รัฐบาลเอโดะ

(เปลี่ยนทางจาก โชกุนโทะกุงะวะ)

รัฐบาลเอโดะ (ญี่ปุ่น: 江戸幕府โรมาจิEdo bakufu) หรือ รัฐบาลโชกุนโทกูงาวะ (ญี่ปุ่น: 徳川幕府โรมาจิTokugawa bakufu) เป็นฝ่ายบริหารของประเทศญี่ปุ่นซึ่งใช้ระบอบศักดินา สถาปนาโดยโทกูงาวะ อิเอยาซุ มีผู้ปกครองสูงสุดเป็นโชกุน ซึ่งต้องมาจากตระกูลโทกูงาวะ เท่านั้น ในสมัยที่ประเทศญี่ปุ่นถูกปกครองโดยรัฐบาลโชกุนนั้น จะเรียกว่ายุคเอโดะ ตามชื่อเมืองเอโดะ ซึ่งรัฐบาลโชกุนสถาปนาให้เป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ ปัจจุบัน คือกรุงโตเกียว มีปราสาทเอโดะเป็นศูนย์กลางการปกครองตั้งแต่ ค.ศ. 1603 ถึง 1868 จนกระทั่งถูกจักรพรรดิเมจิล้มล้างไปในการฟื้นฟูเมจิ

รัฐบาลโชกุนโทกูงาวะ

徳川幕府
โทกูงาวะ บากูฟุ
ค.ศ. 16031868
ธงชาติรัฐบาลโชกุนโทกูงาวะ
ธง
ตราของรัฐบาลโชกุนโทกูงาวะ
ตรา
ที่ตั้งของรัฐบาลโชกุนโทกูงาวะ
เมืองหลวงเอโดะ
ภาษาทั่วไปภาษาญี่ปุ่น
ศาสนา
ลัทธิขงจื๊อ, ลัทธิชินโต, ศาสนาพุทธ, ศาสนาคริสต์
การปกครองเผด็จการทหาร[1] แบบมีการสืบตำแหน่งและฟิวดัล
จักรพรรดิ 
• 1600–1611
จักรพรรดิโกโยเซ
• 1867–1868
จักรพรรดิเมจิ
โชกุน 
• ค.ศ. 1603–1605
โทกูงาวะ อิเอยาซุ (คนแรก)
• ค.ศ. 1866–1867
โทกูงาวะ โยชิโนบุ (สุดท้าย)
ประวัติศาสตร์ 
• สถาปนานครเอโดะเป็นเมืองหลวง
ค.ศ. 1603
• การปฏิรูปเมจิ
ค.ศ. 1868 1868
สกุลเงินระบบเหรียญกระษาปณ์โทกูงาวะ ประกอบด้วยมง (文), เหรียญเงิน, และเรียว (両)
ก่อนหน้า
ถัดไป
ยุคอาซูจิ–โมโมยามะ
ตระกูลโทกูงาวะ
จักรวรรดิญี่ปุ่น
สาธารณรัฐเอโซะ
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น

หลังจากยุคเซ็งโงกุ หรือยุคไฟสงคราม โอดะ โนบูนางะ และโทโยโตมิ ฮิเดโยชิ ได้ร่วมกันรวมอำนาจสู่ศูนย์กลาง และตั้งเป็นรัฐบาลกลางขึ้นอีกครั้งในยุคอาซูจิ–โมโมยามะ ซึ่งเป็นยุคสั้น ๆ ก่อนยุคเอโดะ ต่อมา หลังจากยุทธการที่เซกิงาฮาระ ซึ่งเป็นการรบครั้งใหญ่ในค.ศ. 1600 การปกครองและอำนาจทั้งหมด ได้ตกอยู่ในมือของโทกูงาวะ อิเอยาซุโดยเบ็ดเสร็จ และสถาปนาตนเองเป็นโชกุนในปี ค.ศ. 1603 ซึ่งเป็นไปตามประเพณีโบราณ ที่ผู้เป็นโชกุนจะต้องสืบเชื้อสายจากต้นตระกูลมินาโมโตะ

ในยุคของโทกูงาวะ ต่างจากยุคโชกุนก่อน ๆ คือมีการนำระบบชนชั้นที่เริ่มใช้โดยโทโยโตมิ ฮิเดโยชิ มาใช้อีกครั้งอย่างเข้มงวด โดยชนชั้นนักรบ หรือซามูไร อยู่บนสุด ตามด้วยชาวนา ช่างฝีมือ และพ่อค้า การใช้ระบบชนชั้นอย่างเข้มงวดและไม่ยืดหยุ่นได้ทำให้เกิดจลาจลมาตลอดสมัย ภาษีที่เรียกเก็บจากชนชั้นชาวนานั้น อยู่ในอัตราคงที่โดยไม่คำนึงถึงอัตราเงินเฟ้อหรือการเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ ของค่าเงิน ส่งผลให้รายได้ภาษีที่เรียกเก็บจากชนชั้นซามูไร ผู้เป็นเจ้าของที่ดินมีมูลค่าลดลงเรื่อย ๆ ตลอดยุค ซึ่งสาเหตุนี้ ก่อให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างซามูไรผู้ทรงเกียรติแต่ฐานะทางการเงินต่ำลงเรื่อย ๆ จากการจ่ายภาษี กับชาวนาผู้มีอันจะกิน เกิดเป็นการปะทะกันหลายต่อหลายครั้งที่เริ่มจากเหตุการณ์เล็ก ๆ ลุกลามเป็นเหตุการณ์วุ่นวาย อย่างไรก็ตาม ไม่มีสิ่งใดเปลี่ยนแปลงระบบสังคมยุคเอโดะได้ ตราบจนการเข้ามาของชาวตะวันตก

เมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 กลุ่มไดเมียวผู้มีอำนาจ เช่น ตระกูลชิมาซุ ได้ร่วมมือกับจักรพรรดิและพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งในสมัยเอโดะเคยทรงเพียงศักดิ์แต่ไร้อำนาจ เพื่อโค่นล้มระบอบโชกุนในโดยสงครามโบชิน ส่งผลให้เกิดการปฏิรูปเมจิโดยจักรพรรดิเมจิ รัฐบาลโชกุนโทกูงาวะถูกล้มล้างโดยสมบูรณ์ในค.ศ. 1868 โดยมีโทกูงาวะ โยชิโนบุ เป็นโชกุนคนที่ 15 และเป็นโชกุนคนสุดท้ายของญี่ปุ่น จากนั้น ญี่ปุ่นก็เข้าสู่ยุคเมจิ อันมีการฟื้นฟูราชวงศ์มายังเมืองเอโดะ และเปลี่ยนชื่อเป็นกรุงโตเกียวดังเช่นปัจจุบัน

การปกครอง แก้

การปกครองของรัฐบาลโชกุนเอโดะนั้นเรียกว่า บะกุฮัง เทเซ (ญี่ปุ่น: 幕藩体制โรมาจิBakuhan teisei) คือระบอบที่ประกอบไปด้วย "รัฐบาลโชกุน" (ญี่ปุ่น: 幕府โรมาจิBakufu) อันเป็นการปกครองส่วนกลาง และ "แคว้น" (ญี่ปุ่น: โรมาจิhan) ซึ่งเป็นการปกครองส่วนภูมิภาค มีลักษณะการปกครองตามแบบระบอบศักดินาสวามิภักดิ์ คือการที่รัฐบาลส่วนกลางแบ่งสรรปันส่วนที่ดินให้แก่ขุนนางไปปกครอง โดยที่ขุนนางเหล่านั้นมีอำนาจเหนือประชาชนและทรัพยากรในแคว้นของตนเอง โดยที่จะต้องให้กองกำลังทหารแก่รัฐบาลกลางเมื่อร้องขอเป็นการตอบแทน

บากูฟุ แก้

บากูฟุ แปลว่า "เสนาภิบาล" หมายถึงระบอบการปกครองที่นำโดยโชกุน โชกุน หรือชื่อตำแหน่งทางการว่า เซอิไทโชกุน (ญี่ปุ่น: 征夷大将軍โรมาจิSeii Taishōgun) เป็นตำแหน่งที่แต่งตั้งโดยองค์พระจักรพรรดิที่เมืองเกียวโต มอบให้แก่ตระกูลผู้นำซามูไรที่สืบเชื้อสายมาจากตระกูลมินาโมโตะโบราณ ซึ่งในสมัยเอโดะนั้นก็คือตระกูลโทกูงาวะ ตำแหน่งโชกุนนั้นเป็นตำแหน่งที่สืบทอดภายในตระกูลโทกูงาวะ ในทางทฤษฏีโชกุนมีหน้าที่รับใช้ราชสำนักเกียวโตในฐานะประมุขของชนชั้นซามูไรทั้งมวลในญี่ปุ่น แต่ในทางปฏิบัตินั้นโชกุนคือผู้ปกครองมีอำนาจเหนือประเทศญี่ปุ่นที่แท้จริง

ใต้ต่อโชกุนลงมาคือสภาขุนนางทำหน้าที่เป็นผู้ให้คำชี้แนะแก่โชกุน ประกอบด้วย

  • โรจู (ญี่ปุ่น: 老中โรมาจิRōjū) เป็นตำแหน่งขุนนางอาวุโสที่สูงที่สุดรองจากโชกุน ในสมัยของโชกุน โทกูงาวะ อิเอะยะซุ และโทกูงาวะ ฮิเดะตะดะ มีโรจูจำนวนสองอัตรา และในสมัยของโชกุนโทกูงาวะ อิเอมิตสึ เพิ่ม โรจู เป็นห้าอัตรา เป็นกลุ่มขุนนางอาวุโสที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อโชกุน และเป็นผู้กำหนดนโยบาลหลักของรัฐบาลในขณะนั้น เป็นสื่อกลางระหว่างไดเมียวแคว้นต่างๆกับโชกุน ตำแหน่งนี้เสื่อมอำนาจลงในสมัยของโชกุนโทกูงาวะ อิเอสึนะเป็นต้นมา เนื่องจากการแข่งขันอำนาจกับโซะบะโยะนิง
  • ไทโร (ญี่ปุ่น: 大老โรมาจิTairō) เป็นตำแหน่งขุนนางอาวุโสที่มีอำนาจเหนือโรจู ตำแหน่งนี้ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในค.ศ. 1636 อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งนี้ไม่ได้มีอยู่ตลอดเวลา เป็นการแต่งตั้งในกรณีพิเศษ และต่อมาภายหลังกลายเป็นเพียงตำแหน่งทางพิธีการ
  • วากาโดะชิโยริ (ญี่ปุ่น: 若年寄โรมาจิWakadoshiyori) ตำแหน่งขุนนางอายุน้อย ทำหน้าที่เป็นข้ารับใช้ส่วนตัวของโชกุน เป็นสื่อกลางระหว่างบากูฟุกับพ่อค้า ช่างฝีมือ และสามัญชน

โชกุนโทกูงาวะ อิเอสึนะ มีนโยบายลดทอนอำนาจของขุนนางอาวุโสในบากูฟุ โดยการดึงเอากลุ่มขุนนางอายุน้อยที่เป็นคนสนิทของตนเรียกว่า โซะบะโยะนิง (ญี่ปุ่น: 側用人โรมาจิSobayōnin) เข้ามามีอำนาจในบากูฟุ เป็นผู้กำหนดนโยบายหลักของประเทศแทนที่โรจู นับแต่นั้นมารัฐบาลโชกุนเอโดะจึงตกอยู่ภายใต้อำนาจของคนสนิทของโชกุน

ในค.ศ. 1779 รัฐบาลโชกุนเข้าควบคุมการตั้งรกรากของชาวญี่ปุ่นบนเกาะฮกไกโดโดยตรง นำไปสู่การจัดตั้งฮาโกดาเตะ-บูเงียว (ญี่ปุ่น: 箱館奉行โรมาจิHakodate-bugyō)

หลังจากเหตุการณ์ที่พลเรือจัตวาแมทธิว ซี. เพร์รี (Matthew C. Perry) นำเรือรบของสหรัฐอเมริกาเข้าบังคับให้รัฐบาลโชกุนโทกูงาวะเปิดประเทศในค.ศ. 1853 รัฐบาลโชกุนมีการเปิดเมืองท่าต่างๆเพื่อให้ชาวต่างชาติเข้ามาค้าขายนำไปสู่การจัดตั้งบูเงียวต่างๆเพื่อดูแลเมืองท่าเหล่านั้นได้แก่ฮาเนดะ-บูเงียว เฮียวโง-บูเงียว คานางาวะ-บูเงียว นีอีงาตะ-บูเงียว และชิโมดะ-บูเงียว

แคว้นและไดเมียว แก้

แคว้น คือหน่วยของที่ดินที่บากูฟุมอบหมายให้ขุนนางซามูไรที่เรียกว่า "ไดเมียว" ไปปกครอง โดยที่ไดเมียวเหล่านั้นไม่ได้รับเบี้ยหวัดจากรัฐบาลส่วนกลางแต่มีสิทธิ์อย่างเต็มที่ในทรัพยากรและผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ภายในฮังของตน ในสมัยเอโดะฮังและไดเมียวมีสามประเภทได้แก่

ในค.ศ. 1635 โชกุนอิเอมิตสึ ต้องการที่จะลดอำนาจของไดเมียวโทซามะ จึงออกนโยบายซังกิง โคไต (ญี่ปุ่น: 参勤交代โรมาจิSankin kōtai) ให้ไดเมียวทุกแคว้นสร้างที่พำนักภายในนครเอโดะ แล้วพำนักอยู่ในนครเอโดะเป็นเวลาหนึ่งปี สลับกับกลับไปพำนักที่แคว้นของตนอีกหนึ่งปี หมุนเวียนไปเรื่อย โดยที่ภรรยาเอกและทายาทของไดเมียวจะต้องอยู่ในนครเอโดะตลอด การเดินทางไปยังนครเอโดะและกลับไปยังแคว้นของตนนั้นเป็นการสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายอย่างมาก สำหรับไดเมียวโทซามะซึ่งมักจะอยู่ห่างไกลจากเอโดะ เป็นการตัดกำลังและลดอำนาจ

รายนามโชกุนตระกูลโทกูงาวะ แก้

อันดับ ชื่อ ช่วงเวลามีชีวิต
ช่วงเวลาดำรงตำแหน่ง
1   โทกูงาวะ อิเอยาซุ พ.ศ. 2086 - 2159
พ.ศ. 2146 - 2148
2   โทกูงาวะ ฮิเดตาดะ พ.ศ. 2122 - 2175
พ.ศ. 2148 - 2166
3   โทกูงาวะ อิเอมิตสึ พ.ศ. 2147 - 2194
พ.ศ. 2166 - 2194
4   โทกูงาวะ อิเอสึนะ พ.ศ. 2184 - 2223
พ.ศ. 2194 - 2223
5   โทกูงาวะ สึนาโยชิ พ.ศ. 2189 - 2252
พ.ศ. 2223 - 2252
6   โทกูงาวะ อิเอโนบุ พ.ศ. 2205 - 2255
พ.ศ. 2252 - 2255
7   โทกูงาวะ อิเอสึงุ พ.ศ. 2252 - 2259
พ.ศ. 2256 - 2259
8   โทกูงาวะ โยชิมูเนะ พ.ศ. 2227 - 2294
พ.ศ. 2259 - 2288
9   โทกูงาวะ อิเอชิเงะ พ.ศ. 2254 - 2304
พ.ศ. 2288 - 2303
10   โทกูงาวะ อิเอฮารุ พ.ศ. 2280 - 2329
พ.ศ. 2303 - 2329
11   โทกูงาวะ อิเอนาริ พ.ศ. 2316 - 2384
พ.ศ. 2330 - 2380
12   โทกูงาวะ อิเอโยชิ พ.ศ. 2336 - 2396
พ.ศ. 2380 - 2396
13   โทกูงาวะ อิเอซาดะ พ.ศ. 2367 - 2401
พ.ศ. 2396 - 2401
14   โทกูงาวะ อิเอโมจิ พ.ศ. 2389 - 2409
พ.ศ. 2401 - 2409
15   โทกูงาวะ โยชิโนบุ พ.ศ. 2380 - 2456
พ.ศ. 2409 - 2410

อ้างอิง แก้

  • Nussbaum, Louis-Frédéric and Käthe Roth. (2005). Japan Encyclopedia. Cambridge: Harvard University Press. ISBN 978-0-674-01753-5; OCLC 48943301

  บทความนี้รวมเอางานสาธารณสมบัติจากประเทศศึกษา หอสมุดรัฐสภา

  1. "Tokugawa period". britannica.com. Encyclopædia Britannica, Inc. สืบค้นเมื่อ June 3, 2020.