เหมย์ หลานฟาง
เหมย์ หลานฟาง (จีนตัวย่อ: 梅兰芳; จีนตัวเต็ม: 梅蘭芳; พินอิน: Méi Lánfāng) (22 ตุลาคม พ.ศ. 2437 - 8 กันยายน พ.ศ. 2504) เป็นชื่อที่ใช้ในการแสดงของนักแสดงอุปรากรจีน ที่มีชื่อเสียงที่สุดของประเทศจีนในยุคปัจจุบัน มีชื่อจริงว่า เหมย์ หลาน (จีนตัวย่อ: 梅澜; จีนตัวเต็ม: 梅瀾) เขาเป็นนักแสดงชายผู้รับบท "ตั้น" (旦) หรือตัวนาง ที่มีลีลาการแสดงที่อ่อนช้อยงดงาม ได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งในสี่นักแสดงงิ้วปักกิ่ง ที่สมบูรณ์แบบที่สุดในประวัติศาสตร์การแสดงอุปรากรจีน ซึ่งประกอบด้วย เหมย์ หลานฟาง เฉิง ยั่นชิว (Cheng Yanqiu, 程砚秋) สุน ฮุ่ยเซิง (Xun Huisheng, 荀慧生) และซั่ง เสี่ยวหยวิน (Shang Xiaoyun, 尚小云) [1]
เหมย์ หลานฟาง | |
---|---|
สารนิเทศภูมิหลัง | |
เกิด | 22 ตุลาคม ค.ศ. 1894 เหมย์ หลานฟาง (梅蘭芳) |
เสียชีวิต | 8 สิงหาคม ค.ศ. 1961 | (66 ปี)
อาชีพ | นักแสดงอุปรากรจีน |
เหมย์ หลาน เกิดที่เมืองไท่โจว มณฑลเจียงซู ในครอบครัวนักแสดงงิ้วปักกิ่ง เป็นกำพร้าตั้งแต่เด็ก เริ่มเรียนรู้ศิลปะการแสดงตั้งแต่อายุได้ 8 ปี และได้เริ่มออกแสดงครั้งแรกเมื่ออายุ 11 ปี ได้ฝึกฝนตัวเองจนได้รับการยกย่องเป็น 1 ใน 4 นางเอกงิ้วแถวหน้าของวงการ ในช่วงต้นทศวรรษ 1920 ยกเว้นช่วงหลังเหตุการณ์ ณ สะพานมาร์โค โปโล ที่ทำให้เกิดสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่สอง ระหว่างปี พ.ศ. 2480 ถึง พ.ศ. 2488 เหมย์ หลานฟาง ปฏิเสธที่จะแสดงให้นายทหารญี่ปุ่นชม และจำเป็นใช้ชีวิตอย่างยากลำบากจนกระทั่งสิ้นสุดสงคราม
เหมย์ หลานฟาง เป็นบุคคลแรกที่นำงิ้วปักกิ่งออกไปแสดงในต่างประเทศ โดยนำไปแสดงที่ญี่ปุ่น สหภาพโซเวียต ยุโรป และสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ ทศวรรษ 1920 ถึง 1960 ได้รับการยอมรับว่าเป็นนักแสดงงิ้วปักกิ่งคนแรกที่เป็นที่รู้จักในระดับโลก [2] โดยนำคณะงิ้วปักกิ่งเดินทางไปแสดงในประเทศญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1919 นับเป็นครั้งแรกที่ศิลปะงิ้วปักกิ่งแพร่หลายไปสู่โพ้นทะเล (และไปแสดงอีกครั้งในปี ค.ศ. 1924 และ 1956) เดินทางไปแสดงในสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1930 แสดงในยุโรปตามคำเชิญในปี ค.ศ. 1934 และเดินทางไปแสดงในสหภาพโซเวียตในปี ค.ศ. 1935 และ ค.ศ. 1952
ในปี พ.ศ. 2551 ชีวิตของเหมย์ หลานฟาง ได้รับการถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์ กำกับโดยเฉินข่ายเกอ ใช้ชื่อเรื่องว่า เหมย์ หลานฟาง หรือ Forever Enthralled นำแสดงโดย หลี่หมิง และจาง จื่ออี๋ [3][4]
อ้างอิง
แก้- ↑ "ประวัติของงิ้วปักกิ่ง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-04. สืบค้นเมื่อ 2009-01-16.
- ↑ "ประวัติจาก Mei Lanfan Memorial Museum". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-12-06. สืบค้นเมื่อ 2009-01-16.
- ↑ รู้จัก “เหมย หลันฟัง” ยอดนักแสดงงิ้วผ่านหนัง “เฉิน ข่ายเกอ”[ลิงก์เสีย] ผู้จัดการ, 14 มกราคม 2552
- ↑ เหมยหลันฟัง จาก pandapanda.bloggang.com[ลิงก์เสีย] (ผ่านกูเกิลแคช เนื่องจากเจ้าของบล็อกจำกัดสิทธิ์การเข้าชม เฉพาะสมาชิก)