แบช (อังกฤษ: bash: Bourne-again shell) เป็นเชลล์ยูนิกซ์ที่พัฒนาขึ้นสำหรับโครงการกนู ชื่อเต็มของโปรแกรมล้อเลียนเชลล์อีกตัวคือ บอร์นเชลล์ (Bourne shell) แบชเขียนมาใช้แทนบอร์นเชลล์ซึ่งเขียนขึ้นสำหรับยูนิกซ์เวอร์ชัน 7 โดย สตีเฟน บอร์น (Stephen Bourne) เมื่อประมาณ ค.ศ. 1978 ไบรอัน ฟอกซ์ (Brian Fox) เขียนแบชไว้เมื่อ ค.ศ. 1987 ตั้งแต่ ค.ศ. 1990 เป็นต้นมาผู้ดูแลพัฒนาหลักคือ เช็ต เรมี (Chet Ramey)[1] ในลีนุกซ์ส่วนใหญ่และในแมคโอเอสเท็นใช้แบชเป็นเชลล์มาตรฐาน แบชสามารถทำงานบนระบบปฏิบัติการยูนิกซ์และใกล้เคียง ยังปรับปรุงให้สามารถทำงานในไมโครซอฟท์วินโดวส์โดยโครงการ Cygwin และในดอสโดยโครงการ DJGPP ด้วย

GNU Bourne-again shell
นักพัฒนาเช็ต เรมี
รุ่นเสถียร
3.1 / 7 ธันวาคม พ.ศ. 2548
ที่เก็บข้อมูล
ระบบปฏิบัติการลีนุกซ์, แมคโอเอสเท็น, ยูนิกซ์, ไมโครซอฟท์วินโดวส์ (ผ่านทาง Cygwin)
ประเภทเชลล์ยูนิกซ์
สัญญาอนุญาตGPL
เว็บไซต์เว็บเพจของ GNU bash

รูปแบบคำสั่ง แก้

รูปแบบคำสั่งของแบชครอบคลุมคำสั่งทั้งหมดของบอร์นเชลล์ ดังนั้นสคริปต์ที่เขียนสำหรับบอร์นเชลล์ส่วนใหญ่จึงสามารถรันใน bash ได้โดยไม่ต้องแก้ไข จะมียกเว้นก็เช่น สคริปต์ที่เรียกใช้ตัวแปรพิเศษในบอร์นเชลล์ หรือใช้คำสั่งภายในของบอร์นเชลล์

รูปแบบคำสั่งในแบชยังได้รับแนวความคิดจาก คอร์นเชลล์ (ksh) และ ซีเชลล์ (csh) เช่น การแก้ไขคำสั่ง จำคำสั่งเก่า ตัวแปร $RANDOM และ $PPID เป็นต้น เวลาใช้เป็นเชลล์ทางบรรทัดคำสั่ง แบชจะเติมชื่อโปรแกรม ชื่อไฟล์ ชื่อตัวแปร ให้ครบโดยอัตโนมัต เมื่อผู้ใช้กดปุ่ม TAB

ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างรูปแบบคำสั่งที่เพิ่มเติมมาในแบชซึ่งบอร์นเชลล์ไม่มี

การคำนวณเลขจำนวนเต็ม แก้

แบชสามารถคำนวณตัวเลขจำนวนเต็มโดยไม่ต้องเรียกใช้โปรแกรมอื่น ในการคำนวณจะใช้คำสั่ง ((...)) หรือ $[...]

VAR=55            # กำหนดค่า 55 ให้กับตัวแปร VAR
((VAR = VAR + 1))   # บวกหนึ่งให้ตัวแปร VAR สังเกตว่าไม่ใช้อักษร '$'
((++VAR))              # อีกวิธีในการบวกหนึ่งให้กับ VAR
((VAR++))              # อีกวิธีในการบวกหนึ่งให้กับ VAR
echo $[VAR * 22]     # นำ VAR ไปคูณกับ 22 แล้วแทนที่ในคำสั่ง
echo $((VAR * 22))   # อีกวิธีในการนำ VAR ไปคูณกับ 22 แล้วแทนที่ในคำสั่ง

คำสั่ง ((...)) ยังใช้ในการตรวจสอบเงื่อนไข ว่าเป็นจริงหรือเท็จ เช่น

if ((VAR == Y * 3 + X * 2))
then
        echo Yes
fi

((Z > 23)) && echo Yes

สามารถใช้เงื่อนไข '==', '!=', '>', '<', '>=' และ '<=' ในคำสั่ง ((...))

แบชไม่สามารถคำนวณค่าเป็นจำนวนทศนิยมได้ มีเพียง คอร์นเชลล์ และ Z เชลล์ เท่านั้นที่ทำได้

เปลี่ยนทิศทาง I/O แก้

แบชมีรูปแบบคำสั่งหลายอย่างในการเปลี่ยนทิศทาง I/O ตัวอย่างเช่น ถ้าต้องการเปลี่ยน standard output (stdout) และ standard error (stderr) ไปเก็บในไฟล์ สามารถใช้รูปแบบ

command &> file

ซึ่งง่ายกว่าบอร์นเชลล์ที่ต้องพิมพ์ "command > file 2>&1"

ตั้งแต่รุ่น 2.05b เป็นต้นมา แบชสามารถดึงข้อความสตริงไปเข้า standard input (เรียกว่า "here documents" หรือ "heredocs") ได้ดังนี้

command << "สตริงที่ส่งไป standard input"

ถ้าในสตริงมีตัวอักษรช่องว่าง หรือตัวอักษรพิเศษอื่น ๆ ต้องใส่สตริงในเครื่องหมายคำพูด

ตัวอย่าง: Redirect standard output to a file, write data, close file, reset stdout

# สร้างไฟล์เดสคริปเทอร์ (Filedescriptor, FD) 6 ให้ชี้ไปยัง stdout (FD 1)
exec 6>&1
# เปลี่ยน stdout ให้เขียนลงไฟล์ "test.data" แทน
exec 1>test.data
# ใส่ข้อมูลในไฟล์
echo "data:data:data"
# ปิดไฟล์ "test.data"
exec 1>&-
# เปลี่ยน stdout ให้เหมือนกับ FD 6 (รีเซต stdout ให้กลับเหมือนเดิม)
exec 1>&6
# ปิด FD6
exec 6>&-

เปิดและปิดไฟล์

# เปิดไฟล์ test.data เพื่ออ่าน ใช้ FD 6
exec 6<test.data
# อ่านจนกว่าจะจบไฟล์
while read -u 6 dta
do
  echo "$dta" 
done
# ปิดไฟล์ test.data
exec 6<&-

เก็บผลลัพธ์ของคำสั่งภายนอก

 # รันโปรแกรม 'find' และเก็บผลลัพธ์ไว้ในตัวแปร VAR
 # ค้นหาไฟล์ที่ลงท้ายด้วยตัวอักษร "h"
 VAR=$(find . -name "*h")

การตรวจสอบนพจน์ปรกติ แก้

แบช 3.0 สนับสนุนการตรวจสอบนิพจน์ปรกติในตัวแบชเองโดยใช้รูปแบบคำสั่งที่คล้ายกับภาษาเพิร์ลดังนี้

[[string =~ regex]]

รูปแบบของนิพจน์ปรกติจะเหมือนกับที่กำหนดในหน้าแมนเพจ regex(7) ผลลัพธ์ที่ได้จะเป็น 0 ถ้าสายอักขระตรงกัน และเป็น 1 ถ้าไม่ตรงกัน ข้อความในวงเล็บภายในนิพจน์ปรกติสามารถอ่านได้จากตัวแปร BASH_REMATCH ดังต่อไปนี้

if [[abcfoobarbletch =~ 'foo(bar)bl(.*)']]
then
        echo ข้อความตรงกับที่ค้นหา\!
        echo $BASH_REMATCH      -- แสดง foobarbletch
        echo ${BASH_REMATCH[1]} -- แสดง bar
        echo ${BASH_REMATCH[2]} -- แสดง etch
fi

รูปแบบคำสั่งนี้ ทำงานมีประสิทธิภาพกว่าการรันโปรแกรม grep ต่างหาก ถ้าในนิพจน์ปรกติหรือสายอักขระมีตัวอักษรว่าง หรือตัวอักษรพิเศษ (เช่น '*' หรือ '?') ต้องใส่ในเครื่องหมายคำพูด

การแปลงแบ็คสแลช แก้

ข้อความในรูป $'string' จะถูกจัดการเป็นพิเศษ ข้อความดังกล่าวจะถูกแปลงเป็นstring โดยที่ตัวอักษรที่ขึ้นต้นด้วยแบ็กสแลช (\) จะถูกแปลงตามที่กำหนดไว้ในภาษาซี ดังตารางต่อไปนี้

การแปลงข้อความ
ข้อความเดิม แปลงเป็น
\a ตัวอักษร alert หรือ bell
\b ตัวอักษร backspace
\e ตัวอักษร escape
\f ตัวอักษร form feed
\n ตัวอักษร new line
\r ตัวอักษร carriage return
\t ตัวอักษร horizontal tab
\v ตัวอักษร vertical tab
\\ ตัวอักษร \
\' ตัวอักษร '
\nnn ตัวอักษร 8 บิตที่มีเลขฐานแปดเป็น nnn (หนึ่งถึงสามหลัก)
\xHH ตัวอักษร 8 บิตที่มีเลขฐานสิบหกเป็น HH (หนึ่งหรือสองหลัก)
\cx ตัวอักษร control-X

หลังจากแปลงแล้วข้อความจะอยู่ภายในเครื่องหมายคำพูด '...' เหมือนกับว่าไม่มีตัวอักษร $ อยู่

ข้อความตัวอักษรที่อยู่ภายใน $"..." จะถูกแปลตามโลเคล (locale) ปัจจุบัน ถ้าโลเคลปัจจุบันคือ C หรือ POSIX เครื่องหมายดอลลาร์จะไม่มีผล แต่ถ้าสตริงถูกแปลและแทนที่ ผลลัพธ์จะอยู่ในเครื่องหมายคำพูด "..."

สคริปเริ่มทำงาน แก้

เมื่อแบชเริ่มทำงาน มันจะทำคำสั่งในสคริปเริ่มต้นต่าง ๆ กันแล้วแต่กรณี

ถ้าเรียกแบชเป็นเชลล์ล็อกอิน หรือเรียกโดยมีออปชัน --login มันจะไปค้นหา /etc/profile ตามด้วย ~/.bash_profile, ~/bash_login และ ~/.profile ตามลำดับ มันจะรันคำสั่งในไฟล์แรกที่มันพบและสามารถอ่านได้ สามารถสั่งให้แบชไม่รันคำสั่งโดยออปชัน --noprofile

ถ้าล็อกอินเชลล์จบการทำงาน แบชจะไปรันคำสั่งใน ~/.bash_logout ถ้ามี

ถ้าเรียกแบชเป็นเชลล์โต้ตอบที่ไม่ใช้ล็อกอิน มันจะไปอ่านและรันคำสั่งใน ~/.bashrc ถ้ามี สามารถสั่งไม่ให้รันได้ด้วยออปชัน --norc และสั่งให้รันจากไฟล์ที่กำหนดด้วยออปชัน --rcfile

ถ้าเรียกแบชเป็นเชลล์เพื่อรันสคริปต์ มันจะตรวจสอบตัวแปร BASH_ENV และรันคำสั่งในไฟล์ที่ระบุแบชไม่ใช้ตัวแปร PATH ในการค้นหาไฟล์

ถ้าเรียกแบชโดยใช้ชื่อ sh มันจะเลียนแบบการทำงานของบอร์นเชลล์มากที่สุดเท่าที่ทำได้ ตราบเท่าที่ยังเป็นตามมาตรฐาน POSIX เมื่อเป็นล็อกอินเชลล์หรือมีออปชัน --login มันจะไปหา /etc/profile และ ~/.profile ตามลำดับ และสามารถใช้ --noprofile เพื่องดการรันคำสั่งเริ่มต้น เมื่อไม่เป็นล็อกอินเชลล์ มันจะหาไฟล์ที่กำหนดโดยตัวแปร ENV และเมื่อเรียกเพื่อรันสคริปจะไม่รันคำสั่งเริ่มต้นเลย

ถ้าแบชทำงานในโหมด POSIX โดยใช้ออพชัน --posix จะรันคำสั่งจากไฟล์ที่ระบุใน ENV เท่านั้นเพื่อเป็นไปตามมาตรฐาน POSIX

แบชยังตรวจว่ามันถูกเรียกจาก remote shell daemon ซึ่งมักเป็น rshd หรือไม่ ถ้าใช่ ก็จะรันคำสั่งใน ~/.bashrc (ยกเลิกได้โดยออพชัน --norc และเปลี่ยนไฟล์โดยใช้ออพชัน --rcfile แต่ปกติ rshd มักไม่สามารถรันเชลล์โดยระบุออพชันเหล่านี้)

อ้างอิง แก้

  • "Bash Reference Manual". สืบค้นเมื่อ 2008-06-21.
  1. Ramey, Chet. "Bash - the GNU shell (Reflections and Lessons Learned)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-03-29. สืบค้นเมื่อ 2008-01-15.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้