เอียน สตีเวนสัน

เอียน พรีทีแมน สตีเวนสัน (อังกฤษ: Ian Pretyman Stevenson, 31 ตุลาคม 1918 - 8 กุมภาพันธ์ 2007) เป็นจิตแพทย์ชาวอเมริกันผู้เกิดในแคนาดา เขาทำงานให้กับมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียสาขาแพทยศาสตร์เป็นเวลา 50 ปี เป็นหัวหน้าแผนกจิตเวชระหว่างปี 1957-1967 ได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์จิตเวชคาร์ลสันระหว่างปี 1967-2001 และเป็นศาสตราจารย์จิตเวชด้านวิจัยตั้งแต่ปี 2002 จนสิ้นอายุขัย[1]

เอียน สตีเวนสัน
(Ian Stevenson)
รูปภาพ
เกิด31 ตุลาคม ค.ศ. 1918(1918-10-31)
กรุงมอนทรีออล รัฐควิเบก ประเทศแคนาดา
เสียชีวิต8 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2007(2007-02-08) (88 ปี)
เมืองชาร์ลอตส์วิลล์ รัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐ
พลเมืองเกิดเป็นคนแคนาดา เปลี่ยนสัญชาติเป็นคนอเมริกันปี 1949
การศึกษามหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูส์ (1937-1939)
วิทยาศาสตรบัณฑิต (มหาวิทยาลัยแมคกิลล์ 1942)
แพทยศาสตรบัณฑิต (มหาวิทยาลัยแมคกิลล์สาขาแพทยศาสตร์ 1943)
อาชีพจิตแพทย์ ผู้อำนวยการแผนกการศึกษาการรับรู้ที่มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย สาขาแพทยศาสตร์
มีชื่อเสียงจากงานวิจัยเกี่ยวกับการกลับชาติมาเกิด งานศึกษาเกี่ยวกับประสบการณ์ก่อนตาย การบันทึกประวัติแพทยศาสตร์
คู่สมรสออกทาเวีย เรย์โนลด์ส (แต่ง 1947)
มาร์กาเรต เพอร์ตซอฟฟ์ (แต่ง 1985)

เพราะเป็นผู้จัดตั้งและผู้อำนวยการแผนกการศึกษาการรับรู้ (Division of Perceptual Studies) ของมหาวิทยาลัย ซึ่งตรวจสอบเรื่องเหนือธรรมชาติ (paranormal) เขาจึงกลายเป็นที่รู้จักเพราะได้ตรวจสอบกรณีของคนที่เขาพิจารณาว่า แสดงนัยว่ากลับชาติมาเกิด ซึ่งเป็นแนวคิดว่า ความรู้สึก ความจำ และแม้แต่ลักษณะทางร่างกายสามารถถ่ายโอนจากชาติหนึ่งไปสู่อีกชาติหนึ่ง[2] ในการสืบสวนกรณีในประเทศต่าง ๆ เป็นระยะเวลา 40 ปี เขาได้ตรวจสอบกรณีเด็ก 3,000 รายที่อ้างว่า จำชาติก่อน ๆ ได้[3] จุดยืนของเขาคือว่า โรคกลัว โรคใคร่ (philia) ความสามารถแปลก ๆ และความเจ็บป่วยบางอย่าง ไม่สามารถอธิบายได้อย่างสมบูรณ์โดยกรรมพันธุ์หรือสิ่งแวดล้อม เขาเชื่อว่า นอกเหนือจากกรรมพันธุ์และสิ่งแวดล้อม การกลับชาติมาเกิดใหม่อาจเป็นปัจจัยที่สาม[4][5]

ในปี 1982 สตีเวนสันช่วยก่อตั้งสมาคมเพื่อการสำรวจทางวิทยาศาสตร์ (Society for Scientific Exploration)[A] เป็นนักเขียนบทความราว 300 บทและหนังสือ 14 เล่มเรื่องการกลับชาติมาเกิด รวมทั้ง Twenty Cases Suggestive of Reincarnation (กรณีศึกษา 20 รายที่แสดงนัยว่ากลับชาติมาเกิด, 1996) Cases of the Reincarnation Type (กรณีศึกษาประเภทกลับชาติมาเกิด 4 เล่มระหว่างปี 1975-1983) และ European Cases of the Reincarnation Type (กรณีศึกษายุโรปประเภทกลับชาติมาเกิด, 2003) งานใหญ่ที่สุดของเขาเป็นชุดหนังสือสองเล่มมี 2,268 หน้าปี 1997 คือ Reincarnation and Biology: A Contribution to the Etiology of Birthmarks and Birth Defects (การกลับชาติมาเกิดกับชีววิทยา - ผลงานในเรื่องสมุฏฐานของตำหนิผิวและความพิการแต่กำเนิด) ซึ่งรายงานกรณี 200 รายที่ตำหนิผิวและความพิการดูคล้ายแผลของคนตายผู้ที่เด็กสามารถระลึกถึงชีวิตได้ เขาเขียนหนังสือเรื่องเดียวกันที่สั้นกว่า (1997) สำหรับผู้อ่านทั่วไปคือ Where Reincarnation and Biology Intersect (จุดที่การกลับชาติมาเกิดบรรจบกับชีววิทยา)[8]

งานของเขาได้รับการตอบรับอย่างหลายหลาก ในบทความประกาศมรณกรรมของสตีเวนสันในหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์ นักข่าวได้เขียนว่า ผู้สนับสนุนมองเขาว่าเป็นอัจฉริยะที่คนเข้าใจผิด, นักวิทยาศาสตร์โดยมากมองข้ามงานวิจัยของเขา และผู้กล่าวร้ายมองเขาว่าจริงใจแต่ถูกหลอกง่าย[9] ชีวิตและผลงานของเขากลายเป็นประเด็นของหนังสือเชิงสนับสนุน 3 งาน คือ Old Souls: The Scientific Search for Proof of Past Lives (1999) โดยนักข่าวของเดอะวอชิงตันโพสต์ ทอม ชโรเดอร์, Life Before Life (2005) ของจิตแพทย์และผู้ร่วมงานที่มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียคือจิม ทักเกอร์และ Science, the Self, and Survival after Death (2012) โดยผู้ร่วมงานเอมิลี วิลเลียมส์ เคลลี ส่วนผู้ไม่เห็นด้วยโดยเฉพาะนักปรัชญาชาวอินเดียซี.ที.เค. ชารี (C. T. K. Chari, 1909-1993) และชาวออสเตรีย-อเมริกันพอล เอ็ดวาร์ดส (1923-2004) ได้ยกปัญหาหลายอย่างรวมทั้งข้ออ้างว่าเด็กหรือพ่อแม่ที่สตีเวนสันสัมภาษณ์หลอกเขา ว่าเขาถามคำถามนำเด็ก ว่าเขามักทำงานร่วมกับคนแปลซึ่งเชื่อสิ่งที่ผู้รับสัมภาษณ์กล่าว และว่าข้อสรุปของเขามีความเอนเอียงเพื่อยืนยัน (confirmation bias) เพราะกรณีที่ไม่สนับสนุนสมมติฐานของเขาไม่ได้นับว่า เป็นหลักฐานค้าน[10]

พื้นเพ แก้

ชีวิตส่วนตัวและการศึกษา แก้

สตีเวนสันเกิดในกรุงมอนทรีออลแล้วโตขึ้นในเมืองออตตาวากับพี่น้องอีกสองคน[9] บิดาเขาคือ จอห์น เป็นทนายชาวสก็อตที่ทำงานเป็นผู้สื่อข่าวในแคนาดาสำหรับทั้งหนังสือพิมพ์อังกฤษเดอะไทมส์ และหนังสือพิมพ์อเมริกันเดอะนิวยอร์กไทมส์[11] มารดาของเขาคือ รุท สนใจในเรื่องเทวญาณและมีหนังสือจำนวนมากในประเด็นนี้ ซึ่งสตีเวนสันเองยกว่า ทำให้สนใจเรื่องเหนือธรรมชาติตั้งแต่เด็ก ๆ เมื่อเป็นเด็ก เขามักนอนป่วยเพราะหลอดลมอักเสบ ซึ่งสืบไปถึงวัยผู้ใหญ่ จึงทำให้เขารักอ่านหนังสือตลอดชีวิต[12] ตามผู้ร่วมงานที่มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียคือเคลลี เขาเก็บรายการหนังสือที่ได้อ่านรวมเป็น 3,535 เล่มระหว่างปี 1935-2003[1] เขาศึกษาแพทยศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูส์ในประเทศสกอตแลนด์ระหว่างปี 1937-1939 แต่ต้องศึกษาจนจบในแคนาดาเพราะสงครามโลกครั้งที่สอง[13] เขาได้ปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต (B.S.c.) จากมหาวิทยาลัยแมคกิลล์ในปี 1942 และแพทยศาสตรบัณฑิตในปี 1943 และแต่งงานกับออกทาเวีย เรย์โนลด์สตั้งแต่ปี 1947 จนถึงเธอเสียชีวิตในปี 1983[1] ในปี 1985 เขาแต่งงานใหม่กับ ดร. มาร์กาเรต เพอร์ตซอฟฟ์ (1926-2009) ผู้เป็นศาสตราจารย์ทางประวัติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยหญิงแห่งหนึ่ง (Randolph-Macon Woman's College) ในรัฐเวอร์จิเนีย เธอไม่ได้เห็นร่วมกับเขาในเรื่องเหนือธรรมชาติ แต่อดทนแนวคิดของเขาในรูปแบบที่สตีเวนสันเรียกว่า "ความเงียบอย่างมีเมตตา"[14]

อาชีพต้น  แก้

หลังจากจบการศึกษา สตีเวนสันทำงานวิจัยในสาขาชีวเคมี เขาเป็น "แพทย์ประจำบ้าน" (residency) ที่ รพ. รอยัลวิกตอเรียในกรุงมอนทรีออล (1944-1945) แต่เพราะปัญหาปอดอย่างต่อเนื่อง อาจารย์ที่มหาวิทยาลัยแมคกิลล์จึงแนะนำให้ย้ายไปอยู่ที่รัฐแอริโซนาเพื่อสุขภาพ[12] เขาจึงไปเป็นแพทย์ประจำบ้านที่ รพ. เซนต์โจเซฟในเมืองฟีนิกซ์ (รัฐแอริโซนา) ระหว่างปี 1945-1946 ต่อจากนั้น เขาก็ได้ตำแหน่งแพทย์ประจำบ้านต่อยอด (fellowship) ทางอายุรศาสตร์ที่มูลนิธิแพทย์แห่งหนึ่ง (Alton Ochsner Medical Foundation) ในเมืองนิวออร์ลีนส์ รัฐลุยเซียนา ต่อจากนั้น ได้ตำแหน่ง Denis Fellow in Biochemistry ที่มหาวิทยาลัยทูเลนสาขาแพทยศาสตร์ (1946-1947) แล้วจากนั้นตำแหน่ง Commonwealth Fund Fellow in Medicine ที่มหาวิทยาลัยคอร์เนลสาขาแพทยศาสตร์และ รพ. นิวยอร์ก (1947-1949)[1] เขาเปลี่ยนสัญชาติเป็นคนอเมริกันในปี 1949[15]

ผู้ร่วมงานคือเคลลีเขียนว่า สตีเวนสันรู้สึกไม่ชอบใจในคตินิยมลดทอน (reductionism) ที่ได้ประสบในสาขาชีวเคมี จึงต้องการศึกษาบุคคลโดยรวม[1] แล้วกลายมาสนใจเวชศาสตร์กายเหตุจิต (psychosomatic medicine) จิตเวช และจิตวิเคราะห์ โดยในปลายทศวรรษ 1940 เขาได้ทำงานที่ รพ. นิวยอร์กโดยสำรวจโรคกายเหตุจิตและผลของความเครียดโดยเฉพาะว่า ทำไมบางคนตอบสนองเป็นโรคหืด และบางคนเป็นความดันโลหิตสูง[16]

เขาสอนนักศึกษาแพทย์ที่มหาวิทยาลัยลุยเซียนาสเตตระหว่างปี 1949-1957 เริ่มจากเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ แล้วก็ศาสตราจารย์ทางจิตเวช ในคริสต์ทศวรรษ 1950 เขาได้พบนักเขียนชาวอังกฤษอัลดัส ฮักซลีย์ (1894-1963) ผู้สนับสนุนให้ใช้สารก่ออาการโรคจิต (psychedelic drug) จึงได้ศึกษาผลของแอลเอสดีและ mescaline โดยเป็นนักวิชาการคนแรก ๆ ที่ได้ทำเช่นนี้ เขาเขียนว่าได้ลองแอลเอสดีเองจนได้ "ความสงบเงียบอย่างสมบูรณ์" ถึง 3 วัน ว่าเขารู้สึกในตอนนั้นว่า "จะไม่โกรธต่อไปอีก" แต่พบว่า "นั่นไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้น แต่ความจำเกี่ยวกับเรื่องนั้นคงยืนว่าเป็นอะไรที่ควรมุ่งหวัง"[1]

เริ่มจากปี 1951 เขาได้ศึกษาจิตวิเคราะห์ที่สถาบันจิตวิเคราะห์นิวออร์ลีนส์และสถานบันจิตวิเคราะห์วอชิงตัน โดยได้ปริญญาจากสถาบันหลังในปี 1958 ปีหนึ่งหลังจากได้ตำแหน่งเป็นหัวหน้าสาขาจิตเวชที่มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย[1] เขาท้วงหลักความเชื่อในจิตเวชและจิตวิเคราะห์ในสมัยนั้นว่า บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลงในช่วงวัยเด็กได้ง่ายกว่า ผลงานตีพิมพ์ของเขาคือ Is the human personality more plastic in infancy and childhood? (จริงหรือที่บุคลิกภาพมนุษย์เปลี่ยนแปลงได้ง่ายกว่าในวัยทารกและวัยเด็ก) ตีพิมพ์ในวารสารจิตเวชอเมริกัน (ปี 1957)[17] ไม่ได้การยอมรับจากผู้เชี่ยวชาญเยี่ยงกัน เขาเขียนว่า การตอบสนองเช่นนั้นช่วยเตรียมตัวให้เขายอมรับการถูกปฏิเสธที่เขาประสบในผลงานเรื่องเหนือธรรมชาติ[12]

งานวิจัยเรื่องการกลับชาติมาเกิด แก้

ความสนใจเบื้องต้น แก้

สตีเวนสันได้ระบุความสนใจตลอดอาชีพของเขาว่า ทำไมคนหนึ่งจึงเกิดโรคอย่างหนึ่ง แต่อีกคนหนึ่งกลับได้โรคต่างกัน[16] เขาได้กลายมาเชื่อว่า ทั้งสิ่งแวดล้อมและกรรมพันธุ์ไม่สามารถอธิบายความกลัว ความเจ็บป่วย และความสามารถพิเศษบางอย่าง และว่า การถ่ายโอนบุคลิกภาพหรือความจำบางประการอาจให้คำอธิบายที่สามได้ แต่ก็ยอมรับว่า ไม่มีหลักฐานทางกระบวนการฟิสิกส์ที่บุคลิกภาพสามารถรอดการเสียชีวิตแล้วถ่ายโอนไปยังอีกร่างหนึ่ง และเขาก็ระมัดระวังไม่ทุ่มตัวอย่างบริบูรณ์ไปที่จุดยืนว่า การกลับชาติมาเกิดใหม่มีจริง [18] เขาเพียงแต่ให้เหตุผลว่า ตามความคิดของเขา กรณีงานศึกษาของเขาไม่สามารถอธิบายได้ด้วยสิ่งแวดล้อมหรือพันธุกรรม และว่า "การกลับชาติมาเกิดใหม่เป็นคำอธิบายที่ดีสุดสำหรับกรณีที่ชัดเจนกว่าที่เราตรวจสอบ แม้จะไม่ใช่คำอธิบายเดียว"[19] จุดยืนของเขาไม่เกี่ยวกับศาสนา แต่เป็นสิ่งที่ศาสตราจารย์กิตติคุณทางปรัชญาที่มหาวิทยาลัยจอร์เจียสเตตคือรอเบิร์ต อัลมีเดอร์ เรียกว่า สมมติฐานการกลับชาติมาเกิดแบบน้อยสุด (minimalistic reincarnation hypothesis) อัลมีเดอร์ระบุสมมติฐานนี้ว่า

มีอะไรที่เป็นแก่นของบุคลิกภาพมนุษย์บางอย่าง ซึ่งเราไม่สามารถวิเคราะห์เป็นเพียงแต่เป็นสภาพสมอง หรือลักษณะของสภาพสมอง อนึ่ง หลังจากการตายทางชีวภาพ ลักษณะเป็นแก่นที่ลดทอนไม่ได้นี้บางครั้งคงยืนต่อไปชั่วระยะหนึ่งโดยกระบวนการบางอย่าง ในที่บางที่ และเพราะเหตุผลใดเหตุผลหนึ่ง มีอย่างเป็นอิสระจากสมองและร่างกายของบุคคลเดิม นอกจากนั้น หลังจากช่วงระยะหนึ่ง ลักษณะเป็นแก่นของบุคลิกภาพมนุษย์ที่ลดทอนไม่ได้นี้บางอย่าง เพราะเหตุผลอย่างใดอย่างหนึ่ง และโดยกลไกอย่างหนึ่ง ได้มาอยู่ในร่างกายมนุษย์อื่น ๆ ไม่ว่าจะหลังจากช่วงตั้งครรภ์ระยะหนึ่ง หรือเมื่อเกิด หรือหลังจากเกิดไม่นาน[B]

ในปี 1958 และ 1959 สตีเวนสันได้เขียนบทความหลายบทให้กับนิตยสาร Harper's เกี่ยวกับปรจิตวิทยา (การศึกษาปรากฏการณ์ทางจิตที่อธิบายไม่ได้) รวมทั้งโรคกายเหตุใจ และการรับรู้นอกเหนือประสาทสัมผัส (extrasensory perception หรือ ESP) และในปี 1958 เขาได้ส่งประกวดบทความที่ชนะรางวัลของ American Society for Psychical Research[C] ซึ่งให้เป็นอนุสรณ์แด่นักจิตวิทยาวิลเลียม เจมส์ (1842-1910) โดยได้รางวัลเรียงความดีสุดในเรื่อง "ปรากฏการณ์ทางจิตเหนือธรรมชาติและความสัมพันธ์กับปัญหาเรื่องการดำรงอยู่ของบุคลิกภาพมนุษย์หลังจากร่างกายตาย" เรียงความของสตีเวนสันคือ The Evidence for Survival from Claimed Memories of Former Incarnations (หลักฐานสนับสนุนการอยู่รอดของความจำจากชาติที่แล้วดังอ้าง) ในปี 1960 ได้ทบทวนกรณีบุคคลที่ตีพิมพ์ 44 ราย โดยมากเป็นเด็ก ผู้อ้างว่าจำชาติก่อน ๆ ได้ ซึ่งได้ความสนใจจากนักสื่อวิญญาณและนักปรจิตวิทยาไอลีน เจ. การ์เรตต์ (1893-1970) ผู้จัดตั้งมูลนิธิปรจิตวิทยา (Parapsychology Foundation) แล้วได้ให้ทุนแก่สตีเวนสันเพื่อเดินทางไปยังอินเดียและสัมภาษณ์เด็กคนหนึ่งที่อ้างว่าจำชาติก่อน ๆ ได้ ตามผู้ดำเนินรอยตามสตีเวนสันคือแพทย์ทางกุมารจิตเวชจิม ทักเกอร์ สตีเวนสันพบกรณีอื่น ๆ อีก 25 รายภายในระยะ 4 สัปดาห์ในอินเดีย จึงสามารถพิมพ์หนังสือเล่มแรกเกี่ยวกับประเด็นนี้ในปี 1966 คือ กรณีศึกษา 20 รายที่แสดงนัยว่ากลับชาติมาเกิด[20]

ต่อมาเชสเตอร์ คาร์ลสัน (1906-1968) นักประดิษฐ์การถ่ายสำเนาและผู้ร่วมจัดตั้งบริษัทซีร็อกซ์ได้ช่วยเหลือในด้านเงินทุนอีก ทักเกอร์เขียนว่า นี่ทำให้สตีเวนสันสามารถวางตำแหน่งหัวหน้าสาขาจิตเวชแล้วจัดตั้งหน่วยต่างหากในสาขาคือแผนกศึกษาบุคลิกภาพ แล้วภายหลังจึงเปลี่ยนชื่อเป็นแผนกการศึกษาการรับรู้ (Division of Perceptual Studies)[21] เมื่อคาร์ลสันเสียชีวิตในปี 1968 เขาได้มอบทุนหนึ่งล้านเหรียญสหรัฐ (เท่ากับเงินประมาณ 7.5 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2020 คือประมาณ 236 ล้านบาท) ทิ้งไว้ให้กับมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียเพื่อต่องานของสตีเวนสัน มรดกนี้สร้างความโต้แย้งภายในสถาบันเพราะธรรมชาติของงานวิจัย แต่สถาบันก็ได้รับเงินไว้ และสตีเวนสันจึงได้ตำแหน่งศาสตราจารย์จิตเวชคาร์ลสัน (Carlson Professor of Psychiatry) เป็นคนแรก[22]

กรณีศึกษา แก้

อย่างคร่าว  แก้

มรดกที่ว่านี้ทำให้สตีเวนสันสามารถเดินทางไปในที่ต่าง ๆ ได้ บางครั้งถึง 55,000 ไมล์ (88,510 ก.ม.) ต่อปี เก็บข้อมูลกรณีศึกษาถึง 3,000 รายเป็นการสัมภาษณ์กับเด็ก ๆ ตั้งต้นแต่แอฟริกาไปตลอดถึงรัฐอะแลสกา[1] ตามนักข่าวของเดอะวอชิงตันโพสต์ ทอม ชโรเดอร์ "เมื่อสัมภาษณ์พยานและทบทวนดูเอกสาร ดร. สตีเวนสันได้พยายามหาคำอธิบายคำให้การแบบอื่น ๆ เช่นว่าเด็กได้ข้อมูลโดยวิธีปกติบางอย่าง ว่าพยานฉ้อฉลหรือหลงผิด ว่าความสัมพันธ์เกิดโดยบังเอิญหรือเข้าใจผิด แต่ในกรณีจำนวนมาก ดร. สตีเวนสันก็ได้สรุปว่า คำอธิบายธรรมดาไม่พอ"[23]

ในบางกรณี เด็กอาจมีตำหนิวผิวหรือความพิการที่เข้ากับลักษณะบางประการทางกายของบุคคลในชาติก่อนที่เด็กดูเหมือนจะจำได้ ในหนังสือ การกลับชาติมาเกิดกับชีววิทยา - ผลงานในเรื่องสมุฏฐานของตำหนิผิวและความพิการแต่กำเนิด (1997) สตีเวนสันตรวจสอบตำหนิวผิวหรือความพิการของเด็ก 200 รายที่เด็กอ้างว่าจำชาติก่อนได้ รวมทั้งเด็ก ๆ ที่มีนิ้วผิดปกติหรือไม่มี ผู้กล่าวว่าจำชีวิตของคนที่เสียนิ้วไปได้ เด็กชายคนหนึ่งที่มีตำหนิผิวคล้ายกับแผลทางเข้าและทางออกของผู้ที่เด็กกล่าวว่า จำชีวิตของบุคคลที่ถูกยิงได้ และเด็กคนหนึ่งที่มีแผลเป็นรอบ ศีรษะกว้าง 3 ซม.ผู้กล่าวว่า เธอจำชีวิตของชายที่ได้ผ่าตัดที่กะโหลกศีรษะได้ ในกรณีหลายรายตามความเห็นของสตีเวนสัน การให้การของพยานหรือรายงานการชันสูตรพลิกศพดูเหมือนจะสนับสนุนว่าบุคคลที่ตายไปแล้วจริง ๆ มีการบาดเจ็บดังว่า[20] เช่น ในกรณีของเด็กชายที่จำชีวิตของคนที่ถูกยิงได้ พี่น้องหญิงของคนตายบอกสตีเวนสันว่า พี่น้องชายของเธอยิงตัวเองที่คอ และเด็กได้โชว์สตีเวนสันตำหนิวผิวที่คอ สตีเวนสันแนะว่า เขาอาจมีตำหนิวผิวที่ยอดศีรษะเช่นกันโดยเป็นสัญลักษณ์ของแผลทางออก แล้วก็พบตำหนิผิวใต้ผมของเด็กจริง [24]

การตอบสนอง แก้

ข้อวิจารณ์ แก้

วารสารแพทย์ JAMA เรียกบทความกรณีศึกษาประเภทกลับชาติมาเกิด (1975) ของสตีเวนสันว่าเป็นการรวบรวมกรณีศึกษาที่ "อุตสาหะและไม่ได้ใส่อารมณ์"[D] ที่ "ยากจะอธิบายด้วยข้อสมมุติอื่น ๆ นอกเหนือจากการกลับชาติมาเกิด"[25]วารสารโรคประสาทและจิต (Journal of Nervous and Mental Disease) อุทิศวารสารฉบับเดือนกันยายน 1977 โดยมากให้แก่งานวิจัยของสตีเวนสัน[26] ในวารสารฉบับนั้น จิตแพทย์ชาวอเมริกันแฮโรลด์ ลีฟ เรียกสตีเวนสันว่าเป็นผู้ตรวจสอบที่มีระเบียบและรอบคอบแล้วเพิ่มว่า "เขาไม่ก็กำลังทำความผิดพลาดอย่างมโหฬาร หรือไม่เขาก็จะเป็นที่รู้จัก (โดยผมก็กล่าวกับเขาเองเช่นกัน) ว่าเป็น 'กาลิเลโอของคริสต์ศตวรรษที่ 20'"[27] วารสารฉบับนี้ปรากฏว่าเป็นที่นิยม บรรณาธิการของวารสารได้กล่าวว่า เขาได้รับคำขอให้พิมพ์ซ้ำถึง 300-400 ครั้ง[25]

แม้จะได้ความสนใจเช่นนี้ในเบื้องต้น นักวิทยาศาสตร์โดยมากก็ไม่สนใจงานของเขา ตามบทความประกาศมรณกรรมของเขาในหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์ ผู้กล่าวร้ายเขามองเขาว่า "จริงใจ ดื้อรั้น แต่โดยหลักแล้วก็ถูกชักนำไปในทางที่ผิด หลงผิดไปเพราะถูกหลอกได้ง่าย เพราะการคิดตามความปรารถนา และเพราะความโน้มเอียงในการมองเห็นว่าเป็นวิทยาศาสตร์ในขณะที่คนอื่นมองเป็นไสยศาสตร์"[9] นักวิจารณ์เสนอว่า เด็กหรือพ่อแม่ของเด็กได้หลอกเขา ว่าเขาพร้อมเกินไปที่จะเชื่อ และว่าเขาถามด้วยคำถามชักนำ อนึ่ง นักวิจารณ์กล่าวว่า ผลที่ได้มีความเอนเอียงเพื่อยืนยัน เพราะกรณีที่ไม่สนับสนุนไม่ได้นับว่า เป็นหลักฐานค้าน[10] นักปรัชญาในเรื่องศาสนาผู้หนึ่ง (Leonard Angel) ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์ว่า สตีเวนสันไม่ได้ทำตามมาตรฐานที่เหมาะสม "แต่คุณจะต้องตรวจดูอย่างระมัดระวังเพื่อให้เห็น ซึ่งเป็นเหตุผลที่เขาโน้มน้าวบุคคลเป็นจำนวนมากได้"[9]

นักวิมตินิยมได้เขียนว่า หลักฐานของสตีเวนสันเป็นหลักฐานโดยเรื่องเล่า และถ้าใช้หลักมีดโกนอ็อกคัม ก็จะมีข้ออธิบายธรรมดา ๆ สำหรับกรณีเหล่านี้โดยไม่ต้องอ้างเรื่องเหนือธรรมชาติ[28] นักเขียนวิทยาศาสตร์ผู้หนึ่ง (Terence Hines) ได้เขียนว่า

ปัญหาหลักในงานของสตีเวนสัน คือ วิธีที่เขาใช้ตรวจสอบกรณีที่ระบุว่ากลับชาติมาเกิดไม่พอกันเหตุผลธรรมดา ๆ ออกว่า เป็นการเล่านิทานอย่างมีจินตนาการในส่วนของเด็ก ๆ ผู้อ้างว่าเป็นคนตายผู้กลับชาติมาเกิด ในกรณีที่ดูเหมือนจะน่าทึ่งที่สุดซึ่งสตีเวนสัน (1975, 1977) ได้รายงาน เด็กผู้บอกว่ากลับชาติมาเกิดรู้จักเพื่อนและญาติของคนตาย แต่ความรู้ของเด็กเกี่ยวกับบุคคลเหล่านี้ก็ไม่ใช่หลักฐานที่สรุปได้ว่าเด็กกลับชาติมาเกิด[29]

ศาสตราจารย์ทางจิตวิทยาผู้หนึ่ง (Robert A. Baker) เขียนว่า ประสบการณ์ที่ระบุว่าเป็นของชาติก่อนหลายกรณีที่สตีเวนสันและนักปรจิตวิทยาอื่น ๆ ได้ตรวจสอบสามารถอธิบายเป็นปัจจัยทางจิตวิทยาได้ คือ เขายกว่า การระลึกถึงอดีตชาติเป็นความผสมผสานกันระหว่าง cryptomnesia[E] กับการกุเหตุความจำเสื่อม (confabulation)[31]

นักเขียนชาวอังกฤษผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่ง (Ian Wilson) ได้กล่าวว่า กรณีศึกษาจำนวนมากของสตีเวนสันเกี่ยวกับเด็กยากจนที่ระลึกถึงชีวิตที่ร่ำรวยหรืออยู่ในชั้นวรรณะที่สูงกว่า เขาคาดว่า กรณีเช่นนี้อาจเป็นกลเม็ดหาเงินจากครอบครัวของคนตายที่เด็กระบุว่ากลับชาติมาเกิด[32]

นักปรัชญาซี.ที.เค. ชารีแห่งมหาวิทยาลัยมัทราสคริสเตียนคอลเลจแห่งเมืองเจนไน ประเทศอินเดีย ผู้เชี่ยวชาญทางปรจิตวิทยา ได้เขียนว่า สตีเวนสันซื่อเกินไป และกรณีศึกษาของเขามีปัญหาเพราะเขาไร้ความรู้ทางพื้นเมือง ชารีเขียนว่า กรณีงานศึกษาของเขาหลายรายมาจากสังคมต่าง ๆ เช่นอินเดีย ที่คนเชื่อเรื่องการกลับชาติมาเกิด และเรื่องเหล่านี้จึงเป็นเพียงสิ่งที่เกิดเนื่องกับวัฒนธรรม (cultural artifact) เขาระบุว่า สำหรับเด็ก ๆ ในประเทศเอเชียหลายประเทศ การระลึกถึงชาติก่อน ๆ เท่ากับการมีเพื่อนจินตนาการ (imaginary friend)[F][34] นักปรัชญาอีกท่าน (Keith Augustine[G]) ก็ให้เหตุผลเช่นกัน[36]สตีเวนสันโต้ว่า เป็นสังคมเหล่านั้นเท่านั้นที่ฟังเรื่องราวเกี่ยวกับชาติที่แล้วของเด็ก ซึ่งถ้าเป็นคนยุโรปหรือสหรัฐ ผู้ใหญ่ปกติก็จะไม่สนใจและไม่ตรวจสอบโดยประการทั้งปวง[37] เพื่อแก้ปัญหาทางวัฒนธรรมเช่นนี้ เขาได้เขียนบทความกรณีศึกษายุโรปประเภทกลับชาติมาเกิด (2003) ที่เขาตรวจสอบ 40 กรณีในยุโรป[38]

นักปรัชญาพอล เอ็ดวาร์ดส ซึ่งเป็นหัวหน้าบรรณาธิการของสารานุกรมปรัชญา (Encyclopedia of Philosophy) ของสำนักพิมพ์แม็กมิลแลน ได้กลายมาเป็นผู้วิจารณ์สตีเวสันคนหลัก[39] เริ่มตั้งแต่ปี 1986 เขาได้อุทิศบทความหลายบทแก่งานของสตีเวนสัน แล้วได้กล่าวถึงสตีเวนสันในหนังสือปี 1996 คือ Reincarnation: A Critical Examination (การกลับชาติมาเกิด - การตรวจสอบเชิงวิเคราะห์)[40] เขาระบุว่า มุมมองของสตีเวนสันเป็น "เรื่องไร้สาระน่าหัวเราะ" และเมื่อตรวจสอบอย่างละเอียด กรณีศึกษาของเขาก็จะมีข้อบกพร่องใหญ่ และ "ไม่เริ่มแม้แต่เพิ่มน้ำหนักถ่วงอย่างสำคัญเพื่อรับกับข้อสันนิษฐานเบื้องต้นซึ่งต่อต้านการกลับชาติมาเกิด"[41] เขาเขียนว่า สตีเวนสัน "ชัดเจนว่าอยู่ในโลกของความเพ้อฝัน" (cloud-cuckoo-land)[42]

แชมป์ แรนซัมซึ่งสตีเวนสันได้จ้างเป็นผู้ช่วยในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970 ได้เขียนรายงานที่ไม่ได้พิมพ์เกี่ยวกับงานของสตีเวนสัน ซึ่งเอ็ดวาร์ดสได้อ้างในหนังสือ Immortality (1992) และ Reincarnation (1996) เอ็ดวาร์ดสเขียนว่า ตามแรนซัม สตีเวนสันถามเด็กด้วยคำถามนำ เติมเรื่องเล่าให้เต็ม ไม่สัมภาษณ์โดยใช้เวลาพอ และทิ้งระยะมากเกินไประหว่างจุดที่เด็กอ้างว่าจำชาติก่อนได้กับการสัมภาษณ์ เพราะมักเป็นปี ๆ หลังจากอ้างว่าระลึกชาติได้ที่สตีเวนสันจะได้ยินเรื่อง ในกรณี 1,111 รายที่แรนซัมได้ตรวจดู มีเพียง 11 กรณีเท่านั้นที่ครอบครัวคนตายไม่ได้ติดต่อกับเด็กก่อนจะสัมภาษณ์ ตามแรนซัม กรณี 7 รายจาก 11 กรณีที่ว่ามีข้อบกพร่องอย่างยิ่ง เขายังเขียนด้วยว่า การแสดงกรณีของสตีเวนสันมีปัญหา เพราะเขารายงานข้อสรุปของพยาน แทนที่จะรายงานข้อมูลที่เป็นมูลฐานของข้อสรุป ปัญหาเกี่ยวกับกรณีจะรายงานในอีกส่วนหนึ่งของหนังสือ แทนที่จะกล่าวเลยเมื่อพูดถึงกรณีเหล่านั้น แรนซัมได้สรุปว่า ทั้งหมดนี่เป็นเพียงหลักฐานโดยเรื่องเล่าแบบอ่อนสุด [43]

ในหนังสือ Death and Personal Survival (1992) อัลมีเดอร์ระบุว่า แรนซัมผิดพลาดเมื่อกล่าวว่ามีกรณีเพียง 11 รายที่ไร้การติดต่อกันระหว่างครอบครัวเช่นที่ว่า เพราะมี 23 ราย[44]

เอ็ดวาร์ดสอ้างกรณีของเด็กชายคอร์ลิสส์ ช็อตกิน จูเนียร์ ในเมืองแองกูน รัฐอะแลสกา ที่สตีเวนสันบันทึกไว้ในหนังสือกรณีศึกษา 20 รายที่แสดงนัยว่ากลับชาติมาเกิด (1966) ว่าเป็นตัวอย่างที่อาศัยคำพูดของหลานสาวของวิกเตอร์ วินเซนต์ผู้เป็นชาวประมงเป็นหลักฐานเพียงอย่างเดียว[45] โดนช็อตกินดูเหมือนจะจำชีวิตของวินเซนต์ได้ เอ็ดวาร์ดสเขียนว่า ปัญหาต่าง ๆ ในกรณีนี้รวมทั้งครอบครัวมีความเชื่อทางศาสนาว่ามีการกลับชาติมาเกิด ช็อตกินมีตำหนิผิวที่กล่าวว่าคล้ายกับแผลเป็นของวินเซนต์ แต่สตีเวนสันไม่เคยเห็นแผลเป็นนี้เอง และรายละเอียดสำคัญทั้งหมดได้มาจากหลานสาว เอ็ดวาร์ดสกล่าวว่า สตีเวนสันไม่ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเธอ ยกเว้นว่ามีคนบอกเขาว่า เธอมักจะต่อหรือสร้างเรื่อง เอ็ดวาร์ดสกล่าวว่า ปัญหาคล้าย ๆ กันสามารถพบได้ในกรณีศึกษาของสตีเวนสันทั้งหมด[46] เมื่อกล่าวแก้ให้สตีเวนสัน อัลมีเดอร์เขียนในปี 1997 ว่า กรณีช็อตกินเป็นรายที่มีหลักฐานอ่อนกว่า[47]

เอ็ดวาร์ดสกล่าวหาว่า สตีเวนสันเรียกตนเองว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์แต่ไม่ประพฤติเยี่ยงนักวิทยาศาสตร์ ตามเอ็ดวาร์ดส เขาไม่ตอบสนองต่อหรือแม้แต่กล่าวถึงข้อโต้แย้งที่สำคัญ บรรณานุกรมขนาดใหญ่ในหนังสือ Children Who Remember Previous Lives (1987) ของสตีเวนสันไม่ได้อ้างอิงแม้แต่เอกสารฉบับเดียวหรือหนังสือเล่มเดียวของผู้มีความเห็นตรงกันข้าม[48]

สตีเวนสันเขียนคำนำของหนังสือ Second Time Round (1975) ที่ชาวอังกฤษคนหนึ่งคือเอ็ดวาร์ด ไรออลได้พูดถึงสิ่งที่เขาเชื่อว่าจำได้จากอดีตชาติที่เคยเกิดเป็นจอห์น เฟล็ตเชอร์ ผู้เกิดในเมืองทอนทันปี 1645 ประเทศอังกฤษ แล้วเสียชีวิตอีก 40 ปีต่อมาใกล้ ๆ บ้านของเขาในหมู่บ้านเวสทันซอยแลนด์ มณฑลซัมเมอร์เซต[49][50] สตีเวนสันได้ตรวจสอบกรณีนี้แล้วพบว่า เรื่องทางประวัติศาสตร์จากหนังสือของไรออลทั้งหมดแม่นยำ จึงเขียนไว้ว่า "ผมคิดว่า เป็นไปได้มากว่าเขามีความจำจากอดีตชาติของจริง แล้วจริง ๆ เขาคือ จอห์น เฟล็ตเชอร์ ผู้กลับชาติมาเกิดอีกตามที่เขาเชื่อ"[50] แต่ในปี 1976 แพทย์นักเขียนจอห์น เทย์เลอร์พบว่า โบสถ์เวสทันซอยแลนด์ระหว่างปี 1645-1685 ไม่มีบันทึกการเกิด การแต่งงาน หรือการเสียชีวิตของบุคคลชื่อว่าเฟล็ตเชอร์ เพราะไม่สามารถหาร่องรอยของชื่อนี้ได้ จึงสรุปว่า ไม่มีใครชื่อจอห์น เฟล็ตเชอร์จริง ๆ และความจำดังว่าเป็นเรื่องที่ไรออลได้เพ้อฝันขึ้นเป็นปี [50] สตีเวนสันภายหลังเปลี่ยนความเห็นของเขาในกรณีนี้ ในหนังสือกรณีศึกษายุโรปประเภทกลับชาติมาเกิด เขาเขียนว่า "ผมไม่เชื่อแล้วว่า ความจำของเอ็ดวาร์ด ไรออลตามที่ปรากฏ 'ทั้งหมด' มาจากอดีตชาติ เพราะรายละเอียดบางอย่างผิดอย่างชัดเจน" แต่เขาก็ยังกล่าวว่า ไรออลได้ข้อมูลเกี่ยวกับมณฑลซัมเมอร์เซตช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 ด้วยวิธีเหนือธรรมชาติ[51]

การสนับสนุน แก้

ในหนังสือ Death and Personal Survival เมื่อสนับสนุนสตีเวนสัน อัลมีเดอร์ระบุการฟันธงล่วงหน้าของเอ็ดวาร์ดส คือการมีจิตโดยไร้สมองช่วงระหว่างชีวิตเป็นไปไม่ได้ และความเป็น "วัตถุนิยมหัวรั้น" บังคับให้เขามองงานของสตีเวนสันว่า ต้องเป็นตัวอย่างการฉ้อฉลหรือความคิดหลงผิด ตามอัลมีเดอร์ ในกรณีที่เอ็ดวาร์ดสได้กล่าวถึง จริง ๆ ได้มีการตรวจสอบว่าเป็นการฉ้อฉลหรือไม่[44] ในบทความที่ติพิมพ์ในเว็บไซต์ Scientific American ปี 2013 ที่ทบทวนงานของสตีเวนสันในเชิงบวก ศาสตราจารย์การสื่อสารทางวิทยาศาสตร์ผู้หนึ่งเขียนว่า

ในเบื้องปลายชีวิตอันเป็นตำนานของเธอ นักฟิสิกส์ Doris Kuhlmann-Wilsdorf เจ้าของทฤษฎีใหม่เรื่องฟิสิกส์พื้นผิวซึ่งทำให้เธอได้รางวัลอันทรงเกียรติคือ Heyn Medal จากสมาคมเยอรมันเพื่อวัสดุศาสตร์ ได้คาดว่า งานของสตีเวนสันได้แสดง "ความเป็นไปได้ทางสถิติว่าการกลับชาติมาเกิดมีจริง สูงอย่างท่วมท้น...กระทั่งว่า รวม ๆ กันแล้ว หลักฐานไม่ได้แย่ไปกว่าสาขาวิทยาศาสตร์เกือบทุกสาขาถ้าไม่ทั้งหมด"[52]

จิตวิทยาภาษาศาสตร์ แก้

แม้สตีเวนสันโดยมากจะเล็งกรณีเด็กที่จำอดีตชาติได้ แต่เขาก็ศึกษากรณีสองรายที่ผู้ใหญ่ใต้การสะกดจิตดูเหมือนจะจำอดีตชาติและสามารถใช้ภาษาขั้นพื้นฐานที่ไม่ได้เรียนรู้ในชาตินี้ ซึ่งเขาจัดปรากฏการณ์นี้ว่า เซโนโกลสซี (xenoglossy)[H][53] นักภาษาศาสตร์ซาราห์ โทมาสัน (Sarah Thomason) เมื่อวิจารณ์กรณีเหล่านี้ เขียนว่าสตีเวนสัน "ไม่ชำนาญด้านภาษา" และกรณีเหล่านี้ไม่น่าเชื่อ[54][55] โทมาสันสรุปว่า "หลักฐานทางภาษาศาสตร์อ่อนเกินไปที่จะสนับสนุนข้ออ้างว่ามีเซโนโกลสซี"[56] ส่วนนักภาษาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโทรอนโต วิลเลียม ซามารินเขียนว่า สตีเวนสันเขียนจดหมายโต้ตอบกับนักภาษาศาสตร์โดยเลือกเอาแต่ที่ชอบและไม่สมเป็นมืออาชีพ เช่น ได้เขียน จ.ม. โต้ตอบกับนักภาษาศาสตร์คนหนึ่งเป็นเวลา 6 ปี "โดยไม่เคยสนทนาเรื่องสิ่งที่นักภาษาศาสตร์ต้องทราบ"[57] นักภาษาศาสตร์อีกผู้หนึ่งคือวิลเลียม ฟรอว์ลีย์เขียนว่า "สตีเวนสันไม่ได้พิจารณาหลักฐานทางภาษาศาสตร์ในกรณีเหล่านี้พอให้อ้างเหตุผลเหนือธรรมชาติ"[58]

การเกษียณ การเสียชีวิต และการทดลอง แก้

 
กุมารจิตเแพทย์จิม ทักเกอร์ได้สืบต่องานของสตีเวนสันที่มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย[59]

สตีเวนสันได้ลาจากตำแหน่งผู้อำนวยการแผนกการศึกษาการรับรู้ในปี 2002 แม้จะดำรงตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์จิตเวชด้านวิจัย[21] ศาสตราจารย์บรูซ เกรย์สัน ผู้เป็นบรรณาธิการของ Journal of Near-Death Studies (วารสารงานศึกษาประสบการณ์เกือบตาย) เป็นผู้ได้ตำแหน่งแทน ส่วนรองศาสตราจารย์ทางจิตเวชและวิทยาศาสตร์ประสาทและพฤติกรรม (ในเวลานั้น) คือ จิม ทักเกอร์ ได้สืบต่องานวิจัยในเด็กของสตีเวนสัน ดังที่เขียนไว้ในหนังสือของเขาคือ Life Before Life: A Scientific Investigation of Children's Memories of Previous Lives (ชีวิตก่อนชีวิตนี้ - การตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับความจำเด็กในอดีตชาติ, 2005)[59]

สตีเวนสันเสียชีวิตเพราะปอดบวมในเดือนกุมภาพันธ์ 2007 ที่บ้านของเขาในเมืองชาร์ลอตส์วิลล์ รัฐเวอร์จิเนีย ในพินัยกรรม เขาได้มอบทุนสำหรับตำแหน่งศาสตราจารย์สตีเวนสัน (Stevenson Chair) ในสาขาปรัชญาและประวัติวิทยาศาสตร์รวมทั้งแพทยศาสตร์ให้กับแผนกการศึกษาแพทยศาสตร์ทางสังคมของมหาวิทยาลัยแมคกิลล์ (McGill University Department of Social Studies of Medicine) ผู้ที่ได้ดำรงตำแหน่งนี้ตั้งแต่ตั้งขึ้นได้แก่ ศาสตราจารย์ประวัติศาสตร์ทางสถาปัตยกรรม แอนน์แมรี อะดัมส์

เพื่อเป็นการทดสอบการรอดทางบุคลิกภาพหลังจากเสียชีวิต ในคริสต์ทศวรรษ 1960 สตีเวนสันได้ตั้งรหัสกุญแจรหัสโดยใช้คำลับหรือวลีลับ แล้วเก็บกุญแจไว้ในตู้เก็บเอกสารของแผนกที่มหาวิทยาลัย แล้วบอกว่าเขาจะพยายามส่งรหัสที่ว่านั้นให้กับเพื่อนร่วมงานหลังจากเสียชีวิต เอมิลี วิลเลียมส์ เคลลีให้สัมภาษณ์กับเดอะนิวยอร์กไทมส์ในปี 2007 ว่า "น่าจะเป็นอย่างนี้ว่า ถ้าใครฝันอย่างชัดเจนถึงเขา แล้วดูเหมือนจะมีคำหรือวลีที่ให้อย่างซ้ำ ๆ คือดิฉันไม่รู้ว่ามันจะเป็นเช่นไรอย่างแน่นอน แต่ถ้ามันดูเหมือนจะมีหวังพอ พวกเราจะพยายามไขกุญแจด้วยรหัสที่ให้"[9] นิตยสารออนไลน์สหรัฐเดอร์มอร์นิงนิวส์ รายงานในเดือนตุลาคม 2014 ว่า ยังไขกุญแจที่ว่านี่ไม่ได้[60]

ผลงาน แก้

หนังสือ
  • (1960). Medical History-Taking. Paul B. Hoeber.
  • (1966). Twenty Cases Suggestive of Reincarnation. University of Virginia Press.
  • (1969). The Psychiatric Examination. Little, Brown.
  • (1970). Telepathic Impressions: A Review and Report of 35 New Cases. University Press of Virginia.
  • (1971). The Diagnostic Interview (2nd revised edition of Medical History-Taking). Harper & Row.
  • (1974). Twenty Cases Suggestive of Reincarnation (second revised and enlarged edition). University of Virginia Press.
  • (1974). Xenoglossy: A Review and Report of A Case. University of Virginia Press.
  • (1975). Cases of the Reincarnation Type, Vol. I: Ten Cases in India. University of Virginia Press.
  • (1978). Cases of the Reincarnation Type, Vol. II: Ten Cases in Sri Lanka. University of Virginia Press.
  • (1980). Cases of the Reincarnation Type, Vol. III: Twelve Cases in Lebanon and Turkey. University of Virginia Press.
  • (1983). Cases of the Reincarnation Type, Vol. IV: Twelve Cases in Thailand and Burma. University of Virginia Press.
  • (1984). Unlearned Language: New Studies in Xenoglossy. University of Virginia Press.
  • (1997). Reincarnation and Biology: A Contribution to the Etiology of Birthmarks and Birth Defects. Volume 1: Birthmarks. Volume 2: Birth Defects and Other Anomalies. Praeger Publishers.
  • (1997). Where Reincarnation and Biology Intersect. Praeger Publishers (a short, non-technical version of Reincarnation and Biology).
  • (2000). Children Who Remember Previous Lives: A Question of Reincarnation (revised edition).
  • (2003). European Cases of the Reincarnation Type. McFarland & Company.
  • (2019). Handbook of Psychiatry volume Five[61]
บทความคัดสรร
  • (1949). "Why medicine is not a science", Harper's, April.
  • (1952). "Illness from the inside", Harper's, March.
  • (1952). "Why people change", Harper's, December.
  • (1954). "Psychosomatic medicine, Part I", Harper's, July.
  • (1954). "Psychosomatic medicine, Part II", Harper's, August.
  • (1957). "Tranquilizers and the mind", Harper's, July.
  • (1957). "Schizophrenia", Harper's, August.
  • (1957). "Is the human personality more plastic in infancy and childhood?", American Journal of Psychiatry, 114(2), pp. 152-161.
  • (1958). "Scientists with half-closed minds" Harper's, November.
  • (1959). "A Proposal for Studying Rapport which Increases Extrasensory Perception," Journal of the American Society for Psychical Research, 53, pp. 66-68.
  • (1959). "The Uncomfortable Facts about Extrasensory Perception", Harper's, July.
  • (1960). "The Evidence for Survival from Claimed Memories of Former Incarnations," Journal of the American Society for Psychical Research, 54, pp. 51-71.
  • (1960). "The Evidence for Survival from Claimed Memories of Former Incarnations": Part II. Analysis of the Data and Suggestions for Further Investigations, Journal of the American Society for Psychical Research, 54, pp. 95-117.
  • (1961). "An Example Illustrating the Criteria and Characteristics of Precognitive Dreams," Journal of the American Society for Psychical Research, 55, pp. 98-103.
  • (1964)."The Blue Orchid of Table Mountain," Journal of the Society for Psychical Research, 42, pp.401-409.
  • (1968)."The Combination Lock Test for Survival," Journal of the American Society for Psychical Research, 62, pp.246-254.
  • (1970)."Characteristics of Cases of the Reincarnation Type in Turkey and their Comparison with Cases in Two other Cultures," International Journal of Comparative Sociology, 11, pp.1-17.
  • (1970)."A Communicator Unknown to Medium and Sitters," Journal of the American Society for Psychical Research, 64, pp.53-65.
  • (1970). "Precognition of Disasters," Journal of the American Society for Psychical Research, 64, pp.187-210.
  • (1971)."The Substantiability of Spontaneous cases," Proceedings of the Parapsychological Association, No.5, pp.91-128.
  • (1972)."Are Poltergeists Living or Are They Dead?," Journal of the American Society for Psychical Research, 66, pp.233-252.
  • (1977). Stevenson, IAN (May 1977). "The Explanatory Value of the Idea of Reincarnation". The Journal of Nervous and Mental Disease. 164 (5): 305–326. doi:10.1097/00005053-197705000-00002. PMID 864444.
  • (1983). Stevenson, I. (Dec 1983). "American children who claim to remember previous lives". The Journal of Nervous and Mental Disease. 171 (12): 742–748. doi:10.1097/00005053-198312000-00006. PMID 6644283.
  • (1986). Stevenson, I. (1986). "Characteristics of Cases of the Reincarnation Type among the Igbo of Nigeria". Journal of Asian and African Studies. 21 (3–4): 204–216. doi:10.1177/002190968602100305. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-02-01.
  • (1993). "Birthmarks and Birth Defects Corresponding to Wounds on Deceased Persons" (PDF). Journal of Scientific Exploration. 7 (4): 403–410. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-08-07.
  • with Emily Williams Cook and Bruce Greyson (1998). "Do Any Near-Death Experiences Provide Evidence for the Survival of Human Personality after Relevant Features and Illustrative Case Reports" (PDF). Journal of Scientific Exploration. 12 (3): 377–406. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-04-02.
  • (1999). Stevenson, I. (Apr 1999). "Past lives of twins". Lancet. 353 (9161): 1359–1360. doi:10.1016/S0140-6736(05)74353-1. PMID 10218554.
  • (2000). Stevenson, I. (Apr 2000). "The phenomenon of claimed memories of previous lives: possible interpretations and importance". Medical Hypotheses. 54 (4): 652–659. doi:10.1054/mehy.1999.0920. PMID 10859660.
  • (2000). Stevenson, I. (1985). "The Belief in Reincarnation Among the Igbo of Nigeria". Journal of Asian and African Studies. 20 (1–2): 13–30. doi:10.1177/002190968502000102. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-11-04.
  • (2001). Stevenson, I. (August 2001). "Ropelike birthmarks on children who claim to remember past lives". Psychological Reports. 89 (1): 142–144. doi:10.2466/pr0.2001.89.1.142. PMID 11729534.
  • with Satwant K. Pasricha; Jürgen Keil; and Jim B. Tucker (2005). "Some Bodily Malformations Attributed to Previous Lives" (PDF). Journal of Scientific Exploration. 19 (3): 159–183. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-08.
  • (2005).Foreword and afterword in Mary Rose Barrington and Zofia Weaver.A World in a Grain of Sand: The Clairvoyance of Stefan Ossowiecki.McFarland Press.
  • งานของสตีเวนสันจำนวนมากหาได้ออนไลน์ที่ลิงก์นี้ Link

ดูเพิ่ม แก้

เชิงอรรถ แก้

  1. สมาคมเพื่อการสำรวจทางวิทยาศาสตร์ (Society for Scientific Exploration ตัวย่อ SSE) เป็นกลุ่มที่มุ่งมั่นเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์นอกแบบ (fringe science)[6] ความเห็นขององค์กรว่าอะไร/แค่ไหนเป็นการสำรวจทางวิทยาศาสตร์มักจะไม่ตรงกับนักวิทยาศาสตร์ทั่วไป[7] ผู้ไม่เห็นด้วยอ้างว่า องค์กรอุทิศให้กับไอเดียที่ไม่น่าเชื่อถือ ไกลจากกระบวนการทางวิทยาศาสตร์หลัก[7]
  2. เมื่อโต้ข้อวิจารณ์ของพอล เอ็ดวาร์ดสว่า ไอเดียเกี่ยวกับ "ร่างจิตวิญญาณ" (astral body) ที่มีในระหว่างชีวิตเป็นเรื่องเหลือเชื่อ คือโต้ว่า "แม้เมื่อไม่ถกปัญหาเกี่ยวกับกรณีศึกษา (ของสตีเวนสัน) เราก็ยังไม่สามารถอ้างว่า เรา 'รู้' จิตว่า ไม่อาจมีเมื่อไร้สมอง เราไม่รู้อะไรเช่นนั้น... อนึ่ง ข้อตั้งว่ามีการกลับชาติมาเกิด ไม่ได้แสดงนัยถึงธรรมชาติของ 'ร่างจิตวิญญาณ' ว่าไปที่ใดในระหว่างการเกิด ว่ากลับมาเกิดได้อย่างไร ทำไมถึงกลับมาเกิด กลับมาเกิดบ่อยแค่ไหน ว่ามีบุคคลไหนไหมที่กลับมาเกิด และจุดประสงค์ของทั้งหมดนี่คืออะไร จริง ๆ แล้ว ตามกรณีศึกษาที่เกี่ยวข้อง ไม่ต้องกล่าวถึงคำว่า 'ร่างจิตวิญญาณ' ข้อตั้งเแสดงนัยแต่เพียงว่า มีธาตุอันเป็นแก่นของบุคลิกภาพมนุษย์ที่บางครั้งรอดกาารเน่าเปื่อยของร่างกาย (และดังนั้น จึงไม่สามารถระบุว่าเป็นอันเดียวกันกับร่างกาย) แล้วกลับชาติมาเกิดอีก" ดู
  3. American Society for Psychical Research (ASPR) เป็นองค์กรอุทิศให้กับปรจิตวิทยา (การศึกษาปรากฏการณ์ทางจิตที่อธิบายไม่ได้) ในนครนิวยอร์ก โดยมีทั้งสำนักงานและห้องสมุด
  4. painstaking and unemotional
  5. cryptomnesia เกิดเมื่อความจำที่ได้ลืมไปแล้วหวนกลับมาโดยไม่รู้ว่าเป็นเรื่องที่เคยรู้แล้วลืมไปแล้ว ทำให้เชื่อว่าเป็นความจำใหม่และดั้งเดิม เป็นความเอนเอียงทางความจำที่บุคคลอาจระลึกผิด ๆ ว่าได้สร้างความคิด แนวคิด ทำนองเพลง หรือเรื่องตลกใหม่[30] ไม่ได้ตั้งใจลอกเลียนงานของคนอื่น แต่เป็นการระลึกถึงความจำเหมือนเป็นเรื่องใหม่
  6. เพื่อนจินตนาการ (imaginary friend, pretend friend, invisible friend) เป็นปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาและสังคมที่มิตรสัมพันธ์หรือความสัมพันธ์ส่วนตัวอื่น ๆ เกิดในจินตนาการ ไม่ได้มีจริง ๆ แม้ดูเหมือนว่าจะจริงสำหรับผู้ที่มี แต่เด็ก ๆ ปกติก็เข้าใจว่า เพื่อนจินตนาการไม่ได้มีจริง[33]
  7. Keith Augustine เป็นกรรมการบริหารและหัวหน้าบรรณาธิการของเว็บไซต์อินเทอร์เน็ตอินฟิเด็ลส์ (Internet Infidels) ซึ่งไม่หวังผลกำไรและก่อตั้งขึ้นเพื่อโปรโหมตมุมมองว่าพลังหรือสิ่งเหนือธรรมชาติ/ไสยศาสตร์ไม่มีจริง ๆ คติอย่างหนึ่งขององค์กรก็คือ "เหตุผลหยดหนึ่งในสระแห่งความสับสน" (a drop of reason in a pool of confusion)[35]
  8. เซโนโกลสซี (อังกฤษ: xenoglossy, xenoglossia, xenolalia) เป็นปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติตามความเชื่อที่บุคคลสามารถพูดหรือเขียนภาษาหนึ่ง ๆ ที่ตนไม่อาจรู้ได้โดยวิธีธรรมชาติ

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 1.7 "Ian P. Stevenson, M.D., died February 8, 2007 in Charlottesville, Virginia, at age 88" (PDF). University of Virginia School of Medicine. 2019-03-26. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-03-26.
  2. Tanne (2007), Section, pp. 1-2.
  3. Stevenson, I (2000). "The phenomenon of claimed memories of previous lives: Possible interpretations and importance". Medical Hypotheses. 54 (4): 652–9. doi:10.1054/mehy.1999.0920. PMID 10859660.
  4. Stevenson, I (1977). "The explanatory value of the idea of reincarnation". The Journal of Nervous and Mental Disease. 164 (5): 305–26. doi:10.1097/00005053-197705000-00002. PMID 864444.
  5. "Science on the Fringe". Time magazine. 2005-05-24. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-07-16.
  6. 7.0 7.1 Sheaffer, Robert (September–October 1998). "Uncritical Publicity for Supposed 'Independent UFO Investigation' Demonstrates Media Gullibility". Skeptical Inquirer, 22.5. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-12-18.{{cite web}}: CS1 maint: date format (ลิงก์) CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  7. ดูการอยู่ในคณะจัดตั้ง Society for Scientific Exploration ดู Stevenson (2006), pp. 19
  8. 9.0 9.1 9.2 9.3 9.4 Fox (2007)
  9. 10.0 10.1 Carroll (2009)
  10. 12.0 12.1 12.2 Stevenson (2006), pp. 13–14
  11. Pandarakalam (2007)
  12. Stevenson (2006), pp. 20 "benevolent silences."
  13. Debus (1968), pp. 1609
  14. 16.0 16.1 "Stevenson 1989" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-20. สืบค้นเมื่อ 2012-11-15.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  15. Stevenson (1957), pp. 152–161
    • เรื่องการไม่สามารถแสดงกลไกทางฟิสิกส์ของเขาดู Shroder (2007)
    • เรื่องการระมัดระวังไม่ทุ่มตัวอย่างบริบูรณ์ไปที่จุดยืนหนึ่ง ๆ ดู Almeder (1992), pp. [https://books.google.com/books?id=K8-_Vqq6r-cC&pg=PA58 58-61
  16. Tucker (2005), pp. [https://books.google.com/books?id=JuiGUbZTNTQCpg=PA211 211
  17. 20.0 20.1 สำหรับงานของสตีเวนสันใน Harper's ดู สำหรับงานของฝ่ายตรงข้าม ดู
  18. 21.0 21.1 University of Virginia, Division of Perceptual Studies (1994)
  19. Stevenson, Ian (2006). "Half a Career with the Paranormal" (PDF). Journal of Scientific Exploration. 20 (1): 17–18. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2006-07-21.
  20. Shroder (2007)
  21. Kelly; Kelly (2007). "p. 234, citing Stevenson". Reincarnation and Biology. 1: 728–745.
  22. 25.0 25.1 Edwards 1996, p. 253.
  23. Brody, September 1977.
  24. Lief, September 1977.
  25. Rockley, Richard. (2002). "Book Review: Children who Remember Previous Lives" เก็บถาวร 2009-08-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. SkepticReport. Retrieved 2014-10-11.
  26. Hines 2003, p. 109.
  27. Taylor, F.K. (1965). "Cryptomnesia and plagiarism". British Journal of Psychiatry. 111: 1111–1118.
  28. Baker, Robert (1996). Hidden Memories: Voices and Visions from Within. Prometheus Books.
  29. Wilson, Ian (1981). Mind Out of Time: Reincarnation Investigated. Gollancz.
  30. Taylor, M (1999). Imaginary Companions and the Children Who Create Them. New York: Oxford University Press.
  31. C.T.K. Chari, "Reincarnation Research: Method and Interpretation," cited in Edwards 1996, p. 261.
    • Also see Ian Stevenson (1986), "Reply to C.T.K. Chari," Journal of the Society for Psychical Research, 53, pp. 474–475.
  32. Starobin, Paul (2009-10-07). "Rise of the Godless". National Journal.
  33. Augustine, Keith (1997). "The Case Against Immortality". Skeptic Magazine. 5 (2). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-05-20.
  34. "The Daily Telegraph, February 12, 2007". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-03-31. สืบค้นเมื่อ 2007-02-16..
  35. Cadoret 2005.
  36. สำหรับความว่า เอ็ดวาร์ดสเป็น "นักวิจารณ์ที่น่าเกรงขามที่สุด" ของสตีเวนสัน ดู Bache 2000, p. 35.
  37. Paul Edwards (1986), "The Case Against Reincarnation: Part 1," Free Inquiry, 6, Fall, pp. 24–34.
    • ____________ (1986/7), "The Case Against Reincarnation: Part 2," Free Inquiry, 7, Winter, pp. 38–43.
    • ____________ (1987a), "The Case Against Reincarnation: Part 3," Free Inquiry, 7, Spring, pp. 38–49.
    • ____________ (1987b), "The Case Against Reincarnation: Part 4," Free Inquiry, 7, Summer, pp. 46–53.
    • ____________ (ed.) (1992), "Introduction," Immortality. MacMillan.
    • ____________ (1996), Reincarnation: A Critical Examination. Prometheus Books.
  38. Edwards 1996, pp. 140, 256 (see chapter 16, pp. 253–278).
  39. Edwards 1996, p. 268.
  40. Edwards 1992, pp. 13–14; Edwards 1996, p. 275; McClelland 2010, p. 144.
  41. 44.0 44.1 Almeder 1992, pp. 34ff, 60.
  42. Stevenson 1966, p. 259ff.
  43. Edwards 1996, pp. 136–138; Stevenson 1966, pp. 259–269.
  44. Almeder 1997 เก็บถาวร 2009-12-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, pp. 510, 519.
    • Also see Woodhouse 1996, p. 144: "[The paradigm war over reincarnation] has pitted Robert Almeder, a nationally distinguished philosopher of science, against Paul Edwards, general editor of the Encyclopedia of Philosophy."
  45. Edwards 1992, p. 11.
  46. Ian Stevenson. (1974). Introduction in Edward Ryall. Second Time Round. Neville Spearman. pp. 9–31
  47. 50.0 50.1 50.2 John Taylor. (1980). Science and the Supernatural: An Investigation of Paranormal Phenomena Including Psychic Healing, Clairvoyance, Telepathy, and Precognition by a Distinguished Physicist and Mathematician. Temple Smith. pp. 127-130. ISBN 0-85117-191-5
  48. Ian Stevenson. (2003). European Cases of the Reincarnation Type. McFarland. pp. 230-231. ISBN 978-0-7864-4249-2
  49. Bering, Jesse. "Ian Stevenson's Case for the Afterlife: Are We 'Skeptics' Really Just Cynics?". Scientific American Blog Network (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-03. สืบค้นเมื่อ 2017-03-12.
  50. Matlock, James G. "Ian Stevenson." http://jamesgmatlock.net/resources/researchers/stevenson/ The term was coined in the early 1900s by C. Richet. https://med.virginia.edu/perceptual-studies/wp-content/uploads/sites/267/2015/11/STE7.pdf เก็บถาวร 2019-01-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  51. Sarah Thomason. (1984). Do You Remember Your Previous Life’s Language in Your Present Incarnation?. American Speech 59: 340-350.
  52. Sarah Thomason. (1986-87). Past Tongues Remembered?. Skeptical Inquirer 11: 367-75.
  53. Sarah Thomason. Xenoglossy in Gordon Stein. (1996). The Encyclopedia of the Paranormal. Prometheus Books. ISBN 1-57392-021-5
  54. Samarin, William J (1976). "Xenoglossy: A Review and Report of a Case by Ian Stevenson". Language. 52 (1): 270–274. doi:10.2307/413229. JSTOR 413229.
  55. Frawley, William (1985). "Unlearned Language: New Studies in Xenoglossy by Ian Stevenson". Language. 61 (3): 739. doi:10.2307/414443. JSTOR 414443.
  56. 59.0 59.1 "Division Staff". Division of Perceptual Studies, University of Virginia. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2002-12-23. สืบค้นเมื่อ 2016-09-01.
  57. Fitzgerald, Brendan (2014-10-09). "The Combination Lock Test". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-12.{{cite web}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  58. Nurbakhsh, Javad; Stevenson, Ian; Jahangiri, Hamideh (2019). Handbook of Psychiatry Volume 5. Lap Lambert. ISBN 978-620-0-31642-4.

บรรณานุกรม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

เอียน สตีเวนสัน/การกลับชาติมาเกิด
จิต
เรื่องอื่น