เลสลี จาง

(เปลี่ยนทางจาก เลสลี่ จาง)

เลสลี่ จาง (อังกฤษ: Leslie Cheung) มีชื่อภาษาจีนกลางว่า จาง กั๋ว หยง หรือจีนกวางตุ้งว่า เจฺวิ๊ง กวอก เหว่ง (จีนตัวย่อ: 张国荣; จีนตัวเต็ม: 張國榮; พินอิน: Zhang1 Guo2-rong2 ; หยิวฺดเผ่ง: Zoeng1 Gwok3-wing4 ; เกิดวันที่ 12 กันยายน ค.ศ. 1956 – 1 เมษายน ค.ศ. 2003) เป็นนักร้องและนักแสดงชาวฮ่องกงที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาก ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งใน ราชาเพลงป็อบแห่งคริสต์ทศวรรษ 1980 ของเกาะฮ่องกง

เลสลี จาง
Leslie Cheung.jpg
สารนิเทศภูมิหลัง
เกิด12 กันยายน ค.ศ. 1956
จาง ฟาจง (จีนกลาง);
แจ้วฺง ฟาดฉ่ง (กวางตุ้ง);
張發宗
เสียชีวิต1 เมษายน ค.ศ. 2003 (46 ปี)
ฮ่องกง
ปีที่แสดงค.ศ. 1977-ค.ศ. 2003
ฐานข้อมูล
IMDb

ประวัติแก้ไข

จาง เป็นลูกคนสุดท้องในบรรดาพี่น้องทั้งหมด 10 คน โดยพี่คนที่ 9 อายุห่างกันกับเขามากถึง 8 ปี บิดามีอาชีพเป็นช่างตัดเสื้อรายใหญ่ เคยตัดเสื้อให้กับบุคคลที่มีชื่อเสียงมาแล้ว เช่น วิลเลียม โฮลเดน หรือ อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก ในวัยเด็ก เลสลี จาง เคยเผยว่า ตัวเองรู้สึกเหงามากที่ต้องถูกทิ้งให้อยู่โดดเดี่ยวกับบรรดาตุ๊กตาและของเล่นต่างๆ บิดาก็ไม่เคยควบคุมอารมณ์ตนเองได้เลย ชีวิตในครอบครัวเต็มไปด้วยการทะเลาะเบาะแว้งและการใช้อารมณ์ เขาจึงโตมาด้วยยายเป็นผู้เลี้ยงดู เลสลี จาง เข้าศึกษาด้านสิ่งทอที่มหาวิทยาลัยลีดส์ ประเทศอังกฤษ เพื่อสืบทอดกิจการของครอบครัว แต่ต้องกลับมาก่อนเรียนจบ เพราะบิดาป่วยหนัก

เลสลี่ จาง เริ่มต้นอาชีพวงการบันเทิงตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1970 ด้วยการเข้าประกวดร้องเพลง ซึ่งจัดโดยค่ายสถานีโทรทัศน์เอเชียเทลิวิชันฮ่องกง หรือ RTV(ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ATV) โดยเขาได้รางวัลชนะเลิศอันดับที่สาม และได้เซ็นสัญญาเป็นนักแสดงในสังกัดของค่ายโทรทัศน์เอเชียเทลิวิชันฮ่องกง หรือ RTV ดังกล่าว ต่อมาได้ออกอัลบั้มเพลงและมาประสบความสำเร็จอย่างสูงในช่วงต้นยุค 80s มีผลงานเพลงโด่งดังมากมาย เป็นหนึ่งในราชาเพลงป็อป (Kings of Canto - pop) ของเกาะฮ่องกงในยุคนั้น ทั้งยังโด่งดังเป็นที่ยอมรับในวงการเพลงทั่วเอเชียเป็นอย่างมาก ต่อมาได้รับยกย่องเป็นหนึ่งใน 10 นักร้องชายเพลงจีนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในรอบ 30 ปี (ทศวรรษ ที่ 70s 80s และ 90s) ของเกาะฮ่องกง (Top 10 Greatest Cantopop Singers) ร่วมกับ แซม ฮุย (Samuel Hui) , หลอ เหวิน (Roman Tam) , อลัน ทัม (Alan Tam) , หลิว เต๋อหัว (Andy Lau) , จาง เซียะโหย่ว (Jacky Cheung) , หลี่ หมิง (Leon Lai) , กัว ฟู่เฉิง (Aaron Kwok) , เฉิน อี้ซวิ่น (Eason Chan) และหว่อง กาเค่ย (Wong Ka Kui) นักร้องนำวง Beyond   เลสลี่ จาง เคยมาโปรโมตผลงานเพลง ในประเทศไทย ที่โรงแรมมณเฑียร กรุงเทพมหานคร เมื่อปี พ.ศ. 2525 อีกด้วย

ผลงานแก้ไข

ส่วนผลงานทางด้านการแสดง เลสลี จาง เริ่มต้นจากการแสดงละครซีรีส์ให้กับค่ายสถานีโทรทัศน์เอเชียเทลิวิชันฮ่องกง หรือ RTV(ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ATV) มีผลงานซีรีส์โดดเด่นในเรื่อง นักสู้ผู้พิชิต (Spirit of the Sword , 1978) หลังจากนั้นเข้าสู่วงการภาพยนตร์ด้วยภาพลักษณ์ "เด็กเสเพล" หรือ "แบดบอย" มีผลงานภาพยนตร์โด่งดังหลายเรื่อง เช่น โหด เลว ดี ภาค 1 , ภาค 2 (A Better Tomorrow , 1986 / 1987 ) ผลงานกำกับของจอห์น วู ร่วมแสดงกับนักแสดงชั้นนำอย่าง โจว เหวินฟะ , ตี้หลุง ภาพยนตร์จีนชุดเรื่อง โปเยโปโลเย เย้ยฟ้าแล้วก็ท้า ภาค 1 , ภาค 2 (A Chinese Ghost Story , 1987 / 1989) แสดงคู่กับ หวัง จู่เสียน ภาพยนตร์แนวอาร์ตเหงาๆของผู้กำกับ หว่อง คาไว หลายเรื่อง เช่น วันที่หัวใจกล้าตัดเส้นขอบฟ้า (Days of Being Wild , 1991) โลกนี้รักใครไม่ได้นอกจากเขา (Happy Together , 1997) แสดงบทเกย์คู่กับเหลียง เฉาเหว่ย เป็นต้น แต่บทบาทการแสดงที่ทำให้เลสลี จาง ได้รับการกล่าวขานอย่างมากคือ การรับบทเป็น เตี่ยอี๋ นักแสดงอุปรากรจีนที่เป็นรักร่วมเพศ จากผลงานของผู้กำกับเฉิน ข่ายเกอ ในภาพยนตร์เรื่อง หลายแผ่นดินแม้สิ้นใจก็ไม่ลืม (Farewell My Concubine , 1993) เลสลี่ จาง สามารถเข้าถึงบทบาทจนตีบทแตกกระจุย ภาพยนตร์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จอย่างมากได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม และเขาได้รับยกย่องว่า เป็นนักแสดงยอดฝีมือของวงการหนังจีนฮ่องกงและเอเชีย

ในปี ค.ศ. 2000 เลสลี่ จาง เปิดเผยว่าตนเองเป็นเกย์ รวมทั้งแต่งตัวเป็นผู้หญิงในการร้องเพลงบนเวทีคอนเสิร์ตของเขาอีกด้วย แม้เมื่อวัย 22 ปี เขาจะเคยขอ เหมา ซุ่นหวิน อดีตแฟนสาวแต่งงานด้วยก็ตาม ตอนนั้นอาจเป็นการสร้างกระแสเพื่อกลบข่าวการเป็นเกย์ของเขา ซึ่งเป็นเรื่องปกติในสมัยก่อนที่ยังไม่ยอมรับการผิดเพศสภาพเหมือนยุคปัจจุบัน[1]

การเสียชีวิตแก้ไข

เลสลี่ จาง เสียชีวิตอย่างกะทันหันจากการทำอัตวินิบาตกรรม ด้วยการกระโดดลงมาจากชั้น 24 ของโรงแรมแมนดาริน โอเรียนทัล ใจกลางฮ่องกง เมื่อเวลา 17.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น ในวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 2003 โดยเชื่อว่ามีสาเหตุจากความรักที่ไม่สมหวังกับผู้จัดการส่วนตัว โดยทิ้งจดหมาย ซึ่งเขียนว่าตัวเองได้รับความทุกข์ทรมานจากโรคซึมเศร้า [2][3][4][5][6][7] [8]

ในปัจจุบัน เมื่อถึงวันที่ 1 เมษายน ของทุกๆปี ที่ฮ่องกงจะมีการจัดงานรำลึกถึงการจากไปของเลสลี่ จาง เสมอที่หน้าโรงแรมแมนดาริน โอเรียนทัล เกาะฮ่องกง [1] [9]

อ้างอิงแก้ไข

  1. 1.0 1.1 ชาวฮ่องกงรำลึก 7 ปีการเสียชีวิตของ "เลสลี จาง"[ลิงก์เสีย]จากผู้จัดการออนไลน์
  2. Stephen Kelly, "WHY DOES IT HAVE TO BE LIKE THIS?" Leslie Cheung, 1956–2003", 8 May 2003
  3. "Leslie Cheung Kwok-Wing commits suicide.", Hong Kong Entertainment News in Review (2003). Retrieved 17 December 2005
  4. "Actor Leslie Cheung 'found dead'", BBC, 1 April 2003
  5. "Activities to Commemorate Leslie Cheung", Xinhua, 2 April 2005
  6. Yu Sen-lun, "The Leslie Cheung Legend Lives on", TaiPei Times, 10 April 2003
  7. Bruce Einhorn, "Hong Kong: A City in Mourning", BusinessWeek, 14 April 2003
  8. "" พระเอกดังฮ่องกง"เลสลี จาง" โดดตึกดับ หนีมรสุมชีวิต". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-10-19. สืบค้นเมื่อ 2010-02-10.
  9. "๕ ปีแห่งการจากไปของ เลสลี จาง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-10. สืบค้นเมื่อ 2010-02-10.

แหล่งข้อมูลอื่นแก้ไข