โยชนา คือ คัมภีร์ที่อธิบายความหมายของศัพท์และความสัมพันธ์ในประโยคของภาษาช่วยให้การแปลคัมภีร์อรรถกถาและฎีกาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น แบ่งเป็น 3 ประเภท ตามสายแห่งพระไตรปิฎก คือ โยชนาพระวินัยปิฎก โยชนาพระสุตตันตปิฎก และโยชนาพระอภิธรรมปิฎก [1]

จุดประสงค์หลักของคัมภีร์โยชนา หรือ อัตถโยชนา (บ้างก็ว่า อรรถโยชนา) คือ เป็นคัมภีร์ประกอบหรือหนังสือคู่มือ (นิสสัย) ในการแปลคัมภีร์ต่างๆ บอกความสัมพันธ์ บอกความหมายของศัพท์ แสดงไวยากรณ์ และแยกแยะให้เข้าใจเชิงชั้นศัพท์อีกชั้นหนึ่ง [2]

คัมภีร์โยชนา มีต้นกำเนิดในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับคัมภีร์ฎีกา อนุฎีกา โดยมีประวัติและพัฒนาการตั้งแต่ในศตวรรษที่ 17 ในรัชสมัยพระเจ้าปรักกมพาหุมหาราช ซึ่งตั้งเมืองหลวงอยู่ที่ปุรัตถินคร หรือโปโฬนนรุวะ ได้ทรงอุปถัมภ์คณะสงฆ์ ซึ่งสืบสายมาจากฝ่ายมหาวิหาร ประชุมแต่งฎีกา มีพระมหากัสสปะแห่งอุทุมพรคิรีวิหารเป็นประมุข ในการนี้ พระสารีบุตร ได้เขียนสารัตถทีปนี ฎีกาพระวินัย พระอานันทาจารย์ได้เขียนมูลฎีกา แก้พระอภิธรรม และมีคณาจารย์ต่อมาอีกหลายรูป ได้แต่งฎีกาบ้าง อนุฎีกาบ้าง รวมถึงคัมภีร์โยชนา หลังจากนั้นพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทสำนักมหาวิหาร ได้แพร่หลายออกไปในต่าง ประเทศมี ไทย พม่า มอญ ลาว เป็นต้น และได้มีการรับคัมภีร์เหล่านี้อีกทอดหนึ่ง [3]

พระคันถรจนาจารย์ที่ได้รับการยกย่อง และมีผลงานการรจนาคัมภีร์โยชนาที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายคือ พระญาณกิตติเถระ แห่งล้านนา มีช่วงชีวิตอยู่ระหว่าง พ.ศ. 1940 - 2010 ผลงานที่สำคัญของท่าน อาทิ สมันตปาสาทิกาอรรถโยชนา โยชนาอรรถกถาสาลินี เป็นต้น [4]

โยชนาพระวินัยปิฎก แก้

  1. ปาจิตติยาทิอรรถกถาโยชนา พระชาคราภิวังสะ วัดทักขิณาราม เมืองมัณฑเลเป็นผู้แต่ง
  2. ขุททกสิกขาโยชนา พระเถระวนาวาสี ไม่ปรากฏนาม แต่งที่เมืองสกาย
  3. วินยวินิจฉยโยชนา พระเถระวนาวาสี ไม่ปรากฏนาม แต่งที่เมืองสกาย
  4. โยชนาวินยวินิจฉยสังคหะ พระมหาราชครู เป็นผู้แต่ง ที่เมืองพม่า
  5. สมันตปาสาทิกาอรรถโยชนา เป็นคัมภีร์โยชนาวินัย แบ่งเป็น 5 คัมภีร์ คือ แก้ตั้งแต่คัมภีร์อาทิกัมมะ ไปจนถึงคัมภีร์บริวาร พระญาณกิตติเถระ เป็นผู้แต่งที่เมืองเชียงใหม่ [5]

โยชนาพระสุตตันตปิฎก แก้

  1. นิธิกัณฑสุตตอัตถโยชนา พระจารินทาละ หรือ พญาจี สยาดอ เป็นผู้แต่ง
  2. ธัมมปทัฏฐกถาคาถาโยชนา พระสิริสุมังคลเถระ แต่งที่ประเทศพม่า
  3. ตุลัตถโยชนา พระอุกกังวังสมาลา เป็นผู้แต่ง
  4. ปัจจเวกขณโยชนา พระอุกกังวังสมาลาเป็นผู้แต่ง [6]

โยชนาพระอภิธรรมปิฎก แก้

  1. โยชนาอรรถกถาสาลินี พระญาณกิตติเถระ แต่งที่เชียงใหม่
  2. โยชนาธาตุกถา พระญาณกิตติเถระ แต่งที่เชียงใหม่
  3. โยชนาสัมโมหวิโนทนี พระญาณกิตติเถระ แต่งที่เชียงใหม่
  4. โยชนากถาวัตถุ พระญาณกิตติเถระ แต่งที่เชียงใหม่
  5. โยชนาปัฏฐาน พระญาณกิตติเถระ แต่งที่เชียงใหม่
  6. โยชนาฎีกาอภิธัมมัตถสังคหะ พระญาณกิตติเถระ แต่งที่เชียงใหม่
  7. ธาตุกถามูลฎีกาโยชนา พระสารทัสสี หรือปุพพารามสยาดอแต่ง
  8. สังคหโยชนา พระกวิธชะ เป็นผู้แต่ง
  9. ธาตุวัตถุโยชนา พระจารินททาสภะ เป็นผู้แต่ง
  10. โยชนาปาลีอภิธัมมัตถสังคหะ ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง [7]


อ้างอิง แก้

  1. คณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2550). หน้า 105
  2. จำเนียร แก้วภู่. (2538). หน้า 5
  3. คณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2550). หน้า 110
  4. จำเนียร แก้วภู่. (2538). หน้า 5
  5. คณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2550). หน้า 105
  6. คณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2550). หน้า 105
  7. คณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2550). หน้า 106

บรรณานุกรม แก้

  • คณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2550). วรรณคดีบาลี. กรุงเทพมหานคร. มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
  • จำเนียร แก้วภู่. (2538). คัมภีร์สัทศาสตร์บาลี-สํสกฤต : ประวัติและความเป็นมาเน้นคัมภีร์ไวยากรณ์. กรุงเทพมหานคร. โอเดียนสโตร์.