ปลาเสือตอลายใหญ่

(เปลี่ยนทางจาก เสือตอลายใหญ่)
ปลาเสือตอลายใหญ่
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Perciformes
วงศ์: Datnioididae
สกุล: Datnioides
สปีชีส์: D.  pulcher
ชื่อทวินาม
Datnioides pulcher
(Kottelat, 1998)
ชื่อพ้อง[2]
  • Coius pulcher Kottelat, 1998

ปลาเสือตอลายใหญ่ (อังกฤษ: Siamese tigerfish, Finescale tigerfish) เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Datnioides pulcher เป็นปลาที่อยู่ในวงศ์ปลาเสือตอ (Datnioididae)

ลักษณะ

แก้

มีรูปร่างแบนข้าง ปากยาวสามารถยืดได้ ครีบก้นเล็กมีก้านครีบแข็ง 3 ชิ้น ครีบหลังแบ่งเป็น 2 ตอน ตอนแรกเป็นก้านครีบแข็งมีเงี่ยง 13 ชิ้น ตอนหลังเป็นครีบอ่อน พื้นลำตัวสีเหลืองน้ำตาลจนถึงสีส้มอมดำ มีแถบสีดำคาดขวางลำตัวในแนวเฉียงรวมทั้งสิ้นประมาณ 5–6 แถบ หรือ 7 แถบ โดยมีแถบเส้นที่ 3 เริ่มต้นที่ระหว่างก้านครีบแข็งของครีบหลังอันที่ 1 และ 2 (ซึ่งต่างจากปลาเสือตออินโดนีเซีย (D. microlepis) ซึ่งเคยรวมเป็นชนิดเดียวกัน ที่มีจุดเริ่มต้นของแถบเส้นที่ 3 ที่จุดเริ่มต้นของก้านครีบแข็งที่หลังอันที่ 1 พอดี[3]) ส่วนหัวมีลักษณะลาดเอียงมาก เกล็ดเป็นแบบสาก มีลักษณะนิสัยอยู่เป็นฝูงเล็ก ๆ ใต้น้ำ โดยมักจะอาศัยบริเวณใกล้ตอไม้หรือโพรงหินด้วยการอยู่ลอยตัวอยู่นิ่ง ๆ หัวทิ่มลงเล็กน้อย หากินในเวลากลางคืน โดยกินอาหารแบบฉกงับ อาหารได้แก่ สัตว์น้ำขนาดเล็กและแมลงต่าง ๆ มีขนาดลำตัวโตสุดประมาณ 40 เซนติเมตร น้ำหนักหนักได้ถึง 7 กิโลกรัม

พฤติกรรม

แก้

ปลาเสือตอลายใหญ่ พฤติกรรมในการกินอาหาร คือ มักจะกินเฉพาะอาหารที่มีชีวิตหรือเคลื่อนไหวได้เท่านั้น หากจะให้กินอาหารที่ตายต้องใช้ระยะเวลาในการฝึก น้อยรายมากที่จะฝึกให้กินอาหารเม็ดได้

การกระจายพันธุ์

แก้

อาศัยอยู่ตามแม่น้ำสายใหญ่ในภาคกลางของประเทศไทย เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา, แม่น้ำแม่กลอง, แม่น้ำท่าจีน ในภาคอีสานเช่น แม่น้ำโขงและสาขา ในต่างประเทศพบที่กัมพูชาและเวียดนาม

โดยเฉพาะที่ บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งพบได้มากที่สุด และเป็นที่ขึ้นชื่อมากเพราะมีรสชาติอร่อย กล่าวกันว่า ใครไปถึงบึงบอระเพ็ดแล้ว ไม่ได้กินปลาเสือตอ ถือว่าไปไม่ถึง แต่ปัจจุบัน ไม่มีรายงานการพบมานานแล้ว จนเชื่อว่าใกล้สูญพันธุ์จากธรรมชาติแล้วในประเทศไทย

การอนุรักษ์

แก้

ปลาเสือตอลายใหญ่เป็นปลาที่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายในประเทศไทย เป็นสัตว์น้ำจืดคุ้มครองของกรมประมงร่วมกับปลาชนิดอื่น อีก 3 ชนิด (ปลาตะพัด (Scleropages formosus), ปลาหมูอารีย์ (Ambastaia sidthimunki) และ ปลาค้างคาวดอยอินทนนท์ (Oreoglanis siamensis)) ซึ่งหากใครจะค้าขายหรือเพาะเลี้ยงต้องได้รับการอนุญาตก่อน

เป็นปลาที่ได้รับความนิยมมากจากนักเลี้ยงปลาสวยงาม เพราะมีสีสันและลวดลายที่สวยงาม เมื่อเวลาล่าเหยื่อจะกางครีบทุกครีบ ก่อนจะฉก แม้จะมีราคาที่แพง เพราะหายาก ปลาที่มีขายในตลาดปลาสวยงามทุกวันนี้ นำเข้าจากประเทศกัมพูชาและเวียดนาม แม้ปัจจุบัน มีผู้เพาะพันธุ์ได้แล้วจากการผสมเทียม แต่ยังได้ผลไม่แน่นอนและไม่คุ้มค่ากับการลงทุน แต่ก็ยังมีความพยายามอยู่จากทั้งภาครัฐ[4]และเอกชน

หลวงมัศยจิตรการและ ศ.โชติ สุวัตถิ ได้กล่าวถึงปลาเสือตอลายใหญ่ไว้ในปี พ.ศ. 2503 ว่า

ปลาชนิดนี้มีรูปร่างและลายคล้ายปลาเสือ จึงได้ชื่อว่าเป็นปลาเสือไปด้วย แต่พ่นน้ำไม่ได้ เป็นปลาที่ทนทาน และสามารถเลี้ยงไว้ในอ่างแก้วได้ โดยให้เนื้อและกุ้งเป็นอาหาร นับว่าเป็นปลาที่สวยงามชนิดหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีผู้นิยมรับประทานเพราะเนื้อแน่นแสนอร่อย เฉพาะที่ปากน้ำโพ ปลาชนิดนี้ขายได้ราคาดี แต่นาน ๆ จะมีมาตลาดสักคราวหนึ่ง

[5]

ชื่อเรียกอื่น

แก้

มีชื่อเรียกในภาษาอีสานว่า "ปลาลาด"

อ้างอิง

แก้
  1. Binohlan, C. B., Torres, A. G., & van Uitert, K. (n.d.). Datnioides pulcher (Kottelat, 1998); Siamese tiger perch. In FishBase. Retrieved October 6, 2013, from http://www.fishbase.org/summary/50395
  2. Vidthayanon, C. (2011). "Datnioides pulcher". IUCN Red List of Threatened Species. Version 2013.2. สืบค้นเมื่อ 20 May 2014.
  3. Kottelat, M. (1998). "Fishes of the Nam Theun and Xe Bangfai basins, Laos, with diagnoses of twenty-two new species (Teleostei: Cyprinidae, Balitoridae, Cobitidae, Coiidae and Odontobutidae". Ichthyological Exploration of Freshwaters. 9 (1): 1–128.
  4. เพาะ'ปลาเสือตอ' คืนสู่ธรรมชาติ จากข่าวสด
  5. สมโภชน์ อัคคะทวีวัฒน์. สาระน่ารู้ ปลาน้ำจืดไทย เล่ม ๒. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2547. 257 หน้า. หน้า 135. ISBN 974-00-8738-8

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

  ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Datnioides pulcher ที่วิกิสปีชีส์