แกงคั่ว เป็นอาหารไทยชนิดหนึ่งประเภทแกงกะทิมีสีแดงอมส้ม รสชาติของแกงคั่วทั่วไปมี 3 รส คือ เปรี้ยว หวาน และเค็ม

แกงคั่ว
แกงคั่วเห็ดฟาง
ประเภทแกง
มื้ออาหารจานหลัก
แหล่งกำเนิดไทย
ส่วนผสมหลักเนื้อสัตว์ (เช่น กุ้ง หอย ปลาน้ำจืด เนื้อหมู) ผักต่าง ๆ (เช่นผักบุ้ง สับปะรด) พริกแกง กะทิ น้ำปลา น้ำตาลปี๊บ น้ำมะขามเปียก พริก ใบมะกรูด

ประวัติ แก้

แกงคั่วเป็นอาหารโบราณของไทย คนโบราณมักรับประทานแกงคั่วคู่กับหมี่กรอบเป็นเครื่องเคียง ที่มาของชื่อ "แกงคั่ว" ไม่ชัดเจน เพราะเวลาปรุงไม่ได้มีกรรมวิธีการคั่ว พบการเอ่ยถึงในวรรณคดี เช่น "แกงคั่วลูกฟัก" พบในบทละครนอกเรื่อง สังข์ทอง และ "แกงคั่วหมูป่าใส่ระกำ" พบในบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เรื่อง กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน[1] ดังความว่า

๏ เหลือรู้หมูป่าต้ม แกงคั่วส้มใส่ระกำ
รอยแจ้งแห่งความขำ ช้ำทรวงเศร้าเจ้าตรากตรอม

ส่วนประกอบ แก้

พริกแกงของแกงคั่วเหมือนแกงเผ็ดอื่น ๆ แต่ตัดส่วนที่เป็นเครื่องเทศออกไป คือ ประกอบด้วยพริกแห้ง พริกไทย หอม กระเทียม ข่า รากผักชี กะปิ ตะไคร้ และผิวมะกรูด ขณะที่แกงเผ็ดอื่น ๆ อย่างพริกแกงแดงจะใส่เครื่องเทศ เช่น ลูกผักชี ยี่หร่า หากใส่กุ้งแห้งหรือปลากรอบป่นลงไปโขลกกับพริกแกงจะเป็นพริกแกงของแกงคั่วส้ม แกงเทโพ แกงอ่อมมะระ[1]

แกงคั่วนิยมแกงกับกุ้ง หอย ปลาน้ำจืด เนื้อหมู หรือไม่ก็แกงกับผักอย่างเช่นผักบุ้ง สับปะรด แกงคั่วนิยมกินกับข้าวหรือขนมจีน[2] รสชาติของแกงคั่วทั่วไปมี 3 รส คือ เปรี้ยว หวาน และเค็ม แต่แกงคั่วบางชนิดจะมีสองรสคือ เค็มกับหวาน[3] แกงคั่วที่ปรุงรสออกเปรี้ยวนำเรียกว่า แกงคั่วส้ม เช่น แกงคั่วส้มหมูเทโพ[4]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 "แกงคั่ว อาหารโบราณของคนไทย". สถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย FM 101.5 MHz.
  2. ณวรา เปลี่ยนบุญเลิศ. "ถอดรหัสพริกแกงไทย".
  3. "8 เมนูแกงคั่ว สูตรแกงไทยเผ็ดร้อน ทำง่าย ๆ อร่อยมื้อเย็น". กะปุก.
  4. "อาหารไทยโบราณ-ดีลิเวอรี่ คนรุ่นใหม่หันมานิยม". เส้นทางเศรษฐีออนไลน์.