แยกปฐมพร
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
ทางแยกต่างระดับปฐมพร ตั้งอยู่บนจุดตัดของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 หรือ ถนนเพชรเกษม (กรุงเทพ-สะเดา) ถนนสายเอเชีย (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 41) และ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 327 (ถนนเมืองชุมพร) (แยกปฐมพร-ชุมพร) ที่อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร
ชื่ออักษรไทย | ปฐมพร |
---|---|
ชื่ออักษรโรมัน | Pathom Phon |
รหัสทางแยก | AH-2 |
ที่ตั้ง | อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร |
ทิศทางการจราจร | |
↑ | ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) » ประจวบคีรีขันธ์ |
→ | ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 327 (ถนนเมืองชุมพร) » ชุมพร ต่อไปยัง ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4001 |
↓ | ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 41 (ถนนสายเอเชีย) » สุราษฎร์ธานี หลังสวน |
← | ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) » ระนอง |
ถ้าจะเดินทางไป 14 จังหวัดภาคใต้ ระยะทางจากสามแยกปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประมาณกิโลเมตรที่ 251+100.00 ของทางหลวงหมายเลข 4 หรือที่เรียกว่าถนนเพชรเกษม ไปบรรจบสี่แยกปฐมพรประมาณกิโลเมตรที่ 500 เขตอำเภอเมือง จังหวัดชุมพร ระยะทางในช่วงนี้หากเกิดถูกปิดเส้นทางหรือเส้นทางถูกน้ำท่วม จะไม่สามารถเลือกใช้เส้นทางอื่นทดแทนได้ จนกระทั่งถึงสี่แยกปฐมพรจึงจะสามารถเลือกใช้เส้นทางอื่นได้ จะไปทางสุราษฎร์ธานีหรือเลี้ยวขวาไปทางระนอง ถ้าเลี้ยวซ้ายก็จะตรงเข้าไปจังหวัดชุมพร ด้วยเหตุนี้เอง จังหวัดชุมพรจึงได้ชื่อว่าประตูสู่ภาคใต้ ตรงทางแยกปฐมพรนี้เอง
ประวัติ
แก้เส้นทางในชุมพรได้สร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2434 โดยพระยารัตนเศรษฐี (คอซิมก๊อง บุตรคนที่ 2 ของท่าน คอซู้เจียง เจ้าเมืองระนอง) ท่านเริ่มสร้างจาก ชุมพร – กระบุรี สมัยนั้นไม่มีงบประมาณ ท่านต้องไปยืมเงินซึ่งเป็นเงินภาษีมาจากจังหวัดระนอง โดยมีข้อความบันทึกไว้โดยพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นสมมติอมรพันธ์ กราบทูลต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 5 มีความตอนหนึ่งว่า “ด้วยการทำทางตั้งแต่เมืองชุมพรถึงเมืองกระบุรี ซึ่งได้โปรดเกล้าให้พระยารัตนเศรษฐี (กอซิมก๊อง) เป็นแม่กองไปทำ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ยืมเงินภาษีอากรเมืองระนองมาใช้จ่ายเป็นค่าจ้างและค่าเสบียงอาหารจนกว่าทางจะแล้วเสร็จ” แต่การก่อสร้างถนนในสมัยนั้นเป็นเพียงแค่การขุดดินข้างทางถมพอเป็นรูปคันทางเท่านั้นเอง
ส่วนถนนจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ถึงจังหวัดชุมพรนั้น ตามรายงานประจำปีของกรมทาง ปี พ.ศ. 2487 ระบุไว้ว่า เริ่มโครงการเมื่อปี พ.ศ. 2486 โดยระยะแรกเริ่มก่อสร้างประมาณ 30 กิโลเมตรก่อน และโครงการก่อสร้างก็ได้ดำเนินการมาตามลำดับ จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2494 – พ.ศ. 2497 ระยะนั้น นายอมร นุชนิยม นายช่างแขวงการทางชุมพร (ในขณะนั้น) ได้ทำการก่อสร้างทางจากชุมพรไปหลังสวน ทางหลวงหมายเลข 41 ในปัจจุบัน บนเส้นทางสายชุมพร – กระบุรี เกิดมีจุดตัดเป็นสี่แยก นายช่างแขวงอมรจึงได้ตั้งชื่อแยกนั้นว่า “สี่แยกปฐมพร” ตามชื่อธิดาคนโตของท่าน ปัจจุบันคุณปฐมพรมีอายุ 72 ปี
โครงการทางแยกต่างระดับปฐมพร
แก้ปัจจุบัน สี่แยกปฐมพรเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญในการเดินทางไปสู่ภาคใต้ฝั่งตะวันออก ภาคใต้ฝั่งตะวันตกและเข้าสู่จังหวัดชุมพร มีปริมาณการจราจรผ่านเป็นจำนวนมากซึ่งการจัดการจราจรโดยใช้สัญญาณไฟในปัจจุบัน ไม่สามารถรองรับปริมาณการจราจรได้อย่างเหมาะสม เกิดปัญหาการจราจรติดขัดสะสมส่งผลต่อสวัสดิภาพความเป็นอยู่และการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม
เพื่อแก้ไขปัญหาและเพิ่มศักยภาพการเดินทางบริเวณสี่แยกปฐมพร ให้สอดคล้องกับนโยบายของกรมทางหลวงที่ต้องการอำนวยความสะดวกปลอดภัยให้กับประชาชน และพัฒนาโครงข่ายโลจิสติกส์ในภาพรวมของประเทศ กรมทางหลวงจึงเห็นควรปรับปรุงบริเวณสี่แยกปฐมพรให้มีความสะดวกปลอดภัยและบรรเทาการติดขัดของรถยนต์ ที่ต้องจอดรอสัญญาณไฟนานๆ โดยการก่อสร้างทางแยกต่างระดับที่สี่แยกปฐมพร เป็นสะพานคอนกรีตอัดแรงยกระดับ ความกว้าง 11.00 – 15.50 เมตร ขอบทางข้างละ 0.50 เมตร และสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กข้ามลำน้ำ ผิวจราจรกว้าง 11.00 เมตร ขอบทางข้างละ 0.50 เมตร พร้อมถนนระดับพื้นราบผิว Asphaltic กว้าง 4.50 – 11.50 เมตร ไหล่ทางกว้างข้างละ 1.50 และ 2.50 เมตร ในแนวเบี่ยงขวาเส้นทาง ประจวบคีรีขันธ์-สุราษฎร์ธานี ก่อสร้างสะพานคอนกรีตอัดแรงยกระดับแนวถนนชุมพร – ระนอง ความกว้าง 17.00 – 25.00 เมตร ขอบทางกว้างข้างละ 0.50 เมตร และถนนระดับพื้นราบผิว Asphaltic กว้าง 4.50 – 11.50 เมตรเมตร ไหล่ทางกว้างข้างละ 1.50 และ 2.50 เมตร พร้อมงานระบายน้ำ งานติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่าง งานตีเส้นจราจร งานป้ายจราจรและงานปรับปรุงภูมิทัศน์
กรมทางหลวง ได้ดำเนินการสำรวจและออกแบบ คิดราคากลางเบื้องต้น และขออนุมัติงบประมาณก่อสร้างเป็นเงิน 532 ล้านบาท และได้ประกาศประกวดราคาจ้างด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ โดยบริษัท พีระมิดคอนกรีต จำกัด เป็นผู้ชนะด้วยราคา 505,500,000.00 บาท ได้เป็นผู้รับจ้างก่อสร้างทางแยกต่างระดับปฐมพร และโครงการนี้ เริ่มต้นสัญญาเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2552 และสัญญาจะสิ้นสุดในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2554
ทั้งนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณสี่แยก และอำนวยความสะดวกปลอดภัย รองรับปริมาณการจราจรที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ รถยนต์สามารถเดินทางผ่านทางแยกแห่งนี้ได้โดยไม่ต้องจอดรอสัญญาณไฟ ส่งผลให้การเดินทางและขนส่งสินค้ามีความสะดวกรวดเร็วลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง สนับสนุนการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและสังคมเมือง ไปสู่จังหวัดอื่นๆ ในภาคใต้อีกด้วย สมเป็นประตูสู่ภาคใต้โดยแท้จริง