พลโท โมเช ดายัน (ฮีบรู: משה דיין, Moshe Dayan; 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2458 – 16 ตุลาคม พ.ศ. 2524) คือผู้บัญชาการเหล่าทัพ และนักการเมืองชาวอิสราเอล รู้จักกันดีในฐานะบุรุษตาเดียว

โมเช ดายัน
משה דיין
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
ดำรงตำแหน่ง
20 มกราคม พ.ศ. 2520 – 4 สิงหาคม พ.ศ. 2522
นายกรัฐมนตรีเมนาเฮม เบกิน
ก่อนหน้าYigal Allon
ถัดไปยิทแชค ชามียร์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ดำรงตำแหน่ง
5 มิถุนายน พ.ศ. 2510 – 3 มิถุนายน พ.ศ. 2517
นายกรัฐมนตรีเลวี เอชโคล
Yigal Allon (รักษาการ)
โกลดา เมอีร์
ก่อนหน้าเลวี เอชโคล
ถัดไปชิมอน เปเรส
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรกรรมและการพัฒนาชนบท
ดำรงตำแหน่ง
17 ธันวาคม พ.ศ. 2502 – 4 กันยายน พ.ศ. 2507
นายกรัฐมนตรีเดวิด เบนกูเรียน
เลวี เอชโคล
ก่อนหน้าKadish Luz
ถัดไปHaim Gvati
หัวหน้าเจ้าหน้าที่
ดำรงตำแหน่ง
พ.ศ. 2498 – พ.ศ. 2501
ประธานาธิบดียิทแชค เบน-ซวี
นายกรัฐมนตรีเดวิด เบนกูเรียน
ก่อนหน้าKadish Luz
ถัดไปHaim Gvati
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด20 พฤษภาคม พ.ศ. 2458
Kibbutz Degania Alef, Ottoman Empire
เสียชีวิต16 ตุลาคม พ.ศ. 2524 (66 ปี)
เทลอาวีฟ, อิสราเอล
พรรคการเมืองMapai (2502–2508)
Rafi (2508–2529)
Labour (2511–2524)

ประวัติ

แก้

โมเช ดายันเกิดในหมู่บ้าน Kibbutz Degania Alef ในประเทศปาเลสไตน์ใกล้ทะเลสาบกาลิลี ผู้ปกครองของเขาคือ Shmuel (บิดา) และ Devorah (มารดา) พวกเขาทั้งคู่เป็นผู้อพยพชาวยิวจากประเทศยูเครน ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต โมเช ดายัน เป็นเด็กคนแรกที่เกิดในชุมชนที่นี่ซึ่งสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2458 ชื่อโมเชเป็นชื่อที่บิดาของเขาตั้งชื่อตามเพื่อนสนิทของเขาที่มีชื่อว่าโมเชเหมือนกัน (Moshe Barsky) แต่เสียชีวิตเพราะถูกอาหรับยิงเสียชีวิตในระหว่างไปหาซื้อยามารักษาตัวเขาที่กำลังนอนป่วย[1]

เมื่ออายุ 14 ปี เขาได้เข้าร่วมกับองค์กร ฮากานาห์ (Haganah) ซึ่งเป็นองค์กรผิดกฎหมายที่ชาวยิวใช้ปกป้องตนเองให้พ้นจากการถูกคุกคามจากอาหรับ ฮากานาห์ฝึกให้ชาวยิวทั้งหลาย ทั้งหญิงและชายฝึกใช้อาวุธป้องกันตัวเอง และเตรียมพร้อมในการสู้รบที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต และในขณะเดียวกันอังกฤษตั้งกองปราบปรามอาหรับที่ทำร้ายร่างกาย และทำลายข้าวของของชาวยิว กองกำลังสำคัญแห่งหนึ่งซึ่งก็คือกองพันลาดตระเวนกลางคืนที่มีร้อยเอก ออร์ด วินเกต เป็นผู้บังคับกอง การที่พลโทโมเช ดายันมีความสามารถทางการทหารและเป็นที่ยอมรับเพราะได้ฝึกฝนจากกองพันลาดตระเวนแห่งนี้เมื่อปี พ.ศ. 2480[2]

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

แก้
 
โมเช ดายัน และเพื่อนทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

โมเช ดายัน ถูกทหารอังกฤษจับกุมในปี พ.ศ. 2482 ในข้อหามีอาวุธไว้ในครอบครอง ซึ่งในขณะนั้นประเทศอังกฤษออกสมุดปกขาวเพื่อจำกัดจำนวนชาวยิวที่จะอพยพมาสู่ดินแดนปาเลสไตน์ในอีก 5 ปีข้างหน้า และหลังจากนั้นก็จะระงับไม่ให้ชาวยิวอพยพมาที่นี่อีก และได้จำกัดจำนวนที่ดินที่ชาวยิวมีสิทธิซื้อไว้ครอบครองไว้อีกด้วย สมุดปกขาวของอังกฤษขัดกับกฎหมายเดิมและข้อตกลงของสันนิบาตชาติ ฮากานาห์ซึ่งเป็นองค์กรที่ผิดกฎหมายจึงปฏิบัติการใต้ดินต้านสมุดปกขาว เขาจึงได้เข้าร่วมด้วยและได้พกพาอาวุธปืน ดังนั้น จึงถูกทหารอังกฤษจับกุม

ในช่วงที่โมเช ดายันติดคุกเป็นเวลา 3 ปี เขาจึงถือโอกาสศึกษาภาษาอังกฤษอย่างจริงจัง ดังนั้นเมื่อพ้นโทษเขาจึงพูด อ่าน เขียนภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี และได้รับตำแหน่งต่าง ๆ จำนวนมากทั้ง อาทิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในเวลาต่อมา

สมัยนั้นซีเรียกับเลบานอนอยู่ภายใต้ระบบอาณัติของฝรั่งเศส องค์กรใต้ดินฮากานาห์มีข้อตกลงว่ากับกองทัพอังกฤษว่าจะส่งกำลังพลไปช่วยรบเพื่อปลดปล่อยเลบานอนกับซีเรียจากฝรั่งเศส อังกฤษจึงปล่อยตัวโมเช ดายัน เพื่อให้ไปช่วยรบในสงครามครั้งนี้[3] ในวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2484 ขณะที่ทำการรบอยู่นั้นเขากำลังส่องกล้องอยู่ประจำฐานปืนกลบนหลังคารถ กล้องถูกลูกลูกปืนสไนเปอร์จากศัตรูวิ่งเข้ามาปะทะถูกลูกตาข้างซ้ายแตก ภายหลังจากการฟื้นตัว เขาปฏิเสธที่จะใส่เลนส์แก้วตาเทียม และเลือกที่จะใช้แผ่นหนังปิดตาซ้าย ซึ่งต่อมาก็ได้กลายเป็นเอกลักษณ์ประจำตัวของเอกบุรุษผู้นี้[2]

ผู้บัญชาการทหาร

แก้

ดินแดนปาเลสไตน์ที่ชาวยิวและชาวอาหรับอาศัยอยู่ปนเปกันนี้ในสมัยก่อนเป็นดินแดนภายใต้อาณัติของอังกฤษ ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2491 อังกฤษประกาศจะถอนอาณัติออกจากดินแดนปาเลสไตน์ สหประชาชาติจึงจัดการจะแบ่งปาเลสไตน์ ออกเป็น 2 ประเทศ คือให้ครึ่งหนึ่งตั้งเป็นรัฐปาเลสไตน์ อีกครึ่งหนึ่งตั้งเป็นรัฐอิสราเอลชาวอาหรับส่วนใหญ่ได้ทราบข้อมูลล่วงหน้าจึงไม่พอใจและเตรียมทำสงครามกับชาวยิว

ประธานกรรมการบริหารองค์กรตัวแทนชาวยิวในสมัยนั้นชื่อ เดวิด เบนกูเรียน จึงประกาศตั้งประเทศอิสราเอลเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2491 และดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศอิสราเอล ดังนั้นจึงเกิดสงครามระหว่างชาวอาหรับและชาวยิวขึ้น โมเช ดายัน จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการที่แนวรบเยรูซาเลม เมื่อจบสงครามจึงได้รับการเลื่อนยศเป็นพลตรีและได้เข้าโรงเรียนเสนาธิการทหารบกที่อังกฤษเป็นเวลา 3 เดือน

โมเช ดายัน เขารู้นิสัยตัวเองว่าตนเองนั้นเป็นเผด็จการเล็กน้อย สั่งงานเด็ดขาด และเป็นรองหรือเป็นเบอร์สองของใครไม่ได้ เมื่อกลับจากอังกฤษ รัฐบาลจึงตั้งให้เขาเป็นรองเสนาธิการทหารซึ่งเป็นตำแหน่งใหญ่ทางกองทัพ แต่เขาไม่รับและประกาศว่า "ขอโทษ ข้าพเจ้าเป็นรองใครไม่ได้จริง ๆ" รัฐบาลจึงให้เขาไปเป็นผู้บัญชาการทหารภาคเหนือ และให้กลับมารับตำแหน่งเป็นเสนาธิการทหาร เมื่อเขาได้เป็นเสนาธิการทหารอีกครั้ง เขาจึงจัดการปรับปรุงกองทัพขนานใหญ่จนกองกำลังป้องกันอิสราเอลมีประสิทธิภาพสูงมาก และสามารถรบชนะได้ในทุกศึกสงคราม[2][4]

ชีวิตนักการเมือง

แก้

ชีวิตนักการเมืองของโมเช ดายัน เริ่มต้นเมื่ออายุ 41 ปี เขารู้ตัวว่าต้องการเรียนต่อ จึงลาออกจากทหารและเข้าเรียนที่คณะรัฐศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยฮีบรูในกรุงเยรูซาเลม เขาเลือกเรียนสาขาตะวันออกกลางศึกษา ขณะกำลังเรียนเขาได้ลงสมัคร ส.ส. ในพรรคที่มีเดวิด เบนกูเรียน เป็นหัวหน้าพรรค ผลปรากฏว่าพรรคชนะเลือกตั้ง เดวิด เบนกูเรียน ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนเขาได้รับเลือกเป็น ส.ส. และได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรกรรม หน้าที่ใหม่ของเขา คือ ต้องเปลี่ยนทะเลทรายให้เป็นป่าและสวนผักผลไม้ เขาทำได้ดีทั้งการหาแหล่งน้ำ จัดสรรที่ดิน และนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเกษตร ฯลฯ[2]

ชีวิตนักข่าว

แก้
 
โมเช ดายันในเวียดนามใต้ ในปี พ.ศ. 2510

การสมัคร ส.ส. ครั้งที่ 2 เขาได้รับเลือกอีกครั้ง แต่ไม่ถูกกับนายกรัฐมนตรี จึงไม่ได้ดำรงตำแหน่งใด ๆ ในรัฐบาล เขาจึงผันตัวไปเป็นประธานบริษัทประมงเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง และในปี พ.ศ. 2509 เขาไปเป็นผู้สื่อข่าวสงครามที่เวียดนาม ด้วยความที่เขาเป็นคนสนใจคอยติดตามข่าวการเมืองระหว่างประเทศ และข่าวการทหารอย่างละเอียดรอบคอบ ความชอบในเรื่องภาษา ทำให้เขาเป็นนักข่าวที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของประเทศในสมัยนั้น

สงครามหกวัน (พ.ศ. 2510)

แก้

พ.ศ. 2510 ประธานาธิบดีญะมาล อับดุนนาศิรแห่งอียิปต์ ปิดช่องแคบทีรานและอ่าวอะกาบา และประกาศว่าจะประจัญบานล้างผลาญอิสราเอลให้มลายหายไปจากโลก บรรดาชาติอาหรับที่อยู่รอบ ๆ อิสราเอลจึงประกาศเข้าร่วมประกาศสงครามกับชาวยิว ได้แก่ จอร์แดน อิรัก คูเวต และแอลจีเรีย

ขณะนั้น เลวี เอชโคล ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีอิสราเอล และโมเช ดายันมีอาชีพเป็นผู้สื่อข่าวสงคราม เมื่อเขาทราบข่าวก็คาดว่าอิสราเอลอาจจะไปไม่รอด เขาจึงขอเข้าพบเลวี เอชโคล และเสนอตัวเองออกรบกับบรรดาชาติอาหรับ อิสราเอลในขณะนั้นยังไม่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เลวี เอชโคล จึงแต่งตั้งให้เขาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมทันที

เมื่อออกรบโมเช ดายันจึงให้เครื่องบินขับไล่บินต่ำกว่าระดับการตรวจจับของเรดาร์ บินออกไปในทะเลและกลับมาทิ้งระเบิดตลบหลังกองกำลังของอียิปต์ อียิปต์จึงขอยอมแพ้ก่อนเป็นชาติแรก ภายในเวลา 6 วัน ทุกประเทศอาหรับรอบ ๆ เสียหายยับเยิน และยอมแพ้อย่างดุษฎี โดยอิสราเอลแทบจะไม่ได้เสียหายอะไรเลย เมื่อชนะสงครามอิสราเอลจึงยึดที่ราบสูงโกลันของซีเรีย ยึดคาบสมุทรไซนายของอียิปต์ ยึดฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน และยึดกรุงเยรูซาเลมเก่าเป็นของตน นี่คือสงครามหกวันที่เลื่องลือ[2]

สงครามยมคิปปูร์

แก้

สงครามยมคิปปูร์เกิดในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ขณะที่ชาวยิวในอิสราเอลกำลังฉลองพิธีสำคัญทางศาสนายิว คือ พิธียมคิปปูร์ อียิปต์ และซีเรียที่เพิ่งได้รับอาวุธอย่างดีจากสหภาพโซเวียตได้ร่วมกันโจมตีอิสราเอลในวันดังกล่าว ฝ่ายอิสราเอลเสียหายอย่างหนัก ทหารเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้อิสราเอลต้องถอยร่นเข้ามาจากชายแดน

เมื่อถึงวันที่ 11 ตุลาคม อิสราเอลก็รุกกลับเข้าไปในดินแดนของอียิปต์และซีเรียได้อีกครั้ง อเมริกาเห็นว่า โซเวียตส่งอาวุธให้อาหรับ จึงส่งอาวุธให้อิสราเอลในวันที่ 13 ตุลาคม สงครามในครั้งนี้จบลงโดยนายเฮนรี คิสซิงเจอร์ เข้ามาไกล่เกลี่ยและขอให้ทำสัญญาสงบศึกต่อกัน เป็นการสิ้นสุดสงครามยมคิปปูร์ ส่วนพลโทโมเช ดายันถูกโจมตีอย่างหนัก ทำให้เขาต้องประกาศลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในปีต่อมา[5]

บั้นปลายชีวิต

แก้

พ.ศ. 2520 โมเช ดายัน ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และได้เดินทางมาเยือนประเทศไทยในเวลาต่อมา[ต้องการอ้างอิง] ในบั้นปลายชีวิตเขามีชีวิตอย่างสงบกับภริยาและงานอดิเรกสะสมโบราณวัตถุ[5]

ถึงแก่อนิจกรรม

แก้
 
หลุมศพของโมเช ดายัน

พลโท โมเช ดายัน ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2523[5] มีอายุได้ 66 ปี 149 วัน

อ้างอิง

แก้
  1. Taslitt, Israel Isaac (1969). "Soldier of Israel: the story of General Moshe Dayan". Funk and Wagnalls. p. 8.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 โมเชดายัน : บทความ : วันเว้นวันจันทร์พุธศุกร์ : คมชัดลึกออนไลน์[ลิงก์เสีย]
  3. Major Allan A. Katzberg (US Marine Corps), 1988, Foundations Of Excellence: Moshe Dayan And Israel's Military Tradition (1880 To 1950) (globalsecurity.org). Access date: 25 September 2007.
  4. Lau-Levie, Moshe Dayan – A Biography, pg 38.
  5. 5.0 5.1 5.2 พลโท โมเช ดายัน ถึงอวสาน

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้