แถบแม่เหล็ก (อังกฤษ: magnetic storage) เป็นสื่อกลางสำหรับการจัดเก็บข้อมูลระบบแม่เหล็กซึ่งทำจากการเคลือบสารที่ทำให้มีคุณสมบัติของแม่เหล็กบาง ๆ ลงบนฟิล์มพลาสติกที่เป็นแถบแคบ ๆ ยาว ๆ ซึ่งถูกพัฒนาเป็นครั้งแรกในประเทศเยอรมนีเมื่อปี ค.ศ. 1928 โดยพัฒนาต่อจากเครื่องบันทึกเสียงด้วยสายลวด (wire recorder) ของประเทศเดนมาร์ก อุปกรณ์ที่ใช้แถบแม่เหล็กจะสามารถบันทึกและเล่นข้อมูลเสียง ภาพ และข้อมูลคอมพิวเตอร์ฐานสอง (binary) ได้ค่อนข้างง่ายดาย

ม้วนแถบบันทึกเสียงขนาดกว้าง 1/4 นิ้ว ยาว 7 นิ้ว ซึ่งพบได้บ่อยในตลาดผู้บริโภคในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1950-70

แถบแม่เหล็กได้ปฏิวัติวงการการบันทึกและผลิตเสียงซ้ำและการแพร่สัญญาณ โดยได้ทำให้วิทยุ ซึ่งเดิมออกอากาศสดได้อย่างเดียว สามารถบันทึกรายการเพื่อใช้ในการออกอากาศภายหลังหรือนำมาออกอากาศซ้ำได้ โดยตั้งแต่ต้นคริสต์ทศวรรษ 1950 แถบแม่เหล็กได้ถูกนำมาใช้ร่วมกับคอมพิวเตอร์เพื่อจัดเก็บข้อมูลปริมาณมาก และยังคงมีการใช้เพื่อการทำสำรองข้อมูลอีกด้วย

แถบแม่เหล็กจะเริ่มเสื่อมสภาพหลังจากอายุผ่านไป 10-20 ปี จึงไม่ถือว่าเป็นสื่อกลางที่ดีที่สุดสำหรับการจัดเก็บข้อมูลถาวรในระยะยาว[1] ยกเว้นแถบแม่เหล็กบางชนิด เช่น ลิเนียร์เทปโอเพน หรือแอลทีโอ ซึ่งออกแบบมาเพื่อให้สามารถจัดเก็บข้อมูลถาวรในระยะยาวได้โดยเฉพาะ[2]

ข้อมูลในแถบแม่เหล็กมักจะถูกบันทึกเป็นร่อง (track) ซึ่งมีระยะแคบและมีพื้นที่ข้อมูลขนาดยาวบันทึกลงบนแถบด้วยระบบแม่เหล็ก อยู่แยกออกจากกัน และมีการเว้นช่องว่างระหว่างแต่ละร่อง โดยร่องต่าง ๆ มักจะขนานกับความยาวของแถบ ซึ่งในกรณีนั้นเรียกว่า ร่องตามยาว (longitudinal tracks)[3][4] หรือแนวทแยงที่สัมพันธ์กับความยาวของแถบในการสแกนแบบเกลียว (helical scan)[5] นอกจากนั้นยังมีการสแกนตามขวาง (transverse scan) และการสแกนตามโค้ง (arcuate scanning) ซึ่งใช้ในวิดีโอเทปควอดรูเพลกซ์ และยังมีการใช้การบันทึกบนมุมทิศ (azimuth recording) เพื่อลดระยะห่างที่อยู่ระหว่างร่องแต่ละร่อง

ความทนทาน

แก้

แม้ว่าแถบแม่เหล็กจะดีต่อการใช้งานในระยะสั้น แต่ก็มีแนวโน้มสูงที่แถบแม่เหล็กจะฉีกขาดออกเป็นส่วน ๆ โดยกระบวนการนี้อาจเกิดขึ้นได้หลังจากผ่านไป 10-20 ปี ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม[1]

แถบแม่เหล็กที่ผลิตเมื่อช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970 และ 1980 อาจเกิดการเสื่อมสภาพที่เรียกว่า สติกกีเชดซินโดรม (sticky-shed syndrome) ซึ่งเกิดจากการแยกสลายด้วยน้ำของสารยึดภายในแถบ ส่งผลให้แถบใช้งานไม่ได้[6]

สิ่งสืบเนื่อง

แก้

ตั้งแต่ที่แถบแม่เหล็กถูกคิดค้นขึ้นมา ก็ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีอื่นซึ่งสามารถทำหน้าที่เดียวกับแถบแม่เหล็กได้ และสามารถเข้ามาแทนที่แถบแม่เหล็กได้ในที่สุด ตัวอย่างเช่น ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ในคอมพิวเตอร์ซึ่งแทนที่เครื่องอ่านตลับเทปอย่างเช่น อาตาริโปรแกรมรีคอร์เดอร์ (Atari Program Recorder) และคอมมอดอร์เดทาเซ็ต (Commodore Datasette) สำหรับซอฟต์แวร์[7] ซีดีและมินิดิสก์ซึ่งแทนที่ตลับเทปสำหรับข้อมูลเสียง และดีวีดีซึ่งแทนทีวีเอชเอส แต่ถึงแม้ว่าจะเกิดปรากฏการณ์นี้ นวัตกรรมทางเทคโนโลยีของแถบแม่เหล็กก็ยังดำเนินต่อไป โดยจากข้อมูลเมื่อปี ค.ศ. 2014 โซนี่และไอบีเอ็มยังคงเดินหน้าพัฒนาความจุของแถบแม่เหล็กให้มากขึ้น[8]

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 Pogue, David (1 September 2016). "Digitize Those Memory-Filled Cassettes before They Disintegrate". Scientific American (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 August 2016. สืบค้นเมื่อ 26 July 2022.
  2. Coughlin, Tom. "LTO Tape Capacity Shipments Up In 2022". Forbes (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2023-12-19.
  3. Daniel, Eric D.; Denis Mee, C.; Clark, Mark H. (31 August 1998). Magnetic Recording: The First 100 Years. John Wiley & Sons. ISBN 978-0-7803-4709-0.
  4. Anand, M. L. Audio and Video Systems. CRC Press. ISBN 978-1-040-14797-9.
  5. Camras (6 December 2012). Magnetic Recording Handbook. Springer. ISBN 978-94-010-9468-9.
  6. "Magnetic Materials" (PDF). Memory of the World: Safeguarding the Documentary Heritage. A guide to Standards, Recommended Practices and Reference Literature Related to the Preservation of Documents of All Kinds. UNESCO. 1998. CII.98/WS/4. สืบค้นเมื่อ 12 December 2017.
  7. "Popular Science". September 1983.
  8. "Sony develops magnetic-tape technology with the world's highest*1 areal recording density of 148 Gb/in2". Sony Global. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 May 2014. สืบค้นเมื่อ 4 May 2014.