เจ้าเทพไกรสร[2][3] บ้างว่า เจ้าทิพเกสร หรือ เจ้าทิพเกษร[4] (พ.ศ. 2384—2427) เป็นพระธิดาในพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ พระเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ประสูติแต่เจ้าอุษา เป็นพระชายาในพระเจ้าอินทวิชยานนท์ พระเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ต่อมา และเป็นพระมารดาในเจ้าดารารัศมี พระราชชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์สยาม[5]

เจ้าเทพไกรสร
ภรรยาพระเจ้านครเชียงใหม่
ดำรงพระยศพ.ศ. 2416–2427
ก่อนหน้าเจ้าอุษา
ถัดไปเจ้าทิพเนตร
ประสูติพ.ศ. 2384
เมืองเชียงใหม่
พิราลัย25 มิถุนายน พ.ศ. 2427[1] (43 ปี)
พระสวามีพระเจ้าอินทวิชยานนท์
พระธิดาเจ้าจันทรโสภา
เจ้าดารารัศมี พระราชชายา
ราชวงศ์ทิพย์จักร
ราชสกุลณ เชียงใหม่
พระบิดาพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์
พระมารดาเจ้าอุษา
ศาสนาพุทธ

พระนางมีพระนิสัยเฉียบขาดเยี่ยงพระบิดา ทรงเป็นราชนารีที่มีบทบาทด้านการปกครองที่โดดเด่น เคียงคู่กับพระขนิษฐาคือเจ้าอุบลวรรณา ที่มีบทบาทด้านเศรษฐกิจอันโดดเด่น[4] ทั้งยังมีความสามารถในการว่าราชการบ้านเมืองแทนพระสวามี[6]

พระประวัติ แก้

ชีวิตตอนต้น แก้

เจ้าเทพไกรสรเกิดปี พ.ศ. 2384[7] เป็นพระธิดาองค์ใหญ่ในพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 6 กับเจ้าอุษา มีขนิษฐาร่วมอุทรหนึ่งพระองค์ คือ เจ้าอุบลวรรณา[8]

เสกสมรส แก้

แต่เดิมเจ้าเทพไกรสรเป็นพระธิดาในพระเจ้ากาวิโลรสที่ทรงครองโสดอยู่ผู้เดียว เนื่องจากเจ้าอุบลวรรณา พระขนิษฐาได้เสกสมรสไปแล้วก่อนหน้า ต่อมาเมื่อถึงวันงานแห่ครัวทาน พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ผู้บิดา ได้รับสั่งเจ้าเทพไกรสร ว่า "เจ้าเห็นชายคนไหนดีพอจะเป็นคู่กับเจ้า ก็จงเลือกเอาตามแต่จะเห็นว่าเหมาะควร" และเมื่อเจ้าเทพไกรสรทอดพระเนตรเจ้าอินทนนท์ก็ทรงชื่นชมในท่าฟ้อนนำแห่ครัวทานกับแต่งกายตามประเพณีอย่างสวยงาม จึงทูลตอบพระบิดาว่า "ลูกดูแล้ว เห็นแต่เจ้าราชวงศ์อินทนนท์ คนเดียวเท่านั้นเจ้า ที่น่าจะเป็นผู้ใหญ่ครอบครองบ้านเมืองต่อไปได้" เมื่อเจ้ากาวิโลรสสดับความเช่นนั้นจึงส่งท้าวพญาผู้ใหญ่ไปติดต่อ[9]

แต่ขณะนั้นเจ้าอินทนนท์เองก็มีหม่อมและพระบุตรอยู่หลายคนจึงได้ปฏิเสธไป แต่พระเจ้ากาวิโลรสมีรับสั่งให้ท้าวพญานิมนต์พระเถระผู้ใหญ่ไปเจรจาบิณฑบาตให้เจ้าอินทนนท์ยอมตกลงปลงใจ คราวนี้เจ้าอินทนนท์ปฏิเสธไม่ได้จึงยอมรับแต่โดยดี เจ้าเทพไกรสรเองก็จัดขันคำส่งให้ข้าหลวงอัญเชิญมาขอสามีจากหม่อมบัวเขียวเชิงบังคับให้ตัดขาดจากความเป็นสามีภรรยากับเจ้าอินทนนท์นับแต่นี้เป็นต้นไป[9] พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ประทานคุ้มท่าที่บ้านเจดีย์กิ่วนี้เป็นเรือนหอของทั้งสอง ภายหลังได้ตกเป็นมรดกของเจ้าดารารัศมี พระราชชายา[10]

ทั้งสองมีพระธิดาสององค์ คือ เจ้าจันทรโสภา และเจ้าดารารัศมี ที่ต่อมาได้ถวายตัวรับราชการฝ่ายในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่กรุงเทพมหานคร[11]

บั้นปลาย แก้

ในช่วงที่เจ้าเทพไกรสรทรงประชวร ช่วงนั้นได้มีการพิจารณาการผูกขาดต้มเหล้าของชาวจีน เจ้าอุบลวรรณาพระขนิษฐาจึงใช้โอกาสนี้จัดการเข้าทรง โดยรับเป็น "ม้าขี่" หรือร่างทรง เมื่อวิญญาณที่มาเข้าร่างทรงได้แสดงความไม่พอใจอย่างมากที่จะอนุญาตให้คนจีนผูกขาดการต้มเหล้า ทั้งยังได้ขู่สำทับด้วยว่า หากมีการอนุญาตจะเกิดเหตุใหญ่ร้ายแรงกว่านี้ และการที่เจ้าเทพไกรสรเจ็บป่วยครั้งนี้เป็นเพียงการสั่งสอนเท่านั้น ภายหลังจึงได้มีการล้มเลิกการผูกขาดการต้มเหล้าไป[12][13][14]

เจ้าเทพไกรสรถึงแก่อสัญกรรมเมื่อ พ.ศ. 2427[11] ขณะที่เจ้าดารารัศมี พระธิดา มีชันษาเพียง 11 ปี เจ้าดารารัศมีจึงตกอยู่ในพระอุปการะของเจ้าอุบลวรรณา[12] และสองปีหลังจากนี้เจ้าดารารัศมีก็ได้ถวายตัวรับราชการฝ่ายในที่กรุงเทพมหานคร[11]

พระกรณียกิจ แก้

เจ้าเทพไกรสรเป็นพระชายาในพระเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ที่มีความเฉลียวฉลาดหลักแหลม รอบรู้ในด้านราชการ[15] เป็นที่ทราบกันว่า "สรรพราชการงานเมืองอยู่กับเจ้าเทพไกรษรนี้ผู้เดียวเด็ดขาด ตลอดเหมือนเปนพระเจ้าเชียงใหม่"[1] และมีพระอำนาจเหนือพระสวามี มีหลักฐานของชาวต่างประเทศกล่าวถึงพระเจ้าอินทวิชยานนท์ว่า "เป็นผู้ที่มีใจเมตตากรุณา แต่อ่อนแอ"[16] และ "...เจ้าหลวงถูกครอบงำโดยพระชายาผู้ที่ดูเหมือนจะเป็นคนที่จิตใจเข้มแข็งทดแทนความอ่อนแอของพระองค์..."[17] ด้วยเหตุนี้ชาวเมืองจึงเรียกพระเจ้าอินทวิชยานนท์ว่า "เจ้าหลวงตาขาว"[18] บทบาทด้านการบริหารบ้านเมืองจึงตกอยู่กับเจ้าอุปราช (บุญทวงศ์) และเจ้าเทพไกรสร พระชายา และมีบทบาทเรื่อยมาจนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรมในปี พ.ศ. 2425 และ พ.ศ. 2427 ตามลำดับ[2]

ดร. แดเนียล แมคกิลวารี หัวหน้าคณะมิชชันนารีชาวอเมริกัน ซึ่งได้เข้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนาในปลายสมัยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ ได้บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับการสนทนากับเจ้าเทพไกรสร ความว่า "ท่านเป็นพระชายาองค์เดียวของเจ้าหลวงอินทนนท์ ผู้ครองนครเชียงใหม่ โดยกำเนิดท่านมีฐานันดรศักดิ์ที่สูงกว่าเจ้าหลวง และท่านก็ทรงคุณสมบัติเหมาะสมกับตำแหน่งอันสูงส่งที่ท่านดำรงอยู่ในขณะนี้ทุกประการ ทั้งยังเป็นผู้มีปฏิภาณเฉียบแหลม และตั้งใจมั่นคง ซึ่งเป็นเหตุให้พระสวามีของท่านคือ เจ้าหลวงองค์ใหม่ หลีกเลี่ยงความบกพร่องและความผิดพลาดได้เป็นอันมาก… ในการสนทนาระหว่างข้าพเจ้ากับเจ้าหญิงนั้น เรามักจะวกมาถึงเรื่องศาสนาเกือบตลอดเวลา แต่ข้าพเจ้า รู้สึกว่าเจ้าหญิงมีความประสงค์จะเอาชนะในการโต้ตอบเรื่องศาสนานี้มากกว่าจะค้นเอาความจริง ท่านมีไหวพริบเหมือนหมอความ คอยจับคำพูดที่หละหลวม และด้วยสติปัญญาอันเฉียบแหลมของท่าน ทำให้ท่านเป็นนักโต้คารมที่มีอารมณ์ครื้นเครง"[11] และ "...อิทธิพลของสตรีในทางวิเทโศบายต่าง ๆ จงเพิ่มทวีขึ้นอย่างมากมายมาตั้งแต่ครั้งเจ้าหลวงองค์ก่อน [พระเจ้ากาวิโลรส] ยังทรงครองราชย์อยู่ ทั้งนี้เนื่องจากพระองค์ไม่มีพระโอรส จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่พระธิดากลายเป็นผู้มีอำนาจและยังได้รับการฝึกฝนให้เข้าใจถึงงานต่าง ๆ ของรัฐด้วย...โดยกำเนิดแล้ว พระนางมียศสูงกว่าพระสวามี...ฐานะของพระนางจึงจำเป็นต่อการคานอำนาจกับองค์อุปราช [บุญทวงศ์]..."[19] เมื่อรัฐบาลสยามส่งพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากรขึ้นเชียงใหม่ใน พ.ศ. 2426 เพื่อวางแผนจัดราชการและระเบียบการปกครองนครเชียงใหม่ร่วมกับเจ้าเทพไกรสร แต่เจ้าเทพไกรสรกลับล้มป่วยและถึงแก่อสัญกรรมเสียก่อน[1]

เจ้าเทพไกรสรเป็นราชนารีที่มีความโดดเด่นในเรื่องความเข้มแข็ง ดังปรากฏว่าเมื่อครั้งที่เกิดกบฏพระยาปราบสงคราม ทรงไม่เห็นด้วยและแสดงความไม่พอพระทัย จึงสั่งให้จับพระยาปราบมาประหารชีวิตเสีย ทำให้พวกพระยาปราบเกรงกลัวและแตกหนีไป[11] และอีกกรณีที่เจ้าเทพไกรสรได้บัญชาให้ประหารชีวิตพระญาติสาย "ณ ลำพูน" ที่กระทำการอุกอาจแทงช้างพระที่นั่งพระสวามีของพระองค์ด้วยความคะนอง[20] และยังเคยติดตามพระเจ้าอินทวิชยานนท์เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหลายครั้ง[6]

นอกจากด้านการปกครองแล้ว เจ้าเทพไกรสรยังเป็นผู้ริเริ่มให้มีการละครฟ้อนรำและเครื่องสายตามแบบอย่างราชสำนักกรุงเทพฯ ขึ้นเป็นแห่งแรกในคุ้มของพระเจ้าอินทวิชยานนท์[11]

ลำดับสาแหรก แก้

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 วรชาติ มีชูบท. ย้อนรอยอดีตล้านนา ตอน รวมเรื่องน่ารู้จากแผนที่เมืองนครเชียงใหม่. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2560, หน้า 162
  2. 2.0 2.1 สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2552. หน้า 352-353
  3. จิรวัฒน์ อุตตมะกุล, นายแพทย์. พระภรรยาเจ้า และสมเด็จเจ้าฟ้าในรัชกาลที่ 5. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : ลายคำ, 2552, หน้า 344
  4. 4.0 4.1 ภูเดช แสนสา. "คติแนวคิดและพัฒนาการของการก่อ "กู่" อัฐิในล้านนา ธรรมเนียมจาก "ราช" สู่ "ราษฎร์"" (PDF). เวียงท่ากาน. สืบค้นเมื่อ 28 ตุลาคม 2556. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  5. ภูเดช แสนสา. "การก่อกู่เจ้านาย กับกุศโลบายทางการเมืองของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี" (PDF). เวียงท่ากาน. สืบค้นเมื่อ 28 ตุลาคม 2556. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  6. 6.0 6.1 "แม่เจ้าทิพเกสร สตรีผู้เปี่ยมด้วยความเด็ดขาดแห่งล้านนา". เชียงใหม่สู่มรดกโลก. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-11-25. สืบค้นเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  7. เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์. (20 กรกฎาคม พ.ศ. 2555). "เจ้าอุบลวรรณา เมื่อคิดจะรัก ต้องกล้าหักด่านฐานันดร". มติชนสุดสัปดาห์. 32:1666, หน้า 76
  8. หนังสือประวัติพระเจ้านครเชียงใหม่แลเจ้าเชียงใหม่. เชียงใหม่ : บำรุงเจริญประเทศ บ้านฮ่อ นครเชียงใหม่. มมป., หน้า 9
  9. 9.0 9.1 "แม่เจ้าบัวเขียว". วัดศรีนวรัฐ (ทุ่งเสี้ยว). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-09. สืบค้นเมื่อ 22 ธันวาคม 2556. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  10. วรชาติ มีชูบท. ย้อนรอยอดีตล้านนา ตอน รวมเรื่องน่ารู้จากแผนที่เมืองนครเชียงใหม่. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2560, หน้า 192-195
  11. 11.0 11.1 11.2 11.3 11.4 11.5 "แม่เจ้าทิพเกสร (เทพไกรสร) ผู้ฉลาดหลักแหลม และมีปฏิภาณเป็นเลิศ". แม่ญิงล้านนา. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-02-09. สืบค้นเมื่อ 28 ตุลาคม 2556. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  12. 12.0 12.1 "เจ้าอุบลวรรณา". เชียงใหม่ไทยแลนด์ดอตคอม. สืบค้นเมื่อ 15 มีนาคม 2556. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  13. "บุคคลสำคัญ: เจ้าอุบลวรรณา". เชียงใหม่ไทยแลนด์ดอตคอม. สืบค้นเมื่อ 15 มีนาคม 2556. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  14. "เจ้าอุบลวรรณา" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-06-05. สืบค้นเมื่อ 2013-10-27.
  15. สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2552. หน้า 341
  16. คาร์ล บอค (เขียน) เสฐียร พันธรังสี และอัมพร จุลานนท์ (แปล). สมัยพระปิยมหาราช. พระนคร : เฟื่องนคร. 2505, หน้า 307-308
  17. Carl Bock. Temple and Elephants. Bangkok:White Orchid Press. 1985, p. 226
  18. "พระเจ้าอินทวิชยานนท์" (PDF). หอสมุดมหาวิทยาลัยพายัพ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 21 ธันวาคม 2556. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  19. เดเนียล แมคกิลวารี ดี.ดี (เขียน) จิตราภรณ์ ตันรัตนกุล (แปล). กึ่งศตวรรษในหมู่คนไทย และคนลาว. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มติชน. 2544, หน้า 163-164
  20. "รายพระนาม นาม เหล่าพระประยูรญาติ และ เชื้อสายเจ้านายฝ่ายเหนือ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-14. สืบค้นเมื่อ 2012-09-20.