เยติ หรือ มนุษย์หิมะ (อังกฤษ: Yeti, Abominable snowman; ธิเบต: གཡའ་དྲེད་; เนปาลี: हिममानव [2]himamānav, คำแปล "มนุษย์หิมะ") เป็นชื่อที่ใช้เรียกสัตว์ประหลาดชนิดหนึ่ง ในความเชื่อของชาวเชอร์ปา ชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่แถบเทือกเขาหิมาลัย ในประเทศเนปาล, ภูฏาน, ธิเบต, จีน จนถึงบางพื้นที่ในมองโกเลียและรัสเซีย โดยเชื่อว่าเยติ เป็นสัตว์ขนาดใหญ่สูงตั้งแต่ 5–8 ฟุต น้ำหนักประมาณ 600 ปอนด์[3] ที่คล้ายมนุษย์ผสมกับลิงไม่มีหางคล้าย กอริลลา มีขนยาวสีน้ำตาลแดงหรือน้ำตาลดำหรือสีเทาหรือเทาเข้มปกคลุมทั้งลำตัว ยกเว้นใบหน้าที่มีสีคล้ำ มีเสียงร้องที่น่าสะพรึงกลัว โดยปรกติแล้ว เยติเป็นสัตว์ที่มีนิสัยสงบเสงี่ยม แต่อาจดุร้ายโจมตีใส่มนุษย์และสัตว์เลี้ยง เช่น จามรี ได้ในบางครั้ง

สิ่งที่เชื่อว่าหนังหัวของเยติ ในวัดลามะที่คุมจุง แต่ปัจจุบันได้รับการพิสูจน์แล้วว่า แท้จริงแล้วคือหนังหัวของแพะภูเขา[1]
ภาพถ่ายรอยเท้าของเยติเมื่อปี ค.ศ. 1937 โดย แฟรงก์ เอส. สไมท์ และได้ตีพิมพ์ลงนิตยสารป๊อปปูลาร์ไซแอนซ์ในปี ค.ศ. 1952

เยติ ปรากฏอยู่ในวัฒนธรรมของชาวเชอร์ปามาอย่างช้านาน โดยถูกกล่าวถึงในนิทานและเพลงพื้นบ้าน และเรื่องเล่าขานต่อกันมาถึงผู้ที่เคยพบมัน นอกจากนี้แล้วยังปรากฏในศิลปะของพุทธศาสนานิกายมหายานแบบธิเบต โดยปรากฏเป็นภาพในพรมธิเบตที่แขวนไว้ที่ฝาผนังเหมือนจิตรกรรมฝาผนังในวัดลามะอายุกว่า 400 ปี เป็นภาพของสิ่งมีชีวิตประหลาดอย่างหนึ่งที่ขนดกอยู่ด้านมุมภาพและในมือถือกะโหลกมนุษย์อยู่[3] และปัจจุบันนี้ ก็มีสิ่งที่เชื่อว่าเป็นหนังหัวของเยติถูกเก็บรักษาไว้อย่างดีในวัดลามะแห่งหนึ่งในคุมจุง ซึ่งนับว่าเยติเป็นสัตว์ที่ถูกกล่าวอ้างถึงยาวนานกว่าสัตว์ประหลาดที่มีลักษณะคล้ายกันชนิดอื่นที่พบในอีกซีกโลก เช่น บิ๊กฟุต หรือ ซาสควาทช์ ในทวีปอเมริกาเหนือ, ยาวี ในทวีปออสเตรเลีย หรืออัลมาส์ ในเอเชียกลาง หากแต่หลักฐานเกี่ยวกับเยติเมื่อเทียบกับบิ๊กฟุตแล้วพบน้อยกว่ามาก แต่มีหลายกรณีที่บ่งชี้ว่าเป็นสัตว์ที่ดุร้าย ก้าวร้าวกว่ามาก [3]

นอกจากคำว่าเยติแล้ว ยังมีชื่อเรียกอื่น ๆ ที่เรียกเยติ เช่น เธลม่า (Thelma), แปลว่า "ชายตัวเล็ก" เชื่อว่ามีนิสัยรักสงบ ชอบสะสมกิ่งไม้และชอบร้องเพลงขณะที่เดินไป, ดซูท์เทห์ (Dzuteh) เป็นเยติขนาดใหญ่ มีขนหยาบกร้านรุงรัง มีนิสัยดุร้ายชอบโจมตีใส่มนุษย์, มิห์เทห์ (Mith-teh) มีนิสัยคล้ายดซูท์เทห์ คือ ดุร้าย มีขนสีน้ำตาลแดงหรือน้ำตาลดำ, เมียกา (Mirka) แปลว่า "คนป่า" เชื่อว่าหากมันพบเห็นสิ่งใดไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสัตว์ มันจะทำร้ายจนถึงแก่ความตาย, คัง แอดมี (Kang Admi) แปลว่า "มนุษย์หิมะ" และ โจบราน (JoBran) แปลว่า "ตัวกินคน" ขณะที่ในภูฏานเรียกว่า มิกอย (Migoi) หรือ นากอย (Nagoi) ส่วนชื่อ มนุษย์หิมะ นั้น ปรากฎขึ้นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1921 เมื่อนักสำรวจชาวตะวันตกซึ่งเป็นผู้ที่ถ่ายภาพรอยเท้าของเยติไว้ได้เป็นภาพแรก เจอกับปัญหาการแปลภาษาเชอร์ปา ซึ่งมาจากคำว่า "ดซูท์เทห์" ที่แปลได้ว่า "มนุษย์ตัวเหม็นแห่งหิมะ" ซึ่งเขาได้เขียนลงในบันทึกในฐานที่พักว่า "มนุษย์ตัวเหม็นน่ารังเกียจแห่งหิมะ"[3]

ที่ภูฏาน ชาวพื้นเมืองต่างเชื่อว่าเยติมีจริง หลายคนเคยได้พบเจอตัวหรือได้ยินเสียงของเยติ โดยกล่าวว่าเยติเป็นสัตว์ดุร้าย ที่ฆ่ามนุษย์ได้ มีรูปร่างสูงใหญ่ มีพละกำลังมาก มีขนสีน้ำตาลแดงปกคลุมทั่วร่างรวมถึงมีใบหน้าคล้ายลิง มีเขี้ยวที่ยาวและแหลมคม เสียงร้องของเยติเป็นเสียงสูง เยติอาศัยอยู่ตามถ้ำหรือในป่าลึก ออกหากินในช่วงเวลาที่อากาศอบอุ่น ทำรังด้วยการใช้กิ่งไม้ขัดสานกันเหมือนเตียงนอน และเชื่อว่าหากผู้ใดต้องการพบเห็นตัวเยติต้องทำร่างกายให้สกปรก หากเนื้อตัวสะอาดก็จะไม่ได้พบเยติ[4] มีรายงานการพบเห็นเยติเป็นจำนวนมากทางตอนเหนือของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสากเต็ง ในเขตตราชิกัง[5][6] [3]

สิ่งที่เชื่อว่าเป็นรอยเท้าของเยติ (ซ้าย) เมื่อเทียบกับรอยเท้ามนุษย์ทั่วไป บันทึกโดยเรเน เดอ มีล์วีลล์ นักปีนเขาชาวฝรั่งเศสเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 1976

เรื่องราวของเยติที่โจมตีใส่มนุษย์นั้น ได้ถูกทำเป็นรายงานส่งไปยังเมืองกาฐมาณฑุ เมืองหลวงของเนปาล ซึ่งปากคำของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อถูกบันทึกโดยอาสาสมัครชาวอเมริกันที่ทำงานในเนปาล โดยผู้ถูกทำร้ายเป็น เด็กหญิงชาวเชอร์ปาคนหนึ่ง ในปี ค.ศ. 1974 โดยเธอบอกว่าขณะกำลังนำจามรีไปดื่มน้ำที่ลำธาร เธอรู้สึกว่าถูกอะไรบางอย่างจ้องมองอยู่ แล้วจู่ ๆ เยติตัวหนึ่งก็โผล่มาทำร้ายเธอ แต่เธอกรีดร้องลั่น จนมันปล่อยเธอ และเธอสลบไป มันหันไปทำร้ายจามรีของเธอจนถึงแก่ความตายทั้งหมด 5 ตัว ด้วยการบิดเขาและหักคอ และไรน์โฮลด์ เมสเนอร์ นักปีนเขาที่มีชื่อเสียงชาวอิตาลีเล่าว่า เยติสามารถฆ่าจามรีได้ด้วยชกด้วยกำปั้นเพียงครั้งเดียว ครั้งหนึ่งเขาเคยเห็นจามรีของชาวบ้านถูกฆ่าตายในธิเบต เขาตามรอยเท้าจามรีไป ก็พบเห็นมีรอยเท้าเยติติดตามไปด้วย รวมถึงในช่วงเวลากลางดึกระหว่างที่เขาปีนเขาอยู่คนเดียวในระดับความสูง 13,000 ฟุต เมื่อปี ค.ศ. 1986 เขารู้สึกว่าการกระทำแบบนี้อันตรายและเขาอยากจะหาที่พักหรือหมู่บ้าน แต่แล้วเขาก็เห็นร่างของสัตว์อะไรบางอย่างที่เหมือนมนุษย์ขนาดใหญ่ มีขนดก ยืนด้วยสองขา ห่างจากตัวเขาไปประมาณ 50 เมตร แต่เขาก็ไม่สามารถระบุตัวมันได้ชัดเจนเพราะเป็นเวลากลางดึก และนั่นทำให้เขาหวาดกลัวมากจนไม่กล้าที่จะหยุดพักและต้องเดินทางตลอดทั้งคืน และเขายังพบเห็นรอยเท้าอีกด้วยในเวลาต่อมา[4]

เรื่องราวเยติเป็นที่สนใจของชาวตะวันตก เมื่อชาวตะวันตกได้เข้ามาบุกเบิกและยึดครองดินแดนแถบนี้ ได้มีการตามล่าและค้นคว้าเกี่ยวกับเยติ ซึ่งก็ได้พบกับหลักฐานการมีอยู่ของเยติมากมาย ทั้ง รอยเท้า, ขนและมูล และแม้กระทั่งประจักษ์พยานที่เคยได้พบเห็น ซึ่งโดยมากเป็นนักปีนเขา ซึ่งหลักฐานส่วนใหญ่ได้ถูกบันทึกไว้เป็นรูปถ่าย โดยหลักฐานแรกของเยติที่ชาวตะวันตกได้รับรู้เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1832 เมื่อ เอ.ที. ฮอดจ์สัน ชาวอังกฤษรายงานถึงสิ่งมีชีวิตตัวใหญ่ มีขนดก ยืนด้วยสองขา ปรากฏอยู่ และรูปถ่ายของรอยเท้าเยติรูปแรกเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1921 โดยนักสำรวจชาวอังกฤษซึ่งเป็นนายทหารระดับนายพัน ถ่ายไว้ได้ในระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล 5,029 เมตร และในปี ค.ศ. 1951 หลักฐานทางกายภาพของเยติชิ้นแรกก็ปรากฏขึ้นเมื่อ อีริก ชิปตัน และไมเคิล วาร์ด ถ่ายภาพร่องรอยที่เหมือนรอยเท้ากระโดดเป็นทางยาวบนพื้นหิมะที่เชิงเขา ผู้นำทางชาวเชอร์ปาบอกกับเขาว่า เป็นรอยเท้าของเยติ ซึ่งเป็นสัตว์ที่น่ากลัว และจากหลักฐานชิ้นนี้เป็นจุดเริ่มที่ทำให้การตามหาเยติว่ามีตัวตนจริงหรือไม่ [3] แม้แต่เซอร์เอดมันด์ ฮิลลารี และเทนซิง นอร์เก บุคคลสองคนแรกที่พิชิตยอดเขาเอเวอร์เรสต์ได้ ก็อ้างว่าเคยได้พบร่องรอยและได้ยินเสียงร้องของเยติในปี ค.ศ. 1953 เป็นเสียงที่น่ากลัว และพ่อของนอร์เกเล่าว่า ตนเคยได้ยินเสียงร้องของเยติขณะที่เฝ้าฝูงจามรีในระดับความสูง 16,000 ฟุต และเคยพบกับเยติถึง 2 ครั้ง ขณะที่ตัวของนอร์เกเองไม่เคยพบกับเยติจริง ๆ สักครั้ง[7] แต่ขณะที่คณะสำรวจของฮิลลารีและนอร์เกอยู่ในระดับความสูง 18,000 ฟุต ก็ยังได้ยินเสียงร้องที่น่ากลัว มันทำให้ลูกหาบและผู้นำทางชาวเชอร์ปาหวาดกลัวมาก[3]

มีผู้ตั้งข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับเยติไว้มากมาย เช่น เชื่อว่ามันอาจเป็นสัตว์ชนิดอื่นที่อาศัยอยู่แถบเทือกเขานี้ เช่น หมีสีน้ำเงินธิเบต และหมีสีน้ำตาลหิมาลัย ซึ่งเป็นหมีสีน้ำตาลชนิดที่หาได้ยากมาก ที่สามารถยืนด้วยสองขาหลังเหมือนมนุษย์ และสร้างรอยเท้าที่ดูเหมือนของเยติได้[8][9], เสือดาวหิมะ, อีกาปากแดง ที่มักจะทิ้งรอยเท้าไว้บนพื้นหิมะด้วยการกระโดด หรือแม้แต่เป็นชะนีขนาดใหญ่ แต่มีนักสัตววิทยาที่ศึกษาเกี่ยวกับรอยเท้าของเยติ กล่าวว่า รอยเท้าของเยติบ่งว่า เยติมีเท้าที่ไม่เหมือนกับหมีหรือสัตว์ชนิดอื่นใดเลย นอกจากสัตว์ในอันดับไพรเมทอันเป็นอันดับเดียวกับ มนุษย์ และลิงไม่มีหาง แต่มีสิ่งที่แปลกออกไปคือ นิ้วเท้านิ้วที่ 2 มีขนาดใหญ่ และมีกระดูกอุ้งเท้าที่สั้นผิดปกติ ดูคล้ายกับเท้าของลิงยุคก่อนประวัติศาสตร์ขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Gigantopithecus จึงทำให้เชื่อได้ว่า เยติอาจเป็นลิงชนิดนี้ที่เคยเชื่อว่าสูญพันธุ์ไปแล้วก็เป็นได้ นอกจากนี้แล้วยังได้ข้อสรุปว่า เยติเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีโครงสร้างของร่างกายใหญ่และหนาทึบ และเดินด้วยสองขาหลังเหมือนมนุษย์ นอกจากนี้แล้ว เอียน เรดมอนด์ นักวานรวิทยาผู้เชี่ยวชาญเรื่องลิงไม่มีหาง สันนิษฐานว่าเยติไม่น่าจะอาศัยอยู่ในที่ ๆ มีความสูงมาก แต่น่าจะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเนื่องจากเป็นสถานที่ ๆ มีพืชซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่เหมาะกับไพรเมทหรือลิงไม่มีหางขึ้นอยู่อย่างสมบูรณ์[3]

ในต้นเดือนตุลาคม ค.ศ. 2011 นักวิทยาศาสตร์จากหลายชาติ เช่น สหรัฐอเมริกา, รัสเซีย, เอสโตเนีย, สวีเดน, จีน และมองโกเลีย ได้รวมตัวกันเพื่อประชุมและตามล่าเยติที่ภูมิภาคเคเมโรโว ในแคว้นไซบีเรีย ของประเทศรัสเซีย และสถานที่ใกล้เคียง เช่น เทือกเขาอัลไต เพราะมีรายงานการพบเห็นเยติในแถบนี้มากถึง 3 เท่าจากเมื่อ 20 ปีก่อน โดยพบรอยเท้าขนาด 35 เซนติเมตร หรือสิ่งก่อสร้างที่คล้ายกระท่อมอย่างง่าย ๆ จากกิ่งไม้ก็ถูกพบ ทำให้คาดว่ามีเยติในภูมิภาคนี้มากถึง 70–80 ตัว และนับเป็นการล่าเยติอย่างจริงจังที่สุดนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1958 ที่สถาบันวิทยาศาสตร์ของสหภาพโซเวียต ลงทีมไปสำรวจในพื้นที่ทางตะวันตกของไซบีเรีย เพื่อตามจับเยติ[10]

นอกจากนี้แล้ว ยังมีชาวตะวันตกได้โพสต์ไว้ในเว็บไซต์หนึ่งว่า เคยมีพรานชาวไทยพบเจอกับเยติสูง 6 ฟุต เดินตัวตรง ขนยาวรุงรังที่อุทยานแห่งชาติแม่จริม จังหวัดน่าน ในพื้นที่ภาคเหนือของไทยด้วย[7]

ในปี ค.ศ. 2017 บริษัทสร้างภาพยนตร์อิสระ ไอคอนฟิล์ม ได้ให้เงินทุนและตัวอย่าง 9 ชิ้น ซึ่งเป็นของที่เชื่อว่าเป็นของเยติแก่ ดร.ชาร์ลอตต์ ลินต์ควิสต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิวัฒนาการของหมีแห่งมหาวิทยาลัยบัฟฟาโล ในเมืองบัฟฟาโล รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เพื่อสนับสนุนความเชื่อที่ว่าเยติมีจริง แต่ทว่าจากการตรวจสอบโดยการเปรียบเทียบกับดีเอ็นเอของหมีหลากหลายถิ่นที่อยู่ทั้งหมีในสวนสัตว์หลายแห่ง และหมีในธรรมชาติรวมทั้งหมด 15 ตัวอย่าง และตรวจสอบโดยมุ่งไปที่ไมโตคอนเดรียดีเอ็นเอพบว่า ตัวอย่างที่ได้มานั้น 8 ชิ้น ซึ่งเป็นขนและหนังหัวนั้นเป็นของหมีสีน้ำตาลหิมาลัย ซึ่งเป็นหมีสีน้ำตาลชนิดที่ยากมาก มีข้อมูลและคำบรรยายทางวิทยาศาสตร์ไม่มาก เนื่องจากเป็นหมีที่มีถิ่นที่อยู่ที่เข้าถึงได้ยาก และเป็นหมีที่มีวิวัฒนาการของตัวเองแยกออกจากหมีสีน้ำตาลทั่วไปที่พบในทวีปเอเชีย จึงทำให้มีลักษณะแตกต่างออกไปด้วย และอีกชิ้นหนึ่งนั้นเป็นกระดูกและเขี้ยวก็พบว่าเป็นของสุนัข[11]

จากชื่อเสียงและปริศนาของเยติ ส่งผลให้มันกลายเป็นสิ่งที่มีค่าในเชิงการค้า จนเสมือนเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของประเทศเนปาลและภูฏาน[4] รวมถึงเทือกเขาหิมาลัย เช่น สายการบินประจำชาติของเนปาลที่ชื่อ เยติแอร์ไลน์ และเป็นของโรงแรมชื่อ Yak and Yeti เป็นต้น (Yak หมายถึง จามรี)

นอกจากนี้แล้วยังปรากฏในวัฒนธรรมร่วมสมัยหลายอย่าง เช่น เป็นตัวละครในเกมคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ เช่น Diablo II, World of Warcraft และเป็นตัวละครตัวหนึ่งในภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่อง The Mummy: Tomb of the Dragon Emperor ที่ออกฉายในปี ค.ศ. 2008 เป็นต้น

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

เชิงอรรถ
  1. "บันทึกการเดินเท้า ๑๔ วันในหุบเขาโซลู-คุมบู ...บนเส้นทางสู่เอเวอเรสต์". สารคดี.
  2. "เยติ". creatures.igetweb.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 3.6 3.7 ChannelHub (September 1, 2016). "Destination Truth S03E09 The Bhutan Yeti". Destination Truth.
  4. 4.0 4.1 4.2 "สารคดี ค้นหาสัตว์ประหลาด ตอน สารคดี ค้นหาสัตว์ประหลาด ตอน l มนุษย์หิมะ เยติ Monsterquest - Yeti". แอนนิมอล Documentary. 2016-10-25. สืบค้นเมื่อ 2016-11-16.
  5. Johnsingh, A. J. T. (2006). Field days: a naturalist's journey through South and Southeast Asia. Universities Press. p. 283. ISBN 978-81-7371-552-5.
  6. "Sakteng Wildlife Sanctuary". Himalaya 2000 online. Bhutan Travel Guide. สืบค้นเมื่อ 2011-04-02.
  7. 7.0 7.1 ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์อยากชวนเธอไปอำผี. กรุงเทพฯ : มติชน, 2560. 232 หน้า. หน้า 212-213. ISBN 978-974-02-1572-1
  8. The Japan Times, 18 September 2003.
  9. "BBC News — Yeti's 'non-existence' hard to bear". บีบีซี.
  10. "ทีมสำรวจนานาชาติรวมตัว ล่า 'เยติ' หมีขาว-มะกันเอาด้วย". ไทยรัฐ.
  11. หน้า 14 ประชาชื่น-วิทยาการ-ไอที, วิเคราะห์หลักฐาน 'เยติ' ที่แท้เป็น 'หมีสีน้ำตาล' . มติชนปีที่ 40 ฉบับที่ 14514: วันพุธที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2560
อ้างอิงทั่วไป
  • John Napier (MRCS, IRCS, DSC) Bigfoot: The Yeti and Sasquatch in Myth and Reality 1972 ISBN 0-525-06658-6.
  • Sir Francis Younghusband The Epic of Mount Everest, 1926, Edward Arnold & Co. The expedition that inadvertently coined the term "Abominable Snowman"
  • Charles Howard-Bury, Mount Everest The Reconnaissance, 1921, Edward Arnold, ISBN 1-135-39935-2.
  • Bill Tilman (H. W. Tilman), Mount Everest 1938, Appendix B, pp. 127–137, Pilgrim Publishing. ISBN 81-7769-175-9.
  • John Angelo Jackson, More than Mountains, Chapter 10 (pp 92) & 11, Prelude to the Snowman Expedition & The Snowman Expedition, George Harrap & Co, 1954
  • Ralph Izzard, The Abominable Snowman Adventure, this is the detailed account by the Daily Mail correspondent on the 1954 expedition to find the "Snowman", Hodder and Staoughton, 1955.
  • Charles Stonor, The Sherpa and the Snowman, recounts the 1955 Daily Mail "Abominable Snowman Expedition" by the scientific officer of the expedition, this is a very detailed analysis of not just the "Snowman" but the flora and fauna of the Himalaya and its people. Hollis and Carter, 1955.
  • John Angelo Jackson, Adventure Travels in the Himalaya เก็บถาวร 2009-01-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Chapter 17, Everest and the Elusive Snowman, 1954 updated material, Indus Publishing Company, 2005, ISBN 81-7387-175-2.
  • Bernard Heuvelmans, On the Track of Unknown Animals, Hill and Wang, 1958
  • Reinhold Messner, My Quest for the Yeti: Confronting the Himalayas' Deepest Mystery, New York: St. Martin's Press, 2000, ISBN 0-312-20394-2
  • Gardner Soule, Trail of the Abominable Snowman, New York: G.P. Putnam's Sons, 1966, ISBN 0-399-6064
  • Daniel Taylor-Ide, Something Hidden Behind the Ranges: A Himalayan Quest, San Francisco (Calif.) : Mercury house, 1999
  • Ann E. Bodie, The Exploding Cow Story: Concerning the History of the Yeti Throughout the Ages, New York: St.Martin's Press,1986

แหล่งข้อมูลอื่น แก้