"เฮย์จูด" (อังกฤษ: Hey Jude) เป็นเพลงของวงเดอะบีเทิลส์ ออกจำหน่ายในรูปแบบซิงเกิลที่ไม่มีในอัลบั้มเมื่อ ค.ศ. 1968 เพลงเขียนโดยพอล แม็กคาร์ตนีย์ และให้เครดิตเป็นเลนนอน–แม็กคาร์ตนีย์ ซิงเกิลนี้เป็นซิงเกิลแรกของบีเทิลส์ที่จำหน่ายโดยค่ายแอปเปิล และเป็นหนึ่งในซิงเกิลของศิลปินในค่ายแอปเปิล "สี่อันแรก" ซึ่งเป็นการเปิดตัวค่ายเพลงต่อสาธารณะ "เฮย์จูด" เป็นเพลงฮิตอันดับหนึ่งในหลายประเทศทั่วโลก และกลายเป็นซิงเกิลที่ขายดีที่สุดประจำปีในสหราชอาณาจักร สหรัฐ ออสเตรเลีย และแคนาดา อยู่บนชาร์ตเป็นอันดับหนึ่งของบิลบอร์ดฮอต 100 ถึงเก้าสัปดาห์ ซึ่งเชื่อมโยงกับสถิติตลอดกาลในค.ศ. 1968 สำหรับกาอยู่บนชาร์ตยาวนานที่สุดในอันดับต้น ๆ ของชาร์ตในสหรัฐอเมริกา มียอดขายประมาณแปดล้านชุด และมักรวมอยู่ในรายชื่อเพลงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลของนักวิจารณ์เพลง

"เฮย์จูด"
เพลงโดยเดอะบีเทิลส์
ด้านบี"เรโวลูชัน"
วางจำหน่าย26 สิงหาคม ค.ศ. 1968
บันทึกเสียงไทรเดนต์ ลอนดอน
31 กรกฎาคม และ 1 สิงหาคม ค.ศ. 1968
แนวเพลงป็อปร็อก
ความยาว7:11
ค่ายเพลงแอปเปิล
ผู้ประพันธ์เพลงเลนนอน–แม็กคาร์ตนีย์
โปรดิวเซอร์จอร์จ มาร์ติน
มิวสิกวิดีโอ
"Hey Jude" ที่ยูทูบ

การเขียนและบันทึกเสียงของเพลง "เฮย์จูด" เกิดขึ้นพร้อมกับช่วงเวลาแห่งความวุ่นวายในเดอะบีเทิลส์ เพลงพัฒนามาจาก "เฮย์จูล" ซึ่งเป็นเพลงที่แม็กคาร์ตนีย์เขียนขึ้นเพื่อปลอบโยนจูเลียน ลูกชายของจอห์น เลนนอน หลังจากเลนนอนทิ้งภรรยาไปอยู่กับโยโกะ โอโนะ ศิลปินชาวญี่ปุ่น เนื้อเพลงนำเสนอมุมมองเชิงบวกเกี่ยวกับสถานการณ์ที่น่าเศร้า ในขณะเดียวกันก็กระตุ้นให้ "จูด" แสวงหาโอกาสในการค้นหาความรัก หลังจบท่อนที่สี่ เพลงเปลี่ยนไปเป็นท่อนโคดาที่ร้องว่า "นา-นา-นา นา" ซึ่งกินเวลานานกว่าสี่นาที

"เฮย์จูด" เป็นเพลงแรกของบีเทิลส์ที่บันทึกเสียงด้วยเครื่องบันทึกเสียงแปดแทร็ก การบันทึกเสียงเกิดขึ้นที่ไทรเดนต์สตูดิโอส์ ในลอนดอน ซึ่งอยู่ในระหว่างการบันทึกเสียงดับเบิลอัลบั้มที่ใช้ชื่อวงเป็นชื่ออัลบั้ม (รู้จักกันในชื่อว่า "ไวต์อัลบั้ม") และนำไปสู่การโต้เถียงระหว่างแม็กคาร์ตนีย์กับจอร์จ แฮร์ริสัน เรื่องท่อนกีตาร์ของเพลง หลังจากนั้น ริงโก สตาร์ ก็ออกจากวง และกลับมาไม่นานก่อนที่พวกเขาจะถ่ายคลิปโปรโมตซิงเกิล คลิปกำกับโดย ไมเคิล ลินด์เซย์-ฮ็อกก์ และออกอากาศครั้งแรกในรายการโทรทัศน์ของเดวิด ฟรอสต์ ในสหราชอาณาจักร เมื่อเทียบกับปัญหาในวง การแสดงครั้งนี้ได้ถ่ายทอดบทเพลงของการมองโลกในแง่ดีและการอยู่ร่วมกันโดยนำเสนอผู้ชมในสตูดิโอที่มีส่วนร่วมในการร้องเพลงร่วมกับบีเทิลส์

ด้วยความยาวเพลงกว่า 7 นาที "เฮย์จูด" เป็นซิงเกิลที่ยาวที่สุดที่ติดอันดับชาร์ตอังกฤษในเวลานั้น[1] การประพันธ์เพลงและท่อนโคดาของเพลงนั้นกระตุ้นให้เกิดงานเลียนแบบจำนวนมากจนถึงต้นทศวรรษ 1970 ใน ค.ศ. 2013 บิลบอร์ด ได้ยกให้เพลงนี้เป็นเพลงที่ "ยิ่งใหญ่ที่สุด" อันดับ 10 ตลอดกาลในแง่ของความสำเร็จในชาร์ต[2] แม็กคาร์ตีย์ยังคงแสดงเพลง "เฮย์จูด" ในคอนเสิร์ตนับตั้งแต่การเสียชีวิตของเลนนอนใน ค.ศ. 1980 ซึ่งเขานำให้ผู้ชมร่วมร้องท่อนโคดาในคอนเสิร์ต จูเลียน เลนอน และแม็กคาร์ตนีย์ประสบความสำเร็จในการประมูลของที่ระลึกที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเพลง

แรงบันดาลใจและการเขียนเพลง แก้

ผมเริ่มต้นความคิดที่ว่า "เฮย์จูลส์" ซึ่งก็คือจูเลียน อย่าทำให้มันแย่ลงกว่านี้เลย เอาเพลงเศร้านี้ไปฟังแล้วทำให้มันดีขึ้น พยายามและจัดการกับสิ่งที่น่ากลัว ผมรู้ว่ามันจะไม่ง่ายสำหรับเขา ผมรู้สึกเสียใจกับเด็ก ๆ ที่พ่อแม่ต้องหย่าร้างเสมอ ...[3]

พอล แม็กคาร์ตนีย์, 1997

ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1968[4] จอห์น เลนนอน และซินเทีย ภรรยายของเขา แยกทางกันเนื่องจากเลนนอนมีความสัมพันธ์กับโยโกะ โอโนะ ศิลปินชาวญี่ปุ่น[5] เดือนต่อมา พอล แม็กคาร์นีย์ขับรถไปเยี่ยมจูเลียน ลูกชายวัยห้าขวบของเลนนอน[6] ที่เคนวุด ซึ่งเป็นบ้านของครอบครัวในเวย์บริดจ์[7] ซินเทียเป็นส่วนหนึ่งในสังคมของเดอะบีเทิลส์ ตั้งแต่ก่อนที่วงจะมีชื่อเสียงใน ค.ศ. 1963[8] ซึ่งต่อมา แม็กคาร์ตนีย์กล่าวในภายหลังว่า เขาพบว่า "จู่ ๆ พวกเขาก็กลายเป็น "บุคคลไม่พึงปรารถนา" และหายไปจากชีวิตผม"[3] ซินเทีย เลนนอนเล่าถึงการมาเยี่ยมครั้งนี้ของแม็กคาร์ตนีย์ว่า "ฉันรู้สึกประทับใจที่เขาห่วงใยสวัสดิภาพของเราอย่างเห็นได้ชัด ... ระหว่างเดินทางเขาแต่งเพลง "เฮย์จูด" อยู่ในรถ ฉันจะไม่มีวันลืมท่าทางที่ห่วงใยของพอลที่มาหาเรา"[9] ชื่อเดิมของเพลงคือ "เฮย์จูลส์" และมีจุดมุ่งหมายเพื่อปลอบโยนจูเลียนจากความเครียดที่พ่อแม่แยกทางกัน[5] แม็กคาร์ตนีย์กล่าวว่า "ผมรู้ว่ามันเป็นเรื่องไม่ง่ายสำหรับเขา" พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น "จูด" "เพราะผมคิดว่ามันฟังดูดีกว่านิดหน่อย"[3]

ตามรายงานของคริส ฮันต์ นักข่าวเพลง ในช่วงไม่กี่สัปดาห์หลังจากเขียนเพลง แม็กคาร์ตนีย์ "ทดสอบการแต่งเพลงล่าสุดของเขากับใครก็ตามที่สุภาพเกินกว่าจะปฏิเสธและนั่นหมายถึง "ทุกคน"" [10] เมื่อวันที่ 30 มิถุนายนหลังจากบันทึกเสียงเพลง "ทินกัมมีบ็อบ" ของวงแบล็กไดก์มิลส์แบนด์ ในยอร์กเชอร์[11] แม็กคาร์ตนีย์แวะที่หมู่บ้านแฮร์โรล ในเบดฟอร์ดเชอร์ และแสดงเพลง "เฮย์จูด" ที่ผับท้องถิ่น[12] นอกจากนี้เขายังให้สมาชิกของวงเดอะบอนโซด็อกแบนด์ฟังเพลงของเขาในขณะที่กำลังผลิตซิงเกิล "ไอม์เดอะเออร์บันสเปซแมน" ในลอนดอน และขัดจังหวะการบันทึกเสียงของแบร์รอนไนต์เพื่อทำแบบเดียวกัน[10] รอน กริฟฟิท สมาชิกจากวงไอวีส์ ซึ่งต่อมารู้จักในชื่อแบดฟิงเกอร์ และเช่นเดียวกับวงแบล็กไดก์มิลส์แบนด์ ซึ่งเป็นการเซ็นสัญญากับแอเปิลเรเคิดส์ ค่ายเพลงใหม่ของบีเทิลส์ พวกเขาเล่าว่า วันแรกของพวกเขาในสตูดิโอ แม็กคาร์ตนีย์ "ให้เราได้ชมคอนเสิร์ตเต็มรูปแบบของ 'เฮย์จูด'"[13][nb 1]

คุณลองคิดดูนะ ... โยโกะเพิ่งมา แล้วเขาพูดว่า "เฮย์จูด – เฮย์จอห์น" ผมรู้ มันฟังดูเหมือนแฟน ๆ คนหนึ่งที่อ่านเรื่องนี้ แต่คุณ สามารถ ได้ยินมันซึ่งเป็นเพลงสำหรับผม คำว่า "ออกไปตามหาเธอ" ("Go out and get her") เขากำลังพูดโดยไม่รู้ตัวว่า ออกไป ปล่อยเขาไว้ แต่จริง ๆ เขาไม่ได้ต้องการให้ผมออกไป[15]

จอห์น เลนนอน, 1980

ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นของเลนนอนและโอโนะ ทำให้การแต่งเพลงร่วมกันระหว่างเขากับแม็กคาร์ตนีย์เป็นไปไม่ได้[16][17] อย่างไรก็ตาม ด้วยการสนับสนุนเพื่อนของเขา แม็กคาร์ตนีย์ปล่อยให้ทั้งคู่อยู่ที่บ้านของเขาในเซนต์จอห์นวุด แต่เมื่อเลนนอนพบบันทึกที่เขียนโดยแม็กคาร์ตนีย์ ซึ่งมีความคิดเห็นเกี่ยวกับโอโนะในเชิงเหยียดหยามและเหยียดผิว ทั้งคู่ก็ย้ายออกไป[18][19] แม็กคาร์ตนีย์เล่นเพลง "เฮย์จูด" ให้เลนนอนฟังเมื่อวันที่ 26 กรฎาคม[20] เมื่อเขาและโอโนะไปเยี่ยมบ้านของแม็กคาร์ตนีย์[21] แม็กคาร์ตนีย์ให้คำมั่นกับเขาว่าเขาจะ "แก้ไข" ประโยค "ขับเคลื่อนสิ่งที่ปรารถนาซึ่งอยู่บนบ่าของนาย" ("the movement you need is on your shoulder") โดยให้เหตุผลว่า "มันเป็นการแสดงออกที่งี่เง่า ฟังแล้วไม่มีความหมาย" ตามคำบอกเล่าของแม็กคาร์ตนีย์ เลนนอนตอบว่า "นายไม่รู้อะไร นั่นเป็นประโยคที่ดีที่สุดของเพลงนี้"[22] ซึ่งแม็กคาร์ตนีย์คงท่อนนี้ไว้[5][nb 2] แม้ว่าเดิมที แม็กคาร์ตนีย์จะเขียนเพลง "เฮย์จูด" ให้กับจูเลียน เลนนอนคิดว่าเขาเขียนขึ้นเพื่อเขาจริง ๆ[20] ในการให้สัมภาษณ์ใน ค.ศ. 1980 เลนนอนระบุว่าเขา "เชื่อมาตลอดว่าเป็นเพลงสำหรับเขา" และยืนยันว่าในด้านหนึ่ง แม็กคาร์ตนีย์กำลังให้พรกับความสัมพันธ์ของเลนนอนและโอโนะ ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง เขารู้สึกผิดหวังที่ถูกแย่งชิงในฐานะเพื่อนและหุ้นส่วนของเลนนอน[21]

 
โยโกะ โอโนะ และจอห์น เลนนอน ที่อัมสเตอร์ดัม เมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 1969

คนอื่น ๆ เชื่อว่าแม็กคาร์ตนีย์เขียนเพลงเกี่ยวกับพวกเขา ซึ่งรวมถึง จูดิท ซิมอนส์ นักข่าวจากเดลีเอกซ์เพรส[23] ขณะที่คนอื่น ๆ รวมถึงเลนนอนคาดเดาว่าในเนื้อเพลง "เฮย์จูด" มาจากความสัมพันธ์ระยะยาวที่ล้มเหลวของแม็กคาร์ตนีย์กับเจน แอชเชอร์ ทำให้เขา "ส่งข้อความถึงตัวเอง" โดยไม่รู้ตัว[24] ซึ่งแม็กคาร์ตนีย์และแอชเชอร์ประกาศหมั้นกันเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ค.ศ. 1967[25] แต่เขาเริ่มมีความสัมพันธ์กับลินดา อีสต์แมนในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1968[26] ในเดือนเดียวกันนั้น Francie Schwartz ชาวอเมริกันที่อยู่ในลอนดอนเพื่อหารือเกี่ยวกับข้อเสนอภาพยนตร์กับแอปเปิล เริ่มใช้ชีวิตร่วมกับแม็กคาร์ตนีย์ในเซนต์จอห์นวุด[27] เมื่อเลนนอนพูดถึงว่าเขาคิดว่าเพลงนี้เกี่ยวกับตัวเขาและโอโนะ แม็กคาร์ตนีย์ปฏิเสธและบอกเลนนอนว่า เขาเขียนเพลงเกี่ยวกับตัวเอง[28][nb 3]

Mark Hertsgaardได้แสดงความคิดเห็นว่า "เนื้อเพลงหลายท่อนดูเหมือนจะมุ่งเป้าไปที่ผู้ชายที่โตแล้วซึ่งกำลังจะมีความรักครั้งใหม่ที่ทรงพลังมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในท่อน 'นายได้พบเธอแล้ว ไปหาเธอสิ' ('you have found her now go and get her') และ 'นายกำลังรอใครบางคนเพื่อแสดงความรักอยู่นะ ('you're waiting for someone to perform with.')"[28] ทิม ไรลีย์ นักวิจารณ์เพลงและผู้แต่งเพลงเขียนว่า "ถ้าเพลงนั้นพูดถึงเกี่ยวกับคุณค่าในตัวเอง และการปลอบใจตัวเองเมื่อเผชิญกับความยากลำบาก การแสดงของนักร้องนั้นบ่งบอกถึงเรื่องราวนั้นได้ดีมากการเดินทางได้มาก เขาเริ่มต้นด้วยการร้องเพลงเพื่อปลอบโยนคนอื่น ชั่งน้ำหนักความรู้สึกของตัวเอง และสุดท้าย ละเว้นการส่งเสริมการยอมรับของเขาเองซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนเขาเชื่อมั่นในตัวเอง"[30]

การผลิตเพลง แก้

การซ้อมที่อีเอ็มไอ แก้

หลังจากจัดสรรเพลงสำหรับการเปิดตัวเป็นซิงเกิลแล้ว เดอะบีเทิลส์ได้บันทึกเสียงเพลง "เฮย์จูด" ระหว่างการบันทึกเสียงเพลงในดับเบิลอัลบั้มที่ใช้ชื่อวงเป็นชื่ออัลบั้ม ซึ่งรู้จักกันในชื่อว่า "ไวต์อัลบั้ม"[31][32] การบันทึกเสียงดังกล่าวทำให้เกิดความไม่ลงรอยกันภายในกลุ่มเป็นครั้งแรก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่โอโนะอยู่เคียงข้างเลนนอนอย่างต่อเนื่อง[33][34] ความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดยังสะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างของสมาชิกวงทั้งสี่หลังจากการเดินทางร่วมกันไปยังเมืองฤษีเกศในฤดูใบไม้ผลิปี ค.ศ. 1968 เพื่อศึกษาการทำสมาธิแบบล่วงพ้น[35]

เดอะบีเทิลส์บันทึกเทปเพลงครั้งแรก 25 เทก ที่อีเอ็มไอสตูดิโอส์ ในลอนดอนเป็นเวลาสองคืนระหว่างวันที่ 29 และ 30 กรกฎาคม ค.ศ. 1698[31] โดยมีจอร์จ มาร์ตินเป็นโปรดิวเซอร์ [36] อย่างไรก็ตามวันเหล่านั้นใช้เป็นการซ้อมเนื่องจากพวกเขาวางแผนที่จะบันทึกเสียงมาสเตอร์แทร็กที่ไทรเดนต์สตูดิโอส์ เพื่อใช้เครื่องบันทึกเสียงแปดแทร็ก (อีเอ็มไอยังจำกัดอยู่ที่สี่แทร็ก)[31] สองเทกแรกเริ่มตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม ซึ่งเคนเนท โวแม็ก นักเขียนและนักวิจารณ์ อธิบายว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่ "ครึกครื้น"[37] โดยคำอธิบายดังกล่าวเผยแพร่ในบ็อกซ์เซตครบรอบ 50 ปีของไวต์อัลบั้มเมื่อปี ค.ศ. 2018 และอัลบั้มรวมชื่อ แอนโทโลจี 3 เมื่อปี ค.ศ. 1996 ตามลำดับ[38][39]

มีถ่ายทำในช่วงการซ้อมเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคมเป็นสารคดีสั้นเรื่อง มิวสิก![40][41] ซึ่งผลิตโดยสภาดนตรีแห่งชาติบริเตนใหญ่[42] นี่เป็นครั้งแรกที่เดอะบีเทิลส์อนุญาตให้ทีมงานถ่ายทำระหว่างพัฒนาเพลงในสตูดิโอ[21] ภาพยนตร์เรื่องนี้แสดงให้เห็นสมาชิกเดอะบีเทิลส์เพียงสามคนที่แสดงเพลง "เฮย์จูด" ขณะที่จอร์จ แฮร์ริสัน อยู่ในห้องควบคุม[43] ร่วมกับมาร์ติน และเคน สก็อตต์ วิศวกรบันทึกเสียงของอีเอ็มไอ[44][nb 4] ในระหว่างการซ้อมในวันนั้น[44] แฮร์ริสันและแม็กคาร์ตนีย์ขัดแย้งกันอย่างรุนแรงในเรื่องท่อนกีตาร์นำของเพลง[37] ความคิดของแฮร์ริสันคือการเล่นกีตาร์ควบคู่ไปกับเสียงร้องในแต่ละไลน์[46] ซึ่งไม่เข้ากับความคิดของแม็กคาร์ตนีย์ในเรื่องการเรียบเรียงเพลง และเขาก็ปัดตกมันไป[47][48] ไซมอน เลงก์ นักเขียนผู้มองว่าสิ่งนี้บ่งบอกถึงวิธีที่แฮร์ริสันได้รับอนุญาตให้มีพื้นที่เพียงเล็ก ๆ ในการพัฒนาแนวคิดร่วมกับการประพันธ์ของแม็กคาร์ตนีย์ ในขณะที่เขามีอิสระที่จะสร้างท่อนกีตาร์สำหรับเพลงของเลนนอนในยุคนั้นมากกว่า[49] ในการให้สัมภาษณ์เมื่อปี ค.ศ. 1994 แม็กคาร์ตนีย์กล่าวว่า "ถ้ามองย้อนกลับไป โอเค มันดูเป็นเรื่องเจ้ากี้เจ้าการ แต่มันก็น่าเบื่อสำหรับผม เพราะผมยอมก้มหัวให้กับความกดดันได้"[48] รอน ริชาดส์ โปรดิวเซอร์เพลงที่ทำงานให้กับมาร์ตินที่พาร์โลโฟน และแอร์สตูดิโอส์[50] กล่าวว่า แม็กคาร์ตนีย์ "ลืมความรู้สึกของคนอื่นในสตูดิโอ" และเขาถูกผลักดันให้สร้างสถิติที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้โดยแทบไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ[51][nb 5]

บันทึกเสียงที่ไทรเดนต์สตูดิโอส์ แก้

เดอะบีเทิลส์บันทึกเสียงมาสเตอร์แทร็กสำหรับเพลง “เฮย์จูด” ที่ไทรเดนต์ ซึ่งเป็นที่ที่แม็กคาร์ตนีย์และแฮร์ริสันใช้ในการผลิตเพลงให้กับศิลปินในค่ายแอปเปิล[55] เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม[40] นอร์แมน เชฟฟีลด์ ผู้ก่อตั้งไทรเดนต์ เล่าว่า มัล เอฟวันส์ ผู้ช่วยและอดีตคนยกเครื่องดนตรีของเดอะบีเทิลส์ ยืนยันว่าต้นกัญชาบางส่วนที่เขานำมาไว้ที่สตูดิโอเพื่อให้สถานที่ดู “นุ่มนวล” สอดคล้องกับความปรารถนาของวง[56] แบร์รี เชฟฟีลด์ รับหน้าที่เป็นวิศวกรบันทึกเสียงสำหรับเพลงนี้ ไลน์อัปของแทร็กพื้นฐานคือ แม็กคาร์ตนีย์ เล่นเปียโนและร้องนำ เลนนอน เล่นกีตาร์อะคูสติก แฮร์ริสัน เล่นกีตาร์ไฟฟ้า และริงโก สตาร์ ตีกลอง[47][57] เดอะบีเทิลส์บันทึกเสียงเพลง “เฮย์จูด” ไว้สี่เทก โดยเลือกเทกแรกเป็นมาสเตอร์[47][57] ด้วยความตั้งใจที่จะทำให้ไม่มีเสียงกลองในสองท่อนแรกของเพลง แม็กคาร์ตนีย์เริ่มบันทึกเสียงโดยไม่รู้ว่าสตาร์ออกไปเข้าห้องน้ำ[55] แม็กคาร์ตนีย์เล่าจากในความทรงจำว่า ไม่นานสตาร์ก็กลับมาพร้อม “เขย่าหลังผมค่อนข้างเร็ว” และเขาแสดงคิวของเขาได้สมบูรณ์แบบ[48]

 
อดีตอาคารไทรเดนต์สตูดิโอส์ ที่ศาลเซนต์แอนน์ในโซโห (ภาพเมื่อปี ค.ศ. 2018) ซึ่งเป็นสถานที่บันทึกเสียงเพลง "เฮย์จูด"

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม เดอะบีเทิลส์กลับมาอัดเสียงทับบนแทร็กพื้นฐานที่ไทรเดนต์เช่นเดิม สิ่งที่เพิ่มเติมขึ้นมาคือ เสียงร้องนำและกีตาร์เบสของแม็กคาร์ตนีย์ เสียงประสานจากเลนนอน แม็กคาร์ตนีย์ แฮร์รีสิน และกลองเล็ก[43] ที่เล่นโดยสตาร์[58] เสียงร้องท่อนโคดาของแม็กคาร์ตนีย์เริ่มต้นในเวลาประมาณนาทีที่สามของเพลง รวมถึงเสียงด้นสดที่เขาอธิบายในภายหลังว่า “แครี แกรนต์ออนฮีต!”[55] จากนั้นเพิ่มวงออเคสตรา 36 ชิ้นเหนือท่อนโคดา ที่ประพันธ์โดยมาร์ติน[47] วงออร์เคสตราประกอบด้วย ไวโอลินสิบตัว ไวโอลาสามตัว เชลโลสามตัว ฟลูตสองตัว คอนทราบาสซูนหนึ่งตัว บาสซูนหนึ่งตัว แคลริเน็ตสองตัว คอนทราเบสแคลริเน็ตหนึ่งตัว ทรัมเป็ตสี่ตัว ทรอมโบนสี่ตัว ฮอร์นสองตัว เพอร์คัชชันและเบสสองสาย[58] ตามที่นอร์แมน เชฟฟีลด์เล่าว่า เริ่มมีความขัดแย้งในหมู่นักดนตรีออร์เคสตราซึ่งบางคน "กำลังมองลงไปที่เดอะบีเทิลส์" เชฟฟีลด์จำได้ว่าแม็กคาร์ตนีย์มั่นใจในความร่วมมือของเขาโดยบอกว่า "คุณจะเอาค่าจ้างไหม?"[59] ในช่วงสองสามเทกแรก แม็กคาร์ตนีย์ไม่พอใจกับการขาดเรี่ยวแรงและความหลงใหลในการแสดงของวงออร์เคสตรา เขาจึงลุกขึ้นยืนบนแกรนด์เปียโนและเริ่มนำดนตรีจากที่นั่น[60]

จากนั้นเดอะบีเทิลส์ก็ถามสมาชิกวงออร์เคสตราว่า พวกเขาจะปรบมือและร้องเพลงไปด้วยกันหรือไม่ นักดนตรีทุกคนปฏิบัติตาม (เสียค่าจ้างสองเท่า) โดยมีรายงานว่ามีผู้ไม่ปฏิบัติตามหนึ่งคนกล่าวว่า "ผมไม่ยอมปรบมือและร้องเพลงวันเกิดของพอล แม็กคาร์ตนีย์หรอกนะ!"[47] คริส โอเดลล์ ผู้ช่วยของแอปเปิลเรเคิดส์ กล่าวว่า เธอมีส่วนร่วมในการเป็นนักร้องประสานเพลงนี้[61] และยังมีแจ็กกี โลแม็กซ์ หนึ่งในนักร้องที่เซ็นสัญญาคนแรกของค่าย ที่มีส่วนร่วมกับเพลงนี้ด้วย[62]

"เฮย์จูด" เป็นเพลงแรกของเดอะบีเทิลส์ที่บันทึกเสียงด้วยเครื่องบันทึกเสียงแปดแทร็ก[57] ไทรเดนต์สตูดิโอส์ได้รับเงินจากการใช้ห้องบันทึกเสียงโดยอีเอ็มไอ 25 ปอนด์ต่อชั่วโมง เชฟฟีลด์กล่าวว่าสตูดิโอมีรายได้รวมประมาณ 1,000 ปอนด์ แต่เพราะเดอะบีเทิลส์บันทึกเสียงที่นั่น และในทางกลับกันก็ยังชื่นชอบในสิ่งอำนวยความสะดวก ทำให้มูลค่าไม่สามารถคำนวณได้[63] เดอะบีเทิลส์ยังคงทำงานกับไทรเดนต์ต่อไปในปี ค.ศ. 1968[64] และศิลปินในค่ายแอปเปิล เช่น โลแม็กซ์, แมรี ฮอพคิน, บิลลี เพรสตัน และดิไอวีส์ ต่างก็บันทึกเสียงที่นั่นในปีต่อมา[65][nb 6]

ผสมเสียง แก้

สก็อตต์, มาร์ติน และเดอะบีเทิลส์ผสมเสียงที่บันทึกเสร็จแล้วที่แอบบีย์โรด[10] การถ่ายโอนมาสเตอร์เทปของไทรเดนต์ไปยังแผ่นแอซิเตดพิสูจน์แล้วว่ามีปัญหาเนื่องจากเสียงที่บันทึกไม่ชัดเมื่อเล่นบนอุปกรณ์ของอีเอ็มไอ[10] ปัญหานี้ได้รับการแก้ไขด้วยความช่วยเหลือของเจฟฟ์ เอเมอริก[67] ซึ่งสก็อตต์เพิ่งเข้ามาแทนที่ในตำแหน่งวิศวกรบันทึกเสียงของเดอะบีเทิลส์[68] เอเมอริกบังเอิญไปเยือนที่แอบบีย์โรด[69] เมื่อไม่นานมานี้ปฏิเสธที่จะทำงานกับเดอะบีเทิลส์อีกต่อไป เนื่องจากความตึงเครียดและการถูกเหยีดหยามซึ่งกลายเป็นเรื่องปกติในการบันทึกเสียงของพวกเขา[70][71] เพลง "เฮย์จูด" เวอร์ชันสเตอริโอเสร็จสมบูรณ์ในวันที่ 2 สิงหาคมและโมโนในวันที่ 8 สิงหาคม[72][nb 7]

นักดนตรี วอลเตอร์ เอเวอเรตต์ เขียนว่า "คุณลักษณะเพลงที่มีคนแสดงความเห็นมากที่สุด" คือความยาวเพลง 7:11 นาที[20] เช่นเดียวกับแม็กคาร์ตนีย์[21] มาร์ตินกังวลว่าสถานีวิทยุจะไม่เล่นเพลงเพราะความยาวเพลง แต่เลนนอนยืนยันว่า: "พวกเขาจะเล่นแน่ถ้าเป็นเรา"[74] ตามที่ เคน แมนส์ฟีลด์ ผู้จัดการของแอปเปิลในสหรัฐกล่าวว่า แม็กคาร์ตนีย์ยังคงไม่มั่นใจจนกว่าแมนส์ฟีลด์จะส่งตัวอย่างแผ่นเสียงให้นักจัดรายการชาวอเมริกันเล่น และรายงานว่าพวกเขามีความกระตือรือร้นอย่างมากเกี่ยวกับเพลงนี้[75] "Hey Jude" ยาวกว่าเพลง "แม็กอาร์เทอร์พาร์ก" หนึ่งวินาที ซึ่งเป็นเพลงฮิตล่าสุดของ Richard Harris[76] จากข้อมูลของจิมมี เวบบ์ ผู้แต่งเพลงนี้ ซึ่งได้มาเยี่ยมชมสตูดิโอในช่วงเวลานั้น[77] กล่าวว่า มาร์ตินยืนยันกับเขาว่าเพลง "เฮย์จูด" จะได้เล่นเกินเจ็ดนาทีเพราะความสำเร็จของเพลง "แม็กอาร์เทอร์พาร์ก"[78][nb 8] ด้วยความยินดีกับผลลัพธ์ที่ได้ แม็กคาร์ตนีย์นำแผ่นแอซิเตดเพลง "เฮย์จูด" ไปเล่นที่งานปาร์ตี้ที่มิก แจ็กเกอร์จัดขึ้นที่เวซูวิโอไนต์คลับในใจกลางกรุงลอนดอน เพื่อเฉลิมฉลองการเสร็จสิ้นของอัลบั้มเบกกาส์แบงเควต ของเดอะโรลลิงสโตนส์ ทำให้เพลงทีเขาเปิด เด่นกว่าอัลบั้มของเดอะโรลลิงสโตนส์ และในคำอธิบายของนักเขียน จอห์น วินน์ "มีรายงานว่าเขาทำลายบรรยากาศ" งานปาร์ตี้นั้น[80]

ในท่อนบริดจ์สุดท้ายของเพลงเวลา 2:58 นาที ประโยคที่พูดว่า "Fucking hell!" เกิดขึ้นโดยเลนนอน[81] สก็อตต์ยอมรับว่า แม้ว่าเขาจะได้รับการบอกเล่าเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่เขาก็ไม่เคยได้ยินประโยคดั้งเดิมเลย[10] มัลคอล์ม ทอฟต์ วิศวกรบันทึกเสียงของไทรเดนต์[82] เล่าว่า เลนนอนกำลังส่งเสียงประสานของเขามากเกินไป เมื่อการตอบสนองต่อระดับเสียงในหูฟังของเขาดังเกินไป เขาจึงร้อง "Whoa!" ออกมาเป็นครั้งแรก จากนั้นสองวินาทีต่อมา เขาดึงหูฟังออกทันที[83][nb 9]

หมายเหตุ แก้

  1. กริฟฟิทเสริมว่าเขาและเพื่อนร่วมงานของไอวีส์ "ตะลึงจนพูดไม่ออก" กับการแสดงของแม็กคาร์ตนีย์[14]
  2. ในเวลาต่อมา เขากล่าวถึงการแสดงสดของเพลงว่า "นั่นเป็นท่อนที่ทำให้ผมนึกถึงจอห์น และบางครั้งผมก็สะเทือนใจเล็กน้อยในช่วงเวลานั้น"[22]
  3. ในการให้สัมภาษณ์กับโจนาทัน คอตต์ใน ค.ศ. 1971 เลนนอนทวนบทสนทนาของเขาและแม็กคาร์ตนีย์ว่า "นั่นคือฉัน ฉันบอกว่านั่นคือ"ฉัน"! เขาบอกว่า ไม่ มันคือ "ฉัน" เอง"[29]
  4. สารคดีเผยแพร่เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 1969[43] สารคดีถูกฉายในโรงภาพยนตร์ของสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นสารคดีเปิดฉายก่อนเรื่อง เดอะโปรดิวเซอร์[41] ในสหรัฐอเมริกามีการออกอากาศเป็นตอนหนึ่งของซีรีส์โทรทัศน์ช่องเอ็นบีซี เรื่อง เอ็กซ์เปอริเมนต์อินทีวี[45] เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 1970.ช[41]
  5. เอียน แม็กดอนัลด์ อธิบายว่าเป็น "ช่วงเวลาที่ตึงเครียด"[52] ความขัดแย้งระหว่างแฮร์ริสันกับแม็กคารต์นีย์กลับมาอีกครั้ง โดยทั้งคู่โต้เถียงในเรื่องที่คล้ายกันในขณะถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง เลตอิตบี เมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 1969[43] เกี่ยวกับเรื่องท่อนกีตาร์นำของเพลง "ทูออฟอัส"[53] ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากคำวิจารณ์ของแม็กคาร์ตนีย์ ทำให้แฮร์ริสันลาออกจากวงในช่วงสั้น ๆ เมื่อวันที่ 10 มกราคม[43][54]
  6. แม็กคาร์ตนีย์เขียนคำนิยมของหนังสือชีวประวัติชีวิตของเชฟฟีลด์เรื่อง ไลฟ์ออนทูเลกส์ เมื่อปี ค.ศ. 2013 ซึ่งเขาจำได้ว่ามีความสุขในช่วงการบันทึกเสียงที่ไทรเดนต์[66]
  7. เอเมอริกเขียนในบันทึกความทรงจำปี 2006 ของเขาว่า "เห็นได้ชัดว่ามีบางอย่างที่ไทรเดนต์ทำไม่ตรงแนว" และวิธีแก้ปัญหาให้กับเพลง "เฮย์จูด" คือการปรับเพิ่ม "เสียงแหลมจำนวนมหาศาล"[73]
  8. แม็กคาร์ตนีย์เล่าว่าเดอะบีเทิลส์ไม่ได้วางแผนให้ท่อนโคดาใช้เวลาสี่นาทีสุดท้าย แต่เขากำลัง "สนุกกับการแอดลิบ" ที่พวกเขายังคงให้การแสดงดำเนินต่อไป[79]
  9. ทอฟต์เสริมว่า "เพราะมันถูกลงไปผสมกับเสียงร้องหลัก จึงไม่สามารถลบออกได้ ผมทำได้แค่จัดการลดเสียงลงในเสี้ยววินาที เพื่อพยายามทำให้เสียงตะโกนน้อยลง""[83]

อ้างอิง แก้

  1. Lowry 2002, p. 44.
  2. Bronson, Fred (2 August 2012). "Hot 100 55th Anniversary: The All-Time Top 100 Songs". Billboard. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 July 2017. สืบค้นเมื่อ 9 August 2013.
  3. 3.0 3.1 3.2 Miles 1997, p. 465.
  4. Riley 2011, p. 397.
  5. 5.0 5.1 5.2 Womack 2014, p. 389.
  6. "The Beatles, 'Hey Jude'". Rolling Stone. 7 April 2011. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 October 2012. สืบค้นเมื่อ 14 August 2007.
  7. Sounes 2010, pp. 208, 221.
  8. Sounes 2010, p. 221.
  9. Kehe, John (17 June 2012). "Paul McCartney: 40 career highlights on his birthday". The Christian Science Monitor. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 March 2019. สืบค้นเมื่อ 23 March 2019.
  10. 10.0 10.1 10.2 10.3 10.4 Hunt, Chris. "Here Comes the Son". In: Mojo Special Limited Edition 2003, p. 39.
  11. Miles 2001, p. 302.
  12. Norman 2016, pp. 336–37.
  13. Matovina 2000, pp. 42, 45.
  14. Matovina 2000, p. 42.
  15. Sheff 2000, p. 186.
  16. Gould 2007, pp. 481, 513–14.
  17. Clayson 2003a, pp. 126–27.
  18. Doggett 2011, pp. 48–49.
  19. Sounes 2010, pp. 219–20.
  20. 20.0 20.1 20.2 Everett 1999, p. 192.
  21. 21.0 21.1 21.2 21.3 Spizer 2003, p. 32.
  22. 22.0 22.1 The Beatles 2000, p. 297.
  23. Harry, Bill (2000). The Beatles Encyclopedia: Revised and Updated. London: Virgin Publishing. p. 517. ISBN 0-7535-0481-2.
  24. Unterberger, Richie. "The Beatles 'Hey Jude'". AllMusic. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 October 2017. สืบค้นเมื่อ 22 March 2019.
  25. Carr & Tyler 1978, p. 70.
  26. Sounes 2010, pp. 213–14.
  27. Sounes 2010, pp. 212–13, 215.
  28. 28.0 28.1 Hertsgaard 1995, p. 236.
  29. Schaffner 1978, p. 108.
  30. Riley 2002, p. 255.
  31. 31.0 31.1 31.2 Lewisohn 1988, p. 145.
  32. Spitz 2005, p. 782.
  33. Hertsgaard 1996, pp. 247, 251.
  34. Doggett 2011, pp. 44–45.
  35. Schaffner 1978, pp. 88–89.
  36. Womack 2014, pp. 389–90.
  37. 37.0 37.1 Womack 2014, p. 390.
  38. Howlett, Kevin (2018). The Beatles (booklet). The Beatles. Apple Corps Limited.
  39. Lewisohn, Mark (1996). Anthology 3 (booklet). The Beatles. London: Apple Records. p. 14. 34451.
  40. 40.0 40.1 Miles 2001, p. 304.
  41. 41.0 41.1 41.2 Winn 2009, p. 197.
  42. Leng 2006, p. 35.
  43. 43.0 43.1 43.2 43.3 43.4 Everett 1999, p. 194.
  44. 44.0 44.1 Riley 2011, p. 407.
  45. Castleman & Podrazik 1976, p. 260.
  46. The Beatles 2000, p. 316.
  47. 47.0 47.1 47.2 47.3 47.4 Lewisohn 1988, p. 146.
  48. 48.0 48.1 48.2 Miles 1997, p. 466.
  49. Leng 2006, pp. 34–35.
  50. Martin, George; Hornsby, Jeremy (1994). All You Need Is Ears. New York, NY: St. Martin's Press. pp. 137, 183. ISBN 0-312-11482-6.
  51. Spitz 2005, p. 783.
  52. MacDonald 1998, p. 267fn.
  53. Sounes 2010, p. 237.
  54. Miles 2001, p. 328.
  55. 55.0 55.1 55.2 Spizer 2003, p. 33.
  56. Sheffield 2013, p. 15.
  57. 57.0 57.1 57.2 Winn 2009, p. 198.
  58. 58.0 58.1 MacDonald 1998, p. 264.
  59. Sheffield 2013, p. 18.
  60. Sheffield 2013, pp. 18–19.
  61. O'Dell 2009, pp. 74–75.
  62. Staunton, Terry (July 2004). "Jackie Lomax: Is This What You Want?". Record Collector. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 June 2015. สืบค้นเมื่อ 17 June 2015 – โดยทาง Rock's Backpages.
  63. Sheffield 2013, p. 20.
  64. Miles 2001, pp. 308, 311.
  65. O'Dell 2009, pp. 73, 92.
  66. Sheffield 2013, pp. 9–10.
  67. Riley 2011, p. 408.
  68. Fanelli, Damian (30 April 2012). "Abbey Road Engineer Ken Scott Discusses Recording the Beatles' White Album, Says Sessions Were a Blast". Guitar World. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 November 2014. สืบค้นเมื่อ 19 June 2015.
  69. Riley 2011, pp. 407–08.
  70. Lewisohn 1988, p. 143.
  71. Miles 2001, p. 303.
  72. Everett 1999, p. 195.
  73. Emerick & Massey 2006, p. 260.
  74. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ RS GreatestBeatlesSongs
  75. Spizer 2003, p. 34.
  76. Du Noyer 1996, p. 56.
  77. MacDonald 1998, p. 266fn.
  78. Simpson, Dave (11 November 2014). "How we made MacArthur Park". The Guardian. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 December 2014. สืบค้นเมื่อ 16 December 2014.
  79. Sullivan 2013, p. 117.
  80. Winn 2009, p. 147.
  81. Womack 2014, p. 391.
  82. "Malcolm Toft: MTA & Trident". Sound on Sound. July 1994. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 June 2015. สืบค้นเมื่อ 22 June 2015.
  83. 83.0 83.1 Ryan & Kehew 2006, pp. 488–89.

ที่มา แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้