โซนิค เดอะ เฮดจ์ฮ็อก

โซนิค เดอะ เฮดจ์ฮ็อก (อังกฤษ: Sonic the Hedgehog; ญี่ปุ่น: ソニック・ザ・ヘッジホッグโรมาจิSonikku za Hejjihogguทับศัพท์: โซนิคคึ ซา เฮจิฮ็อกกึ) เป็นตัวละครเอกจากวิดีโอเกมของบริษัทเซก้า กำเนิดขึ้นเมื่อ 23 มิถุนายน ค.ศ. 1991 (และเป็นวันเกิดของเขาด้วย) เพื่อใช้เป็นตัวนำโชคแข่งกับบริษัทเกมคู่แข่งอย่างนินเทนโด ซึ่งมีมาริโอเป็นตัวนำโชค หลังจากนั้นโซนิคก็กลายเป็นตัวละครเกมที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง ทั้งจากเกมชุดที่ออกอย่างต่อเนื่องรวมทั้งหนังสือการ์ตูนและแอนิเมชัน

โซนิค เดอะ เฮดจ์ฮ็อก
ตัวละครใน โซนิคเดอะเฮดจ์ฮ็อก
โซนิคเป็นตัวนำโชคของเซก้านานถึง 30 ปี
ปรากฏครั้งแรกโซนิค เดอะ เฮดจ์ฮ็อก (1991)
สร้างโดยนาโอโตะ โอชิม่า
ยูจิ นากะ
เสียงอังกฤษจาลีล ไวท์ (1993-1999)
มาร์ติน เบิร์ก (1999)
ไรแอน ดรัมมอนด์ (1999-2004)
เจสัน กริฟฟิน (2005–2010)[1]
Roger Craig Smith (2010–ปัจจุปัน)[2]
เสียงญี่ปุ่นทาเคชิ คุซาโอะ (1993)
มาซามิ คิคุชิ (1996)
จุนอิจิ คาเนมารุ (1998-ปัจจุบัน)
ข้อมูลตัวละครในเกม
เผ่าพันธุ์เม่น
เพศชาย
ส่วนสูง100 ซม.[3]
น้ำหนัก35 กก.[3]
อายุ16 ปี[3]
ชอบวิ่ง, ความเร็ว, การผจญภัย
ไม่ชอบน้ำ,ความช้า,คำพูดช้า
ทักษะความเร็วเสียง, พายุสีฟ้า ,คาออสคอนโทรล

ศิลปิน นาโอโตะ โอชิม่า, นักออกแบบ ฮิโรคาซุ ยาสึฮาระ และโปรแกรมเมอร์ ยูจิ นากะ สร้างเขาขึ้นมาจากแนวคิด, ตัวละครเม่นสีฟ้าที่วิ่งได้เร็วระดับความเร็วเสียง

ประวัติศาสตร์ แก้

ในเดือนเมมษายน 1990 บริษัทเซก้าได้เสนอให้มีการสร้างตัวนำโชคใหม่ แทนที่เอล็กซ์ คิดด์ซึ่งเป็นตัวนำโชคเดิม ทาง AM8 ก็ได้รับแนวคิดของตัวละครนี้มามากมายทั้งอาร์มาดิลโล่ (ซึ่งภายหลังถูกพัฒนาเป็นไมท์ตี้ ดิอาร์มาดิลโล่), สุนัข, ธิโอดอร์ รูสเวลท์กับชุดนอน (ถูกพัฒนาภายหลังมาเป็นดร.เอ็กแมน), กระต่าย แต่ผลงานที่ได้รับเลือกคือผลงานของ นาโอโตะ โอชิม่าที่เลือกใช้เม่น จากนั้นทีมงานจำนวน 15 คนก็พัฒนาเกมโซนิคเดอะเฮดจ์ฮ็อกและเปลี่ยนชื่อทีมเป็น โซนิคทีม โดยมีมาซาโตะ นากามูระ และวง Dreams Come True ทำหน้าที่แต่งเพลงให้

ลักษณะทางกายภาพของโซนิคจะเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ดังเช่นในยุคแรกๆโซนิคจะตัวเตี้ยกลม หน้าตาดูเป็นเด็กๆ แต่เมื่อยูจิ อูเอคาวะ นำมาดีไซน์ใหม่สำหรับเกมโซนิคแอดเวนเจอร์ โซนิคก็ได้รูปลักษณ์ใหม่ที่ตัวสูงขึ้น ผอมลง ขนเม่นที่หลังก็ยาวขึ้นและมีตาสีเขียว

สีน้ำเงินโคบัลต์ได้ถูกกำหนดให้เป็นสีของโซนิคเพื่อให้สอดคลองกับโลโก้ของเซก้าและโซนิคทีม นอกจากนั้นแล้วตัวตนของเขายังได้ลงในหนังสือการ์ตูน ซึ่งอธิบายถึงเหตุผลที่เขาได้รับความเร็วแสงมา ซึ่งเกิดจากแผ่นดินไหวทำให้ตัวของเขาเป็นสีน้ำเงิน

การปรากฏตัว แก้

เกม แก้

โซนิคปรากฏตัวครั้งแรกในปี 1991 ในเกมชื่อเดียวกับเขา โซนิคเดอะเฮดจ์ฮ็อก หรือที่เรียกสั้นๆว่าเกมโซนิค 1 บนเครื่อง เซก้า เมก้าไดรฟ์ โดยนอจากตัวโซนิคเองแล้ว เกมยังได้นำเสนอศัตรูคู่ปรับตลอดกาลอย่างดร.เอ้กแมน จากนั้นเขาก็ปรากฏตัวอีกครั้งพร้อมกับคู่หูไมลส์ "เทลส์" พราวเวอร์ ในเกม โซนิคแอนด์เทลส์หรือโซนิค 2 ซึ่งในภาคนี้ได้เสนอความสามารถของโซนิคที่จะเปลี่ยนร่างเป็น "ซูเปอร์โซนิค" และความสามารถ "ก้มลงหมุนตัว" กับหุ่นเลียนแบบโซนิค เมตัลโซนิค จากนั้นในปี 1993 กับเกม โซนิค CDบนเครื่องเซก้า แซทเทิร์น ซึ่งแนะนำแฟนสาวของเขา เอมี่ โรส จากนั้นในปี 1994 ก็ออกภาค โซนิคเดอะเฮดจ์ฮ็อก 3 และ โซนิคแอนด์นัคเคิลส์ ซึ่งได้แนะนำตัวละครใหม่ นัคเคิลส์ ดิอีคิดนา ซึ่งร่วมมือกับดร.เอ็กแมนในตอนแรก แต่ก็มาช่วยพวกโซนิคในภายหลัง

ต่อมาในช่วงปี 1998 โซนิคแอดเวนเจอร์เป็นเกมโซนิคเกมแรกที่ถูกสร้างแบบ3มิติบนดรีมแคสท์ ซึ่งได้แนะนำตัวละครสำคัญเพิ่มอีกคือคาออส ซึ่งดร.เอ็กแมนได้เรียกขึ้นมา นอกจากนั้นยังได้ปรากฏความสามารถ "จู่โจมติดตาม" ซึ่งทำให้การกระโดดใส่ศัตรูทำได้ง่ายยิ่งขึ้น (เพราะฉากเป็น3มิติ การกระโดดใส่ศัตรูจึงเป็นเรื่องยากมากๆ) นอกจากนั้นเกมยังนำเสนอรูปแบบการเล่นแบบเกมผจญภัย ที่ผู้เล่นสามารถเดินทางไปรอบๆเมืองและคุยกับผู้คนได้ รวมทั้งยังเป็นเกมแรกที่มีการใส่เสียงพากย์ให้ตัวละครสำคัญครบด้วยและยังให้ผู้เล่นสามารถเลือกตัวเอกตัวอื่นได้ถึง 5 คน

จากนั้นในโซนิคแอดเวนเจอร์ 2 (บนดรีมแคสท์) ในปี 2001และฉลองครบรอบ10ปีโซนิค ซึ่งได้มีการนำเสนอศัตรูที่หน้าตาคล้ายๆโซนิคอย่าง ชาโดว์ เดอะเฮดจ์ฮ็อก ซึ่งให้ผู้เล่นได้เลือกเล่นสองฝ่ายคือฝ่ายตัวเอกกับฝ่ายผู้ร้าย จากนั้นในปี 2004 ก็ออกโซนิคฮีโร่ส์ และเกมฉลองครบรอบ 15 ปีกับ โซนิคเดอะเฮ็ดจ์ฮ็อก (2006) และเกมของนินเทนโด วี โซนิคแอนด์เดอะซีเครทริงส์

นอกจากนั้นแล้วโซนิคยังมีเกมในรูปแบบอื่นๆ ทั้งพินบอล (โซนิคสปินบอล) เกม 2.5มิติอย่าง โซนิคไลบีรินท์และโซนิค 3Dบลาสท์ เกมแข่งรถอย่าง โซนิคดริฟท์, โซนิค R, โซนิคไรเดอร์ส และ โซนิคริวัลส์ เกมต่อสู้อย่าง โซนิคเดอะไฟทเตอรส์และโซนิคแบทเทิ่ล และเกมที่ให้ตัวละครอื่นๆเป็นตัวเอกอย่าง ดร.โรบ็อทนิก มีนบีนแมชชีน, เทลส์แอดเวนเจอร์, นัคเคิลส์เคออติกซ์และชาโดว์เดอะเฮดจ์ฮ็อก

รายการโทรทัศน์ แก้

มีรายการโทรทัศน์หลายเรื่องที่นำเสนอโซนิค โดยเรื่องแรกคือ แอดเวนเจอร์ออฟโซนิคเดอะเฮดจ์ฮ็อก ซึ่งเป็นการ์ตูนทีวีแอนิเมชันของประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีจาลีล ไวท์ให้เสียงพากย์โซนิค ต่อมาก็มีการผลิต โซนิคเดอะเฮดจ์ฮ็อก ออกอากาศทาง ABC โดยนำเสนอเรื่องราวในปี 3235 ที่ดร.เอ็กแมนครองโลก โดยมีพวกโซนิคทำหน้าที่ปกป้องโลก ได้มีการเสริมตัวละคนอื่นๆนอกเหนือจากเวอร์ชันเกมและยังมีการเพิ่มอุปนิสัยของโซนิคคือชอบกิน ชิลลี่ด็อก (ฮอทด็อกใส่พริก) ทั้งสองเรื่องเคยฉายผ่านทางไอบีซี (ปัจุจุบันทรูวิชั่นส์)

หลังจากนั้นก็มีการผลิตโซนิคอันเดอร์กราวนด์ในปี 1998 โดยเปลี่ยนเรื่องราวว่าเกิดขึ้นบนดาวโมเบียส โดยเรื่องราวในเรื่องนี้มีการเพิ่มพี่น้องของโซนิคมาอีก 2 คน คือ โซเนีย เดอะเฮดจ์ฮ็อกและมานิค เดอะเฮดจ์ฮ็อก โดยจะเน้นเรื่องราวที่พวกโซนิคใช้ดนตรีในการต่อสู้และยังชอบกินชิลลี่ด็อก เรื่องนี้ก็เคยฉายผ่านทางไอบีซีเช่นกัน

ประเทศญี่ปุ่นสร้างแอนิเมชันโซนิคครั้งแรกในชื่อโซนิคเดอะเฮดจ์ฮ็อก โดยออกเป็นโอวีเอ โดยนำเสนอโซนิค, เทลส์, นัคเคิลส์, ดร.เอ็กแมนและเมตัลโซนิค (โดยมาจากเกมโซนิค CD โซนิคให้เสียงพากย์โดยมาซามิ คิคุจิ เมื่อไปขายในสหรัฐอเมริกาได้ใช้ชื่อว่า โซนิคเดอะเฮดจ์ฮ็อกเดอะมูฟวี่

ล่าสุดคืออนิเมะเรื่อง โซนิคเอกซ์ โดยในเรื่องนี้ทีมงานโซนิคทีมได้มีโอกาสมาควบคุมการผลิตโดยตรง ทำให้เนื้อหาตรงกับโซนิคภาคเกมอย่างมาก เพราะมีการนำตัวละครในเกมและเนื้อเรื่องในเกมที่ครอบคลุม โซนิคแอดเวนเจอร์ 1และ2, โซนิคฮีโร่ส์และโซนิคแบทเทิ่ล โดยออกฉายทั้งหมด 3 ฤดูกาล โดยมี จุนอิจิ คาเนมารุ มาให้เสียงพากย์โซนิค ส่วนเจสัน กริฟฟิน ให้เสียงพากย์โซนิคในภาษาอังกฤษ เรื่องนี้ก็เคยผ่านทางยูบีซีเช่นกัน ในส่วนของทางฟรีทีวีนั้นเคยออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7

สื่อสิงพิมพ์ แก้

โซนิคเองนั้นก็มีหนังสือการ์ตูนเป็นของตัวเองมากมาย ในฝั่งตะวันตกจะมี Archie Comics และโซนิคเอกซ์ (พิมพ์จากอนิเมะชื่อเดียวกัน) ขณะเดียวกันที่ฝั่งญี่ปุ่นก็เคยมีมังงะของโซนิคเช่นกัน

รูปลักษณ์อื่นๆและความนิยม แก้

ในช่วงที่โซนิคถือกำเนิดขึ้นมานั้น เขาได้รับความนิยมอย่างสูงจนสามารถแซงหน้ามาริโอ จากผลสำรวจของนิตยสารเกมต่างๆในช่วงปีค.ศ. 1993

โซนิคมักจะปรากฏในกีฬาต่างๆ ในช่วงปี 1993 - 1997 เซก้าเคยสนับสนุนทีมกีฬาฟุตบอลของญี่ปุ่นชื่อ JEF United Ichihara Chiba โดยโซนิคจะไปปรากฏอยู่ในชุดแข่ง จากนั้นในการแข่งขันรถ F1 ในปี 1993 เซก้าก็สนับสนุนทีม Williams โดยนักแข่ง Alain Prost ก็มีชุดแข่งและหมวกที่มีรูปโซนิคติดอยู่และใช้สีฟ้าตามสีของโซนิค นอกจากนั้น McLaren ก็เคยพ่นสีเป็นรูปเม่นหลังจากชนะ[4] Williams ส่วน F1 ของฝั่งยุโรปก็มีโซนิคปรากฏตามบอลลูนและป้ายประกาศ รวมทั้งมีถ้วยรางวัลเป็นรูปเม่น[5]

ในปี 1996 โซนิคก็ได้ปรากฏตัวใน Rose Parade ในช่วงวันขอบคุณพระเจ้า ซึ่งตัวละครเกมที่เคยได้ร่วมพาเรดมาคือพิกาชู[6]

นอกจากนั้นเขายังปรากฏตัวในรายการโทรทัศน์ทั้งเดอะซิมป์ซันส์, ไฮไฮพัพฟี่ อามิยูมิ, เมก้า XLR, l5/Love, Space Ghost Coast to Coast ในภาพยนตร์ Jingle All The Way, Hitch และ Wayne's World รวมทั้งถูกกล่าวถึงใน MADtv และ Roseanne

ยูจิ นากะ เคยกล่าวไว้ว่าเคยขอให้นินเทนโดนำโซนิคเข้าไปในเกม ซูเปอร์สแมชบราเธอร์เมเล แต่ไม่สำเร็จเพราะจะเวลาไม่ทันสำหรับวางตลาด แต่ล่าสุดมีการยืนยันจากงานแถงการณ์ของบริษัทนินเทนโดว่า โซนิคจะปรากฏตัวมาเป็นตัวละครเลือกเล่นได้ตัวหนึ่งในเกมซูเปอร์สแมชบราเธอร์บรอวล์บนวีและสามารถเปลี่ยนร่างเป็นซูเปอร์โซนิคได้และนับเป็นตัวละครตัวที่สองจากค่ายอื่นที่มาร่วมในเกมนี้ (ซึ่งคนแรกคือโซลิด สเนค จากเกม เมทัลเกียร์)

ลักษณะตัวละคร แก้

อุปนิสัย แก้

โดยทั่วไปแล้วโซนิคเป็นคนที่แจ่มใส มองโลกในแง่ดีและใจร้อน เขามักชอบทำเรื่องต่างๆด้วยความรวดเร็ว เขาเป็นคนจิตใจดีที่มักช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่คิดอะไร โซนิคเป็นคนไม่ชอบความพ่ายแพ้และชอบความท้าทาย หลายๆครั้งที่เขายอมเข้าร่วมแข่งขันต่างๆนาๆเพราะถูกท้าทาย นอกจากนั้นแล้วโซนิคพูดปฏิเสธคนไม่เป็น ซึ่งเมื่อเกิดสถานการณ์ที่เขาไม่อยากจะตอบรับ เขามักชอบจะวิ่งหนีแทนการพูดปฏิเสธ (เช่นเมื่อเจอหน้าเอมมี่) นอกจากนั้นโซนิคนั้นเป็นคนที่เสียสละเพื่อส่วนรวมของตัวเองก่อนเสมอ

บ้านเกิด แก้

บ้านเกิดของโซนิคนั้นไม่ปรากฏเด่นชัด ในเกมโซนิคเดอะเฮดจ์ฮ็อก เกมไม่ได้ระบุว่าบ้านเกิดเขาอยู่ใดดาวดวงใด แต่ระบุไว้แค่ว่าเกิดบนเกาะที่ชื่อว่า "คริสต์มาสไอส์แลนด์" [7] แต่ทว่าในคู่มือเกมโซนิคเดอะเฮดจ์ฮ็อกในประเทศแถบสหรัฐอเมริกา ได้มีผู้เล่นบางส่วนเข้าใจว่าเรื่องราวเกิดขึ้นบนดาวที่เรียกว่า "โมเบียส" แต่ทว่าบิดาของโซนิค ยูจิ นากะ ได้ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Sega Visions ว่าคำว่า "โมเบียส" นั้นแท้จริงแล้วเป็นชื่อของแถบโมเบียสซึ่งถูกใช้ในเกมโซนิคเดอะเฮดจ์ฮ็อก 2[8] จนกระทั่งในเกมโซนิคแอดเวนเจอร์ เกมได้บอกเล่าว่าเนื้อเรื่องนั้นเกิดขึ้นบนดาวโลก โดยเฉพาะในเกมโซนิคแอดเวนเจอร์ 2 และ ชาโดว์เดอะเฮดจ์ฮ็อก ได้มีฉากแสดงดาวโลกในอวกาศด้วย

อย่างไรก็ดีในประเทศแถบตะวันตก ทั้งในสื่อแอนิเมชันและหนังสือการ์ตูน ได้ใช้ "โมเบียส" เป็นดาวบ้านเกิดของโซนิคและเป็นดาวที่ดำเนินเรื่อง จากนั้นในหนังสือการ์ตูนได้มีการเปิดเผยว่าแท้จริงแล้วดาวโมเบียสเคยเป็นดาวโลกมาก่อน โดยถูกมนุษย์ต่างดาวปล่อยระเบิดชีวภาพทำลายล้างมนุษย์จนหมดสิ้นและทำให้พวกสัตว์วิวัฒนาการโดยเดินสองขาและพูดภาษามนุษย์ นอกจากนั้นเหตุการณ์ในหนังสือการ์ตูนนั้นเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 3235 แต่นอกเหนือจากหนังสือการ์ตูนแล้ว สื่ออื่นๆของโซนิคในประเทศตะวันตกไม่ได้มีการกล่าวถึงอดีตของดาว

ในโซนิคเอกซ์ นั้นดาวบ้านเกิดของโซนิคเป็นดาวไร้นามที่บังเอิญมาชนกันเข้ากับโลกจากการเกิดคาออสคอนโทรล บนดาวโลกนั้นได้มีสถานที่ต่างๆที่ปรากฏในเกมอย่าง สเตชันแสควร์, พริซันไอส์แลนด์ แสดงให้เห็นว่าในเกมนั้นเหตุการณ์เกิดขึ้นบนดาวโลก นอกจากนั้นแล้วมีความเป็นไปได้ว่าดาวของพวกโซนิคนั้นแท้จริงแล้วเป็นโลกอีกด้านหนึ่ง ซึ่งจะสนับสนุนเนื้อหาของเรื่องที่ศจ.เจอรัลด์ โรบ็อทนิกมาทำงานวิจัยบนโลก

ความสามารถ แก้

โดยพื้นฐานแล้วโซนิคเป็น "เม่นเร็วที่สุดในโลก" ความสามารถพื้นฐานของเขาคือการวิ่งและอัตราเร่งที่สูงกว่ารถแข่งซะอีก นอกจากนั้นแล้วโซนิคยังสามารถวิ่งถอยหลังได้เร็วพอๆกับการวิ่งปกติด้วย (ปรากฏเฉพาะในรูปแบบการ์ตูน เพราะทำในเกมไม่ได้ แต่ในเกม Sonic Heroes ในฉากเริ่มต้น ได้แสดงการวิ่งถอยหลัง ในระหว่างอ่านจดหมายที่ด็อกเตอร์ เอ็กแมนส่งมา)

ในเกมโซนิคเดอะเฮดจ์ฮ็อกภาคแรกสุด เมื่อผู้เล่นกดป่มกระโดด โซนิคจะม้วนตัวซึ่งใช้ในการต่อสู้หรือเมื่อกดก้มลงขณะวิ่งโซนิคจะม้วนตัวเช่นกัน โดยขณะม้วนตัวโซนิคจะสามารถสร้างความเสียหายให้ฝ่ายตรงข้ามได้และใช้โซนิคแอนด์เทลส์ โซนิคได้เพิ่มความสามารถ "สปินแดช" หรือก็คือการกดลงแล้วกดกระโดด เมื่อทำแล้วโซนิคจะหมุนตัวชาร์จเพื่อเร่งความเร็วจนกว่าผู้เล่นจะปล่อยปุ่มลง โดยระยะทางที่โซนิควิ่งจะขึ้นอยู่กับจำนวครั้งที่ผู้เล่นกดปุ่มกระโดด

ในโซนิคเดอะเฮดจ์ฮ็อก 3 และ โซนิคแอนด์นัคเคิลส์ โซนิคได้เพิ่มระบบบาร์เรียโจมตี โดยเมื่อกดกระโดดเป็นครั้งที่สองหลังจากกระโดด โซนิคจะสร้างสนามพลังรอบๆตัวประมาณ 0.5 วินาที ซึ่งบาร์เรียนั้นใช้ในการโจมตีฝ่ายตรงข้ามและจำเป็นต้องใช้ในบอสของฉากลอนช์เบส นอกจากจากนั้นก็ได้มีก็ได้มีการเพิ่มเกราะไฟ, น้ำและไฟฟ้า ซึ่งโซนิคเป็นตัวละครเดียวที่สามารถควบคุมได้โดยการกระโดดสองครั้ง (เป็นเพราะเทลส์กับนัคเคิลส์จะเป็นการบินกับการเกาะ)

ในโซนิคแอนเวนเจอร์ 1 ด้วยตัวเกมที่เป็นสามมิติทำให้การกระโดดสไตล์เก่าใส่ศัตรูเป็นไปได้ยากยิ่ง โซนิคจึงต้องเพิ่มความสามารถ "จู่โจมติดตาม" หรือ "โฮมมิ่งแอ็กแท็ค" ซึ่งเมื่อใช้โซนิคจะวิ่งไปโจมตีที่ศัตรูโดยตรง อย่างไรก็ดีความสามารถนี้ก็มีข้อเสียเพราะอาจทำให้ตกเหวได้ง่ายเหมือนกัน นอกจากนั้นแล้วโซนิคยังเพิ่มความสามารถ "ไลท์แดช" โดยเมื่อใช้โซนิคจะวิ่งไปตามทางแหวนซึ่งต้องใช้ในการผ่านด่านส่วนใหญ่

โซนิคนั้นสามารถวิ่งบนน้ำถ้าวิ่งด้วยความเร็วสูง แต่ไม่สามารถว่ายน้ำได้ทำให้โซนิคไม่ชอบน้ำและกลัวน้ำ (อาจเป็นเพราะเวลาอยู่ใต้น้ำโซนิควิ่งได้ช้าลงมาก) ซึ่งในโซนิคเอกซ์ เพราะการกลัวน้ำทำให้เขาได้พบกับคริสด้วย

นอกจากนั้นแล้วเมื่อโซนิคใช้คาออสเอเมอรัลด์ได้ครบ 7 เม็ด โซนิคสามารถกลายร่างเป็น "ซูเปอร์โซนิค" โซนิคจะกลายเป็นร่างสีทองและเป็นอมตะ โดยในเกมภาค 2 มิติในยุคแรกๆ ผู้เล่นต้องมีแหวนครบ 50 วงจึงสามารถเปลี่ยนร่างเป็นซูเปอร์โซนิคได้ และเมื่อแหวนหมดก็จะกลับร่างปกติ

ส่วนในโซนิคแอดเวนเจอร์ 2 โซนิคได้เปิดเผยความสามารถ คาออสคอนโทรล ที่ทำให้เขาสามารถควบคุมเวลาได้เช่นเดียวกับ ชาโดว์

ในโซนิค คัลเลอร์ส โซนิคสามารถใช้พลังสีสันรวมเข้ากับวิสป์ได้ และใช้มันตอบโตกับศัตรูด้วยรูปแบบต่าง ๆ

ในโซนิค ฟรอนเทียร์ส โซนิคได้รับพลังใหม่ที่เรียกว่า "ไซลูป"

ความสัมพันธ์กับตัวละครอื่นๆ แก้

โดยทั่วไปแล้วโซนิคเป็นคนมนุษยสัมพันธ์ดี เขาจึงเป็นเพื่อนกับตัวละครฝ่ายดีทุกคนในเรื่องและพร้อมช่วยเหลือพวกเขาเมื่อเกิดเหตุร้าย

เพื่อนสนิทที่สุดของโซนิคคือไมลส์ "เทลส์" พราวเวอร์ ซึ่งได้ติดตามโซนิคจนโซนิคยอมรับให้ตามมาด้วยและกลายเป็นคู่หูกัน เทลส์นั้นมองโซนิคเหมือนอาจารย์และคนที่เคารพนับถือ ขณะที่โซนิคเองก็มองเทลส์แบบน้องชาย ซึ่งทั้งสองต่างร่วมมือกันต่อสู้กับดร.เอ็กแมนหลายต่อหลายครั้ง นอกจากนั้นในโซนิคแอดวานซ์ 3 ถ้าผู้เล่นจับคู่ระหว่างโซนิคกับเทลส์จะได้ชื่อทีมว่า "Unbreakable Bond" (คู่หูสุดแกร่ง)

ในเกมนั้นเอมมี่ โรส มักจะพูดเสมอว่าตนเป็นแฟนกับโซนิคและมีเป้าหมายจะแต่งงานกับเขา (รวมทั้งวางแผนจะมีลูกในโซนิคแบทเทิ่ล) รวมทั้งในโซนิคแอดวานซ์ 3 การจับคู่ระหว่างโซนิคกับเอมี่จะได้ชื่อ "Lovely Couple" (คู่รักหวานแหวว) ซึ่งหน้าตาของโซนิคจะดูเหมือนไม่ได้ยินดีเท่าไรนัก ซึ่งจริงๆโซนิคนั้นก็ไม่ได้รักหรือชอบเอมี่มากมายนัก (โซนิคเคยพูดหลังจากชนะทีมโรสในโซนิคฮีโร่ส์ว่า "แต่งงานเรอะ! ฝันไปเถอะ!) แต่ก็เข้าปกป้องเธอทุกครั้งที่เธอประสบเหตุอันตราย (ซึ่งอาจจะเป็นเพราะนิสัยของเขาที่ชอบช่วยเหลือคนอื่นก็เป็นได้)

สำหรับนัคเคิลส์ ดิอีคิดนานั้นเรียกได้ว่าเขากับโซนิคเป็นคู่กัดกันก็ว่าได้ นัคเคิลส์นั้นเชื่อตอนแรกว่าโซนิคเลวและนิสัยไม่ดีเพราะความหูเบาจากการดร.เอ็กแมนเป่า อย่างไรก็ดีหลังจากผ่านเหตุการณ์ต่างๆมากมายโซนิคกับนัคเคิลส์ก็ได้เป็นเพื่อนสนิทกันและช่วยเหลือกันเสมอ รวมทั้งทั้งสองต่างมีพลังที่เท่าเทียมกัน (หรือกล่าวได้ว่าความเร็วของโซนิคนั้นสมดุลกับกำลังของนัคเคิลส์) อย่างไรก็ดีนัคเคิลส์ไม่ชอบโซนิคตรงที่รักอิสระมากเกินไป นอกจากนั้นแล้วการจับคู่ระหว่างโซนิคกับนัคเคิลส์จะในโซนิคแอดวานซ์ 3 จะได้ชื่อทีมว่า "Fighting Buddies" (คู่หูคู่ตะลุย)

ในโซนิคแอดวานซ์ 2 โซนิคได้ช่วย ครีม เดอะแรบบิทไว้ซึ่งเธอก็กลายมาเป็นเพื่อนกับโซนิค ในโซนิคเอกซ์ครีมได้เคยให้พวงมาลัยดอกไม้กับโซนิคซึ่งแสดงถึงคำขอบคุณและความเป็นเพื่อน (ซึ่งเธอก็มอบให้กับคริสต์หลังจากนั้น)

เอเมิร์ล ในโซนิคแบทเทิ่ลก็มีความสัมพัน์ระหว่างพ่อกับลูก โดยโซนิคนั้นช่วยเหลือให้เอเมิร์ลเติบโตขึ้นและในท้ายที่สุดเมื่อเอเมิร์ลมีกำลังมากเกินจะควบคุมได้ โซนิคก็เดินทางไปยังเดธเอ็กเพื่อกำจัดเอเมิร์ลด้วยมือของเขาเอง ซึ่งนำความโศกเศร้ามาให้เขาในภายหลัง

ในโซนิครัช โซนิคได้พบกับบลิซ เดอะแคท ซึ่งในตอนแรกเบลซนั้นได้คุยกับโซนิคไม่กี่คำก่อนแยกกันและมาพบกับที่ฉากเดดไลน์ ซึ่งเบลซต้องการให้โซนิคหลีกทางตน เพราะเธอไม่เชื่อว่าจะมีใครสามารถแก้ปัญหาของเธอได้ แต่ทว่าหลังจากที่โซนิคชนะเบลซ (หรือเบลซชนะถ้าเล่นเนื้อเรื่องของเบลซ) เธอจะยอมเปิดใจให้กับโซนิคและพรรคพวก และหลังจากที่เอาชนะดร.เอ็กแมนและเอ็กแมนเนกะ ทั้งสองก็สัญญาจะมาพบกันใหม่ ซึ่งแสดงถึงความเป็นเพื่อนของทั้งสอง

เจ้าหญิงเอลิเซ่ในโซนิคเดอะเฮดจ์ฮ็อก (2006)เป็นตัวละครมนุษย์เพียงไม่กี่คนในเรื่องที่โซนิคมีสัมพันธ์อันดีด้วย ซึ่งหลังจากที่โซนิคตาย เธอได้จูบโซนิคและทำให้ฟื้นขึ้นมาเป็นซูเปอร์โซนิค อย่างไรก็ดีความสัมพันธ์ของทั้งสองไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ เพราะกาลเวลาได้เปลี่ยนแปลงทำให้ความทรงจำของทั้งสองโดนลบออก (ตามหลักการของเวลาตามเนื้อเรื่อง)

ในโซนิคเอกซ์ หลังจากโซนิคมายังโลกอีกใบหนึ่งและได้พบกับคริสโตเฟอร์ ธอร์นไดค์ เขาได้อาศัยอยู่ในบ้านของคริส ซึ่งโซนิคนั้นก็กลายเป็นเพื่อนกับคริส ซึ่งคริสนั้นชอบโซนิคมาก จนหลายๆครั้งคริสก็พยายามช่วยเหลือโซนิคในหลายๆด้านเท่าที่ทำได้ จนกระทั่งถึงกับพยายามห้ามไม่ให้โซนิคกลับโลกของตนเองเพราะความผูกพันนั้นเอง แต่หลังจากที่โซนิคกลับไปแล้วคริสก็ได้เติบโตขึ้นและทำงานด้านวิทยาศาตร์ด้วยเป้าหมายเพียงอย่างเดียว "ไปหาพวกโซนิคที่ดาวของเขา" ซึ่งในระหว่างที่ดำเนินเรื่องในโซนิคเอกซ์นั้นคริสมักจะเป็นฝ่ายที่ต้องให้โซนิคช่วย เมื่อเจอกันอีกครั้งในฤดูกาลที่ 3 เขาจึงพยายามที่จะเป็นฝ่ายช่วยโซนิค ไม่ว่าจะเป็นการสร้างยานบลูไทฟูน, สร้างแหวนรูปแบบต่างๆสำหรับโซนิค

ส่วนตัวละครอื่นๆที่ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับโซนิค (บิ๊ก, เคออติกซ์และตัวละครรองอื่นๆ) ถึงแม้พวกเขาจะไม่ใช่เพื่อนกับโซนิคแต่ก็ไม่ได้อยู่ฝ่ายศัตรู ซึ่งเท่ากับเป็นมิตรกับพวกโซนิคนั่นเอง

ในโซนิคอันลีช ระหว่างที่โดนคำสาปพลังแห่งหมาป่าอยู่นั้น โซนิคได้เป็นเพื่อนกับ ชิพ ภูตจิ๋วที่ถูกเปิดเผยว่าเป็นที่ผนึกของไกอา ปีศาจที่จะออกมาทำลายโลก ทุกๆหมื่นปี ก่อนจะต้องจากลากัน หลังจากชิพตัดสินใจสละชีวิตตัวเอง เพื่อช่วยโซนิคที่ถูกทำร้าย

ใน โซนิคคัลเลอร์ และ ลอสต์เวิร์ด โซนิคได้พบกับวิสบ์ มนุษย์ต่างดาวที่มีพลังในการใช้สีสัน และ กลายเป็นมิตรกันหลังจากช่วยพวกเขาจากการถูกดร.เอ็กแมนเอาพลังไปใช้

ใน โซนิคเจเนเรชั่น โซนิคได้พบกับตัวเองในยุคคลาสสิคและร่วมมือกันพาเพื่อนที่ถูกลักพาตัวไปขังไว้ตามกาลเวลาและจัดการกับดร.เอ็กแมนได้

ใน โซนิคฟอร์เซ็ส โซนิคได้พบกับตัวเองในยุคคลาสสิคอีกครั้ง และได้พบกับอวตาร ตัวละครที่ผู้เล่นสามารถปรับแต่งเองได้ ซึ่งมาพร้อมกับอาวุธเฉพาะที่จะมาช่วยโซนิคพิทักษ์โลกอีกแรง

ใน โซนิค ฟรอนเทียร์ส โซนิคได้ค้นพบว่าตัวเองหลุดมาอยู่บนเกาะที่เรียกว่า สตาร์ฟอลไอร์เลิ่น ที่ ๆ มีเอไอปริศนานาม "เซจ" คอยควบคุมและขัดขวางโซนิคจากการช่วยเหลือเพื่อน ๆ ที่กระจัดกระจายกลายเป็นฐานข้อมูลของเกาะไป

ศัตรูและคู่แข่ง แก้

โซนิคมีศัตรูสำคัญคือดร.เอ็กแมน ในช่วงแรกๆนั้นดร.เอ็กแมนมีเป้าหมายจะครองโลกโดยใช้คาออสเอเมอรัลด์ ในเกมต่อๆมาเขาได้เพิ่มเป้าหมายที่จะกำจัดโซนิคดังเห็นในหลายๆเกม (โซนิคฮีโร่ส์, โซนิคไรเดอร์ส) ซึ่งดร.เอ็กแมนมักจะส่งคำท้าทายไปยังพวกโซนิคให้มาสู้กับตน อย่างไรก็ดีถึงแม้ดร.เอ็กแมนจะอยู่ในฐานะฝ่ายศัตรูและดร.เอ็กแมนเคยทำร้ายโซนิคหลายๆครั้ง แต่โซนิคก็เคยช่วยเหลือและให้ความร่วมมือกับดร.เอ็กแมนเมื่อถึงเหตุจำเป็น (โซนิคแอดเวนเจอร์ 2, โซนิคฮีโร่ส์, โซนิคแอดวานซ์ 3, โซนิคเอกซ์ ฤดูกาลที่ 3) อีกทั้งเขาเองก็ไม่เคยทำร้ายดร.เอ็กแมนจนถึงแก่ชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บหนักเลย อีกทั้งทุกครั้งที่โซนิคเข้าขัดขวางแผนการของดร.เอ็กแมน เขามักจะยิ้มและพูดในแง่ดีซึ่งแสดงให้เห็นว่าเขาสนุกกับการได้ขัดขวางแผนการเหล่านั้น

ในโซนิคเอกซ์ฤดูกาลที่ 3 โซนิคและพรรคพวกได้มีศัตรูเพิ่มขึ้นมาคือเมทาเร็กซ์ โดยมีหัวหน้าชื่อดาร์คโอ้ก ซึ่งดาร์คโอ้กต้องการใช้พลังของคาออสเอเมอรัลด์ในการครองจักรวาล จนให้โซนิคและพรรคพวกต้องเดินทางไปยังอวกาศและไปจัดการกับพวกเมทาเร็กซ์ ซึ่งโซนิคนั้นเคยพ่ายแพ้ต่อดาร์คโอ้กมาแล้วครั้งหนึ่ง ทำให้ดาร์คโอ้กนั้นกลายเป็นศัตรูของโซนิค อีกทั้งดาร์คโอ้กเคยทำร้ายคริสจนทำให้โซนิคต้องระเบิดพลังความแค้นออกมา

แบล็คดูมก็เป็นศัตรูของโซนิคในชาโดว์เดอะเฮดจ์ฮ็อก (ถึงแม้ผู้เล่นจะควบคุมเขาไม่ได้ก็ตาม) โซนิคมองแบล็คดูมในฐานะศัตรูเพราะการกระทำของของแบล็คดูม

ในส่วนของคู่แข่งนั้น คู่แข่งคนแรกของโซนิคนั้นคือเมตัลโซนิค ซึ่งโซนิคต้องปะทะกับเมตัลโซนิคหลายต่อหลายครั้งตั้งแต่โซนิคเดอะเฮดจ์ฮ็อก 2 มาจนถึง โซนิคฮีโร่ส์ ซึ่งในภาคฮีโร่ส์เมตัลโซนิคพยายามเลียนแบบพลังของโซนิคและเรียกโซนิคว่า "ตัวจำลองจอมปลอม" ภายหลังจากที่ซูเปอร์โซนิคชนะเขาได้ เขาก็ตะโกนว่า "ข้าคือโซนิค.....โซนิคตัวจริง" แสดงให้เห็นว่าจากการกำเนิดในฐานะหุ่นยนต์เลียนแบบโซนิค ทำให้เมตัลโซนิคเชื่อว่าเขาเองคือโซนิค

ชาโดว์ เดอะเฮดจ์ฮ็อก คือคู่แข่งคนต่อมาของเขา เพราะการที่เป็นเม่นเหมือนกัน หน้าตาที่คล้ายกัน (ส่วนหัวของชาโดว์จะมีลักษณะคล้ายๆกับซูเปอร์โซนิค เพราะเจอรัลด์ โรบ็อทนิกนำแบบซูเปอร์โซนิคมาจากภาพฝาผนังโบราณในฮิดเดนพาเลซ) รวมทั้งโซนิคเคยแพ้ต่อคาออสคอนโทรลของชาโดว์ ทำให้เขามุ่งมั่นที่จะคิดบัญชีและชนะชาโดว์อีกครั้ง ซึ่งเขาทำได้และสามารถใช้คาออสคอนโทรลได้ จึงอาจจะกล่าวได้ว่าทักษะคาออสคอนโทรลของโซนิคนั้นเขาได้เลียนแบบจากชาโดว์ แต่ในท้ายที่สุดแล้วโซนิคกับชาโดว์ก็ต้องร่วมมือกันในการสู้กับศัตรูตัวจริงของเกมเสมอๆ (ไบโอลิซาร์ดในโซนิคแอดเวนเจอร์ 2, เมตัลโซนิคในโซนิคฮีโร่ส์)

คู่แข่งอีกคนหนึ่งของเขานั้นคือเจ็ท เดอะฮอคว์ ของกลุ่มบาบิลอนโร้กส์ ซึ่งปรากฏในโซนิคไรเดอร์ส ในตอนที่เจอหน้ากันครั้งแรกเจ็ทสามารถเอาชนะโซนิคได้ แต่โซนิคก็ชนะคืนได้ในสนามสวนบาบิลอน ซึ่งหลังจากชนะจินนี่ในตอนท้ายของเกมแล้ว เจ็ทยอมรับว่าโซนิคเร็วกว่าตนแต่ก็พูดทิ้งท้ายไว้ว่าถ้าเจอกันอีก เขาจะเป็นฝ่ายชนะ

สำหรับซิลเวอร์ เดอะเฮดจ์ฮ็อกในโซนิคเดอะเฮดจ์ฮ็อก (2006) เขาปรากฏตัวมาเพื่อฆ่าโซนิคเพราะเชื่อว่าโซนิคคือ "กลไลอบิลิส" ซึ่งจะปลอดปล่อยอสูรมาเพื่อจะทำลายล้างโลก ภายหลังจากจบเกมและเส้นเวลาแปรเปลี่ยนกลับมาเป็นดังเดิม ทั้งสองพบกันอีกครั้งในโซนิคริวัลส์โดยที่ต่างฝ่ายต่างไม่รู้จักกันแต่ก็ช่วยเหลือกันในท้ายที่สุด

โดยรวมแล้วตัวละครเกือบทุกตัวที่เกี่ยวข้องกับโซนิคต่างก็เป็นมิตรและเพื่อนเขาแทบทั้งสิ้น ทั้งนี้ทั้งนั้นนิสัยของโซนิคมักจะมองโลกในแง่ดีทำให้เขาไม่เคยมองใครในฐานะศัตรูเลย (กระทั่งชาโดว์) แต่เพราะโซนิคเป็นคนที่ไม่ชอบยอมแพ้ใครและชอบที่จะทำความดี เขาจึงมักต้องรับหน้าที่ปราบเหล่าร้ายต่างๆ

ใน โซนิคฟอร์เซ็ส เหล่าตัวละครในอดีตที่เคยเป็นมิตรกับโซนิค หรือเป็นศัตรู คาออส (โซนิคแอดเวนเจอร์), ชาโดว์ (โซนิคแอดเวนเจอร์2), เมตัลโซนิค (โซนิคเดอะเฮดจ์ฮ็อก ซีดี และ โซนิคฮีโร่ส์), ซาวอก (โซนิคเดอะลอสต์เวิลด์) ได้กลับมารวมตัวอีกครั้งเพื่อจัดการโซนิคและเหล่ากองกำลังที่จะพิทักษ์โลกจากดร.เอ็กแมนที่สามารถยึดครองโลกแล้วเกือบทุกส่วน โดยการนำของ อินฟินิท ศัตรูใหม่ที่มีพลังเหนือกว่าครั้งไหนๆ และเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ดร.เอ็กแมนสามารถยึดครองโลกได้ในที่สุด

ใน โซนิคฟรอนเทียร์ส ศัตรูใหม่ที่โซนิคต้องเผชิญคือ เซจ ปัญญาประดิษฐ์ที่มาในร่างของเด็กหญิงที่มีพลังบางอย่างและพยายามจะขับไล่โซนิคออกจาเกาะร้างที่ห่างไกลไร้สิ่งมีชีวิตอาศัยเรียกว่า "สตาร์ฟอล ไอร์เลิน"

เพลงประจำตัว แก้

โซนิคมีเพลงประจำตัวตั้งแต่เข้าสู่ภาคโซนิคแอดเวนเจอร์เป็นต้นมาซึ่งเพลงของเขาจะออกลักษณะเพลงร็อก ส่วนในการ์ตูนอเมริกัน เพลงของเขามักจะได้ชื่อว่า Fastest Thing Alive (สิ่งมีชีวิตที่เร็วที่สุด)

โซนิคแอดเวนเจอร์: (โซนิค เผชิญภัย) แก้

  • "Open Your Heart" - Crush 40 เป็นเพลงหลัก
  • "It Doesn't Matter" - Crush 40 เป็นเพลงประจำตัว

โซนิคแอดเวนเจอร์ 2: (โซนิค เผชิญภัย 2) แก้

  • "Live and Learn" - Crush 40 เป็นเพลงหลัก
  • "It Doesn't Matter" (รีเมค) - Crush 40 เป็นเพลงประจำตัว

โซนิคฮีโร่ส์: (โซนิค รวมใจ) แก้

  • "Sonic Heroes" - Crush 40 เป็นเพลงหลัก
  • "We Can" - Crush 40 เพลงทีมร่วมกันนัคเคิลส์และเทลส์

โซนิคไรเดอร์ส: (โซนิค ทีมซิ่งสะท้านโลก) แก้

  • "Sonic Riders" - Runblebee เป็นเพลงหลัก
  • "High Flying Groove" - Tomonori Sawada เป็นเพลงประจำตัว

โซนิคเดอะเฮดจ์ฮ็อก (2006) (โซนิค ข้ามเวลาล้างโลก): แก้

  • "His World" - Zebrahead เป็นเพลงหลักและเพลงประจำตัว

โซนิคอันลีช: (โซนิค ผนึกกำลังอสูรกาย) แก้

  • "Endless Possibilities" - Bowling for Soup เป็นเพลงหลัก และเพลงประจำตัว
  • "Dear My Friend" - เบรนท์ แคช เป็นเพลงปิดแทนความสัมพันธ์ของโซนิคกับชิป

โซนิคแอนด์เดอะซีเครตริงส์: (โซนิค กับ แหวนแห่งความลับ) แก้

  • "Seven Rings In Hand" - Runblebee เป็นเพลงหลัก
  • "Worth a Chance" - Runblebee เป็นเพลงปิด

โซนิคแอนด์เดอะแบล็คไนท์: (โซนิค กับ ตำนานอัศวินดำ) แก้

  • "Knight of the Wind" - Crush 40 เป็นเพลงหลักและเพลงประจำตัว
  • "With Me" - Crush 40 เป็นเพลงปิด

โซนิคคัลเลอร์: (โซนิค มหัศจรรย์พลังหลากสี) แก้

  • "Reach for The Star" - แคช แคช เป็นเพลงหลักและเพลงประจำตัว
  • "Speak with Your Heart" - แคช แคช เป็นเพลงปิด

โซนิคฟอร์ซ: (โซนิค รวมทัพพิทักษ์โลก) แก้

  • "Fist Bump" - Douglas Robb วง Hoobastank เพลงหลักทีมร่วมกับตัวละครสร้างเอง (อวตาร์)
  • "The Light of Hope" - เอมี่ ฮานแนม เป็นเพลงปิด

ทีมโซนิคเรซซิง: (โซนิค ทีมซิ่งสายฟ้า) แก้

  • Green Light Ride - Crush 40 เป็นเพลงหลัก

โซนิคฟรอนเทียร์ส: (โซนิค ทะยานสุดขั้วพรมแดน) แก้

  • "I'm Here" - Merry Kirk-Holmes วง To Octavia เป็นเพลงหลักและเพลงประจำตัว
  • "Vandalize" - วันโอเคร็อก เป็นเพลงปิดจบแบบ ธรรมดา
  • "One Way Dream" - Nathan Sharp เป็นเพลงปิดจบแบบ ยาก
  • "WA DA DA" - เคปเลอร์ เป็นเพลงประกอบโฆษณาตัวอย่างโปรโมตเกาหลี
  • "Don't Stop Me Now" - Queen เพลงประกอบโฆษณาตัวอย่างวางจำหน่าย

อ้างอิง แก้

  1. "Zetman Blu-Ray". Anime News Network (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2017-07-22.
  2. "English Video Game Actors Join Disney's Wreck-It Ralph Cast". Anime News Network (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2017-07-22.
  3. 3.0 3.1 3.2 โซนิคทีม ข้อมูลอย่างเป็นทางการของตัวละครในเกมโซนิค บริษัทเซก้า ประเทศญี่ปุ่น
  4. Formula One Motor Racing FAQ, part 2 Internet FAQ Archives
  5. Matte, Jared 1993: Year of the Mega Drive
  6. "Giant Pikachu Runs Flights Through NYC". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-10. สืบค้นเมื่อ 2007-05-09.
  7. เรื่องของ Mary Garnet (แปลจากเนื้อเรื่องภาษาญี่ปุ่น)[ลิงก์เสีย]
  8. "Where does Sonic come from?". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-06-03. สืบค้นเมื่อ 2007-05-09.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

เว็บไซต์อย่างเป็นทางการ
อย่างไม่เป็นทางการ