แฮ็นดริก ฮาเมิล
แฮ็นดริก ฮาเมิล (ดัตช์: Hendrick Hamel; 20 สิงหาคม พ.ศ. 2173 – 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2235)[1] เป็นนักสำรวจชาวดัตช์และเป็นชาวตะวันตกคนแรกที่ได้เขียนหนังสือบันทึกว่าด้วยอาณาจักรโชซ็อนของเกาหลี หลังจากอยู่ที่นั่นเป็นเวลา 13 ปี เขาได้เขียนหนังสือ Hamel's Journal and a Description of the Kingdom of Korea, 1653–1666 ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในภายหลังเมื่อ พ.ศ. 2211[1]
แฮ็นดริก ฮาเมิล | |
---|---|
เกิด | 20 สิงหาคม พ.ศ. 2173 |
เสียชีวิต | 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2232 (58 ปี) |
แฮ็นดริก ฮาเมิล เกิดในคอร์เกิม เนเธอร์แลนด์[2] ใน พ.ศ. 2193 เขาล่องเรือไปยังหมู่เกาะอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ และได้ทำงานในฐานะพนักงานบัญชีของบริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ (เฟโอเซ)[1]: 122–123 ใน พ.ศ. 2196 เขาเดินทางไปญี่ปุ่นด้วยเรือชื่อ เดอสแปร์เวอร์ ฮาเมิลและลูกเรืออีก 35 คนรอดชีวิตจากเรือแตกและมาขึ้นฝั่งที่เกาะเชจู อาณาจักรโชซ็อน[3]: 43 [4]: 17 หลังจากถูกจำคุกอยู่บนเกาะเชจูนานนับปี พวกเขาถูกส่งตัวไปยังฮันยัง ราชธานีของอาณาจักรโชซ็อน ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2198 ตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าฮโยจง (ค. 2192 – 2202)[1]: 39–48, 52 เพื่อเป็นการรักษาธรรมเนียมในเวลานั้นราชสำนักจึงห้ามไม่ให้ฮาเมิลและลูกเรือของเขาออกจากโชซ็อน[1]: 43–44 ระหว่างที่อยู่ที่โชซ็อน พวกเขาได้รับอิสระในการใช้ชีวิตแบบปกติในสังคมโชซ็อน[1]: 52, 59, 66
ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2209 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าฮย็อนจง 13 ปีหลังจากใช้ชีวิตในเกาหลี ฮาเมิลและลูกเรือที่เหลือรอดชีวิตมาได้ทั้งสิ้น 7 คนจัดการหนีไปยังญี่ปุ่น ที่นั่นเนเธอร์แลนด์ได้ตั้งสถานีการค้าเล็ก ๆ บนเกาะจำลองซึ่งเรียกกันว่าเดจิมะที่นางาซากิ[1]: 75–82, 12 ระหว่างที่เขาใช้ช่วงเวลาที่นางาซากิ (กันยายน พ.ศ. 2209 ถึงตุลาคม พ.ศ. 2210) ฮาเมิลได้เขียนหนังสือซึ่งเกี่ยวกับช่วงเวลาของเขาในเกาหลี[1]: 124 จากนั้น ฮาเมิลและลูกเรือของเขาออกเดินทางไปปัตตาเวีย (จาการ์ตาในปัจจุบัน) ในหมู่เกาะอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ในปลายปี พ.ศ. 2210[1]: 125 เขาพำนักในปัตตาเวียจนถึง พ.ศ. 2213 และได้ส่งลูกเรือที่มีความชำนาญในการเดินเรือกลับไปเนเธอร์แลนด์ตั้งแต่ พ.ศ. 2210 นอกจากนี้เขายังได้ฝากต้นฉบับหนังสือที่เขาเขียนจำนวน 3 ฉบับไปกับพวกเขา โดยทั้งหมดได้รับการตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2211[1]: 125 ตัวฮาเมิลไม่ได้เดินทางกลับเนเธอร์แลนด์จนถึง พ.ศ. 2213[1]: 125
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 Ledyard, Gari (1971). The Dutch Come to Korea. Seoul Korea: Royal Asiatic Society. pp. Whole book.
- ↑ Savenije, Henny. "Hendrick Hamel". The Journal of Hamel and Korea. สืบค้นเมื่อ November 8, 2015.
- ↑ Griffis, William Elliot (1885). Corea Without and Within. Philadelphia: Presbyterian board of publication.
- ↑ Winchester, Simon (1988). Korea: A Walk Through the Land of Miracles. New York, NY: Prentice Hall Press. pp. Whole book. ISBN 0-13-517244-6.