให้เหลือเพียงแค่ปรับ[3] งานบานพับภาพที่ลงปีที่ทำว่าเป็น ค.ศ. 1438 แสดงว่ากัมปินยังคงทำงานอยู่จนถึงเวลานั้น บานพับภาพนี้เหลืออยู่เพียงบานปีกสองข้าง บานกลางสูญหายไป
จิตรกรและลักษณะภาพ
แก้ถึงแม้ว่ากัมปินจะได้รับอิทธิพลจากศิลปินหนังสือวิจิตรรุ่นเดียวกันแต่งานของกัมปินมีลักษณะเป็นสัจนิยมมากกว่าจิตรกรคนอื่นก่อนหน้านั้น กัมปินเป็นจิตรกรคนแรกที่ทดลองการใช้สีน้ำมันแทนการใช้สีฝุ่นผสมเพื่อให้ได้สีที่สดขึ้นอันเป็นลักษณะของจิตรกรรมในสมัยนั้น กัมปินใช้วิธีการเขียนแบบทัศนียภาพในการทำให้แบบมีลักษณะเป็นสามมิติมากขึ้นโดยการใช้แสงและเงาช่วยในการจัดองค์ประกอบที่เป็นทัศนียภาพที่ซับซ้อน ประเด็นหนึ่งที่ยังเป็นที่ถกเถียงกันคือการใช้สัญลักษณ์ซับซ้อนที่ยอมรับกันว่าใช้ในงานของฟัน ไอก์ก็ใช้ในงานของกัมปินด้วย
นักประวัติศาสตร์ศิลปะได้พยายามที่จะสืบหาต้นตอของศิลปเรอเนซองส์ทางตอนเหนือของยุโรปแต่ก็มีหลักฐานทางตอนเหนือของอิตาลี และเข้าใจกันเป็นเวลานานว่ายัน ฟัน ไอก์เป็นจิตรกรคนแรกที่ใช้วิธีเขียนแบบใหม่ซึ่งเห็นได้จากหนังสือวิจิตรในการเขียนภาพบนแผ่นไม้ เมื่อมาถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 จึงเป็นที่เห็นได้ชัดว่าฟัน ไอก์เป็นจิตรกรร่วมสมัยกับผู้เขียนภาพที่รวมทั้ง "ฉากแท่นบูชาเมรอด" ซึ่งเขียนเมื่อ ค.ศ. 1428 ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์เมโทรโปลิตันในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เป็นฉากแท่นบูชาที่เต็มไปด้วยรายละเอียดและความเหมือนจริง อึกสามแผ่นภาพก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน ว่ากันว่ามาจากแอบบีเฟลมาล (Flémalle) แต่ความจริงแล้วแอบบีเฟลมาลไม่มีจริง ปัจจุบันแผ่นภาพทั้งสามอยู่ที่แฟรงก์เฟิร์ต เป็นที่ถกเถียงกันว่างานเหล่านี้เป็นของ "ครูบาแห่งเฟลมาล" ซึ่งในขณะนั้นไม่สามารถบอกได้เป็นที่แน่นอนว่าใครคือผู้วาดที่แท้จริง
ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 นักวิชาการหลายท่านให้ความเห็นว่า "ครูบาแห่งเฟลมาล" เป็นใครไปไม่ได้นอกจากโรเบิร์ต กัมปิน ที่มีหลักฐานว่าเป็นครูบาจิตรกรที่ตูร์แนจากปี ค.ศ. 1406 ข้อโต้แย้งมาจากเอกสารที่กล่าวถึงลูกศิษย์สองคนที่กัมปินรับไว้ที่สตูดิโอในปี ค.ศ. 1427 - ฌัก ดาแร (Jacques Daret) และรอเฌอแล เดอ ลา ปาตูร์ (Rogelet de la Pasture) ชื่อหลังอาจจะเป็นคนเดียวกับ โรเคียร์ ฟัน เดอร์ไวเดิน เพราะชื่อแรกเป็นภาษาฝรั่งเศสและอีกชื่อหนึ่งภาษาดัตช์ แปลว่า "ทุ่ง" เหมือนกัน งานเขียนฉากแท่นบูชาชิ้นหนึ่งของดาแรมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับงานเขียนของ "ครูบาแห่งเฟลมาล" และงานสมัยแรก ๆ ของกัมปินเป็นอย่างมาก ฉะนั้นจึงน่าจะกล่าวได้ว่าทั้งสองคนเป็นลูกศิษย์ของ "ครูบาแห่งเฟลมาล" หรือโรเบิร์ต กัมปิน ข้อสันนิษฐานอีกข้อคือบานพับภาพเฟลมาลเขียนโดยโรเคียร์ ฟัน เดอร์ไวเดินเมื่อยังอายุในระหว่างยี่สิบปีกว่า ๆ นักวิชาการบางท่านกล่าวว่างาน "ชะลอร่างจากกางเขน" ที่พิพิธภัณฑสถานปราโดเขียนโดยโรเบิร์ต กัมปิน มิใช่โรเคียร์ ฟัน เดอร์ไวเดิน
งานสมัยแรก
แก้"บานพับภาพการฝังพระเยซู" หรือ "บานพับภาพไซเลิร์น" (Entombment Triptych หรือ Seilern Triptych) ที่สถาบันคอร์โทลด์ที่ลอนดอนถือว่าเป็นงานชิ้นแรก ๆ ของโรเบิร์ต กัมปินซึ่งเขียนราวปี ค.ศ. 1415-1420[1] บานกลางแสดงให้เห็นอิทธิพลที่ได้มาจากรูปปั้นในสมัยนั้น (กัมปินเองก็มีชื่อว่าทาสีรูปปั้นหลายรูป) หลังจากนั้นกัมปินก็เขียน "การแต่งงานของพรหมจารี" (Marriage of the Virgin) ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานปราโด และ "การประสูติของพระเยซู" (Nativity) ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานศิลปะที่ดีฌงในประเทศฝรั่งเศสที่เขียนเมี่อราว ค.ศ. 1420-1425
บานพับภาพเมโรด์
แก้ระหว่างปี ค.ศ. 1425-1430 ดูเหมือนว่ากัมปินจะเขียน "ฉากแท่นบูชาเมรอด" ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์เมโทรโปลิตัน นครนิวยอร์ก ซึ่งเป็นภาพที่ซับซ้อนจากหัวเรื่อง "การประกาศของเทพ" แผ่นกลางที่แปลกออกไปที่อยู่ที่พิพิธภัณฑสถานศิลปะที่บรัสเซลส์ทำให้เห็นว่าบานพับภาพเมรอดที่นิวยอร์กไม่ใช่ภาพต้นแบบจริง
งานอื่น ๆ
แก้งานอื่นที่กล่าวกันว่าเขียนโดยโรเบิร์ต กัมปินจะหาดูได้ที่พิพิธภัณฑสถานแอร์มิทาช (เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก), พิพิธภัณฑสถานปราโด (กรุงมาดริด) และหอศิลป์แห่งชาติ (กรุงลอนดอน)
สมุดภาพ
แก้อ้างอิง
แก้ดูเพิ่ม
แก้แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- โรเบิร์ต กัมปินที่ Artcyclopedia (อังกฤษ)
- โรเบิร์ต กัมปินที่ Zeno.org (อังกฤษ)
- แกลเลอรีของงานโดยโรเบิร์ต กัมปิน (อังกฤษ)