แอร์วีน ฟ็อน วิทซ์เลเบิน

โยพ วิลเฮ็ล์ม เกออร์ค แอร์ทมัน แอร์วีน ฟ็อน วิทซ์เลเบิน (เยอรมัน: Job Wilhelm Georg Erdmann Erwin von Witzleben) เป็นจอมพลเยอรมันในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เขาเป็นหนึ่งในผู้นำในแผนลับ 20 กรกฎาคม ในปี 1944 เพื่อสอบสังหารอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ โดยถูกวางตัวให้เป็นผู้บัญชาการใหญ่แห่งแวร์มัคท์คนใหม่ถ้าแผนการสำเร็จ วิทซ์เลเบินถูกศาลประชาชนตัดสินให้ประหารชีวิต

แอร์วีน ฟ็อน วิทซ์เลเบิน
ฟ็อน วิทซ์เลเบินในปี 1940 หรือ 1941
เกิด4 ธันวาคม ค.ศ. 1881(1881-12-04)
เบร็สเลา ราชอาณาจักรปรัสเซีย
จักรวรรดิเยอรมัน
(ปัจจุบันอยู่ในประเทศโปแลนด์)
เสียชีวิต8 สิงหาคม ค.ศ. 1944(1944-08-08) (62 ปี)
ทัณฑสถานเพิล์ทเซินเซ กรุงเบอร์ลิน นาซีเยอรมนี
รับใช้ เยอรมนี (ถึง 1918)
 เยอรมนี (ถึง 1933)
 ไรช์เยอรมัน (ถึง 1944)
แผนก/สังกัดกองทัพบก
ประจำการ1901–1944
ชั้นยศ จอมพล
บังคับบัญชากองทัพที่ 1
การยุทธ์สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
สงครามโลกครั้งที่สอง
บำเหน็จกางเขนอัศวินแห่งกางเขนเหล็ก

วิทซ์เลเบินเป็นหนึ่งในบุคคลที่ต่อต้านระบอบนาซีตั้งแต่ที่ฮิตเลอร์เริ่มก้าวขึ้นสู่อำนาจ ยามที่พลเอกควร์ท ฟ็อน ชไลเชอร์ และพลตรีเบรโดถูกสังหารในคืนมีดยาวโดยพวกนาซีอ้างว่าเป็นอุบัติเหตุ เขาและเพื่อนทหารอย่างมันชไตน์, เลพ และรุนท์ชเต็ท เข้าชื่อเรียกร้องให้มีการสอบสวนเหตุการณ์ดังกล่าว นอกจากนี้ เขายังวิพากษ์วิจารณ์ฮิตเลอร์ที่ข่มเหงรังแกจอมพลบล็อมแบร์คและนายพลฟริทช์ด้วยข้อกล่าวหาอื้อฉาว ด้วยเหตุนี้เอง วิทซ์เลเบินจึงถูกให้เกษียณก่อนกำหนด อย่างไรก็ตาม ฮิตเลอร์จำเป็นต้องเรียกตัววิทซ์เลเบินกลับมาทำงานอีกครั้งเพื่อเตรียมการเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สอง

ก่อนปี 1938 วิทซ์เลเบินเป็นสมาชิกของกลุ่มโอสเทอร์ หรือที่เรียกว่าแผนสมคบเดือนกันยายน (Septemberverschwörung) สมาชิกในกลุ่มนี้มีทั้งพลเอกอาวุโสลูทวิช เบ็ค, นายพลเอริช เฮิพเนอร์, นายพลคาร์ล-ไฮน์ริช ฟ็อน ชตึลพ์นาเกิล, นายพลเรือวิลเฮ็ล์ม คานาริส และพันโทฮันส์ โอสเทอร์ ทั้งหมดร่วมวางแผนรัฐประหารโค่นล้มฮิตเลอร์ วิทซ์เลเบินเริ่มจัดแจงคนของตัวเองไปอยู่ในตำแหน่งต่างๆในย่านที่ทำการรัฐบาลของกรุงเบอร์ลิน

กันยายน 1939 พลเอกอาวุโสวิทซ์เลเบินเป็นผู้บัญชาการกองทัพที่ 1 ประจำแนวรบด้านตะวันตก และมีส่วนร่วมในยุทธการที่ฝรั่งเศส หน่วยทหารของเขาซึ่งสังกัดกลุ่มทัพ C ได้ข้ามแนวมาฌีโนในวันที่ 14 มิถุนายน 1940 ตามมาด้วยการยอมแพ้ของฝรั่งเศสในสามวันให้หลัง ความชอบนี้ทำให้วิทซ์เลเบินได้รับกางเขนอัศวินแห่งกางเขนเหล็ก[1] และได้เลื่อนยศขึ้นเป็นจอมพล

ในปี 1941 เขาได้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการใหญ่เขตตะวันตกต่อจากจอมพลรุนท์ชเต็ท อย่างไรก็ตาม เขาดำรงตำแหน่งเพียงสิบเดือนเศษก็ขอลาออกจากตำแหน่งด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ บางแหล่งข่าวระบุว่า เขาถูกบีบให้เกษียณในเวลานี้เนื่องจากได้วิพากษ์วิจารณ์แผนการบุกสหภาพโซเวียตในปฏิบัติการบาร์บาร็อสซา

ยศทหาร แก้

  • มีนาคม 1901 : ร้อยตรี (Leutnant)
  • มิถุนายน 1910 : ร้อยโท (Oberleutnant)
  • ตุลาคม 1914 : ร้อยเอก (Hauptman)
  • เมษายน 1923 : พันตรี (Major)
  • มกราคม 1929 : พันโท (Oberstleutnant)
  • เมษายน 1931 : พันเอก (Oberst)
  • กุมภาพันธ์ 1934 : พลตรี (Generalmajor)
  • ธันวาคม 1934 : พลโท (Generalleutnant)
  • ตุลาคม 1936 : พลเอกทหารราบ (General der Infanterie)
  • พฤศจิกายน 1939 : พลเอกอาวุโส (Generaloberst)
  • กรกฎาคม 1940 : จอมพล (Generalfeldmarschall)

อ้างอิง แก้

  1. Fellgiebel 2000, p. 450.
ก่อนหน้า แอร์วีน ฟ็อน วิทซ์เลเบิน ถัดไป
จอมพล แกร์ท ฟ็อน รุนท์ชเต็ท   ผู้บัญชาการใหญ่เขตตะวันตก
(1 พฤษภาคม 1941 – 15 มีนาคม 1942)
  จอมพล แกร์ท ฟ็อน รุนท์ชเต็ท
ไม่มี   ผู้บัญชาการกลุ่มทัพ D
(25 ตุลาคม 1940 – 15 มีนาคม 1942)
  จอมพล แกร์ท ฟ็อน รุนท์ชเต็ท