แฟนพันธุ์แท้
บทความนี้อาจต้องเขียนใหม่ทั้งหมดเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพของวิกิพีเดีย หรือกำลังดำเนินการอยู่ คุณช่วยเราได้ หน้าอภิปรายอาจมีข้อเสนอแนะ |
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง คุณสามารถพัฒนาบทความนี้ได้โดยเพิ่มแหล่งอ้างอิงตามสมควร เนื้อหาที่ขาดแหล่งอ้างอิงอาจถูกลบออก |
บทความนี้หรือส่วนนี้ของบทความต้องการปรับรูปแบบ ซึ่งอาจหมายถึง ต้องการจัดรูปแบบข้อความ จัดหน้า แบ่งหัวข้อ จัดลิงก์ภายใน และ/หรือการจัดระเบียบอื่น ๆ คุณสามารถช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้โดยการกดที่ปุ่ม แก้ไข ด้านบน จากนั้นปรับปรุงหรือจัดรูปแบบอื่น ๆ ในบทความให้เหมาะสม |
แฟนพันธุ์แท้ เป็นรายการเกมโชว์ควิซโชว์ที่ส่งเสริมความรู้ ความรัก ความคลั่งไคล้ และแสดงถึงอัจฉริยภาพในสาขาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นบุคคล สิ่งของ สถานที่ วัฒนธรรม วรรณกรรม และเหตุการณ์ต่าง ๆ ด้วยการแข่งขันเรื่องราวนั้น ๆ ผลิตรายการโดย บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) เริ่มออกอากาศครั้งแรกทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2543 ก่อนที่ในปี พ.ศ. 2558 จะย้ายช่องทางการออกอากาศมายังช่องเวิร์คพอยท์ และมีการปรับรูปแบบการแข่งขันตามความเหมาะสม
แฟนพันธุ์แท้ | |
---|---|
ประเภท | เกมโชว์ |
สร้างโดย | ประภาส ชลศรานนท์ |
พัฒนาโดย | บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) |
เสนอโดย | ดูในบทความ |
ผู้ประพันธ์ดนตรีแก่นเรื่อง | O Verona (Craig Armstrong)[ต้องการอ้างอิง] |
ดนตรีแก่นเรื่องเปิด | "Fan of the Year 2001-2012" |
ประเทศแหล่งกำเนิด | ประเทศไทย |
ภาษาต้นฉบับ | ไทย |
จำนวนฤดูกาล | 15 |
จำนวนตอน | >444 |
การผลิต | |
สถานที่ถ่ายทำ | สตูดิโอกรุงเทพ (2543-2548) เวิร์คพอยท์สตูดิโอ (2549-2565) |
ความยาวตอน | ดูในบทความ |
ออกอากาศ | |
เครือข่าย | สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ช่องเวิร์คพอยท์ |
ออกอากาศ | ดูในบทความ |
ประวัติ แก้
แฟนพันธุ์แท้มีไอเดียตั้งต้นจากการที่ ประภาส ชลศรานนท์ รองประธานบริษัทเวิร์คพอยท์ ได้ยินซูโม่ขิ่ม กฤษณ์ชัย ศิลป์วิสุทธิ์ เพื่อนร่วมรุ่นที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าเรื่องสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลที่เขาคลั่งไคล้ได้อย่างสนุกสนานและตื่นเต้น จึงเกิดความคิดในการนำเรื่องราวของกลุ่มแฟนคลับต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้ว มานำเสนอในรูปแบบเกมโชว์[1]
แฟนพันธุ์แท้เริ่มออกอากาศครั้งแรกทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2543[2] ในตอน คาราบาว มีพิธีกรคู่แรกคือ ปัญญา นิรันดร์กุล และ ธีรวัฒน์ อนุวัตรอุดม (สังข์ 108 มงกุฎ) แต่ตั้งแต่เทปที่ 2 เป็นต้นมาทางรายการเหลือพิธีกรเพียงคนเดียวคือปัญญา[ต้องการอ้างอิง]
ปี พ.ศ. 2552 รายการแฟนพันธุ์แท้ได้ยุติการออกอากาศ เนื่องจากสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ยกเลิกสัญญา[ต้องการอ้างอิง]
ปี พ.ศ. 2555 รายการแฟนพันธุ์แท้กลับมาออกอากาศอีกครั้งหลังในรอบเกือบ 3 ปี ทางช่องเดิม โดยเปลี่ยนผู้ดำเนินรายการเป็น กฤษณ์ ศรีภูมิเศรษฐ์ เริ่มออกอากาศเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ต่อจากรายการ SME ตีแตก[3]
ปี พ.ศ. 2558 รายการแฟนพันธุ์แท้ย้ายมาออกอากาศทางช่องเวิร์คพอยท์ และเปลี่ยนรูปแบบเป็นเทปพิเศษออกอากาศในวันหยุดนักขัตฤกษ์แทน
ปี พ.ศ. 2559 รายการแฟนพันธุ์แท้กลับมาออกอากาศอีกครั้งในชื่อใหม่ว่า แฟนพันธุ์แท้ ซูเปอร์แฟน ได้เปลี่ยนผู้ดำเนินรายการอีกครั้งเป็น กันต์ กันตถาวร โดยเริ่มออกอากาศในวันศุกร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ทางช่องเวิร์คพอยท์
ปี พ.ศ. 2561 รายการแฟนพันธุ์แท้กลับมาออกอากาศอีกครั้งในรูปแบบเดิม และกันต์ได้รับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการอีกครั้ง โดยเริ่มออกอากาศในวันศุกร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 ทางช่องเวิร์คพอยท์
ปี พ.ศ. 2566 รายการแฟนพันธุ์แท้กลับมาออกอากาศอีกครั้งในชื่อใหม่ว่า แฟนด้อมพันธุ์แท้ เป็นการปรับเพื่อให้เข้ากับยุคสมัย และกันต์ได้รับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการอีกครั้ง โดยเตรียมออกอากาศเทปแรกในวันที่ 25 ตุลาคม[4]
รายชื่อพิธีกร แก้
ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน รายการแฟนพันธุ์แท้มีการเปลี่ยนแปลงพิธีกรดังนี้
- ปัญญา นิรันดร์กุล : 1 กันยายน พ.ศ. 2543 — 20 เมษายน พ.ศ. 2550, 23 ตุลาคม พ.ศ. 2555
- ธีรวัฒน์ อนุวัตรอุดม : 1 กันยายน พ.ศ. 2543
- แทนคุณ จิตต์อิสระ : 2 มีนาคม พ.ศ. 2550 — 17 เมษายน พ.ศ. 2552
- เอก ฮิมสกุล : 9 มีนาคม พ.ศ. 2550 — 5 ตุลาคม พ.ศ. 2550
- กฤษณ์ ศรีภูมิเศรษฐ์ : 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 — 6 ธันวาคม พ.ศ. 2558
- กันต์ กันตถาวร : 7 ตุลาคม พ.ศ. 2559 — 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 (แฟนพันธุ์แท้ ซูเปอร์แฟน 2017), 6 กรกฎาคม - 28 ธันวาคม พ.ศ. 2561 (แฟนพันธุ์แท้ 2018), 30 สิงหาคม พ.ศ. 2565 (แฟนพันธุ์แท้ มาม่า)
- พุฒิชัย เกษตรสิน : 31 มีนาคม — 14 เมษายน พ.ศ. 2565 (แฟนพันธุ์แท้ Samsung Galaxy)
- ผู้ช่วยพิธีกร
- ศิริลักษณ์ คิดชอบ (15 กันยายน พ.ศ. 2543 — 3 เมษายน พ.ศ. 2552)
- สาริกา เลิศธนะแสงทอง (3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 — 2561)
- ชื่อรายการ
- แฟนพันธุ์แท้ (พ.ศ. 2543 - 2558 , พ.ศ. 2561) : รายการเป็นลักษณะยาวออกอากาศทั้งปี
- แฟนพันธุ์แท้ ซูเปอร์แฟน (พ.ศ. 2559 - 2560) : รายการเป็นลักษณะเป็นซีซันจบภายใน 4 - 5 เดือน
- แฟนพันธุ์แท้ สเปเชี่ยล (พ.ศ. 2565) : รายการเป็นลักษณะออกอากาศเฉพาะกิจเท่านั้น
- แฟนด้อมพันธุ์แท้ (พ.ศ. 2566)
กติกาแฟนพันธุ์แท้ประจำสัปดาห์ แก้
ปี 2000-2001 แก้
- รอบที่ 1 : ตอบคำถาม
- ผู้เข้าแข่งขันทั้ง 5 คน ฟังคำถามจากพิธีกร จากนั้นต้องกดรัวปุ่มไฟเพื่อชิงสิทธิในการตอบคำถามนั้น โดยจะมีทั้งหมด 4 รอบ หากผู้เข้าแข่งขันกดไฟได้และตอบถูกจะได้เข้ารอบต่อไปทันที หากตอบผิด ผู้เข้าแข่งขันที่เหลือจะได้สิทธิ์ในการกดไฟเพื่อตอบคำถามข้อนั้นแทน ทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ จนได้ผู้เข้าแข่งขันที่เข้ารอบ 4 คน ถ้าหากมีผู้เข้าแข่งขันไม่ต่ำกว่า 2 คน ไม่สามารถตอบคำถามถูกภายใน 4 รอบจะมีคำถามรอบพิเศษให้ผู้เข้าแข่งขันได้เล่น
- รอบที่ 2 : ตัดเชือก
- แบ่งผู้เข้าแข่งขันออกเป็น 2 คู่ คู่ละ 2 คน แข่งเกมต่าง ๆ แล้วแต่เรื่อง โดยในเทปแรกให้ผู้เข้าแข่งขันจับคู่กันเอง ในเทปหลังจะให้ผู้เข้าแข่งขันคนแรกที่เข้ารอบจับคู่แข่งกับคนสุดท้ายที่เข้ารอบ และในอีกคู่จะให้ผู้เข้าแข่งขันคนที่สองที่เข้ารอบจับคู่กับผู้เข้าแข่งขันคนที่สามที่เข้ารอบ โดยสลับกันเล่นเกมตามหมายเลขของผู้เข้าแข่งขันที่จับคู่กัน ใครได้ 2 ใน 3 คะแนนก่อน จะได้เข้ารอบชิงชนะเลิศ (แต่มีบางครั้งที่จะแบ่งเป็น 2 คู่ แล้วให้ทั้ง 2 คู่แข่งกันเอง คู่ใดได้ 2 ใน 3 คะแนนก่อนจะได้เข้ารอบชิงชนะเลิศ)
- รอบที่ 3 : ชิงชนะเลิศ
- มีคำถาม 8 ชุด ชุดละ 2 ข้อ (คำถามเหลือง-แดง) ในเทปแรกให้ผู้เข้าแข่งขันตัดสินใจเองว่าจะเล่นคำถามเหลือง หรือ คำถามแดง ในเทปหลังจะเรียงตามลำดับสายการเล่นของรอบตัดเชือก โดยผลัดกันให้ผู้เข้าแข่งขัน 2 คนเลือกชุดคำถามแล้วตอบ โดยผู้เข้าแข่งขันที่เป็นคนเลือกชุดคำถามจะได้ตอบคำถามสีเหลือง ส่วนอีกคนจะได้ตอบคำถามสีแดง ถ้าผู้เข้าแข่งขันตอบถูกหรือตอบผิดทั้งคู่ ก็จะเล่นคำถามชุดต่อไป แต่ถ้ามีผู้ตอบถูกและผิด ผู้ที่ตอบถูกจะเป็นสุดยอดแฟนพันธุ์แท้ประจำสัปดาห์
ปี 2002-2004 แก้
- รอบที่ 1 : 3 วินาที
- ผู้เข้าแข่งขันทั้ง 5 คนจะต้องตอบคำถามเกี่ยวกับแฟนพันธุ์แท้ในเรื่องนั้น ภายในเวลา 3 วินาที (หากตอบผิดสามารถตอบใหม่ได้ ภายในเวลา 3 วินาทีถ้าสัญญาณไฟยังไม่ติด และเอฟเฟคเสียง "วืด" ยังไม่ดัง) ใครตอบผิดหรือตอบไม่ทันใน 3 วินาทีตกรอบทันที ลักษณะคำถามในแต่ละเรื่องของรอบนี้อาจจะเป็นรูปภาพ แล้วให้ตอบว่าภาพนี้คือใคร อะไร หรืออาจเป็นโจทย์คำถามที่เป็นสิ่งต่าง ๆ แล้วให้ตอบว่าเกี่ยวข้องกับอะไรตามโจทย์คำถามหลัก แล้วแต่เรื่อง
- มีข้อสังเกตประการหนึ่งในเกมนี้ก็คือ เมื่อมีผู้เข้าแข่งขันคนไหนที่ตอบไม่ได้ภายในเวลา 3 วินาที ไฟตรงหน้าผู้เข้าแข่งขันก็จะติดขึ้นมาและมีเสียงสัญญาณไฟ พร้อมกับมีเสียงวืดในห้องส่งของรายการ ต่อมาในปี 2004 ลดเหลือเพียงเสียงสัญญาณไฟและเสียงวืดในห้องส่งเท่านั้น
- รอบที่ 2 : ตัดเชือก
- แบ่งผู้เข้าแข่งขันออกเป็น 2 คู่ คู่ละ 2 คน แข่งเกมต่าง ๆ แล้วแต่เรื่อง โดยให้ผู้เข้าแข่งขันถูกจับคู่ตามหมายเลขที่ติดกันและสลับกันเล่นตามหมายเลขของผู้เข้าแข่งขัน ผู้เข้าแข่งขันหมายเลขก่อนได้เล่นเกมแรกก่อน ผู้เข้าแข่งขันหมายเลขหลังได้เล่นเกมที่สองก่อน ใครได้ 2 ใน 3 คะแนนก่อน จะได้เข้ารอบชิงชนะเลิศ (เริ่มมีเกมกดไฟ ตั้งแต่กลางปี 2004 ใช้เป็นรอบตัดสิน เมื่อมีผู้เข้าแข่งขัน ที่คะแนนเท่ากัน โดยในรอบนี้พิธีกรจะอ่านคำสำคัญขึ้นมา ซึ่งเป็นคำที่เกี่ยวข้องกับคำถามที่จะถามกันต่อไป ผู้เข้าแข่งขันจะต้องแย่งกันกดไฟ โดยจะกดไฟก่อนหรือหลังพิธีกรอ่านคำสำคัญ เมื่อไฟติดที่ใครคนนั้นจะต้องตอบคำถามให้ถูก ตอบถูกเข้ารอบทันที แต่ถ้าตอบผิด ผู้เข้าแข่งขันอีกคน จะถูกบังคับตอบทันที)
- รอบที่ 3 : ชิงชนะเลิศ
- มีคำถาม 8 ชุด ชุดละ 2 ข้อ (คำถามเหลือง-แดง) โดยผลัดกันให้ผู้เข้าแข่งขัน 2 คนเลือกชุดคำถามแล้วตอบ โดยผู้เข้าแข่งขันที่เป็นคนเลือกชุดคำถามจะได้ตอบคำถามสีเหลือง ส่วนอีกคนจะได้ตอบคำถามสีแดง ถ้าผู้เข้าแข่งขันตอบถูกหรือตอบผิดทั้งคู่ ก็จะเล่นคำถามชุดต่อไป แต่ถ้ามีผู้ตอบถูกและผิด ผู้ที่ตอบถูกจะเป็นสุดยอดแฟนพันธุ์แท้ประจำสัปดาห์
ปี 2005-2006 แก้
- รอบที่ 1 : 3 วินาที
- ผู้เข้าแข่งขันทั้ง 5 คนจะต้องตอบคำถามเกี่ยวกับแฟนพันธุ์แท้ในเรื่องนั้น ภายในเวลา 3 วินาที (หากตอบผิดสามารถตอบใหม่ได้ ภายในเวลา 3 วินาทีถ้าเอฟเฟคเสียง "วืด" ยังไม่ดัง) โดยในปี 2005 เล่น 5 รอบ และในปี 2006 เหลือเพียง 3 รอบ ใครมีคะแนนสะสมน้อยที่สุดจะตกรอบไป แต่ถ้ามีผู้เข้าแข่งขันมีคะแนนเท่ากัน จะใช้วิธีการเล่นแบบปี 2002-2004 คือ เล่นไปเรื่อย ๆ ผู้ที่ตอบผิดหรือตอบไม่ทันใน 3 วินาทีเป็นคนแรกจะตกรอบทันที
- รอบที่ 2 : ตัดเชือก
- แบ่งผู้เข้าแข่งขันออกเป็น 2 คู่ คู่ละ 2 คน แข่งเกมต่าง ๆ แล้วแต่เรื่อง โดยให้ผู้เข้าแข่งขันถูกจับคู่ตามหมายเลขที่ติดกันและสลับกันเล่นตามหมายเลขของผู้เข้าแข่งขัน ผู้เข้าแข่งขันหมายเลขก่อนได้เล่นเกมแรกก่อน ผู้เข้าแข่งขันหมายเลขหลังได้เล่นเกมที่สองก่อน สิ่งที่ต่างกันจากปี 2002-2004 คือ เมื่อผ่าน 2 ข้อแรกไปผู้เข้าแข่งขันคนหลังจะได้เล่นก่อน และผู้เข้าแข่งขันคนแรกได้เล่นทีหลัง ใครได้ 2 ใน 3 คะแนนก่อน จะได้เข้ารอบชิงชนะเลิศ เมื่อผู้เข้าแข่งขันทั้งสองมีคะแนนเท่ากัน ก็จะมีคำถามตัดสิน โดยในรอบนี้พิธีกรจะอ่านคำสำคัญขึ้นมา ซึ่งเป็นคำที่เกี่ยวข้องกับคำถามที่จะถามกันต่อไป ผู้เข้าแข่งขันจะต้องแย่งกันกดไฟ โดยจะกดไฟก่อนหรือหลังพิธีกรอ่านคำสำคัญ เมื่อไฟติดที่ใครคนนั้นจะต้องตอบคำถามให้ถูก ตอบถูกเข้ารอบทันที แต่ถ้าตอบผิด ผู้เข้าแข่งขันอีกคน จะถูกบังคับตอบทันที
- รอบที่ 3 : ชิงชนะเลิศ
- มีคำถาม 8 ชุด ชุดละ 2 ข้อ (คำถามเหลือง-แดง) โดยผลัดกันให้ผู้เข้าแข่งขัน 2 คนเลือกชุดคำถามแล้วตอบ โดยผู้เข้าแข่งขันที่เป็นคนเลือกชุดคำถามจะได้ตอบคำถามสีเหลือง ส่วนอีกคนจะได้ตอบคำถามสีแดง ถ้าผู้เข้าแข่งขันตอบถูกหรือตอบผิดทั้งคู่ ก็จะเล่นคำถามชุดต่อไป แต่ถ้ามีผู้ตอบถูกและผิด ผู้ที่ตอบถูกจะเป็นสุดยอดแฟนพันธุ์แท้ประจำสัปดาห์ (ภายหลังจะมีคำถาม 8 ชุด ชุดละ 1 ข้อเท่านั้น และให้ผลัดกันเลือกคำถาม ส่วนรายละเอียดอื่น ๆ เหมือนเดิม)
ปี 2007-2008 แก้
- รอบที่ 1 : 3 วินาที
- กฎ - กติกา เหมือนกับ ปี 2005 - 2006
สิ่งที่ต่างกัน คือ ถ้ามีผู้เข้าแข่งขันมีคะแนนเท่ากัน จะมีรอบพิเศษ โดยพิธีกรจะอ่านคำถามหรือเปิดภาพขึ้นมา ผู้เข้าแข่งขันจะต้องกดไฟให้ติด ไฟติดที่ใครคนนั้นจะต้องตอบให้ถูก ตอบถูกเข้ารอบ แต่ถ้าตอบผิดจะต้องตกรอบทันที
- รอบที่ 2 : ถาม-ตอบ
- ในรอบนี้พิธีกรจะอ่านคำสำคัญขึ้นมา ซึ่งเป็นคำที่เกี่ยวข้องกับคำถามที่จะถามกันต่อไป ผู้เข้าแข่งขันจะต้องแย่งกันกดไฟ โดยจะกดไฟก่อนหรือหลังพิธีกรอ่านคำถามสั้น ๆ เมื่อไฟติดที่ใครคนนั้นจะต้องตอบคำถามให้ถูก ในช่วงแรกของปี 2007 ผู้เข้าแข่งขันต้องตอบถูก 2 ครั้งถึงเข้ารอบ ภายหลังเปลี่ยนเป็นตอบถูกเข้ารอบทันที แต่ยังคงกฎเดิมคือตอบผิดต้องพักการเล่น 1 ข้อ ถ้าตอบผิดอีกเป็นครั้งที่ 2 จะตกรอบทันที รอบนี้คัด 3 คนผ่านเข้ารอบต่อไป
- รอบที่ 3 : จิ๊กซอว์-คุณสมบัติ
- ในเกมจิ๊กซอว์ ผู้เข้าแข่งขันทั้ง 3 คนจะต้องผลัดกันเลือกป้ายจิ๊กซอว์ครั้งละ 1 ป้าย โดยช่วงแรกของปี 2007 ผู้เข้ารอบคนแรกได้สิทธิ์เล่นก่อน ให้ผู้เข้ารอบคนที่ 2 เลือกป้ายจิ๊กซอว์ให้ผู้เข้ารอบคนแรกตอบ ถ้าตอบผิดผู้เข้ารอบคนที่ 2 ได้สิทธิ์ตอบ ให้ผู้เข้ารอบคนที่ 3 เลือกป้ายจิ๊กซอว์ให้ผู้เข้ารอบคนที่ 2 ตอบ และถ้าตอบผิดอีกให้ผู้เข้ารอบคนที่ 3 ได้สิทธิ์ตอบ ให้ผู้เข้ารอบคนแรกเลือกป้ายจิ๊กซอว์ให้ผู้เข้ารอบคนที่ 3 ตอบ วนกันไปตามลำดับ ภายหลังได้เปลี่ยนมาเป็นให้ผู้เข้ารอบได้เลือกป้ายของตนเอง แล้ววนตามลำดับการเข้ารอบจากเกมถาม-ตอบ โดยถ้าตอบผิด สิทธิ์ในการเล่นจะเป็นของผู้เข้าแข่งขันคนถัดไป ถ้าตอบผิดอีกก็จะเล่นวนไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะมีผู้ที่ตอบถูก ซึ่งถ้าใครตอบถูกก็จะเข้ารอบชิงชนะเลิศทันที ส่วนอีก 2 คนที่เหลือจะต้องเล่นเกมคุณสมบัติ ผู้เข้าแข่งขันจะต้องผลัดกันเลือกป้ายคุณสมบัติคนละ 1 ป้าย โดยลำดับการเล่นจะเป็นแบบเดิม ถ้าตอบผิด สิทธิ์ในการเล่นจะเป็นของผู้เข้าแข่งขันคนถัดไป ถ้าตอบผิดอีกการเล่นก็จะวนกลับมาที่คนแรก ถ้าใครตอบถูกจะได้เข้ารอบชิงชนะเลิศอีกคนหนึ่ง
- รอบที่ 4 : ชิงชนะเลิศ
- แบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ
- ปี 2007 จะมีคำถามทั้งหมด 4 ชุด ชุดละ 3 ข้อ โดยผู้เข้าแข่งขันทั้ง 2 คนจะต้องเลือกคำถามคนละชุดกัน พิธีกรจะถามคำถามข้อที่ 1 ของคำถามทั้ง 2 ชุด โดยถ้าตอบคำถามถูก หรือผิดทั้งคู่ จะต้องเล่นในข้อต่อไป ถ้าใน 2 ชุดคำถามนั้นถามคำถามไปครบทั้ง 3 ข้อแล้ว ยังเสมอกันอยู่ จะต้องเล่นในอีก 2 ชุดคำถามที่เหลือ จนกว่าจะมีผู้ที่ตอบถูก และผู้ที่ตอบผิด ซึ่งผู้ที่ตอบถูกจะได้เป็นสุดยอดแฟนพันธุ์แท้ประจำสัปดาห์
- ปี 2008 จะมีรูปแบบเหมือนกับปี 2000-2006 คือ มีคำถาม 8 ชุด ชุดละ 2 ข้อ (คำถามเหลือง-แดง) แต่ในปีนี้จะแบ่งคำถามออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 (ชุดคำถามที่ 1-4) และช่วงที่ 2 (ชุดคำถามที่ 5-8) โดยผู้เข้าแข่งขันจะต้องเล่นคำถามในช่วงที่ 1 (ชุดคำถามที่ 1-4) โดยผลัดกันให้ผู้เข้าแข่งขัน 2 คนเลือกชุดคำถามแล้วตอบ โดยผู้เข้าแข่งขันที่เป็นคนเลือกชุดคำถามจะได้ตอบคำถามสีเหลือง ส่วนอีกคนจะได้ตอบคำถามสีแดง ถ้าผู้เข้าแข่งขันตอบถูกหรือตอบผิดทั้งคู่ ก็จะเล่นคำถามชุดต่อไป ถ้าถามคำถามครบทั้ง 4 ชุดแล้ว ก็จะเริ่มเล่นคำถามในช่วงที่ 2 (ชุดคำถามที่ 5-8) ต่อไป แต่ถ้ามีผู้ตอบถูกและผิด ผู้ที่ตอบถูกจะเป็นสุดยอดแฟนพันธุ์แท้ประจำสัปดาห์
ปี 2012–2014 แก้
- รอบที่ 1 : 3 วินาที
- ผู้เข้าแข่งขันทั้ง 5 คน จะต้องตอบคำถามเกี่ยวกับแฟนพันธุ์แท้ในสัปดาห์นั้น ๆ ภายในเวลา 3 วินาที หลังจากพิธีกรแสดงภาพหรืออ่านคำถามจบ (หากผู้เข้าแข่งขันตอบผิด สามารถตอบใหม่ได้หากเวลา 3 วินาทียังไม่หมดลง) โดยจะเล่นทั้งหมด 3 รอบ กฎ - กติกาจะเหมือนกับปี 2007 - 2008 ผู้เข้าแข่งขันที่มีคะแนนน้อยที่สุดจะตกรอบไป หากมีผู้เข้าแข่งขันที่คะแนนเสมอกัน จะต้องแย่งกันกดไฟเพื่อแย่งสิทธิ์ในการตอบ ตอบถูกเข้ารอบทันที แต่ถ้าผู้เข้าแข่งขันคนใดตอบผิดหรือตอบไม่ได้ภายใน 3 วินาที ก็จะตกรอบทันที (ใข้ในปี 2012)
สิ่งที่ต่างกัน คือ สำหรับ ปี 2013 มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเป็น 5 รอบ และแต่ละรอบคำถามก็จะเปลี่ยนรูปแบบที่หลากหลายขึ้น
และสำหรับ ปี 2014 นั้น คำถามทั้งหมด 5 รอบจะเหมือนกับปี 2013 แต่มีการปรับการเล่นใหม่เมื่อจบ 1 รอบ ก็จะมีการสลับคนเล่นใหม่ เช่น รอบที่ 1 ผู้เข้าแข่งขันคนแรกจะเป็นคนเล่น เมื่อมาถึงรอบที่ 2 ผู้เข้าแข่งขันคนที่ 2 ก็จะเป็นคนเล่นคนแรก (เดินไต่บันได) และเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะครบ 5 รอบ ผู้เข้าแข่งขันที่มีคะแนนน้อยที่สุดจะตกรอบไป หากมีผู้เข้าแข่งขันที่คะแนนเสมอกัน จะต้องแย่งกันกดไฟเพื่อแย่งสิทธิ์ในการตอบ ผู้เข้าแข่งขันคนใดตอบผิดหรือตอบไม่ได้ภายใน 3 วินาที ก็จะตกรอบทันที
มีบางตอนที่ไม่ได้นำเกม 3 วินาทีมาเล่น
- วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2555 เทป Bodyslam ให้ผู้เข้าแข่งขันทั้ง 5 คนแย่งกันกดไฟเพื่อตอบคำถาม โดยผู้ที่ตอบถูก 3 คนแรก จะได้เข้าไปเล่นในรอบถัดไป เหมือนกับรอบแรกของแฟนพันธุ์แท้ปี 2000 - 2001 แต่จำนวนคนที่เข้ารอบถัดไปจะลดลงเหลือ 3 คน จากปกติ 4 คน ในชื่อรอบ "แฟนพันธุ์แท้กับความเร็ว"
- วันที่ 30 มีนาคม 2555 เทป Angry Birds ให้ผู้เข้าแข่งขันเล่นเกม Angry Birds Seasons ตามที่จับสลากมาได้ใน 2 ด่านแรก ผู้เข้าแข่งขันที่มีดาวน้อยที่สุดจะตกรอบ[ต้องการอ้างอิง]
- รอบที่ 2 : คลาสสิกเกม
- ผู้เข้าแข่งขันที่เหลือ 4 คน จะต้องตอบคำถามที่มาในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงเกมจิ๊กซอว์ และ เกมคุณสมบัติ (5 แผ่นป้าย) โดยผู้ที่ตอบถูกในแต่ละเกมจะได้เข้าไปเล่นในรอบชิงชนะเลิศทันที แต่ถ้าหากผู้เข้าแข่งขันคนใดตอบผิดครบ 2 ครั้งจะตกรอบทันที รอบนี้จะคัดผู้เข้าแข่งขันผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศเพียง 2 คนเท่านั้น เริ่มใช้รอบนี้ตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2555 เทปเมืองทอง ยูไนเต็ด ในชื่อรอบ "แฟนพันธุ์แท้ คลาสสิก" แต่ในช่วงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2555 เฉพาะเทป Bodyslam ผู้เข้าแข่งขันลดลงเหลือ 3 คน โดยคนที่ตอบถูกก่อนในรอบแฟนพันธุ์แท้กับความเร็วจะได้สิทธิ์ตอบคำถามก่อน รอบนี้ใช้กฎเดียวกันกับรอบจิ๊กซอว์-คุณสมบัติของปี 2007-2008 ใครสามารถตอบคำถามได้ถูกต้อง 1 ข้อเข้ารอบ รอบนี้คัดผู้เข้าแข่งขัน 2 คนเหมือนรอบปกติของรายการ
- รอบที่ 3 : ชิงชนะเลิศ
- ผู้เข้าแข่งขันที่เหลือ 2 คน ผลัดกันเลือกคำถามซึ่งมีอยู่ 6 ข้อแล้วตอบ ถ้าผู้เข้าแข่งขันตอบถูกหรือตอบผิดทั้งคู่ ก็จะเล่นคำถามต่อไป แต่ถ้ามีผู้ตอบถูกและผิด ผู้ที่ตอบคำถามถูกต้องจะเป็นสุดยอดแฟนพันธุ์แท้ หากคำถามที่มีอยู่ 6 ข้อถูกเล่นจนหมด ก็จะมีคำถามพิเศษมาตัดสิน 1 ข้อ โดยผู้เข้าแข่งขันจะต้องแย่งกันกดไฟเพื่อตอบคำถามนั้น ในระหว่างที่พิธีกรกำลังอ่านคำถามนั้น หากมีผู้เข้าแข่งขันคนใดคนหนึ่งกดไฟ พิธีกรจะหยุดอ่านคำถามและผู้ที่กดไฟได้จะต้องตอบคำถามทันที ถ้าตอบถูกจะได้เป็นสุดยอดแฟนพันธุ์แท้ทันที แต่ถ้าหากตอบผิดก็จะส่งผลให้อีกคนได้เป็นสุดยอดแฟนพันธุ์แท้ประจำสัปดาห์ทันทีเช่นกัน ข้อสังเกตคือในเทป Bodyslam รอบนี้ถูกเรียกว่ารอบ "คำถามจุดโทษ"
ปี 2015 แก้
*มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในเทปพิเศษ
- รอบที่ 1 : 3 วินาที
- ผู้เข้าแข่งขันทั้ง 3 ท่าน จะต้องสะสมคะแนน จากการตอบคำถามในชุดที่ผู้เข้าแข่งขันได้เลือกไว้ ให้ได้มากที่สุด ในแต่ละ 1 ชุดคำถาม = 20 คะแนน ผู้เข้าแข่งขันคนใดที่สะสมคะแนนน้อยที่สุด ก็จะตกรอบทันที
รอบที่ 2 : คลาสสิกเกม
- ผู้เข้าแข่งขันที่ผ่านเข้ารอบทั้ง 2 ท่าน จะต้องต่างคนต่างสะสมคะแนนของตัวเอง ในหมวด จิ๊กซอว์/คุณสมบัติ คะแนนเต็ม 1 หมวด = 25 คะแนน โดยผู้เข้าแข่งขันคนใดที่สะสมคะแนนรวม จาก 2 หมวดนี้ ได้มากกว่า จะเป็นได้เป็นสุดยอดแฟนพันธุ์แท้ทันที
รอบที่ 3 : คำถามสุดยอดแฟนพันธุ์แท้
- ผู้ที่ได้เป็นสุดยอดแฟนพันธุ์แท้ จะต้องตอบคำถามในหมวดนี้ให้ถูกต้อง เพื่อคว้าของรางวัลพิเศษสุดยิ่งใหญ่ไปให้ได้
ปี 2016 - 2017 (แฟนพันธุ์แท้ ซูเปอร์แฟน) แก้
โดยแฟนพันธุ์แท้ได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการแข่งขันมาเป็นรูปแบบ สภาแฟนพันธุ์แท้ คือสภาที่มีสุดยอดแฟนพันธุ์แท้เรื่องต่าง ๆ ทั้งสิ้น 10 คนมาทำหน้าที่คัดเลือกผู้เข้าแข่งขันที่มานำเสนอความชื่นชอบของตัวเองต่อเรื่องนั้น ๆ ในเวลา 2 นาทีว่าจะเหมาะสมเป็นสุดยอดแฟนพันธุ์แท้ในเรื่องนั้นหรือไม่โดยทั้ง 10 คนมีคนละ 1 คะแนนหากผู้เข้าแข่งขันคนใดได้ถึง 7 คะแนนหรือมากกว่านั้นก็จะได้ผ่านเข้าสู่รอบคลาสสิกเกมแต่หากผู้เข้าแข่งขันท่านใดได้คะแนนไม่ถึง 7 คะแนนก็ต้องตกรอบไป
เมื่อผู้เข้าแข่งขันได้เป็นสุดยอดแฟนพันธุ์แท้ในเรื่องนั้นแล้วก็จะต้องเข้ามาแข่งต่อในรอบคลาสสิกเกมทั้งสิ้น 4 หมวดประกอบไปด้วย
- 3 วินาที
- จิ๊กซอว์
- ถามตอบ
- คุณสมบัติ
ซึ่งสุดยอดแฟนพันธุ์แท้ต้องสุ่มเลือกหมวดคำถามจากทั้ง 4 หมวดหากสุดยอดแฟนพันธุ์แท้ตอบถูกก็จะได้เข้าสู่รอบต่อไปหากสุดยอดแฟนพันธุ์แท้ตอบผิดก็ต้องตกรอบไป
ปี 2018 แก้
รอบที่ 1 : 3 วินาที
ผู้เข้าแข่งขันจะต้องตอบคำถามให้ได้ภายในเวลา 3 วินาที (ถ้าตอบผิด มีสิทธิ์ตอบใหม่ได้จนกว่าจะหมดเวลา) โดยแบ่งเป็น 3 รอบ คำถาม 3 ชุดแบ่งเป็นรอบละชุดคำถาม ใครมีคะแนนน้อยที่สุดตกรอบ แต่หากผู้เข้าแข่งขันตอบผิดเท่ากันหรือไม่มีใครตอบผิดเลย ก็จะใช้กฎเหมือนปี 2007-2014 โดยพิธีกรจะอ่านคำถามสำรองขึ้นมา และผู้เข้าแข่งขันจะต้องแย่งกันกดไฟเพื่อแย่งสิทธิ์ในการตอบ ไฟติดที่ใคร คนนั้นต้องตอบ โดยถ้าตอบถูกเข้ารอบทันที ถ้าตอบผิดหรือตอบไม่ได้ภายใน 3 วินาที ก็จะตกรอบทันทีเช่นกัน โดยในรอบนี้จะหาผู้เข้าแข่งขัน 4 คนเพื่อเข้าสู่รอบ Action Game ต่อไป
รอบที่ 2 : แอ็คชั่นเกม (Action Game)
กติกาในรอบนี้ผู้เข้าแข่งขันทั้ง 4 คนต้องแย่งกันกดสัญญาณไฟเพื่อตอบคำถามของพิธีกรให้ถูกต้อง 1 ข้อ เพื่อเข้ารอบถาม-ตอบ รอบนี้ต้องการผู้เข้ารอบ 2 คน ถ้าเกิดมีผู้เข้าแข่งขันกดสัญญาณไฟได้แล้วตอบผิด พิธีกรจะเฉลยคำถามข้อที่ตอบผิดแล้วเริ่มถามคำถามข้อใหม่ โดยที่ผู้เข้าแข่งขันที่ตอบผิดเมื่อแย่งกดสัญญาณไฟแล้วไม่สามารถตอบผิดได้อีก ถ้าตอบผิดอีกครั้งตกรอบทันที ยกเว้นเกมจิ๊กซอว์และคุณสมบัติที่เมื่อใครตอบผิด พิธีกรจะไม่ถามคำถามข้อใหม่ ต้องเล่นต่อจนกว่าจะมีผู้ตอบถูก แต่ถ้าตอบผิดอีกครั้งใน 2 เกมนี้ตกรอบทันทีเช่นกัน (ใช้กฎเดียวกันกับปี 2012-2014)
รอบที่ 3 : ถาม-ตอบ
กติกาในรอบ ถาม-ตอบ ผู้เข้าแข่งขันทั้ง 2 จะต้องตอบคำถามจากทั้งหมด 6 คำถาม คนละ 3 ข้อ ผู้เข้าแข่งขันที่เข้ารอบมาก่อนมีสิทธิ์เล่นก่อน โดยถ้าหากในรอบนั้นผู้เข้าแข่งขันตอบถูกทั้งคู่หรือผิดทั้งคู่ต้องตอบคำถามข้อที่เหลือต่อ หากผู้เข้าแข่งขันคนใดตอบผิดและผู้เข้าแข่งขันอีกคนตอบถูก ผู้ตอบถูกจะได้เป็นสุดยอดแฟนพันธุ์แท้ในเรื่องนั้นและได้ตอบคำถามเพื่อชิงของรางวัลสุดพิเศษในรอบคำถามสุดยอดแฟนพันธุ์แท้
คำถามสุดยอดแฟนพันธุ์แท้ แก้
สุดยอดแฟนพันธุ์แท้ คือ บุคคลที่ชนะเลิศการแข่งขันแฟนพันธุ์แท้ในแต่ละสัปดาห์ โดยหลังจากผ่านรอบชิงชนะเลิศแล้วจะต้องตอบคำถามสุดยอดแฟนพันธุ์แท้อีก 1 ข้อ โดยถ้าตอบถูกจะได้รับของที่ระลึกสุดพิเศษ และเงินรางวัลจากทางรายการ แต่ถ้าตอบผิดจะไม่ได้รับของรางวัลสุดพิเศษอะไรเลย และที่สำคัญ ผู้ชนะเลิศประจำสัปดาห์ที่ตอบคำถามสุดยอดแฟนพันธุ์แท้ถูกต้องจะได้สิทธิ์เข้าแข่งขันสุดยอดแฟนพันธุ์แท้แห่งปี (Fan of the year) ซึ่งในแต่ละปีจะมีการนำสุดยอดแฟนพันธุ์แท้ในแต่ละสัปดาห์ของปีนั้น ๆ มาแข่งขันสุดยอดแฟนพันธุ์แท้แห่งปี (ยกเว้นในปี 2000 ที่ไม่มีการแข่งขันสุดยอดแฟนพันธุ์แท้แห่งปี แต่มีเป็นตอน รวมมิตร คือเอาทุกตอนในปี 2000 มารวมเอาไว้ด้วยกัน และปี 2018 เนื่องจากออกอากาศในครึ่งปีหลัง) ซึ่งมีดังนี้
- แฟนพันธุ์แท้ 2000
- แฟนพันธุ์แท้ 2001
- แฟนพันธุ์แท้ 2002
- แฟนพันธุ์แท้ 2003
- แฟนพันธุ์แท้ 2004
- แฟนพันธุ์แท้ 2005
- แฟนพันธุ์แท้ 2006
- แฟนพันธุ์แท้ 2007
- แฟนพันธุ์แท้ 2008
- แฟนพันธุ์แท้ 2012
- แฟนพันธุ์แท้ 2013
- แฟนพันธุ์แท้ 2014
- แฟนพันธุ์แท้ 2015
- แฟนพันธุ์แท้ ซูเปอร์แฟน (ปี 2016-2017)
- แฟนพันธุ์แท้ 2018
- แฟนด้อมพันธุ์แท้
รูปแบบการแจกของรางวัล แก้
รูปแบบการแจกของรางวัล มีดังนี้คือ รางวัลปกติ คือถ้วยรางวัลรูปมือจากทางรายการ กับของสะสมที่ระลึกในแต่ละเรื่อง ซึ่งจะให้ทั้งผู้เข้าแข่งขันที่ตอบถูกและตอบผิด และรางวัลพิเศษ เป็นเงินรางวัลมูลค่า 100,000 บาท ซึ่งจะให้เฉพาะผู้เข้าแข่งขันที่ตอบถูกเท่านั้น โดยใช้รูปแบบนี้จนถึงวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2544
ต่อมาวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2544 ได้เปลี่ยนรูปแบบใหม่ โดยของสะสมในแต่ละเรื่อง จะย้ายไปเป็นรางวัลพิเศษ ดังนั้น หากผู้เข้าแข่งขันตอบผิด จะได้รับเฉพาะรางวัลปกติ คือถ้วยรางวัลรูปมือเท่านั้นแต่ของสะสมต่าง ๆ จะไม่ได้ โดยใช้รูปแบบนี้จนถึงวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2544 และในวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2544 ของรางวัลปกติได้เพิ่มอีก 1 รายการคือ ประกาศนียบัตรทองคำ และยกเลิกเงินรางวัล 100,000 บาท ซึ่งเป็นรางวัลพิเศษที่ให้เฉพาะผู้เข้าแข่งขันที่ตอบถูกเท่านั้น
นับตั้งแต่แฟนพันธุ์แท้ปี พ.ศ. 2555 หากผู้เข้าแข่งขันตอบผิด ทางรายการจะไม่ได้บันทึกภาพและออกอากาศฉากที่ผู้ดำเนินรายการแสดงความเสียดายต่อของรางวัลที่ผู้เข้าแข่งขันไม่ได้รับ เพื่อเป็นการปกป้องผู้เข้าแข่งขัน
และในปี พ.ศ. 2561 สุดยอดแฟนพันธุ์แท้ที่ตอบถูกจะได้รับถ้วยรางวัลสุดยอดแฟนพันธุ์แท้และรางวัลพิเศษ แต่หากตอบผิดจะได้รับเพียงถ้วยแฟนพันธุ์แท้กลับไป ในปีนี้ไม่มีจัดการแข่งขันแฟนพันธุ์แท้แห่งปีเหมือนปี พ.ศ. 2543
กติกาแฟนพันธุ์แท้แห่งปี แก้
ผู้เข้าแข่งขันแต่ละคนแข่งขันในเรื่องของตัวเอง โดยจะสุ่มลำดับการเล่นด้วยการจับลูกบอลซึ่งในลูกบอลจะระบุชื่อของผู้เล่นแต่ละคน จับออกมาเป็นชื่อของใคร คนนั้นจะต้องลงมาทำการแข่งขัน โดยแต่ละคนจะแข่งขันในเกม 4 หมวด แต่ละหมวดมีคะแนนเต็ม 25 คะแนน รวมทั้งสิ้น 100 คะแนน หากผู้เข้าแข่งขันสามารถทำคะแนนเต็ม 25 คะแนนได้ในหมวดใด จะได้รับรางวัลพิเศษ 10,000 บาท และหากผู้เข้าแข่งขันสามารถทำคะแนนเต็ม 100 คะแนนได้ จะได้รับรางวัลพิเศษ 100,000 บาท
- หมวดที่ 1 : 3 วินาที
- เกมนี้จะมีคำถามทั้งหมด 25 ข้อ โดยคำถามจะเกี่ยวข้องกับสิ่งต่าง ๆ ตามเรื่องของแฟนพันธุ์แท้ (อาจเป็นรูปภาพหรือคุณลักษณะต่าง ๆ) แต่ละข้อผู้เข้าแข่งขันจะมีเวลาตอบ 3 วินาทีและมีสิทธิ์ตอบได้เพียงครั้งเดียวโดยยึดจากคำตอบแรกที่ผู้เข้าแข่งขันตอบออกมาเป็นหลัก โดยจะเริ่มนับเวลาหลังจากพิธีกรแสดงภาพหรืออ่านคำถามจบ แต่ละข้อที่ตอบถูกจะได้ 1 คะแนน ระหว่างที่เล่นหากผู้เข้าแข่งขันไม่แน่ใจในคำตอบ สามารถบอก "ข้าม" เพื่อไปยังคำถามข้อต่อไปได้ (ใช้สิทธิ์ได้ไม่จำกัดจำนวนคำถาม) แต่คำถามที่ข้ามไปแล้วจะไม่นำกลับมาเล่นใหม่ แต่ถ้าหากตอบผิดหรือหมดเวลาที่คำถามใดก็ตามแต่ เกมจะหยุดลงทันที ใช้ในปี 2001 - 2008 , 2012 แต่ในปี 2013 และ 2014 สืบเนื่องจากในรอบประจำสัปดาห์ คำถามที่ใช้เล่นในรอบ 3 วินาทีมีรูปแบบที่หลากหลาย ดังนั้นในรอบแฟนพันธุ์แท้แห่งปี จึงได้มีการแบ่งรูปแบบคำถามออกเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 ในคำถามที่ 1 - 10 , ช่วงที่ 2 ในคำถามที่ 11 - 20 และช่วงที่ 3 ในคำถามที่ 21 - 25 ส่วนรายละเอียดที่เหลือไม่มีการเปลี่ยนแปลง
- หมวดที่ 2 : ถาม-ตอบ
- ให้ผู้เข้าแข่งขันตอบคำถาม 1 ข้อ หากตอบทันที ตอบถูกจะได้คะแนนเต็ม 25 คะแนน หากผู้เข้าแข่งขันไม่แน่ใจในคำตอบ สามารถ "ขอดูคำตอบ" ได้ โดยทางรายการจะมีตัวเลือกให้ผู้เข้าแข่งขัน 5 ตัวเลือก และคะแนนที่ได้จะลดเหลือ 20 คะแนน แต่หากผู้เข้าแข่งขันยังไม่แน่ใจอีก สามารถ "ขอตัดคำตอบ" ได้ โดยทางรายการจะตัดตัวเลือกให้ครั้งละ 1 ตัวเลือก แต่คะแนนที่ได้จะลดลงครั้งละ 5 คะแนน หากตอบถูกจะได้คะแนนในขณะนั้น แต่ถ้าหากตอบผิดจะได้ 0 คะแนน
- หมวดที่ 3 : จิ๊กซอว์
- ให้ผู้เข้าแข่งขันตอบภาพปริศนาที่อยู่หลังจิ๊กซอว์ 25 ช่อง โดยผู้เข้าแข่งขันจะมีสิทธิ์เปิดได้ 1 ช่อง หากตอบถูกจะได้คะแนนเต็ม 25 คะแนน แต่ถ้าหากผู้เข้าแข่งขันไม่แน่ใจในคำตอบ สามารถ "เปิดเพิ่ม" ได้ครั้งละ 1 ช่อง แต่คะแนนจะลดลงครั้งละ 5 คะแนน หากตอบถูกจะได้คะแนนในขณะนั้น แต่ถ้าหากตอบผิดจะได้ 0 คะแนน
- หมวดที่ 4 : คุณสมบัติ
- เกมนี้จะมีข้อมูลคุณสมบัติ 5 ข้อ ซึ่งข้อมูลทั้งหมดนั้นจะเชื่อมโยงไปยังคำตอบที่ถูกต้องที่มีเพียงคำตอบเดียว โดยผู้เข้าแข่งขันจะมีสิทธิ์เปิดได้ 1 ข้อ หากตอบถูกจะได้คะแนน 25 คะแนน แต่ถ้าหากผู้เข้าแข่งขันไม่แน่ใจในคำตอบ สามารถ "เปิดเพิ่ม" ได้ครั้งละ 1 ข้อ แต่คะแนนเต็มจะลดลงครั้งละ 5 คะแนน หากตอบถูกจะได้คะแนนในขณะนั้น แต่ถ้าหากตอบผิดจะได้ 0 คะแนน
หลังจบการแข่งขันของผู้เข้าแข่งขันทุกคน ผู้เข้าแข่งขันที่ได้คะแนนสูงสุด 5 อันดับแรก จะได้เข้าไปแข่งแฟนพันธุ์แท้แห่งปีในรอบชิงชนะเลิศ
รอบชิงชนะเลิศ แก้
รูปแบบการแข่งขันจะเหมือนกับรอบแรก คือสุ่มจับลูกบอลหาผู้เล่นก่อน-หลังเหมือนเดิม แต่มีการเปลี่ยนแปลงกติกาคือผู้เข้าแข่งขันจะต้องเลือกเล่นหมวดใดหมวดหนึ่งเพียงหมวดเดียวจากทั้งหมด 4 หมวด (3 วินาที/คำถาม-คำตอบ/จิ๊กซอว์/คุณสมบัติ) ใครที่ได้คะแนนมากที่สุดจะได้เป็นสุดยอดแฟนพันธุ์แท้แห่งปี ถ้ามีคะแนนสูงสุดเสมอกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ก็จะต้องแข่งขันกันอีกครั้ง โดยเลือกเล่นหมวดใดหมวดหนึ่งจากหมวดที่เหลือที่ผู้เล่นคนนั้น ๆ ยังไม่ได้เล่น หากยังเสมอกันเมื่อครบทั้ง 4 หมวดแล้ว จะมีการแข่งขันในหมวดพิเศษเพื่อตัดสินหาผู้ชนะสุดยอดแฟนพันธุ์แท้แห่งปี
ของรางวัลที่สุดยอดแฟนพันธุ์แท้แห่งปีจะได้รับ แก้
- ปี ค.ศ. 2001 บ้านโครงการพฤกษา, รถยนต์ มิตซูบิชิ แลนเซอร์ รุ่น F-Style 1.6, เอส บี เฟอร์นิเจอร์ รวมมูลค่า 2,000,000 บาท
- ปี ค.ศ. 2002 - 2004 บ้านโครงการภัสสรและรถยนต์มิตซูบิชิ แลนเซอร์ รุ่น Cedia รวมมูลค่า 3,000,000 บาท
- ปี ค.ศ. 2005 - 2006 บ้านโครงการภัสสรและรถยนต์มิตซูบิชิ แลนเซอร์ รุ่น 1.6 เกียร์อัตโนมัติ รวมมูลค่า 3,000,000 บาท
- ปี ค.ศ. 2007 - 2008 บ้านโครงการภัสสรและรถยนต์โตโยต้า คัมรี่ รวมมูลค่า 4,000,000 บาท
- ปี ค.ศ. 2012 เงินรางวัล 1,000,000 บาทและรถยนต์ มิตซูบิชิ มิราจ GLS Limited มูลค่า 546,000 บาท รวมมูลค่า 1,546,000 บาท
- ปี ค.ศ. 2013 เงินรางวัล 1,000,000 บาท, บ้านเดี่ยวสไตล์โมเดิร์นโครงการ The Plant Light 3,900,000 บาท, รถยนต์ มิตซูบิชิ Attrage GLS Limited เกียร์อัตโนมัติ มูลค่า 582,000 บาท รวมมูลค่า 5,482,000 บาท
- ปี ค.ศ. 2014 เงินรางวัล 1,000,000 บาท, รถยนต์ มิตซูบิชิ Attrage GLS Limited เกียร์อัตโนมัติ มูลค่า 588,000 บาท รวมมูลค่า 1,588,000 บาท
- ปี ค.ศ. 2016/2017 (แฟนพันธุ์แท้ ซูเปอร์แฟน) คอนโดมีเนียมในโครงการพลัมคอนโด เอ็กซ์ตร้า พระราม 2 โดย พฤกษา เรียลเอสเตท มูลค่า 1,500,000 บาท , รถยนต์ นิสสัน X-TRAIL Hybrid 2.0s มูลค่า 1,304,000 บาท รวมมูลค่า 2,804,000 บาท และองค์พระพิฆเณศวร ปางมหาเทพแห่งศิลปะของแผ่นดิน (รางวัลพิเศษจากป๋อง สุพรรณ)
หมายเหตุ : ปี ค.ศ. 2001 - 2008 ของรางวัลจากเบียร์ช้าง (เครื่องดื่มตราช้าง ในปัจจุบัน) และในปี ค.ศ. 2012 - 2014 หากผู้ที่เป็นสุดยอดแฟนพันธุ์แท้แห่งปีเป็นผู้ที่ตอบคำถามสุดยอดแฟนพันธุ์แท้ประจำสัปดาห์ผิด จะได้รับของรางวัลสุดพิเศษประจำสัปดาห์ที่พลาดไปแล้วด้วย
สุดยอดแฟนพันธุ์แท้แห่งปี แก้
ปี ค.ศ. | ชื่อสุดยอดแฟนพันธุ์แท้แห่งปี | เรื่อง |
---|---|---|
2001 | วัชรพันธุ์ ลวันยานนท์ | อุลตร้าแมน |
ราม วัชรประดิษฐ์ | พระเครื่อง | |
2002 | สมมาตร ศรีสมาจาร | มอเตอร์ไซค์ (ครั้งที่ 2) |
2003 | ป๋อง สุพรรณ (เสมอ งิ้วงาม) | พระเครื่อง (ครั้งที่ 2) |
2004 | นิรุตต์ โลหะรังสี | ประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา (ครั้งที่ 4) |
2005 | แซนดี้ หงส์ | ตุ๊กตาบาร์บี้ |
2006 | แดน ดนัย สมุทรโคจร | ซูเปอร์ฮีโร่ |
เอก ฮิมสกุล | ฟุตบอลโลก | |
รักษ์ ศรีเกตุ | พระพุทธรูป | |
2007 | นิภาวรรณ ผดุงรส | สิ่งมหัศจรรย์ของโลก |
ปฏิภาค มิลินทประทีป
(ชื่อเก่า=ปฏิภาค มีสมบูรณ์พูนสุข) |
โลกศิลปะ | |
2008 | ต้น ท่าพระจันทร์ (ณัฐพงษ์ ชวาลรัตนสกุล) | พระเหรียญ |
ชัชวนันท์ สันธิเดช | สามก๊ก (ครั้งที่ 3) | |
2012 | เศกฤทธิ์ พลเสน
(ชื่อเก่า=เศกฤทธิ์ มะลิวัลย์) |
กีตาร์ |
2013 | ปกรณ์ชัย วรจิตชุติวัฒน์ | เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ |
2014 | วันชนะ ศรีจำปา | นักเตะระดับโลก |
Super Fan (2016/2017) |
ไอศวรรฎา ศิริลักษณ์ | Miss Universe |
เกียรติประวัติ แก้
- รางวัลเมขลา
- รายการแข่งขันชิงรางวัลดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2544 , 2545 , 2546 และ 2547
- ผู้ดำเนินรายการชายดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2544 : ปัญญา นิรันดร์กุล
- โทรทัศน์ทองคำ
- รายการเกมโชว์ดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2544
- ผู้ดำเนินรายการชายดีเด่น พ.ศ. 2544 : ปัญญา นิรันดร์กุล
- ผู้ดำเนินรายการชายดีเด่น พ.ศ. 2557 : กฤษณ์ ศรีภูมิเศรษฐ์
- ท็อป อวอร์ดส์
- เกมโชว์ยอดเยี่ยมแห่งปี พ.ศ. 2544 , 2545 , 2546 และ พ.ศ. 2548
- พิธีกรยอดเยี่ยมแห่งปี พ.ศ. 2549 : ปัญญา นิรันดร์กุล
- สตาร์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ อวอร์ดส์
- รายการเกมโชว์ยอดเยี่ยม ประจำปี พ.ศ. 2544 , 2545 , 2546 , 2547 และ พ.ศ. 2548
- ผู้ดำเนินรายการชายยอดเยี่ยม ประจำปี พ.ศ. 2544 : ปัญญา นิรันดร์กุล
- เอเชี่ยน เทเลวิชั่น อวอร์ดส์
- Runner-up Game or Quiz Programme พ.ศ. 2544 และ พ.ศ. 2548
- Best Game or Quiz Programme พ.ศ. 2546 และ พ.ศ. 2547
- Highly Commended Game or Quiz Programme พ.ศ. 2549 , พ.ศ. 2550 และ พ.ศ. 2551
ข้อวิจารณ์ แก้
รายการแฟนพันธุ์แท้ถูกตั้งคำถามบ่อยครั้งถึงความถูกต้องของข้อมูล[ต้องการอ้างอิง]
การซื้อลิขสิทธิ์ไปผลิตต่อในต่างประเทศ แก้
รายการแฟนพันธุ์แท้มีการซื้อลิขสิทธิ์ไปผลิตต่อในแบบฉบับของประเทศต่าง ๆ ดังนี้
ประเทศ | ชื่อ | สถานีโทรทัศน์ | เริ่มออกอากาศครั้งแรก | อ้างอิง |
---|---|---|---|---|
สวีเดน | Fantasterna | ทีวีโฟร์ (TV4) | พ.ศ. 2556 | [5] |
บริเตนใหญ่ | The Fanatics | สกาย-วัน (Sky-1) | พ.ศ. 2558 | [6] |
อ้างอิง แก้
- ↑ ที่มาของรายการแฟนพันธุ์แท้
- ↑ https://maanow.com/แฟนพันธุ์แท้-2018.html
- ↑ "หึ่ง! รายการ "เวิร์คพอยท์" หลุดผังช่อง7 ยกแผง "ชิงร้อยชิงล้าน" ชิ่งซบวิก3". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-01-08. สืบค้นเมื่อ 2012-01-04.
- ↑ รายการในตำนาน ! แฟนพันธุ์แท้คัมแบคในรอบ 5 ปีกับรูปแบบใหม่
- ↑ ทีเซอร์ของรายการ Fantasterna
- ↑ ตอนหนึ่งของรายการ The Fanatics ที่มี End Credit ลงท้ายด้วยคำว่า Based on the Work Point Entertainment