โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เป็นโรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มีภารกิจในการให้บริการทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขแก่ประชาชนโดยทั่วไป และเป็นแหล่งฝึกปฏิบัติทางคลินิกของสายวิทยาศาสตร์สุขภาพเช่น คณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะสหเวชศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ วิทยาลัยโลกคดีศึกษา และวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสายอื่นๆที่ไม่ใช่วิทยาศาสตร์สุขภาพเช่น คณะสังคมสงเคราะห์ และ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นต้น
โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ | |
---|---|
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ | |
![]() | |
![]() | |
![]() | |
ภูมิศาสตร์ | |
ที่ตั้ง | 95 หมู่ 8 ถนนพหลโยธิน ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี, ประเทศไทย |
หน่วยงาน | |
ประเภท | โรงพยาบาลเพื่อการเรียนการสอน |
สังกัด | มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ |
บริการสุขภาพ | |
แผนกฉุกเฉิน | มี |
จำนวนเตียง | 795[1] |
ประวัติ | |
เปิดให้บริการ | พ.ศ. 2530 |
ลิงก์ | |
เว็บไซต์ | hospital |
ประวัติ แก้
พ.ศ. 2529 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ดำเนินตามแผนโดยการสร้างโรงพยาบาลขึ้น โดยศาสตราจารย์ คุณหญิงนงเยาว์ ชัยเสรี ดำรงตำแหน่งอธิการบดี มีคำสั่ง ที่ 747/2529 ลงวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2529 แต่งตั้งคณะกรรมการจัดหาทุนสร้างโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มีศาสตราจารย์สุธี นาทวรทัน เป็นประธานกรรมการ และ นายประมวล สภาวสุ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในขณะนั้น เป็นประธานกิตติมศักดิ์ ระดมทุนจากศิษย์เก่าทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดย ณ ขณะนั้นมีผู้สนับสนันหลัก คือ ทายาทหม่อมราชวงศ์สุวพรรณ สนิทวงศ์ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประชาคมธรรมศาสตร์ ตลอดจนประชาชนทั่วไป
โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า "โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ" และเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2529
โรงพยาบาลเปิดให้บริการประชาชนเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2530 เพื่อถวายเป็นราชกุศลเนื่องในมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จแทนพระองค์ทรงประกอบพิธีเปิดโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2531 โดยในระยะแรกมีเพียง 2 อาคารที่เปิดให้บริการรักษาพยาบาลแก่ประชาชนทั่วไป คือ อาคารหม่อมราชวงศ์สุวพรรณ สนิทวงศ์ เปิดให้บริการรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉิน ผู้ป่วยนอก และสำนักงานต่าง ๆ และ อาคารธนาคารทหารไทย เปิดให้บริการรักษาพยาบาล
พ.ศ. 2533 ได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์[2] ในวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2533 โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติจึงได้รับการรวมเข้ามาเป็นส่วนราชการหนึ่ง ซึ่งมีฐานะเทียบเท่าภาควิชา ของคณะแพทยศาสตร์ เช่นเดียวกับสถานวิทยาศาสตร์พรีคลินิก และสถานวิทยาศาสตร์คลินิก
พ.ศ. 2543 สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีคำสั่งให้การบริหารโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เป็นอิสระโดยสังกัดสำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[3] แยกออกจากคณะแพทยศาสตร์
ปัจจุบันนอกจากให้บริการวิชาการทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขแก่ประชาชนโดยทั่วไปโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติยังเป็นสถานที่ศึกษาดูงาน/ฝึกอบรม ดังนี้[4] เป็นแหล่งฝึกปฏิบัติงานทางคลินิกสำหรับ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อาคารและสิ่งก่อสร้าง แก้
โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มีพื้นที่รวมกลุ่มสุขศาสตร์ ทั้งสิ้น 135 ไร่ โดย ภายในมีอาคารดังนี้
- อาคาร ม.ร.ว. สุวพรรณ สนิทวงศ์ เป็นอาคาร 2 ชั้น ด้านหน้าอาคารเป็นลานจอดรถและพระพุทธรูปประจำโรงพยาบาลบริเวณกลางอาคาร เป็นสวนหย่อมซึ่งประดิษฐานรูปหล่อของ ม.ร.ว. สุวพรรณ สนิทวงศ์
- อาคารดุลโสภาคย์ เป็นอาคาร 9 ชั้น และชั้นใต้ดิน 1 ชั้น ปัจจุบันเปิดทำการเป็นห้องตรวจผู้ป่วยนอก หน่วยไตเทียม หอผู้ป่วยในอายุรกรรม กุมารเวชกรรม จักษุวิทยา หอผู้ป่วยพิเศษ หอผู้ป่วยวิกฤติหัวใจ และกลุ่มงานเภสัชกรรม
- อาคารกิตติวัฒนา เป็นอาคาร 7 ชั้น ปัจจุบันเปิดให้บริการสำหรับผู้ป่วยอุบัติเหตุ–ฉุกเฉิน ห้องผ่าตัดอัจฉริยะ ผู้ป่วยนอกเวลาราชการและผู้ป่วยประกันสังคมนอกเวลา หอผู้ป่วยวิกฤต ห้องผ่าตัด ห้องคลอด แผนกเวชศาสตร์ฟื้นฟู หอผู้ป่วยในศัลยกรรม ศัลยกรรมอุบัติเหตุ ศัลยกรรมระบบประสาท ศัลยกรรมกระดูกและข้อ สูติ–นรีเวชกรรม ห้องปฏิบัติการชันสูตร แผนกรังสีวินิจฉัย แผนกมะเร็งวิทยาและรังสีร่วมรักษา แผนกพยาธิวิทยา สำนักงานนิติเวชวิทยา และสำนักงานต่างๆ
- อาคารธนาคารทหารไทย เป็นอาคาร 2 ชั้น ประกอบด้วย หอผู้ป่วยอายุรกรรม ธท.2 หอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke unit) หอผู้ป่วยยูงทอง 1 และห้องแยกปลอดเชื้อ
- อาคารปัญจา สายาลักษณ์ เป็นอาคาร 2 ชั้น ระยะแรกใช้เป็นห้องพักเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ปัจจุบันได้เปิดเป็นหอผู้ป่วยพิเศษยูงทอง 2 หอผู้ป่วยจิตเวช และคลินิกแพทย์แผนไทยประยุกต์
- อาคารบริการ เป็นอาคาร 3 ชั้น ดำเนินการก่อสร้างโดยใช้งบประมาณปี พ.ศ. 2538–2540 และเปิดเป็นอาคารให้บริการสนับสนุนการบริการทางการแพทย์ต่างๆ เช่น งานโภชนาการ งานซักล้าง งานจ่ายกลาง เป็นต้น
- อาคารคุณากร เป็นอาคาร 9 ชั้น เป็นสถานที่ติดต่อราชการ ที่ทำการสถานและสาขาวิชา และห้องประชุมต่างๆ ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- อาคารราชสุดา เป็นอาคารการเรียนการสอนของคณะกลุ่มวิชาสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเปิดให้บริการด้านทันตกรรม ของคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- อาคารปิยชาติ เป็นอาคารการเรียนการสอนของคณะกลุ่มวิชาสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ห้องสมุดนงเยาว์ ชัยเสรี
- อาคารศูนย์การแพทย์ธรรมศาสตร์ (อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง) เป็นอาคาร 10 ชั้น ประกอบด้วยเวชระเบียนและสำนักงาน ศูนย์ส่งกลับ คลินิกกระดูกและข้อ แผนกเจาะเลือกและเก็บสิ่งตรวจ ศูนย์รังสีวิทยา ห้องรับรอง VIP & ห้องตรวจ VIP ศูนย์หัวใจ, หลอดเลือด, ระบบประสาท และ ระบบเมตาบอลิซึ่ม คลินิกอายุรกรรม & ผิวหนัง คลินิกตา คลินิกสูตินรีเวช ศูนย์สุขภาพจิต คลินิกกุมารเวช, ศูนย์สุขภาพเด็ก ศูนย์ส่องกล้อง/ห้องผ่าตัด คลินิกพิเศษเฉพาะทาง คลินิกความงามเลเซอร์ คลินิกทันตกรรม คลินิกตรวจสุขภาพประจำปี ห้องพักผู้ป่วยพิเศษ และสำนักงานบริหาร
- อาคารชวนชูชาติ วพน.7 เป็นอาคารเพื่อใช้เป็นศูนย์บริการผู้ป่วยนอกด้านรังสีวิทยา และห้องปฏิบัติการ รวมทั้งสถานที่รักษาพยาบาล และสถานที่สนับสนุนต่างๆ พื้นที่ใช้สอยรวม 8,433.00 ตร.ม.
อ้างอิง แก้
- ↑ http://gishealth.moph.go.th/healthmap/infoequip.php?maincode=13778&id=128744
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา. (2533). พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทบวงมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2533. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [1] เก็บถาวร 2014-04-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (เข้าถึงเมื่อ: 15 กรกฎาคม 2553).
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา. (2546). ประกาศทบวงมหาวิทยาลัย เรื่อง การแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2546. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [2] เก็บถาวร 2014-04-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (เข้าถึงเมื่อ: 21 กรกฎาคม 2553).
- ↑ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ. (2553). เกียรติประวัติโรงพยาบาล. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [3] เก็บถาวร 2009-04-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (เข้าถึงเมื่อ: 15 กรกฎาคม 2553).
แหล่งข้อมูลอื่น แก้
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) เก็บถาวร 2010-07-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน