คุณหญิงเลขา อภัยวงศ์ (นามเดิม: เจน เล็ก คุณะดิลก; 10 ธันวาคม พ.ศ. 2449 - พ.ศ. 2526) เป็นนักการเมือง และนักธุรกิจชาวไทย เป็นภริยาของควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรีไทย

เลขา อภัยวงศ์
คู่สมรสนายกรัฐมนตรีไทย
ดำรงตำแหน่ง
1 สิงหาคม พ.ศ. 2487 – 31 สิงหาคม พ.ศ. 2488
ก่อนหน้าละเอียด พิบูลสงคราม
ถัดไปอำภาศรี บุณยเกตุ
ดำรงตำแหน่ง
31 มกราคม – 24 มีนาคม พ.ศ. 2489
ก่อนหน้าอุศนา ปราโมช ณ อยุธยา
ถัดไปพูนศุข พนมยงค์
ดำรงตำแหน่ง
10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 – 8 เมษายน พ.ศ. 2491
ก่อนหน้าระเบียบ ธำรงนาวาสวัสดิ์
บรรจง ธำรงนาวาสวัสดิ์
ถัดไปละเอียด พิบูลสงคราม
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร
ดำรงตำแหน่ง
พ.ศ. 2514 – 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514
สมาชิกวุฒิสภา
ดำรงตำแหน่ง
21 มิถุนายน พ.ศ. 2492 – 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด
เจน เล็ก คุณะดิลก

10 ธันวาคม พ.ศ. 2449
เสียชีวิตพ.ศ. 2526
เชื้อชาติไทย
พรรคการเมืองประชาธิปัตย์
คู่สมรสควง อภัยวงศ์
บุตรดิลก อภัยวงศ์
คทา อภัยวงศ์
คลอ อภัยวงศ์
บุพการี
อาชีพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)
สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)

ประวัติ แก้

คุณหญิงเลขา อภัยวงศ์ มีชื่อเดิมและนามสกุลเดิมว่า เจน เล็ก คุณะดิลก เป็นบุตรีของมหาอำมาตย์โท พระยาอรรถการประสิทธิ์ (วิลเลียม แอลเฟรด ติลเลกี) นักกฎหมายชาวศรีลังกา[1][2] ต้นสกุล คุณะดิลก[3] และมีปู่ชื่อ เอ็ม. คุณะดิลก เป็นชนชั้นสูงชั้นราชะของซีลอน (ปัจจุบันคือ ศรีลังกา)[4] มีพี่ชายร่วมอุทรคนหนึ่งซึ่งเป็นสมาชิกเสรีไทย คือ แดง คุณะดิลก

การศึกษา แก้

คุณหญิงเลขาสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมจากโรงเรียนราชินี แล้วจึงไปเรียนต่อที่ประเทศฝรั่งเศส พร้อมกับนายแดง พี่ชาย ซึ่งที่นี่ทั้งนายแดง และคุณหญิงเลขาได้พบกับเพื่อนนักเรียนไทยที่ไปเรียนในวาระเดียวกันหลายคน ซึ่งต่อมาหลายคนได้กลายเป็นสมาชิกคณะราษฎร รวมทั้ง ควง อภัยวงศ์ด้วย ซึ่งทั้งคู่ได้ทำความรู้จักและสนิทสนมกัน

การทำงาน แก้

เมื่อสำเร็จการศึกษา ทั้งคู่กลับมาและได้สมรสกัน พร้อมกับได้เปลี่ยนชื่อเป็น เลขา อภัยวงศ์ ตามนโยบายรัฐนิยมของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นที่กำหนดให้ชื่อของผู้ชายให้ตั้งเข้มแข็ง ชื่อของผู้หญิงให้อ่อนหวาน เธอและควง มีบุตร-ธิดาด้วยกันสามคน ได้แก่ ดิลก, คทา และคลอ อภัยวงศ์[5]

คุณหญิงเลขา อภัยวงศ์ เป็นนักธุรกิจ ประกอบธุรกิจหลายอย่าง รวมทั้งบริษัทสุวรรณภูมิ จำกัด ที่ขายอาวุธให้แก่เวียดมินห์ พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามและพรรคก๊กมินตั๋ง รวมถึงฝรั่งเศสอินโดจีน การค้าในนามบริษัทสุวรรณภูมิ ได้ส่งผลกำไรด้วยดี บริษัทฯ ดังกล่าวตั้งขึ้นสมัยญี่ปุ่นยึดครองประเทศไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และสืบต่อมาหลังสงครามสงบ สถานที่ตั้งอยู่บริเวณตึกสามแยก ใกล้วงเวียนโอเดียนในปัจจุบัน ซึ่งอาวุธส่วนหนึ่งของขบวนการเสรีไทยในการปฏิบัติการ ก็มาจากอาวุธเหล่านี้ด้วย

หลังการอสัญกรรมของนายควง อภัยวงศ์ แก้

ภายหลังการถึงแก่อสัญกรรมของควง อภัยวงศ์ สามีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งพรรคมา ในปี พ.ศ. 2511 คุณหญิงเลขาได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในจังหวัดพระนคร แทนที่นายควง ผู้เป็นสามี ซึ่งผลปรากฏว่าได้รับเลือกตั้งไป ทั้ง ๆ ที่เป็นเพียงคนหน้าใหม่ในวงการการเมือง และต่อมาเมื่อมีการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ คุณหญิงเลขา อภัยวงศ์ ได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกพรรคจำนวนหนึ่ง ให้เป็นรองหัวหน้าพรรค เพื่อแข่งขันกับหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ซึ่งยุติบทบาททางการเมืองไปนานแล้วตั้งแต่การรัฐประหาร พ.ศ. 2494 แต่กลุ่มผู้สนับสนุน หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช มีมากกว่า เนื่องจากเห็นว่า หม่อมราชวงศ์เสนีย์ เป็นถึงอดีตนายกรัฐมนตรีผู้เจรจาถอนทหารอังกฤษออกจากประเทศไทยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งมีส่วนอย่างมากมิให้ไทยต้องกลายสภาพเป็นประเทศแพ้สงคราม เป็นผู้นำเสรีไทยในสหรัฐอเมริกา และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์มาพร้อมกับนายควง อภัยวงศ์ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช จึงได้เป็นหัวหน้าพรรคสืบต่อไป

และหลังจากนี้คุณหญิงเลขา อภัยวงศ์ ก็ยังได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)

บทบาททางสังคม แก้

ในทางสังคม คุณหญิงเลขา อภัยวงศ์ เป็นผู้ที่มีบทบาทอย่างมากในแวดวงสังคม เป็นผู้ก่อร่วมตั้งสมาคมนักเรียนเก่าราชินีในพระบรมราชินูปถัมภ์ ขึ้นในปี พ.ศ. 2483 และรับตำแหน่งนายกสมาคม 2 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2485 และ พ.ศ. 2494 และเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งสภาสตรีแห่งชาติและโรงเรียนสตรีแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2495 ร่วมกับท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ภริยาจอมพล ป. พิบูลสงคราม และท่านผู้หญิงอุศนา ปราโมช ภริยาหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

อ้างอิง แก้

  1. SCG-HERITAGE. พระยาอรรถการประสิทธิ์. เมื่อดูเมื่อ 1 กันยายน 2556
  2. Songsri Foran (1981), Thai-British-American relations during World War II and the immediate postwar period, 1940-1946, Thai Khadi Research Institute, Thammasat University, p. 83
  3. "บทบาทของนักกฎหมายชาวต่างประเทศในยุคปฏิรูปกฎหมายและการศาลไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-10. สืบค้นเมื่อ 2012-10-17.
  4. ร้านหนังสือคุณแม่. อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงเลขา อภัยวงศ์ ท.จ.ท.ม. เก็บถาวร 2012-05-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เรียกดูเมื่อ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2555
  5. ฐานข้อมูลบูรพาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. พันตรี ควง อภัยวงศ์ เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เรียกดูเมื่อ 31 สิงหาคม 2556
  6. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-11-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๘๐ ตอนที่ ๓ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๕๗๐, ๔ มกราคม ๒๕๐๖
  7. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-10-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๗๕ ตอนที่ ๓๙ ง หน้า ๑๕๕๔, ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๐๑

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  • หนังสือ กำเนิดพรรคประชาธิปัตย์ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๙ ๖๑ ปี ประชาธิปัตย์ ยังอยู่ยั้งยืนยง โดย จรี เปรมศรีรัตน์ 2550
ก่อนหน้า เลขา อภัยวงศ์ ถัดไป
ละเอียด พิบูลสงคราม   คู่สมรสนายกรัฐมนตรีไทย
(สมัยที่ 1)

(1 สิงหาคม พ.ศ. 2487 - 31 สิงหาคม พ.ศ. 2488)
  อำภาศรี บุณยเกตุ
อุศนา ปราโมช ณ อยุธยา   คู่สมรสนายกรัฐมนตรีไทย
(สมัยที่ 2)

(31 มกราคม พ.ศ. 2489 - 24 สิงหาคม พ.ศ. 2489)
  พูนศุข พนมยงค์
แฉล้ม สุมาวงศ์
ระเบียบ สุมาวงศ์
บรรจง สุมาวงศ์
  คู่สมรสนายกรัฐมนตรีไทย
(สมัยที่ 3 และ 4)

(10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 - 8 เมษายน พ.ศ. 2491)
  ละเอียด พิบูลสงคราม