เลนส์อรงค์ (achromat หรือ achromatic lens) เป็น เลนส์ไร้ความคลาดทรงกลม ที่มีการปรับแก้ความคลาดสีสำหรับสองสี

แบบจำลองเลนส์อรงค์

สำหรับการใช้งานด้านการมองเห็น จะทำการปรับแก้ C-d-F ซึ่งปรับแก้ความคลาดสีตามแนวแกนสำหรับเส้น C และ F และลด ความคลาดทรงกลม และ ความคลาดแบบโคมา สำหรับเส้น d[1] สำหรับในกล้องโทรทรรศน์ทางดาราศาสตร์ นั้นต้องใช้เพื่อดูวัตถุที่มืดสลัวได้ จึงต้องทำการปรับแก้ C-e-F ซึ่งลดความคลาดทรงกลมและความคลาดแบบโคมาของเส้น e ให้เหลือน้อยที่สุด[1]

เนื่องจากแผ่นจานถ่ายภาพทั่วไปมีความไวต่อสีน้ำเงินถึงสีม่วงมากกว่าตาเปล่า เลนส์ถ่ายภาพในสมัยก่อนจึงมักทำการปรับแก้ d-F-g โดยปรับแก้ความคลาดสีตามแนวแกนสำหรับเส้น d และ g และลดความคลาดทรงกลมและโคมา เมื่อทำเช่นนี้แล้วจะสามารถถ่ายภาพด้วยช่วงความชัดที่ต้องการโดยกำหนดด้วยตาเปล่า[1]

ในกล้องโทรทรรศน์ แก้

เลนส์ใกล้วัตถุแบบลิทโทร แก้

ปี 1827 นักดาราศาสตร์ โยเซ็ฟ โยฮัน ฟ็อน ลิทโทร ซึ่งเป็นหัวหน้าหอดูดาวเวียนนา ประเทศออสเตรีย ได้คิดค้นเลนส์ใกล้วัตถุแบบลิทโทร ซึ่งออกแบบ ขัดเงา และประกอบ ได้ง่าย และเหมาะสำหรับเลนส์ใกล้วัตถุที่ความยาวโฟกัสยาว สำหรับการสังเกตพื้นผิวดาวเคราะห์ ชนิดของกระจกที่ใช้สามารถเลือกได้ตามความเหมาะสม แต่โดยทั่วไปมักจะใช้แก้วคราวน์ K3 หรือบอโรซิลิเกตคราวน์ BK7 สำหรับเลนส์นูน และ ใช้แก้วฟลินต์ F2 สำหรับเลนส์เว้า ข้อเสียคือมีความคลาดแบบโคมามาก แต่ที่ F20 ไม่มีผลกระทบใด ๆ

ทั้งกล้องโทรทรรศน์หักเหแสง F19 ขนาด 102 ซม. ที่หอดูดาวเยอร์กิส ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์หักเหแสงที่ใหญ่ที่สุดในโลก และกล้องโทรทรรศน์หักเหแสง F19 ขนาด 90 ซม. ที่หอดูดาวลิก ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์หักเหแสงที่ใหญ่เป็นอันดับสอง ก็ใช้กล้องโทรทรรศน์แบบเค็พเพลอร์ ที่ใช้เลนส์ใกล้วัตถุแบบลิทโทร[1]

เลนส์ใกล้วัตถุแบบเฟราน์โฮเฟอร์ แก้

เลนส์ใกล้วัตถุแบบเฟราน์โฮเฟอร์ที่คิดค้นโดยโยเซ็ฟ ฟ็อน เฟราน์โฮเฟอร์ เป็นเลนส์ไร้ความคลาดทรงกลมแบบหนึ่ง[1] มีการใช้กันอย่างแพร่หลายในกล้องโทรทรรศน์หักเหแสงขนาดใหญ่ เช่นเดียวกับแบบลิทโทร คือรวมเลนส์นูนทำจากแก้วคราวน์และเลนส์เว้าทำจากแก้วฟรินต์เข้าด้วยกัน มีข้อดีคือ ให้ค่าความสว่างที่มากกว่า และใช้วัสดุที่เป็นแก้วน้อยกว่า เมื่อเปรียบเทียบเส้นโค้งความคลาดของแบบลิทโทร F20 และแบบเฟราน์โฮเฟอร์ F15 ความคลาดสีในแนวแกนเกือบจะเท่ากัน

ในปี 1904 ฮันส์ ฮาร์ทิงจากฟคท์แลนเดอร์ ได้คิดค้นสูตรคำนวณซึ่งทำให้สามารถหารัศมีความโค้งของพื้นผิวแต่ละด้านของเลนส์ใกล้วัตถุแบบเฟราน์โฮเฟอร์แบบบางได้โดยการคำนวณ 16 สูตรไปตามลำดับ[1]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 『天文アマチュアのための望遠鏡光学・屈折編』pp.161-200「対物レンズ」。