เหมา เจ๋อตง

ผู้นำคอมมิวนิสต์ชาวจีน (ค.ศ. 1893–1976)
(เปลี่ยนทางจาก เหมาเจ๋อตง)

เหมา เจ๋อตง (จีน: 毛泽东; พินอิน: Máo Zédōng, เดิมทับศัพท์เป็น Mao Tse-tung; 26 ธันวาคม พ.ศ. 2436 – 9 กันยายน พ.ศ. 2519) หรือที่ชาวจีนเรียกกันว่า ท่านประธานเหมา (毛主席) เป็นนักการเมือง นักทฤษฎีลัทธิมากซ์ นักยุทธศาสตร์การทหาร กวี และนักปฏิวัติชาวจีนที่กลายเป็นผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน เขาเป็นผู้นำประเทศนับตั้งแต่ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2492 จนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรมในปี พ.ศ. 2519 ทฤษฎี ยุทธศาสตร์การทหาร และนโยบายทางการเมืองของเขาเป็นที่รู้จักกันในนาม “ลัทธิเหมา

เหมา เจ๋อตง
毛泽东
เหมา ใน พ.ศ. 2511
ประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน
ดำรงตำแหน่ง
20 มีนาคม พ.ศ. 2486 – 9 กันยายน พ.ศ. 2519
(33 ปี 173 วัน)
รอง
ก่อนหน้าจาง เหวินเทียน (เลขาธิการพรรค)
ถัดไปฮฺว่า กั๋วเฟิง
ประธานสาธารณรัฐประชาชนจีน คนที่ 1
ดำรงตำแหน่ง
27 กันยายน พ.ศ. 2497 – 27 เมษายน พ.ศ. 2502
(4 ปี 212 วัน)
หัวหน้ารัฐบาลโจว เอินไหล
รองจู เต๋อ
ถัดไปหลิว เช่าฉี
ประธานคณะกรรมาธิการการทหารส่วนกลาง
ดำรงตำแหน่ง
8 กันยายน พ.ศ. 2497 – 9 กันยายน พ.ศ. 2519
(22 ปี 1 วัน)
รอง
ถัดไปฮฺว่า กั๋วเฟิง
ประธานคณะรัฐบาลประชาชนกลาง
ดำรงตำแหน่ง
1 ตุลาคม พ.ศ. 2492 – 27 กันยายน พ.ศ. 2497
(4 ปี 361 วัน)
หัวหน้ารัฐบาลโจว เอินไหล
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด26 ธันวาคม พ.ศ. 2436
เฉาชาน มณฑลหูหนาน จักรวรรดิชิง
เสียชีวิต9 กันยายน พ.ศ. 2519 (82 ปี)
ปักกิ่ง ประเทศจีน
ที่ไว้ศพอนุสรณ์สถานประธานเหมา, ปักกิ่ง
พรรคการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์จีน (2464–2519)
การเข้าร่วม
พรรคการเมืองอื่น
พรรคก๊กมินตั๋ง (2468–69)
คู่สมรส
บุตร
บุพการี
ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยครูหูหนาน
ลายมือชื่อ
ชื่อภาษาจีน
อักษรจีนตัวย่อ毛泽东
อักษรจีนตัวเต็ม毛澤東
ชื่อรอง
อักษรจีนตัวย่อ润之
อักษรจีนตัวเต็ม潤之
สมาชิกสถาบันกลาง
  • 2497–2502: สมาชิกสภาประชาชนแห่งชาติ
  • 2507–2519: สมาชิกสภาประชาชนแห่งชาติ
  • 2481–2519: สมาชิกคณะกรรมาธิการประจำกรมการเมือง ชุดที่ 6, 7, 8, 9, 10
  • 2481–2519: สมาชิกคณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ชุดที่ 6, 7, 8, 9, 10

ตำแหน่งทางการเมืองอื่น ๆ

เหมาเกิดในครอบครัวชาวนาฐานะร่ำรวยในมณฑลหูหนาน เขาสนับสนุนลัทธิชาตินิยมจีนและต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยมตั้งแต่ยังเด็ก โดยได้รับอิทธิพลอย่างมากจากเหตุการณ์การปฏิวัติซินไฮ่ในปี 2454 และขบวนการ 4 พฤษภาคมในปี 2462 ในภายหลังเขาได้นำเอาระบบลัทธิมากซ์-เลนินมาใช้ในขณะที่ทำงานเป็นบรรณารักษ์ที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง และกลายเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยเป็นผู้นำการปฏิวัติเก็บเกี่ยวฤดูใบไม้ร่วงในปี 2470

ในช่วงสงครามกลางเมืองจีน เหมาเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกองทัพแดงจีน เป็นผู้นำนโยบายปฏิรูปที่ดินสุดโต่งของโซเวียตเจียงซี และในที่สุดก็กลายเป็นหัวหน้าพรรคในระหว่างการเดินทัพทางไกล แม้ว่าพรรคคอมมิวนิสต์จะร่วมมือกับพรรคก๊กมินตั๋งชั่วคราวภายใต้แนวร่วมที่สองในช่วงสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่สอง (2480–88) แต่สงครามกลางเมืองของจีนก็กลับมาดำเนินต่อหลังจากที่ญี่ปุ่นยอมจำนน และกองกำลังของเหมาก็สามารถเอาชนะรัฐบาลชาตินิยมจนล่าถอยไปยังไต้หวันในปี 2492

วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2492 เหมาประกาศสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นรัฐพรรคการเมืองเดียวแบบลัทธิมากซ์-เลนินที่ควบคุมโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในช่วงหลายปีต่อมา เขาได้กระชับอำนาจของเขาผ่านการรณรงค์ปฏิรูปที่ดิน ต่อต้านเจ้าของที่ดิน การรณรงค์ปราบปรามผู้ต่อต้านการปฏิวัติ การรณรงค์ต้านสามต้านห้า และผ่านการพักรบในสงครามเกาหลี ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตของชาวจีนหลายล้านคน

ระหว่างปี พ.ศ. 2496–2501 เหมามีบทบาทสำคัญในการบังคับใช้ระบบเศรษฐกิจแบบบังคับในจีน ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศ ริเริ่มโครงการอุตสาหกรรมและโครงการทางทหาร เช่น โครงการ "ระเบิดสองลูก หนึ่งดาวเทียม" และโครงการ 523 นโยบายต่างประเทศของเหมาในช่วงเวลานี้ถูกครอบงำโดยความแตกแยกระหว่างจีนกับโซเวียต ซึ่งส่งผลให้จีนและสหภาพโซเวียตมีความห่างเหินกัน

ในปี 2498 เหมาได้ริเริ่มขบวนการซูฝาน และขบวนการต่อต้านฝ่ายขวาในปี 2500 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัญญาชนและผู้คัดค้านอย่างน้อย 550,000 คน ในปี 2501 เหมาได้ริเริ่มนโยบายก้าวกระโดดไกลไปข้างหน้า โดยมีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนเศรษฐกิจของจีนจากการเกษตรมาเป็นอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว นำไปสู่การเกิดภาวะทุพภิกขภัยที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ และทำให้เกิดการเสียชีวิตของผู้คนระหว่าง 15–55 ล้านคนระหว่างปี 2501–05

ในปี 2506 เหมาเริ่มขบวนการนักศึกษาลัทธิสังคมนิยม และในปี 2509 เขาได้ริเริ่มการปฏิวัติทางวัฒนธรรมเป็นโครงการที่จะขจัด "การต่อต้านการปฏิวัติ" ในสังคมจีนซึ่งกินเวลานานถึง 10 ปี มีการต่อสู้ทางชนชั้นอย่างรุนแรง การทำลายศิลปวัตถุทางวัฒนธรรม และยกย่องบูชาเหมาอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน มีประชาชนหลายสิบล้านคนที่ถูกข่มเหงรังแกในระหว่างการปฏิวัติ โดยมีการประมาณจำนวนผู้เสียชีวิตในช่วงตั้งแต่หลายแสนไปจนถึงหลายล้านคน ซึ่งรวมไปถึงหลิว เช่าฉี ประธานประเทศคนที่สอง หลังจากเผชิญกับอาการป่วยเรื้อรังมาเป็นเวลานาน เหมาก็ได้ถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคหัวใจในปี พ.ศ. 2519 รวมอายุ 82 ปี

ในช่วงยุคของเหมา ประชากรจีนเพิ่มขึ้นอย่างมากจากประมาณ 550 ล้านคน เป็นมากกว่า 900 ล้านคน ซึ่งเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลไม่ได้บังคับใช้กฎหมายการวางแผนครอบครัวอย่างเข้มงวด ในช่วงเวลานี้ จีนยังมีบทบาทสำคัญในความขัดแย้งของประเทศคอมมิวนิสต์อื่น ๆ ในเอเชีย เช่น สงครามเกาหลี สงครามเวียดนาม และสงครามกลางเมืองกัมพูชา

เหมา เจ๋อตง ถือได้ว่าเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งของศตวรรษที่ 20 เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้เปลี่ยนแปลงจีนให้กลายเป็นมหาอำนาจระดับโลก การปฏิรูปที่ดินและการยกเลิกระบบเจ้าขุนมูลนาย ทำให้ชาวนาจีนหลายร้อยล้านคนสามารถมีที่ดินทำกินของตนเองเป็นครั้งแรก การรณรงค์เพื่อการรู้หนังสือ การส่งเสริมสิทธิสตรี การสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน การศึกษาภาคบังคับ และการยกระดับอายุขัยเฉลี่ย ล้วนเป็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เขาเป็นผู้นำ

เหมากลายเป็นหัวหอกทางอุดมการณ์เบื้องหลังแนวคิดของเขา และเป็นผู้มีอิทธิพลอย่างมากต่อขบวนการคอมมิวนิสต์ระหว่างประเทศ เขาได้รับการยกย่อง ชื่นชม และมีลัทธิบูชาบุคคลทั้งในช่วงชีวิตและหลังอสัญกรรม อย่างไรก็ตาม นโยบายของเหมาก็เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของชาวจีนจำนวนมหาศาล โดยมีการประมาณการว่ามีผู้เสียชีวิตราว 40–80 ล้านคนจากความอดอยาก การกดขี่ แรงงานในคุก และการประหารชีวิตจำนวนมาก รัฐบาลของเขาถูกมองว่าเป็นระบบรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ

ชีวิตช่วงต้น

แก้

ชีวิตวัยเด็กเละการปฏิวัติซินไฮ่: พ.ศ. 2436–54

แก้
 
เหมา เจ๋อตง ราวปี พ.ศ. 2453

เหมา เจ๋อตง เกิดเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2436 ในครอบครัวชาวนาที่อาศัยอยู่ในเขตชนบทของอำเภอเฉาชาน มณฑลหูหนาน[1] พ่อของเขาคือ เหมา อี๋ชาง เดิมเป็นชาวนาที่ยากจน แต่ต่อมาก็ได้กลายเป็นหนึ่งในชาวนาที่ร่ำรวยที่สุดในอำเภอ เหมา เจ๋อตง เคยเล่าว่าพ่อของเขาเป็นคนเคร่งครัดในระเบียบวินัย มีนิสัยดุว่าเขาและพี่น้องอีกสามคน ได้แก่ เหมา เจ๋อหมิน เหมา เจ๋อถาน และเหมา เจ๋อเจี้ยน (น้องสาว/ลูกพี่ลูกน้องที่รับมาเลี้ยง)[2] แม่ของเหมาคือ เหวิน ซู่ฉิน เป็นพุทธศาสนิกชนที่เคร่งครัด เธอพยายามลดทอนความเข้มงวดของสามี[3] เหมาเองก็เคยเป็นชาวพุทธเช่นกัน แต่เขาได้ละทิ้งศรัทธานี้ในช่วงวัยรุ่นตอนกลาง[3] เมื่ออายุได้ 8 ปี เหมาถูกส่งไปเรียนที่โรงเรียนประถมเฉาชาน เขาได้เรียนรู้ระบบคุณค่าของลัทธิขงจื๊อ แม้ภายหลังเขาจะยอมรับว่าไม่ชอบตำราจีนโบราณที่สั่งสอนศีลธรรมตามแนวขงจื๊อ แต่กลับชื่นชอบวรรณกรรมจีนคลาสสิกอย่าง สามก๊ก และซ้องกั๋งมากกว่า[4] เมื่ออายุ 13 ปี เขาเรียนจบประถมศึกษา พ่อของเขาได้จัดการแต่งงานแบบคลุมถุงชนให้เขากับหลัว อีซิ่ว หญิงสาววัย 17 ปี เพื่อรวมที่ดินของทั้งสองครอบครัวเข้าด้วยกัน แต่เหมากลับปฏิเสธที่จะยอมรับเธอเป็นภรรยา และวิจารณ์การแต่งงานแบบคลุมถุงชนอย่างรุนแรง เหมาจึงตัดสินใจย้ายหนีออกไปชั่วคราว เหตุการณ์นี้ส่งผลให้หลัวเสื่อมเสียชื่อเสียงในท้องถิ่น และเสียชีวิตในปี 2453 ขณะมีอายุเพียง 20 ปี[5]

 
บ้านเกิดของเหมา เจ๋อตง ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว

ขณะทำงานอยู่ที่นาของพ่อ เหมา เจ๋อตง หมั่นอ่านหนังสืออย่างมากมาย[6] และพัฒนา "สำนึกทางการเมือง" ขึ้นมาจากจุลสารของเจิ้ง กวานอิง ซึ่งกล่าวถึงการเสื่อมถอยของอำนาจจีน และสนับสนุนการนำระบบประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนมาใช้[7] นอกจากนี้ เหมายังได้อ่านงานแปลของนักเขียนชาวตะวันตกหลายคน เช่น อดัม สมิธ, มงแต็สกีเยอ, ฌ็อง-ฌัก รูโซ, ชาลส์ ดาร์วิน และโทมัส ฮักซ์ลีย์[8]: 34  เหมา เจ๋อตง ซึ่งสนใจประวัติศาสตร์ ได้รับแรงบันดาลใจจากความสามารถทางทหารและความรักชาติอันแรงกล้าของจอร์จ วอชิงตัน และนโปเลียน โบนาปาร์ต[9] มุมมองทางการเมืองของเขาได้รับการหล่อหลอมจากการประท้วงที่นำโดยสมาคมเกอเหล่าฮุ่ย ซึ่งปะทุหลังจากการขาดแคลนอาหารในฉางชา เมืองหลวงของมณฑลหูหนาน เหมาสนับสนุนข้อเรียกร้องของผู้ประท้วง แต่กองกำลังติดอาวุธได้ปราบปรามผู้เห็นต่างและประหารชีวิตผู้นำของพวกเขา[10] เมื่อความอดอยากแพร่กระจายไปยังเฉาชาน ชาวนาที่อดอยากได้ยึดเอาเมล็ดข้าวของพ่อ เหมาไม่เห็นด้วยกับการกระทำของพวกเขา เพราะมองว่าเป็นเรื่องผิดศีลธรรม แต่เขาก็อ้างว่าเห็นใจในสถานการณ์ที่พวกเขาเผชิญอยู่[11] เมื่ออายุ 16 ปี เหมาได้ย้ายไปเรียนต่อที่โรงเรียนประถมศึกษาตอนปลายในตงชานซึ่งอยู่ใกล้เคียง[12] ที่นั่นเขาถูกเพื่อนรังแก เนื่องจากภูมิหลังที่เป็นชาวนา[13]

ในปี พ.ศ. 2454 เหมาเข้าเรียนต่อในโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นในฉางชา[14] ขณะนั้น กระแสความคิดปฏิวัติรุนแรงแพร่หลายไปทั่วเมือง เนื่องจากมีความรู้สึกต่อต้านระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของจักรพรรดิผู่อี๋อย่างกว้างขวาง และมีประชาชนจำนวนมากที่สนับสนุนระบอบสาธารณรัฐ บุคคลสำคัญของฝ่ายสาธารณรัฐคือ ซุน ยัตเซ็น ชาวจีนที่ได้รับการศึกษาจากอเมริกา และเป็นผู้นำสมาคมถงเหมิงฮุ่ย[15] ที่ฉางชา เหมาได้รับอิทธิพลจากหนังสือพิมพ์ของซุนยัตเซ็น ชื่อ “หมินลี่เป้า” (อิสรภาพของประชาชน),[16] และเคยสนับสนุนให้ซุนเป็นประธานาธิบดีในเรียงความที่โรงเรียน[17] เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านราชวงศ์แมนจู เหมาและเพื่อนได้ทำการตัดเปียซึ่งเป็นทรงผมที่แสดงถึงความภักดีต่อจักรพรรดิออก[18]

ด้วยแรงบันดาลใจจากแนวคิดการปกครองแบบสาธารณรัฐของซุน ยัตเซ็น กองทัพได้ลุกฮือขึ้นทั่วภาคใต้ของจีน จุดประกายให้เกิดการปฏิวัติซินไฮ่ ผู้ว่าการเมืองฉางชาหนีออกนอกเมือง ทำให้เมืองตกอยู่ในการควบคุมของฝ่ายสาธารณรัฐ[19] เหมาสนับสนุนการปฏิวัติ และเข้าร่วมกองทัพกบฏเป็นทหารชั้นผู้น้อย แต่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการสู้รบหรือการต่อสู้ เพราะภาคเหนือของจีนยังคงภักดีต่อจักรพรรดิและหวังจะที่หลีกเลี่ยงสงครามกลางเมือง ซุน ยัตเซ็น ซึ่งผู้สนับสนุนขนานนามว่า "ประธานาธิบดีเฉพาะกาล" จึงยอมเจรจากับนายพลยฺเหวียน ชื่อไข่ แม่ทัพฝ่ายกษัตริย์ แม้ว่าสถาบันกษัตริย์จะถูกยกเลิก นำไปสู่การสถาปนาสาธารณรัฐจีน แต่สุดท้าย นายพลยฺเหวียนผู้สนับสนุนกษัตริย์ก็กลายเป็นประธานาธิบดีแทน เมื่อการปฏิวัติสิ้นสุดลง เหมาก็ลาออกจากกองทัพในปี 2455 หลังจากเป็นทหารได้ 6 เดือน[20] ในช่วงเวลานี้ เหมาได้ค้นพบแนวคิดสังคมนิยมจากบทความในหนังสือพิมพ์ ต่อมาเขาได้อ่านจุลสารของเจียง คั่งหู่ นักศึกษาผู้ก่อตั้งพรรคสังคมนิยมจีน ถึงแม้เหมาจะสนใจแนวคิดนี้ แต่ก็ยังไม่เชื่อมั่น[21]

โรงเรียนฝึกหัดครู: พ.ศ. 2455–62

แก้

ในช่วงไม่กี่ปีต่อมา เหมาได้เข้าเรียนและลาออกจากสถาบันต่าง ๆ มากมาย ได้แก่ โรงเรียนตำรวจ โรงเรียนผลิตสบู่ โรงเรียนกฎหมาย โรงเรียนเศรษฐศาสตร์ และ โรงเรียนมัธยมฉางชา ซึ่งเป็นโรงเรียนรัฐบาล[22] ด้วยความรักการเรียนรู้ด้วยตัวเอง เขาใช้เวลามากมายในห้องสมุดที่ฉางชา อ่านผลงานสำคัญของลัทธิเสรีนิยมคลาสสิก เช่น "ความมั่งคั่งของประชาชาติ" ของอดัม สมิธ และ "จิตวิญญาณแห่งกฎหมาย" ของมงแต็สกีเยอ รวมถึงผลงานของนักวิทยาศาสตร์และนักปรัชญาชาวตะวันตก เช่น ดาร์วิน, มิลล์, รูโซ และสเปนเซอร์[23] เหมามองตัวเองว่าเป็นปัญญาชน และหลายปีต่อมาเขายอมรับว่าในเวลานั้นเขาคิดว่าตัวเองเหนือกว่าชนชั้นแรงงาน[24] เขายังได้รับแรงบันดาลใจจากฟรีดริช พอลเซน นักปรัชญาและนักการศึกษา ผู้เน้นย้ำถึงการบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าเป็นคุณค่าสูงสุด ซึ่งทำให้เหมาเชื่อว่าบุคคลที่เข้มแข็งไม่จำเป็นต้องผูกพันอยู่กับกฎคุณธรรม แต่ควรมุ่งมั่นเพื่อเป้าหมายอันยิ่งใหญ่[25] พ่อของเหมาเห็นว่าการใฝ่ศึกษาของลูกชายนั้นไร้ประโยชน์ จึงตัดเงินค่าใช้จ่ายและบังคับให้เหมาไปอยู่หอพักสำหรับคนยากไร้[26]

 
เหมาในปี พ.ศ. 2456

เหมามีความใฝ่ฝันที่จะเป็นครู เขาจึงเข้าเรียนที่โรงเรียนฝึกหัดครูฉางชาที่ 4 ซึ่งต่อมาได้ยุบรวมกับโรงเรียนฝึกหัดครูหูหนานที่ 1 (ต่อมาคือวิทยาลัยครูหูหนาน) ซึ่งถือเป็นโรงเรียนที่ดีที่สุดในมณฑล[27] หยาง ชางจี้ อาจารย์ของเหมา ได้แนะนำให้เขาอ่านหนังสือพิมพ์หัวรุนแรงชื่อ “ซินชิงเหนียน” ซึ่งเป็นผลงานการสร้างสรรค์ของเฉิน ตู๋ซิ่ว เพื่อนของเขาซึ่งเป็นคณบดีมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ถึงแม้เฉินจะสนับสนุนลัทธิชาตินิยมจีน แต่เขาก็แย้งว่าจีนจำเป็นต้องมองไปทางตะวันตก เพื่อชำระล้างความงมงายและระบอบเผด็จการ[28] ในช่วงปีแรกของการเข้าเรียน เหมาได้ผูกมิตรกับรุ่นพี่คนหนึ่งชื่อเซียว จื่อเชิง พวกเขาออกเดินทางท่องเที่ยวไปทั่วหูหนานด้วยกัน โดยการขอทานและเขียนกลอนคู่ (บทประพันธ์จีนโบราณ) เพื่อแลกกับอาหาร[29]

ในปี พ.ศ. 2458 เหมากลายเป็นนักศึกษาที่ได้รับความนิยม ได้รับเลือกเป็นเลขานุการของสมาคมนักเรียน เขายังได้จัดตั้ง "สมาคมนักศึกษาปกครองตนเอง" และเป็นผู้นำในการประท้วงกฎระเบียบของโรงเรียน[30] ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2460 เหมาได้ตีพิมพ์บทความแรกของเขาในหนังสือพิมพ์ซินชิงเหนียน โดยเนื้อหาของบทความเรียกร้องให้ผู้อ่านเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกายเพื่อเข้าร่วมการปฏิวัติ[31] เขายังเข้าร่วมสมาคมเพื่อการศึกษาของหวัง ฟูจือ ซึ่งเป็นกลุ่มปฏิวัติที่ก่อตั้งโดยนักปราชญ์เมืองฉางชา ผู้ต้องการยึดแนวทางปรัชญาของหวัง ฟูจือ[32] ในฤดูใบไม้ผลิ พ.ศ. 2460 เหมาเขาได้รับเลือกให้เป็นผู้นำกองกำลังอาสาสมัครนักศึกษา ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อปกป้องโรงเรียนจากทหารกองโจร[33] เขาสนใจในเทคนิคการสงครามมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเริ่มสนใจสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และเริ่มมีความรู้สึกเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับชนชั้นแรงงาน[34] เหมา เจ๋อตง, เซียว จื่อเชืง และไช่ เหอเซิน รวมถึงนักปฏิวัติหนุ่มคนอื่น ๆ ได้ร่วมกันก่อตั้ง "สมาคมการศึกษาเพื่อการฟื้นฟูประชาชน" ขึ้นในเดือนเมษายน พ.ศ. 2461 เพื่อศึกษาและอภิปรายแนวคิดของเฉิน ตู๋ซิ่ว ด้วยความปรารถนาในการเปลี่ยนแปลงตัวเองและสังคม สมาคมแห่งนี้มีสมาชิกประมาณ 70–80 คน ซึ่งหลายคนต่อมาได้เข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์[35] เหมาสำเร็จการศึกษาในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2462 โดยได้อันดับที่ 3 ของรุ่น[36]

กิจกรรมการปฏิวัติช่วงแรก

แก้

กรุงปักกิ่ง ลัทธิอนาธิปไตย และลัทธิมากซ์: พ.ศ. 2460–62

แก้
 
เหมา เจ๋อตง ในปี พ.ศ. 2467

เหมาย้ายไปปักกิ่งเพื่อมาอยู่กับอาจารย์ของเขา หยาง ชางจี้ ที่ได้งานใหม่ที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง[37] หยางมองว่าเหมาเป็นคน "ฉลาดและหน้าตาดี" มาก[38] จึงทำให้เขาได้งานเป็นผู้ช่วยบรรณารักษ์ของมหาวิทยาลัย โดยมีหลี่ ต้าจาว ซึ่งต่อมาจะกลายเป็นคอมมิวนิสต์คนสำคัญคนหนึ่งของจีน เป็นหัวหน้าบรรณารักษ์[39] หลี่ได้เขียนบทความชุดหนึ่งลงในหนังสือพิมพ์ซินชิงเหนียน เกี่ยวกับการปฏิวัติรัสเซียในเดือนตุลาคม บทความเหล่านี้กล่าวถึงช่วงเวลาที่พรรคบอลเชวิค ภายใต้การนำของวลาดิมีร์ เลนิน ทำการยึดอำนาจรัฐ เลนินเป็นผู้สนับสนุนทฤษฎีสังคมการเมืองของลัทธิมากซ์ ซึ่งพัฒนาโดยคาร์ล มาคส์ นักสังคมวิทยาชาวเยอรมัน และฟรีดริช เอ็งเงิลส์ บทความของหลี่ได้นำลัทธิมากซ์เข้ามาเป็นอีกหนึ่งหลักการสำคัญในขบวนการปฏิวัติจีน[40]

เหมามีแนวคิด “รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ” โดยในเบื้องต้น เขาได้รับอิทธิพลจากแนวคิดอนาธิปไตยของปีเตอร์ โครพ็อตกิน ซึ่งเป็นหลักคำสอนแนวรุนแรงที่มีชื่อเสียงที่สุดในยุคนั้น นักอนาธิปไตยชาวจีน เช่น ไช่ หยวนเผย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ได้สนับสนุนให้เกิดการปฏิวัติทางสังคมอย่างสมบูรณ์แบบ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ทางสังคม โครงสร้างครอบครัว และความเท่าเทียมกันของสตรี มากกว่าการเปลี่ยนแปลงเพียงแค่รูปแบบของรัฐบาลตามที่นักปฏิวัติยุคก่อนเรียกร้อง ในช่วงฤดูหนาว พ.ศ. 2462 เขาได้เข้าร่วมกลุ่มศึกษากับหลี่ ต้าจาวและ “ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วสู่ลัทธิมากซ์”[41] แม้เงินเดือนจะน้อย เหมาก็ต้องอาศัยอยู่ในห้องแคบ ๆ กับนักศึกษาชาวหูหนานอีก 7 คน ถึงกระนั้น เขาก็ยังเชื่อว่าความสวยงามของกรุงปักกิ่งนั้นเป็น “การตอบแทนที่ชัดเจนและมีชีวิตชีวา”[42] เพื่อนหลายคนของเขามีโอกาสไปเรียนที่ฝรั่งเศสผ่านโครงการ “การศึกษาผ่านการทำงาน”(Mouvement Travail-Études) ซึ่งจัดโดยกลุ่มอนาธิปไตย แต่เหมากลับปฏิเสธโอกาสนี้ อาจเป็นเพราะความไม่ถนัดด้านภาษาต่างประเทศ[43] อย่างไรก็ตาม เหมาก็ได้ระดมทุนสนับสนุนโครงการนี้อยู่[8]: 35 

ที่มหาวิทยาลัย เหมาถูกเพื่อนร่วมชั้นดูถูก เนื่องจากสำเนียงหูหนานอันเป็นชนบทของเขาและฐานะที่ต่ำต้อย เขาเข้าร่วมชมรมปรัชญาและสมาคมสื่อสารมวลชนของมหาวิทยาลัย และเข้าฟังการบรรยายและสัมมนาจากบุคคลสำคัญอย่าง เฉิน ตู๋ซิ่ว, หู ชื่อ และ เฉียน เสฺวียนถง[44] ช่วงเวลาของเหมาในกรุงปักกิ่งสิ้นสุดลงในฤดูใบไม้ผลิ พ.ศ. 2462 เมื่อเขาเดินทางไปเซี่ยงไฮ้กับเพื่อน ๆ ที่กำลังเตรียมตัวเดินทางไปฝรั่งเศส[45] เขาไม่ได้กลับไปยังเฉาชาน ซึ่งแม่ของเขากำลังป่วยหนัก ต่อมาเธอเสียชีวิตในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2462 และสามีของเธอก็เสียชีวิตในเดือนมกราคม พ.ศ. 2463[46]

วัฒนธรรมใหม่และการประท้วงทางการเมือง: พ.ศ. 2462–63

แก้
 
เหมา เจ๋อตง ในปี พ.ศ. 2462

วันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2462 นักศึกษาในกรุงปักกิ่งได้รวมตัวกันที่เทียนอันเหมิน เพื่อประท้วงรัฐบาลจีนที่ต่อต้านการขยายอำนาจของญี่ปุ่นในจีนอย่างอ่อนแอ โดยเหล่าผู้รักชาติรู้สึกโกรธแค้นต่ออิทธิพลที่มอบให้กับญี่ปุ่นใน “ข้อเรียกร้องยี่สิบเอ็ดประการ” เมื่อปี พ.ศ. 2458 การสมรู้ร่วมคิดของรัฐบาลเป่ย์หยางภายใต้การนำของตฺวั้น ฉีรุ่ย และการทรยศของจีนในสนธิสัญญาแวร์ซาย ซึ่งยอมให้ญี่ปุ่นได้ดินแดนในมณฑลชานตงจากจักรวรรดิเยอรมันที่ยอมจำนน การประท้วงเหล่านี้เป็นชนวนให้เกิด “ขบวนการ 4 พฤษภาคม” ทั่วประเทศ และจุดชนวนให้เกิด “ขบวนการวัฒนธรรมใหม่” ที่กล่าวโทษความล้มเหลวทางการทูตของจีนว่าเกิดจากความล้าหลังทางสังคมและวัฒนธรรม[47]

ในฉางชา เหมาเริ่มต้นอาชีพครูด้วยการสอนวิชาประวัติศาสตร์ที่โรงเรียนประถมศึกษาซิ่วเย่[48] และจัดการประท้วงต่อต้านจาง จิ้งเหยา ผู้ว่าการมณฑลหูหนานที่สนับสนุนตฺวั้น ซึ่งประชาชนนิยมเรียกกันว่า "จางผู้ร้ายกาจ" เนื่องจากการปกครองที่ฉ้อฉลและรุนแรงของเขา[49] ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม เหมากับเหอ ชูเหิง และเติ้ง จงเซี่ย ได้ร่วมกันก่อตั้งสมาคมนักศึกษาหูหนาน และจัดการประท้วงหยุดเรียนของนักศึกษาในเดือนมิถุนายน ต่อมาในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2462 เหมาก็ได้เริ่มตีพิมพ์นิตยสารเชิงรุนแรงรายสัปดาห์ชื่อว่า “เซียงเจียง” (Xiangjiang Review) โดยสนับสนุนแนวคิด “สหภาพอันยิ่งใหญ่ของมหาชน” และ “เสริมสร้างสหภาพแรงงานให้สามารถปฏิวัติโดยปราศจากความรุนแรง” ด้วยการใช้ภาษาพื้นบ้านที่ประชาชนจีนส่วนใหญ่เข้าใจได้ แนวคิดของเหมาไม่ได้อิงจากลัทธิมากซ์ แต่ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากแนวคิดการช่วยเหลือซึ่งกันและกันของโครพ็อตกิน[50]

 
นักศึกษาในกรุงปักกิ่งชุมนุมระหว่างขบวนการ 4 พฤษภาคม

จางได้สั่งยุบสมาคมนักศึกษา แต่เหมาก็ยังคงตีพิมพ์ผลงานต่อไปหลังจากรับตำแหน่งบรรณาธิการนิตยสารเชิงเสรีนิยม “ซินหูหนาน” และเขียนบทความในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นยอดนิยม “ต้ากงเป้า” บทความหลายชิ้นของเขาสนับสนุนแนวคิดสตรีนิยม เรียกร้องการปลดปล่อยสตรีในสังคมจีน ซึ่งแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งของเหมามาจากการที่เขาถูกบังคับให้แต่งงาน[51] ในฤดูใบไม้ร่วง พ.ศ. 2462 เหมาได้จัดการสัมมนาขึ้นในฉางชา เพื่อศึกษาประเด็นทางเศรษฐกิจและการเมือง ตลอดจนวิธีการรวมประชาชนให้เป็นหนึ่ง ความเป็นไปได้ของลัทธิสังคมนิยม และประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับลัทธิขงจื๊อ[52] ในช่วงเวลานี้ เหมายังได้มีส่วนร่วมในงานด้านการเมืองกับแรงงาน โดยการจัดตั้งโรงเรียนภาคค่ำและสหภาพแรงงาน[52] ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2462 เหมามีส่วนช่วยในการจัดการประท้วงหยุดงานทั่วหูหนาน แม้จะประสบความสำเร็จในการเจรจาบางประการ แต่เหมาและแกนนำนักศึกษาคนอื่น ๆ รู้สึกว่าถูกคุกคามจากจาง จึงทำให้เหมาตัดสินใจเดินทางกลับไปยังปักกิ่งเพื่อไปเยี่ยมหยาง ชางจี้ที่กำลังป่วยหนัก[53] เหมาพบว่าบทความของเขาได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มนักปฏิวัติ เขาจึงเริ่มแสวงหาผู้สนับสนุนเพื่อโค่นล้มอำนาจของจาง[54] เหมามีโอกาสได้อ่านงานแปลวรรณกรรมลัทธิมากซ์ใหม่ ๆ ของโทมัส เคิร์กอัป, คาร์ล ค็อตสกี, คาร์ล มาคส์ และฟรีดริช เอ็งเงิลส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์” ซึ่งส่งผลต่อความคิดของเขาให้มีความโน้มเอียงไปทางลัทธิมากซ์มากขึ้น แต่เขาก็ยังคงมีมุมมองที่หลากหลาย ไม่ยึดติดกับแนวคิดใดแนวคิดหนึ่ง[55]

เหมาเคยเดินทางไปเยือนเทียนจิน จี่หนาน และชฺวีฟู่[56] ก่อนที่จะย้ายไปอยู่เซี่ยงไฮ้ ระหว่างที่ทำงานเป็นคนซักผ้าอยู่นั้น เขาก็ได้พบกับเฉิน ตู๋ซิ่ว เหมาประทับใจแนวคิดลัทธิมากซ์ของเฉินอย่างมาก ซึ่งเหมาเองก็ได้กล่าวว่า “มันสร้างความประทับใจให้กับผมอย่างลึกซึ้งในช่วงเวลาที่สำคัญของชีวิตผม” ขณะอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ เหมาได้พบกับอี้ เผย์จี อดีตอาจารย์ของเขา ซึ่งเป็นนักปฏิวัติและสมาชิกพรรคก๊กมินตั๋งที่กำลังได้รับการสนับสนุนและมีอิทธิพลเพิ่มมากขึ้น อี้ได้แนะนำเหมาให้รู้จักกับนายพลถาน เหยียนไข่ แม่ทัพใหญ่และสมาชิกอาวุโสของพรรค ผู้มีกองทหารประจำการอยู่ตามแนวชายแดนหูหนานกับกวางตุ้ง นายพลถานกำลังวางแผนโค่นล้มจาง และเหมาก็ให้ความช่วยเหลือเขาโดยการจัดระเบียบนักศึกษาในฉางชา ในมิถุนายน พ.ศ. 2463 นายพลถานได้นำกองทหารเข้ายึดครองฉางชา ส่งผลให้จางต้องหนีออกนอกเมือง หลังจากการปฏิรูปการบริหารมณฑล เหมาก็ได้รับแต่งตั้งเป็นอาจารย์ใหญ่ฝ่ายประถมของโรงเรียนฝึกหัดครูที่ 1 ด้วยรายได้ที่มั่นคงขึ้น ในช่วงฤดูหนาวปีเดียวกัน เขาก็ได้แต่งงานกับหยาง ไคฮุ่ย ลูกสาวของหยาง ชางจี้[57][58]

สถาปนาพรรคคอมมิวนิสต์จีน: พ.ศ. 2463–64

แก้
 
สถานที่จัดการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งแรกในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2464 ที่ซินเทียนตี้ อดีตเขตสัมปทานฝรั่งเศส เซี่ยงไฮ้

พรรคคอมมิวนิสต์จีนก่อตั้งโดยเฉิน ตู๋ซิ่ว และหลี่ ต้าจาว ในเขตสัมปทานฝรั่งเศสเซี่ยงไฮ้ในปี พ.ศ. 2464 โดยเริ่มแรกเป็นเพียงสมาคมการศึกษาและเครือข่ายไม่เป็นทางการ ต่อมาเหมาได้ก่อตั้งสาขาพรรคขึ้นที่ฉางชา นอกจากนี้ยังก่อตั้งสาขาของสหพันธ์ยุวชนสังคมนิยม และสมาคมหนังสือวัฒนธรรม ซึ่งเปิดร้านหนังสือเพื่อเผยแพร่วรรณกรรมปฏิวัติไปทั่วมณฑลหูหนาน[59] เขามีส่วนร่วมในขบวนการเรียกร้องสิทธิปกครองตนเองของมณฑลหูหนาน ด้วยความหวังว่ารัฐธรรมนูญฉบับของหูหนานจะช่วยเพิ่มสิทธิเสรีภาพของพลเมือง และอำนวยความสะดวกให้กับกิจกรรมปฏิวัติของเขาเอง เมื่อขบวนการนี้ประสบความสำเร็จในการสถาปนาการปกครองตนเองของมณฑลภายใต้การนำของขุนศึกคนใหม่ เหมากลับไม่ยอมรับรู้ถึงส่วนร่วมของเขาเองในขบวนการดังกล่าว[60][โปรดขยายความ]

ในปี พ.ศ. 2464 กลุ่มลัทธิมากซ์ขนาดเล็กได้ก่อตั้งขึ้นในเซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง ฉางชา อู่ฮั่น กว่างโจว และจี่หนาน จึงมีการตัดสินใจจัดการประชุมใหญ่กลาง ซึ่งเริ่มต้นที่เซี่ยงไฮ้ในวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2464 การประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งแรกมีผู้แทนเข้าร่วม 13 คน รวมถึงเหมาด้วย หลังจากทางการได้ส่งสายลับตำรวจเข้าร่วมประชุม เหล่าผู้แทนก็ได้เดินทางไปยังเรือบนทะเลสาบใต้ใกล้กับเจียซิง มณฑลเจ้อเจียง เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกจับกุม แม้ว่าจะมีผู้แทนจากสหภาพโซเวียตและโคมินเทิร์นเข้าร่วม แต่การประชุมครั้งแรกนี้กลับเพิกเฉยต่อคำแนะนำของเลนินในการยอมเป็นพันธมิตรชั่วคราวกับพรรคก๊กมินตั๋ง ซึ่งสนับสนุนการปฏิวัติชาติด้วย เพราะพวกเขายังคงยึดมั่นในความเชื่อดั้งเดิมของลัทธิมากซ์ที่ว่า “มีเพียงชนชั้นกรรมาชีพในเมืองเท่านั้นที่สามารถเป็นผู้นำการปฏิวัติสังคมนิยมได้”[61]

ในช่วงที่เหมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคประจำมณฑลหูหนานประจำที่ฉางชา เขาได้ใช้กลยุทธ์หลากหลายวิธีเพื่อสร้างฐานพรรคให้มั่นคง[62] ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2464 เขาได้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศึกษาด้วยตนเองขึ้น ซึ่งเป็นแหล่งให้ผู้คนเข้าถึงวรรณกรรมปฏิวัติได้ โดยตั้งอยู่ในบริเวณของสมาคมเพื่อการศึกษาของหวัง ฟูจือ นักปรัชญาชาวหูหนานสมัยราชวงศ์ชิงผู้ต่อต้านชาวแมนจู[62] เขาร่วมขบวนการมวลชนศึกษาของสมาคมวายเอ็มซีเอ เพื่อต่อสู้กับภาวะไม่รู้หนังสือ แม้ว่าเขาจะแก้ไขตำราเรียนเพื่อแทรกแนวคิดก้าวร้าวเข้าไปด้วยก็ตาม[63] เขายังคงจัดตั้งกลุ่มแรงงานเพื่อหยุดงานประท้วงการบริหารงานของจ้าว เหิงที่ ผู้ว่าการมณฑลหูหนาน[64] ถึงกระนั้น ปัญหาแรงงานก็ยังคงเป็นปัญหาสำคัญ แม้การประท้วงหยุดงานที่เหมืองถ่านหินอันหยวนอันโด่งดังและประสบความสำเร็จจะใช้กลยุทธ์จากทั้ง “ชนชั้นกรรมาชีพ” และ “ชนชั้นกลาง” ก็ตาม นอกเหนือจากการปลุกระดมคนงานเหมืองแล้ว หลิว เช่าฉี, หลี่ ลี่ซาน และเหมายังได้จัดตั้งโรงเรียนและสหกรณ์ รวมถึงสานสัมพันธ์กับปัญญาชนท้องถิ่น ขุนนาง นายทหาร พ่อค้า หรือแม้กระทั่งบาทหลวงในคริสตจักรด้วย[65] งานจัดระเบียบแรงงานของเหมาในเหมืองอันหยวนยังเกี่ยวข้องกับหยาง ไคฮุ่ย ภรรยาของเขา ซึ่งทำงานเพื่อสิทธิสตรี รวมถึงการรู้หนังสือและปัญหาการศึกษาในชุมชนใกล้เคียง[66] แม้ว่าเหมาและหยางจะไม่ใช่ผู้ริเริ่มวิธีการจัดระเบียบทางการเมืองแบบผสมผสานการรวมตัวแรงงานชายกับการให้ความสำคัญกับปัญหาสิทธิสตรีในชุมชน แต่พวกเขาก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ใช้ยุทธวิธีนี้ได้ผลมากที่สุด[66] ความสำเร็จในการจัดตั้งองค์กรทางการเมืองของเหมาที่เหมืองอันหยวนส่งผลให้เฉิน ตู๋ซิ่วชักชวนเขาเข้าร่วมเป็นสมาชิกของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน[67]

เหมาอ้างว่าเขาไม่ได้เข้าร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 2 ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2465 ที่เซี่ยงไฮ้ เนื่องจากลืมที่อยู่ ในที่ประชุม พรรคได้เห็นชอบที่จะทำตามคำแนะนำของเลนินในการเป็นพันธมิตรกับพรรคก๊กมินตั๋งเพื่อประโยชน์ของ “การปฏิวัติชาติ” จากนั้น สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ก็ได้เข้าร่วมกับพรรคก๊กมินตั๋ง เพื่อหวังจะผลักดันนโยบายของพรรคให้ไปทางซ้าย[68] เหมาเห็นด้วยกับการตัดสินใจนี้อย่างกระตือรือร้น โดยเขาสนับสนุนแนวคิดการรวมชนทุกชนชั้นทางเศรษฐกิจและสังคมของจีน และสุดท้ายเขาก็ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้าฝ่ายโฆษณาชวนเชื่อของพรรคก๊กมินตั๋ง[58] เหมาเป็นผู้ต่อต้านจักรวรรดินิยมอย่างเปิดเผย และในงานเขียนของเขา เขาได้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา โดยบรรยายถึงประเทศหลังว่าเป็น “เพชฌฆาตที่โหดเหี้ยมที่สุด”[69]

ร่วมมือกับก๊กมินตั๋ง: พ.ศ. 2465–70

แก้
เหมากำลังกล่าวสุนทรพจน์ (ไม่มีเสียง)

ในการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 3 ที่เซี่ยงไฮ้ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2466 คณะผู้แทนได้ยืนยันถึงความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับพรรคก๊กมินตั๋ง อีกทั้งเหมาซึ่งสนับสนุนจุดยืนนี้ก็ได้รับเลือกเป็นกรรมการพรรคและย้ายไปพำนักที่เซี่ยงไฮ้[70] ในการประชุมพรรคก๊กมินตั๋งครั้งแรกที่จัดขึ้นในเมืองกว่างโจวเมื่อต้นปี พ.ศ. 2467 เหมาได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกสำรองของคณะกรรมการบริหารพรรค และเสนอญัตติ 4 ฉบับเพื่อกระจายอำนาจไปยังหน่วยงานระดับเมืองและชนบท การสนับสนุนพรรคก๊กมินตั๋งอย่างกระตือรือร้นของเขามีผลทำให้หลี่ ลี่ซาน สหายร่วมพรรคของเขาที่หูหนานเกิดความสงสัย[71]

ในปลายปี พ.ศ. 2467 เหมาเดินทางกลับมาที่เฉาชาน อาจจะเป็นเพราะต้องการพักฟื้นจากอาการป่วย เมื่อกลับไปถึง เขาพบว่าชาวนาเริ่มไม่พอใจกับสภาพความเป็นอยู่เดิม ๆ และบางส่วนได้ยึดที่ดินจากเจ้าของที่ดินที่ร่ำรวยเพื่อจัดตั้งเป็นคอมมูน เหตุการณ์นี้ทำให้เขาเชื่อมั่นในศักยภาพของชาวนาในการปฏิวัติ ซึ่งเป็นแนวคิดที่ฝ่ายซ้ายของก๊กมินตั๋งสนับสนุน แต่ฝ่ายคอมมิวนิสต์กลับยังไม่เห็นด้วย[72] เหมาและสหายร่วมอุดมการณ์หลายคนเสนอให้ยุติความร่วมมือกับก๊กมินตั๋ง แต่ถูกปฏิเสธโดยมิคาอิล โบโรดิน ตัวแทนจากองค์การคอมมิวนิสต์สากล[73] ในช่วงฤดูหนาว พ.ศ. 2468 เหมาได้หลบหนีไปยังกว่างโจวหลังจากที่กิจกรรมปฏิวัติของเขาดึงความสนใจจากทางการในภูมิภาคของจ้าว[74] ที่นั่น เขาได้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันฝึกอบรมขบวนการชาวนาของพรรคก๊กมินตั๋งรุ่นที่ 6 ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงกันยายน พ.ศ. 2469[75][76] สถาบันฝึกอบรมภายใต้การบริหารของเหมามุ่งเน้นการฝึกอบรมบุคลากรและเตรียมความพร้อมสำหรับกิจกรรมต่อสู้ พวกเขาจะได้รับการฝึกฝนทางทหารเบื้องต้น และศึกษาตำราพื้นฐานฝ่ายซ้าย[77]

 
เหมาในกว่างโจวในปี พ.ศ. 2468

เมื่อซุน ยัตเซ็น ผู้นำพรรคเสียชีวิตในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2468 เจียง ไคเชก ก็ได้ขึ้นสืบทอดตำแหน่งต่อจากเขา และดำเนินการขับไล่ฝ่ายซ้ายในพรรคและคอมมิวนิสต์[78] ถึงกระนั้น เหมาก็ยังคงสนับสนุนกองทัพปฏิวัติแห่งชาติของเจียง ซึ่งได้ทำการกรีธาทัพขึ้นเหนือเพื่อปราบปรามขุนศึกท้องถิ่นในปี พ.ศ. 2469[79] หลังการกรีธาทัพครั้งนี้ เหล่าชาวนาได้ลุกฮือขึ้นยึดเอาที่ดินของเจ้าของที่ดินผู้มั่งคั่ง ซึ่งในหลายกรณีถูกฆ่าตาย การลุกฮือดังกล่าวทำให้บุคคลสำคัญของพรรคก๊กมินตั๋งรู้สึกโกรธแค้น เนื่องจากพวกเขาก็เป็นเจ้าของที่ดินเช่นกัน ยิ่งตอกย้ำถึงความแตกต่างทางชนชั้นและอุดมการณ์ที่เพิ่มมากขึ้นภายในขบวนการปฏิวัติ[80]

 
การประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคก๊กมินตั๋งครั้งที่ 3 ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2470 เหมายืนอยู่คนที่สามจากขวาในแถวที่สอง

ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2470 เหมาได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคก๊กมินตั๋งครั้งที่ 3 ที่เมืองอู่ฮั่น ซึ่งมีเป้าหมายในการปลดอำนาจของเจียง ไคเชก โดยแต่งตั้งวัง จิงเว่ย์ ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคแทน ที่นั่น เหมามีบทบาทสำคัญในการอภิปรายเกี่ยวกับปัญหาชาวนา โดยเสนอ “ระเบียบปฏิบัติสำหรับการปราบปรามอันธพาลท้องถิ่นและชนชั้นสูงเลว” ซึ่งสนับสนุนให้มีโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิตสำหรับผู้ที่กระทำความผิดฐานต่อต้านการปฏิวัติ โดยให้เหตุผลว่า ในสถานการณ์ปฏิวัติ “วิธีการสันติเพียงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ”[81][82]

ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2470 เหมาได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะกรรมการที่ดินกลางของพรรคก๊กมินตั๋ง ซึ่งมีสมาชิก 5 คน โดยกระตุ้นให้ชาวนาปฏิเสธการจ่ายค่าเช่าที่ดิน นอกจากนี้ เหมายังได้นำคณะจัดทำ “ร่างมติว่าด้วยปัญหาที่ดิน” ซึ่งเรียกร้องให้ยึดที่ดินของ “อันธพาลท้องถิ่น ขุนนางทุจริต เจ้าหน้าที่ที่ฉ้อฉล นายทหาร และกลุ่มต่อต้านการปฏิวัติในหมู่บ้าน” ต่อมาเขาได้ดำเนินการ “สำรวจที่ดิน” โดยระบุว่าผู้ใดก็ตามที่ถือครองที่ดินเกิน 30 หมู่ (ประมาณ 12 ไร่) ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 13 ของประชากร จะถือเป็นพวกต่อต้านการปฏิวัติ เหมาตระหนักดีว่าความกระตือรือร้นในการปฏิวัติมีความแตกต่างกันไปทั่วประเทศ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีนโยบายการกระจายที่ดินที่ยืดหยุ่น[83] เมื่อนำเสนอข้อสรุปของเขาในการประชุมคณะกรรมการที่ดิน หลายคนแสดงความสงวนท่าที บางคนคิดว่ามันเกินเลยไป ในขณะที่บางคนก็คิดว่ามันยังไม่มากพอ สุดท้ายข้อเสนอแนะของเขาก็ได้รับการนำไปปฏิบัติเพียงบางส่วนเท่านั้น[84]

สงครามกลางเมือง

แก้

การก่อการกำเริบที่หนานชางและกบฏฤดูใบไม้ร่วง: พ.ศ. 2470

แก้
 
ธงกองทัพแดงของกรรมกรและชาวนาจีน

ในปี พ.ศ. 2470 หลังประสบความสำเร็จในการกรีธาทัพขึ้นเหนือเพื่อปราบขุนศึก เจียงก็หันไปปราบคอมมิวนิสต์ซึ่งขณะนั้นมีสมาชิกหลายหมื่นคนกระจายอยู่ทั่วประเทศจีน เจียงเพิกเฉยต่อคำสั่งของรัฐบาลก๊กมินตั๋งฝ่ายซ้ายที่มีฐานอยู่ในเมืองอู่ฮั่นและเดินทัพไปยังเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ภายใต้การควบคุมของคอมมิวนิสต์ ในขณะที่พวกคอมมิวนิสต์กำลังรอคอยการมาถึงของเจียง เขาได้สั่งปราบปรามคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในเหตุการณ์ “ความน่าสะพรึงสีขาว” (White Terror) หรือ “การสังหารหมู่ที่เซี่ยงไฮ้” มีการสังหารประชาชนไปกว่า 5,000 คน ด้วยความช่วยเหลือของแก๊งสีเขียวซึ่งเป็นกลุ่มอันธพาลท้องถิ่น[85] ในกรุงปักกิ่ง ผู้นำคอมมิวนิสต์ 19 คนถูกสังหารโดยจาง จั้วหลิน[86][87] ในเดือนพฤษภาคมปีนั้น พวกคอมมิวนิสต์และผู้ต้องสงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์จำนวนนับหมื่นคนถูกสังหาร ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนสูญเสียสมาชิกไปประมาณ 15,000 ราย จากทั้งหมด 25,000 ราย[87]

พรรคคอมมิวนิสต์จีนยังคงสนับสนุนรัฐบาลก๊กมินตั๋งฝ่ายซ้าย ซึ่งเป็นจุดยืนที่เหมาเคยสนับสนุนในตอนแรก[87] แต่เมื่อถึงการประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 5 ของพรรค เหมาก็เปลี่ยนความคิดและตัดสินใจหันไปพึ่งพากองกำลังชาวนาอย่างเต็มที่[88] สิ่งนี้กลายเป็นประเด็นที่ไม่ต้องถกเถียงอีกต่อไป เมื่อรัฐบาลอู่ฮั่นขับไล่สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนทั้งหมดออกจากพรรคก๊กมินตั๋งในวันที่ 15 กรกฎาคม[88] พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ก่อตั้งกองทัพแดงของกรรมกรและชาวนา หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “กองทัพแดง” ขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับเจียง กองพันหนึ่งภายใต้การนำของจู เต๋อ ได้รับคำสั่งให้ยึดเมืองหนานชางในวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2470 ซึ่งต่อมาเหตุการณ์นี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อ “การก่อการกำเริบที่หนานชาง” แม้จะประสบความสำเร็จในตอนแรก แต่สุดท้ายพวกเขาก็ถูกบังคับให้ถอยทัพหลังจากผ่านไป 5 วัน โดยเดินทัพลงใต้ไปยังซัวเถา และจากที่นั่นก็ถูกขับไล่ไปยังถิ่นทุรกันดารของมณฑลฝูเจี้ยน[88] เหมาได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพแดง และนำทหาร 4 กองรุกโจมตีเมืองฉางชาในช่วง “กบฏเก็บเกี่ยวฤดูใบไม้ร่วง” ด้วยความหวังที่จะจุดชนวนให้เกิดการลุกฮือของชาวนาไปทั่วมณฑลหูหนาน ก่อนวันโจมตี เหมาได้แต่งบทกวีชื่อ “ฉางชา” ซึ่งเป็นบทกวีที่เก่าแก่ที่สุดของเขาที่ยังคงเหลืออยู่ แผนของเหมาคือ การโจมตีเมืองฉางชาซึ่งเป็นที่มั่นของก๊กมินตั๋งจาก 3 ทิศทางในวันที่ 9 กันยายน แต่ทว่ากองทัพที่ 4 ได้แปรพักตร์ไปเข้ากับก๊กมินตั๋งและโจมตีกองทัพที่ 3 แม้กองทัพของเหมาจะไปถึงเมืองฉางชาแต่ก็ไม่สามารถยึดเมืองไว้ได้ ในวันที่ 15 กันยายน เขายอมรับความพ่ายแพ้และนำทหารที่เหลือราว 1,000 คนเดินทัพไปทางตะวันออกสู่เทือกเขาจิ่งกัง มณฑลเจียงซี[89]

ฐานที่มั่นบนเขาจิ่งกัง: พ.ศ. 2470–71

แก้
 
เหมาในปี พ.ศ. 2470
革命不是請客吃飯,不是做文章,不是繪畫繡花,不能那樣雅緻,那樣從容不迫,文質彬彬,那樣溫良恭讓。革命是暴動,是一個階級推翻一個階級的暴烈的行動。

การปฏิวัติไม่ใช่การจัดงานเลี้ยงอาหารค่ำ การเขียนเรียงความ การวาดภาพ หรือการปักผ้า มันไม่สามารถละเอียดอ่อน ว่าง่าย สงบ อ่อนโยน สุภาพ อดทน และมีน้ำใจได้ การปฏิวัติคือการก่อกบฏ การใช้ความรุนแรงของชนชั้นหนึ่งในการโค่นล้มอีกชนชั้นหนึ่ง

— เหมา, กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2470[90]

คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนซึ่งขณะนั้นหลบซ่อนอยู่ในเซี่ยงไฮ้ ได้ทำการขับไล่เหมาออกจากพรรคและคณะกรรมการพรรคประจำมณฑลหูหนาน เนื่องจากเห็นว่าเขาเป็นพวก “นิยมโอกาสทางทหาร” มุ่งเน้นไปที่กิจกรรมชนบท และมีความอ่อนต่อ “ชนชั้นสูงเลว” มากเกินไป สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนสายแข็งในเวลานั้นมองว่าชาวนาเป็นชนชั้นที่ล้าหลัง และเยาะเย้ยแนวคิดของเหมาในการระดมชาวนามาเป็นกำลังปฏิวัติ[58] ถึงแม้พวกเขาจะยอมรับนโยบายสามข้อที่เหมาสนับสนุนมานาน ได้แก่ การจัดตั้งสภาแรงงานทันที, การยึดที่ดินทั้งหมดโดยไม่ละเว้น และการปฏิเสธพรรคก๊กมินตั๋ง แต่เหมาก็ยังคงเพิกเฉยต่อการกระทำเหล่านั้น[91] เหมาได้สร้างฐานที่มั่นขึ้นที่อำเภอจิ่งกังชานในเขตเทือกเขาจิ่งกัง โดยเขารวมหมู่บ้านทั้ง 5 แห่งให้เป็นรัฐปกครองตนเอง และสนับสนุนการยึดที่ดินจากเจ้าของที่ดินผู้มั่งคั่ง ซึ่งเจ้าของที่ดินเหล่านั้นจะถูก “อบรมปรับเปลี่ยนทัศนคติ” แม้จะมีการลงโทษประหารชีวิตบ้างในบางกรณี แต่เหมาก็พยายามป้องกันไม่ให้เกิดการสังหารหมู่ขึ้นในพื้นที่ นโยบายของเขานับว่าค่อนข้างผ่อนปรนกว่า เมื่อเทียบกับนโยบายของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน[92] นอกเหนือจากการปฏิรูปที่ดินแล้ว เหมายังได้ส่งเสริมการรู้หนังสือและความสัมพันธ์ในองค์กรแบบไม่แบ่งลำดับชั้นในจิ่งกังชาน ทำให้วิถีชีวิตทางสังคมและเศรษฐกิจในพื้นที่เปลี่ยนไป และดึงดูดผู้สนับสนุนในท้องถิ่นจำนวนมาก[93]

เหมาประกาศว่า “แม้แต่คนง่อย คนหูหนวก คนตาบอด ก็สามารถเข้ามาช่วยเหลือในการต่อสู้เพื่อการปฏิวัติได้” ด้วยแนวคิดนี้ เขาจึงทำการเพิ่มจำนวนกองกำลัง[94] โดยการรับเอาโจรกลุ่มใหญ่สองกลุ่มเข้ามา รวมเป็นกำลังพลราว 1,800 คน[95] เขาวางกฎระเบียบให้ทหารปฏิบัติตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด สิ่งใดที่ยึดมาได้ต้องส่งมอบให้รัฐบาล และห้ามยึดทรัพย์สินจากชาวนาที่ยากจน ด้วยวิธีนี้กองกำลังของเขาจึงมีวินัยและประสิทธิภาพในการต่อสู้มากขึ้น[94]

敵進我退,
敵駐我騷,
敵疲我打,
敵退我追。


ศัตรูบุก เราถอย
ศัตรูหยุด เรากวน
ศัตรูเหนื่อยล้า เราตี
ศัตรูถอย เราตาม

— คำแนะนำของเหมาในการต่อสู้กับก๊กมินตั๋ง, พ.ศ. 2471[96][97]

 
นักปฏิวัติคอมมิวนิสต์จีนในทศวรรษที่ 1920

ในฤดูใบไม้ผลิ พ.ศ. 2471 คณะกรรมการกลางได้สั่งให้กองกำลังของเหมาเดินทัพไปยังทางใต้ของหูหนาน เพื่อหวังจะจุดชนวนให้เกิดการลุกฮือของชาวนา แม้เหมาจะไม่เห็นด้วยแต่ก็จำต้องปฏิบัติตาม พวกเขามุ่งหน้าสู่หูหนาน แต่กลับถูกกองกำลังก๊กมินตั๋งโจมตีจนต้องล่าถอยหลังสูญเสียกำลังพลอย่างหนัก ในขณะเดียวกัน กองกำลังก๊กมินตั๋งก็ได้รุกเข้ายึดครองจิ่งกังชาน ทำให้กองกำลังของเหมาสูญเสียฐานที่มั่น[98] พวกเขาเร่ร่อนไปทั่วชนบท จนกระทั่งได้พบกับกองทหารพรรคคอมมิวนิสต์จีนอีกกองหนึ่งที่นำโดยนายพลจู เต๋อ และหลิน เปียว พวกเขาตัดสินใจรวมทัพกันเพื่อยึดจิ่งกังชานกลับคืน แม้จะประสบความสำเร็จในตอนแรก แต่สุดท้ายก๊กมินตั๋งก็สามารถโจมตีกลับและยึดพื้นที่ไปได้ สถานการณ์ต่อมาเป็นสงครามกองโจรที่ยืดเยื้ออยู่หลายสัปดาห์บนเทือกเขา[96][99] ต่อมาคณะกรรมการกลางได้สั่งให้กองกำลังของเหมาเดินทัพไปยังหูหนานใต้เป็นครั้งที่สอง แต่เหมาปฏิเสธและยืนกรานที่จะอยู่รักษาฐานที่มั่นของตนเอง ในทางกลับกัน จู เต๋อ เห็นด้วยกับคำสั่งและนำกองทหารของเขาออกไป กองกำลังของเหมาสามารถต้านทานกองทัพก๊กมินตั๋งได้เป็นเวลา 25 วัน ในขณะที่เขาออกจากฐานที่มั่นในเวลากลางคืนเพื่อหากำลังเสริม ก็ได้กลับมาพบกับกองทหารของจูที่เริ่มอ่อนแอ จึงได้รวมทัพกันอีกครั้งและกลับไปยังจิ่งกังชานเพื่อยึดฐานที่มั่นคืน ร่วมกับทหารก๊กมินตั๋งที่แปรพักตร์เข้ามาและกองทัพแดงที่ 5 ของเผิง เต๋อหวย อุปสรรคที่สำคัญคือพื้นที่ภูเขาไม่สามารถเพาะปลูกพืชผลได้เพียงพอ ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนอาหารตลอดฤดูหนาว[100]

ในปี พ.ศ. 2471 เหมา เจ๋อได้พบและแต่งงานกับเหอ จื่อเจิน นักปฏิวัติหญิงวัย 18 ปี ซึ่งต่อมาเธอได้ให้กำเนิดบุตรให้เขาถึง 6 คน[101][102]

เจียงซีโซเวียต: พ.ศ. 2472–77

แก้
 
เหมาในเหยียนอาน ทศวรรษที่ 1930

ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2472 เหมาและจู เต๋อ ได้อพยพออกจากฐานที่มั่นเดิมพร้อมกับทหาร 2,000 นาย โดยได้รับกำลังเสริมอีก 800 นายจากเผิง เต๋อหวย พวกเขาเคลื่อนทัพลงใต้ไปยังอำเภอถงกู่และซิ่นเฟิงในมณฑลเจียงซี[103] การอพยพส่งผลให้ขวัญกำลังใจของทหารลดลง และทหารจำนวนมากไม่เชื่อฟังคำสั่งและเริ่มขโมยของ สิ่งนี้ทำให้หลี่ ลี่ซานและคณะกรรมการกลางวิตกกังวล เพราะพวกเขาว่าเห็นกองทัพของเหมาเป็นคนนอกคอกที่ไม่มีสำนึกทางชนชั้นกรรมาชีพ[104][105] ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของลัทธิมากซ์ดั้งเดิม ที่หลี่เชื่อว่าชนชั้นกรรมาชีพในเมืองเท่านั้นที่สามารถนำการปฏิวัติไปสู่ชัยชนะได้ และไม่เห็นความจำเป็นในกองโจรชาวนาของเหมามากนัก เขาจึงสั่งให้เหมาแยกกองทัพของเขาเป็นหน่วยย่อยเพื่อส่งออกไปเผยแพร่ข้อความปฏิวัติ เหมาตอบว่า เขาเห็นด้วยกับจุดยืนทางทฤษฎีของหลี่ แต่เขาจะไม่แยกกองทัพหรือละทิ้งฐานทัพของตน[105][106] ทั้งหลี่และเหมาต่างเห็นการปฏิวัติจีนว่าเป็นกุญแจสำคัญสู่การปฏิวัติโลก โดยเชื่อว่าชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะจุดชนวนการโค่นล้มลัทธิจักรวรรดินิยมและทุนนิยมทั่วโลก ในเรื่องนี้ พวกเขาไม่เห็นด้วยกับแนวทางอย่างเป็นทางการของรัฐบาลโซเวียตและโคมินเทิร์น เจ้าหน้าที่ในมอสโกต้องการควบคุมพรรคคอมมิวนิสต์จีนมากขึ้น และถอดถอนหลี่ออกจากอำนาจโดยเรียกตัวเขาไปรัสเซียเพื่อสอบสวนข้อผิดพลาดของเขา[107] พวกเขาแทนที่หลี่ด้วยคอมมิวนิสต์จีนที่ได้รับการศึกษาในสหภาพโซเวียต ซึ่งรู้จักกันในชื่อ “28 บอลเชวิค” ซึ่งสองคนในนั้นคือ ปั๋ว กู่ และจาง เหวินเทียน ให้เข้าควบคุมคณะกรรมการกลาง เหมาไม่เห็นด้วยกับผู้นำคนใหม่ โดยเชื่อว่าพวกเขาไม่เข้าใจสถานการณ์ในจีน และเหมาก็กลายเป็นคู่แข่งสำคัญของพวกเขาในไม่ช้า[108][109]

 
ขบวนพาเหรดทหารในพิธีสถาปนาสาธารณรัฐจีนโซเวียตใน พ.ศ. 2474

ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2473 เหมาได้จัดตั้งรัฐบาลโซเวียตมณฑลเจียงซีตะวันตกเฉียงใต้ในพื้นที่ที่ตนควบคุม[110] ในเดือนพฤศจิกายน เขาต้องเผชิญกับความบอบช้ำทางจิตใจหลังจากภรรยาคนที่สองของเขา หยาง ไคฮุ่ย และน้องสาว ถูกจับและตัดศีรษะโดยนายพลเหอ เจี้ยน ของก๊กมินตั๋ง[111] และเผชิญกับปัญหาภายใน โดยสมาชิกของโซเวียตเจียงซีกล่าวหาว่าเขาเป็นคนใจเย็นเกินไป และต่อต้านการปฏิวัติ ในเดือนธันวาคม พวกเขาพยายามโค่นล้มเหมา ส่งผลให้เกิด “อุบัติการณ์ฟู่เถียน” ซึ่งระหว่างนั้นผู้ภักดีต่อเหมาได้ทรมานผู้คนจำนวนมากและประหารชีวิตผู้เห็นต่างระหว่าง 2,000–3,000 คน[112] คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ย้ายไปยังมณฑลเจียงซี เนื่องจากเห็นว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัย ในเดือนพฤศจิกายน พวกเขาประกาศให้มณฑลเจียงซีเป็นสาธารณรัฐจีนโซเวียต รัฐอิสระที่ปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์ แม้ว่าเหมาจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานสภาประชาชน แต่พลังอำนาจของเหมาก็ลดลง เนื่องจากการควบคุมกองทัพแดงของเขาถูกมอบหมายให้กับโจว เอินไหล ในระหว่างนี้ เหมาได้ฟื้นตัวจากวัณโรค[113]

กองทัพก๊กมินตั๋งเริ่มใช้ยุทธวิธีโอบล้อมและทำลายล้างกองทัพแดง เหมาจึงตอบโต้ด้วยยุทธวิธีกองโจรที่ได้รับอิทธิพลจากตำราพิชัยสงครามของนักยุทธศาสตร์การทหารสมัยโบราณ ซุนวู แต่โจวและผู้นำคนใหม่กลับใช้ยุทธวิธีเผชิญหน้าอย่างเปิดเผยและทำสงครามแบบประจัญบาน กองทัพแดงจึงสามารถเอาชนะการโอบล้อมทั้งครั้งแรกและครั้งที่สองได้สำเร็จ[114][115] เจียงรู้สึกโกรธแค้นต่อความพ่ายแพ้ของกองทัพ จึงเดินทางมาบัญชาการรบด้วยตนเอง แต่เขาก็เผชิญกับอุปสรรคและต้องล่าถอยกลับไปรับมือกับการรุกรานของญี่ปุ่น[116] เนื่องจากความสนใจหลักของก๊กมินตั๋งเปลี่ยนไปเป็นการป้องกันประเทศจากการรุกรานของญี่ปุ่น กองทัพแดงจึงสามารถขยายพื้นที่ยึดครองได้มากขึ้น จนกระทั่งมีประชาชนอยู่ภายใต้การปกครองราว 3 ล้านคน[115] หลังจากนั้น เหมาก็ได้เริ่มดำเนินการปฏิรูปที่ดิน โดยในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2474 เขาประกาศเริ่มต้นโครงการ “ตรวจสอบที่ดิน” ซึ่งต่อมาได้ขยายผลในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2476 นอกจากนี้ เขายังริเริ่มโครงการรณรงค์ทางการศึกษา และดำเนินมาตรการเพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมทางการเมืองของสตรี[117] เจียงมองว่าคอมมิวนิสต์เป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงกว่าญี่ปุ่น เขาจึงเดินทางกลับไปยังเจียงซี และเริ่มต้นยุทธการโอบล้อมครั้งที่ 5 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการสร้าง "กำแพงไฟ" จากปูนและลวดหนามล้อมรอบฐานที่มั่นของคอมมิวนิสต์ นอกจากนี้ยังมีการโจมตีทางอากาศ ซึ่งกลยุทธ์ของโจว เอินไหลไม่สามารถรับมือได้ กองทัพแดงติดอยู่ภายในฐานที่มั่น ขวัญกำลังใจลดลง เนื่องจากเริ่ทขาดแคลนอาหารและยารักษาโรค ในที่สุด ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนจึงตัดสินใจถอนทัพออกจากพื้นที่[118]

เดินทัพทางไกล: พ.ศ. 2477–78

แก้
 
แผนที่ภาพรวมการเดินทัพทางไกล

วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2477 กองทัพแดงสามารถฝ่าแนวป้องกันของก๊กมินตั๋งทางตะวันตกเฉียงใต้ของโซเวียตเจียงซี ณ เมืองซินเฟิง ด้วยกำลังพล 85,000 นายและสมาชิกพรรค 15,000 คน และได้เริ่มการ "การเดินทัพทางไกล" เพื่อหลบหนี ผู้บาดเจ็บ ป่วย หญิง และเด็กจำนวนมากถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เพื่อให้กลุ่มนักรบกองโจรปกป้อง ซึ่งต่อมาถูกกองทัพก๊กมินตั๋งสังหาร[119] ผู้รอดชีวิตจำนวน 100,000 คน มุ่งหน้าไปทางตอนใต้ของมณฑลหูหนาน โดยข้ามแม่น้ำเซียงหลังจากการสู้รบอย่างหนัก[120] แล้วจึงข้ามแม่น้ำอู๋ ในมณฑลกุ้ยโจว และยึดเมืองจฺวินอี้ได้ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2478 พวกเขาพักในเมืองชั่วคราว และจัดประชุมขึ้น ณ ที่นี้ เหมาได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งผู้นำ กลายเป็นประธานคณะกรมการเมือง และผู้นำทางพฤตินัยของทั้งพรรคและกองทัพแดง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะการสนับสนุนของโจเซฟ สตาลิน ผู้นำสหภาพโซเวียต เหมายืนยันที่จะดำเนินการในรูปแบบกองโจร และกำหนดจุดหมายปลายทางคือโซเวียตเฉิ่นชื่อในมณฑลฉ่านซี ทางตอนเหนือของจีน จากที่นั่น พรรคคอมมิวนิสต์จะสามารถเน้นไปที่การต่อสู้กับญี่ปุ่น เหมาเชื่อว่าการเน้นไปที่การต่อสู้ต่อต้านจักรวรรดินิยมจะทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนจีน ซึ่งจะนำไปสู่การปฏิเสธพรรคก๊กมินตั๋งในที่สุด[121]

จากเมืองจฺวินอี้ เหมาได้นำกองทัพของเขาไปยังด่านโหลวชาน ซึ่งเผชิญกับการต่อต้านทางอาวุธ แต่สามารถข้ามแม่น้ำได้สำเร็จ เจียง ไคเชก บินมายังพื้นที่เพื่อนำกองทัพของเขามาต่อต้านเหมา แต่ฝ่ายคอมมิวนิสต์สามารถหลบหลีกได้และข้ามแม่น้ำจินชา[122] เมื่อเผชิญกับภารกิจที่ยากลำบากกว่าในการข้ามแม่น้ำตาตู้ พวกเขาสามารถทำได้โดยการต่อสู้เพื่อยึดสะพานหลูติ้งในเดือนพฤษภาคม และยึดครองอำเภอหลูติ้ง[123] ที่มู่คง ทางตะวันตกของมณฑลเสฉวน พวกเขาได้พบกับกองทัพแดงที่ 4 ของจาง กั๋วเทา ซึ่งมีกำลังพล 50,000 นาย (ซึ่งเดินทัพมาจากเทือกเขาบริเวณหม่าอันชาน)[124] และร่วมกันเดินทางไปยังเหมาเอ๋อไค่ และต่อมาคือกานซู่ จางและเหมาไม่เห็นด้วยกันเกี่ยวกับสิ่งที่ต้องทำ โดยเหมาต้องการเดินทางไปยังเสียนซี ในขณะที่จางต้องการถอยกลับไปทางตะวันตกไปยังทิเบตหรือสิกขิม ซึ่งห่างไกลจากภัยคุกคามของก๊กมินตั๋ง มีการตกลงกันว่าพวกเขาจะแยกทางกันไป โดยจู เต๋อไปกับจาง[125] กองกำลังของเหมาเดินทางไปทางเหนือ ผ่านทุ่งหญ้าหลายร้อยกิโลเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำที่พวกเขาถูกโจมตีโดยชนเผ่าแมนจู และมีทหารจำนวนมากเสียชีวิตจากความอดอยากและโรคภัย[126] ในที่สุดเมื่อถึงฉ่านซี พวกเขาก็ต้องต่อสู้กับทั้งก๊กมินตั๋งและกองทหารม้าอิสลามก่อนที่จะข้ามเทือกเขาหมินและภูเขาลิ่วผาน และไปถึงโซเวียตเฉื่นชื่อ โดยมีทหารเพียง 7,000–8,000 นายที่รอดชีวิต[127] การเดินทัพไกลนี้ทำให้สถานะของเหมาในฐานะผู้นำหลักของพรรคแข็งแกร่งขึ้น ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2478 เขาได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการทหาร จากจุดนี้เป็นต้นไป เหมาจะเป็นผู้นำที่ไม่มีข้อโต้แย้งใด ๆ ในพรรค แม้ว่าเขาจะไม่ได้เป็นประธานพรรคจนถึงปี พ.ศ. 2486[128]

พันธมิตรกับก๊กมินตั๋ง: พ.ศ. 2478–83

แก้
 
จาง กั๋วเทา (ซ้าย) และเหมาในเหยียนอานเมื่อปี พ.ศ. 2480

กองทัพของเหมาเดินทางมาถึงโซเวียตเหยียนอานในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2478 และตั้งหลักที่ตำบลเป่าอันจนถึงฤดูใบไม้ผลิ พ.ศ. 2479 ในช่วงเวลานั้น พวกเขาได้สร้างความสัมพันธ์กับชุมชนท้องถิ่น แจกจ่ายและทำการเกษตรกับที่ดิน ให้การรักษาพยาบาล และเริ่มโครงการส่งเสริมการอ่านเขียน[129] ตอนนี้เหมามีกำลังพล 15,000 นาย โดยได้รับการเสริมกำลังจากกองทัพของเฮ่อ หลง จากมณฑลหูหนาน และกองทัพของจู เต๋อ และจาง กั๋วเทา ที่กลับมาจากทิเบต[130] ในเดือนกุมภาพันธ์ 2479 พวกเขาได้ก่อตั้ง "มหาวิทยาลัยกองทัพแดงต่อต้านญี่ปุ่นภาคตะวันตกเฉียงเหนือ" ขึ้นที่เหยียนอาน เพื่อฝึกอบรมทหารใหม่จำนวนมาก[131] ในเดือนมกราคม 2480 พวกเขาได้เริ่ม "การกรีธาทัพต่อต้านญี่ปุ่น" โดยส่งกลุ่มนักรบกองโจรเข้าไปในดินแดนที่ญี่ปุ่นยึดครองเพื่อทำการโจมตีแบบประปราย[132] ในเดือนพฤษภาคม มีการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ที่เหยียนอานเพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์[133] นักข่าวตะวันตกยังเดินทางมาถึง "เขตชายแดน" (ซึ่งเป็นชื่อใหม่ของโซเวียต) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เอ็ดการ์ สโนว์ ผู้ใช้ประสบการณ์ของเขาเป็นพื้นฐานสำหรับหนังสือ "ดาวแดงเหนือแผ่นดินจีน" และแอกเนส สเมดลีย์ ซึ่งเรื่องราวของเขาทำให้นานาชาติให้ความสนใจต่อประเด็นของเหมา[134]

 
เพื่อเอาชนะญี่ปุ่น เหมา (ซ้าย) จึงตกลงร่วมมือกับเจียง ไคเชก (ขวา)
 
เหมาในปี พ.ศ. 2481 เขียนหนังสือชื่อว่า "สงครามยืดเยื้อ"

ระหว่างการเดินทัพยาวไกล เฮ่อ จื่อเจิน ภรรยาของเหมาได้รับบาดเจ็บจากสะเก็ดระเบิดที่ศีรษะ เธอเดินทางไปมอสโกเพื่อรักษาตัว ในขณะเดียวกันเหมาก็ได้หย่ากับเธอและแต่งงานใหม่กับเจียง ชิง นักแสดงหญิง[135][136] มีรายงานว่า เฮ่อ จื่อเจิน ถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลบ้าในมอสโกเพื่อ "เปิดทาง" ให้เจียงชิง[137] เหมาย้ายไปอยู่บ้านถ้ำและใช้เวลาส่วนใหญ่ในการอ่านหนังสือ ดูแลสวน และคิดทฤษฎี[138] เขาเริ่มเชื่อว่ากองทัพแดงเพียงลำพังไม่สามารถเอาชนะญี่ปุ่นได้ และควรจัดตั้ง "รัฐบาลป้องกันชาติ" นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์ร่วมกับพรรคก๊กมินตั๋ง และกลุ่ม "ชาตินิยมชนชั้นกลาง" เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้[139] แม้จะเกลียดชังเจียง ไคเชก ในฐานะ "ผู้ทรยศชาติ" ก็ตาม[140] ในวันที่ 5 พฤษภาคม เขาได้ส่งโทรเลขไปยังคณะกรรมการทหารของรัฐบาลแห่งชาติหนานจิง เสนอการเป็นพันธมิตรทางทหาร ซึ่งเป็นแนวทางที่สตาลินสนับสนุน[141] แม้ว่าเจียงจะตั้งใจเพิกเฉยข้อความของเหมาและสานต่อสงครามกลางเมือง แต่เขาก็ถูกจับกุมโดยนายพลคนหนึ่งของเขาเองคือ จาง สฺเวเหลียง ในซีอาน นำไปสู่อุบัติการณ์ซีอาน จางบังคับให้เจียงเจรจากับพรรคคอมมิวนิสต์ ส่งผลให้เกิดการจัดตั้งแนวร่วมแห่งชาติ (United Front) ขึ้น โดยทั้งสองฝ่ายยอมรับข้อเสนอของกันและกันเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2480[142]

ญี่ปุ่นได้ยึดครองเมืองสำคัญอย่างเซี่ยงไฮ้และหนานจิง ซึ่งนำไปสู่การเกิดเหตุการณ์นองเลือดที่เรียกว่า "การสังหารหมู่ที่หนานจิง" ซึ่งเหมาไม่เคยพูดถึงเหตุการณ์นี้เลยตลอดชีวิตของเขา ญี่ปุ่นผลักดันรัฐบาลก๊กมินตั๋งให้ถอยร่นเข้าไปยังเมืองฉงชิ่ง[143] ความโหดร้ายของญี่ปุ่นทำให้ชาวจีนเข้าร่วมการต่อสู้มากขึ้น และกองทัพแดงก็เติบโตจาก 50,000 เป็น 500,000 คน[144][145] ในเดือนสิงหาคม 2481 กองทัพแดงได้จัดตั้งกองทัพที่สี่ใหม่และกองทัพลู่ที่แปด ซึ่งอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของกองทัพปฏิวัติแห่งชาติของเจียง ไคเชก[146] ในเดือนสิงหาคม 2483 กองทัพแดงได้เริ่มปฏิบัติการร้อยกองทัพ โดยมีกำลังพล 400,000 นายโจมตีญี่ปุ่นพร้อมกันในห้ามณฑล ซึ่งประสบความสำเร็จทางทหาร ทำให้มีทหารญี่ปุ่นเสียชีวิต 20,000 นาย เส้นทางรถไฟถูกทำลาย และเหมืองถ่านหินถูกยึดครอง[145][147] จากฐานที่มั่นของเขาที่เหยียนอาน เหมาได้เขียนตำราหลายเล่มให้กับกองทัพของเขารวมถึง "ปรัชญาแห่งการปฏิวัติ" ซึ่งเป็นการแนะนำทฤษฎีความรู้ของมาร์กซิสต์, "สงครามยืดเยื้อ" ซึ่งเกี่ยวกับยุทธวิธีการก่อกวนและเคลื่อนทัพ และ "ประชาธิปไตยใหม่" ซึ่งวางแนวคิดสำหรับอนาคตของจีน[148]

 
เหมากับคัง เชิง ในเหยียนอาน ปี พ.ศ. 2488

กลับมาทำสงครามกลางเมือง: พ.ศ. 2483–92

แก้

ในปี พ.ศ. 2487 สหรัฐได้ส่งคณะผู้แทนทางการทูตพิเศษที่เรียกว่า "คณะทูตดิกซี" ไปยังพรรคคอมมิวนิสต์จีน ทหารอเมริกันที่เข้าร่วมภารกิจนี้มีความประทับใจในพรรคคอมมิวนิสต์จีน พวกเขามองว่าพรรคนี้มีการทุจริตน้อยกว่า มีความสามัคคีมากกว่า และมีความแข็งขันในการต่อต้านญี่ปุ่นมากกว่าพรรคก๊กมินตั๋ง ทหารเหล่านี้ได้รายงานต่อผู้บังคับบัญชาว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนนั้นทั้งแข็งแกร่งและได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง[149] ในท้ายที่สุด ความสัมพันธ์ที่สหรัฐพัฒนาขึ้นกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน นำไปสู่ผลลัพธ์เพียงเล็กน้อย[149] หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐยังคงให้ความช่วยเหลือทางการทูตและการทหารแก่เจียง ไคเชก และกองกำลังรัฐบาลก๊กมินตั๋งในการต่อสู้กับกองทัพปลดปล่อยประชาชน (PLA) ที่นำโดยเหมา เจ๋อตง ระหว่างสงครามกลางเมือง และละทิ้งแนวคิดที่จะจัดตั้งรัฐบาลผสมที่จะรวมพรรคคอมมิวนิสต์จีน[150] ในขณะเดียวกัน สหภาพโซเวียตก็ให้การสนับสนุนเหมา โดยการยึดครองภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน และให้การสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์จีนอย่างลับ ๆ ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2489[151]

 
ทหารปลดปล่อยประชาชนที่ได้รับการสนับสนุนจากรถถังเบา M5 สจวต ที่ยึดได้ กำลังโจมตีแนวของฝ่ายชาตินิยมในปี พ.ศ. 2491

ในปี พ.ศ. 2491 ภายใต้คำสั่งโดยตรงจากเหมา กองทัพปลดปล่อยประชาชนได้ปิดล้อมกองกำลังก๊กมินตั๋งที่ยึดครองเมืองฉางชุน ทำให้มีประชาชนเสียชีวิตอย่างน้อย 160,000 คน ในระหว่างการปิดล้อมที่กินเวลานานถึง 5 เดือน ตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงตุลาคม พันเอกจาง เจิ้งหลู่ จากกองทัพปลดปล่อยประชาชน ผู้บันทึกการปิดล้อมในหนังสือ "หิมะขาว เลือดแดง" ได้เปรียบเทียบเหตุการณ์นี้กับฮิโรชิมะว่า "ผู้เสียชีวิตใกล้เคียงกัน ฮิโรชิมะใช้เวลา 9 วินาที แต่ชางชุนใช้เวลาถึง 5 เดือน"[152] ต่อมาในวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2492 กองกำลังก๊กมินตั๋งประสบความสูญเสียอย่างหนักในการต่อสู้กับกองกำลังของเหมา[153] และในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2492 กองทัพปลดปล่อยประชาชนก็ได้ปิดล้อมเมืองฉงชิ่งและเฉิงตู บนแผ่นดินใหญ่ของจีน ทำให้เจียง ไคเชก ต้องหลบหนีจากแผ่นดินใหญ่ไปยังไต้หวัน[153][154]

ผู้นำจีน

แก้

สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน

แก้
 
เหมา เจ๋อตง ประกาศสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2492

เหมา เจ๋อตง ประกาศสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนประตูแห่งสันติภาพสวรรค์ (เทียนอันเหมิน) เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2492 และต่อมาในสัปดาห์เดียวกันก็ได้ประกาศว่า "มวลชนชาวจีนได้ลุกขึ้นแล้ว" (中国人民从此站起来了)[155] เหมาเดินทางไปกรุงมอสโกเพื่อการเจรจาที่ยาวนานในช่วงฤดูหนาวปี พ.ศ. 2492–2493 เหมาเป็นผู้ริเริ่มการเจรจาซึ่งมุ่งเน้นไปที่การปฏิวัติทางการเมืองและเศรษฐกิจของจีน นโยบายต่างประเทศ ทางรถไฟ ฐานทัพเรือ และความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของโซเวียต สัญญาที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงความเหนือกว่าของสตาลินและความเต็มใจที่จะช่วยเหลือเหมา[156][157]

แนวคิดแบบมาร์กซิสต์ของเหมาได้รับอิทธิพลอย่างมากจากเลนิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องความสำคัญของกลุ่มแนวหน้า[158] เหมาเชื่อว่าเฉพาะการนำที่ถูกต้องของพรรคคอมมิวนิสต์เท่านั้นที่จะนำจีนก้าวสู่สังคมนิยมได้[158] ในทางกลับกัน เหมาก็เชื่อว่าการเคลื่อนไหวของประชาชนและการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางเป็นสิ่งจำเป็นในการควบคุมระบบราชการ[158]

 
เหมา เจ๋อตง กับภรรยาคนที่สี่ เจียง ชิง หรือที่รู้จักกันในชื่อ "มาดามเหมา" ในปี พ.ศ. 2489

สงครามเกาหลี

แก้

เหมาผลักดันพรรคคอมมิวนิสต์จีนให้จัดการรณรงค์เพื่อปฏิรูปสังคมและขยายการควบคุม การรณรงค์เหล่านี้ถูกเร่งให้มีความเร่งด่วนขึ้นในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2493 เมื่อเหมาตัดสินใจส่งกองทัพอาสาสมัครประชาชน ซึ่งเป็นหน่วยพิเศษของกองทัพปลดปล่อยประชาชนเข้าร่วมสงครามเกาหลี และต่อสู้เพื่อเสริมกำลังให้กับกองทัพประชาชนเกาหลีซึ่งกำลังถอยร่นอย่างหนัก สหรัฐอเมริกาตอบโต้ด้วยการคว่ำบาตรทางการค้ากับสาธารณรัฐประชาชนจีน เนื่องจากการเข้าร่วมสงครามเกาหลี ซึ่งกินเวลานานจนกระทั่งความสัมพันธ์ดีขึ้นในสมัยประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน มีทหารจีนเสียชีวิตอย่างน้อย 180,000 นายในสงครามเกาหลี[159]

เหมาควบคุมการปฏิบัติการอย่างละเอียดถี่ถ้วนในฐานะประธานคณะกรรมการการทหารส่วนกลาง เขาเป็นทั้งผู้บัญชาการทหารสูงสุดของทั้งกองทัพปลดปล่อยประชาชนและสาธารณรัฐประชาชนจีน รวมถึงประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีนด้วย กองทัพจีนในเกาหลีอยู่ภายใต้การบัญชาการโดยรวมของนายกรัฐมนตรีโจว เอินไหล ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งใหม่ โดยมีนายพลเผิง เต๋อหวยเป็นผู้บัญชาการภาคสนามและคณะกรรมการการเมือง[160]

การปฏิรูปสังคม

แก้

ในช่วงการรณรงค์ปฏิรูปที่ดิน พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้จัดการประชุมประชาชนขนาดใหญ่ ยึดที่ดินจากเจ้าของเดิมซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินและชาวนาผู้ร่ำรวยนำไปแจกจ่ายให้กับชาวนาที่ยากจน ช่วงเวลานี้มีการประชาทัณฑ์ทำร้ายเจ้าของที่ดินและชาวนาผู้ร่ำรวยจำนวนมากจนเสียชีวิต ส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจลดลงอย่างมาก[161][162] นอกจากนี้ยังมีการรณรงค์ปราบปรามกลุ่มต่อต้านการปฏิวัติ[163] ซึ่งมุ่งเป้าไปที่ชนชั้นนายทุนข้าราชการอาทิ นายหน้าการค้า (คอมประดอร์) พ่อค้า และเจ้าหน้าที่ของพรรคก๊กมินตั๋ง ที่พรรคคอมมิวนิสต์มองว่าเป็นพวกเกาะกินเศรษฐกิจหรือศัตรูทางการเมือง[164] ในปี พ.ศ. 2519 กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐได้ประมาณการว่ามีผู้เสียชีวิตจากการปฏิรูปที่ดินราว 1 ล้านคน และเสียชีวิตจากการรณรงค์ปราบปรามกลุ่มต่อต้านการปฏิวัติราว 800,000 คน[165]

เหมาอ้างว่ามีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 700,000 คนจากการโจมตี "ศัตรูภายใน" ในช่วงปี พ.ศ. 2493 ถึง 2495[166] เนื่องจากมีนโยบายที่จะเลือก "เจ้าของที่ดินอย่างน้อยหนึ่งราย และโดยปกติแล้วมักจะเลือกหลายคน ในแทบทุกหมู่บ้านเพื่อประหารชีวิตในที่สาธารณะ"[167] จำนวนผู้เสียชีวิตจึงอยู่ระหว่าง 2 ล้าน[167][168][163] ถึง 5 ล้านคน[169][170] นอกจากนี้ยังมีผู้คนอย่างน้อย 1.5 ล้านคน[171] หรืออาจมากถึง 4 ถึง 6 ล้านคน[172] ถูกส่งไปยังค่าย "ปฏิรูปผ่านแรงงาน" ซึ่งมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก[172] เหมามีบทบาทส่วนตัวในการจัดระเบียบการปราบปรามหมู่มาก และสร้างระบบโควตาการประหารชีวิต[173] ซึ่งมักจะเกินจำนวน[163] เขาปกป้องการฆ่าเหล่านี้ว่าจำเป็นต่อการรักษาอำนาจ[174]

 
เหมาในงานฉลองวันเกิดครบรอบ 71 ปีของโจเซฟ สตาลิน ที่กรุงมอสโก ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2492

รัฐบาลของเหมาประสบความสำเร็จในการขจัดการผลิตและการบริโภคฝิ่นในช่วงทศวรรษที่ 1950 โดยใช้การปราบปรามอย่างหนักและการปฏิรูปสังคม[175][176] ผู้ติดสารเสพติดกว่า 10 ล้านคนถูกบังคับเข้ารับการบำบัด ผู้ค้ายาเสพติดถูกประหารชีวิต และพื้นที่เพาะปลูกฝิ่นถูกเปลี่ยนเป็นการปลูกพืชชนิดใหม่ การผลิตฝิ่นที่เหลืออยู่ได้ย้ายไปทางใต้ของชายแดนจีนเข้าสู่พื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ[176]

ซานฝ่านอู่ฝ่าน

แก้

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2494 เหมาได้ริเริ่มขบวนการต่อเนื่องสองครั้งเพื่อกวาดล้างความทุจริตในเมือง โดยการโจมตีกลุ่มทุนนิยมที่ร่ำรวยและฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ซึ่งเรียกว่า "การรณรงค์ต้านสาม" และ "การรณรงค์ต้านห้า" หรือซานฝ่านอู๋ฝ่าน โดยต้านสามมุ่งเป้าไปที่การกวาดล้างเจ้าหน้าที่ของรัฐ อุตสาหกรรม และพรรค ส่วนต้านห้านั้นมีขอบเขตที่กว้างกว่า โดยมุ่งเป้าไปที่กลุ่มทุนนิยมโดยทั่วไป[177] คนงานได้กล่าวหาเจ้านาย ภรรยาหันมาใส่ร้ายสามี และลูกได้แจ้งจับพ่อแม่ ผู้ถูกกล่าวหาจะถูกนำตัวไปประจานในที่สาธารณะ โดยถูกทารุณทั้งทางวาจาและร่างกายจนกว่าจะสารภาพผิด เหมายืนยันว่าผู้กระทำผิดเล็กน้อยควรได้รับการวิพากษ์วิจารณ์และแก้ไข หรือส่งไปค่ายแรงงาน "ในขณะที่คนเลวที่สุดควรจะถูกยิง" ขบวนการเหล่านี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นหลายแสนคน ซึ่งส่วนใหญ่เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย

 
เหมาและโจว เอินไหล พบปะกับทะไลลามะ (ขวา) และแป็นแช็นลามะ (ซ้าย) เพื่อเฉลิมฉลองปีใหม่ทิเบต ในกรุงปักกิ่ง พ.ศ. 2498

ที่เซี่ยงไฮ้ การฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดจากตึกสูงกลายเป็นเรื่องปกติจนชาวบ้านต้องหลีกเลี่ยงการเดินบนทางเท้าใกล้ตึกสูงเพราะกลัวว่าผู้ฆ่าตัวตายจะตกใส่[178] นักเขียนชีวประวัติบางคนชี้ให้เห็นว่า การผลักดันให้ศัตรูฆ่าตัวตายเป็นกลยุทธ์ทั่วไปในยุคเหมา ในชีวประวัติของเหมา ฟิลิป ชอร์ตระบุว่าเหมาได้สั่งอย่างชัดเจนในขบวนการแก้ไขเหยียนอานว่า "ห้ามฆ่าแกนนำใด ๆ" แต่ในทางปฏิบัติกลับอนุญาตให้คัง เชิง หัวหน้าฝ่ายความมั่นคงกดดันฝ่ายตรงข้ามให้ฆ่าตัวตาย และ "รูปแบบนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าตลอดระยะเวลาการเป็นผู้นำของเขาในสาธารณรัฐประชาชนจีน"

 
รูปภาพของเหมาขณะนั่งอยู่ ซึ่งตีพิมพ์ใน "คติพจน์จากประธานเหมา เจ๋อตง" ประมาณปี พ.ศ. 2498

แผนห้าปี

แก้

หลังจากรวมอำนาจแล้ว เหมาได้เปิดตัวแผนห้าปีฉบับแรก (พ.ศ. 2496–2501) ซึ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว โดยให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า พลังงานไฟฟ้า ถ่านหิน วิศวกรรมหนัก วัสดุก่อสร้าง และเคมีภัณฑ์พื้นฐาน โดยมีเป้าหมายสร้างโรงงานขนาดใหญ่ที่ใช้เงินทุนสูง โรงงานเหล่านี้หลายแห่งได้รับความช่วยเหลือจากโซเวียต ทำให้อุตสาหกรรมหนักเติบโตอย่างรวดเร็ว[179] นอกจากนี้ เกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการค้าถูกจัดตั้งเป็นสหกรณ์แรงงาน[180] ช่วงเวลานี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วของจีน และประสบความสำเร็จอย่างมาก.[181]

แม้ตอนแรกเหมาจะเห็นด้วยกับรัฐบาลปฏิรูปของอิมแร นอจ แต่เมื่อการปฏิวัติฮังการีในปี พ.ศ. 2499 ดำเนินต่อไปและทวีความรุนแรงขึ้น เหมาเริ่มกลัวการ "ฟื้นฟูปฏิกิริยา" ในฮังการี เขาคัดค้านการถอนทหารของโซเวียตโดยสั่งให้หลิว เช่าฉี แจ้งตัวแทนโซเวียตให้ใช้การแทรกแซงทางทหารต่อผู้ประท้วงและรัฐบาลของนอจที่ "ได้รับการสนับสนุนจากจักรวรรดินิยมตะวันตก" อย่างไรก็ตาม ไม่ชัดเจนว่าจุดยืนของเหมาส่งผลต่อการตัดสินใจบุกฮังการีของนีกีตา ครุชชอฟ มากน้อยเพียงใด และยังไม่ชัดเจนว่าจีนถูกบังคับให้ยอมรับจุดยืนของโซเวียตเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจและการฉายภาพอำนาจที่ด้อยกว่าของจีนเมื่อเทียบกับสหภาพโซเวียต แม้ว่าเหมาจะไม่เห็นด้วยกับการครอบงำของมอสโกในกลุ่มประเทศตะวันออก แต่เขามองว่าความสมบูรณ์ของขบวนการคอมมิวนิสต์ระหว่างประเทศสำคัญกว่าการปกครองตนเองของประเทศในเขตอิทธิพลของโซเวียต วิกฤตฮังการียังมีอิทธิพลต่อการรณรงค์ร้อยบุปผาของเหมา เหมาตัดสินใจผ่อนปรนท่าทีต่อปัญญาชนชาวจีน และอนุญาตให้พวกเขาแสดงความไม่พอใจต่อสังคมและวิจารณ์ข้อผิดพลาดของรัฐบาล ซึ่งเหมาต้องการใช้การขบวนการนี้เพื่อป้องกันการเกิดการลุกขึ้นต่อต้านในลักษณะเดียวกันในจีน อย่างไรก็ตาม เมื่อประชาชนชาวจีนเริ่มวิจารณ์นโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและการนำของเหมาหลังจากการรณรงค์ร้อยบุปผา เหมาได้ปราบปรามขบวนการที่เขาเริ่มต้นและเปรียบเทียบกับการปฏิวัติฮังการีที่ "ต่อต้านการปฏิวัติ"[182]

ในช่วงการรณรงค์ร้อยบุปผา เหมาแสดงท่าทีเปิดรับความคิดเห็นที่แตกต่างเกี่ยวกับการปกครองประเทศจีน เมื่อได้รับอิสรภาพในการแสดงความคิดเห็น ชาวจีนกลุ่มเสรีนิยมและปัญญาชนเริ่มคัดค้านพรรคคอมมิวนิสต์และตั้งคำถามต่อการนำของพรรค ในช่วงแรกการกระทำนี้ได้รับการยอมรับและสนับสนุน แต่หลังจากนั้นไม่กี่เดือน รัฐบาลของเหมาได้เปลี่ยนนโยบายและดำเนินการปราบปรามผู้ที่วิจารณ์พรรค ซึ่งอาจมีจำนวนถึง 500,000 คน[183] รวมถึงผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าวิจารณ์ด้วย ในสิ่งที่เรียกว่า "ขบวนการต่อต้านฝ่ายขวาจัด" นำไปสู่การข่มเหงประชาชนอย่างน้อย 550,000 คน ส่วนใหญ่เป็นปัญญาชนและผู้เห็นต่าง[184] หลี่ จื้อสุย แพทย์ประจำตัวของเหมาเสนอว่า ในตอนแรกเหมามองว่านโยบายนี้เป็นวิธีการลดทอนความเป็นปฏิปักษ์ต่อเขาภายในพรรค และเขารู้สึกประหลาดใจกับขอบเขตของการวิจารณ์และความจริงที่ว่ามันถูกนำไปใช้กับการนำของเขาเอง[185]

โครงการทางทหาร

แก้

การข่มขู่ของประธานาธิบดีดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ ของสหรัฐในช่วงวิกฤตการณ์ช่องแคบไต้หวันครั้งแรกว่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์โจมตีเป้าหมายทางทหารในมณฑลฝูเจี้ยน ได้กระตุ้นให้เหมาริเริ่มโครงการนิวเคลียร์ของจีน[186]: 89–90  ภายใต้โครงการ "ระเบิดสองลูก หนึ่งดาวเทียม" ของเหมา จีนได้พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และระเบิดไฮโดรเจนได้อย่างรวดเร็ว[หาจำนวน] และปล่อยดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรเพียงไม่กี่ปีหลังจากที่โซเวียตปล่อยดาวเทียมสปุตนิก[187]: 218 

โครงการ 523 (จีน: 523项目)[188] เป็นชื่อรหัสของโครงการลับทางทหารในปี พ.ศ. 2510 ของสาธารณรัฐประชาชนจีนเพื่อค้นหายารักษาโรคมาลาเรีย[189] ตั้งชื่อตามวันที่เริ่มดำเนินการโครงการคือ 23 พฤษภาคม เพื่อแก้ไขปัญหาโรคมาลาเรียซึ่งเป็นภัยคุกคามสำคัญในสงครามเวียดนาม ตามคำร้องขอของโฮจิมินห์ นายกรัฐมนตรีเวียดนามเหนือ โจว เอินไหลได้โน้มน้าวเหมาให้เริ่มโครงการขนาดใหญ่ "เพื่อรักษาความพร้อมรบของกองทัพพันธมิตร" ตามที่บันทึกการประชุมระบุ มีการเกณฑ์นักวิทยาศาสตร์ชาวจีนกว่า 500 คนเข้าร่วมโครงการ โครงการแบ่งออกเป็นสามสายงาน[190] หนึ่งในนั้นคือการศึกษาเกี่ยวกับยาแผนจีนโบราณ ซึ่งค้นพบและนำไปสู่การพัฒนายากลุ่มใหม่ที่เรียกว่า "อาร์ทีมิซินิน"[190][191] โครงการ 523 เริ่มต้นและดำเนินต่อไปตลอดช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม และสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2524

นโยบายก้าวกระโดดไกล

แก้
 
เหมากับนีกีตา ครุชชอฟ, โฮจิมินห์ และซ่ง ชิ่งหลิงในงานเลี้ยงของรัฐในกรุงปักกิ่งในปี พ.ศ. 2502

ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2501 เหมาได้เปิดตัวแผนห้าปีฉบับที่สองซึ่งรู้จักกันในชื่อ "การก้าวกระโดดไกลไปข้างหน้า" แผนนี้มีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนแปลงจีนจากประเทศเกษตรกรรมให้กลายเป็นอุตสาหกรรม[192] และเป็นรูปแบบทางเลือกสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ แทนแบบอย่างโซเวียตที่เน้นอุตสาหกรรมหนักซึ่งได้รับการสนับสนุนจากคนอื่น ๆ ในพรรค ภายใต้โครงการเศรษฐกิจนี้ สหกรณ์การเกษตรขนาดเล็กที่มีอยู่เดิมได้ถูกควบรวมกันอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นคอมมูนประชาชนขนาดใหญ่ และชาวนาจำนวนมากได้รับคำสั่งให้ทำงานในโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และการผลิตเหล็กและเหล็กกล้า การผลิตอาหารส่วนบุคคลถูกห้าม ปศุสัตว์และเครื่องมือทางการเกษตรถูกนำมาไว้ภายใต้กรรมสิทธิ์ร่วม[193]

ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดด เหมาและผู้นำพรรคคนอื่น ๆ ได้สั่งการให้คอมมูนนำเอาเทคนิคการเกษตรใหม่ ๆ ที่ยังไม่ผ่านการพิสูจน์และไร้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์มาใช้ ผลรวมของการเบี่ยงเบนแรงงานไปสู่การผลิตเหล็กและโครงการโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นช่วง ๆ ทำให้ผลผลิตธัญพืชลดลงประมาณ 15% ในปี 2502 ตามด้วยการลดลงอีก 10% ในปี 2503 และไม่มีการฟื้นตัวในปี 2504[194]

เจ้าหน้าที่ระดับล่างของพรรคได้รายงานผลผลิตธัญพืชเกินจริงเพื่อเอาใจผู้บังคับบัญชาและหลีกเลี่ยงการถูกลงโทษ จากข้อมูลเท็จดังกล่าวรัฐบาลจึงสั่งให้เก็บเกี่ยวธัญพืชในปริมาณมากเกินความเป็นจริงเพื่อส่งไปยังเมืองและส่งออก ด้วยนโยบายนี้รวมกับภัยธรรมชาติอย่างภัยแล้งและน้ำท่วม ทำให้ชาวนามีอาหารไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ส่งผลให้ประชาชนหลายล้านคนเสียชีวิตจากความอดอยาก ประชาชนในเมืองได้รับอาหารผ่านบัตรอาหาร แต่ชาวนาต้องปลูกข้าวเองและส่งมอบส่วนหนึ่งให้รัฐบาล ซึ่งทำให้ความสูญเสียชีวิตในชนบทรุนแรงกว่าในเมือง รัฐบาลยังคงส่งออกอาหารในขณะที่ประชาชนกำลังอดอยาก[195] ความอดอยากเป็นสาเหตุโดยตรงของการเสียชีวิตของชาวนาจีนราว 30 ล้านคน ระหว่างปี 2502 ถึง 2505[196] นอกจากนี้เด็กจำนวนมากที่ขาดสารอาหารในช่วงความอดอยากได้เสียชีวิตหลังจากการก้าวกระโดดไกลสิ้นสุดลงในปี 2505[194]

ในช่วงปลายฤดูใบไม้ร่วง พ.ศ. 2501 เหมาได้ประณามแนวปฏิบัติที่ใช้ในช่วงการก้าวกระโดดไกลเช่น การบังคับให้ชาวนาทำงานหนักเกินไปโดยไม่มีอาหารหรือการพักผ่อนเพียงพอ ซึ่งนำไปสู่การระบาดของโรคและความอดอยาก เขาได้ยอมรับว่าการรณรงค์ต่อต้านพวกขวาจัดเป็นสาเหตุหลักของ "การผลิตที่สละความเป็นอยู่" เขาปฏิเสธที่จะละทิ้งการก้าวกระโดดไกลเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ แต่เขาก็เรียกร้องให้เผชิญหน้ากับปัญหาเหล่านั้น หลังการเผชิญหน้ากับเผิง เต๋อหวยที่การประชุมหลูชานในเดือนกรกฎาคม 2502 เหมาก็ได้เปิดฉากการปราบปรามฝ่ายขวาจัดครั้งใหม่ พร้อมกับนโยบายสุดโต่งที่เขายกเลิกไปก่อนหน้านี้ จนกระทั่งฤดูใบไม้ผลิปี 2503 เหมาจึงแสดงความกังวลเกี่ยวกับการเสียชีวิตที่ผิดปกติและการละเมิดอื่น ๆ อีกครั้ง แต่เขาก็ไม่ได้ดำเนินการเพื่อหยุดยั้ง เบิร์นสไตน์สรุปว่าเหมา "เพิกเฉยต่อบทเรียนจากระยะแรกของความสุดโต่งเพื่อบรรลุเป้าหมายทางอุดมการณ์และการพัฒนาที่รุนแรง"[197]

แจสเปอร์ เบ็คเกอร์ บันทึกว่าเหมาไม่สนใจรายงานเรื่องการขาดแคลนอาหารในชนบท และปฏิเสธที่จะเปลี่ยนแนวทาง โดยเชื่อว่าชาวนาโกหก และพวกขวาจัดและคูลักนั้นซ่อนข้าวเอาไว้ เขาปฏิเสธที่จะเปิดคลังธัญพืชของรัฐ[198] และแทนที่จะทำเช่นนั้น เขาได้เปิดฉากการต่อต้าน "การซ่อนข้าว" ซึ่งนำไปสู่การกวาดล้างและการฆ่าตัวตายจำนวนมาก[199] การรณรงค์ที่รุนแรงอื่น ๆ ตามมา โดยที่ผู้นำพรรคเดินทางไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ เพื่อค้นหาอาหารที่ถูกซ่อนไว้ ไม่ใช่แค่ข้าวเท่านั้น เพราะเหมาตั้งโควตาสำหรับหมู ไก่ เป็ด และไข่ด้วย ชาวนาจำนวนมากถูกกล่าวหาว่าซ่อนอาหาร จึงถูกทรมานและตีจนตาย[200]

ความรุนแรงของสถานการณ์ที่เหมาทราบนั้นเป็นที่ถกเถียงกัน หลี่ จื้อสุย แพทย์ประจำตัวของเหมากล่าวว่าเหมาอาจไม่ทราบถึงความรุนแรงของความอดอยาก เนื่องจากบางส่วนเป็นเพราะความไม่เต็มใจของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่จะวิจารณ์นโยบายของเขา และความเต็มใจของเจ้าหน้าที่ของเขาที่จะพูดเกินจริงหรือปลอมแปลงรายงาน[201] หลี่เขียนว่า เมื่อทราบถึงความรุนแรงของความอดอยาก เหมาได้สาบานว่าจะหยุดกินเนื้อซึ่งเป็นการกระทำที่เจ้าหน้าที่ของเขาทำตาม[202]

 
เหมาจับมือกับชาวนาในคอมมูน ในปี 2502

เหมาลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีในวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2502 แต่ยังคงดำรงตำแหน่งสำคัญอื่น ๆ เช่น ประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน และประธานคณะกรรมการการทหารส่วนกลาง[203] ตำแหน่งประธานาธิบดีถูกส่งผ่านให้กับหลิว เช่าฉี[203] ในที่สุด เหมาถูกบังคับให้ละทิ้งนโยบายในปี พ.ศ. 2505 และสูญเสียอำนาจทางการเมืองให้กับหลิว เช่าฉี และเติ้ง เสี่ยวผิง[204]

การก้าวกระโดดไกลไปข้างหน้าเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่สำหรับชาวจีน แม้ว่าจะมีการรายงานว่าสามารถผลิตเหล็กได้ตามเป้าหมาย แต่เหล็กเกือบทั้งหมดที่ผลิตในชนบทนั้นเป็นเหล็กแท้ ๆ เนื่องจากมันถูกหลอมจากเศษเหล็กต่าง ๆ ในเตาหลอมแบบบ้าน ๆ ที่ไม่มีแหล่งเชื้อเพลิงที่เชื่อถือได้ เช่น ถ่านหิน ซึ่งหมายความว่าไม่สามารถควบคุมสภาวะการหลอมเหล็กได้อย่างถูกต้อง ตามที่เจียง หรงเม่ย์ ครูสอนเรขาคณิตในชนบทของเซี่ยงไฮ้ในช่วงการก้าวกระโดดไกลกล่าวไว้ว่า "เราเอาเฟอร์นิเจอร์ หม้อ และกระทะทุกอย่างที่มีในบ้านของเรามา รวมถึงของเพื่อนบ้านด้วย เราใส่ทุกอย่างลงในกองไฟขนาดใหญ่และหลอมโลหะทั้งหมดลง"[ต้องการอ้างอิง] ความอดอยากที่เลวร้ายที่สุดถูกเบี่ยงเบนไปยังศัตรูของรัฐ[205] แจสเปอร์ เบ็คเคอร์ อธิบายว่า "กลุ่มประชากรที่เปราะบางที่สุดของจีนประมาณ 5% เป็นกลุ่มที่เหมาเรียกว่า 'ศัตรูของประชาชน' ผู้ใดก็ตามที่ถูกตราหน้าว่าเป็น 'องค์ประกอบดำ' ในการปราบปรามครั้งก่อนหน้านี้จะได้รับความสำคัญต่ำสุดในการจัดสรรอาหาร เจ้าของที่ดิน ชาวนาที่ร่ำรวย อดีตสมาชิกรัฐบาลก๊กมินตั๋ง ผู้นำศาสนา กลุ่มขวาจัด กลุ่มต่อต้านการปฏิวัติ และครอบครัวของบุคคลเหล่านี้เสียชีวิตจำนวนมากที่สุด"[206]

ตามสถิติอย่างเป็นทางการของจีนสำหรับแผนห้าปีฉบับที่สอง (พ.ศ. 2501–2505) ได้แก่ มูลค่าผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า มูลค่ารวมของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเพิ่มขึ้น 35% ผลผลิตเหล็กในปี 2505 อยู่ระหว่าง 10.6–12 ล้านตัน การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้นเป็น 40% จาก 35% ในช่วงแผนห้าปีฉบับแรก การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า และรายได้เฉลี่ยของคนงานและชาวนาเพิ่มขึ้นสูงสุด 30%[207]

ในปี พ.ศ. 2505 ที่กรุงปักกิ่ง ได้มีการจัดประชุมพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งใหญ่ที่เรียกว่า "การประชุมคณะทำงานเจ็ดพันนาย" ประธานหลิว เช่าฉี ได้ประณามการก้าวกระโดดไกลโดยกล่าวโทษโครงการนี้ว่าเป็นสาเหตุของการอดอยากอาหารครั้งใหญ่ในจีน[208] ผู้แทนส่วนใหญ่เห็นพ้องกัน แต่รัฐมนตรีกลาโหม หลิน เปียว กลับปกป้องเหมาอย่างแข็งขัน[208] ตามมาด้วยการผ่อนปรนระยะเวลาสั้น ๆ ในขณะที่เหมาและหลินวางแผนการกลับมา[208] หลิว เช่าฉี และเติ้ง เสี่ยวผิง ได้ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยการยุบคอมมูนประชาชน นำระบบการควบคุมแบบเอกชนมาใช้กับที่ดินขนาดเล็กของชาวนา และนำเข้าเมล็ดพืชจากแคนาดาและออสเตรเลียเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดของการอดอยาก[209]

 
เหมากับเฮนรี คิสซินเจอร์ และโจวเอินไหลในปี พ.ศ. 2515

ในที่ประชุมหลูชานในเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม พ.ศ. 2502 รัฐมนตรีหลายคนแสดงความกังวลว่าการก้าวกระโดดไกลนั้นไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จอมพลเผิง เต๋อหวย รัฐมนตรีกลาโหมและวีรบุรุษสงครามเกาหลี ที่ได้วิพากษ์วิจารณ์การก้าวกระโดดไกลอย่างตรงไปตรงมา หลังจากการวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าว เหมาได้สั่งการให้ปลดเผิงและผู้สนับสนุนออกจากตำแหน่งเพื่อปิดปากผู้วิพากษ์วิจารณ์ เจ้าหน้าที่ระดับสูงที่รายงานความจริงเกี่ยวกับความอดอยากให้เหมาทราบถูกตราหน้าว่าเป็น "โอกาสนิยมขวา" [210] มีการเปิดฉากการรณรงค์ต่อต้านโอกาสนิยมขวา ส่งผลให้สมาชิกพรรคและชาวนาธรรมดาถูกส่งตัวไปคุมขังในค่ายแรงงาน ซึ่งหลายคนเสียชีวิตจากความอดอยากในเวลาต่อมา หลายปีต่อมา พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้สรุปว่า มีผู้คนถึง 6 ล้านคนถูกลงโทษผิดพลาดในการรณรงค์ครั้งนี้[211]

 
จักรพรรดิฮึยเลอ เซึลลาเซที่ 1 แห่งเอธิโอเปียกับเหมาในปี พ.ศ. 2514 หลังการเสียชีวิตของหลิน เปียว

จำนวนผู้เสียชีวิตจากการอดอยากในช่วงการก้าวกระโดดไกลนั้นเป็นที่ถกเถียงกันอย่างมากจนกระทั่งกลางทศวรรษที่ 1980 เมื่อรัฐบาลจีนได้เผยแพร่ตัวเลขสำมะโนอย่างเป็นทางการ จึงมีข้อมูลเกี่ยวกับขนาดของภัยพิบัติในชนบทจีนเพียงเล็กน้อย เนื่องจากนักสังเกตการณ์ชาวตะวันตกจำนวนน้อยที่ได้รับอนุญาตให้เข้าถึงในช่วงเวลานั้นถูกจำกัดอยู่แต่ในหมู่บ้านตัวอย่าง ซึ่งพวกเขาถูกหลอกให้เชื่อว่านโยบายก้าวกระโดดไกลประสบความสำเร็จอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีสมมติฐานว่ารายงานรายบุคคลเกี่ยวกับภาวะอดอยากที่ไหลไปถึงตะวันตกโดยส่วนใหญ่ผ่านฮ่องกงและไต้หวันน่าจะเป็นเรื่องเฉพาะพื้นที่หรือถูกพูดเกินจริง เนื่องจากจีนยังคงอ้างว่าเก็บเกี่ยวผลผลิตเป็นสถิติ และเป็นผู้ส่งออกธัญพืชสุทธิตลอดช่วงเวลาดังกล่าว เนื่องจากเหมาต้องการชำระหนี้ให้กับโซเวียตจำนวน 1.973 พันล้านหยวนตั้งแต่ปี 2503–2505[212] การส่งออกจึงเพิ่มขึ้นเป็น 50% และประเทศคอมมิวนิสต์เพื่อนบ้านอย่างเกาหลีเหนือ เวียดนามเหนือ และแอลเบเนียได้รับธัญพืชฟรี[198]

ประเทศจีนได้ทำการสำรวจสำมะโนประชากรในปี พ.ศ. 2496, 2507 และ 2525 การพยายามวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อประมาณการจำนวนผู้เสียชีวิตจากความอดอยากครั้งแรกนั้นดำเนินการโดย ดร.จูดิธ แบนิสเตอร์ นักประชากรศาสตร์ชาวอเมริกัน และตีพิมพ์ในปี 2527 เนื่องจากช่วงเวลาระหว่างการสำรวจสำมะโนประชากรแต่ละครั้งนั้นมัความยาวนาน และมีความสงสัยเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของข้อมูล จึงยากที่จะหาตัวเลขที่แน่นอน อย่างไรก็ตามแบนิสเตอร์ได้สรุปว่าข้อมูลอย่างเป็นทางการบ่งชี้ว่ามีผู้เสียชีวิตเกินจำนวนประมาณ 15 ล้านคนในประเทศจีนระหว่างปี 2501–2503 และจากการสร้างแบบจำลองประชากรศาสตร์ของจีนในช่วงเวลาดังกล่าวและคำนึงถึงการรายงานตัวเลขต่ำกว่าความเป็นจริงในช่วงปีที่เกิดความอดอยาก ตัวเลขดังกล่าวอยู่ที่ประมาณ 30 ล้านคน หู เย่าปัง เจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน กล่าวว่ามีผู้เสียชีวิต 20 ล้านคนตามสถิติอย่างเป็นทางการของรัฐบาล[213] หยาง จื้อเฉิง อดีตผู้สื่อข่าวสำนักข่าวซินหัว ซึ่งมีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลและเครือข่ายที่นักวิชาการคนอื่น ๆ ไม่สามารถเข้าถึง ได้ประเมินจำนวนผู้เสียชีวิตไว้ที่ 36 ล้านคน[212] แฟรงก์ ดิโคตเตอร์ ได้ประมาณการว่ามีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรอย่างน้อย 45 ล้านคนอันเนื่องมาจากการก้าวกระโดดไกลตั้งแต่ปี 2501–2505[214] แหล่งข้อมูลอื่น ๆ ระบุตัวเลขอยู่ระหว่าง 20–46 ล้านคน[215][216][217]

เสื่อมความสัมพันธ์กับโซเวียต

แก้
 
วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2518 ประธานาธิบดีสหรัฐ เจอรัลด์ ฟอร์ด มองดูเฮนรี คิสซินเจอร์ รัฐมนตรีต่างประเทศ ทำการจับมือกับเหมา เจ๋อตง ระหว่างการเยือนจีน

ในเวทีระหว่างประเทศ ช่วงเวลานั้นโดดเด่นด้วยการแยกตัวออกจากสังคมโลกมากขึ้นของจีน ความแตกแยกระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียตนำไปสู่การที่นีกีตา ครุชชอฟ ยกเลิกการส่งผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคและความช่วยเหลือทั้งหมดของตนออกจากจีน ความแตกแยกนี้ส่งผลกระทบต่อความเป็นผู้นำของลัทธิคอมมิวนิสต์โลก สหภาพโซเวียตมีเครือข่ายพรรคคอมมิวนิสต์ที่ให้การสนับสนุน จีนจึงสร้างเครือข่ายคู่แข่งของตนเองขึ้นเพื่อแย่งชิงอำนาจควบคุมฝ่ายซ้ายในหลายประเทศ[218] ลอเรนซ์ เอ็ม. ลูธี กล่าวว่า: "ความแตกแยกของจีนกับโซเวียตเป็นหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญของสงครามเย็น มีความสำคัญเทียบเท่ากับการสร้างกำแพงเบอร์ลิน, วิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา, สงครามเวียดนามครั้งที่สอง และการสานสัมพันธ์จีน–อเมริกา ความความแตกแยกนี้ช่วยกำหนดกรอบของสงครามเย็นครั้งที่สองโดยทั่วไป และส่งผลต่อแนวทางของสงครามเวียดนามครั้งที่สองโดยเฉพาะ"[219]

ความแตกแยกเกิดขึ้นจากการบริหารประเทศสหภาพโซเวียตที่ผ่อนคลายลงของครุชชอฟหลังจากการเสียชีวิตของสตาลินในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2496 มีเพียงแอลเบเนียเท่านั้นที่เข้าข้างจีนอย่างเปิดเผย นำไปสู่การเป็นพันธมิตรระหว่างสองประเทศ ซึ่งจะคงอยู่ต่อไปจนหลังจากการเสียชีวิตของเหมาในปี พ.ศ. 2519 เมื่อได้รับคำเตือนว่าโซเวียตมีอาวุธนิวเคลียร์ เหมาก็ลดทอนภัยคุกคามนั้นลง แจสเปอร์ เบ็คเกอร์ กล่าวว่า "เหมาเชื่อว่าระเบิดปรมาณูเป็น 'เสือกระดาษ' และประกาศกับครุชชอฟว่า ไม่สำคัญว่าจีนจะสูญเสียประชากรไป 300 ล้านคนในสงครามนิวเคลียร์: ประชากรอีกครึ่งหนึ่งจะอยู่รอดเพื่อให้มั่นใจว่าจะได้รับชัยชนะ"[220] การต่อสู้กับการแก้ไขลัทธิคอมมิวนิสต์ของโซเวียต (Soviet revisionism) และจักรวรรดินิยมสหรัฐ เป็นประเด็นสำคัญในความพยายามของเหมาที่จะนำการปฏิวัติไปสู่ทิศทางที่ถูกต้อง[221]

ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1950 เหมาได้เขียนบันทึกเพื่อวิจารณ์ตำราเศรษฐศาสตร์การเมืองฉบับสหภาพโซเวียต พร้อมทั้งเขียนบทความ (วิจารณ์เศรษฐกิจแบบโซเวียต) ตอบโต้แนวคิดทางเศรษฐกิจของสตาลินในหนังสือ "ปัญหาเศรษฐกิจของสังคมนิยมในสหภาพโซเวียต"[222]: 51  เนื้อหาเหล่านี้สะท้อนถึงมุมมองของเหมาที่มองว่าสหภาพโซเวียตกำลังห่างเหินจากประชาชน และบิดเบือนแนวทางการพัฒนาสังคมนิยม[222]: 51 

นักประวัติศาสตร์ หลี่ หมิงเจียง มองว่าเหมาจงใจยกระดับความตึงเครียดทางการทูตระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียต เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ในการยึดอำนาจทางการเมืองภายในประเทศอีกครั้ง และลดอำนาจของคู่แข่ง โดยการแสดงออกถึงความมุ่งมั่นในแนวทางปฏิวัติและจุดยืนที่แข็งกร้าวต่อ "ลัทธิแก้" ของสหภาพโซเวียต ซึ่งเหมาเห็นว่าเป็นการทรยศต่ออุดมการณ์ของลัทธิคอมมิวนิสต์[223]

แนวหน้าที่สาม

แก้

หลังจากความล้มเหลวของนโยบายก้าวกระโดดไกล ผู้นำจีนได้ชะลอความเร็วในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมลง[224]: 3  โดยหันไปลงทุนในเขตชายฝั่งทะเลของจีนมากขึ้นและมุ่งเน้นไปที่การผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค[224]: 3  แผนร่างเบื้องต้นของแผนพัฒนาเศรษฐกิจห้าปีฉบับที่สามไม่มีบทบัญญัติสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ภายในประเทศจีน[224]: 29  อย่างไรก็ตาม รายงานของคณะเสนาธิการกองทัพได้สรุปว่า การรวมภาคอุตสาหกรรมของจีนไว้ที่เมืองสำคัญแถบชายฝั่งทะเล ทำให้มีความเสี่ยงต่อการถูกโจมตีจากมหาอำนาจต่างชาติ เหมาจึงแย้งว่าควรมีการพัฒนาอุตสาหกรรมพื้นฐานและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศในพื้นที่ที่ปลอดภัยภายในประเทศ[224]: 4, 54  แม้ว่าในตอนแรกผู้นำคนสำคัญคนอื่น ๆ จะไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ แต่อุบัติการณ์อ่าวตังเกี๋ยเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2507 ยิ่งทำให้เกิดความหวาดกลัวต่อการรุกรานที่อาจเกิดขึ้นโดยสหรัฐ และผลักดันให้เกิดการสนับสนุนข้อเสนอการปฏิรูปภาคอุตสาหกรรมของเหมา ซึ่งต่อมาเรียกว่า "แนวหน้าที่สาม"[224]: 7  หลังจากอุบัติการณ์อ่าวตังเกี๋ย ความกังวลของเหมาเกี่ยวกับการรุกรานของสหรัฐก็เพิ่มมากขึ้น[225]: 100  เขาเขียนจดหมายถึงคณะกรรมการกลางว่า "จะมีสงครามเกิดขึ้น ฉันจำเป็นต้องพิจารณาการกระทำของฉันอีกครั้ง" และผลักดันให้สร้างแนวรบที่สามอย่างหนักแน่นยิ่งขึ้น[225]: 100 

โครงการก่อสร้างลับ "แนวหน้าที่สาม" เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมโครงสร้างพื้นฐานมากมาย ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานด้านรถไฟ เช่น ทางรถไฟสายเฉิงตู–คุนหมิง[224]: 153–164  อุตสาหกรรมอวกาศ เช่น สถานที่ปล่อยดาวเทียม[224]: 218–219  อุตสาหกรรมการผลิตเหล็ก เช่น บริษัทเหล็กและเหล็กกล้ากล้าพันจือฮัว[224]: 9 

การพัฒนาแนวหน้าที่สามชะลอตัวลงในปี พ.ศ. 2509 ในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม แต่กลับมาเร่งตัวอีกครั้งหลังจากความขัดแย้งชายแดนจีน–โซเวียตที่เกาะเจินเป่า ซึ่งส่งผลให้ความเสี่ยงต่อการรุกรานของสหภาพโซเวียตเพิ่มสูงขึ้น[224]: 12, 150  แต่ก็กลับมาชะลอตัวลงอีกครั้งหลังการเยือนจีนของประธานาธิบดีสหรัฐ ริชาร์ด นิกสันในปี พ.ศ. 2515 และความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นระหว่างสหรัฐกับจีน[224]: 225–229  เมื่อมีการปฏิรูปเศรษฐกิจขึ้นหลังการเสียชีวิตของเหมา จีนก็เริ่มยุติโครงการแนวหน้าที่สามลงทีละน้อย[226]: 180  แนวหน้าที่สามมีการกระจายทรัพยากรทางกายภาพและบุคลากรไปทั่วประเทศ ส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำระหว่างภูมิภาคลดลงในที่สุด และสร้างเงื่อนไขที่เอื้อต่อการพัฒนาตลาดในอนาคต[226]: 177–182 

การปฏิวัติทางวัฒนธรรม

แก้
 
การปรากฏตัวต่อสาธารณะของประธานเหมาและหลิน เปียว ท่ามกลางกลุ่มยุวชนแดงในกรุงปักกิ่ง ในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม (พฤศจิกายน พ.ศ. 2509)

ในช่วงต้นยุค 1960 เหมาเริ่มกังวลเกี่ยวกับสภาพการณ์ของจีนหลังปี พ.ศ. 2502 เขาเห็นว่าการการก้าวกระโดดไกลได้แทนที่ชนชั้นปกครองชุดเก่าด้วยชนชั้นปกครองชุดใหม่ เขาเป็นกังวลว่าบรรดาผู้มีอำนาจกำลังห่างเหินจากประชาชนที่พวกเขาควรรับใช้ เหมาเชื่อว่า การปฏิวัติทางวัฒนธรรมจะช่วยปลดแอกและสั่นคลอน "ชนชั้นปกครอง" รวมถึงทำให้จีนอยู่ในสภาวะของ "การปฏิวัติอย่างต่อเนื่อง" ซึ่งตามทฤษฎีแล้วจะทำหน้าที่เพื่อผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ มากกว่าชนชั้นปกครองที่แคบแค้นและมีสิทธิพิเศษเพียงกลุ่มน้อย[227] ประธานหลิว เช่าฉี และเลขาธิการพรรค เติ้ง เสี่ยวผิง เห็นพ้องกันว่าควรถอดถอนเหมาออกจากตำแหน่งผู้นำประเทศทั้งประมุขและหัวหน้ารัฐบาล แต่ยังคงให้ดำรงตำแหน่งประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีนอยู่ เพื่อรักษาภาพลักษณ์และเกียรติคุณในฐานะผู้ก่อตั้งพรรค โดยพรรคจะยกย่องสรรเสริญคุณูปการของเหมาในการปฏิวัติจีน หลิวและเติ้งพยายามลดความสำคัญของเหมาลงด้วยการเข้าควบคุมนโยบายเศรษฐกิจและสร้างอิทธิพลทางการเมือง หลายฝ่ายเชื่อว่าเหมาตอบโต้ความเคลื่อนไหวของหลิวและเติ้งด้วยการปฏิวัติทางวัฒนธรรมใหญ่ของกรรมาชีพในปี พ.ศ. 2509 มีนักวิชาการบางคนเช่น เกา มั่วปั๋ว แย้งว่าบทบาทของความขัดแย้งนี้อาจถูกตีความเกินจริง[228] บุคคลอื่น ๆ เช่น แฟรงก์ ดิกเคอเตอร์ นักประวัติศาสตร์ มองว่าเหมาจงใจให้เกิดการปฏิวัติทางวัฒนธรรม เพื่อแก้แค้นผู้ที่กล้าท้าทายเขาเกี่ยวกับความล้มเหลวของนโยบายก้าวกระโดดไกล[229]

การปฏิวัติทางวัฒนธรรมได้นำไปสู่การทำลายมรดกทางวัฒนธรรมโบราณอันทรงคุณค่าของจีนจำนวนมาก รวมถึงการคุมขังประชาชนจีนจำนวนมหาศาล และก่อให้เกิดความโกลาหลทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างใหญ่หลวงในประเทศ ชีวิตผู้คนหลายล้านคนถูกทำลายในช่วงเวลานี้ เนื่องจากการปฏิวัติทางวัฒนธรรมได้แทรกซึมเข้าไปในทุกส่วนของชีวิตชาวจีน ดังที่เห็นได้จากภาพยนตร์จีนเรื่องต่าง ๆ เช่น To Live, The Blue Kite และหลายแผ่นดิน แม้สิ้นใจ ก็ไม่ลืม มีการประมาณการว่าประชาชนหลายแสนคนหรืออาจจะถึงหลายล้านคนเสียชีวิตจากความรุนแรงของการปฏิวัติทางวัฒนธรรม[217] ซึ่งรวมถึงบุคคลสำคัญ เช่น หลิว เช่าฉี[230][231][232]

เมื่อมีรายงานถึงความสูญเสียมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้คนที่ถูกบีบให้ฆ่าตัวตายนั้น มีการกล่าวอ้างว่าเหมาได้แสดงความเห็นว่า "คนที่พยายามฆ่าตัวตาย—อย่าพยายามช่วยเหลือพวกเขาเลย! ... จีนเป็นประเทศที่มีประชากรหนาแน่น ไม่ใช่ว่าเราขาดคนไปไม่ได้สักสองสามคน"[233] เจ้าหน้าที่อนุญาตให้เรดการ์ดทำร้ายและฆ่าฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล เซี่ย ฟู่จือ หัวหน้าตำรวจแห่งชาติกล่าวว่า "อย่าพูดว่าการทำร้ายคนเลวมันผิด: ถ้าด้วยความโกรธแค้นพวกเขาฆ่าใครตาย ก็ช่างมัน"[234] มีรายงานว่าในเดือนสิงหาคมและกันยายน พ.ศ. 2509 มีผู้คนถูกเรดการ์ดฆาตกรรม 1,772 คนในกรุงปักกิ่งเพียงแห่งเดียว[235]

ในช่วงเวลานี้เองที่เหมาได้เลือกหลิน เปียว ผู้ซึ่งเห็นด้วยกับแนวคิดทั้งหมดของเหมาเป็นผู้สืบทอดตำแหน่ง ต่อมาหลินก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้สืบทอดของเหมาอย่างเป็นทางการ แต่ในปี พ.ศ. 2514 ความขัดแย้งระหว่างทั้งสองก็เริ่มปรากฏชัดเจนขึ้น ประวัติศาสตร์อย่างเป็นทางการของจีนระบุว่าหลินกำลังวางแผนก่อการรัฐประหารหรือลอบสังหารเหมา หลินเสียชีวิตในวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2514 ในเหตุการณ์เครื่องบินตกเหนือน่านฟ้ามองโกเลีย คาดว่าน่าจะเป็นขณะที่เขากำลังหลบหนีออกนอกจีนเพื่อหนีการถูกจับกุม พรรคคอมมิวนิสต์จีนกล่าวหาว่าหลิน เปียว วางแผนจะโค่นล้มเหมา และได้ขับไล่หลินออกจากพรรคอย่างมิให้กลับคืน (หลังเสียชีวิต) เหตุการณ์นี้ส่งผลให้เหมาสูญเสียความไว้วางใจในบุคคลสำคัญหลายคนภายในพรรค พลโทอีออน มีไฮ ปาเชปา ผู้แปรพักตร์จากหน่วยข่าวกรองระดับสูงสุดของกลุ่มประเทศค่ายสังคมนิยมโซเวียต อ้างว่าเขาเคยสนทนากับนีกอลาเอ ชาวูเชสกู ผู้นำโรมาเนีย ซึ่งได้เล่าให้เขาฟังเกี่ยวกับแผนการลอบสังหารเหมาโดยอาศัยความช่วยเหลือจากหลิน เปียว และวางแผนโดยเคจีบี (หน่วยสืบราชการลับโซเวียต)[236]

แม้ว่าเหมาจะประกาศยุติการปฏิวัติทางวัฒนธรรมในปี พ.ศ. 2512 แต่บรรดานักประวัติศาสตร์ทั้งชาวจีนและต่างชาติต่างก็เห็นตรงกันว่าจริง ๆ แล้วการปฏิวัติทางวัฒนธรรมน่าจะยุติลงในปี พ.ศ. 2519 หลังจากการเสียชีวิตของเหมาและการจับกุม "แก๊งออฟโฟร์" ซึ่งเป็นแก๊งสี่คนที่กุมอำนาจช่วงปฏิวัติทางวัฒนธรรม[237] ในปี พ.ศ. 2524 คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า การปฏิวัติทางวัฒนธรรมเป็น "ความล้มเหลวอย่างรุนแรง" ของสาธารณรัฐประชาชนจีน[238] นักวิชาการส่วนใหญ่ทั่วโลกมองว่าช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาที่สร้างความปั่นป่วนให้กับจีนเป็นอย่างมาก[239] แม้ว่าระบอบการปกครองของเหมาจะมีแนวคิดช่วยเหลือคนยากจน แต่ นโยบายเศรษฐกิจของเขากลับนำไปสู่ความยากจนอย่างกว้างขวาง[240]

การประมาณการจำนวนผู้เสียชีวิตในช่วงของการปฏิวัติทางวัฒนธรรม ซึ่งรวมถึงทั้งพลเรือนและยุวชนแดง มีตัวเลขที่แตกต่างกันไปอย่างมาก ตัวเลขที่ค่อนข้างเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปคือประมาณ 400,000 คนซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ต่ำสุดตามที่มอริส เมสเนอร์ กล่าวอ้าง[241] แมคฟาร์คัวร์และโชนฮอลล์ชี้ให้เห็นว่า ในชนบทของจีนเพียงแห่งเดียวมีผู้คนถูกข่มเหงรังแกประมาณ 36 ล้านคน โดยมีผู้เสียชีวิตระหว่าง 750,000 ถึง 1.5 ล้านคน และอีกจำนวนหนึ่งที่ได้รับบาดเจ็บถาวร[242]

นักประวัติศาสตร์ ดาเนียล ลีส เขียนว่าในช่วงทศวรรษที่ 1950 บุคลิกภาพของเหมาแข็งกร้าวขึ้น ดังความว่า "ความประทับใจเกี่ยวกับบุคลิกภาพของเหมาที่ปรากฏในเอกสารนั้นน่ารำคาญ มันเผยให้เห็นพัฒนาการตามช่วงเวลาจากผู้นำที่ติดดิน เป็นมิตรเมื่อไม่ได้รับการโต้แย้ง และบางครั้งก็ไตร่ตรองถึงข้อจำกัดของอำนาจตัวเอง ไปเป็นเผด็จการที่โหดเหี้ยมและเอาแต่ใจตัวเองมากขึ้น ความพร้อมของเหมาที่จะยอมรับคำวิจารณ์นั้นลดลงอย่างต่อเนื่อง"[243]

การเยือนต่างประเทศ

แก้
ประเทศ วันที่ เจ้าภาพ
  สหภาพโซเวียต 16 ธันวาคม พ.ศ. 2492 โจเซฟ สตาลิน
  สหภาพโซเวียต 2–19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2500 นีกีตา ครุชชอฟ

ในช่วงเวลาที่เป็นผู้นำประเทศ เหมาเดินทางออกนอกประเทศจีนเพียงแค่สองครั้งเท่านั้น ทั้งสองครั้งเป็นการเดินทางไปเยือนสหภาพโซเวียตอย่างเป็นทางการ ครั้งแรกที่เหมาเดินทางไปต่างประเทศคือ เดือนธันวาคม พ.ศ. 2492 เพื่อไปร่วมฉลองวันเกิดครบ 70 ปีของผู้นำสหภาพโซเวียต โจเซฟ สตาลิน ที่กรุงมอสโก ในงานเลี้ยงครั้งนั้นมีรองประธานสภารัฐมนตรีเยอรมนีตะวันออก วัลเทอร์ อุลบริชท์ และเลขาธิการพรรคประชาชนมองโกเลีย ยัมจากิน เซเดนบัล เข้าร่วมด้วย[244] การเดินทางไปมอสโกครั้งที่สองในเดือนพฤศจิกายนปี 1957 เป็นการเยือนอย่างเป็นทางการนาน 2 สัปดาห์ จุดเด่นของการเยือนครั้งนี้ ได้แก่ การเข้าร่วมงานเฉลิมฉลองครบรอบ 40 ปีของการปฏิวัติเดือนตุลาคม โดยเหมาได้เข้าร่วมพิธีสวนสนามประจำปีของกองทหารมอสโกที่ จัตุรัสแดง รวมถึงงานเลี้ยงที่เครมลินด้วย การประชุมพรรคคอมมิวนิสต์และพรรคแรงงานระหว่างประเทศ ซึ่งเหมาได้พบปะกับผู้นำคอมมิวนิสต์คนอื่น ๆ เช่น คิม อิล-ซ็อง แห่งเกาหลีเหนือ[245] และแอลแวร์ ฮอจา แห่งแอลเบเนีย

เมื่อเหมาลงจากตำแหน่งประธานาธิบดีในวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2502 หน้าที่การเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการ และการเดินทางไปต่างประเทศ ไม่ว่าจะสหภาพโซเวียต หรือประเทศอื่น ๆ จึงถูกมอบหมายให้ประธานาธิบดีหลิว เช่าฉี นายกรัฐมนตรีโจว เอินไหล หรือรองนายกรัฐมนตรีเติ้ง เสี่ยวผิง เป็นผู้ดำเนินการแทนตัวเหมาเอง[ต้องการอ้างอิง]

อสัญกรรมและผลพวง

แก้
วิดีโอหลายคลิปจากแหล่งข้อมูลภายนอก
  Official Chinese documentary on Mao's funeral
 
เหมา เจ๋อตง กับรองประธานาธิบดีอียิปต์ ฮุสนี มุบาร็อก ในระหว่างการเยือนปักกิ่งเมื่อปี พ.ศ. 2519

สุขภาพของเหมาทรุดโทรมลงในช่วงปีสุดท้ายของชีวิต ซึ่งอาจเลวร้ายลงจากการสูบบุหรี่จัดเป็นนิสัย[246] ในช่วงบั้นปลายชีวิตของเหมา อาการป่วยหลายอย่างเกี่ยวกับปอดและหัวใจของเขากลายเป็นความลับของชาติ[247] มีรายงานที่ยังไม่ได้รับการยืนยันว่าเหมาอาจเป็นโรคพาร์คินสัน[248][249] ร่วมกับโรค ALS (amyotrophic lateral sclerosis) ซึ่งเรียกอีกอย่างว่าโรคลู เกห์ริก[250] ครั้งสุดท้ายที่เหมา ปรากฏตัวต่อสาธารณะและภาพถ่ายสุดท้ายที่เขายังมีชีวิตอยู่คือวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2519 เมื่อเขาได้พบกับซัลฟิการ์ อาลี บุตโต นายกรัฐมนตรีปากีสถานที่มาเยือน[251] เหมาประสบอาการหัวใจวายรุนแรงสองครั้ง ครั้งแรกในเดือนมีนาคม อีกครั้งในเดือนกรกฎาคม ต่อมาในวันที่ 5 กันยายน อาการหัวใจวายครั้งที่สามทำให้เขาไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และถึงแก่อสัญกรรมในอีก 4 วันต่อมาเมื่อเวลา 00:10 น. ของวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2519 ด้วยวัย 82 ปี พรรคคอมมิวนิสต์ได้ชะลอการประกาศข่าวการถึงแก่อสัญกรรมจนถึงเวลา 16:00 น. โดยมีการออกอากาศทางวิทยุแห่งชาติเพื่อแจ้งข่าวและเรียกร้องความสามัคคีในพรรค[249]

ร่างของเหมาที่ผ่านการดองถูกคลุมด้วยธงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และตั้งไว้ที่มหาศาลาประชาชนเป็นเวลา 1 สัปดาห์[252] ชาวจีนกว่าหนึ่งล้านคนเข้าแถวเพื่อเคารพศพ บ่อยครั้งที่พวกเขาร้องไห้กันอย่างเปิดเผยหรือแสดงความโศกเศร้า ในขณะที่ชาวต่างชาติเฝ้าดูผ่านทางโทรทัศน์.[253][254] รูปภาพอย่างเป็นทางการของเหมาแขวนอยู่บนผนังพร้อมป้ายที่มีข้อความว่า “สืบสานเจตนารมณ์ของท่านประธานเหมา และเดินหน้าการปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพต่อไปจนถึงที่สุด”[252] วันที่ 17 กันยายน ร่างของเขาถูกเคลื่อนย้ายโดยรถมินิบัสไปยังโรงพยาบาล 305 เพื่อเก็บรักษาอวัยวะภายในด้วยฟอร์มาลิน[252]

ในวันที่ 18 กันยายน เสียงปืน ไซเรน นกหวีด และแตรทั่วทั้งประเทศจีนดังขึ้นพร้อมกัน ขณะเดียวกันก็มีการไว้อาลัยด้วยความเงียบเป็นเวลา 3 นาที[255] จัตุรัสเทียนอันเหมินมีประชาชนหลายล้านคนมาชุมนุม และวงดนตรีทหารบรรเลงเพลง “แองเตอร์นาซิอองนาลฮฺว่า กั๋วเฟิง กล่าวสดุดีรำลึกหน้าประตูเทียนอันเหมินเป็นเวลา 20 นาที[256] แม้ว่าเหมาจะสั่งเสียให้เผาร่างของเขา แต่ร่างของเขาก็ถูกเก็บรักษาไว้โดยการจัดแสดงอย่างถาวรที่อนุสรณ์สถานประธานเหมา ในกรุงปักกิ่ง เพื่อให้ประชาชนชาวจีนได้มาเคารพศพ[257]

ในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2524 คณะกรรมการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้เห็นชอบ มติเกี่ยวกับบางประเด็นทางประวัติศาสตร์ของพรรคตั้งแต่การสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นการประเมินมรดกของยุคเหมา และทิศทางต่อไปของพรรค[258]: 166  มตินี้กล่าวถึงความล้มเหลวในช่วงปี พ.ศ. 2500–07 (แม้ว่าโดยทั่วไปจะยืนยันช่วงเวลาดังกล่าว) และความผิดพลาดครั้งใหญ่ที่เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 โดยระบุว่าความผิดพลาดของเหมาเป็นผลจากแนวโน้มที่เห็นแก่ตัวซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเขาละทิ้งมุมมองร่วมกันของผู้นำ[258]: 167  ในแง่ของมรดกของเหมานั้น มติพรรคระบุว่า บทบาทของเหมาในช่วงการปฏิวัติจีนนั้น ยิ่งใหญ่กว่าความผิดพลาดของเขามาก[259]: 445 

มรดก

แก้
 
รูปปั้นเหมาเจ๋อตงชิงเหนียนในฉางชา เมืองหลวงของมณฑลหูหนาน

เหมาได้รับการยกย่องว่าเป็นบุคคลสำคัญและมีอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งในศตวรรษที่ 20[260][261] เขาได้รับการอธิบายว่าเป็นปัญญาชนทางการเมือง นักทฤษฎี นักยุทธศาสตร์ทางการทหาร กวี และผู้มีวิสัลทัศน์[262] เขาได้รับการยกย่องและชื่นชมสำหรับการขับไล่จักรวรรดินิยมออกจากจีน[263] การรวมชาติจีน และการยุติสงครามกลางเมืองในช่วงหลายทศวรรษก่อน เขายังได้รับการยกย่องว่ามีส่วนช่วยยกระดับสถานะของสตรีในประเทศจีน รวมไปถึงการพัฒนาการรู้หนังสือและการศึกษาด้วย[175][264][265][266] ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2556 โพลสำรวจของหนังสือพิมพ์โกลบอลไทมส์ซึ่งเป็นของรัฐบาลระบุว่าประมาณร้อยละ 85 ของผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 1,045 คนมีความรู้สึกว่าความสำเร็จของเหมามีมากกว่าข้อผิดพลาดของเขา[267] ในจีนมีคำกล่าวว่าเหมาดี 7 ส่วน และชั่ว 3 ส่วน[8]: 55 [259]: 445 

นโยบายของเขาส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหลายสิบล้านคนในจีนในช่วงที่เขาปกครอง[268][269][270] โดยเกิดจากความอดอยาก การข่มเหง การใช้แรงงานทาสในค่ายแรงงาน และการประหารหมู่[271][268] เหมาแทบจะไม่เคยสั่งการเกี่ยวกับการกำจัดชีวิตผู้คนโดยตรง[272] ตามที่ฟิลิป ชอร์ตระบุ ผู้เสียชีวิตจากนโยบายของเหมาส่วนใหญ่เป็นเหยื่อที่ไม่ได้ตั้งใจของทุพภิกขภัย ขณะที่อีกสามหรือสี่ล้านคนนั้นเหมามองว่าเป็นเหยื่อที่จำเป็นในการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงจีน[273] ประเทศจีนในยุคเหมามักถูกระบุว่าเป็นระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จที่ครอบงำทุกด้านของชีวิตประชาชน และก่อให้เกิดการปราบปรามประชาชนในวงกว้าง[274][275][276][277][278] เหมาถูกกล่าวหาว่าเป็นหนึ่งในทรราชผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่ 20[279][280][271][268] เหมามักถูกยกมาเปรียบเทียบกับจิ๋นซีฮ่องเต้ ในฐานะผู้นำที่ทรงอิทธิพลในการรวมชาติจีน[281][282][283][280][a]

ภายใต้การปกครองของเขา ประชากรของจีนเพิ่มขึ้นจากประมาณ 550 ล้านคนเป็นมากกว่า 900 ล้านคน[284][285] กลยุทธ์การก่อการกำเริบของเหมายังคงถูกนำมาใช้โดยกลุ่มกบฏ และอุดมการณ์ทางการเมืองของเขายังคงได้รับการยอมรับจากองค์กรคอมมิวนิสต์จำนวนมากทั่วโลก[286]

 
ห้องเรียนของโรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่งในนครเซี่ยงไฮ้ได้ติดภาพเหมือนของประธานฮฺว่า กั๋วเฟิง ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะนั้น และประธานเหมา เจ๋อตง ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งประธานมาก่อน

ในประเทศจีน

แก้

นอกประเทศจีน

แก้

โลกที่สาม

แก้

ยุทธศาสตร์ทางการทหาร

แก้

วรรณกรรม

แก้

ภาพลักษณ์สาธารณะ

แก้

วงศ์ตระกูล

แก้

ชีวิตส่วนตัว

แก้

ชีวิตครอบครัวของเขามีภรรยา 4 คน

  • นางหลัว อีซิ่ว เป็นการแต่งแบบคลุมถุงชน ซึ่งเหมาไม่ได้ยินดีนักจึงได้เลิกรากันไป
  • นางหยาง ไคฮุย เสียชีวิตในการทำสงครามเพื่อชาติ พ.ศ. 2464
  • นางเฮ่อ จื่อเจิน นายพลหญิงแห่งกองทัพแดง (เลิกรากันไป) และ
  • นางเจียง ชิง ผู้นำการปฏิวัติกองทัพแดง หรือเรด การ์ดอันนองเลือดลือลั่นครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์จีนใหม่ นางฆ่าตัวตายปี 2534

งานเขียนและประดิษฐ์อักษร

แก้

การนำเสนอในภาพยนตร์และโทรทัศน์

แก้

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. Schram 1966, p. 19; Hollingworth 1985, p. 15; Pantsov & Levine 2012, p. 11.
  2. Schram 1966, pp. 19–20; Terrill 1980, pp. 4–5, 15; Feigon 2002, pp. 13–14; Pantsov & Levine 2012, pp. 13–.
  3. 3.0 3.1 Schram 1966, p. 20; Terrill 1980, p. 11; Pantsov & Levine 2012, pp. 14, 17.
  4. Schram 1966, pp. 20–21; Terrill 1980, p. 8; Pantsov & Levine 2012, pp. 15, 20
  5. Terrill 1980, p. 12; Feigon 2002, p. 23, Pantsov & Levine 2012, pp. 25–28
  6. Feigon 2002, p. 15 Terrill 1980, pp. 10–11
  7. Schram 1966, p. 23; Terrill 1980, pp. 12–13; Pantsov & Levine 2012, p. 21
  8. 8.0 8.1 8.2 Marquis, Christopher; Qiao, Kunyuan (2022). Mao and Markets: The Communist Roots of Chinese Enterprise. New Haven: Yale University Press. ISBN 978-0-300-26883-6. OCLC 1348572572.
  9. Schram 1966, p. 25; Terrill 1980, pp. 20–21; Pantsov & Levine 2012, p. 29
  10. Schram 1966, p. 22; Terrill 1980, p. 13; Pantsov & Levine 2012, pp. 17–18
  11. Terrill 1980, p. 14; Pantsov & Levine 2012, p. 18
  12. Schram 1966, p. 22; Feigon 2002, p. 15; Terrill 1980, p. 18; Pantsov & Levine 2012, p. 28
  13. Schram 1966, p. 26; Terrill 1980, p. 19; Pantsov & Levine 2012, pp. 28–30
  14. Schram 1966, p. 26; Terrill 1980, pp. 22–23; Pantsov & Levine 2012, p. 30
  15. Pantsov & Levine 2012, pp. 32–34
  16. Schram 1966, p. 27;Terrill 1980, p. 22; Pantsov & Levine 2012, p. 33
  17. Schram 1966, pp. 26–27; Terrill 1980, pp. 22–24; Pantsov & Levine 2012, p. 33
  18. Schram 1966, p. 26; Terrill 1980, p. 23; Pantsov & Levine 2012, p. 33
  19. Schram 1966, pp. 30–32; Pantsov & Levine 2012, pp. 32–35
  20. Schram 1966, p. 34; Pantsov & Levine 2012, pp. 34–35
  21. Schram 1966, pp. 34–35; Terrill 1980, pp. 23–24
  22. Schram 1966, pp. 35–36; Terrill 1980, pp. 22, 25; Pantsov & Levine 2012, p. 35.
  23. Schram 1966, p. 36; Terrill 1980, p. 26; Pantsov & Levine 2012, pp. 35–36.
  24. Pantsov & Levine 2012, pp. 36–37.
  25. Pantsov & Levine 2012, pp. 40–41.
  26. Pantsov & Levine 2012, p. 36.
  27. Schram 1966, pp. 36–37; Terrill 1980, p. 27; Pantsov & Levine 2012, p. 37.
  28. Schram 1966, pp. 38–39.
  29. Pantsov & Levine 2012, p. 43; see also Yu, Hsiao (1959). Mao Tse-Tung and I Were Beggars. Syracuse, N.Y.: Syracuse University Press.
  30. Schram 1966, pp. 42–43; Terrill 1980, p. 32; Pantsov & Levine 2012, p. 48.
  31. Schram 1966, p. 41; Terrill 1980, p. 32; Pantsov & Levine 2012, p. 42.
  32. Schram 1966, pp. 40–41; Terrill 1980, pp. 30–31.
  33. Schram 1966, p. 43; Terrill 1980, p. 32; Pantsov & Levine 2012, pp. 49–50.
  34. Pantsov & Levine 2012, pp. 49–50.
  35. Schram 1966, p. 44; Terrill 1980, p. 33; Pantsov & Levine 2012, pp. 50–52.
  36. Schram 1966, p. 45; Terrill 1980, p. 34; Pantsov & Levine 2012, p. 52.
  37. Schram 1966, p. 48; Pantsov & Levine 2012, pp. 47, 56–57.
  38. Feigon 2002, p. 18; Pantsov & Levine 2012, p. 39.
  39. Schram 1966, p. 48; Pantsov & Levine 2012, p. 59.
  40. Schram 1966, p. 47; Pantsov & Levine 2012, pp. 59–62.
  41. Schram 1966, pp. 48–49; Pantsov & Levine 2012, pp. 62–64.
  42. Schram 1966, p. 48; Pantsov & Levine 2012, pp. 57–58.
  43. Schram 1966, p. 51; Pantsov & Levine 2012, pp. 53–55, 65.
  44. Schram 1966, p. 48; Pantsov & Levine 2012, pp. 62, 66.
  45. Schram 1966, pp. 50–52; Pantsov & Levine 2012, p. 66.
  46. Pantsov & Levine 2012, pp. 66–67.
  47. Schram 1966, pp. 51–52; Feigon 2002, pp. 21–22; Pantsov & Levine 2012, pp. 69–70.
  48. Pantsov & Levine 2012, p. 68.
  49. Pantsov & Levine 2012, p. 76.
  50. Schram 1966, pp. 53–54; Pantsov & Levine 2012, pp. 71–76.
  51. Schram 1966, p. 55; Pantsov & Levine 2012, pp. 76–77.
  52. 52.0 52.1 Huang, Yibing (2020). An ideological history of the Communist Party of China. Vol. 1. Qian Zheng, Guoyou Wu, Xuemei Ding, Li Sun, Shelly Bryant. Montreal, Quebec: Royal Collins Publishing Group. p. 16. ISBN 978-1-4878-0425-1. OCLC 1165409653.
  53. Schram 1966, pp. 55–56; Pantsov & Levine 2012, p. 79.
  54. Pantsov & Levine 2012, p. 80.
  55. Pantsov & Levine 2012, pp. 81–83.
  56. Pantsov & Levine 2012, p. 84.
  57. Schram 1966, pp. 56–57.
  58. 58.0 58.1 58.2 Mair, Victor H.; Sanping, Sanping; Wood, Frances (2013). Chinese Lives: The people who made a civilization. London: Thames & Hudson. p. 211. ISBN 978-0500251928.
  59. Schram 1966, p. 63; Feigon 2002, pp. 23, 28
  60. Schram 1966, pp. 63–64; Feigon 2002, pp. 23–24, 28, 30
  61. Schram 1966, pp. 64–66.
  62. 62.0 62.1 Schram 1966, p. 68.
  63. Schram 1966, pp. 68–69.
  64. Schram 1966, p. 69.
  65. Perry, Elizabeth J. (14 January 2013). "Anyuan: Mining China's Revolutionary Tradition". The Asia-Pacific Journal. 11 (1). ISBN 978-0520271890. reprinting Ch 2 of Elizabeth J. Perry. Anyuan: Mining China's Revolutionary Tradition. Berkeley: University of California Press, 2012.
  66. 66.0 66.1 Karl, Rebecca E. (2010). Mao Zedong and China in the twentieth-century world : a concise history. Durham [NC]: Duke University Press. pp. 22–23. ISBN 978-0-8223-4780-4. OCLC 503828045.
  67. Karl, Rebecca E. (2010). Mao Zedong and China in the twentieth-century world : a concise history. Durham [NC]: Duke University Press. p. 23. ISBN 978-0-8223-4780-4. OCLC 503828045.
  68. Schram 1966, pp. 69–70.
  69. Schram 1966, pp. 73–74; Feigon 2002, p. 33
  70. Schram 1966, pp. 74–76.
  71. Schram 1966, pp. 76–82.
  72. Schram 1966, p. 78.
  73. Wilbur, C. Martin; How, Julie Lien-ying (1989). Missionaries of Revolution: Soviet Advisers and Nationalist China, 1920–1927 (ภาษาอังกฤษ). Harvard University Press. ISBN 978-0674576520.
  74. Schram 1966, p. 83.
  75. Mao Zedong (1992), Schram, Stuart Reynolds; และคณะ (บ.ก.), National Revolution and Social Revolution, December 1920 – June 1927, Mao's Road to Power, Vol. II, M. E. Sharpe, p. 465.
  76. Liu Xiaoyuan (2004), Frontier Passages: Ethnopolitics and the Rise of Chinese Communism, 1921–1945, Stanford: Stanford University Press, p. 66, ISBN 978-0804749602 – โดยทาง Google Books
  77. Schram 1966, pp. 82, 90–91.
  78. Schram 1966, pp. 84, 89.
  79. Schram 1966, pp. 87, 92–93; Feigon 2002, p. 39
  80. Schram 1966, p. 95.
  81. Schram 1966, p. 98.
  82. Feigon 2002, p. 42.
  83. Schram 1966, pp. 99–100.
  84. Schram 1966, p. 100.
  85. Schram 1966, p. 106; Carter 1976, pp. 61–62
  86. Schram 1966, pp. 106–109, 112–113.
  87. 87.0 87.1 87.2 Carter 1976, p. 62.
  88. 88.0 88.1 88.2 Carter 1976, p. 63.
  89. Carter 1976, p. 64; Schram 1966, pp. 122–125; Feigon 2002, pp. 46–47
  90. "Mao Zedong on War and Revolution". Quotations from Mao Zedong on War and Revolution. Columbia University. สืบค้นเมื่อ 12 November 2011.; Feigon 2002, p. 41
  91. Schram 1966, p. 125; Carter 1976, p. 68
  92. Schram 1966, p. 130; Carter 1976, pp. 67–68; Feigon 2002, p. 48
  93. Karl, Rebecca E. (2010). Mao Zedong and China in the twentieth-century world : a concise history. Durham [NC]: Duke University Press. p. 36. ISBN 978-0-8223-4780-4. OCLC 503828045.
  94. 94.0 94.1 Carter 1976, p. 69
  95. Schram 1966, pp. 126–127; Carter 1976, pp. 66–67
  96. 96.0 96.1 Carter 1976, p. 70
  97. Schram 1966, p. 159; Feigon 2002, p. 47
  98. Schram 1966, p. 131; Carter 1976, pp. 68–69
  99. Schram 1966, pp. 128, 132.
  100. Schram 1966, pp. 133–137; Carter 1976, pp. 70–71; Feigon 2002, p. 50
  101. "Memorial opened to commemorate Mao's 2nd wife". www.china.org.cn. 20 November 2007. สืบค้นเมื่อ 7 October 2021.
  102. Ni, Ching-ching (27 March 2007). Written at Beijing. "Death illuminates niche of Mao life". Los Angeles Times. Los Angeles, California. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 October 2020. สืบค้นเมื่อ 7 October 2021.
  103. Schram 1966, p. 138; Carter 1976, pp. 71–72
  104. Schram 1966, pp. 138, 141
  105. 105.0 105.1 Carter 1976, p. 72
  106. Schram 1966, p. 139.
  107. Schram 1966, pp. 146–149; Carter 1976, p. 75; Feigon 2002, p. 51
  108. Carter 1976, p. 75.
  109. Schram 1966, pp. 149–151.
  110. Schram 1966, p. 149.
  111. Feigon 2002, p. 50; Carter 1976, p. 75; Schram 1966, p. 153
  112. Schram 1966, p. 152; Carter 1976, p. 76; Feigon 2002, pp. 51–53
  113. Carter 1976, p. 77; Schram 1966, pp. 154–155; Feigon 2002, pp. 54–55
  114. Schram 1966, pp. 155–161
  115. 115.0 115.1 Carter 1976, p. 78
  116. Carter 1976, p. 77; Schram 1966, pp. 161–165; Feigon 2002, pp. 53–54
  117. Schram 1966, pp. 166–168; Feigon 2002, p. 55
  118. Schram 1966, pp. 175–177; Carter 1976, pp. 80–81; Feigon 2002, pp. 56–57
  119. Schram 1966, p. 180; Carter 1976, pp. 81–82; Feigon 2002, p. 57
  120. Feigon 2002, p. 57; Schram 1966, pp. 180–181; Carter 1976, p. 83
  121. Schram 1966, p. 181; Carter 1976, pp. 84–86; Feigon 2002, p. 58
  122. Schram 1966, p. 183; Carter 1976, pp. 86–87
  123. Schram 1966, pp. 184–186; Carter 1976, pp. 88–90; Feigon 2002, pp. 59–60
  124. Carter 1976, pp. 90–91.
  125. Schram 1966, p. 186; Carter 1976, pp. 91–92; Feigon 2002, p. 60
  126. Schram 1966, pp. 187–188; Carter 1976, pp. 92–93; Feigon 2002, p. 61
  127. Feigon 2002, p. 61; Schram 1966, p. 188; Carter 1976, p. 93
  128. Barnouin, Barbara; Yu, Changgen (2006). Zhou Enlai: A Political Life. Hong Kong: Chinese University of Hong Kong. p. 62. ISBN 9629962802. สืบค้นเมื่อ 12 March 2011 – โดยทาง Google Books.
  129. Feigon 2002, p. 61; Schram 1966, p. 193; Carter 1976, pp. 94–96
  130. Schram 1966, p. 193.
  131. Schram 1966, pp. 206–207.
  132. Schram 1966, p. 20; Carter 1976, p. 101
  133. Schram 1966, p. 202.
  134. Schram 1966, pp. 209–210.
  135. Schram 1966, p. 208
  136. Carter 1976, p. 95
  137. Terrill, Ross (8 March 1998). "What Mao Traded for Sex". Los Angeles Times. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 May 2020. สืบค้นเมื่อ 7 October 2021.
  138. Carter 1976, pp. 95–96
  139. Schram 1966, p. 194
  140. Schram 1966, p. 196
  141. Schram 1966, p. 197
  142. Schram 1966, pp. 198–200; Carter 1976, pp. 98–99; Feigon 2002, pp. 64–65
  143. Schram 1966, p. 211; Carter 1976, pp. 100–101
  144. Schram 1966, p. 205
  145. 145.0 145.1 Carter 1976, p. 105
  146. Schram 1966, p. 204; Feigon 2002, p. 66
  147. Schram 1966, p. 217
  148. Schram 1966, pp. 211–216; Carter 1976, pp. 101–110
  149. 149.0 149.1 Moise, Edwin E. (2008). Modern China, a History (ภาษาอังกฤษ). Pearson/Longman. p. 105. ISBN 978-0582772779 – โดยทาง Google Books.
  150. Eastman, Lloyd E.; Ch'en, Jerome; Pepper, Suzanne; Slyke, Lyman P. Van (30 August 1991). The Nationalist Era in China, 1927–1949 (ภาษาอังกฤษ). Cambridge University Press. p. 353. ISBN 978-0521385916 – โดยทาง Google Books.
  151. 作者:劉向上 (20 April 2009). ""Zhāngshēnfū shìjiàn"yǔ sū jūn chè chū dōngběi" "张莘夫事件"与苏军撤出东北 ["Zhang Xinfu Incident" and Soviet Army's Withdrawal from Northeast China] (ภาษาChinese). 揚子晚報網. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 November 2013. สืบค้นเมื่อ 20 April 2009.{{cite web}}: CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)
  152. Jacobs, Andrew (2 October 2009). "China Is Wordless on Traumas of Communists' Rise". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 2 October 2009.
  153. 153.0 153.1 Palestini, Robert (2011). Going Back to the Future: A Leadership Journey for Educators. R&L Education. p. 170. ISBN 978-1607095866 – โดยทาง Google Books.
  154. Perkins, Dorothy (2013). Encyclopedia of China: History and Culture. Routledge. p. 79. ISBN 978-1135935627 – โดยทาง Google Books.
  155. Cheek, T., บ.ก. (2002). Mao Zedong and China's Revolutions: A Brief History with Documents. New York: Palgrave Macmillan. p. 125. ISBN 978-0312256265. The phrase is often mistakenly said to have been delivered during the speech from the Gate of Heavenly Peace, but was first used on September 21, at the First Plenary Session of the Chinese People's Political Consultative Conference, then repeated on several occasions
  156. Westad, Odd Arne (1996). "Fighting for Friendship: Mao, Stalin, and the Sino-Soviet Treaty of 1950". Cold War International History Project Bulletin. 8 (9): 224–236.
  157. North, Robert C. (1950). "The Sino-Soviet Agreements of 1950". Far Eastern Survey. 19 (13): 125–130. doi:10.2307/3024085. ISSN 0362-8949. JSTOR 3024085.
  158. 158.0 158.1 158.2 Cai, Xiang; 蔡翔 (2016). Revolution and its narratives: China's socialist literary and cultural imaginaries (1949-1966). Rebecca E. Karl, Xueping Zhong, 钟雪萍. Durham: Duke University Press. pp. 100. ISBN 978-0-8223-7461-9. OCLC 932368688.
  159. "180,000 Chinese soldiers killed in Korean War". china.org.cn. สืบค้นเมื่อ 28 November 2019.
  160. Burkitt, Laurie; Scobell, Andrew; Wortzel, Larry M. (2003). The lessons of history: The Chinese people's Liberation Army at 75 (PDF). Strategic Studies Institute. pp. 340–341. ISBN 978-1584871262. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 5 February 2012. สืบค้นเมื่อ 14 July 2009.
  161. Short 2001, pp. 436–437.
  162. Scheidel, Walter (2017). The Great Leveler: Violence and the History of Inequality from the Stone Age to the Twenty-First Century. Princeton University Press. p. 226. ISBN 978-0691165028. In Zhangzhuangcun, in the more thoroughly reformed north of the country, most "landlords" and "rich peasants" had lost all their land and often their lives or had fled. All formerly landless workers had received land, which eliminated this category altogether. As a result, "middling peasants," who now accounted for 90 percent of the village population, owned 90.8 percent of the land, as close to perfect equality as one could possibly hope for.
  163. 163.0 163.1 163.2 Kuisong 2008.
  164. Mosher, Steven W. (1992). China Misperceived: American Illusions and Chinese Reality. Basic Books. pp. 72–73. ISBN 0465098134.
  165. Shalom, Stephen Rosskamm (1984). Deaths in China Due to Communism. Center for Asian Studies Arizona State University. p. 24. ISBN 0939252112.
  166. Spence 1999[ต้องการเลขหน้า]. Mao got this number from a report submitted by Xu Zirong, Deputy Public Security Minister, which stated 712,000 counter-revolutionaries were executed, 1,290,000 were imprisoned, and another 1,200,000 were "subjected to control.": see Kuisong 2008.
  167. 167.0 167.1 Twitchett, Denis; Fairbank, John K.; MacFarquhar, Roderick (1987). The Cambridge history of China. Cambridge University Press. ISBN 978-0521243360. สืบค้นเมื่อ 23 August 2008 – โดยทาง Google Books.
  168. Meisner, Maurice (1999). Mao's China and After: A History of the People's Republic (Third ed.). Free Press. p. 72. ISBN 0684856352. ... the estimate of many relatively impartial observers that there were 2,000,000 people executed during the first three years of the People's Republic is probably as accurate a guess as one can make on the basis of scanty information.
  169. Mosher, Steven W. (1992). China Misperceived: American Illusions and Chinese Reality. Basic Books. p. 74. ISBN 0465098134. ... a figure that Fairbank has cited as the upper range of 'sober' estimates.
  170. Feigon 2002, p. 96: "By 1952 they had extended land reform throughout the countryside, but in the process somewhere between two and five million landlords had been killed."
  171. Short 2001, p. 436.
  172. 172.0 172.1 Valentino 2004, pp. 121–122.
  173. Changyu, Li. "Mao's "Killing Quotas." Human Rights in China (HRIC). September 26, 2005, at Shandong University" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 29 July 2009. สืบค้นเมื่อ 21 June 2009.
  174. Brown, Jeremy. "Terrible Honeymoon: Struggling with the Problem of Terror in Early 1950s China". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 June 2009.
  175. 175.0 175.1 Bottelier, Pieter (2018). Economic Policy Making In China (1949–2016): The Role of Economists (ภาษาอังกฤษ). Routledge. p. 131. ISBN 978-1351393812 – โดยทาง Google Books. We should remember, however, that Mao also did wonderful things for China; apart from reuniting the country, he restored a sense of natural pride, greatly improved women's rights, basic healthcare and primary education, ended opium abuse, simplified Chinese characters, developed pinyin and promoted its use for teaching purposes.
  176. 176.0 176.1 McCoy, Alfred W. "Opium History, 1858 to 1940". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 April 2007. สืบค้นเมื่อ 4 May 2007.
  177. Fairbank, John; Goldman, Merle (2002). China: A New History. Cambridge, MA: The Belknap Press of Harvard University Press. p. 349.
  178. "High Tide of Terror". Time. 5 March 1956. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 March 2008. สืบค้นเมื่อ 11 May 2009.
  179. "China – Economic policies". Encyclopedia Britannica. 1998.
  180. Doing Business in the People's Republic of China. Price, Waterhouse. 1994. p. 3 – โดยทาง Google Books. At the same time, agriculture was organized on a collective basis (socialist cooperatives), as were industry and trade.
  181. "China – The transition to socialism, 1953–57". Encyclopedia Britannica. 1998.
  182. Teszar, David Tibor (October 2015). "The Hungarian Connection: the 1956 Hungarian Revolution and its Impact on Mao Zedong's Domestic Policies in the late 1950s" (PDF). Global Politics Review. 1 (1): 18–34.
  183. Vidal, Christine (2016). "The 1957–1958 Anti-Rightist Campaign in China: History and Memory (1978–2014)". Hal-SHS.
  184. MacFarquhar, Roderick (13 January 1997). The Politics of China: The Eras of Mao and Deng. Cambridge University Press. ISBN 978-0-521-58863-8 – โดยทาง Google Books.
  185. Li 1994, pp. 198, 200, 468–469
  186. Crean, Jeffrey (2024). The Fear of Chinese Power: an International History. New Approaches to International History series. London, UK: Bloomsbury Academic. ISBN 978-1-350-23394-2.
  187. Jin, Keyu (2023). The New China Playbook: Beyond Socialism and Capitalism. New York: Viking. ISBN 978-1-9848-7828-1.
  188. Hsu, Elisabeth (2006). "Reflections on the 'discovery' of the antimalarial qinghao". British Journal of Clinical Pharmacology. 61 (6): 666–670. doi:10.1111/j.1365-2125.2006.02673.x. PMC 1885105. PMID 16722826.
  189. Senthilingam, Meera. "Chemistry in its element: compounds: Artemisinin". Chemistry World. Royal Society of Chemistry. สืบค้นเมื่อ 27 April 2015.
  190. 190.0 190.1 Hao, Cindy (29 September 2011). "Lasker Award Rekindles Debate Over Artemisinin's Discovery". Science. สืบค้นเมื่อ 23 July 2020.
  191. Tu, Youyou (2011). "The discovery of artemisinin (qinghaosu) and gifts from Chinese medicine". Nature Medicine. 17 (10): 1217–1220. doi:10.1038/nm.2471. PMID 21989013. S2CID 10021463.
  192. King, Gilbert. "The Silence that Preceded China's Great Leap into Famine". Smithsonian. สืบค้นเมื่อ 28 November 2019.
  193. Slatyer, Will (20 February 2015). The Life/Death Rhythms of Capitalist Regimes - Debt Before Dishonour: Timetable of World Dominance 1400-2100 (ภาษาอังกฤษ). Partridge Publishing Singapore. p. 509. ISBN 978-1-4828-2961-7 – โดยทาง Google Books.
  194. 194.0 194.1 Spence 1999[ต้องการเลขหน้า]
  195. Yushi, Mao (22 September 2014). "Lessons from China's Great Famine". The Cato Journal. 34 (3): 483–491. แม่แบบ:Gale.
  196. Smil, V. (18 December 1999). "China's great famine: 40 years later". BMJ. 319 (7225): 1619–1621. doi:10.1136/bmj.319.7225.1619. PMC 1127087. PMID 10600969.
  197. Thomas P., Bernstein (June 2006). "Mao Zedong and the Famine of 1959–1960: A Study in Wilfulness". The China Quarterly. 186 (186): 421–445. doi:10.1017/S0305741006000221. JSTOR 20192620. S2CID 153728069.
  198. 198.0 198.1 Becker 1998, p. 81 harvnb error: multiple targets (2×): CITEREFBecker1998 (help)
  199. Becker 1998, p. 86. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFBecker1998 (help)
  200. Becker 1998, p. 93. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFBecker1998 (help)
  201. Li 1994, pp. 283–284, 295.
  202. Li 1994, p. 340.
  203. 203.0 203.1 Li, Xiaobing; Tian, Xiansheng (2013). Evolution of Power: China's Struggle, Survival, and Success (ภาษาอังกฤษ). Lexington Books. p. 41. ISBN 978-0739184981 – โดยทาง Google Books.
  204. "Three Chinese Leaders: Mao Zedong, Zhou Enlai, and Deng Xiaoping". Columbia University. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 December 2013. สืบค้นเมื่อ 22 April 2020.
  205. Valentino 2004, p. 128.
  206. Becker, K. (1998), "Schlankheitsmittel", Leitfaden der Ernährungsmedizin, Springer Berlin Heidelberg, pp. 97–103, ISBN 978-3-642-80339-0, สืบค้นเมื่อ 2024-07-15
  207. People's Republic of China Yearbook (ภาษาอังกฤษ). Vol. 29. Xinhua Publishing House. 2009. p. 340 – โดยทาง Google Books. Industrial output value had doubled; the gross value of agricultural products increased by 35 percent; steel production in 1962 was between 10.6 million tons or 12 million tons; investment in capital construction rose to 40 percent from 35 percent in the First Five-Year Plan period; the investment in capital construction was doubled; and the average income of workers and farmers increased by up to 30 percent.
  208. 208.0 208.1 208.2 Chang & Halliday 2005, pp. 568, 579
  209. Tibbetts, Jann (2016). 50 Great Military Leaders of All Time (ภาษาอังกฤษ). Vij Books India Pvt Ltd. ISBN 978-9385505669 – โดยทาง Google Books.
  210. Becker 1998, pp. 92–93. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFBecker1998 (help)
  211. Valentino 2004, p. 127.
  212. 212.0 212.1 O'Neill, Mark (6 July 2008). "A hunger for the truth: A new book, banned on the mainland, is becoming the definitive account of the Great Famine". South China Morning Post. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 February 2012.
  213. Larin, Alexander V.; Meurice, Nathalie; Leherte, Laurence; Rajzmann, Michel; Vercauteren, Daniel P.; Trubnikov, Dmitrii N. (2001), "Theoretical Analysis of Hydrolysis of Sulfur Fluorides SFn (n = 3 - 6) in the Gas Phase", Gaseous Dielectrics IX, Springer US, pp. 425–430, ISBN 978-1-4613-5143-6, สืบค้นเมื่อ 2024-07-15
  214. Akbar, Arifa (17 September 2010). "Mao's Great Leap Forward 'killed 45 million in four years'". The Independent. London. สืบค้นเมื่อ 20 September 2010.; Dikötter 2010, p. 333
  215. Bramall, Chris (December 2011). "Agency and Famine in China's Sichuan Province, 1958–1962" (PDF). The China Quarterly. 208: 990–1008. doi:10.1017/s030574101100110x. ISSN 0305-7410. S2CID 56200410.
  216. Wemheuer, Felix; Dikötter, Frank (July 2011). "Sites of Horror: Mao's Great Famine [with Response] Mao's Great Famine: The History of China's Most Devastating Catastrophe, 1958–1962. Frank Dikötter". The China Journal. 66: 155–164. doi:10.1086/tcj.66.41262812. ISSN 1324-9347. S2CID 141874259.
  217. 217.0 217.1 "Source List and Detailed Death Tolls for the Twentieth Century Hemoclysm". Historical Atlas of the Twentieth Century. สืบค้นเมื่อ 23 August 2008.
  218. Scalapino, Robert A. (1964). "Sino-Soviet Competition in Africa". Foreign Affairs. 42 (4): 640–654. doi:10.2307/20029719. JSTOR 20029719.
  219. Lüthi, Lorenz M. (2010). The Sino-Soviet Split: Cold War in the Communist World. Princeton University Press. p. 1. ISBN 978-1400837625 – โดยทาง Google Books.
  220. Becker, Jasper (2002). The Chinese. Oxford University Press. p. 271. ISBN 978-0199727223 – โดยทาง Google Books.
  221. Garver, John W. (2016). China's Quest: The History of the Foreign Relations of the People's Republic of China (ภาษาอังกฤษ). Oxford University Press. p. 132. ISBN 978-0190261054 – โดยทาง Google Books.
  222. 222.0 222.1 Hammond, Ken (2023). China's Revolution and the Quest for a Socialist Future. New York, NY: 1804 Books. ISBN 9781736850084.
  223. Li, Mingjiang (27 October 2010). "Ideological dilemma: Mao's China and the Sino-Soviet split, 1962–63". Cold War History. 11 (3): 387–419. doi:10.1080/14682745.2010.498822. S2CID 153617754. สืบค้นเมื่อ 12 February 2023.
  224. 224.00 224.01 224.02 224.03 224.04 224.05 224.06 224.07 224.08 224.09 Meyskens, Covell F. (2020). Mao's Third Front: The Militarization of Cold War China. Cambridge, United Kingdom: Cambridge University Press. doi:10.1017/9781108784788. ISBN 978-1-108-78478-8. OCLC 1145096137. S2CID 218936313.
  225. 225.0 225.1 Hou, Li (2021). Building for oil: Daqing and the Formation of the Chinese Socialist State. Harvard-Yenching Institute monograph series. Cambridge, Massachusetts: Harvard University Asia Center. ISBN 978-0-674-26022-1.
  226. 226.0 226.1 Marquis, Christopher; Qiao, Kunyuan (2022). Mao and Markets: The Communist Roots of Chinese Enterprise. New Haven: Yale University Press. doi:10.2307/j.ctv3006z6k. ISBN 978-0-300-26883-6. JSTOR j.ctv3006z6k. OCLC 1348572572. S2CID 253067190.
  227. Feigon 2002, p. 140.
  228. For a full treatment of this idea, see Gao 2008
  229. Jonathan Mirsky. Livelihood Issues. เก็บถาวร 6 กันยายน 2010 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Literary Review
  230. Vasilogambros, Matt (16 May 2016). "The Cultural Revolution's Legacy in China". The Atlantic. สืบค้นเมื่อ 28 November 2019.
  231. "Debating the Cultural Revolution in China". Reviews in History. สืบค้นเมื่อ 28 November 2019.
  232. Pye, Lucian W. (1986). "Reassessing the Cultural Revolution". The China Quarterly. 108 (108): 597–612. doi:10.1017/S0305741000037085. ISSN 0305-7410. JSTOR 653530. S2CID 153730706.
  233. MacFarquhar & Schoenhals 2006, p. 110.
  234. MacFarquhar & Schoenhals 2006, p. 125.
  235. MacFarquhar & Schoenhals 2006, p. 124.
  236. Ion Mihai Pacepa (28 November 2006). "The Kremlin's Killing Ways". National Review. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 August 2007. สืบค้นเมื่อ 23 August 2008.
  237. Great Proletarian Cultural Revolution lasting until 1976:
  238. "Resolution on Certain Questions in the History of Our Party Since the Founding of the People's Republic of China", (Adopted by the Sixth Plenary Session of the Eleventh Central Committee of the Communist Party of China on 27 June 1981) Resolution on CPC History (1949–81). (Beijing: Foreign Languages Press, 1981). p. 32.
  239. Chirot 1996, p. 198.
  240. Ravallion, Martin (25 January 2021). "Poverty in China since 1950: A Counterfactual Perspective". National Bureau of Economic Research. Working Paper Series (ภาษาอังกฤษ). doi:10.3386/w28370. S2CID 234005582.
  241. Meisner, Maurice (1999). Mao's China and After: A History of the People's Republic (3rd ed.). Free Press. p. 354. ISBN 978-0684856353 – โดยทาง Google Books.
  242. MacFarquhar & Schoenhals 2006, p. 262.
  243. Daniel Leese, "Mao the Man and Mao the Icon" in Cheek, Timothy, บ.ก. (2010). A Critical Introduction to Mao. Cambridge University Press. p. 233. ISBN 978-1139789042 – โดยทาง Google Books.
  244. Лев Котюков. Забытый поэт. เก็บถาวร 28 กันยายน 2007 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  245. Park, Kyung-Ae; Snyder, Scott (2012). North Korea in Transition: Politics, Economy, and Society. Rowman & Littlefield Publishers. p. 214. ISBN 978-1442218130.
  246. Heavy smoker:
  247. "The Kissenger Transcripts: Notes and Excerpts". nsarchive.gwu.edu. สืบค้นเมื่อ 28 July 2015.
  248. Parkinson's disease:
  249. 249.0 249.1 "Mao Tse-Tung Dies In Peking At 82; Leader Of Red China Revolution; Choice Of Successor Is Uncertain". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 25 October 2014.
  250. Amyotrophic lateral sclerosis:
  251. Chang & Halliday 2005.
  252. 252.0 252.1 252.2 Quigley, Christine (1998). Modern Mummies: The Preservation of the Human Body in the Twentieth Century (illustrated, reprint ed.). McFarland. pp. 40–42. ISBN 978-0786428519. สืบค้นเมื่อ 28 July 2015 – โดยทาง Google Books.
  253. "Chinese bid Mao sad farewell". UPI (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 29 March 2020.
  254. James, S. L. "China: Communist History Through Film". Internet Archive. สืบค้นเมื่อ 28 July 2015.
  255. "1976: Chairman Mao Zedong dies". BBC News. 9 September 1976. สืบค้นเมื่อ 28 July 2015.
  256. "Chinese Bid Farewell to Nation's Leader". Florence Times + Tri-Cities Daily. United Press International. 18 September 1976. สืบค้นเมื่อ 8 October 2015.
  257. Lu, Xing (2017). The Rhetoric of Mao Zedong: Transforming China and Its People (ภาษาอังกฤษ). University of South Carolina Press. p. 50. ISBN 978-1611177534 – โดยทาง Google Books. In 1956 Mao signed a proposal for cremation along with 151 other high-ranking officials. According to hearsay, Mao wrote in his will that he wanted to be cremated after his death. Ironically his successors decided to keep his dead body on display for the nation to pay its respects.
  258. 258.0 258.1 Karl, Rebecca E. (2010). Mao Zedong and China in the Twentieth-Century World: a Concise History. Asia-Pacific series. Durham, NC: Duke University Press. doi:10.2307/j.ctv11hpp6w. ISBN 978-0-8223-4780-4. JSTOR j.ctv11hpp6w.
  259. 259.0 259.1 Meisner, Maurice J. (1999). Mao's China and After: a History of the People's Republic (3rd ed.). New York, NY: Free Press. ISBN 978-0-684-85635-3.
  260. Webley, Kayla (4 February 2011). "Top 25 Political Icons". Time.
  261. "Mao Zedong". The Oxford Companion to Politics of the World. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 March 2006. สืบค้นเมื่อ 23 August 2008.
  262. Short 2001, p. 630 "Mao had an extraordinary mix of talents: he was visionary, statesman, political and military strategist of cunning intellect, a philosopher and poet."
  263. "Chinese Leader Mao Zedong / Part I". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 July 2015. สืบค้นเมื่อ 2 April 2015.
  264. Pantsov, Alexander V.; Levine, Steven I. (2013). Mao: The Real Story. Simon & Schuster. p. 574. ISBN 978-1451654486.
  265. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ Galtung
  266. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ PopulationStudies2015
  267. "Mao's achievements 'outweigh' mistakes: poll". Al Jazeera. 23 December 2013.
  268. 268.0 268.1 268.2 Fenby, J. (2008). Modern China: The Fall and Rise of a Great Power, 1850 to the Present. Ecco Press. p. 351. ISBN 978-0061661167. Mao's responsibility for the extinction of anywhere from 40 to 70 million lives brands him as a mass killer greater than Hitler or Stalin, his indifference to the suffering and the loss of humans breathtaking
  269. Evangelista, Matthew (2005). Peace Studies: Critical Concepts in Political Science (ภาษาอังกฤษ). Taylor & Francis. p. 96. ISBN 978-0-415-33923-0. It resulted in an estimate of as many as 80 million deaths resulting from Chinese government policies under Mao Zedong between 1950 and 1976.
  270. Strauss, Valerie; Southerl, Daniel (17 July 1994). "How Many Died? New Evidence Suggest Far Higher Numbers for the Victims of Mao Zedong's Era". The Washington Post. ISSN 0190-8286. สืบค้นเมื่อ 28 November 2019.
  271. 271.0 271.1 Short 2001, p. 631.
  272. Short 2001, p. 631–632.
  273. Short 2001, p. 632.
  274. "The Cultural Revolution and the History of Totalitarianism". Time. สืบค้นเมื่อ 14 December 2020.
  275. Johnson, Ian (5 February 2018). "Who Killed More: Hitler, Stalin, or Mao?". The New York Review of Books (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 February 2018. สืบค้นเมื่อ 18 July 2020.
  276. Fenby, Jonathan (2008). Modern China: The Fall and Rise of a Great Power, 1850 to the Present. Penguin Group. p. 351. ISBN 978-0061661167.
  277. Schram, Stuart (March 2007). "Mao: The Unknown Story". The China Quarterly (189): 205. doi:10.1017/s030574100600107x. S2CID 154814055.
  278. Evangelista, Matthew A. (2005). Peace Studies: Critical Concepts in Political Science (ภาษาอังกฤษ). Taylor & Francis. p. 96. ISBN 978-0415339230 – โดยทาง Google Books.
  279. MacFarquhar & Schoenhals 2006, p. 471: "Together with Joseph Stalin and Adolf Hitler, Mao appears destined to go down in history as one of the great tyrants of the twentieth century"
  280. 280.0 280.1 280.2 Lynch, Michael (2004). Mao. Routledge Historical Biographies. Routledge. p. 230.
  281. MacFarquhar & Schoenhals 2006, p. 428.
  282. Mao Zedong sixiang wan sui! (1969), p. 195. Referenced in Lieberthal, Kenneth (2003). Governing China: From Revolution to Reform (Second ed.). W. W. Norton & Company. p. 71. ISBN 0393924920.
  283. Zedong, Mao. "Speeches At The Second Session Of The Eighth Party Congress". Marxists Internet Archive. สืบค้นเมื่อ 28 June 2016.
  284. Attane, Isabelle (2002). "China's Family Planning Policy: An Overview of Its Past and Future". Studies in Family Planning. 33 (1): 103–113. doi:10.1111/j.1728-4465.2002.00103.x. ISSN 0039-3665. JSTOR 2696336. PMID 11974414.
  285. Wu, J. (1994). "Population and family planning in China". Verhandelingen – Koninklijke Academie voor Geneeskunde van Belgie. 56 (5): 383–400, discussion 401–402. ISSN 0302-6469. PMID 7892742.
  286. Lovell, Julia (16 March 2019). "Maoism marches on: the revolutionary idea that still shapes the world". The Guardian. ISSN 0261-3077. สืบค้นเมื่อ 20 January 2020.

บรรณานุกรม

แก้

อ่านเพิ่ม

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้
ก่อนหน้า เหมา เจ๋อตง ถัดไป
สถาปนาตำแหน่ง   ประธานาธิบดีจีน
(27 กันยายน พ.ศ. 2497 – 27 เมษายน พ.ศ. 2502)
  หลิว เช่าฉี


อ้างอิงผิดพลาด: มีป้ายระบุ <ref> สำหรับกลุ่มชื่อ "lower-alpha" แต่ไม่พบป้ายระบุ <references group="lower-alpha"/> ที่สอดคล้องกัน