เอื้อ อัญชลี เป็นนามปากกาของ อัญชลี เอื้อกิจประเสริฐ (พ.ศ. 2517-) เป็นนักเขียนที่เป็นที่รู้จักจากคอลัมน์ สามก๊ก ฉบับคนกันเอง ในนิตยสาร มติชนสุดสัปดาห์ ผลงานการประพันธ์ของเธอเรื่อง เงาฝันของผีเสื้อ ได้รับการคัดเลือกเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ปี 2552[1]

การศึกษาและอาชีพการงานช่วงต้น แก้

อัญชลี จบการศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตเพาะช่าง คณะวิจิตรศิลป์ แผนกถ่ายภาพ เธอได้รับรางวัลช่อการะเกดจากเรื่องสั้น ให้ฉันไปจากเธอ ในปี 2538[2] หนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มแรกของเธอชื่อ ความสุข พิมพ์รวมเล่มโดยสำนักพิมพ์เมฆปีกนก ในเดือนมกราคม 2540[3] หลังจากนั้น ในเดือนกุมภาพันธ์ 2541 เธอได้ตีพิมพ์รวมบทกวีเล่มแรกของเธอออกมาในชื่อ 'งานศพดอกไม้ ซึ่งเป็นการรวบรวมบทกวีที่เธอเขียนขึ้นตั้งแต่ 2536-2540 ก่อนที่เรื่องสั้น ลมผีเสื้อ ของเธอได้รับการตีพิมพ์ลง ช่อการะเกด 30 (มกราคม-กุมภาพันธ์ 2540) ในเดือนธันวาคม 2542 รวมเรื่องสั้นเล่มที่สองของเธอจึงได้รับการรวมเล่มโดยสำนักพิมพ์เมฆปีกนกในชื่อ ความทุกข์ เรื่องสั้นในเล่มนี้มีรูปแบบการเขียนที่หลากหลาย ทั้งแบบเป็นนิทาน หรือไดอารี่[4] หลังจากนั้น เธอยังได้รับรางวัลรางวัลสุภาว์ เทวกุล จากเรื่องสั้น ตำรับเซลล์แมน ในปี 2543 ด้วย

สามก๊ก ฉบับคนกันเอง แก้

เอื้อ อัญชลี เป็นที่รู้จักในวงกว้างจากคอลัมน์ของเธอ สามก๊ก ฉบับคนกันเอง ซึ่งตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์ โดยเธอเริ่มเขียนคอลัมน์ตั้งแต่ฉบับที่ 1250 ประจำวันที่ 30 กรกฎาคม - 5 สิงหาคม 2547 จนถึงปัจจุบัน โดยเธอจะเขียนวิเคราะห์บุคลิกตัวละครในสามก๊กโดยเปรียบเทียบกับเรื่องราวต่างๆในชีวิตประจำวัน เช่น เปรียบเทียบบุคลิกของ ลิโป้ กับพระเอกการ์ตูนผู้หญิงเรื่อง Mars (สิงห์นักบิด สาวนักโบก) หรือเปรียบเทียบเตียวหุยกับบิดาของตนเอง[5] เน้นอารมณ์ความรู้สึก และความสัมพันธ์ของตัวละครมากกว่าการวิเคราะห์กลยุทธ์การศึกในนิยาย[6] ปัจจุบัน ได้มีการรวมบทความจากคอลัมน์ดังกล่าวออกตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน 2 เล่มด้วยกัน คือ สามก๊กฉบับคนกันเอง ภาคหนึ่ง: ขุนเขาไม่เปลี่ยน สายน้ำไม่ขาด (มีนาคม 2549) [7] และ สามก๊กฉบับคนกันเอง ภาคสอง: ความดีมีด่างพร้อย ความชั่วมีความเป็นมา (สิงหาคม 2550) [8]

นอกจากบทความแล้ว เธอยังมีรวมเรื่องสั้นซึ่งได้แรงบันดาลใจจากฉาก ตัวละคร และข้อคิดต่างๆจากสามก๊ก คือ ขงเบ้งเจอคนบ้า[9] และนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ซึ่งเล่าเรื่องชีวิตของผู้แต่งสามก๊ก หลอ กว้านจง เงาฝันของผีเสื้อ ซึ่งทำให้เธอได้เข้าชิงรางวัลซีไรต์ปี 2552

งานเขียนอื่นๆ แก้

เธอมีเรื่องสั้นลงใน สนามหญ้า 3: สถานที่หนึ่งในหัวใจ ของสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม (มีนาคม 2545) ร่วมกับนักเขียนคนอื่นๆ เช่น เสี้ยวจันทร์ แรมไพร, ฟ้า พูลวรลักษณ์, วาด รวี เป็นต้น[10] และสนามหญ้า 4.1: เธอเต้นรำอย่างเดียวดาย นอกจากนั้น เอื้อ อัญชลียังเป็นหนึ่งในนักเขียนที่เข้าร่วมโครงการคลังข้อมูลภาษาไทยแห่งชาติของภาควิชาภาษาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาควิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[11]

อ้างอิง แก้

  1. 7 นวนิยายเข้มข้นชิงซีไรต์'52 เก็บถาวร 2009-07-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
  2. "คอลัมน์ คุยกับหนังสือ". หนังสือพิมพ์มติชน. 21 กุมภาพันธ์ 2552.
  3. http://www.toulo.com/product/ProductDetail.asp?ProductID=15571&CategoryID=2000
  4. http://www.toulo.com/product/ProductDetail.asp?ProductID=4588&CategoryID=2000
  5. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-10. สืบค้นเมื่อ 2009-07-03.
  6. http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=plin&month=09-11-2007&group=4&gblog=39
  7. http://www.matichonbook.com/index.php?mnuid=5&selmnu=490330194910
  8. http://www.matichonbook.com/index.php?mnuid=5&selmnu=500814151521
  9. http://www.matichonbook.com/index.php?mnuid=5&selmnu=510403141808
  10. http://www.toulo.com/product/ProductDetail.asp?ProductID=6596&CategoryID=2010
  11. http://www.arts.chula.ac.th/~ling/TNC/category.php?id=41&