โยโดะ โดโนะ
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
โยโดะ โดโนะ (ญี่ปุ่น: 淀殿; โรมาจิ: Yodo dono; ค.ศ. 1569 — 4 มิถุนายน ค.ศ. 1615) เป็นสตรีที่ทรงอำนาจในญี่ปุ่นยุคอะซุชิโมะโมะยะมะ ในฐานะหลานสาวของ โอดะ โนะบุนะงะ ภรรยาน้อยของโทะโยะโตะมิ ฮิเดะโยะชิ และเป็นผู้นำในการต่อต้านการปกครองของรัฐบาลโชกุนโทะกุงะวะในช่วงแรก
โยโดะ โดโนะ | |
---|---|
โยโดะ โดโนะ | |
เกิด | ชาจะ ค.ศ. 1569 ปราสาทโอดานิ |
ถึงแก่กรรม | 4 มิถุนายน ค.ศ. 1615 ปราสาทโอซากะ |
สามี | โทโยโตมิ ฮิเดโยชิ |
บุตร-ธิดา | โทโยโตมิ ฮิเดโยริ |
บิดา | อาไซ นางามาซะ |
บิดาบุญธรรม | ชิบาตะ คัตสึอิเอะ |
มารดา | โออิจิ |
พี่น้อง | มันฟูกูมารุ (พี่ชายต่างมารดา) โอฮัตสึ (น้องสาวร่วมมารดา) โอเอโยะ (น้องสาวร่วมมารดา) |
ญาติ | โอดะ โนบูนางะ (ลุง) |
ช่วงชีวิตวัยเยาว์
แก้โยโดะ โดโนะ ถือกำเนิดขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1569 มีชื่อว่า ชาจะ (ญี่ปุ่น: 茶々; โรมาจิ: Chacha) เป็นธิดาคนโตสุดของอาไซ นางามาซะ (ญี่ปุ่น: 浅井長政; โรมาจิ: Azai Nagamasa) ไดเมียวแห่งแคว้นโอมิ (ญี่ปุ่น: 近江; โรมาจิ: Ōmi) ซึ่งเกิดกับนางโออิจิ (ญี่ปุ่น: お市; โรมาจิ: Ōichi) ผู้ซึ่งเป็นน้องสาวของ โอดะ โนะบุนะงะ ที่ปราสาทโอะดะนิ (ญี่ปุ่น: 小谷城; โรมาจิ: Odani-jō) ริมทะเลสาบบิวะ จังหวัดชิงะในปัจจุบัน อันเป็นฐานที่มั่นของตระกูลอะซะอิ ชะจะมีน้องสาวมารดาเดียวกันอยู่อีกสองคน ได้แก่ โอฮะซึ หรือ ฮะซึ (ญี่ปุ่น: 初; โรมาจิ: Hatsu) และน้องสาวคนสุดท้องคือ โก (ญี่ปุ่น: 江; โรมาจิ: Gō) หรือ โอเอะโยะ รวมทั้งมีพี่ชายต่างมารดาคือ มันฟุกุมะรุ (ญี่ปุ่น: 万福丸; โรมาจิ: Manfuku-maru)
ในค.ศ. 1570 โนะบุนะงะได้ประกาศสงครามกับตระกูลอะซะกุระ (ญี่ปุ่น: 朝倉; โรมาจิ: Asakura) ซึ่งเป็นไดเมียวแห่งแคว้นเอะจิเซ็ง ตระกูลอะซะกุระและตระกูลอะซะอิเป็นพันธมิตรกันมาเนิ่นนาน โนะบุนะงะคาดหวังให้นางโออิจิเกลี้ยกล่อมให้สามีของนางเข้าฝ่ายของตนในสงครามครั้งนี้ แต่ด้วยความกดดันจากคนในตระกูลอะซะอิ นะงะมะซะจำต้องเห็นแก่พันธมิตรกับตระกูลอะซะกุระ ร่วมมือกันต้านการขยายอำนาจของโนะบุนะงะ ทัพของสองตระกูลพ่ายแพ้ต่อทัพของโอดะในยุทธการที่อะเนะงะวะ (姉川の戦い) ในค.ศ. 1573 ทัพของโนะบุนะงะได้เข้าล้อมปราสาทโอะดะนิ เมื่อเห็นว่าตนกำลังจะพ่ายแพ้ นะงะมะซะจึงส่งภรรยาของตนคือนางโออิจิ และบุตรสาวทั้งสามให้แก่โนะบุนะงะ จนกระทั่งปราสาทโอะดะนิถูกเผาทำลายลง นะงะมะซะจึงกระทำการเซ็ปปุกุเสียชีวิตไปพร้อมกับบุตรชายคือมันฟุกุ-มะรุ
ชะจะจึงต้องสูญเสียบิดาไปตั้งแต่อายุสี่ปี จากนั้นมาชะจะรวมทั้งนางอิจิและน้องสาวอีกสองคนอยู่ภายใต้ความดูแลของโอดะ โนะบุนะงะ จนกระทั่งโนะบุนะงะถูกลอบสังหารในค.ศ. 1582 ฮะชิบะ ฮิเดะโยะชิ (羽柴秀吉) ขุนพลคนสำคัญของโนะบุนะงะพยายามตั้งตนเป็นใหญ่ ทำให้นางอิจิตัดสินใจที่จะสมรสใหม่กับ ชิบะตะ คะซึอิเอะ (柴田勝家) ขุนพลคนสำคัญอีกคนหนึ่งเพื่อคานอำนาจ ชะจะจึงย้ายไปอาศัยอยู่ที่ปราสาทคิตะโนะโช (北圧城) ในแคว้นเอะจิเซ็ง จังหวัดฟุกุอิในปัจจุบัน ร่วมกับบิดาเลี้ยงคือชิบะตะ คะซึอิเอะ ในค.ศ. 1583 ฮิเดะโยะชินำทัพเข้าบุกแคว้นเอะจิเซ็ง สามารถเอาชนะทัพของคะซึอิเอะได้ในยุทธการชิซุงะตะเกะ (賤ヶ岳の戦い) และเข้ายึดปราสาทคิตะโนะโช คะซึอิเอะกระทำการเซ็ปปุกุเสียชีวิต นางอิจิผู้เป็นมารดาได้ส่งตัวบุตรสาวทั้งสามของตนให้แก่ฮิเดะโยะชิ แล้วจึงเสียชีวิตไปพร้อมกับปราสาทที่ลุกไหม้ทลายลงมา ชะจะจึงสูญเสียมารดาไปอีกคนเมื่ออายุสิบสี่ปี
ภรรยาน้อยของฮิเดะโยะชิ
แก้ชะจะและน้องสาวอีกสองคนจึงเข้าเป็นบุตรสาวบุญธรรมของฮะชิบะ ฮิเดะโยะชิ ซึ่งต่อมาได้รับแต่งตั้งให้เป็นคัมปะกุ (関白) เปลี่ยนชื่อเป็น โทะโยะโตะมิ ฮิเดะโยะชิ (豊臣秀吉) อาศัยอยู่ที่ปราสาทโอซะกะ ร่วมกับบุตรสาวของเชลยสงครามและข้ารับใช้ต่างๆ ซึ่งล้วนถูกส่งมารับใช้ฮิเดะโยะชิทั้งสิ้น ชะจะได้ชื่อว่าสืบทอดความงามมาจากมารดาของตนคือนางอิจิ ในค.ศ. 1588 เมื่ออายุสิบเก้าปี ฮิเดะโยะชิจึงได้รับนางชะจะบุตรสาวบุญธรรมของตนมาเป็นภรรยาน้อย ชะจะจึงต้องตกเป็นภรรยาน้อยของบิดาเลี้ยงซึ่งมีอายุมากกว่าตนเองถึงสามสิบสองปี ในค.ศ. 1589 ชะจะได้ให้กำเนิดบุตรชายคนแรกให้แก่ฮิเดะโยะชิ มีชื่อว่า ซึรุมะซึ (鶴松) ฮิเดะโยะชิจึงตอบแทนโดยการสร้างปราสาทริมแม่น้ำโยะโดะใกล้กับเมืองเกียวโต มีชื่อว่า ปราสาทโยะโดะให้เป็นรางวัล อันเป็นที่มาของชื่อ โยะโดะ โดะโนะ (淀殿) แปลว่า นางแห่งปราสาทโยะโดะ
แต่ทว่าซึรุมะซึบุตรชายคนแรกได้เสียชีวิตลงในค.ศ. 1591 ด้วยความเศร้าโศกเสียใจ ฮิเดะโยะชิจึงสละตำแหน่งคัมปะกุให้แก่หลานชายของตนคือ โทะโยะโตะมิ ฮิเดะซึงุ (豊臣秀次) ส่วนตนเองนั้นดำรงตำแหน่งเป็นไทโค (太閤) หรือผู้สำเร็จราชการที่สละตำแหน่งแล้ว ในค.ศ. 1593 ช่วงการรุกรานเกาหลีของญี่ปุ่น (พ.ศ. 2135-2141) โยะโดะโดะโนะได้ติดตามไทโคฮิเดะโยะชิผู้เป็นสามีซึ่งไปบัญชาการรบที่เมืองฟุกุโอะกะ จนให้กำเนิดบุตรชายอีกคนหนึ่งชื่อว่า ฮิโระอิมะรุ (拾丸) ฮิเดะโยะชิจึงสั่งเนรเทศและบังคับให้ฮิเดะซึงุหลานชายกระทำการเซ็ปปุกุเสียชีวิต และแต่งตั้งฮิโระอิมะรุให้เป็นทายาทของตนแทน ในค.ศ. 1595 ฮิเดะโยะได้ส่งโอเอะโยะ น้องสาวของโยะโดะโดะโนะ ไปสมรสกับโทะกุงะวะ ฮิเดะตะดะ ทายาทของโทะกุงะวะ อิเอะยะซุ โดยได้ทิ้งบุตรสาวของตนกับสามีคนเก่าไว้ ชื่อว่า โทะโยะโตะมิ ซะดะโกะ (豊臣完子) โยะโดะโดะโนะจึงรับหลานสาวของตนเองมาเป็นบุตรบุญธรรม
มารดาของฮิเดะโยะริ
แก้ฮิโระอิมะรุประกอบพิธีเง็มปุกุ มีชื่อว่า โทะโยะโตะมิ ฮิเดะโยะริ (豊臣秀頼) ฮิเดะโยะชิผู้เป็นบิดาได้พยายามทุกวิถีทางที่จะรักษาอำนาจของบุตรชายของตนที่อายุยังน้อย แต่เมื่อฮิเดะโยะชิถึงแก่อสัญกรรมในค.ศ. 1598 ไดเมียวแคว้นใหญ่ทั้งหลายอันเป็นสมาชิกของโงะไทโร (五大老) โดยเฉพาะโทะกุงะวะอิเอะยะซุ คอยจะหาช่องทางที่จะตั้งตนขึ้นมามีอำนาจแทนตระกูลโทะโยะโตะมิ นี่เป็นจุดเริ่มต้นชีวิตทางการเมืองของนางโยะโดะโดะโนะ ในฐานะมารดาของโทะโยะโตะมิ ฮิเดะโยะริ โยะโดะโดะโนะได้กระทำทุกทางเพื่อที่จะรักษาอำนาจของบุตรชายตน ในขั้นแรกนางได้ร่วมมือกับอิชิดะ มึซึนะริ (石田三成) ในการต่อต้านอำนาจของอิเอะยะซุ จนกระทั่งความพ่ายแพ้ที่ยุทธการเซะกิงะฮะระ (関ヶ原の戦い) ในค.ศ. 1600 ทำให้ตระกูลโทะโยะโตะมิต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของตระกูลโทะกุงะวะ ฮิเดะโยะริถูกลดขั้นลงเป็นเพียงไดเมียวภายใต้การปกครองของโทะกุงะวะ
หลังจากยุทธการเซกิงะฮะระ อิเอะยะซุได้แต่งตั้งให้ โอโนะ ฮะรุนะงะ (大野治長) ซึ่งเป็นบุตรชายของนางโอกุระเกียว-โนะ-ซึโบะเนะ (大蔵卿局) ข้ารับใช้คนสนิทของนางโยะโดะ ให้เป็นผู้ปกครองปราสาทโอซะกะ นางโยะโดะร่วมกับโอโนะฮะรุนะงะได้ดำเนินการอย่างเงียบๆหากำลังสนับสนุนในการยึดอำนาจคืนจากตระกูลโทะกุงะวะ ในค.ศ. 1604 ด้วยเหตุผลทางการเมือง ฮิเดะโยะริจำต้องสมรสกับนางเซ็งฮิเมะ (千姫) บุตรสาวของโทะกุงะวะ อิเดะตะดะ กับนางโอเอะโยะ โดยที่นางโอเอะโยะเดินทางร่วมขบวนจากเมืองเอะโดะมาส่งบุตรสาวของตนที่โอซะกะ ทำให้สามพี่น้องตระกูลอะซะอิได้อยู่พร้อมหน้ากันอีกครั้ง เป็นครั้งสุดท้าย
การล้อมปราสาทโอซะกะ
แก้นางโยะโดะพร้อมทั้งฮิเดะโยะริบุตรชายต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของตระกูลโทะกุงะวะ แต่ไดเมียวและประชาชนในภาคตะวันตกของญี่ปุ่นส่วนใหญ่ยังให้การสนับสนุนตระกูลโทะโยะโตะมิอยู่ จนกระทั่งในฤดูหนาวค.ศ. 1614 ฮิเดะโยะริได้ให้เงินสนับสนุนการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดโฮโก (方広寺) ในเมืองเกียวโต รวมทั้งได้สร้างระฆัง แต่ทว่าข้อความที่จารึกลงไปบนระฆังนั้นมีความหมายไปในทางสาปแช่งอิเอะยะซุ และนางโยะโดะร่วมกับโอโนะฮะรุนะงะ ได้ประกาศรวบรวมไพร่พลและไดเมียวต่างๆที่ยังจงรักภักดีต่อตระกูลโทะโยะโตะมิ มากอบกู้อำนาจคืนให้แก่โทะโยะโตะมิ ฮิเดะโยะริ ที่สำคัญที่สุดคือ ซะนะดะ ยุกิมุระ (真田幸村) ขุนพลผู้มีความสามารถ อิเอะยะซุจึงนำทัพมาทำการล้อมปราสาทโอซะกะ แต่ด้วยการนำของยุกิมุระทำให้กองทัพฝ่ายโทะกุงะวะไม่สามารถหักเอาปราสาทโอซะกะได้ จนนำไปสู่การเจรจาสงบศึกชั่วคราว
ในฤดูร้อนปีถัดมาค.ศ. 1615 ทั้งสองฝ่ายไม่พอใจสัญญาสงบศึกจึงเปิดฉากสงครามขึ้นอีกครั้ง คราวนี้ฝ่ายโทะกุงะวะได้ชัยชนะและเข้ายึดปราสาทโอซะกะได้ ขุนพลซะนะดะ ยุกิมุระ และโอโนะ ฮะรุนะงะ สิ้นชีวิตที่รบ นางโยะโดะกระทำการเซ็ปปุกุเสียชีวิตไปเช่นเดียวกับบุตรชายคือฮิเดะโยะริ เป็นสตรีเพียงไม่กี่คนในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นซึ่งเสียชีวิตด้วยวิธีนี้ ส่วนบุตรชายอายุแปดขวบของฮิเดะโยะริ คือ คุนิมะซึ (国松) ถูกจับเป็นเชลยและประหารชีวิตที่เมืองเกียวโต ในขณะที่บุตรสาวของฮิเดะโยะริคือ นะอะ-อิเมะ ได้รับการไว้ชีวิตบวชเป็นชีอยู่ที่เมืองคะมะกุระ
หลังจากเสียชีวิตไปแล้วนางโยะโดะ โดะโนะ ได้รับการบวชเป็นชี มีชื่อว่า ไดโก-อิน (大広院)
บรรณานุกรม
แก้- Hickman, Money L., John T. Carpenter and Bruce A. Coats. (2002). Japan's Golden Age: Momoyama. New Haven: Yale University Press. 10-ISBN 0-300-09407-8; 13-ISBN 978-0-300-09407-7; OCLC 34564921
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- Sengoku Expo: biography