แดง ไบเล่ย์

(เปลี่ยนทางจาก แดง ไบเล่)

บัญชา ศรีสุกใส เป็นที่รู้จักในสมญา แดง ไบเล่ย์ (พ.ศ. 2483–2507) เป็นนักเลงวัยรุ่นชื่อดังของพระนคร ในยุคก่อนพุทธศักราช 2500 เป็นบุคคลที่เป็นที่รู้จักกันดี จากการนำชีวประวัติไปสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง 2499 อันธพาลครองเมือง ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก

แดง ไบเล่ย์
แดง ไบเล่ยอมมอบตัวกับทางการ
เกิดบัญชา ศรีสุกใส
พ.ศ. 2483
ตรอกสลักหิน อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร
เสียชีวิตพ.ศ. 2507 (24 ปี)
ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ จังหวัดพระนคร
สัญชาติไทย
อาชีพโจร
คู่รักวัลภา ณ สงขลา
ครอบครัวเฉย ศรีสุกใส (มารดา)

ประวัติ แก้

แดง ไบเล่ย์ มีชื่อจริงว่า "บัญชา ศรีสุกใส" เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2483 แม้ข้อมูลในภาพยนตร์จะบอกว่า แดงเกิดที่ตรอกสลักหิน ถนนรองเมือง ข้างสถานีรถไฟหัวลำโพง มีแม่ชื่อ นางโฉม ซึ่งมีอาชีพเป็นโสเภณีก็ตาม แต่ที่จริงแล้ว แดงเกิดที่ตรอกสลักหินจริง แต่ต่อมาได้ย้ายมาอาศัยอยู่ที่ตรอกไบเล่ย์ บริเวณด้านข้างวัดสุทัศนเทพวราราม (ชื่ออย่างเป็นทางการ คือ ซอยศิริชัย อยู่ด้านข้างสวนรมณีนาถทางด้านถนนมหาไชย เชื่อมต่อกับซอยศิริพัฒน์ในฝั่งตรงข้ามกับวัดสุทัศน์ฯ) ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตน้ำอัดลมไบเล่ย์ โดยเป็นลูกของนางเฉย ศรีสุกใส (เสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ. 2531) เจ้าของร้านซักอบรีด และห้องเช่าในย่านนั้นรวมถึงเป็นแม่เล้าของโสเภณีในย่านนั้นด้วย โดยแต่เดิมเคยเป็นแม่บ้านที่ทำความสะอาดให้กับซ่องโสเภณีที่นั่น แต่ทว่าแดงได้เกิดมาในยามที่ผู้เป็นแม่มีอายุมากแล้ว เมื่อเจ้าของซ่องเดิมจะเลิกกิจการ จึงยกกิจการนี้ให้แก่แม่ของแดง ส่วนพ่อของแดงนั้นได้ทิ้งภรรยาและลูกไปตั้งแต่แดงยังไม่เกิด

แดง เมื่อเติบใหญ่เป็นวัยรุ่นเป็นหัวโจกของบรรดาวัยรุ่นทั้งหลายในยุคนั้น จนมีชื่อเสียงโด่งดัง เนื่องด้วยบรรดานักเลงอันธพาลในยุคก่อนพุทธศักราช 2500 นั้น ล้วนแต่มีชื่อเรียกขานต่าง ๆ เช่น พจน์ เจริญพาศน์, เปี๊ยก เจริญพาศน์, พัน หลังวัง, ปุ๊ ระเบิดขวด, ดำ เอสโซ่, จ๊อด เฮาดี้, แอ๊ด เสือเผ่น, พล ตรอกทวาย, ปุ๊ กรุงเกษม หรือ ปุ๊ เจิด, หล่อ สะพานขาว หรือ หล่อ ปังตอ, โหล แม้นศรี, เหลา สวนมะลิ เป็นต้น แต่อย่างไรก็ดี แดง ไบเล่ย์ ถือได้ว่าเป็นขวัญใจของเหล่าวัยรุ่นตัวจริง เนื่องจากเป็นบุคคลที่หน้าตาดี และเป็นนักเลงที่นิสัยดี

แดง มีภรรยาใช้ชีวิตร่วมกัน ชื่อ วัลภา ณ สงขลา[1]

การเสียชีวิต แก้

แดง ไบเล่ย์ ได้เสียชีวิต ในปี พ.ศ. 2507 ด้วยวัยเพียง 24 ปี จากอุบัติเหตุรถชนที่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ เนื่องจากแดงได้ไปเยี่ยมวัลภา ณ สงขลา แฟนสาว ซึ่งเป็นนักร้องที่โอเอซิส ไนต์คลับแห่งหนึ่งที่ย่านนั้น พร้อมกับเพื่อนคนหนึ่งซึ่งเป็นนักเรียนซึ่งเพิ่งเดินทางกลับมาจากสหรัฐอเมริกา แล้วทั้งคู่ไปมีเรื่องกับผู้ที่มาเที่ยวอีกโต๊ะหนึ่ง เมื่อทั้ง 2 กลุ่มมีเรื่องกัน จึงออกไปตีรันกันในตรอกข้าง ๆ ไนต์คลับ เมื่อเรื่องเริ่มบานปลายขึ้นไปใหญ่ เพื่อนของแดงคนนี้ก็คว้าแขนแดงขึ้นรถสปอร์ตของตัวเองขับออกไป และได้ประสานงากับรถอีกคันที่วิ่งสวนมาด้วยความเร็ว ผลปรากฏว่าแดงกระเด็นออกมานอกรถ เสียชีวิตทันทีด้วยสภาพหัวกะโหลกยุบ ขณะที่เพื่อนคนนั้นกลับได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย ปัจจุบันอัฐิของแดงและแม่บรรจุอยู่ที่วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร[2]

ในวัฒนธรรมร่วมสมัย แก้

เรื่องราวของ แดง ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกในชื่อ 2499 อันธพาลครองเมือง โดยมีแดงเป็นตัวเอก นำแสดงโดย เจษฎาภรณ์ ผลดี ในปี พ.ศ. 2540 ซึ่งหลังจากภาพยนตร์ออกฉายแล้ว เกิดเป็นกระแสพูดคุยกันอย่างกว้างในสังคมถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงกับภาพยนตร์ ซึ่งเหล่าบุคคลร่วมสมัยหรือที่เคยรู้จักกับแดง ต่างบอกว่า แดงตัวจริงนั้นไม่เคยฆ่าคน ไม่ถึงขั้นเป็นโจร แต่เป็นนักเลงวัยรุ่นธรรมดา ๆ เท่านั้นเอง แม้จะเคยติดคุกที่เรือนจำลาดยาวก็ตาม จากการที่เจ้าตัวเข้ามอบตัวเองกับตำรวจ ไม่มีใครเคยเห็นแดงดื่มเหล้า แต่เครื่องดื่มของแดงที่ชื่นชอบคือ มิลค์เชค ซึ่งต่างจากตัวตนในภาพยนตร์โดยสิ้นเชิง อีกทั้งหลายอย่างก็เพี้ยนจากความจริง เช่น แดงตัวจริงได้บวช หรือการยกพวกตีกันของวัยรุ่นที่บางลำพูที่เรียกว่า "ศึก 13 ห้าง บางลำพู" นั้น แท้ที่จริงแล้วเป็นการทะเลาะวิวาทของวัยรุ่นฝั่งพระนครเจ้าถิ่นกับนักเรียนที่ข้ามฟากมาจากฝั่งธนฯ เพื่อมาหาซื้อผ้าตัดกางเกงที่บางลำพู โดยเป็นการนัดวิวาทกันในวันรุ่งขึ้นถัดจากวันนั้น และอาวุธที่ใช้ก็มีเพียงแต่มีดกับไม้เท่านั้น แต่ละฝ่ายได้รับบาดเจ็บไปเพียงคนละเล็กน้อย ทั้งหมดได้ยุติลงเมื่อตำรวจมาถึง โดยใช้เวลาตีรันฟันแทงกันประมาณ 10 นาที[3][4][5]

และครั้งที่ 2 ใน อันธพาล ซึ่งมี จ๊อด เฮาดี้ และ แดง ไบเล่ย์ เป็นตัวเอก ในคราวนี้ แดง ไบเล่ย์ แสดงโดย สมชาย เข็มกลัด ในปี พ.ศ. 2555[6]

อ้างอิง แก้

  1. เปิดใจลูก แดง ไบเล่ย์ รู้สึกแย่ไม่ได้อยู่กับแม่วาระสุดท้าย ข่าวสด สืบค้นเมื่อ 28 ตุลาคม 2562
  2. "ตำนานรักนักเลงดัง แดงไบเล่ย์". น้ำผึ้งพระจันทร์. 2013-05-20.
  3. "เจาะใจ ออนไลน์ : In the past ว่าด้วยเรื่องของ...แดง ไบเล่ย์ Ep.5 [9 ส.ค. 60] Full HD". เจาะใจ. 1997-04-24.
  4. "เจาะใจ ออนไลน์ : In the past ว่าด้วยเรื่องของ...แดง ไบเล่ย์ Ep.7 [9 ส.ค. 60] Full HD". เจาะใจ. 1997-04-02.
  5. "เจาะใจ ออนไลน์ : In the past ว่าด้วยเรื่องของ...แดง ไบเล่ย์ Ep.8 [9 ส.ค. 60] Full HD". เจาะใจ. 1997-04-02.
  6. "บทสัมภาษณ์ "ก้องเกียรติ โขมศิริ" ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง "อันธพาล"". ryt9.