โทมัส ยอร์ช น็อกซ์
โทมัส ยอร์ช น็อกซ์ (อังกฤษ: Thomas George Knox; พ.ศ. 2367 – 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2430) เป็นทหารและนักการทูตชาวไอริช ดำรงตำแหน่งกงสุลใหญ่ในประเทศสยามระหว่างปี 2411 ถึงปี 2422[1] เป็นบุตรของนายเจมส์ สเปนเซอร์ น็อกซ์ กับนางคลารา บาร์บารา แบรส์เฟิร์ด[2]
โทมัส ยอร์ช น็อกซ์ Thomas George Knox | |
---|---|
โทมัส ยอร์ช น็อกซ์ | |
เกิด | พ.ศ. 2367 เทศมณฑลลันดันเดร์รี, อังกฤษ สหราชอาณาจักร |
เสียชีวิต | 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2430 (63 ปี) เทือกเขาพิรินี, ประเทศฝรั่งเศส |
อาชีพ | นักการทูต |
คู่สมรส | ปราง เย็น น็อกซ์ |
บุตร | 3 คน |
บิดามารดา | เจมส์ สเปนเซอร์ น็อกซ์ คลารา บาร์บารา แบรส์เฟิร์ด |
ประวัติ
แก้โทมัส ยอร์ช น็อกซ์ เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2367 ณ เทศมณฑลลันดันเดร์รี เเคว้นอังกฤษ ประเทศสหราชอาณาจักร เดิมเป็นทหารอังกฤษยศร้อยเอกประจำที่บริติชราช กล่าวกันว่าพอเล่นพนันแข่งม้าจนหมดตัว จึงลาออกจากตำแหน่งตามร้อยเอกอิมเปย์ มาทำงานที่สยามในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยร้อยเอกอิปเปได้เป็นครูทหารวังหลวง ส่วนนายน็อกซ์ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้เป็นครูวังหน้า เป็นผู้ฝึกทหารอย่างยุโรป และยังได้เข้ากองทัพกรมหลวงวงศาธิราชสนิทไปตีเมืองเชียงตุง[3][4]
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวประทานผู้หญิงวังหน้าชื่อปราง ให้เป็นภรรยา มีลูกด้วยกันสามคน ต่อมาเมื่อรัฐบาลสหราชอาณาจักรตั้งกงสุลในกรุงเทพฯ และด้วยความรู้การเมืองและภาษาไทย จึงทำงานเป็นผู้ช่วยกงสุล แล้วได้เลื่อนตำแหน่งจนได้เป็นกงสุลเยเนอราล มีบรรดาศักดิ์เป็นเซอร์[5] อีกทั้งยังสนิทและคุ้นเคยกับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์และได้เป็นกงสุลใหญ่สหราชอาณาจักรกับอภิรัฐมนตรีในสมัยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน[6] โทมัส ยอร์ช น็อกซ์ ถึงแก่กรรมอย่างสงบ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2430 ณ เทือกเขาพิรินี ประเทศฝรั่งเศส สิริอายุรวม 63 ปี[7][8][9]
ชีวิตครอบครัว
แก้โทมัส ยอร์ช น็อกซ์สมรสกับปราง หญิงเชื้อสายทวายที่ได้รับพระราชทานจากวังหน้า[10] มีบุตรด้วยกัน 3 คน ได้แก่
- แฟนนี น็อกซ์ หรือ แฟนนี ปรีชากลการ (ค.ศ. 1856–1925)[11] สมรสกับพระปรีชากลการ (สำอาง อมาตยกุล) มีบุตรชายเพียงคนเดียว
- แคโรไลน์ อีซาเบล น็อกซ์ หรือ ดวงแข[12] (26 มิถุนายน ค.ศ. 1857 – 17 มิถุนายน ค.ศ. 1893)[13] บางแห่งว่าบิดาเคยถวายตัวให้เป็นหม่อมในกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ[14] ซึ่งคุณปรางเคยวาดฝันไว้ว่า "...ถ้าวังหน้าเป็นเจ้าแล้ว ลูกสาวจะเป็นสมเด็จพระนาง ผัวจะเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ถ้ามีหลานจะให้เป็นพระเจ้าแผ่นดินต่อไปด้วย..."[15] ภายหลังได้สมรสกับหลุยส์ ที. ลีโอโนเวนส์ บุตรชายของแอนนา ลีโอโนเวนส์ มีบุตรด้วยกันสองคน
- โทมัส น็อกซ์ (11 กันยายน ค.ศ. 1859 – ค.ศ. 1923)[2]
ต่อมาแฟนนี่ น็อกซ์แต่งงานกับพระปรีชากลการ (สำอาง อมาตยกุล) ซึ่งเกิดเหตุการณ์ระหองระแหงระหว่างพระปรีชากลกับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ จากการที่มาจากความประพฤติไม่ชอบของพระปรีชากลการ ทำให้นายน็อกซ์พยายามใช้อิทธิพลของตนในฐานะผู้แทนรัฐบาลอังกฤษสั่งเรือรบเข้ามาข่มขู่รัฐบาลสยามเพื่อช่วยลูกเขย แต่ผลคือพระปรีชากลการถูกลงโทษประหารชีวิต พร้อมถูกริบราชบาตร นายน็อกซ์ถูกทางการอังกฤษเรียกตัวกลับไป นางแฟนนีลูกสาวต้องหนีออกนอกประเทศและไม่มีข่าวหลังจากนั้นอีกเลย[16]
อนึ่ง ในช่วงแรกที่นายนอกซ์เป็นกงสุลนั้น มีชาวอังกฤษชื่อเฮนรี อาลาบาศเตอร์ ดำรงตำแหน่งเป็นรองกงสุล ซึ่งต่อมาคือต้นตระกูลของพลอากาศเอกสิทธิ เศวตศิลา อดีตองคมนตรีในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
อ้างอิง
แก้- ↑ Thomas George Knox[ลิงก์เสีย]
- ↑ 2.0 2.1 Thomas Knox
- ↑ Bradford Smith, "It Was Love, Love, Love", The New York Times, 16 September 1962
- ↑ R. J. Minney, Fanny and the Regent of Siam (The World Publishing Company, 1962
- ↑ "พระจอมเกล้า ๒๐๐ ปี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-06-18. สืบค้นเมื่อ 2008-11-09.
- ↑ ตอนที่ ๕ เสด็จไปต่างประเทศครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๑๓ - ๒๔๑๗
- ↑ "A Dark Tragedy in Siam: The Execution of Pra Preecah—A Native Nobleman Beheaded for Marrying A British Officer's Daughter—How a Cruel King Can Retain A Grudge For Years—Medieval Horrors in the Nineteenth Century", The New York Times, 12 April 1880
- ↑ W. S. Bristowe, Louis and the King of Siam (Chatto and Windus, 1976)
- ↑ Alec Waugh, Bangkok: Story of a City (W. H. Allen, 1970), pages 84-85
- ↑ พิมาน แจ่มจรัส. รักในราชสำนัก. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2554, หน้า 293
- ↑ Preecha Kolakan, Fanny (Knox)
- ↑ จิระนันท์ พิตรปรีชา. ลูกผู้ชายชื่อนายหลุยส์. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : สยามบันทึก, 2552, หน้า 120
- ↑ Findagrave
- ↑ ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. วาทะเจ้านาย เล่าประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2558, หน้า 21
- ↑ ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. วาทะเจ้านาย เล่าประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2558, หน้า 22
- ↑ ไกรฤกษ์ นานา, "ฟื้นปริศนาคดีประวัติศาสตร์ นางแฟนนี่ น็อกซ์ แก้ต่างความผิดให้พระปรีชากลการ". นิตยสารศิลปวัฒนธรรม เล่มที่ 7 พฤษภาคม 2551 หน้า 106-121