แผนตะวันตก (อังกฤษ: Plan West; โปแลนด์: Plan Zachód) เป็นแผนปฏิบัติการทางทหารของกองทัพโปแลนด์ ในสมัยสาธารณรัฐโปแลนด์ที่สอง โดยมีขึ้นเพื่อเตรียมการป้องกันประเทศจากการรุกรานของนาซีเยอรมนี ซึ่งถูกออกแบบมาในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1930

ที่ตั้งของกองทัพฝ่ายตรงข้ามในวันที่ 31 สิงหาคม ค.ศ. 1939 และแผนเยอรมนี

แผนการ แก้

แผนการแรกของโปแลนด์เป็นการทำนายถึงการโจมตีของกองทัพเยอรมันจากโพเมราเนีย มายังกรุงวอร์ซอ รวมไปถึงกำลังสนับสนุนจากซิลีเซียและปรัสเซีย โดยมีเป้าหมายเพื่อที่จะเชื่อมฉนวนโปแลนด์ ระหว่างโพเมราเนียกับปรัสเซีย หลังจากที่การผนวกดินแดนบางส่วนของเชโกสโลวาเกียได้เปลี่ยนแปลงสภาพแนวชายแดนไป นักวางแผนชาวโปแลนด์จึงทบทวนแผนการอีกครั้งหนึ่ง โดยมีความเชื่อว่ากองทัพเยอรมันจะโจมตีมาจากซิลีเซียมายังกรุงวอร์ซอ ซึ่งในการรบจริง นักวางแผนได้ทำนายเส้นทางการโจมตีของกองทัพเยอรมันได้อย่างถูกต้อง แต่ก็ยังมีข้อเสียที่สำคัญอยู่ คือ พวกเขาไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเตรียมการถึงการโจมตีจากปรัสเซียและสโลวาเกียมากนัก แต่กลับเป็นแผนการรบหลักของกองทัพเยอรมันในกรณีสีขาว[1][2]

ต่อมา ได้มีการโต้เถียงกันในการตัดสินใจเลือกที่จะป้องกันตามแนวชายแดนอันยาวเหยียด หรือเลือกที่จะล่าถอยไปทางทิศตะวันออกและทิศใต้ และพยายามสร้างแนวป้องกันที่มีความยาวสั้นกว่าแทน โดยมีปราการธรรมชาติเป็นแม่น้ำ ถึงแม้ว่าแนวคิดที่สองจะฟังดูมีน้ำหนักในทางการทหารมากกว่า แต่การพิจารณาในเชิงการเมืองมีความสำคัญกว่า เนื่องจากนักการเมืองโปแลนด์กังวลว่าเยอรมนีจะสามารถยึดครองดินแดนข้อพิพาทได้ง่ายขึ้น (อย่างเช่น นครเสรีดานซิก ฉนวนโปแลนด์ และซิลีเซีย) และจะยุติสงครามได้อย่างรวดเร็วภายหลังจากการยึดครองดินแดนดังกล่าว[3] ดินแดนทางด้านตะวันตกของโปแลนด์มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น และมีเขตอุตสาหกรรมหนัก ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการระดมพล และการผลิตทรัพยการให้แก่กองทัพโปแลนด์อีกด้วย [1]

แผนการดังกล่าวสันนิษฐานว่าสหภาพโซเวียตจะคงความเป็นกลางของตนระหว่างสงคราม เนื่องจากได้มีการประเมินว่าพันธมิตรนาซี-โซเวียตดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ อย่างไรก็ตาม แผนนี้เป็นการเปิดโอกาสให้ลิทัวเนียสามารถยึดเมืองวิลโน อันเป็นดินแดนพิพาทระหว่างโปแลนด์กับลิทัวเนีย และกองกำลังโปแลนด์ขนาดเล็ก ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วยหน่วยป้องกันชายแดน ไม่มีส่วนในการป้องกันดินแดนดังกล่าวเลย[1]

แผนการนี้ยังสันนิษฐานเอาว่า กองทัพโปแลนด์จะสามารถหยุดยั้งกองทัพเยอรมันได้เป็นเวลาหลายเดือน แต่เนื่องจากความเหนือกว่าทางด้านอาวุธและด้านกำลังพล ทำให้อาจมีการโจมตีสวนกลับได้ (แผนการนี้ประมาณว่า เยอรมนีมีข้อได้เปรียบที่สำคัญอยู่สองหรือสามประการ)[1][4] จนกว่าจะมีการกดดันจากพันธมิตรตะวันตก ซึ่งมีความผูกพันในการโจมตีจากทางตะวันตก เพื่อกันกองทัพเยอรมันจากแนวรบด้านโปแลนด์ และเปิดโอกาสให้โปแลนด์ดำเนินการโจมตีสวนกลับได้[1][5]

ประสิทธิภาพ แก้

แผนตะวันตกสามารถคาดการณ์ขนาด ที่ตั้งและทิศทางของการบุกได้อย่างแม่นยำ[4] แต่เมื่อถึงเวลาที่กองทัพเยอรมันโจมตีเข้ามาแล้ว แนวป้องกันที่สองและแนวป้องกันถัดไปไม่เป็นไปตามแผน หรือไม่ก็ไม่สามารถลงมือปฏิบัติได้ในทางทหาร[4] นอกจากนี้ยังมีส่วนที่เป็นอุปสรรคขัดขวาง คือ การจัดการกับระบบสื่อสารและการส่งเสบียง[4][6]

เมื่อเยอรมนีบุกครองโปแลนด์ในเดือนกันยายน 1939 กองทัพโปแลนด์พ่ายแพ้ครั้งสำคัญในยุทธการตามแนวชายแดน ดังที่ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์แผนการดังกล่าวไว้ ปัจจัยอื่นที่สำคัญ รวมไปถึง การประเมินความสามารถในการเคลื่อนไหวได้อย่างรวดเร็ว และยุทธวิธีการโจมตีสายฟ้าแลบของเยอรมนีต่ำเกินไป และยังประเมินความสามารถของตนสูงเกินไปอีกด้วย และการรุกรานของสหภาพโซเวียตจากทางตะวันออก และการขาดความช่วยเหลือจากพันธมิตรตะวันตก ทำให้กองทัพโปแลนด์ต้องพ่ายแพ้เมื่อย่างเข้าเดือนตุลาคม 1939[7]

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 (ในภาษาโปแลนด์) Plan "Zachód"
  2. Seidner 1978, p. 50.
  3. Seidner 1978, p. 74.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 (ในภาษาโปแลนด์) POLSKI PLAN OBRONNY ZACHÓD เก็บถาวร 2007-07-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  5. Seidner 1978, pp. 89–91.
  6. Seidner 1978, p. 235–241.
  7. Seidner 1978, pp. 284–290.
  • Seidner, Stanley S. (1978), Marshal Edward Śmigły-Rydz Rydz and the Defense of Poland, New York, OCLC 164675876

อ่านเพิ่ม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้