โจว จื่อ-ยฺหวี

ไอดอลเกาหลีใต้
(เปลี่ยนทางจาก โจว จื่อ-อวี๋)

โจว จื่อ-ยฺหวี (จีน: 周子瑜; พินอิน: Zhōu Zǐyú; อักษรโรมัน: Chou Tzu-yu; เกิด 14 มิถุนายน ค.ศ. 1999) ชื่อในการแสดงว่า จื่อ-ยฺหวี (Tzuyu) เป็นนักร้องเคป็อปชาวไต้หวัน เป็นสมาชิกของทไวซ์ (Twice) กลุ่มดนตรีหญิงซึ่งบริษัทเจวายพีเอนเตอร์เทนเมนต์ จัดตั้งขึ้นในเกาหลีใต้เมื่อปี 2015 ผ่านรายการรีแอลลิตีโชว์ชื่อ ซิกซ์ทีน (Sixteen)

จื่อ-ยฺหวี
จื่อ-ยฺหวีในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2023
เกิดโจว จื่อ-ยฺหวี
(1999-06-14) 14 มิถุนายน ค.ศ. 1999 (24 ปี)
ไถหนาน ไต้หวัน
อาชีพนักร้อง
อาชีพทางดนตรี
ที่เกิดเกาหลีใต้
แนวเพลง
เครื่องดนตรีเสียงร้อง
ช่วงปี2015–ปัจจุบัน
ค่ายเพลง
สมาชิกของ
ชื่อภาษาจีน
อักษรจีนตัวเต็ม
ฮั่นยฺหวี่พินอินZhōu Zǐyú
จู้อินㄓㄡ ㄗˇ ㄩˊ
เวด-ไจลส์Chou1 Tzŭ3-yü2
เป่อ่วยยีภาษาฮกเกี้ยนChiu Chú-jû
ชื่อภาษาเกาหลี
ฮันกึล
อาร์อาร์Jeou Jjeuwi
เอ็มอาร์Chŏu Tchŭwi

เดือนมกราคม 2016 มีการเผยแพร่ภาพจื่อ-ยฺหวี ถือธงชาติไต้หวัน ทางอินเทอร์เน็ต พร้อมกล่าวหาว่า จื่อ-ยฺหวี สนับสนุนให้ไต้หวันแยกตัวเป็นเอกราชจากจีน เป็นเหตุให้ชาวจีนเดือดดาล ครั้นวันที่ 15 มกราคม 2016 เจวายพีเอนเตอร์เทนเมนต์ให้จื่อ-ยฺหวี ออกวีดิทัศน์ขอขมา เชื่อกันว่า ข้อกล่าวหาจื่อ-ยฺหวี นั้นเป็นไปเพื่อให้มีผลต่อความคิดของสาธารณชนในการเลือกตั้งประธานาธิบดีอันจะมีขึ้นในวันถัดมา ผู้มีสิทธิเลือกตั้งบางคนระบุว่า เดิมสนับสนุนพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (民主進步黨) ซึ่งชูนโยบายหนุนเอกราชไต้หวัน ก็ต้องทบทวนความคิดใหม่หลังเกิดเหตุการณ์ของจื่อ-ยฺหวี อย่างไรก็ดี ครั้นมีการเลือกตั้งแล้ว ปรากฏว่า พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้ายังคงได้คะแนนเสียงท่วมท้น ส่งผลให้ผู้สมัครจากพรรคได้เป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์[1]

ประวัติ แก้

จื่อ-ยฺหวี กำเนิดเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 1999 ณ นครไถหนาน ประเทศไต้หวัน ครั้นปี 2012 แมวมองในวงการบันเทิงพบจื่อ-ยฺหวี ที่ "การประชุมเชิงปฏิบัติการทางศิลปะการแสดงของมิวซ์" (MUSE Performing Arts Workshop) ในไถหนาน[2] จึงนำพาจื่อ-ยฺหวี ไปยังเกาหลีใต้ในปีนั้นเพื่อฝึกฝนให้เป็นดารา เมื่อได้ฝึกฝนมากว่าสองปี จื่อ-ยฺหวี จึงปรากฏตนเป็นครั้งแรกในรายการโทรทัศน์ชื่อ ซิกซ์ทีน เมื่อปี 2015 และได้รับเลือกเป็นหนึ่งในหญิงสาวเก้าคนที่ประกอบกันเป็นกลุ่มดนตรีกลุ่มใหม่ชื่อ "ทไวซ์" เพื่อเปิดตัวในเดือนตุลาคม 2015[2]

ในปี 2015 นั้นเอง ทีซีแคนด์เลอร์ (TC Candler) ยังจัดให้จื่อ-ยฺหวี เป็นหนึ่งในร้อยบุคคลผู้มีโฉมหน้างดงามที่สุดด้วย[3]

กรณีธงชาติ แก้

เหตุการณ์ แก้

ในเดือนพฤศจิกายน 2015 จื่อ-ยฺหวี กับเพื่อนร่วมวงทไวซ์ ออกรายการชื่อ มายลิตเติลเทเลวิชัน (My Little Television) ในเกาหลีใต้ ในรายการนั้น จื่อ-ยฺหวี แนะนำตนว่า มาจากไต้หวัน พร้อมถือธงชาติไต้หวันและธงชาติเกาหลีใต้ อนึ่ง ยังปรากฏธงชาติญี่ปุ่นเพื่อบ่งบอกประเทศที่มาของสมาชิกคนอื่น ๆ ด้วย[4]

หฺวาง อัน (黄安) นักร้องชาวไต้หวันซึ่งทำงานอยู่ในจีน นำรูปจื่อ-ยฺหวี ถือธงดังกล่าวลงเผยแพร่ในบัญชีซินล่างเวย์ปั๋วของตัว แล้วกล่าวหาว่า จื่อ-ยฺหวี สนับสนุนให้ไต้หวันแยกตนเป็นเอกราชจากจีน[5] ก่อนหน้านี้ หฺวาง อัน เคยกล่าวหาบุคคลอื่น ๆ ในทำนองเดียวกันมาแล้ว เช่น หวัง สี่ (王喜) นักร้องชาวฮ่องกงซึ่งถูกหาว่า เขียนเฟซบุ๊กปรามาสจีน จนต้องออกโทรทัศน์ขออภัย[6]

ข้อกล่าวของหฺวาง อัน ทำให้สื่อมวลชนและผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวจีนตอบโต้จื่อ-ยฺหวี อย่างรุนแรงว่า หากินกับแผ่นดินใหญ่แล้วกลับหักหลังหนุนแผ่นดินแม่ให้แยกตัว[7] ในไม่ช้า สถานีโทรทัศน์จีนก็ถอดรายการเกี่ยวกับกลุ่มทไวซ์ออกทั้งสิ้น และหัวเว่ย (华为) บริษัทโทรศัพท์เคลื่อนที่ในจีน ก็ปลดสินค้าที่จื่อ-ยฺหวี อนุมัติให้จำหน่ายในนามของเธอ เจวายพีเอนเตอร์เทนเมนต์จึงจำต้องระงับกิจกรรมทั้งหมดของจื่อ-ยฺหวี ในแผ่นดินใหญ่[8]

ครั้นวันที่ 15 มกราคม 2016 พัก จิน-ย็อง (박진영) ประธานเจวายพีเอนเตอร์เทนเมนต์ เขียนขออภัยสื่อมวลชนจีนในบัญชีเวย์ปั๋วของตัว แล้วให้จื่อ-ยฺหวี อ่านแถลงการณ์ขอขมาลงวีดิทัศน์เผยแพร่ ความตอนหนึ่งว่า[1]

ปฏิกิริยา แก้

วีดิทัศน์ดังกล่าวทำให้เธอได้รับเสียงปลอบประโลมจากทั่วโลก แต่ก็ทำให้ชาวไต้หวันส่วนใหญ่เสียขวัญ ทั้งโกรธเกรี้ยวที่หญิงสาววัยสิบหกปีถูกปฏิบัติเช่นนี้[9]

ในช่วงนั้นเอง จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีทั้งสามคนล้วนแถลงให้กำลังใจจื่อ-ยฺหวี ไช่ อิงเหวิน (蔡英文) จากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า ระบุว่า "พลเมืองชาวสาธารณรัฐจีนไม่สมควรเอาโทษเธอที่โบกธงชาติสนับสนุนบ้านเกิดเมืองนอนของเธอ เธอถูกบีบให้กล่าววาจาอันเห็นได้ชัดว่า ขัดต่อความประสงค์ที่แท้จริงของเธอ ฉะนั้น นี่ย่อมเป็นเรื่องร้ายแรง ย่ำยีจิตใจชาวไต้หวันทั้งมวล" ส่วนจู ลี่หลุน (朱立倫) จากพรรคชาตินิยม (國民黨) กล่าวว่า รับไม่ได้ที่คนจีนเอาความเกลียดชังไปลงยังเด็กหญิงวัยสิบหกปี เขายังว่า ได้ชมวีดิทัศน์ที่เธอขอขมาแล้ว ยิ่งรับไม่ได้กับการกระทำของหฺวาง อัน และเจวายพีเอนเตอร์เทนเมนต์ ขณะที่หม่า อิงจิ่ว (馬英九) ผู้ซึ่งกำลังพ้นจากตำแหน่งประธานาธิบดี ว่า "ไม่ได้ทำอะไรผิด กลับถูกบีบให้ขอโทษเช่นนี้ ผมอยากบอกหนูโจวว่า หนูไม่จำเป็นต้องขอโทษใครเลย พวกเราสนับสนุนหนูเสมอ"[7]

ผลต่อการเลือกตั้ง แก้

เหตุการณ์นี้เป็นที่สนใจของคนทั้งโลก และเชื่อกันว่า อาจมีผลต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดี มีการสำรวจพบว่า หลังจากเหตุการณ์นี้แล้ว บางคนที่เคยสนับสนุนไช่ อิงเหวิน ซึ่งหนุนเอกราชไต้หวันนั้น ระบุว่า ต้องทบทวนความคิดของตัวอีกครั้ง ถึงอย่างนั้น เมื่อมีการเลือกตั้งในวันที่ 16 มกราคม 2016 ก็ปรากฏว่า ไช่ อิงเหวิน ยังคงได้รับคะแนนเสียงถล่มทลาย และได้เป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของประเทศ[1]

ไม่ช้าหลังรู้ผลเลือกตั้ง สภากิจการแผ่นดินใหญ่ (大陸委員會) หน่วยงานไต้หวันซึ่งรับผิดชอบนโยบายที่ไต้หวันมีต่อจีน จึงออกโรงปกป้องจื่อ-ยฺหวี และแถลงต่อสำนักกิจการไต้หวัน (台灣事務辦公室) หน่วยงานจีนที่ดูแลนโยบายซึ่งจีนมีต่อไต้หวัน ขอให้สนใจเหตุการณ์ทำนองนี้ให้มากยิ่งขึ้น และให้ป้องปรามภาคเอกชนในบ้านเมืองของตัวเสียบ้าง เพราะพฤติการณ์เช่นนี้ย่อมกระทบกระเทือนทั้งต่อจิตใจชาวไต้หวัน และต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับไต้หวัน นอกจากนี้ สภาฯ ยังประณามหฺวาง อัน ว่า พฤติกรรมของเขาส่งผลร้ายแรงต่อความสัมพันธ์ของจีนกับไต้หวัน ในที่สุด สภาฯ วิงวอนให้ประชาชนทั้งสองฝ่ายอย่าได้คลายความรักใคร่สมัครสมานกัน[10]

ผลต่อหฺวาง อัน แก้

คำขอขมาของจื่อ-ยฺหวี ทำให้เกิดการต่อต้านหฺวาง อัน ขึ้นในไต้หวัน สื่อมวลชนไต้หวันยกเลิกรายการที่หฺวาง อัน จะมาปรากฏตัว และลบรายการคาราโอเกะเพลงของหฺวาง อัน ทิ้ง[11]

ประชาชนไต้หวันกว่าหนึ่งหมื่นคนกำหนดจะเดินขบวนประท้วงในวันที่ 24 มกราคม 2016[12] แต่เลิกล้มไปเพราะไม่ประสงค์จะให้เกิดผลกระทบต่อจื่อ-ยฺหวี[13]

หวัง เข่อฟู่ (王可富) นักกฎหมายสิทธิมนุษยชนชาวไต้หวัน ฟ้องหฺวาง อัน กับเจวายพีเอนเตอร์เทนเมนต์ เป็นจำเลยที่ฝ่าฝืนประมวลกฎหมายอาญาโดยบังคับจิตใจจื่อ-ยฺหวี และริดรอนสิทธิในการกำหนดตนเองของจื่อ-ยฺหวี[14][15]

หฺวาง อัน ประกาศลงบัญชีเวย์ปั๋วของตัวว่า จะแถลงข่าว ณ วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2016 ในไต้หวัน เพื่อชี้แจงข้อมูลฝ่ายตนบ้าง โดยระบุว่า ตนมิได้ทำอะไรผิด หากแต่เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้มากกว่า[11][16] ไม่นานหลังจากนั้น หฺวาง อัน ลบเนื้อหาในบัญชีเวย์ปั๋วของตัวทิ้งทั้งสิ้น คิดเป็นข้อความและรูปภาพราว 4,900 ชุด[13]

ผลต่อเจวายพีเอนเตอร์เทนเมนต์ แก้

วันที่ 18 มกราคม 2016 ไม่กี่วันหลังจื่อ-ยฺหวี ขอขมา หุ้นของเจวายพีเอนเตอร์เทนเมนต์ในตลาดหุ้นคอสแด็ก (KOSDAQ) ร่วงอย่างหนัก จาก 6,300 วอนลงไปที่ 4,000 วอน และปิดตัวที่ 4,300 วอน[17]

นอกจากคดีที่หวัง เข่อฟู่ ฟ้องในไต้หวันข้างต้นแล้ว ศูนย์เกาหลีหลากวัฒนธรรม (Center for Multicultural Korea) ยังตั้งข้อสงสัยต่อจริยธรรมของเจวายพีเอนเตอร์เทนเมนต์ ทั้งจะสอบสวนว่า จื่อ-ยฺหวี ขอขมาโดยเต็มใจหรือไม่ ถ้าพบว่า จื่อ-ยฺหวี ถูกบีบให้แถลงขอขมา ก็จะฟ้องเจวายพีเอนเตอร์เทนเมนต์ กับประธาน คือ พัก จิน-ย็อง ฐานเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเชื้อชาติ และฐานละเมิดสิทธิมนุษยชน[18]

ในช่วงเวลาเดียวกัน นักเลงคอมพิวเตอร์นิรนามหลายรายรุกเข้าไปในเว็บไซต์ของเจวายพีเอนเตอร์เทนเมนต์และก่อกวนระบบด้วยวิธีโจมตีโดยปฏิเสธการให้บริการ[19] เจวายพีเอนเตอร์เทนเมนต์กล่าวว่า แม้ไม่อาจระบุตัวผู้บุกรุก แต่ก็เชื่อว่า เกี่ยวพันกับกรณีของจื่อ-ยฺหวี[20]

เจวายพีเอนเตอร์เทนเมนต์ยังกล่าวว่า เตรียมกำหนดวิธีการใหม่ในการดำเนินกิจกรรมต่างแดน เพื่อมิให้เกิดความขัดแย้งแก่ลูกจ้างของตนอีก วิธีการเหล่านี้รวมถึงการฝึกอบรมเกี่ยวกับความอ่อนไหวทางวัฒนธรรม ซึ่งจะรวมประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศเอาไว้ด้วย[21]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 Buckley, Chris & Ramzy, Austin (2016-01-16). "Singer's Apology for Waving Taiwan Flag Stirs Backlash of Its Own".{{cite news}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  2. 2.0 2.1 Gloria Chan (16 January 2016). "Who is the 16-year-old girl at the centre of a political storm ahead of Taiwan's presidential poll?". South China Morning Post.
  3. "Tzuyu chosen as most beautiful face in China". Korea Herald. 2015-12-29.
  4. Daniel Politi. (2016-01-16). "Did a 16-Year-Old Pop Star Help Pro-Independence Party Win Taiwan’s Election?" Retrieved: 2016-01-18.
  5. "Chou Tzu-yu deal in jeopardy after Huang An tip-off". Taipei Times.
  6. Hong Kong star’s face blurred out on Chinese state TV show after he shared news report suggesting former premier Zhou Enlai was gay South China Morning Post 11 Jan 2016
  7. 7.0 7.1 "Taiwan's presidential candidates unite after apology by K-pop singer Chou Tzu-yu over flag scandal". Shanghaiist. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-02. สืบค้นเมื่อ 2016-03-31.
  8. "Taiwanese K-pop singer Chou Tzu-yu mired in flag row". The Straits Times.
  9. Li Xueying (16 January 2016). "Video of K-pop singer Chou Tzu-yu apologising for waving flag angers Taiwanese on polling day". The Straits Times.
  10. "MAC asks China to rein in private sector in wake of flag controversy". 2016-01-16. สืบค้นเมื่อ 2016-01-18.
  11. 11.0 11.1 Horwitz, Josh. "Why a washed-up pop star is suddenly the most hated man in Taiwan". Quartz. Atlantic Media Co. สืบค้นเมื่อ 22 January 2016.
  12. "Politicians Weigh into Taiwan Teen Starlet Controversy". The Chosun-Ilbo. 18 January 2016.
  13. 13.0 13.1 "China-based Taiwanese singer deletes online messages after flag row". Yonhap News Agency. 20 January 2016.
  14. Hsieh, Nine (20 January 2016). "JYP Entertainment and Huang An face lawsuit over teen pop star spat". China Post. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-01-10. สืบค้นเมื่อ 2016-01-31.
  15. Chen, Christie (18 January 2016). "Timeline of the Chou Tzu-yu flag controversy". Focus Taiwan. Central News Agency.
  16. "Huang An to explain his side of story next month". Taipei Times. 19 January 2016.
  17. Park, Hyong-ki; Lee, Joel (18 January 2016). "[Newsmaker] JYP in tight spot over Tzuyu furor". The Korea Herald. Herald Corporation. สืบค้นเมื่อ 28 January 2016.
  18. Sung, So-young (19 January 2016). "Criticism narrows in on JYP, Park". Korea JoongAng Daily. JoongAng Ilbo. สืบค้นเมื่อ 28 January 2016.
  19. "S Korea website 'hacked' over Chou Tzuyu Taiwan flag row". BBC News. BBC. 19 January 2016. สืบค้นเมื่อ 28 January 2016.
  20. "Cyber attacks brings down JYP Entertainment website". The Korea Times. The Korea Times. 18 January 2016. สืบค้นเมื่อ 28 January 2016.
  21. Kim, Jae-heun (18 January 2016). "JYP Entertainment to overhaul hallyu strategy". The Korea Times. The Korea Times. สืบค้นเมื่อ 28 January 2016.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้