ศาสตราจารย์พิเศษ ร้อยตำรวจโท แสง มนวิทูร (28 กรกฎาคม พ.ศ. 2443 - 7 ตุลาคม พ.ศ. 2516)[1] เป็นนักวิชาการด้านภาษาบาลีและสันสกฤตของ กรมศิลปากร โดยรับหน้าที่ในการสอนภาษาสันสกฤต บาลี และศาสนา ให้แก่นักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร รวมทั้งมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มีผลงานแปลจากภาษาบาลีและสันสกฤตที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นจำนวนมาก อาทิ ชินกาลมาลีปกรณ์ ศาสนวงศ์ สิหิงคนิทาน รัตนพิมพวงศ์ รสวาหินี นาฏยศาสตร์ คัมภีร์ลลิตวิสตระ และภควัทคีตา เป็นต้น

ประวัติ แก้

แสงเกิดเมื่อวันเสาร์ ขึ้น 2 ค่ำ เดือน 9 ตรงกับวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2443 ที่บ้านหมู่ที่ 12 ตำบลบางโปรง อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ บิดาชื่อนายเจิม เป็นชาวบ้านบางระนก จังหวัดนนทบุรี มารดาชื่อนางเพิ่ม เป็นชาวบางโปรง จังหวัดสมุทรปราการ ในวัยเด็ก แสงได้อยู่ในความอุปการะของยาย เนื่องจากทั้งบิดาและมารดาได้ถึงแก่กรรม เมื่อเจริญวัยย่างเข้า 8 ขวบ นายสาคร สุวรรณเวช ผู้เป็นน้าเขย ได้พาไปฝากกับพระครูวิสุทธิวงศ์ (ต่อมาได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นที่ พระอุดมญาณ) อดีตเจ้าอาวาสวัดกลางนา (ปัจจุบันคือวัดทรงธรรม) อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ และได้เข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนวัดกลางนา เรียนอยู่ประมาณ 2 ปีเศษ ก็เกิดเจ็บป่วยจึงต้องยุติการศึกษา และกลับมาอยู่กับยายที่บ้านบางโปรงระยะหนึ่ง จึงได้กลับไปศึกษาต่อที่โรงเรียนวัดบางฝ้าย อำเภอพระประแดง ครั้น พ.ศ. 2454 ได้ย้ายไปเข้าโรงเรียนวัดบางหัวเสือ อำเภอพระประแดง จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ขณะนั้นอายุได้ 15 ปี นายฮอก ลิมปิโกวิท (บิดาหลวงวจีสุนทราลักษณ์) ซึ่งมีฐานะเป็นตาเขยได้พาเข้ากรุงเทพ ฯ โดยฝากให้อยู่กับ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (แพ ติสฺสเทโว) วัดสุทัศนเทพวราราม ซึ่งขณะนั้นดำรงสมณศักดิ์ที่พระพรหมมุนี เพื่อให้เข้าเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย แต่ด้วยยังไม่มีผู้นำฝากเข้าเรียน จึงตัดสินใจบรรพชาเป็นสามเณร เมื่ออายุ 17 ปี และได้ศึกษาเล่าเรียนต่อมาในวัดสุทัศนเทพวราราม

ศึกษาภาษาบาลีและสันสกฤต แก้

เมื่อบรรพชาเป็นสามเณรแล้ว แสงได้พากเพียรศึกษาเล่าเรียนทั้งบาลีและนักธรรม และได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่อ พ.ศ. 2464 ณ วัดบางฝ้าย อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (แพ ติสฺสเทโว) ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่พระพรหมมุนี เป็นพระอุปัชฌายะ ได้รับฉายาว่า สุทฺธสีโล แล้วกลับมาจำพรรษา ณ วัดสุทัศนเทพวรารามตามเดิม และสอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยค ใน พ.ศ. 2470

มูลเหตุที่ท่านหันมาสนใจภาษาสันสกฤตก็คือ ขณะที่บวชเป็นพระภิกษุ และสอบได้เปรียญ 3 ประโยคแล้วนั้น พระมหาแสงได้พบหนังสือสันสกฤตเล่มหนึ่ง เขียนด้วยอักษรเทวนาครี บนตำหนักสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (แพ ติสฺสเทโว) จึงได้เกิดความสนใจ นำมาพิจารณาดูและพยายามอ่าน ก็เห็นมีที่เขียนเป็นอักษรไทยและคำแปลไว้โศลกหนึ่ง ว่า สตฺสงฺค เกศเว ภกฺติรฺ คงฺคามฺกสิ นิมชฺชนํ อสาเร ขลุ สำสาเร ตฺรีณิ สาราณิ ภาวเยตฺ (การคบสาธุชน 1 ภักดีต่อพระเจ้า 1 อาบน้ำในแม่น้ำคงคา 1 เมื่อโลกไม่มีสาระ สัตบุรุษพึงทำสาระ 3 อย่างนี้)

ค่ำวันหนึ่ง พระมหาแสงเดินไปตามถนนพาหุรัด ก็พบแขกขายผ้านั่งที่หน้าร้าน จึงได้หยุดสนทนากับแขกผู้นั้น โดยนำเอาโศลกข้างบนมากล่าวขึ้น แขกผู้นั้นจึงกล่าวขึ้นว่า “กุตฺร ปฺรติ วสติ ภวานฺ ?” พระมหาแสงฟังไม่ออกว่าเขาพูดว่ากระไร แขกคนนั้นจึงเอาดินสอเขียนลงกระดาษที่เป็นแกนม้วนผ้า พอพระมหาแสงได้เห็นตัวอักษรก็แปลคำที่แขกผู้นั้นพูดได้ว่า “ท่านอยู่วัดไหน” และก็ทราบทันทีว่าเหมือนตัวอักษรที่อยู่ในหนังสือฉบับที่ได้จากตำหนักสมเด็จ จึงเชิญแขกผู้นั้นมาที่กุฏิและหยิบหนังสือให้ดู จึงได้ทราบว่าเป็นหนังสือ "หิโตปเทศ"[ต้องการอ้างอิง]

ต่อมาพระมหาแสงได้ขอร้องให้แขกผู้นั้นสอนภาษาสันสกฤตให้ จึงได้ทราบว่าท่านคือ บัณฑิต รฆุนาถ ศรฺมา ซึ่งเป็นพ่อค้าและนักปราชญ์ชาวอินเดียคนสำคัญผู้หนึ่งซึ่งมีนิวาสสถานอยู่ในประเทศไทย และท่านก็เต็มใจสอนให้ จากนั้นจึงได้เรียนต่อกับพราหมณ์ ป.ส. ศาสตรี ซึ่งเป็นปราชญ์ผู้เชี่ยวชาญภาษาสันสกฤตของราชบัณฑิตยสภา ต่อมาหลังจากได้ลาสิกขาแล้วก็ยังได้ศึกษาต่อกับท่าน สวามี สัตยานันทปุรี และเรียนคัมภีร์ไตรเพทกับท่านสวามี สัตนารายณะ ทำให้เกิดความแตกฉานในภาษาสันสกฤตเป็นอย่างดียิ่ง

การรับราชการ แก้

เมื่อลาสิกขาแล้ว พระภิรมย์ราชา (พร้อม วาจรัต) ได้พาไปฝากเข้ารับราชการกับพระยามุขมนตรี (อวบ เปาโรหิต) โดยเริ่มทำงานเป็นเสมียนฝึกหัด ณ ศาลาว่าการนครบาล ต่อมาได้สอบเข้ารับราชการ โดยใช้ภาษาสันสกฤตเป็นวิชาเลือก ได้รับแต่งตั้งเป็นปลัดอำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย จากนั้นได้โอนย้ายไปรับราชการเป็นตำรวจ ได้เป็นหัวหน้าสถานีตำรวจภูธรกิ่งอำเภอเชียงแสน ได้นำกำลังตำรวจเข้ายึดพื้นที่ทุ่งดินดำในกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส ใน พ.ศ. 2484 ได้รับยศเป็นร้อยตำรวจโท และได้รู้จักคุ้นเคยและสนิทสนมกับ บ. บุญค้ำซึ่งดำรงตำหน่งธรรมการจังหวัดลานช้างในขณะนั้น ต่อมาได้โอนย้ายไปเป็นปลัดอำเภอในแถบภาคเหนืออีกหลายท้องที่ กระทั่ง พ.ศ. 2494 จึงได้โอนย้ายมารับราชการอยู่ที่กรมศิลปากร จนเกษียณอายุราชการ

เหตุที่ได้เข้ามารับราชการในกรมศิลปากรนั้น เนื่องมาจากสมัยรับราชการเป็นปลัดอำเภอ อาจารย์แสงได้พยายามค้นคว้าหลักฐานทางประวัติศาสตร์ต่าง ๆ ทั้งจากตำนาน พงศาวดาร และพยายามเสาะหาสถานที่สำคัญตามที่ปรากฏในพงศาวดารตลอดจนตำนานโบราณต่าง ๆ ว่าปัจจุบันอยู่ ณ ที่ใด มีจริงดังที่โบราณกล่าวไว้ในพงศาวดารหรือไม่ ความรู้เหล่านี้มีประโยชน์สำคัญมาก เมื่อเจ้าหน้าที่ผู้ใหญ่จากส่วนกลางขึ้นไปในจังหวัดภาคเหนือ ผู้บังคับบัญชาจึงมักให้ท่านเป็นผู้มาให้ความรู้ด้านนี้อยู่เสมอ ๆ กระทั่ง พ.ศ. 2493 หลวงรณสิทธิพิชัย อธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้นได้เดินทางไปสำรวจโบราณวัตถุในภาคเหนือ จึงได้รู้จักกับอาจารย์แสงจนได้ประจักษ์ในความรู้ความสามารถ จึงได้ทาบทามให้มารับราชการในกรมศิลปากร อาจารย์แสงได้เข้ารับราชการในตำแหน่งหัวหน้าแผนกสำรวจ กองโบราณคดี และต่อมาได้ย้ายไปเป็นหัวหน้าแผนกหอวชิรญาณ ในกองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร

ขณะรับราชการในกรมศิลปากร ท่านได้รับเชิญไปเป็นผู้บรรยายวิชาภาษาสันสกฤต และวิชาศาสนา ที่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และได้สอนภาษาสันสกฤตและปรัชญาตะวันออก ที่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ต่อมายังได้รับเชิญให้เป็นผู้บรรยายเรื่องศาสนาพราหมณ์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกจากนั้นยังได้มีผู้มาขอให้สอนภาษาสันสกฤตเป็นการเฉพาะตัวอีกหลายท่าน หนึ่งในนั้นคือ ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา ซึ่งท่านผู้หญิงได้เรียนรู้ภาษาสันสกฤตจนสามารถแปลบทละครสันสกฤตเป็นภาษาไทยได้ และได้ตีพิมพ์แล้วคือ สวัปนาวาสวทัตตา

ถึงแก่กรรม แก้

แสงเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ ณ บ้านพัก ที่ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เวลาประมาณ 23.00 น. สิริอายุได้ 73 ปี

ผลงานสำคัญ แก้

  • งานแปลจากภาษาบาลี

ชินกาลมาลีปกรณ์, ศาสนวงศ์, สิหิงคนิทาน, รัตนพิมพวงศ์, รสวาหินี, โลกนิติปกรณ์, โมคคัลลานมหาวยากรณ ฯลฯ

  • งานแปลจากภาษาสันสกฤต

กังสะวธะ, นาฏยศาสตร์, ลลิตวิสตระ, ภควัทคีตา, ตรรกสาร เป็นต้น

  • งานแปลศิลาจารึก

จารึกภาษาสันสกฤตและเขมร จากปราสาทหินพิมาย จังหวัดนครราชสีมา, จารึกภาษาบาลี จากรอยพระพุทธบาทวัดชมพูเวก จังหวัดนนทบุรี, จารึกสันสกฤต ที่ช่องสระแจง จังหวัดปราจีนบุรี, จารึกหลักที่ 23 วัดเสมาเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช, จารึกหลักที่ 24 วัดหัวเวียง อำเภอไชยา เป็นต้น.

เกียรติคุณ แก้

อาจารย์แสงได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางโบราณคดีเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2511 และโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์พิเศษ ในคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2512

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

อ้างอิง แก้

  1. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งศาสตราจารย์, เล่ม ๘๖ ตอนที่ ๕๕ ง หน้า ๑๙๖๑, ๑๗ มิถุนายน ๒๕๑๒
  2. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๗๔ ตอนที่ ๑๑๓ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒๗๐, ๓๑ ธันวาคม ๒๕๐๐
  3. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๗๐ ตอนที่ ๗๘ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๙๓, ๒๓ ธันวาคม ๒๔๙๖
  4. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญชัยสมรภูมิ, เล่ม ๖๐ ตอนที่ ๑๔ ง หน้า ๙๐๐, ๙ มีนาคม ๒๔๘๖
  5. ราชกิจจานุเบกษา, บัญชีรายนาม ผู้ที่ได้รับพระราชทานเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ, เล่ม ๕๒ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๙๐๒, ๒๓ มิถุนายน ๒๔๗๘
  6. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา เก็บถาวร 2018-02-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๘๗ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๑๔๙๙, ๒๑ เมษายน ๒๕๑๓
  7. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญช่วยราชการเขตภายใน, เล่ม ๖๐ ตอนที่ ๔๕ ง หน้า ๒๗๙๙, ๓๑ สิงหาคม ๒๔๘๖
  8. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๗๔ ตอนที่ ๙ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๔๕๑, ๒๓ มกราคม ๒๕๐๐
  • แสง มนวิทูร. รวมบทความของศาสตราจารย์ ร.ต.ท. แสง มนวิทูร (ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพศาสตราจารย์ ร.ต.ท.แสง มนวิทูร). กรุงเทพ ฯ :โรงพิมพ์พิฆเณศ, 2517