แสงดา บันสิทธิ์

(เปลี่ยนทางจาก แสงดา บัณสิทธิ์)

แสงดา บันสิทธิ์ (14 เมษายน พ.ศ. 2462 – 11 มกราคม พ.ศ. 2536) ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (การทอผ้า) พ.ศ. 2529

แสงดา บันสิทธิ์

เกิดแสงดา บันสิทธิ์
14 เมษายน พ.ศ. 2462
บ้านท่าม่วง ตำบลสบเตี๊ยะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศสยาม
เสียชีวิต11 มกราคม พ.ศ. 2536 (73 ปี)
โรงพยาบาลแมคคอร์มิค จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย
อาชีพครู,เกษตรกร
คู่สมรสดาบมาลัย บันสิทธิ์
บุตร1 คน
บิดามารดา
  • หมวก (บิดา)
  • คำมูล (มารดา)
รางวัลพ.ศ. 2529 – ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (การทอผ้า)

ประวัติ แก้

แสงดา บันสิทธิ์ เกิดที่บ้านท่าม่วง ตำบลสบเตี๊ยะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2462 เป็นธิดาคนเดียวของนายหมวกและนางคำมูล[1] ได้สมรสกับนายดาบมาลัย บัณสิทธิ์ เมื่อ พ.ศ. 2476 มีบุตรด้วยกัน 1 คน นายดาบมาลัย บัณสิทธิ์ ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2503

แสงดา บัณสิทธิ์ ไม่ได้เข้าโรงเรียน แต่ได้ฝึกเรียนด้วยตนเองกับคุณลุง จนมีความสามารถอ่านออกเขียนได้

แสงดา ได้รับการสืบทอดความรู้จากคุณยายผู้ซึ่งมีความชำนาญในการย้อมผ้า ทอผ้า และรับจ้างย้อมสีผ้าฝ้ายด้วยสมุนไพรแบบโบราณ ได้กระทำมาเรื่อย ๆ จนเกิดความชำนาญและพัฒนาฝีมือได้ดียิ่งขึ้น[2] เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ในยามที่ผ้าขาดตลาด แสงดาก็ได้ริเริ่มทอผ้าที่เรียกว่า “ ผ้าเปลือกไม้ ” สีกากี เพื่อใช้สำหรับตัดชุดข้าราชการให้สามีไปทำงาน ในขณะนั้นได้ใช้กี่สองหลังช่วยกันทอกับคุณแม่ ต่อมาแสงดาได้รวบรวมซื้อกี่ทอผ้าได้ 5 กี่ และชักชวนแม่บ้านมารวบรวมกลุ่มทอผ้า ซึ่งระยะเวลาก่อนที่แสงดาจะถึงแก่กรรมนั้น มีสมาชิกแม่บ้านและสตรีร่วมกลุ่มทอผ้าอยู่ถึง 42 คน และได้ใช้ชื่อกลุ่มว่า “ กลุ่มแม่บ้านบ้านไร่ไผ่งาม ” งานผลิตนั้นจะเน้นใช้ฝ้ายจากพื้นเมือง และการย้อมด้วยสมุนไพรมีลวดลายสวยงามไม่ซ้ำกันมากนัก เนื่องจากนางแสงดาเป็นผู้มีพรสวรรค์ในการคิดประดิษฐ์ลวดลายใหม่ ๆ ทำให้ผ้าฝ้ายของแสงดาและกลุ่มแม่บ้านบ้านไร่ไผ่งามได้รับการกล่าวขวัญถึง เป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป และได้รับการยกย่องตลอดมา

เกียรติคุณที่ได้รับ แก้

แสงดา บันสิทธิ์ ได้รับเกียรติบัตร และโล่รางวัลต่าง ๆ ดังนี้

คำประกาศเกียรติคุณ แก้

แสงดา บันสิทธิ์ เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในการทอผ้า การย้อมผ้าด้วยสีสมุนไพร และการประดิษฐ์คิดลวดลายผ้า ได้อย่างสวยงามล้ำเลิศ ยากที่จะหาผู้ใดเทียบได้ ผลงานทอผ้าที่เผยแพร่ออกไปมากมายนับแสน ๆ เมตร นอกจากจะเป็นการอนุรักษ์ส่งเสริมและพัฒนาศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านแบบครบวงจรแล้วสิ่งที่ถือเป็นเอกลักษณ์อันสำคัญควรแก่การยกย่องก็คือ การใช้สีจากสมุนไพรล้วน ๆ ในการย้อมผ้า โดยไม่ใช้สารเคมีเจือปน ผ้าทุกผืนจึงมีสีงดงามจับตา สิ่งที่สร้างความนิยมให้แก่ศิลปหัตถกรรมแบบพื้นบ้านอย่างไม่มีวันจืดจางเลยก็คือ ความสามารถในการประดิษฐ์คิดลวดลายผ้าได้อย่างหลากหลายดุจสายน้ำ กล่าวได้ว่าผ้าหนึ่งหมื่นพับจะมีหนึ่งหมื่นลวดลาย จนทำให้แสงดา บัณสิทธิ์ เป็นที่รู้จัก อย่างกว้างขวางทั่วไปทั้งในหมู่ชาวไทยและชาวต่างประเทศ แสงดาเป็นผู้ที่ถึงพร้อมด้วยคุณธรรม มีเมตตาจิตต่อผู้สนใจใฝ่รู้ทั่วไป ถือเป็นแบบอย่างที่ดีงามในการดำเนินชีวิต และพัฒนาอาชีพของชาวไทย จึงสมควรยกย่องไว้ในฐานะศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (การทอผ้า) ประจำปีพุทธศักราช 2529[4]

ถึงแก่กรรม แก้

แสงดา บันสิทธิ์ ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2536 ด้วยโรคมะเร็งลำไส้[5] ที่โรงพยาบาลแมคคอร์มิค จังหวัดเชียงใหม่

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

อ้างอิง แก้

  1. ฝ้ายไหมไทยล้านนา. คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. เชียงใหม่: ศูนย์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 1992. p. 55.
  2. แสงดา บันสิทธิ์ เพชรน้ำเอกของวงการทอผ้าแห่งล้านนาไทย. มูลนิธิแสงดา บัณสิทธิ์ และนางเสาวนีย์ บัณสิทธิ์. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. 2002. p. 112. ISBN 978-974-27-2443-6.
  3. วารสารวัฒนธรรมไทย. กองวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ. Vol. 27. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ. มกราคม 1988. p. 52. ISSN 0857-3727.
  4. ศิลปินแห่งชาติ ๒๕๒๙. สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ. กรุงเทพฯ: อมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊พ. 1986. p. 42.
  5. ฉลอง พินิจสุวรรณ (2003). สล่า พื้นบ้านพื้นเมือง: สารคดีชีวิตบุคคลด้านศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น. สำนักพิมพ์ ครูศิลปะ. p. 41. ISBN 978-974-75-3212-8.
  6. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-10-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๐ ตอนที่ ๓๖ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๗๖, ๒๖ มีนาคม ๒๕๓๖