โรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช

โรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช เดิมชื่อ โรงพยาบาลลพบุรี เป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัด มีขีดความสามารถในระดับตติยภูมิ ตั้งอยู่ในอำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี เป็นโรงพยาบาลในเขตสุขภาพที่ 4 สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ประเภท โรงพยาบาลทั่วไป

โรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช
King Narai Hospital
แผนที่
ประเภทโรงพยาบาลทั่วไป (รพท.)
ที่ตั้งเลขที่ 260 ถนนพหลโยธิน หมู่ที่ 1 ตำบลเขาสามยอด อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี รหัสไปรษณีย์ 15000 โทรศัพท์ (036)621537-45
ข้อมูลทั่วไป
ก่อตั้ง6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500
สังกัดกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 4
ผู้อำนวยการแพทย์หญิงนุชรินทร์ อักษรดี
จำนวนเตียง561 เตียง[1]
แพทย์90 คน
บุคลากร1,492 คน[2]
เว็บไซต์http://www.kingnaraihospital.go.th

ประวัติโรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช

แก้

โรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช เดิมชื่อ โรงพยาบาลลพบุรี เป็นโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ประเภท โรงพยาบาลทั่วไป ปัจจุบันโรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราชมีเนื้อที่ 39 ไร่ 1 งาน 44 ตารางวาได้เริ่มก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2496 เปิดให้บริการประชาชนเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 และทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 1 ตำบลเขาสามยอด อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี

ชื่อโรงพยาบาลพระราชทาน

แก้

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามโรงพยาบาลลพบุรีใหม่ เป็น “โรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช” เพื่อเทิดพระเกียรติและรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่ทรงนำความเจริญด้านการแพทย์มาสู่ประเทศไทย และจังหวัดลพบุรี ตั้งเป้าพัฒนาให้เป็นโรงพยาบาลศูนย์ชั้นนำในเขตภาคกลาง ในอนาคต

นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานชื่อโรงพยาบาลลพบุรีใหม่ ว่า “โรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช” ตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2552 เป็นต้นไป เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ผู้ทรงสร้างเมืองลพบุรีให้เป็นราชธานีแห่งที่ 2 ทรงเป็นผู้นำวิทยาการสมัยใหม่และความเจริญด้านต่างๆ เกือบทุกด้านมาสู่ประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนวดไทย โดยมีการผสมผสานการรักษาด้วยแพทย์แผนไทยและแพทย์แผนตะวันตก ปรากฏอยู่ในหลักฐานตำรา “พระโอสถพระนารายณ์” เป็นตำรายา 81 ตำรับ มีตัวยาปรากฏในตำรามากกว่า 300 ชนิด

โรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราชเป็นโรงพยาบาลทั่วไป ตั้งอยู่ใน อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี เปิดบริการมาแล้ว 60 ปี ปัจจุบันมีเตียงรับผู้ป่วย 561 เตียง มีบุคลากรให้บริการ 1,492 คน โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญครบทุกสาขารวม 90 คน ทันตแพทย์ 20 คน เภสัชกร 33 คน พยาบาลวิชาชีพ 461 คน พยาบาลเทคนิค 1 คน และเจ้าหน้าที่อื่นๆ 887 คน ขณะนี้ได้เร่งพัฒนาคุณภาพบริการทุกด้าน โดยในอนาคตจะพัฒนาให้เป็นโรงพยาบาลศูนย์ชั้นนำในเขตภาคกลาง และเป็นศูนย์แพทย์เชี่ยวชาญด้านมะเร็งในระดับต้น เป็นพึ่งพาของประชาชน

ที่ผ่านมาโรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช มีผลงานการพัฒนาดีเด่นมากมาย เช่น เป็นโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูก ได้รับมาตรฐานการบำบัดฟื้นฟูยาเสพติด เป็นสถานที่ทำงานที่น่าอยู่ งานโภชนาการประกอบอาหารให้ผู้ป่วยในโรงพยาบาลดีเด่นในระดับ “ดีมาก” ได้รับรางวัลเป็นโรงพยาบาลคุณภาพตามมาตรฐานด้านการส่งเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2549 งานอนามัยแม่และเด็กดีเด่นระดับเขต ได้รับการรับรองเป็นโรงพยาบาลสายใยรักระดับทอง พ.ศ. 2551 ผ่านการรับรองเป็นโรงพยาบาลคุณภาพตามมาตรฐานสากล ตั้งแต่ พ.ศ. 2547 และการรับรองการให้บริการดูแลผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจวายเฉียบพลันดีเยี่ยม พ.ศ. 2549

ต่อวันมีประชาชนเข้ารับบริการตรวจรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกเฉลี่ย 1,363 ราย โรคที่พบมากอันดับ 1 ได้แก่โรคความดันโลหิตสูงร้อยละ 24 รองลงมา คือ เบาหวาน ร้อยละ 15 มีผู้ป่วยนอนรักษาในโรงพยาบาลวันละ 355 ราย ที่พบมากที่สุด ได้แก่ โรคท้องร่วงร้อยละ 32 รองลงมา คือ โรคหัวใจล้มเหลวร้อยละ 11 ทำผ่าตัดใหญ่วันละ 29 ราย และกำลังดำเนินการก่อสร้างอาคารเพื่อขยายเป็นโรงพยาบาลศูนย์ต่อไป

ข้อมูลด้านการพยาบาล

แก้

โรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช เป็นโรงพยาบาลประเภททั่วไปขนาด 561 เตียง และมีจำนวนผู้ป่วยนอกมารับบริการ วันละ 1,500–1,800 ราย กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายพัฒนาให้เป็นโรงพยาบาลศูนย์ และให้เป็นศูนย์รับผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉินและผู้ป่วยที่มีภาวะโรคซับซ้อน ที่ส่งต่อมาจากโรงพยาบาลในจังหวัดลพบุรี และจากโรงพยาบาล 29 แห่งใน 3 จังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ ชัยนาท สิงห์บุรี และอ่างทอง

รายชื่อผู้บริหารโรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช

แก้

รายนามผู้อำนวยการตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

1.นพ.กิติ ตยัคคานนท์ - พ.ศ. 2499 - 2517

2.นพ.ส่ง ศรีสุภาพ - พ.ศ. 2517 - 2533

3.ศ.นพ.ประสงค์ เกียรติบำเพ็ญ - พ.ศ. 2533 - 2536

4.นพ.ฟู เบญจดล - พ.ศ. 2536 - 2539

5.นพ.ธวัช นาวีระ - พ.ศ. 2539 - 2548

6.นพ.สมคิด เอื้ออภิสิทธิ์วงศ์ - พ.ศ. 2548 - 2551

7.นพ.สุชัย สุทธิกาศนีย์ - พ.ศ. 2551 - 2555

8.นพ.วีรศักดิ์ คลองลาภเจริญ - พ.ศ. 2555 - 2557

9.นพ.นิพัธ กิตติมานนท์ - พ.ศ. 2557 - 2562

10.ผศ.(พิเศษ) นพ.ทศพร ศิริโสภิตกุล - พ.ศ. 2562 - 2564

11.พญ.นุชนินทร์  อักษรดี - พ.ศ. 2564 - ปัจจุบัน

บริการและคลินิกต่าง ๆ ของโรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช

แก้
  • ตรวจโรคทั่วไป
  • คลินิกนอกเวลาราชการ
  • คลินิกประกันสังคม
  • คลินิกศัลยกรรม
  • คลินิกกระดูกและข้อ
  • คลินิกฝังเข็ม
  • คลินิกเบาหวานและต่อมไร้ท่อ
  • คลินิกหัวใจ และความดันโลหิตสูง
  • คลินิกวัณโรคและโรคปอด
  • คลินิกโรคไต
  • คลินิกโรคทางเดินอาหาร
  • คลินิกนรีเวชและวางแผนครอบครัว
  • คลินิกฝากครรภ์
  • คลินิกกุมารเวชกรรม
  • คลินิกสุขภาพเด็กดี
  • คลินิกหู คอ จมูก
  • คลินิกจักษุ
  • คลินิกโรคผิวหนัง
  • คลินิกทันตกรรม
  • คลินิกทันตกรรมนอกเวลา
  • บริการให้คำปรึกษาโรคจิต ยาเสพติดและโรคเอดส์
  • บริการให้คำปรึกษาสุขภาพทั่วไป

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้