แฮร์แบร์ท ฟ็อน คารายัน
แฮร์แบร์ท ริทเทอร์ ฟ็อน คารายัน (เยอรมัน: Herbert Ritter von Karajan) สมญานาม จักรพรรดิแห่งเลกาโต (The Emperor of Legato) เป็นผู้อำนวยเพลงชาวออสเตรีย มีชื่อเสียงในฐานะผู้อำนวยวงออร์เคสตราและโอเปรา โดยเฉพาะวงเวียนนาฟิลฮาร์มอนิกและเบอร์ลินฟิลฮาร์มอนิก
แฮร์แบร์ท ฟ็อน คารายัน | |
---|---|
คารายันใน ค.ศ. 1938 | |
ข้อมูลพื้นฐาน | |
ชื่อเกิด | แฮร์แบร์ท ริทเทอร์ ฟ็อน คารายัน |
เกิด | 5 เมษายน ค.ศ. 1908 ซัลทซ์บวร์ค ออสเตรีย |
เสียชีวิต | 16 กรกฎาคม ค.ศ. 1989 อานิฟ ซัลทซ์บวร์ค ออสเตรีย |
แนวเพลง | ดนตรีคลาสสิก |
อาชีพ | ผู้อำนวยเพลง |
เครื่องดนตรี | เปียโน |
ช่วงปี | ค.ศ. 1929–1989 |
คารายันมีผลงานอำนวยเพลงบันทึกเสียงกับทั้งสองวงเป็นจำนวนมาก มียอดขายอัลบั้มกว่า 200 ล้านแผ่น[1] นับเป็นนักดนตรีคลาสสิกที่มียอดขายสูงสุดตลอดกาล และได้รับการยกย่องว่าเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลต่อวงการดนตรีคลาสสิกในคริสต์ศตวรรษที่ 20 นอกจากนี้ยังเป็นศิลปินคนแรกที่บันทึกเสียงอัลบัมวางตลาดด้วยคอมแพ็กต์ดิสก์เมื่อปี 1981 [2]
ประวัติ
แก้ตระกูลคารายันมีเชื้อชายกรีกและมาซีโดเนีย ปู่ทวดของแฮร์แบร์ทเกิดในเมืองโคซานี จักรวรรดิออตโตมัน (ปัจจุบันอยู่ในประเทศกรีซ) และอพยพมายังเวียนนาในปี 1767 และตัดสินใจลงหลักปักฐานในเมืองเค็มนิทซ์ ราชรัฐซัคเซิน ตระกูลคารายันมีส่วนในการจัดตั้งอุตสาหกรรมทอผ้าในเมืองเค็มนิทซ์ และแล้วในปี 1792 ตระกูลคารายันก็ได้รับฐานันดรขุนนางชั้นอัศวินจากพระเจ้าฟรีดริช เอากุสท์ที่ 1 แห่งซัคเซิน โดยสามารถเติมคำว่า von ลงในนามสกุล
แฮร์แบร์ท เกิดที่เมืองซัลทซ์บวร์ค จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี เป็นบุตรคนที่สองครอบครัว[3][4] แฮร์แบร์ทเป็นเด็กที่มีพรสวรรค์ในการเล่นเปียโน[5] ระหว่างปี 1916 ถึง 1926 เขาเรียนวิชาดนตรีที่มหาวิทยาลัยโมซาร์ทเทอุมแห่งซัลทซ์บวร์ค และได้รับการแนะนำให้ศึกษาวิชาวาทยกรรม เขาจบการศึกษาที่นี่ในปี 1926 และเข้าศึกษาวิชาเปียโนและวาทยกรรมต่อที่วิทยาลัยเวียนนา[6]
ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง
แก้คารายันขึ้นแสดงครั้งแรกในฐานะวาทยกรในปี 1929 ที่เมืองซัลทซ์บวร์ค การแสดงครั้งนั้นได้รับความสนใจเป็นพิเศษจากผู้จัดการใหญ่ของโรงละครแห่งชาติของเมืองอุล์ม คารายันจึงได้รับการทาบทามและได้รับตำแหน่งผู้ช่วยครูเพลงของโรงละครดังกล่าว ต่อมา เมื่อครูเพลงของโรงละครจำต้องลี้ภัยทางการเมืองออกจากเยอรมนีในปี 1933 จากการขึ้นสู่อำนาจของพรรคนาซี คารายันจึงได้รับแต่งตั้งเป็นครูเพลงคนใหม่
คารายันก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในปี 1935 เมื่อเขากลายเป็น ผู้อำนวยเพลง (Generalmusikdirektor) ที่อายุน้อยที่สุดของประเทศเยอรมนี ประจำอยู่ที่เมืองอาเคิน นอกจากนี้ ยังได้รับเชิญเป็นวาทยกรอาคันตุกะที่เมืองบูคาเรสต์, บรัสเซลส์, สตอกโฮล์ม, อัมสเตอร์ดัม และปารีส ต่อมาในปี 1938 เขาได้ขึ้นแสดงเป็นครั้งแรกกับวงเบอร์ลินฟิลฮาร์มอนิก และวงดุริยางค์รัฐเบอร์ลิน เขาได้รับเสียงชื่นชมอย่างล้นหลามจากนักวิจารณ์ในเบอร์ลิน และถูกเรียกว่า "คารายันผู้อัศจรรย์" (Das Wunder Karajan) คารายันกลายเป็นวาทยกรในระดับเดียวกับวิลเฮ็ล์ม ฟวร์ทเว็งเลอร์ และวิคตอร์ เดอ ซาบาตา สองวาทยกรผู้ยิ่งใหญ่ในเยอรมนีขณะนั้น
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง
แก้หลังสงครามโลกครั้งที่สอง คารายันกลับสู่วงการดนตรีในปี 1946 แม้ว่าเขาเผชิญกับข้อกล่าวหาว่าเป็นนาซี ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำงานชั่วคราว แต่ด้วยความสามารถทางดนตรีที่โดดเด่น เขาสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว และในปี 1947 เขาได้อำนวยเพลงครั้งแรกที่ La Scala ในนครมิลาน ซึ่งถือเป็นการเปิดตัวในระดับนานาชาติครั้งใหม่ของเขา หลังจากนั้นไม่นาน เขาก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นวาทยกรประจำวงดุริยางค์ซิมโฟนีเวียนนา (Vienna Symphony Orchestra) และวงดุริยางค์ฟิลฮาร์โมนิกแห่งกรุงลอนดอน (London Philharmonic Orchestra)
จุดสำคัญในอาชีพของคารายานมาถึงในปี 1955 เมื่อเขาได้รับตำแหน่งวาทยกรประจำวงเบอร์ลินฟิลฮาร์โมนิก ซึ่งเป็นความร่วมมือที่ยาวนานถึง 35 ปี การทำงานของเขากับวงเบอร์ลินฟิลฮาร์โมนิกได้กลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกด้วยความสมบูรณ์แบบและความประณีตในการอำนวยเพลง ซึ่งวงนี้กลายเป็นหนึ่งในวงดนตรีออร์เคสตราชั้นนำของโลกภายใต้การนำของเขาในช่วงนี้ คารายันยังให้ความสำคัญกับการบันทึกเสียงและสื่อสมัยใหม่ โดยได้ร่วมงานกับบริษัทบันทึกเสียงอย่างด็อยท์เชอกรัมโมโฟน และเป็นผู้นำในการใช้เทคโนโลยีการบันทึกเสียงระดับสูง ทำให้เขากลายเป็นหนึ่งในวาทยกรที่บันทึกผลงานมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ผลงานเหล่านี้ยังคงได้รับการยกย่องอย่างต่อเนื่องในวงการดนตรีคลาสสิก
นอกจากนี้ คารายานยังมีบทบาทสำคัญในงานเทศกาลซัลทซ์บวร์ค และเทศกาลปาสควาในอิตาลี ซึ่งเป็นเวทีสำคัญสำหรับการนำเสนอผลงานดนตรีที่ยอดเยี่ยมของเขา คารายันถือเป็นสัญลักษณ์ของความสมบูรณ์แบบในด้านการอำนวยเพลง และอิทธิพลของเขายังคงอยู่ในวงการดนตรีคลาสสิกแม้หลังจากการเสียชีวิตในปี 1989 ความสามารถและผลงานของเขายังคงเป็นที่จดจำและยกย่องอย่างสูงในประวัติศาสตร์ดนตรี
อ้างอิง
แก้- ↑ The Life and Death of Classical Music by Norman Lebrecht, p. 137.
- ↑ “How the CD was developed.” BBC News. Database online. Available from http://news.bbc.co.uk/2/hi/technology/6950933.stm; Internet. Accessed 3 March 2009.
- ↑ "Herbert von Karajan – His Life". www.karajan.org. สืบค้นเมื่อ 2019-09-27.[ลิงก์เสีย]
- ↑ Osborne 2000, p. [ต้องการเลขหน้า]
- ↑ แฮร์แบร์ท ฟ็อน คารายัน ที่สารานุกรมบริตานิกา
- ↑ Artist Biography by David Brensilver, สืบค้นเมื่อ 31 May 2014
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- Official Herbert von Karajan website, Vienna เก็บถาวร 2016-07-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Tribute site to Herbert von Karajan เก็บถาวร 2007-12-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน