ไม่พบไฟล์เสียง "RaoSu.ogg" เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 44 ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2516

"เราสู้"
เพลงพระราชนิพนธ์โดยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
เผยแพร่1 มกราคม พ.ศ. 2517
แนวเพลงเพลงปลุกใจ
ผู้ประพันธ์ดนตรีพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ผู้ประพันธ์เนื้อเพลงสมภพ จันทรประภา

สมภพ จันทรประภา ได้ประพันธ์กลอนสุภาพ 4 บท จากพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่สมาชิกสภานิติบัญญัติที่เข้าเฝ้าฯ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน มาเขียนเป็นคำกลอนถวาย เมื่อทรงเกิดแรงบันดาลพระราชหฤทัย ที่จะทรงพระราชนิพนธ์เพลง "เราสู้" พระราชทานให้เป็นของขวัญวันปีใหม่แก่ทหาร อาสาสมัครและตำรวจชายแดน ทรงหยิบซองจดหมายใกล้พระหัตถ์มาตีบรรทัด 5 เส้น เพื่อทรงพระราชนิพนธ์ทำนอง เสร็จแล้วพระราชทานให้ วง อ.ส. วันศุกร์ ซึ่งกำลังบรรเลงอยู่ในงานวันขึ้นปีใหม่ 1 มกราคม พ.ศ. 2517 นำออกบรรเลง ณ พระราชวังบางปะอิน จากนั้นได้ทรงนำกลับไปแก้ไขก่อนจะพระราชทานออกมาให้วงดนตรี อ.ส. วันศุกร์ บรรเลง และทรงแก้ไขอีกจนพอพระราชหฤทัย[1]

ในภายหลัง สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้ตั้งข้อสังเกตว่า เนื้อเพลงในเพลง "เราสู้" ไม่น่าจะมาจากพระราชดำรัสในปี พ.ศ. 2516 หรือปีก่อนหน้า เนื่องจากสืบค้นแล้วไม่พบพระราชดำรัสที่ใกล้เคียงกับเนื้อเพลง แต่กลับพบว่าพระราชดำรัสในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2518 มีหลายจุดที่ค่อนข้างตรงกับเนื้อเพลง "เราสู้" ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ว่าเพลงนี้จะพระราชนิพนธ์ขึ้นในวันขึ้นปีใหม่ พ.ศ. 2517 ดังที่ประวัติของเพลงที่เป็นทางการได้ระบุไว้

"แต่ทำไมเมืองไทยอยู่ได้ ก็เพราะว่าบรรพบุรุษของเราทำมาเป็นแรมปีเป็นร้อย ๆ ปี ทำมาด้วยความสุจริตใจ ในสิ่งที่เรารู้ในประวัติศาสตร์ว่านักรบไทยได้ป้องกัน ประเทศให้อยู่ นักปกครองไทยได้ป้องกันความเป็นอยู่ของเมืองไทยให้อยู่ได้ตกทอดมาถึงเรานั้นน่ะ ท่านได้ทำมาด้วยความตั้งใจให้เป็นมรดก… คือเป็นบารมี ได้สร้างบารมีมาตั้งแต่โบราณกาลมา สะสมมาเรื่อย… ขอเปรียบเทียบเหมือนบารมี นั่นคือทำความดีนี้ เปรียบเทียบเหมือนการธนาคาร… เราอย่าไป เบิกบารมีที่บ้านเมืองที่ประเทศได้สร้างสมเอาไว้ตั้งแต่บรรพบุรุษของเราให้เกิน เราต้องทำบ้าง หรือเพิ่มพูนให้ประเทศชาติมีอนาคตที่แน่นอน อนาคตที่จะสามารถถือว่าชั่วลูกชั่วหลานชั่วเหลนชั่วโหลน ประเทศไทยก็ยังคงอยู่… การสร้างบารมีของบรรพบุรุษของเราแต่โบราณกาล ที่ได้รักษาสร้างบ้านเมืองขึ้นมาจนถึงเราแล้ว ก็ในสมัยนี้ที่เราอยู่ในที่ที่เรากำลังเสียขวัญกลัวก็ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องกลัวเพราะเรามีทุนอยู่… เรามีบ้านเมืองแล้ว เราต้องรักษาไม่ใช่ทำลาย ใครอยากทำลายบ้านเมืองก็ทำลายเข้า เชิญทำลาย เราสู้ แต่ว่าผู้ที่จะทำลายระวังดี ๆ คือว่าผู้ที่อยากทำลายนั้นไม่ใช่ว่าเขาอยากทำลายเพื่ออะไร แต่เขาทำลายตัวเอง น่าสงสาร ส่วนมากเขาทำลายตัวเอง…" ส่วนหนึ่งของพระราชดำรัสวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2518

ส่วนของพระราชดำรัสวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2518 ที่ตรงกับเนื้อเพลง "เราสู้"

  • บรรพบุรุษของเราแต่โบราณกาล เป็น บรรพบุรุษของไทยแต่โบราณ
  • ชั่วลูกชั่วหลานชั่วเหลนชั่วโหลน เป็น ลูกหลานเหลนโหลน
  • อนาคต... ประเทศไทยก็ยังคงอยู่ เป็น อนาคตจะต้องมีประเทศไทย
  • เรามีบ้านเมืองแล้ว เราต้องรักษาไม่ใช่ทำลาย เป็น บ้านเมืองเรา เราต้องรักษา
  • ใครอยากทำลายบ้านเมืองก็ทำลายเข้า เชิญทำลาย เราสู้ เป็น อยากทำลายเชิญมาเราสู้

นอกจากนั้นสมศักดิ์ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า ประวัติที่เป็นจริงของเพลง "เราสู้" น่าจะเป็นดังนี้

  1. วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2518 มีพระราชดำรัสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
  2. ระหว่างวันที่ 4 – ปลายเดือนสมภพ จันทรประภา เขียนกลอน "เราสู้" จากพระราชดำรัส 4 ธันวาคม พ.ศ. 2518 แล้วทูลเกล้าฯ ถวาย
  3. ปลายธันวาคม พ.ศ. 2518 พระราชทานกลอน "เราสู้" ให้เป็นของขวัญปีใหม่แก่ทหาร และตำรวจตระเวนชายแดน
  4. วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2519 ทรงเกิดแรงบันดาลพระราชหฤทัย พระราชนิพนธ์ทำนองให้กลอน "เราสู้" ขณะประทับ ณ พระราชวังบางปะอิน แล้วพระราชทานให้วง อ.ส.วันศุกร์ ซึ่งกำลังบรรเลงในงานวันปีใหม่ที่นั่นทดลองบรรเลง
  5. ต้น – กลางปี พ.ศ. 2519 ทรงนำทำนองเพลง "เราสู้" กลับไปแก้ไขจนพอพระราชหฤทัย แล้วพระราชทานฉบับสมบูรณ์ออกมา
  6. ต้น – กลางปี พ.ศ. 2519 มีการนำเพลง "เราสู้" ออกเผยแพร่ในหมู่กลุ่มพลังฝ่ายขวา[2]

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้
  1. "เราสู้". เกษตรศาสตร์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-10-17. สืบค้นเมื่อ 2017-10-18.
  2. "เราสู้: เพลงพระราชนิพนธ์การเมืองกับการเมืองปี 2518-2519". 2519.net. 2017-08-02. สืบค้นเมื่อ 2017-10-18.