ดัชเชสมารีแห่งเมคเลินบวร์ค-ชเวรีน
ดัชเชสมารีแห่งเมคเลินบวร์ค-ชเวรีน (อังกฤษ: Duchess Marie of Mecklenburg-Schwerin) หรือต่อมาคือ แกรนด์ดัชเชสมาเรีย ปาวลอฟนา แห่งรัสเซีย (อังกฤษ: Grand Duchess Maria Pavlovna of Russia) เป็นพระธิดาในเจ้าชายฟรีดริช ฟรันซ์ที่ 2 แกรนด์ดยุกแห่งเมคเลินบวร์ค-ชเวรีน และ เจ้าหญิงออกัสตาแห่งรอยซ์-เคิสทริตซ์ ด้วยเหตุที่เป็นผู้ต้อนรับอาคันตุกะที่สง่าสงามที่สุดพระองค์หนึ่งในกรุงเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก จึงทรงเป็นที่รู้จักกันว่าทรงเป็นใหญ่ที่สุดในหมู่แกรนด์ดัชเชสทั้งหมด (the grandest of the grand duchesses)[1]
พระชนม์ชีพในวัยเยาว์
แก้ดัชเชสมารี อเล็กซันดรีนา เอลีซาเบ็ท เอลีโอนอร์ แห่งเมคเลินบวร์ค-ชเวรีน ประสูติในฐานันดรศักดิ์เจ้าหญิงแห่งราชวงศ์แกรนด์ดยุกเมคเลินบวร์ค ณ พระราชวังลุดวิกสลัสท์ (Schloss Ludwiglust) แคว้นเมคเลินบวร์ค โดยเป็นพระธิดาในเจ้าฟ้าชายฟรีดริช ฟรันซ์ที่ 2 แกรนด์ดยุกแห่งเมคเลินบวร์ค-ชเวรีน กับ เจ้าหญิงออกัสตาแห่งรอยซ์-เคิสทริตซ์ (พ.ศ. 2365-2405) พระชายาพระองค์แรก
พระมารดาของพระองค์สิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ. 2465 ขณะที่เจ้าหญิงมารีมีพระชนมายุ 8 พรรษา ส่วนพระบิดาได้อภิเษกสมรสใหม่อีกสองปีต่อมา
อภิเษกสมรส
แก้ดัชเชสมารีทรงอภิเษกสมรสเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2417 ณ กรุงเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก กับ แกรนด์ดยุกวลาดิมีร์ อเล็กซานโดรวิชแห่งรัสเซีย (22 เมษายน พ.ศ. 2391 - 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2452) พระราชโอรสองค์ที่สามในสมเด็จพระจักรพรรดิอเล็กซานเดอร์ที่ 2 แห่งรัสเซีย โดยเป็นเจ้าหญิงพระองค์หนึ่งในส่วนน้อยซึ่งมีเชื้อสายทางบิดาเป็นสลาฟที่ได้อภิเษกสมรสกับเชื้อพระวงศ์ชายพระองค์หนึ่งของราชวงศ์โรมานอฟ พระองค์ทรงหมั้นหมายกับคนอื่นอยู่ก่อนเมื่อทรงพบกับแกรนด์ดยุกวลาดิมีร์ แต่ได้ยกเลิกการหมั้นทันที่ ทั้งสองพระองค์ต้องรอเวลาสามปีก่อนที่จะได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อภิเษกสมรสกัน เจ้าหญิงมารีซึ่งเติบโตมาในนิกายลูเธอรันไม่ยอมเข้ารีตในศาสนจักรออร์โธด็อกซ์รัสเซีย
ในที่สุดสมเด็จพระจักรพรรดิอเล็กซานเดอร์ที่ 2 ทรงยอมให้แกรนด์ดยุกวลาดิมีร์อภิเษกกับเจ้าหญิงมารีโดยมิทรงยืนกรานการเข้ารีตเป็นออร์โธด็อกซ์ [2] หลังจากการอภิเษกสมรส พระองค์ทรงเปลี่ยนมาใช้พระนามแบบรัสเซียว่า มาเรีย ปาฟลอฟนาแห่งรัสเซีย ซึ่งเป็นพระนามที่รู้จักกันมากที่สุด พระองค์ยังคงนับถือนิกายลูเธอรันตลอดชีวิตการอภิเษกสมรสส่วนใหญ่ แต่ได้เข้ารีตนิกายออร์ดธด็อกซ์ในเวลาต่อมา บางคนกล่าวว่าเพื่อให้เปิดโอกาสที่ดีสู่ราชบัลลังก์แก่พระโอรสคือ แกรนด์ดยุกคิริล ด้วยทรงอภิเษกสมรสกับพระราชโอรสในสมเด็จพระจักรพรรดิแห่งรัสเซีย จึงทรงดำรงพระอิสริยยศใหม่เป็น Her Imperial Highnes เช่นเดียวกับพระสวามี ทั้งสองพระองค์มีพระโอรสสี่พระองค์และพระธิดาหนึ่งพระองค์
พระโอรสและธิดา
แก้- แกรนด์ดยุกคิริล วลาดีมีโรวิชแห่งรัสเซีย (20 ตุลาคม พ.ศ. 2419 - 12 ตุลาคม พ.ศ. 2481)
- ทรงเป็น ประมุขแห่งราชวงศ์รัสเซีย เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2460 และทรงสถาปนาพระองค์เองเป็นจักรพรรดิเมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2467
- อภิเษกสมรสวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2445 ณ เมืองเทเกิร์นซี ประเทศออสเตรีย กับ เจ้าหญิงวิกตอเรีย เมลิตาแห่งเอดินเบอระและแซ็กซ์-โคบูร์กและก็อตธา (25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2419 - 2 มีนาคม พ.ศ. 2479) หรือ แกรนด์ดัชเชสวิกตอเรีย เฟโอโดรอฟนาแห่งรัสเซีย หลังจากการเข้ารีตเป็นออร์โธด็อกซ์
- แกรนด์ดยุกบอริส วลาดีมีโรวิชแห่งรัสเซีย (24 ตุลาคม พ.ศ. 2420 - 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2486)
- อภิเษกสมรสวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2462 ณ เมืองเจนัว กับ ซิไนดา เซเกเยฟนา ราเชฟสกายา (3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2441 - 30 มกราคม พ.ศ. 2506)
- แกรนด์ดยุกแอนดรูว์ วลาดีมีโรวิชแห่งรัสเซีย (14 ตุลาคม พ.ศ. 2422 - 30 ตุลาคม พ.ศ. 2499)
- อภิเษกสมรสเมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2464 ณ เมืองคานส์ กับ มาธิลดา เฟลิกซอฟนา เคสซินสกา (31 สิงหาคม พ.ศ. 2415 - 5 ธันวาคม พ.ศ. 2514) มีชื่อว่า มาเรีย เฟลิกซอฟนา หลังจากการเข้ารับศีลล้างบาปในนิกายออร์โธด็อกซ์รัสเซีย
- แกรนด์ด้ชเชสเอเลนา วลาดีมีรอฟนาแห่งรัสเซีย [3] (29 มกราคม พ.ศ. 2425 - 13 มีนาคม พ.ศ. 2500)
- อภิเษกสมรสวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2445 ณ พระราชวังซาร์สโกเซโล กรุงเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก กับ เจ้าชายนิโคลาสแห่งกรีซและเดนมาร์ก (22 มกราคม พ.ศ. 2415 - 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481)
- พระชนนีในเจ้าฟ้าหญิงมารีนา ดัชเชสแห่งเคนต์
พระโอรสและธิดาทั้งหมดของแกรนด์ดัชเชสมาเรียประสูติ ณ พระราชวังแคทเธอรีน ในหมู่พระราชวังซาร์สโคเซโล นอกกรุงเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก ยกเว้นเพียงแกรนด์ดยุกบอริส พระโอรสพระองค์ที่สามที่ประสูตในกรุงเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก แกรนด์ดยุกคิริลแห่งรัสเซีย พระโอรสพระองค์ใหญ่ของพระองค์อภิเษกสมรสในปี พ.ศ. 2448 กับเจ้าหญิงวิกตอเรีย เมลิตาแห่งแซ็กซ์-โคบูร์กและก็อตธา พระญาติชั้นที่หนึ่งและเป็นพระธิดาของพระขนิษฐาในพระบิดาของพระองค์คือ แกรนด์ดัชเชสมารี อเล็กซานดรอฟนาแห่งรัสเซีย ดัชเชสแห่งเอดินเบอระ สมเด็จพระจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 ไม่ทรงเห็นด้วยกับการอภิเษกสมรสครั้งนี้และได้ทรงถอดถอนแกรนด์ดยุกคิริลออกจากฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ ทำให้เกิดความขุ่นมัวระหว่างพระสวามีกับสมเด็จพระจักรพรรดิขึ้น อย่างไรก็ตามจากการสิ้นพระชนม์ของเหล่าสมาชิกในพระราชวงศ์ทำให้แกรนด์ดยุกคิริลอยู่ในอันดับที่สามของลำดับการสืบราชสมบัติ และสมเด็จพระจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 ทรงยินยอมสถาปนาแกรนด์ดยุกคิริลกลับคืนสู่ฐานันดรศักดิ์แห่งราชวงศ์และพระชายาก็ได้รับการสถาปนาเป็นแกรนด์ดัชเชสวิกตอเรีย เฟโอโดรอฟนาด้วย
พระชนม์ชีพในรัสเซีย
แก้ตลอดพระชนม์ชีพในรัสเซีย แกรนด์ดัชเชสมาเรีย ปาฟลอฟนาประทับอยู่ที่พระราชวังวลาดิมีร์ของพระสวามี ตั้งอยู่บริเวณแนวฝั่งที่ตั้งพระราชวังต่างๆ (Palace Embankment) ที่เป็นส่วนของชนชั้นสูงมีชื่อเสียงริมแม่น้ำเนวา ในที่นี้พระองค์ทรงสร้างชื่อเสียงให้เลื่องลือในฐานะเป็นผู้ต้อนรับอาคันตุกะดีที่สุดคนหนึ่งในเมืองหลวง และเป็นเรื่องตลกที่ว่าพระองค์ทรงจะพยายามเอาชนะราชสำนักในพระราชวังฤดูหนาวที่อยู่ใกล้เคียง อีกทั้งยังพูดกันว่าพระองค์ทรงแข่งขันกับแกรนด์ดัชเชสเอลิซาเบธ เฟโอโดรอฟนาแห่งรัสเซีย พระเชษฐภคินีในสมเด็จพระจักรพรรดินีอเล็กซานดรา เฟโอโดรอฟนาแห่งรัสเซียด้วย
โดยส่วนพระองค์แล้ว แกรนด์ดัชเชสมาเรีย ปาฟลอฟนาทรงมีความไม่สมดุลทางจิตใจ เช่นเดียวกับพระเชษฐาในสายเลือดคือ พอล ฟรีดริช โดยทั้งสองพระองค์ทรงอยู่เหนือความเป็นจริงของโลก โดยแกรนด์ดัชเชสมาเรียทรงมีความทะเยอทะยานแต่ยังเป็นไปในแนวทางที่หรูหราฟุ่มเฟือยด้วย (พระสวามีทรงมีทรัพย์ศฤงคารมากมายมหาศาล พระองค์จึงไม่เฉียดกับการล้มละลายแม้แต่น้อย) ไม่เหมือนกับพระเชษฐาที่ใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือยจนสิ้นเนื้อประดาตัว
แกรนด์ดัชเชสมาเรียจัดว่าเป็นใหญ่ที่สุดในบรรดาแกรนด์ดัชเชสทั้งหมด และสร้างราชสำนักอีกแห่งหนึ่งในรัชสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดินิโคลัสที่ 2[4] พระองค์ทรงเกลียดทั้งสมเด็จพระจักรพรรดิและสมเด็จพระจักรพรรดินี (โดยเฉพาสมเด็จพระจักรพรรดินี) จนถึงวาระสุดท้ายของราชวงศ์ พระองค์ทรงร่วมมือกับพระโอรสทั้งหมดในการปฏิวัติต่อต้านสมเด็จพระจักรพรรดิในฤดูหนาวปี พ.ศ. 2459-2460 ซึ่งจะทำให้สมเด็จพระจักรพรรดิต้องสละราชสมบัติและแกรนด์ดยุกคิริล พระโอรสเข้ามาแทนที่ในฐานะผู้สำเร็จราชการในราชบัลลังก์ [5] เพื่อขอการสนับสนุนการปฏิบัติในครั้งนี้ แกรนด์ดัชเชสมาเรียทรงตรัสกับนายมิคาอิล ร็อดเซียนโค ประธานสภาดูมาว่าสมเด็จพระจักรพรรดินีต้อง "ถูกกำจัดให้สิ้นซาก"[6]
ในปี พ.ศ. 2452 แกรนด์ดยุกวลาดิมีร์ พระสวามีสิ้นพระชนม์และแกรนด์ดัชเชสมาเรียทรงดำรงตำแหน่งประธานราชวิทยาลัยศิลปกรรมแทน[7]
การเสด็จหนีออกจากรัสเซีย
แก้แกรนด์ดัชเชสมาเรียทรงโดดเด่นด้วยการเป็นสมาชิกในราชวงศ์พระองค์สุดท้ายที่เสด็จหนีออกจากประเทศเซียซึ่งเกิดการปฏิวัติและเป็นพระองค์แรกที่สิ้นพระชนม์ขณะเสด็จลี้ภัยในต่างประเทศ พระองค์ทรงประทับอยู่ที่เทือกเขาคอเคซัสซึ่งเต็มไปด้วยสงครามพร้อมกับพระโอรสองค์รองทั้งสองพระองค์ตลอดปี พ.ศ. 2460 และ 2461 โดยยังทรงหวังจะให้แกรนด์ดยุกคิริล วลาดีมีโรวิช พระโอรสองค์ใหญ่ขึ้นเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิ เมื่อพวกบอลเชวิคเคลื่อนที่เข้ามาใกล้ บรรดาเชื้อพระวงศ์ได้เสด็จขึ้นเรือตกปลาที่เมืองอานาปาในปี พ.ศ. 2461 พระองค์ประทับอยู่ที่เมืองนี้เป็นเวลาสิบสี่เดือน โดยไม่ทรงยอมร่วมเสด็จออกจากรัสเซียไปพร้อมกับแกรนด์ดยุกบอริส พระโอรส
พระอิสริยยศ
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-03-25. สืบค้นเมื่อ 2011-03-21.
- ↑ Charlotte Zeepvat, The Camera and the Tsars: A Romanov Family Album, Sutton Publishing, 2004, p. 45
- ↑ Paul Theroff (2007). "Russia". An Online Gotha. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-12-31. สืบค้นเมื่อ 5 January 2007.
- ↑ Robert K. Massie, Nicholas and Alexandra, 1967, p. 388
- ↑ Massie, p. 388-390
- ↑ Massie, p. 389
- ↑ 1913; An End and a Beginning, Virginia Cowles