เริงจิตรแจรง อาภากร

(เปลี่ยนทางจาก เริงจิตร์แจรง อาภากร)

คุณหญิงเริงจิตรแจรง อาภากร (พระนามเดิม หม่อมเจ้าเริงจิตร์แจรง อาภากร[1]; 7 มิถุนายน พ.ศ. 2448 — 19 สิงหาคม พ.ศ. 2536)[2] เป็นพระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ประสูติแต่หม่อมกิม อาภากร ณ อยุธยา


เริงจิตรแจรง อาภากร

เกิดหม่อมเจ้าเริงจิตรแจรง
7 มิถุนายน พ.ศ. 2448
วังนางเลิ้ง จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม
เสียชีวิต19 สิงหาคม พ.ศ. 2536 (88 ปี)
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
คู่สมรสหม่อมเจ้าไขแสงรพี รพีพัฒน์ (หย่า)
พระจักรานุกรกิจ (วงศ์ สุจริตกุล) (หย่า)
บุตรหม่อมราชวงศ์เติมแสงไข กรรณสูต
บุพการี

ประวัติ แก้

ชีวิตช่วงต้น แก้

หม่อมเจ้าเริงจิตรแจรง อาภากร มีพระนามลำลองว่า ท่านหญิงปุ๊[3]เป็นพระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ประสูติแต่หม่อมกิม อาภากร ณ อยุธยา เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2448 ที่วังนางเลิ้ง มีเจ้าพี่เจ้าน้องร่วมหม่อมมารดาสององค์คือ จารุพัตรา ศุภชลาศัย กับหม่อมเจ้าสุคนธ์จรุง และมีเจ้าพี่เจ้าน้องต่างมารดาอีกแปดองค์ เมื่อเริงจิตรแจรงชันษาประมาณ 5-6 ขวบ ทรงเรียนหนังสือที่โรงเรียนนายเรือ ต่อมาเจ้าจอมมารดาโหมด ในรัชกาลที่ 5 ผู้เป็นย่าได้จ้างครูมาสอนหนังสือไทยแก่หลาน ๆ ที่วังนางเลิ้ง ส่วนภาษาอังกฤษทรงเรียนกับพระบิดาโดยตรง และทรงศึกษาภาษาจีนกับซินแส ทรงศึกษาอย่างเป็นทางการที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ทรงศึกษาประมาณสี่ปี จนจบมัธยมปีที่ 6

หม่อมเจ้าเริงจิตรแจรงเป็นพระธิดาองค์เดียวที่พระบิดาเป็นผู้ทรงเลี้ยงดู ส่วนพระธิดาองค์อื่น ๆ นั้น เจ้าจอมมารดาโหมด เป็นผู้รับไปเลี้ยง

เสกสมรส แก้

เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2464 หม่อมเจ้าเริงจิตรแจรง อาภากร ได้เสกสมรสกับหม่อมเจ้าไขแสงรพี รพีพัฒน์ (พระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์) มีธิดาคนเดียวคือ หม่อมราชวงศ์เติมแสงไข กรรณสูต (26 มิถุนายน พ.ศ. 2468 – 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2497) สมรสกับปรีดา กรรณสูต[4] (1 กันยายน พ.ศ. 2463 – 8 ธันวาคม พ.ศ. 2551) มีบุตรธิดาสี่คน คือ

  1. รุจน์ กรรณสูต (4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2491 – 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2506)
  2. จรัลธาดา กรรณสูต (ชื่อเดิม บุรินทร์; เกิด 22 สิงหาคม พ.ศ. 2492)
  3. แสงสูรย์ กรรณสูต (เกิด 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2495)
  4. ดาลัต กรรณสูต (เกิด 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2496)

เริงจิตรแจรงหย่าร้างกับหม่อมเจ้าไขแสงรพี หลังจากนั้นจึงลาออกจากฐานันดรศักดิ์เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2487[2] เพื่อสมรสกับพลเรือตรีวงศ์ สุจริตกุล (พลเรือโท พระจักรานุกรกิจ)[5] อดีตเจ้ากรมอู่ทหารเรือ[6] แต่ไม่มีบุตรธิดาด้วยกันและทรงหย่าในเวลาต่อมา

สิ้นชีพิตักษัย แก้

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536 คุณหญิงเริงจิตรแจรงได้ไปพำนักอยู่กับหลานที่บ้านบางเขน และเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ปีเดียวกัน ศรีนิล สุวรรณรัตน์ ข้าหลวงได้ไปเฝ้า เห็นว่ามีอาการประชวรมากจึงนำคุณหญิงเริงจิตรแจรงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ เป็นเวลา 5 สัปดาห์ จึงย้ายมารับการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ปีเดียวกัน

คุณหญิงเริงจิตรแจรงสิ้นชีพิตักษัยด้วยอาการสงบที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2536 เวลา 11.15 น. สิริชันษา 88 ปีเศษ

วันที่ 20 สิงหาคม ปีเดียวกัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานน้ำสรงศพ พร้อมด้วยเครื่องเกียรติยศประกอบศพ ณ ศาลากวีนิรมิต วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานหีบทองทึบประกอบศพ ฉัตรเบญจาตั้งประดับ ปี่ กลองชนะ ประโคมเวลาพระราชทานน้ำสรงศพ และรับศพอยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์โดยตลอด มีพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมเวลากลางคืนกำหนด 7 คืน และเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน เวลา 17.00 น. สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา เสด็จไปในการพระราชทานเพลิงศพ

การทำงาน แก้

หม่อมเจ้าเริงจิตรแจรงเคยทำไร่ และทำฟาร์มที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ทรงปลูกพริก ปลูกถั่ว และเลี้ยงม้า ทรงทำเป็นเวลา 6 ปี จึงเสด็จกลับมาประทับที่กรุงเทพมหานคร

คุณหญิงเริงจิตรแจรงพำนักอยู่ที่บ้าน ถนนราชวิถี ตรงข้ามสวนจิตรลดา ต่อมาเมื่อได้หย่ากับพลเรือโท พระจักรานุกรกิจแล้ว จึงได้ย้ายมาอยู่ที่บ้าน ซอยเริงพยงค์ ถนนประดิพัทธ์ แยกสะพานควาย เริงจิตรแจรงทำสวนกล้วยไม้อยู่ที่บ้าน ซอยเริงพยงค์ และเปิดร้านขายดอกไม้ ชื่อ "ท่านหญิงฟลอรีส" ที่ปากซอยเริงพยงค์

ต้นปี พ.ศ. 2519 ได้เลิกกิจการทำสวนกล้วยไม้ ได้ย้ายมาพำนักที่หมู่บ้านอรรถกฤต ซอย 1 อารีย์สัมพันธ์ 4 ถนนพหลโยธิน โดยมีข้าหลวง 2 คน คือศรีนิล และศรีนวล สุวรรณรัตน์ ผลัดกันอยู่ประจำครั้งละ 1 คน ในบั้นปลายชีวิตโปรดการทำงานบ้านเอง และเลี้ยงสุนัขเป็นงานอดิเรกตลอดมา ทรงดำเนินชีวิตอย่างเป็นปกติสุข ท่ามกลางหมู่มิตรสหายจำนวนมากที่เคารพและศรัทธานอกจากนี้ยังมีส่วนร่วมในงานกุศลต่าง ๆ เช่น มูลนิธิร่วมจิตต์น้อมเกล้าฯ เพื่อเยาวชน และงานกุศลเกือบทุกงานที่เกี่ยวเนื่องกับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระบิดา

คุณหญิงเริงจิตรแจรงโปรด "ราชนาวีสโมสร" มาก เสวยกลางวันเป็นประจำที่โต๊ะหมายเลข 19 ห้องสินธูทัศนา 2 ราชนาวีสโมสร อีกทั้งยังโปรดทอดเนตรนกพิราบที่หน้าต่างด้านริมแม่น้ำเจ้าพระยา

คุณหญิงเริงจิตรแจรงโปรดการเล่นเทนนิส และออกสังคม เป็นนักธุรกิจ ตัวแทนค้าและเช่าอสังหาริมทรัพย์[4]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

ลำดับสาแหรก แก้

อ้างอิง แก้

  1. สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์จุฬาลงกรณราชสันตติวงศ์ พระนามพระราชโอรส พระราชธิดา และพระราชนัดดา. กรุงเทพ : บรรณกิจ, พิมพ์ครั้งที่ 4, พ.ศ. 2548. 136 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-221-746-7
  2. 2.0 2.1 ศุภวัฒย์ เกษมศรี, พลตรี หม่อมราชวงศ์, และรัชนี ทรัพย์วิจิตร. พระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าในพระราชวงศ์จักรี. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์บรรณกิจ, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2549. 360 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-221-818-8
  3. อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ม.จ.ไกรสิงห์ วุฒิชัย ณ เมรุวัดธาตุทอง วันพุธ ที่ 23 มิถุนายน 2519. [ม.ป.ท.]: มงคลการพิมพ์; 2519.
  4. 4.0 4.1 กิติวัฒนา (ไชยันต์) ปกมนตรี, หม่อมราชวงศ์. สายพระโลหิตในพระพุทธเจ้าหลวง. กรุงเทพฯ : ดีเอ็มดี, พ.ศ. 2551. 290 หน้า. ISBN 978-974-312-022-0
  5. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักพระราชวัง เรื่อง ลาออกจากฐานันดรศักดิ์, เล่ม 61, ตอน 57 ง, 12 กันยายน พ.ศ. 2487, หน้า 1798
  6. ประวัติกรมอู่ทหารเรือ
  7. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๖ ตอนที่ ๗๓ ก ฉบับพิเศษ หน้า ๖, ๔ พฤษภาคม ๒๕๓๒
  8. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญช่วยราชการเขตภายใน เก็บถาวร 2022-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๕๘ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๑๙๕๘, ๒๓ มิถุนายน ๒๔๘๔