โรงพยาบาลทหารเรือกรุงเทพ
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
โรงพยาบาลทหารเรือกรุงเทพ เป็นโรงพยาบาลรัฐบาลในสังกัดกรมแพทย์ทหารเรือ กองทัพเรือ ตั้งอยู่ที่ 224 ถนนทางรถไฟสายเก่าปากน้ำ แขวงบางนาใต้ เขตบางนา กรุงเทพมหานคร มีจำนวนเตียงที่เปิดรับผู้ป่วยจิตเวช 14 เตียง ยาเสพติด 40 เตียง
ประวัติ
แก้- 1 เมษายน พ.ศ. 2433 พบหลักฐานพระราชบัญญัติแต่งตั้งข้าราชการทหารเรือ มีนามโรงพยาบาลทหารเรือปรากฏอยู่ มีที่ตั้งอยู่บริเวณ รร.สตรีวัดระฆัง ในปัจจุบัน (เราจึงถือเอาวันที่ 1 เมษายน เป็นวันสถาปนา กรมแพทย์ทหารเรือ)
- พ.ศ. 2453 มีดำริจะสร้างกองแพทย์ และ โรงพยาบาลทหารเรือใหม่ บริเวณปากคลองมอญด้านเหนือ ในช่วงเวลาที่ นายแพทย์ เบอร์เมอร์ ชาวเยอรมันเป็นนายแพทย์ใหญ่ และ เรือตรี เภา เป็น ผู้ช่วยนายแพทย์ใหญ่
- การก่อสร้างเริ่มเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน แต่การก่อสร้างแล้วเสร็จและย้าย “กองแพทย์ และพยาบาลทหารเรือ” มาจากบริเวณวัดระฆัง เมื่อปี พ.ศ. 2456
โรคส่วนใหญ่ที่รักษา - เหน็บชา (มีตึกผู้ป่วยเหน็บชา – อาคาร 6)
- กามโรค
- ติดฝิ่น
มีอาคารทั้งสิ้น 6 อาคาร
- ตึก 1 อาคารบังคับการ
- ตึก 2 ห้องตรวจโรคและผ่าตัด ห้องแต่งแผล ฉีดยา (โอพีดี)
- ตึก 3 ห้องยา คลังยา
- ตึก 4 ตึกผู้ป่วยกามโรค
- ตึก 5 ตึกผู้ป่วยทั่วไป
- ตึก 6 ตึกผู้ป่วยเหน็บชา (ต่อมารื้อสร้างเป็นอาคารบำบัดยาเสพติด)
20 กันยายน พ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้ายกฐานะ “กองแพทย์และพยาบาลทหารเรือ” เป็น “กรมแพทย์พยาบาลทหารเรือ” ซึ่งปรากฏเป็นหลักว่าเริ่มมีการจัดหลักสูตรการศึกษาของ นร.พยาบาลทหารเรือ ขึ้นในปีนั้นด้วย โดยใช้ชื่อ “นร.อาสาสำรอง” ระยะเวลาการศึกษา 3 เดือน ขณะเรียนได้รับเงินเดือน ๆ ละ 2 – 6 บาท เบี้ยเลี้ยงวันละ 25 สตางค์ เมื่อจบการศึกษาแล้ว ได้รับเงินเดือน ๆ ละ 12 บาท
กรมแพทย์และพยาบาลทหารเรือมีการเปลี่ยนแปลงมาหลายยุคหลายสมัย บางครั้งก็มีหลักฐานเป็นกรม บางครั้งก็ปรับเปลี่ยนฐานะเป็นกอง จวบจนกระทั่งในวันที่ 16 มิถุนายน 2485 มีพระราชกฤษฎีกาจัดหน่วยย่อย ในกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ 11) พุทธศักราช 2485 ในมาตรา 7 กำหนดให้กรมแพทย์ทหารเรือเป็นส่วนราชการหนึ่งของกองทัพเรือ ซึ่งต่อมามีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมาเป็นระยะ ๆ
จวบจนกระทั่งในปี 2498 ได้มีการก่อสร้าง รพ.ทหารเรือบุคคโลขึ้นบริเวณบุคคโล และมีการจัดส่วนราชการหน่วยขึ้นตรงกรมแพทย์ทหารเรือขึ้นใหม่ และปรากฏชื่อ โรงพยาบาลทหารเรือกรุงเทพขึ้น ในรายชื่อหน่วยขึ้นตรง กรมแพทย์ทหารเรือ เมื่อ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2498 เพื่อใช้เรียกโรงพยาบาลทหารเรือเดิมบริเวณปากคลองมอญ ผู้อำนวยการในขณะนั้นคือ นาวาเอก เวียง วิรัติภูมิประเทศ
ต่อมาเมื่อกรมแพทย์ทหารเรือ ได้ย้ายที่ทำการมาอยู่บริเวณบุคคโล เมื่อ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2506 โรงพยาบาลทหารเรือกรุงเทพ ก็ยังคงใช้พื้นที่และอาคารเดิมบริเวณคลองมอญเป็นที่ทำการต่อมา
ในปี พ.ศ. 2546 กองทัพเรือ โดย พลเรือเอก ทวีศักดิ์ โสมาภา ผู้บัญชาการทหารเรือ ในขณะนั้น ได้พิจารณาอนุมัติให้จัดสร้างโรงพยาบาลทหารเรือกรุงเทพขึ้นใหม่บริเวณพื้นที่บางนา ใกล้กรมอุทกศาสตร์ทหารเรือ เนื่องจากบริเวณคลองมอญมีพื้นที่จำกัด ไม่สามารถรองรับการขยายตัวของภารกิจที่เพิ่มมากขึ้นของ รพ.ทหารเรือกรุงเทพ ได้ ประกอบกับ เป็นการรองรับการให้บริการกำลังพลและครอบครัวที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่บางนา โดย พลเรือเอก ทวีศักดิ์ฯ ได้เดินทางมาวางศิลาฤกษ์ เมื่อ 30 กันยายน พ.ศ. 2546 ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 282,923,680 บาท (สองร้อยแปดสิบสองล้านเก้าแสนสองหมื่นสามพันหกร้อยแปดสิบบาท) เริ่มก่อสร้างเมื่อ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2548 แล้วเสร็จเมื่อ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2550 เป็น โรงพยาบาลขนาด 120 เตียง ประกอบด้วย
- ตึกผู้ป่วยทั่วไป 40 เตียง
- ตึกผู้ป่วยจิตเวช 40 เตียง
- ตึกผู้ป่วยบำบัดยาเสพติด 40 เตียง
ได้ดำเนินการย้ายการดำเนินการมาเป็นส่วน ๆ โดย เปิดรับผู้ป่วยใน ของตึกจิตเวชและบำบัดยาเสพติด และแผนกพยาธิวิทยา เมื่อ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2550 เปิดให้บริการแผนกทันตกรรม เมื่อ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2550 เปิดให้บริการตรวจสุขภาพและแผนกรังสีวิทยา เมื่อ 14 มกราคม พ.ศ. 2551 และเปิดให้บริการทุกแผนก เมื่อ 3 มีนาคม พ.ศ. 2551
27 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 พลเรือเอก สถิรพันธ์ เกยานนท์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้เป็นประธานในพิธีเปิด โรงพยาบาลทหารเรือกรุงเทพ กรมแพทย์ทหารเรือ อย่างเป็นทางการ
23 เมษายน พ.ศ. 2552 โรงพยาบาลทหารเรือกรุงเทพ พร. ได้ประชุม นขต.พร.ฯ ประจำเดือน เมษายน 52 โดยมี น.อ.พันเลิศ แกล้วทนงค์ ผอ.รพ.ฯ เป็นประธานในที่ประชุม ได้ขอมติจากที่ประชุม รพ.ฯ ให้วันที่ 27 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันเกิดของ รพ.ทหารเรือกรุงเทพ พร. (แห่งใหม่) จากการที่ รพ.ทหารเรือกรุงเทพ พร. บริเวณพื้นที่ปากคลองมอญ มิได้กำหนดไว้