แนวร่วมประชาธิปไตยเพื่อการปลดปล่อยปาเลสไตน์

แนวร่วมประชาธิปไตยเพื่อการปลดปล่อยปาเลสไตน์ (Democratic Front for the Liberation of Palestine; ภาษาอาหรับ: 'الجبهة الديموقراطية لتحرير فلسطين', ถอดอักษร Al-Jabha al-Dimuqratiya Li-Tahrir Filastin หรือ al-Jabha al-Dimuqratiyah ; الجبهة الديموقراطية) เป็นองค์กรทางการเมืองและการทหารของปาเลสไตน์ ที่นิยมลัทธิมากซ์ เป็นองค์กรที่เป็นสมาชิกขององค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์

ประวัติ แก้

การก่อตั้งแนวร่วม แก้

ใน พ.ศ. 2512 แนวร่วมเพื่อการปลดปล่อยประชาชนปาเลสไตน์ฝ่ายซ้าย แตกออกจากองค์กรหลัก ก่อตั้งเป็นแนวร่วมประชาชนปาเลสไตน์เพื่อการปลดปล่อยปาเลสไตน์ นำโดยนายพลนายาฟ ฮาวัตเมห์ซึ่งเคยเป็นผู้นำของแนวร่วมเพื่อการปลดปล่อยประชาชนปาเลสไตน์ฝ่ายซ้าย ต่อมาในเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน พ.ศ. 2512 พันธมิตรปฏิวัติฝ่ายซ้ายและองค์กรปลดปล่อยประชาชนปาเลสไตน์รวมเข้ากับแนวร่วมประชาชนปาเลสไตน์เพื่อการปลดปล่อยปาเลสไตน์[1]

ช่วงแรกและแนวคิด แก้

แนวร่วมประชาธิปไตยเพื่อการปลดปล่อยปาเลสไตน์ประกาศจุดยืนของตนในการสร้างรัฐประชาธิปไตยประชาชนปาเลสไตน์ที่ชาวอาหรับและชาวยิวอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ไม่มีการแบ่งแยกชนชั้น แต่ละกลุ่มต่างพัฒนาวัฒนธรรมของตนเอง[2] แนวร่วมประชาชนปาเลสไตน์เพื่อการปลดปล่อยปาเลสไตน์ ถูกโจมตีอย่างหนักในเดือนกันยายน พ.ศ. 2513 ในจอร์แดน ที่มั่นในกรุงอัมมานถูกถล่มด้วยรถถังของจอร์แดน[3] ในช่วง พ.ศ. 2518 กลุ่มนี้ตำหนิการโจมตีนอกประเทศอิสราเอล และให้ความสำคัญกับการสร้างรัฐสองเชื้อชาติโดยต้องการความร่วมมือระหว่างอาหรับกับยิว

ภายในกลุ่มฟาตะห์และการปฏิเสธ แก้

พ.ศ. 2517 แนวร่วมประชาชนปาเลสไตน์เพื่อการปลดปล่อยปาเลสไตน์เปลี่ยนชื่อเป็นแนวร่วมประชาธิปไตยเพื่อการปลดปล่อยปาเลสไตน์ และเป็นผู้สนับสนุนการสร้างรัฐสองเชื้อชาติขององค์กรปลดปล่อยปาเลสไตน์ ทำให้มีการแยกตัวออกของแนวร่วมที่ปฏิเสธความคิดนี้ เช่น แนวร่วมประชาชนเพื่อการปลดปล่อยปาเลสไตน์ แนวร่วมประชาชนเพื่อการปลดปล่อยปาเลสไตน์-คำสั่งทั่วไป แนวร่วมปลดปล่อยปาเลสไตน์ กลุ่มเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากซีเรีย ลิเบีย และอิรักเพื่อต่อต้านยัสเซอร์ อาราฟัต ต่อมาใน พ.ศ. 2521 แนวร่วมประชาธิปไตยเพื่อการปลดปล่อยปาเลสไตน์เข้าร่วมกับแนวร่วมที่ปฏิเสธอาราฟัต เมื่อทางกลุ่มเกิดความขัดแย้งกับอาราฟัต และนำไปสู่กบฏฟาตะห์ใน พ.ศ. 2526 ระหว่างสงครามพลเรือนในเลบานอน แนวร่วมประชาธิปไตยเพื่อการปลดปล่อยปาเลสไตน์ต่อต้านฟาตะห์ที่มีผู้นำซีเรียหนุนหลัง ความพยายามนี้ล้มเหลวและองค์กรปลดปล่อยปาเลสไตน์เริ่มเข้ามาพัวพันกับสงครามพลเรือนปาเลสไตน์

การหยุดนิ่งในช่วง พ.ศ. 2523 – 2533 แก้

ในช่วงดังกล่าว แนวร่วมประชาธิปไตยเพื่อการปลดปล่อยปาเลสไตน์เป็นสมาชิกขององค์กรปลดปล่อยปาเลสไตน์ที่มีแนวคิดแบบโซเวียตและจีน ความล้มเหลวของโซเวียตและการเติบโตของแนวคิดอิสลามในสังคมปาเลสไตน์ในช่วง พ.ศ. 2533 รวมทั้งการลดความช่วยเหลือของจีน ทำให้กลุ่มนี้มีขนาดเล็กลง แต่ยังสนับสนุนอาราฟัตในการเจรจากับอิสราเอล ผลของการเจรจาในช่วง พ.ศ. 2530 – 2536 ทำให้มีการจัดตั้งเขตปกครองตนเองปาเลสไตน์ การเติบโตของกลุ่มที่นิยมศาสนาเช่นกลุ่มฮามาสทำให้ แนวร่วมประชาธิปไตยเพื่อการปลดปล่อยปาเลสไตน์ค่อยๆจางหายไปจากความสนใจของเยาวชนและนานาชาติ

การแยกตัว พ.ศ. 2534 แก้

ใน พ.ศ. 2534 กลุ่มของยัสเซอร์ อับด์ รอบโบ ที่มีความใกล้ชิดกับอาราฟัตแยกตัวออกจากแนวร่วมประชาธิปไตยเพื่อการปลดปล่อยปาเลสไตน์ โดยมีความเห็นพ้องกับการเจรจามาดริดที่ให้จัดตั้งเขตปกครองตนเองปาเลสไตน์ในเวสต์แบงก์และฉนวนกาซา การเกิดเครือรัฐเอกราชและการทำลายกำแพงเบอร์ลินมีผลต่อแนวคิดของกลุ่มให้เน้นที่ความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยเปลี่ยนรูปไปเป็นสหภาพประชาธิปไตยปาเลสไตน์ และร็อบโบเป็นที่ปรึกษาของอาราฟัต แนวร่วมประชาธิปไตยเพื่อการปลดปล่อยปาเลสไตน์ภายใต้การนำของฮาวัตเมห์มีกองบัญชาการอยู่ในซีเรีย ยังควบคุมสาขาอื่นๆภายนอกประเทศ ส่วนในปาเลสไตน์อยู่ภายใต้การควบคุมของสหภาพประชาธิปไตยปาเลสไตน์

ยุคของข้อตกลงออสโล แก้

แนวร่วมประชาธิปไตยเพื่อการปลดปล่อยปาเลสไตน์ภายใต้การนำของฮาวัตเมห์เข้าร่วมกับกลุ่มที่ปฏิเสธแผนการของอาราฟัตเพื่อจัดตั้งกองทัพพันธมิตรปาเลสไตน์เพื่อต่อต้านแถลงการณ์ของหลักการออสโลที่ลงนามเมื่อ พ.ศ. 2536 โดยโต้แย้งว่าการเจรจาที่ออสโลไม่เป็นประชาธิปไตย และไม่ยอมรับการแก้ปัญหาโดยการจัดตั้งรัฐสองเชื้อชาติ ใน พ.ศ. 2542 หลังการประชุมที่ไคโร แนวร่วมประชาธิปไตยเพื่อการปลดปล่อยปาเลสไตน์และแนวร่วมประชาชนเพื่อการปลดปล่อยปาเลสไตน์ตกลงที่จะร่วมมือกับผู้นำองค์กรปลดปล่อยปาเลสไตน์ในการเจรจากับอิสราเอล

หลัง พ.ศ. 2543 แก้

บทบาทของแนวร่วมประชาธิปไตยเพื่อการปลดปล่อยปาเลสไตน์ในปาเลสไตน์ลดลง โดยมาอยู่ภายใต้การนำของสหภาพประชาธิปไตยปาเลสไตน์ที่แยกตัวออกไป กองทหารของแนวร่วมประชาธิปไตยเพื่อการปลดปล่อยปาเลสไตน์โจมตีหน่วยทางทหารของอิสราเอลอย่างต่อเนื่อง เช่น 25 สิงหาคม พ.ศ. 2544 โจมตีกองทหารอิสราเอลในฉนวนกาซา[4][5] แต่ปฏิบัติการทางทหารเหล่านี้ยังทำได้จำกัด แนวคิดในการต่อสู้ของแนวร่วมประชาธิปไตยเพื่อการปลดปล่อยปาเลสไตน์คือต่อต้านการยึดครองของอิสราเอลแต่ไม่ต่อต้านเชื้อชาติอิสราเอล

อิทธิพลทางการเมือง แก้

แนวร่วมประชาธิปไตยเพื่อการปลดปล่อยปาเลสไตน์ส่งนายไตซิร คาลิดลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของปาเลสไตน์เมื่อ พ.ศ. 2548 ได้คะแนนเสียง 3.35% กลุ่มนี้พยายามเจรจากับแนวร่วมประชาชนเพื่อการปลดปล่อยปาเลสไตน์และพรรคประชาชนปาเลสไตน์เพื่อเข้าร่วมกับกลุ่มฝ่ายซ้ายแต่ไม่สำเร็จ กลุ่มนี้ได้เพียง 1 ที่นั่งในการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติแห่งปาเลสไตน์ พ.ศ. 2548 ใน พ.ศ. 2549 กลุ่มนี้รวมตัวกับ สหภาพประชาธิปไตยปาเลสไตน์และพรรคประชาชนปาเลสไตน์ ได้ 132 ที่นั่ง แนวร่วมประชาธิปไตยเพื่อการปลดปล่อยปาเลสไตน์ยังเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลในองค์กรปลดปล่อยปาเลสไตน์โดยเป็นกลุ่มที่ใหญ่เป็นอันดับสาม มีอิทธิพลในกลุ่มชาวปาเลสไตน์ในซีเรียและเลบานอน ส่วนสาขาของแนวร่วมประชาธิปไตยเพื่อการปลดปล่อยปาเลสไตน์ในจอร์แดนได้แยกไปตั้งเป็นองค์กรใหม่คือพรรคประชาธิปไตยประชาชนจอร์แดนโดยที่แนวร่วมประชาธิปไตยเพื่อการปลดปล่อยปาเลสไตน์ไม่มีอิทธิพลในจอร์แดนอีกเลย

อ้างอิง แก้

  1. Demokratiska Folkfronten för Palestinas Befrielse, Dokument nr. 1, p. 1
  2. ‘’Aziya i Afrika segodnya’’ -- cited in edition ‘’Välispanoraam 1972’’, Tallinn, 1973, lk 129 (‘’Foreign Panorama 1972’’)
  3. Al-Charar resumed publication of July 28, 1971. Demokratiska Folkfronten för Palestinas Befrielse, Dokument nr. 3, p. 1
  4. Attack on Gaza army base kills three | World news | The Observer
  5. :: Medea ::

แหล่งข้อมูลอื่น แก้