ชาวแองเกิล

(เปลี่ยนทางจาก แองเกิลส์)

แองเกิล (อังกฤษ: Angles) เป็นคำภาษาอังกฤษใหม่สำหรับเรียกกลุ่มผู้พูดภาษากลุ่มเจอร์แมนิกที่ได้ชื่อมาจากบริเวณการตั้งถิ่นฐานอังเงิลน์ (Angeln) ที่อยู่ในบริเวณรัฐชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์ (Schleswig-Holstein) ในเยอรมนีปัจจุบัน แองเกิลเป็นกลุ่มชนหลักที่มาตั้งถิ่นฐานในบริเตนในช่วงเวลาหลังจากการล่มสลายของจักรวรรดิโรมัน (Fall of the Roman Empire) และก่อตั้งอาณาจักรหลายอาณาจักรในสมัยแองโกล-แซกซันของอังกฤษและ "Angles" เป็นรากของคำว่า "England" (อังกฤษ)

จักรวรรดิโรมันภายไต้จักรพรรดิเฮเดรียน (ปกครอง ค.ศ. 117-ค.ศ. 138) แสดงที่ตั้งของ "Anglii" ที่ตั้งถิ่นฐานบริเวณคอแหลมจัตแลนด์ (เดนมาร์ก)

ที่มา

แก้

ชื่อกลุ่มชน "แองเกิล" สะกดได้หลายอย่าง แรกสุดสะกด "Anglii" ซึ่งเป็นการสะกดแบบละตินของกลุ่มชนเจอร์แมนิก ที่กล่าวถึงในหนังสือ "Germania" โดยนักประวัติศาสตร์โรมันแทซิทัส "Anglii" เป็นคุณศัพท์ ถ้าเป็นบุคคลในเผ่าที่เป็นผู้ชายก็จะเรียกว่า "Anglius" ถ้าเป็นผู้หญิงก็จะเรียกว่า "Anglia" (พหูพจน์ "Anglii" และ "Angliae" ตามลำดับ) คำเรียกผู้ชายเป็นคำที่ใช้เรียกทั่วไป

คำนามเดิมที่เป็นที่มาของคุณศัพท์ยังไม่ทราบแน่นอนว่าเป็นคำใด รากคำสันนิษฐานกันว่ามาจากโครงสร้าง *Ang?l/r- ทฤษฎีทางศัพท์มูลวิทยาต่าง ๆ ที่พยายามอธิบายที่มาของคำก็ได้แก่

  • มาจากภาษาละตินของคำว่า "Angulus" ที่แปลว่า "Angle"
  • มาจากภาษาอังกฤษเก่าที่ใช้เรียกบริเวณอังเงิลน์ในทะเลบอลติก ที่เชื่อกันว่าเป็นที่ตั้งถิ่นฐานเดิม ซึ่งเป็นทฤษฎีที่เป็นที่น่าเชื่อถือกว่าทฤษฎีอื่นในบรรดานักประวัติศาสตร์ และอาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับคำว่า "Angle" (แหลมมีลักษณะเป็นเหลี่ยม)
  • อาจจะหมายถึง "ผู้ตั้งถิ่นฐานใกล้บริเวณลำน้ำที่แคบ" (เช่น ปากน้ำชไล) จากรากจากภาษาอินโด-ยูโรเปียนดั้งเดิม "ang-" ที่แปลว่า "แคบ"
  • มาจากชื่อ "Ingwaz" ผู้เป็นพระเจ้าของชนเจอร์แมนิก หรือ สหพันธ์ "Ingvaeones" ที่ชาวแองเกิลเป็นส่วนหนึ่ง (สระตัวแรกอาจจะเป็น "a" หรือ "e")

พระสันตะปาปาเกรกอรีทรงเปลี่ยนให้เขียนให้ง่ายขึ้นจาก "Anglii" เป็น "Angli" ในจดหมายของพระองค์ ซึ่งกลายเป็นคำที่นิยมใช้กันในบริเตนและยุโรปต่อมา แต่การเรียกประเทศยังคงใช้คำว่า "Anglia" ในภาษาละติน ขณะเดียวกันก็มีคำที่คล้ายคลึงกันทั้งการสะกดและความหมายในวรรณกรรมภาษาอังกฤษเก่า: งานแปล "โอโรเซียส" ของสมเด็จพระเจ้าอัลเฟรดมหาราช ใช้คำว่า "Angelcynn" (Angel-kin) ในการบรรยายดินแดนและชนอังกฤษ; นักบุญบีด ใช้คำว่า "Angelfolc" (Angel--folk); นอกจานั้นก็ยังมีการใช้คำว่า "Engel", "Englan" (ชน), "Englaland" และ "Englisc" ที่แสดงให้เห็นความวิวัฒนาการของการออกเสียงที่ต่อมากลายเป็นลักษณะที่นิยมกัน

"Angle" เป็นรากของภาษาฝรั่งเศสและภาษาแองโกล-นอร์มันของคำว่า "Angleterre" (Angleland = อังกฤษ) และ "Anglais" (ภาษาอังกฤษ)

อ้างอิง

แก้
  • This article incorporates text from the article "Angli" by Hector Munro Chadwick, in the Encyclopædia Britannica, Eleventh Edition, a publication now in the public domain.

ดูเพิ่ม

แก้