โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช เป็นโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษประเภทสหศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 29 (อุบลราชธานี-อำนาจเจริญ) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ จัดการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาสายสามัญ ตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ แต่เดิมโรงเรียนนี้เคยเป็นโรงเรียนชายล้วนประจำมณฑลอุบลราชธานี คู่กับโรงเรียนนารีนุกูลที่เป็นโรงเรียนหญิงล้วนประจำจังหวัดอุบลราชธานีในสมัยก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และโรงเรียนชายล้วนประจำจังหวัดในสมัยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว
โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช | |
---|---|
Benchama Maharat School | |
![]() | |
ที่ตั้ง | |
![]() | |
600 ถ.สรรพสิทธิ์ ต.ในเมือง อ.เมืองอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี 34000 | |
ข้อมูล | |
ชื่ออื่น | บ.ม. / B.M. |
ประเภท | โรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ สังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน |
สถาปนา | 28 กันยายน พ.ศ. 2458 (ข้อผิดพลาด: แม่แบบ:อายุปีและวัน รองรับเฉพาะปีพุทธศักราช หากใช้เป็นคริสต์ศักราช กรุณาใช้ แม่แบบ:Age in years and days) |
ผู้อำนวยการ | นายองอาจ จูมสีมา |
สี | เขียว แดง |
คำขวัญ | ประพฤติดี มีวัฒนธรรม นำสังคม |
เพลง | มาร์ชเบ็ญจะมะมหาราช, ร่วมกายร่วมใจ, ชูเกียรติเบ็ญ |
ต้นไม้ | ต้นไทรงาม |
เว็บไซต์ | http://www.benchama.ac.th |
ชื่อโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช
แก้ชื่อโรงเรียน "เบ็ญจะมะมหาราช" แห่งนี้แตกต่างจากโรงเรียนอื่นที่มีชื่อขึ้นต้นด้วยคำว่า "เบญจม" ทั้งหลาย เพราะถือเอาตามลายพระหัตถ์ที่สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ได้ประทานนามไว้เมื่อปี พ.ศ. 2458 และเป็นโรงเรียนเดียวที่ต่อท้ายด้วย "มหาราช" ในประเทศไทย สำหรับชื่อในภาษาอังกฤษใช้ตามที่กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ กำหนดให้ใช้ในการออกเอกสารใบรับรองผลการเรียนว่า Benchama Maharat School
ประวัติ
แก้การสถาปนา
แก้โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราชมีจุดเริ่มต้นจากการจัดการศึกษาตามนโยบายของรัฐบาลไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยในปี พ.ศ. 2439 พระญาณรักขิต (พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ - จันทร์ สิริจฺนโท) ได้มอบหมายให้พระมหาอ้วน ติสฺโส (สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ วัดบรมนิวาส) และคณะ ทำการรวบรวมอุปกรณ์การศึกษาจากกรุงเทพมหานคร นำมาที่จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อจัดตั้งโรงเรียนขึ้นภายในบริเวณวัดสุปัฏนาราม เมื่อ พ.ศ. 2440 โดยใช้ชื่อว่า "โรงเรียนอุบลวิทยาคม" โรงเรียนนี้เปิดสอนนักเรียนทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ชายในวิชาภาษาบาลี และภาษาไทย ซึ่งในการนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทรัพย์จำนวน 10 ชั่ง เพื่อเป็นทุนในการใช้จ่ายในการเรียนการสอนโดยมีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงใหญ่ต่างพระองค์ สำเร็จราชการมณฑลอีสานเป็นผู้แทนพระองค์ทรงนำมามอบให้[1]
ต่อมาโรงเรียนอุบลวิทยาคมมีจำนวนนักเรียนมากขึ้น ทำให้โรงเรียนคับแคบและชำรุดทรุดโทรม ทางราชการซึ่งมีพระยาศรีธรรมศกราช (ปิ๋ว บุนนาค) สมุหเทศาภิบาลมณฑลอุบลราชธานี ในขณะนั้นได้ดำริสร้างโรงเรียนขึ้นใหม่ที่มุมทุ่งศรีเมืองทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ใน พ.ศ. 2458 ซึ่งบริเวณดังกล่าวเป็นที่ตั้งของโรงเรียนอนุบาลอุบลราชธานีในปัจจุบัน เมื่อโรงเรียนได้สร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้ประกอบพิธีเปิดเมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2458 โดยพระยาศรีธรรมศกราชได้ทูลเชิญ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เสนาธิการทหารบกซึ่งเสด็จมาตรวจราชการที่มณฑลอุบลราชธานีในเวลานั้น ทรงเป็นประธานประกอบพิธีเปิด และได้ประทานนามโรงเรียนว่า "โรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลอุบลราชธานี เบ็ญจะมะมหาราช" เพื่อเป็นอนุสรณ์ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งนี้ได้ทรงออกใบประกาศตั้งนามโรงเรียนให้ไว้เป็นสำคัญด้วย ซึ่งโรงเรียนได้ใส่กรอบเก็บรักษาไว้จนกระทั่งบัดนี้[2]
โรงเรียนหลังที่สอง
แก้โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราชได้เปิดทำการสอนในที่ตั้งดังกล่าวมาจนถึง พ.ศ. 2477 ก็ประสบปัญหาสถานที่เรียนคับแคบอีกครั้ง เนื่องจากโรงเรียนได้ขยายชั้นเรียนและรับนักเรียนเพิ่มขึ้นจนล้นโรงเรียน ทางโรงเรียนจึงได้แบ่งนักเรียนชั้นต้น ๆ แยกไปเรียนที่อื่น โดยใช้อาคารสโมสรเสือป่าเก่า (ตั้งอยู่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นอาคารชั้นเดียวเป็นสถานที่เรียน ส่วนนักเรียนชั้นปลายยังคงเรียนอยู่ในที่เดิม ก่อให้เกิดไม่สะดวกในการปกครองและการดูแลการเรียนการสอน
ต่อมาจังหวัดอุบลราชธานีได้รับงบประมาณจากทางราชการกว่า 4 หมื่นบาท เพื่อจัดสร้างอาคารเรียนหลังใหม่เพิ่มเติมในบริเวณกรมทหารเก่าซึ่งย้ายไปตั้งอยู่ที่อำเภอวารินชำราบตั้งแต่ปี พ.ศ. 2471 (ปัจจุบันคือค่ายสรรพสิทธิประสงค์ มณฑลทหารบกที่ 22) ทางทิศตะวันตกของทุ่งศรีเมือง หรือด้านหลังของศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานีแห่งที่ 2 ในปัจจุบัน (เดิมที่ดินแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินมรดกเชื้อสายเจ้านายเมืองอุบลราชธานี ซึ่งหม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา ได้อุทิศให้ทางราชการไทยใช้เป็นที่สาธารณประโยชน์) โรงเรียนแห่งนี้มีเนื้อที่ราว 40 กว่าไร่ ทิศเหนือจรดถนนเบ็ญจะมะและวัดชัยมงคล ทิศใต้จรดถนนศรีณรงค์และวัดศรีอุบลรัตนาราม ทิศตะวันออกจรดถนนอุปราชและทุ่งศรีเมือง ทิศตะวันตกจรดบ้านประชาชนและป่าช้าโรมันคาทอลิก ตัวอาคารเรียนหลักเป็นอาคารเรียนไม้ 2 ชั้น ขนาด 20 ห้องเรียน ตั้งอยู่ตรงกลางของพื้นที่ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีสนามและเสาธงขนาดใหญ่ตั้งอยู่บนพูนดินมีขาเสาธงสี่ขาตั้งอยู่หน้าอาคารเรียน [3] อาคารนี้เป็นอาคารหลังเดียวของโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราชแห่งที่ 2 ที่ยังคงหลงเหลือในปัจจุบัน ออกแบบโดยพระสาโรชรัตนนิมมานก์ (สาโรช สุขยางค์) สถาปนิกประจำกระทรวงศึกษาธิการ ณ เวลานั้น
เมื่อสร้างเสร็จโรงเรียนแห่งใหม่แล้วเสร็จ พระสารสาสน์ประพันธ์ (ชื้น จารุวัสตร์) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในสมัยนั้น มาเป็นประธานในพิธีเปิดเมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2478 ในนามโรงเรียน "เบ็ญจะมะมหาราช" และได้เปิดสอนอยู่ในที่ตั้งแห่งนี้จนถึง พ.ศ. 2516 โรงเรียนจึงได้ย้ายที่ตั้งอีกครั้งมาอยู่ในที่ตั้งปัจจุบัน ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว โรงเรียนได้เปิดสอนชั้นเตรียมอุดมศึกษา แผนกวิทยาศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2489 และในปี พ.ศ. 2503 จึงเริ่มใช้หลักสูตรมัธยมศึกษา ตามแผนการศึกษาชาติ พุทธศักราช 2503 [4]
การย้ายโรงเรียนมายังที่ตั้งปัจจุบัน
แก้เหตุที่โรงเรียนต้องมีการย้ายที่ตั้งอีกครั้ง เนื่องจากในช่วงปี พ.ศ. 2511 - 2512 นายพัฒน์ บุณยรัตนพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีในขณะนั้นได้ตกลงกับกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงศึกษาธิการ ในการยกที่ดินโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราชให้ใช้สร้างเป็นศาลากลางจังหวัดหลังใหม่ แทนที่อาคารศาลากลางหลังเดิมที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2461 ซึ่งมีขนาดเล็กและคับแคบ (ศาลากลางแห่งนี้ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของทุ่งศรีเมือง ตรงข้างกับวัดศรีอุบลรัตนาราม ปัจจุบันอาคารนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน และมีการปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ อุบลราชธานีในปัจจุบัน) การดำเนินการดังกล่าวนี้ทางจังหวัดไม่ได้แจ้งให้ทางโรงเรียนได้ทราบล่วงหน้า เพราะทางโรงเรียนรู้เรื่องนี้เมื่อมีการส่งเจ้าหน้าที่มาทำการการวางผังและปักหมุดสร้างอาคารศาลากลางจังหวัดหลังใหม่แล้ว
ทางราชการได้อนุมัติเงินงบประมาณ 11 ล้านบาทเศษ สร้างโรงเรียนขึ้นใหม่เพื่อให้โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราชย้ายไปอยู่ที่ตำบลท่าวังหิน ซึ่งเป็นที่ราชพัสดุ แปลงเลขที่ 1776 เนื้อที่ประมาณ 150 ไร่ 15.9 ตารางวา ตั้งอยู่เลขที่ 600 ถนนสรรพสิทธิประสงค์ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี อาณาเขตทิศเหนือจรดบ้านพักอาจารย์สถาบันราชภัฏอุบลราชธานี ทิศใต้ (ด้านหน้า) จรดถนนสรรพสิทธิ์ ทิศตะวันออกจรดซอยชื่นจิต ทิศตะวันตกจรดถนนหน้าที่ทำการการประปา โดยในขณะที่กำลังสร้างหลังใหม่นั้น โรงเรียนหลังเก่าก็ยังทำการสอนต่อไป เพื่อรอโรงเรียนที่กำลังสร้างใหม่ ส่วนศาลากลางจังหวัดก็ดำเนินการก่อสร้างไปพร้อม ๆ กันจนแล้วเสร็จ จึงได้ทำการย้ายนักเรียนจากหลังเก่ามาเรียนในที่แห่งใหม่นี้ ใน พ.ศ. 2516 ในนาม "โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช" ตามเดิม มีนายอภัย จันทวิมล ปลัดกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้นมาเป็นประธานในพิธีเปิด[5]
ปัจจุบันโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราชเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาส่วนภูมิภาคขนาดใหญ่พิเศษ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานอุบลราชธานีเขตที่ 1 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ เปิดสอนตามหลักสูตรสายสามัญ ตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 แบบสหศึกษา มีนักเรียนรวมทุกระดับชั้น 5,305 คน และคณาจารย์ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ รวม 253 คน (ข้อมูลในปีการศึกษา 2550[6])
ทำเนียบผู้บริหารโรงเรียน
แก้- ราชบุรุษ อุ่ม สุวรรณ พ.ศ. 2458
- อำมาตย์ตรี เจิม ยุวจิติ พ.ศ. 2459
- อำมาตย์ตรี ละมุน พ.ศ. 2460
- ราชบุรุษ ผึ่ง ผโลปการ พ.ศ. 2461
- รองอำมาตย์ตรี ขุนโกศลเศรษฐ์ พ.ศ. 2462- พ.ศ. 2466
- รองอำมาตย์ตรี ขุนประสงค์จรรยา พ.ศ. 2466 - พ.ศ. 2468
- รองอำมาตย์ตรี ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ พ.ศ. 2468 - พ.ศ. 2474
- รองอำมาตย์ตรี น้อม วนะรมย์ พ.ศ. 2474 - พ.ศ. 2483
- นายสกล สิงหไพศาล พ.ศ. 2483 - พ.ศ. 2486
- นายเข็บ พฤกษพิทักษ์ พ.ศ. 2486 - พ.ศ. 2505
- นายวินัย เกษมเศรษฐ พ.ศ. 2505 - พ.ศ. 2508
- นายขวัญ จันทนปุ่ม พ.ศ. 2507 - พ.ศ. 2518
- นายเนย วงศ์อุทุม พ.ศ. 2518 - พ.ศ. 2519
- นายบัญญัติ บูรณะหิรัญ พ.ศ. 2519 - พ.ศ. 2520
- นายอุดร มหาเมฆ พ.ศ. 2520 - พ.ศ. 2527
- นายคำพันธ์ คงนิล พ.ศ. 2527 - พ.ศ. 2532
- นายมงคล สุวรรณพงศ์ พ.ศ. 2532 - พ.ศ. 2534
- นายประดิษฐ์ ศรีวรมาศ พ.ศ. 2534 - พ.ศ. 2536
- นายวินัย เสาหิน พ.ศ. 2536 - พ.ศ. 2541
- นายสมพงษ์ โลมะรัตน์ พ.ศ. 2541 - พ.ศ. 2546
- นายอิทธิพล ทองปน พ.ศ. 2546 - พ.ศ. 2550
- นายสมจิต บุตรทองทิม พ.ศ. 2550 - พ.ศ. 2553
- ดร.ประยงค์ แก่นลา พ.ศ. 2554 - พ.ศ. 2558
- ว่าที่รต.ดร.กมล สาดศรี พ.ศ. 2558 - พ.ศ. 2562
- นายนพรัตน์ ทองแสง พ.ศ. 2562 - พ.ศ. 2563
- นายกิติศักดิ์ กุมภรัตน์ พ.ศ. 2563- พ.ศ. 2565
- นายดุริยะ จันทร์ประจำ พ.ศ. 2565 - 2566
- นายองอาจ จูมสีมา พ.ศ. 2566 - ปัจจุบัน
ประธานคณะกรรมการนักเรียน
แก้- นายพีรพล ป้อมเจา พ.ศ. 2559
- นายภาสกร วรรณภูชา พ.ศ. 2560
- นางสาวสิริภา รัตนิล พ.ศ. 2561
- นายอริย์ธัช อริยรุ่งเรืองสกุล พ.ศ. 2562
- นางสาวปาฏิหาริย์ ผาสุข พ.ศ. 2563
- นางสาวสุพรรณี วรพุฒ พ.ศ. 2564
- นายณภัทร ดอกพิกุล พ.ศ. 2565
- นายทศธรรม จุฑาเกตุ พ.ศ. 2566
- นางสาวเพชรชฎา ใจดี พ.ศ. 2567
หลักสูตรที่เปิดสอน
แก้ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น
แก้- โครงการห้องเรียนพิเศษ
- โครงการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการเป็นภาษาอังกฤษ (English Program : EP) ระดับชั้นละ 2 ห้อง (60 คน)
- โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางการเรียนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ (Advanced Program : AP) ระดับชั้นละ 3 ห้อง (108 คน)
- โครงการห้องเรียนพิเศษนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (Young Scientist Program : YSP) ระดับชั้นละ 1 ห้อง (36 คน)
- โครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม (Enrichment Program of Science Mathematics Technology and Environment) ระดับชั้นละ 1 ห้อง (30 คน)
- โครงการห้องเรียนปกติ
- ห้องเรียนปกติ ระดับชั้นละ 9 ห้อง (360 คน)
ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย
แก้- โครงการห้องเรียนพิเศษ
- โครงการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการเป็นภาษาอังกฤษ (English Program : EP) ระดับชั้นละ 1 ห้อง (30 คน)
- โครงการพัฒนาผู้เรียนสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ (Excellent Educational Program : EEP) หลักสูตรเน้นวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ระดับชั้นละ 2 ห้อง (72 คน)
- โครงการส่งเสริมอัจฉริยภาพด้านภาษา (Foreign Language Advanced Program : FLAP) หลักสูตรเน้นภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และภาษาญี่ปุ่น ระดับชั้นละ 1 ห้อง (36 คน)
- โครงการเสริมสร้างศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม (Enrichment Program of Science Mathematics Technology and Environment : SMTE) ระดับชั้นละ 1 ห้อง (30 คน)
- โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางการเรียนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ (Advanced Program : AP) ระดับชั้นละ 1 ห้อง (36 คน)
- โครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (Young Scientist Program : YSP) ระดับชั้นละ 1 ห้อง (36 คน)
- โครงการห้องเรียนปกติ
- แผนการเรียนวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ระดับชั้นละ 9 ห้อง (360 คน)
- แผนการเรียนภาษา (เยอรมัน/ฝรั่งเศส/จีน/ญี่ปุ่น/สเปน) ระดับชั้นละ 2 ห้อง (80 คน)
อาคารเรียน
แก้อาคารเรียนเดิม
แก้หลังการสร้างอาคารศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานีที่ริมทุ่งศรีเมืองด้านทิศตะวันตก และมีการย้ายโรงเรียนไปที่บ้านท่าวังหินทั้งหมดใน พ.ศ. 2516 อาคารเรียนเดิมของโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราชได้ถูกปรับปรุงเพื่อใช้งานในราชการมาโดยตลอด โดยใช้เป็นที่ทำการของหน่วยงานต่าง ๆ ของจังหวัด ได้แก่ สัสดีจังหวัด สำนักงานธนารักษ์จังหวัด สำนักงานสถิติจังหวัด และสำนักงานพัฒนาอำเภอเมืองอุบลราชธานี จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2543 ได้มีการย้ายส่วนราชการออกทั้งหมด โดยบางส่วนของอาคารยังคงใช้เป็นสถานที่เก็บพัสดุ ต่อมากรมศิลปากรได้ทำการขึ้นทะเบียนอาคารเรียนหลังนี้เป็นโบราณสถานของชาติเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2545
เมื่อศาลากลางจังหวัดถูกเผาโดยกลุ่มผู้ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติในจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเป็นการตอบโต้การสลายการชุมนุมของรัฐบาลที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2553[7] หลังเหตุการณ์สงบได้มีการสำรวจความเสียหาย ปรากฏว่าอาคารศาลากลางจังหวัดเสียหายอย่างหนักจนไม่สามารถใช้การได้[8] ส่วนอาคารเรียนเดิมโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราชไม่ได้รับความเสียหายใด ๆ ทางจังหวัดจึงได้ทำการรื้อถอนและย้ายสำนักงานของส่วนราชการที่ตั้งอยู่ในอาคารศาลากลางจังหวัดไปอยู่ที่สถาบันพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ศ.อ.ศ.อ. เป็นการชั่วคราว เพื่อรอการสร้างศาลากลางจังหวัดหลังใหม่ที่บริเวณห้วยแจระแมจนกว่าจะแล้วเสร็จ โดยอยู่ห่างจากศาลากลางแห่งนี้ออกไปทางทิศเหนือของตัวเมืองราว 9 กิโลเมตร (ซึ่งทางจังหวัดมีโครงการย้ายศูนย์ราชการไปรวมกันที่นั่นอยู่แล้วก่อนจะเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น)[9] สำหรับอาคารเรียนโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราชหลังเดิมและบริเวณโดยรอบนั้น ได้มีการปรับปรุงเพื่อจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์เมืองอุบลราชธานี โดยความร่วมมือของกรมศิลปากร มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เบ็ญจะมะมหาราชสมาคม และเครือข่ายภูมิพลังเมืองอุบลราชธานี[10]
อาคารเรียนปัจจุบัน
แก้อาคารเรียนหลักของโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราชในที่ตั้งปัจจุบันมีทั้งหมด 7 อาคาร เมื่อแรกสร้างโรงเรียนใหม่ใน พ.ศ. 2513 นั้น มีอาคารเรียนหลักเพียง 5 หลัง ทางโรงเรียนได้กำหนดชื่ออาคารเรียนหลักทั้งหมดตามพระราชสมัญญานามของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และผู้ประทานนามโรงเรียนคือ สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ดังนี้
- มหาราช คือ อาคารเรียนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ห้องพักครูวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ห้องสมุดวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ห้องเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ห้องเรียนพิเศษโครงการเสริมสร้างศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม (Enrichment Program of Science Mathematics Technology and Environment : SMTE) และอาคารวิชาการ
- จักรพงษ์ คือ อาคารเรียนที่ 1 ตึกอำนวยการ เป็นที่ตั้งของห้องผู้ช่วยผู้อำนวยการ ห้องพักครูวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ห้องเรียนพิเศษโครงการนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (YSP) และห้องเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
- ภูวนารถ คือ อาคารเรียนที่ 2 เป็นที่ตั้งของกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ห้องพักครูภาษาไทย ห้องเรียนวรรณกรรม ห้องสมุดภาษาไทย และห้องพยาบาล
- ปิยะ คือ อาคารเรียนที่ 3 เป็นที่ตั้งของกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ ห้องพักครูภาษาต่างประเทศ ห้องเรียนภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาฝรั่งเศส ภาษาสเปน และภาษาเยอรมัน
- ประชานารถ คือ อาคารเรียนที่ 4 เป็นที่ตั้งของกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ห้องพักครูสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ศาสนา และวัฒนธรรม ห้องพระพุทธศาสนา ห้องอาเซียนศึกษา
- สิรินธร คือ อาคารเรียนที่ 5 เป็นที่ตั้งของกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ห้องพักครูคณิตศาสตร์ ห้องสมุดคณิตศาสตร์ ห้องเรียนพิเศษโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางการเรียนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ (Advanced Program; AP) และห้องประชาสัมพันธ์
- เฉลิมพระเกียรติ คือ อาคารเรียนที่ 8 เป็นที่ตั้งของกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม 2 ห้องพักครูสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ศาสนา และวัฒนธรรม
ต่อมาเมื่อมีนักเรียนจำนวนนักเรียนมากขึ้นใกล้จำนวน 5,000 คน ทำให้เกิดปัญหาความแออัดในการจัดการเรียนการสอนเป็นอย่างมาก เนื่องจากจำนวนนักเรียนต่อห้องโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 50 คนโดยประมาณ แต่จำนวนห้องเรียนมีไม่เพียงพอกับจำนวนนักเรียนที่นับวันมีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทางโรงเรียนจึงดำเนินการของบประมาณจากทางรัฐบาลเพื่อสร้างอาคารเรียนเพิ่มเติม เป็นอาคารเรียนแบบ 324 ล.41 (หลังคาทรงไทย) 4 ชั้น 24 ห้องเรียน ชั้นล่างใต้ถุนโล่ง ชั้นที่ 2, 3 และ 4 แบ่งเป็นห้องเรียน 20 ห้อง ห้องสำนักงาน 2 ห้อง และห้องปฏิบัติการพิเศษ 2 ห้อง โดยได้รับงบประมาณในปี พ.ศ. 2543 จำนวน 19,837,000 บาท สร้างแล้วเสร็จและใช้งานในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2544
ทางโรงเรียนได้ขอพระราชทานพระราชานุญาตจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ใช้ชื่ออาคารว่า สิรินธร พร้อมอัญเชิญพระนามาภิไธย ส.ธ. ประดิษฐานที่ป้ายชื่ออาคาร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชานุญาตตามที่กราบบังคมทูล เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2545 และเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเปิดป้ายอาคารสิรินธร โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช ในวันอังคารที่ 17 ธันวาคมพ.ศ. 2545
นอกจากนี้ยังมีอาคารเรียนอื่น ๆ ได้แก่
- อาคารเรียนชั่วคราว เป็นอาคารเรียนก่ออิฐโครงไม้ชั้นเดียว สร้างเป็นห้องแถวยาวติดกัน 7 ห้อง ตั้งอยู่ด้านหลังอาคารเรียนที่ 4 ติดกับแนวรั้วหลังโรงเรียน ที่นี่สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นห้องเรียนรวมชั่วคราวก่อนจะมีการสร้างอาคารสิรินธร ปัจจุบัน มีการรื้อถอนและได้ทำการสร้างตึกเรียนหลังใหม่ขึ้น
- อาคารเรียนคหกรรม
- อาคารเรียนศิลปศึกษา
- อาคารเรียนวิชาช่างต่าง ๆ
- อาคารเรียนวิชาเกษตรกรรม
- อาคารเรียนวิชาพื้นฐานธุรกิจ
- อาคารเกียรติสุรนนท์
- อาคารเรียนโครงการโรงเรียนสองภาษา (English Program)
- อาคารเรียนโครงการส่งเสริมความเป็นเลิศทางวิชาการ (EEP)
- หอประชุมสุนีย์ ตริยางค์กูลศรี
- หอประชุมเบญจาณุสรณ์
- ห้องสมุดกาญจนาภิเษก
เกียรติประวัติ
แก้- พ.ศ. 2527
- ได้รับรางวัลโรงเรียนพระราชทานดีเด่นขนาดใหญ่ ระดับมัธยมศึกษา เขตการศึกษา 10 (ครั้งที่ 1)
- พ.ศ. 2528
- ได้รับเลือกเป็นศูนย์พัฒนาการเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษ (ERIC) และศูนย์ประสานงาน AFS
- พ.ศ. 2533
- ได้รับเกียรติบัตรห้องสมุดดีเด่น จาก สมาคมห้องสมุด แห่งประเทศไทย
- พ.ศ. 2536
- นักเรียนได้รับรางวัลรองชนะเลิศ ในการโต้คารมมัธยมศึกษา รุ่นที่ 4
- พ.ศ. 2537
- ได้รับเลือกเป็นศูนย์พัฒนาวิชาการระดับจังหวัด 5 ศูนย์วิชา
- พ.ศ. 2538
- ได้รับเลือกเป็นศูนย์นวัตกรรมและนิเทศทางไกล กรมสามัญศึกษา เขตการศึกษา 10
- ได้รับรางวัลโรงเรียนจัดสิ่งแวดล้อมดีเด่น มาตรฐานเหรียญทอง
- ได้รับรางวัลโรงเรียนพระราชทานดีเด่นขนาดใหญ่ ระดับมัธยมศึกษา เขตการศึกษา 10 (ครั้งที่ 2)
- พ.ศ. 2539
- ได้รับคัดเลือกจาก กรมสามัญศึกษา ให้ห้องสมุดเป็น "ห้องสมุดเฉลิมพระเกียรติกาญจนาภิเษก"
- พ.ศ. 2540
- ได้รับเกียรติบัตร การเข้าร่วมแสดงผลงานสารสนเทศโรงเรียน โรงเรียนขนาดใหญ่ ในงานทางวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมเฉลิมพระเกียรติปีกาญจนาภิเษก และนิทรรศการการแสดงผลงานการปฏิรูปการศึกษา โรงเรียนสังกัดกรมสามัญศึกษา ระดับประเทศ
- พ.ศ. 2542
- ได้รับการคัดเลือกเป็นโรงเรียนนำร่องการพัฒนาหลักสูตรของโรงเรียนในโครงการเงินกู้ธนาคารโลก
- ได้รับการคัดเลือกเป็นโรงเรียนนำร่องโครงการรุ่งอรุณ
- ได้รับการคัดเลือกเป็นโรงเรียนนำร่องการพัฒนาหลักสูตรวิชาคณิตศาสตร์ร่วมกับ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)
- พ.ศ. 2544
- ได้รับการคัดเลือกเป็นโรงเรียนแกนนำคุณภาพปฏิรูปการศึกษา ของกรมสามัญศึกษา
- ได้รับคัดเลือกจากกรมสามัญศึกษาให้ "ห้องสมุดเฉลิมพระเกียรติกาญจนาภิเษก" เป็น "ห้องสมุดโรงเรียนดีเด่น กรมสามัญศึกษา ประจำปี 2544"
- ได้รับเกียรติบัตรกรมสามัญศึกษา เป็นโรงเรียนจัดระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนดีเด่น
- พ.ศ. 2545
- ได้รับการคัดเลือกเป็นโรงเรียนปฏิรูปการศึกษาดีเด่น กรมสามัญศึกษา
- พ.ศ. 2546
- ได้รับรางวัล เว็บไซต์ชนะเลิศประเภททั่วไป ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
- พ.ศ. 2549
- ได้รับรางวัลโรงเรียนพระราชทานดีเด่นขนาดใหญ่พิเศษ ระดับมัธยมศึกษา (ครั้งที่ 3)
- พ.ศ. 2552
- ผ่านการประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษา ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รอบที่ 2) จากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) และเข้าร่วมโครงการโรงเรียนมาตรฐานสากลของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
- พ.ศ. 2553
- ได้รับการคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนมาตรฐานสากล
- พ.ศ. 2555
- ได้รับการคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนที่มีศักยภาพสูง (Premiun School)
- พ.ศ. 2556
- ได้รับรางวัล “โรงเรียนพระราชทาน ขนาดใหญ่พิเศษ ครั้งที่ 4”
- พ.ศ. 2558
- ผ่านการประเมินคุณภาพภายนอก ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน รอบ 3 ด้วยผลการประเมินระดับ ดีมาก
- พ.ศ. 2558
- ได้รับรางวัลการบริหารจัดการศึกษาด้วยระบบคุณภาพตามเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่ง สพฐ. (OBECQA)
- พ.ศ. 2566
- ได้รับรางวัลชนะเลิศ การตอบปัญหาวิชาการรัฐศาสตร์ โครงการสิงห์แดงสัญจร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถ้วยรางวัลเกียรติยศนายกรัฐมนตรี
การแข่งขันโอลิมปิกทางวิชาการระหว่างประเทศ
แก้การแข่งขันโอลิมปิกทางวิชาการระหว่างประเทศ เป็นการแข่งขันความสามารถพิเศษในด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ของเยาวชนที่มีอายุไม่เกิน 20 ปี จากทั่วโลก ประเทศไทยได้ส่งเยาวชนเข้าร่วมแข่งขันเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2532 ในสาขาวิชาคณิตศาสตร์เพียงวิชาเดียวและได้เพิ่มวิชาอื่น ๆ ในปีต่อมาจนครบ 5 วิชา คือ คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยาและสาขาคอมพิวเตอร์
สำหรับนักเรียนโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นเยาวชนตัวแทนเข้าแข่งขัน นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 จนถึงปัจจุบัน มีทั้งหมด 6 คน โดยเป็นสาขาวิชาคณิตศาสตร์ 2 คน สาขา วิชาฟิสิกส์ 3 คน และสาขาวิชาชีววิทยา 1 คน ดังนี้
- คณิตศาสตร์โอลิมปิกที่ สาธารณรัฐเยอรมัน พ.ศ. 2532
- ฟิสิกส์โอลิมปิกที่ สาธารณรัฐคิวบา พ.ศ. 2534
- ฟิสิกส์โอลิมปิก ที่ ประเทศออสเตรเลีย พ.ศ. 2538
- ชีววิทยาโอลิมปิก ที่ ประเทศยูเครน พ.ศ. 2539 ได้รับรางวัล เหรียญทองแดง
- ฟิสิกส์โอลิมปิก ที่ ประเทศไอซ์แลนด์ พ.ศ. 2540
- คณิตศาสตร์โอลิมปิก ที่ ประเทศเกาหลีใต้ พ.ศ. 2543
ทีมเชียร์ลีดเดอร์ BMC โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช
แก้ได้รางวัลชนะเลิศระดับประเทศไทย ในการแข่งขันรายการ ซีคอนสแควร์เชียร์ลีดดิ้ง ในปี 2003 และในปี 2008-2010 สามสมัยซ้อน ได้ถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในปี 2010 เป็นตัวแทนประเทศไทย ไปแข่งขันเชียร์ลีดดิ้งชิงแชมป์โลก ณ สวนสนุกดิสนีย์เวิร์ล รัฐฟลอริด้า สหรัฐอเมริกา ในรายการ International Cheer Union 2010 และรายการ The Cheerleading World 2010 ได้รับรางวัลคะแนนรวมสูงสุดอันดับที่ 2 ของโลก
- ปี 2011 เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันเชียร์ลีดดิ้งชิงแชมป์โลก ณ เมืองโกลโคส ประเทศออสเตรเลีย ได้รับรางวัลชนะเลิศ
- ปี 2013 ได้รับรางวัลชนะเลิศ ในรายการซีคอนสแควร์เชียร์ลีดดิ้ง ชิงแชมป์ประเทศไทย
ศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง
แก้- แก้วสรร อติโพธิ เลขานุการคตส. และอดีตสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร [11]
- ขวัญสรวง อติโพธิ อดีตสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2549 [11]
- พล.ต.ท. ชิดชัย วรรณสถิตย์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
- ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ อดีตครูใหญ่โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
- บำเพ็ญ ณ อุบล ครูภูมิปัญญาไทยรุ่นที่ 2 ด้านปรัชญาศาสนา และประเพณี ประจำปีพุทธศักราช 2545 [12]
- อาจารย์เผ่า สุวรรณศักดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ พ.ศ. ๒๕๕๓
- นายแพทย์ไพจิตร ปวะบุตร อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม [13]
- สิทธิชัย โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
- สุทัศน์ เงินหมื่น กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
- เลียง ไชยกาล อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี
- ศ. ประกอบ วิโรจนกูฏ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
- ศิลปชัย ชาญเฉลิม นักเขียนสารคดี เจ้าของนามปากกา "นายหนหวย"
- รชต กิตติโกสินท์ คุณครูโรงเรียนสอนภาษาเอ็นคอนเส็ปท์ (Enconcept E Academy) [14]
- สมพงษ์ พละสูรย์ (คำหมาน คนไค)
- ตุ้มทอง โชคชนะ (นักร้องและนักแต่งเพลงรุ่นเก่าชื่อดังฉายา " ราชาเพลงรำวง" รู้จักกันทั่วไปในชื่อ "เบญจมินทร์")
- ธรรมรัตน์ สุเมธศุภโชค ผู้ตัดต่อและลำดับภาพยนตร์ ค่ายภาพยนตร์จีเอ็มเอ็ม ไท หับ (GTH)
- ธีระวัฒน์ ธนิตศิระวิทย์ (นัท เดอะคอมเมเดี้ยน)รองอันดับสองรายการเดอะคอมเมเดี้ยนไทยแลนด์ ซีซั่น 2
- เอกชัย เจียรกุล คนไทยคนแรกที่สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศการแข่งขันกีตาร์คลาสสิคระดับโลก
- ธีวรา ภาวะพรหม (ปาล์ม The Star 2)
- ปวีณ์สุดา จันทร์เกษ (เม The Star 4)
- พิมพ์วลัญช์ ศรีเมือง (ใบหม่อน AF9) - นักล่าฝันจากรายการ True Academy Fantasia Season 9
- หรรษลักษณ์ จันทร์พันธ์ (เวย์ AF11) - นักล่าฝันจากรายการ True Academy Fantasia Season 11
- พีรฉัตร จิตรมาส (เอี๊ยบ - นักร้องนำวง Subtention)
- จุฑามาศ วิชัย หรือ จอย ราเนีย นักร้องสมาชิกวงราเนีย Rania เกิร์ลกรุ๊ปเกาหลีใต้
- กิตติศักดิ์ โคตรคำ (ใหญ่ - มือกลองวง โลโซ)
- วทัญญู มุ่งหมาย นักแสดง นักร้อง
- ธฤศวรรณ กาหาวงษ์ นักแสดง
- เด่นคุณ งามเนตร นักแสดง
- ป่านแก้ว ลวดทอง นักกีฬายิงปืน
- สุธิรักษ์ ดาเหลา นักกีฬายิงปืน
- นราพันธ์ เครือบุตรดา นักกีฬายิงปืน
- ศิรินภา ศิริมา นักกีฬายิงปืน
- บดินทร์ ผาลา นักกีฬาฟุตบอลทีมชาติไทย
- ศ.นพ.ฝน แสงสิงแก้ว อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข และอดีตอธิบดีกรมการแพทย์
- เมธาวี ธีรลีกุล รองอันดับ 4 มิสแกรนด์ไทยแลนด์ 2018 และนักแสดง
- วรุศ ชวลิตรุจิวงษ์ นักแสดง
- ภูศิลป์ วารินรักษ์ นักร้อง, นักแสดง
- มนชนิตว์ ช่วยบุญ รองนางสาวไทย 2562
อ้างอิง
แก้- ↑ "ปฐมการศึกษาของเมืองอุบลราชธานี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-08. สืบค้นเมื่อ 2007-09-24.
- ↑ "การสถาปนาโรงเรียน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-11. สืบค้นเมื่อ 2007-09-24.
- ↑ "อาคารเรียนหลังที่สอง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-11. สืบค้นเมื่อ 2007-09-24.
- ↑ "ที่มาของไทรงามและธงสีเขียวแดง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-11. สืบค้นเมื่อ 2007-09-24.
- ↑ "โรงเรียนหลังที่ 3 ณ ที่ตั้งปัจจุบัน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-08. สืบค้นเมื่อ 2007-09-24.
- ↑ "สารสนเทศครูและนักเรียนโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-11. สืบค้นเมื่อ 2007-09-24.
- ↑ อุบลฯ ฮือเผาศาลากลาง ถูกยิงเจ็บ 6 ราย. ไทยรัฐออนไลน์ (19 พฤษภาคม 2553). สืบค้นวันที่ 12 เมษายน 2554.
- ↑ เล็งชงครม.ของบ1.3พันล้านสร้างศาลากลางถูกเผา. เก็บถาวร 2011-08-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน คมชัดลึก (24 พฤษภาคม 2553). สืบค้นวันที่ 12 เมษายน 2554.
- ↑ "ความคืบหน้าของศูนย์ราชการจังหวัดอุบลราชธานี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-01-23. สืบค้นเมื่อ 2010-04-12.
- ↑ guideubon.com (2011-02-09). "อาคารเรียน ร.ร.เบ็ญจะมะมหาราช ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่น". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-04-07. สืบค้นเมื่อ 2011-04-12.
- ↑ 11.0 11.1 OSK Network
- ↑ "โครงการแผนที่วัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธ์ชายแดนไทย-กัมพูชา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-18. สืบค้นเมื่อ 2012-03-10.
- ↑ "เมืองอุบลฯ กับวงการแพทย์ (Guideubon.com)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-12-15. สืบค้นเมื่อ 2012-03-10.
- ↑ รชต กิตติโกสินท์
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- เว็บไซต์ของโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช
- ภาพถ่ายทางอากาศของ โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช
- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์